2 กุมภาพันธ์ 2024
351

ช่วงปลายปีคาบเกี่ยวต้นปีเป็นช่วงเวลาที่คนทั่วประเทศต้องรับมือกับฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ซึ่งหมุนเวียนมาเยี่ยมเยียนจังหวัดต่าง ๆ ใครสุขภาพแข็งแรงอาจแค่แสบคอ แต่คนแพ้ฝุ่นหนักอาจถึงขั้นต้องไปนอนโรงพยาบาล

เราจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ฝุ่น คำถามนี้เวียนมาหาเราทุกปี 

ในบทความนี้ เราอยากลองเสนอทางเลือกอีกหนึ่งคำตอบที่ลงมือทำเองโดยประชาชน

เชิญรู้จักกับโครงการ ‘นาไร่ไถ่ดอย’ โปรเจกต์ขอไถ่คืนชีวิตดอยสูงของเชียงใหม่จากการทำไร่ข้าวโพดที่ทำให้เกิดการเผาสร้างฝุ่น มาเป็นการทำสวนผลไม้ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่เก็บกินเก็บขายได้

จากคนดมฝุ่น สู่คนแก้ปัญหาฝุ่น

โครงการนาไร่ไถ่ดอยริเริ่มโดย นลี อินทรนันท์ หรือ ครูเบลล่า ผู้ทำงานเพื่อสังคมหลากหลายประเด็น ตั้งแต่การเปิดโรงเรียนดนตรี 0 บาท ชื่อคีตาทาน จนถึงการเก็บกระทงที่สร้างมลภาวะในแม่น้ำ

ครูเบลล่าเล่าว่าจุดเริ่มต้นของการมาขับเคลื่อนเรื่องฝุ่น คือการเป็นคนเชียงใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าเจอปัญหาฝุ่น PM 2.5 หนักหน่วงมานานปี 

“PM 2.5 เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาหลายปีแล้ว มีทั้งข้ามแดนมาและที่เกิดในประเทศไทยของเราเอง ปกติช่วงวิกฤตที่สุดคือช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม แต่เดี๋ยวนี้มกราคมมันก็มาแล้ว ซึ่งเชียงใหม่เป็นแอ่งกระทะ พอฝุ่นเกิดขึ้น มันก็จะปิดเมือง” 

ตอนแรกครูเบลล่าไม่เคยทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อน แต่เมื่อตระหนักว่าตัวเองต้องทนเผชิญปัญหานี้ทุกปีเพราะเป็นคนชอบปั่นจักรยาน จึงหันมาสนใจประเด็นเหล่านี้และตัดสินใจเข้าร่วม ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ ชมรมขับเคลื่อนเรื่องปัญหาฝุ่นควันที่มีหลายภาคส่วนเข้าร่วม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 

ระหว่างนั่งร่วมฟังประชุมของชมรม สิ่งที่ครูเบลล่าพบ คือเชียงใหม่สูญเสียพื้นที่บนดอยให้กับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด ซึ่งที่จริงไม่ควรนำขึ้นมาปลูกบนพื้นที่สูง และการปลูกผิดที่นี้เองที่ทำให้เกิดการเผาไร่ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุปัญหาฝุ่นควัน

“ถ้าปลูกข้างล่าง เวลาเก็บเกี่ยวเราใช้รถไถซังข้าวโพดได้ แต่บนดอยใช้รถไถไม่สะดวก วิธีที่ชาวบ้านทำได้จึงเป็นการเผา”

ครูเบลล่ามีโอกาสไปเห็นภาพภูเขาที่ถูกเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด ได้นั่งลงคุยกับพี่น้องบนพื้นที่สูงอย่างจริงจัง จนในที่สุดเธอตัดสินใจลองกระโดดเข้าไปเป็นผู้ร่วมแก้ปัญหาด้วยตัวเอง 

นี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการที่เธอตั้งชื่อว่า ‘นาไร่ไถ่ดอย’ ซึ่งเปรียบเหมือนการไถ่คืนชีวิตดอยจากการทำไร่ก่อปัญหาฝุ่นควัน

แก้ปัญหาได้ เพราะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ประโยชน์

จะทำยังไงให้ชาวชนเผ่าตกลงที่จะไม่ปลูกข้าวโพด 

คำตอบของครูเบลล่า คือต้องเสนอทางเลือกที่ดีไม่แพ้กันให้พวกเขา

โครงการนาไร่ไถ่ดอยจึงทำการขอไถ่คืนดอยโดยที่คนบนดอยไม่เสียประโยชน์ โดยครูเบลล่าชักชวนครอบครัวที่สนใจลงมาอยู่ในที่ดินของตัวเอง แล้วเปลี่ยนพื้นที่บนดอยเป็นการปลูกไม้ผลซึ่งทั้งกินได้และขายได้ อีกทั้งไม่ต้องเก็บเกี่ยวแล้วเผาทุกปี เช่น มะม่วงและลำไย

