24 สิงหาคม 2023
1 K

บ่ายวันหนึ่ง ผมกำลังนั่งเตรียมสอนภูมิศาสตร์ให้นักเรียนชั้น ม.6 ที่กำลังเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยความรู้สึกมึนหัว เรื่องอย่างนี้ท่านใดที่เป็นครูซึ่งกำลังจะต้องสอนเนื้อหาจำนวนมากและซับซ้อนให้จบในเวลาอันกระชับ ย่อมเข้าใจดีว่าการเรียงลำดับเรื่องเพื่อสื่อความหมายนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังงานไม่น้อยเลย ผมรู้สึกว่าหลังจากที่ส่งเด็ก ๆ ทุกคนถึงจุดหมายปลายทางของปีการศึกษานี้แล้ว ผมอยากหาที่ชาร์จพลังให้ตัวเองสักหน่อย ผมเหลือบสายตาไปมองเอกสารการสอนบนโต๊ะ และมองเห็นคำว่า ‘ทะเลทราย’

ใช่! ผมว่าผมอยากไปทะเลทราย

ผมพยายามนั่งนึกหาทะเลทรายที่เดินทางไปได้โดยใช้ระยะเวลาไม่นาน มีราคาเหมาะสมแก่สภาพเศรษฐกิจ เป็นประเทศใหม่ที่ยังไม่เคยไป และคาดหวังจะได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ ในชีวิตมากกว่าการไปพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น

และชื่อ ‘โอมาน’ ก็ผุดขึ้นมาในหัว

ผมได้ตั๋วเครื่องบินโลว์คอสต์มาใบหนึ่ง ราคาพอกัดฟันได้ จองโรงแรม ติดต่อหาแพ็กเกจทัวร์สำหรับการเดินทางออกไปนอกเขตเมืองหลวง

หลังจากนั้นไม่นาน เท้าสองข้างผมก็สัมผัสกับกรุงมัสกัต (Muscat) เมืองหลวงของรัฐสุลต่านโอมาน (Sultanate of Oman) ซึ่งเป็นประเทศลำดับที่ 61 ในชีวิตของผม

แรกพบโอมาน

ผมเคยเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลางอยู่บ้าง คำว่าตะวันออกกลางของผมในที่นี้ไม่รวมตุรกีและอิหร่าน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเติร์กและชาวเปอร์เซียตามลำดับ ตะวันออกกลางในบริบทนี้หมายถึงกลุ่มประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อชาติอาหรับ ใช้ภาษาอารบิกเป็นภาษาราชการ และอยู่ในคาบสมุทรอาระเบีย

บ่ายวันแรกที่ผมได้รู้จักกับโอมาน นอกเหนือจากบรรยากาศที่ผมคุ้นเคยอย่างแสงแดดที่แผดกระหน่ำลงมาราวกับจะฆ่าคนได้ และสายลมแห้ง ๆ ผสมฝุ่นทรายที่ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศแล้ว สิ่งที่ผมรู้สึกแตกต่างออกไปจากประสบการณ์การเดินทางในภูมิภาคนี้ คือโอมานเป็นประเทศที่ ‘ทันสมัย’ ในระดับหนึ่ง คือมีสนามบินสวยงามตามมาตรฐานสากล ถนนหนทางใหญ่โตเรียบร้อยกว้างขวาง มีความ ‘เจริญ’ ในนิยามที่คนทั่วไปเข้าใจตรงกัน แม้จะไม่เท่าเมืองใหญ่อย่างนครดูไบหรือประเทศเล็ก ๆ อย่างกาตาร์ คูเวต หรือบาห์เรน แต่ความสะดวกสบายที่เห็นก็ทำให้นักเดินทางหายห่วงได้ในระดับหนึ่ง 

ที่สำคัญ ประเทศนี้ยังเป็นสังคมแบบอนุรักษนิยมค่อนข้างมาก ผู้คนยังคงแต่งกายตามวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ ผมได้ยินเสียงอะซานสำหรับการละหมาดรอบบ่ายดังขึ้นท่ามกลางความนิ่งงันของสิ่งแวดล้อมรอบข้าง นี่แหละคือบรรยากาศของประเทศอาหรับที่ผมคิดถึง และผมก็พร้อมจะออกไปทำความรู้จักกับประเทศแห่งนี้ให้มากขึ้นแล้ว

นอกเหนือจากการอ่านหนังสือหรือค้นคว้าข้อมูลในอินเทอร์เน็ต วิธีที่จะทำให้รู้จักกับประเทศหนึ่งได้ดีที่สุด นั่นคือการไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ของประเทศนั้น ๆ ผมจึงไม่รอช้า เมื่อเก็บของเข้าห้องพักในโรงแรมเสร็จแล้ว ผมจึงเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน Otaxi ในโทรศัพท์มือถือ (ระบบขนส่งมวลชนของประเทศโอมานมีเพียงรถเมล์ซึ่งมีน้อยมาก จึงไม่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยว) แต่ก็ตะลึงเพราะพบว่าค่าแท็กซี่จากโรงแรมซึ่งตั้งอยู่ในย่านเมืองใหม่เข้าไปในย่านเมืองเก่านั้นสนนราคาสูงถึง 3,000 กว่าบาท ผมว่าต้องมีอะไรผิดปกติแน่ ๆ จึงเดินไปถามที่เคาน์เตอร์โรงแรมว่า พอจะมีวิธีเรียกแท็กซี่ที่ราคาถูกกว่านี้ได้ไหม

“อ๋อ ได้ค่ะ” เจ้าหน้าที่โรงแรมชาวฟิลิปปินส์ตอบกลับมาอย่างอารมณ์ดี “แต่คุณผู้ชายห้ามปักหมุดว่าตอนนี้อยู่ที่โรงแรม ไม่อย่างนั้นระบบจะเลือกแต่รถพรีเมียมมาให้ ลองปักหมุดที่ร้านอาหารฝั่งตรงข้ามโรงแรมดูสิคะ ระบบจะมีรถราคาปกติมาให้เลือกค่ะ”

ผมลองทำตามอย่างรวดเร็ว แล้วก็พบว่า จริงด้วย! ค่อยยังชั่วที่ราคารถอยู่ที่ประมาณ 500 บาท เกือบเสียค่าแท็กซี่ 3,000 บาทไปแล้วไหมล่ะ นี่แหละครับ การเรียนรู้บทที่ 1 ในโอมาน

สกุลเงินของโอมานคือ ‘Omani Rial’ (OMR) โดยตีค่า 1 OMR เท่ากับประมาณ 100 บาทไทย ค่าเงินอาจผันผวนขึ้นลงบ้าง แต่ก็ช่างมันเถิด วิชาคณิตศาสตร์กับผมไม่ค่อยเป็นมิตรกันเท่าไหร่ ผมจำว่า 100 บาทเสมอไปอย่างนี้ทำให้คูณเลขง่ายดี อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่นี่ถือว่าสูงมาก แม้ว่ารายได้ของคนที่ทำงานในโอมานจะสูงก็ตาม แต่ก็ตามไม่ทันอัตราค่าครองชีพที่พุ่งทะยานเอา ๆ 

ผมสอบถามจากคนที่นี่ได้ความว่า ประชากรที่เป็นชาวโอมานแท้ ๆ มีอยู่ประมาณ 5 ล้านคน และมีชาวต่างชาติมาทำงานที่นี่อีกเป็นจำนวนกว่าล้านคน (สถิติ ปี 2022) ถ้าไม่ใช่ชาวต่างชาติที่ทำงานระดับสูง คนหาเช้ากินค่ำ เช่น แรงงานชาวเอเชียใต้และชาวฟิลิปปินส์ ก็แทบจะไม่เดินทางไปไหนเลยนอกจากไป-กลับระหว่างห้องเช่ากับที่ทำงานของตัวเองเท่านั้น เพราะค่าครองชีพที่นี่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยสุรุ่ยสุร่ายไม่ได้เลย

เมืองเก่ามัสกัตตั้งอยู่ริมชายฝั่งอ่าวโอมาน (Gulf of Oman) ซึ่งเป็นน่านน้ำเชื่อมต่อกับมหาสมุทรอินเดียและทะเลอาหรับ โอมานจึงเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยที่การค้าทางทะเลยังรุ่งเรือง เพราะเป็นจุดแวะพักสำคัญของเรือสินค้าที่สัญจรไปมาระหว่างทวีปยุโรป แอฟริกา กับอนุทวีปอินเดียและดินแดนตะวันออกไกล แต่ด้วยความที่โอมานมีชัยภูมิที่ดีต่อการเดินเรือนี้เอง ทำให้ในช่วงต้นสมัยใหม่ โอมานจึงถูกโปรตุเกสยึดครองเป็นอาณานิคมเพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าอิทธิพลในการสำรวจโลกตะวันออก ทุกวันนี