“ครูถามเขาว่า หนูปลูกข้าวโพดอยู่ได้กำไรเท่าไหร่ คุ้มไหมกับที่ร่างกายเสื่อมโทรมลงไป ดินก็เสียเพราะใช้ยาฆ่าแมลงเยอะมาก แล้วก็ถามเขาว่า ครูมีที่ดินอยู่ ถ้าลงมาอยู่ที่เชียงใหม่ ครูมีที่ดินอยู่ 1 แปลงที่ตำบลแม่แรม หนูมาอยู่ทั้งครอบครัวได้เลย เดี๋ยวจะหาโรงเรียนให้ลูกเรียนด้วย

“นอกจากนั้น ครูไม่อยากเป็นฮีโร่คนเดียว อยากให้คนอื่นมาช่วยกันทำ เลยโพสต์ชวนคนที่สนใจในเฟซบุ๊ก รับสมัครเพื่อน ๆ ประมาณ 40 คน รถตู้ 3 – 4 คัน ไปด้วยกัน ช่วยกันปลูก”

แล้วระหว่างช่วงเวลาหลายปีที่ไม้ผลเจริญเติบโต ผู้ริเริ่มโครงการนาไร่ไถ่ดอยก็อุดช่องว่างไม่ให้คนบนดอยขาดรายได้ด้วยการให้พวกเขาลงมือปลูกพืชผักอินทรีย์บนที่ดินผืนนั้นเพื่อนำมาขาย 

แม้ว่าเธอจะไม่เคยทำการเกษตรมาก่อน แต่ก็มีผู้ช่วยสนับสนุนทั้งองค์ความรู้และทุนทรัพย์ตลอดทาง จนหลังจากลองผิดลองถูกพักใหญ่ ผักอินทรีย์ก็ขายได้ ทำเงินได้จริง

“โชคดีที่เราไม่ได้ไปซื้อที่ดินใหม่ ก็ถือว่าได้เรียนรู้จากการทำเกษตรเยอะมาก แล้วครูเริ่มฉลาดขึ้น เริ่มขายเป็นแล้วตอนนี้” ครูเบลล่าบอกเรา

เมื่อเข้าไปสนับสนุนในทุกจังหวะของการแก้ปัญหา โครงการนาไร่ไถ่ดอยก็ค่อย ๆ มุ่งสู่เป้าหมาย เปลี่ยนดอยที่เต็มไปด้วยข้าวโพดให้กลายเป็นดอยเขียวชอุ่มได้อีกครั้ง

จากดอยแรก สู่ความเป็นไปได้ของดอยต่อไป

จากวันแรกที่ครูเบลล่าและเพื่อน ๆ อาสาสมัครลงมือปลูกไม้ผลกินได้ต้นแรกแทนข้าวโพด ตอนนี้ก็ผ่านมา 4 ปีแล้ว เมื่อเธอกลับขึ้นไปดู เหล่าไม้ผลก็เริ่มสูงท่วมหัว คาดว่าปีนี้พร้อมให้เก็บผล และทางครอบครัวพี่น้องบนดอยสูงก็ได้ย้ายกลับคืนสู่ถิ่นฐาน สู่บ้านที่ไม่มีสารพิษและฝุ่นควันอีกต่อไป

ครูเบลล่ากล่าวว่า ที่จริงแล้วชาวชนเผ่าไม่ได้อยากทำไร่เคมี เพราะเป็นอันตรายต่อชีวิต สิ่งสำคัญคือการหาทางแก้ปัญหาที่เขายังคงดำรงชีวิตต่อไปได้ 

“การโน้มน้าวที่ให้คนบนพื้นที่สูงเลือกปลูกข้าวโพดไม่ยาก อย่างครอบครัวที่มาร่วมโครงการ ตัวเขาป่วย พ่อก็เสียชีวิต สิ่งที่ต้องทำคือคิดหาทางแก้ปัญหาที่ช่วยให้เกษตรกรอยู่ต่อได้ เก็บเงินได้ในช่วงที่ต้องรอ

“โครงการนาไร่ไถ่ดอยเป็นการลงมือทำเพื่อทดลองให้เห็นว่าตัวเล็ก ๆ อย่างเราก็ทำได้ ถ้าเรามีศักยภาพที่จะสนับสนับสนุนเขาในช่วงเปลี่ยนผ่าน ระหว่างทำโครงการก็มีสิ่งผิดพลาด แต่เราก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะ และอย่างน้อยที่สุด เมื่อได้เห็นต้นไม้บนดอยโต เราก็ดีใจ

“แต่ทั้งนี้ เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นกฎหมายซึ่งตั้งใจแก้ปัญหาฝุ่นควัน เช่น พ.ร.บ. อากาศสะอาด ที่ภาคประชาชนปรารถนาให้เกิดขึ้นจริง เพราะนี่คือลมหายใจของเราทุกคน”

ดอยที่โครงการนาไร่ไถ่ดอยขอชีวิตคืนมาได้อาจเป็นเพียง 1 ดอยเล็ก ๆ ในบรรดาดอยซึ่งเป็นพื้นที่ของไร่ข้าวโพดสุดลูกหูลูกตา แต่กรณีศึกษาเล็ก ๆ นี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าการตั้งโจทย์ที่ถูกต้องจะนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง 

และนำไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด 

 ภาพ : นลี อินทรนันท์

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN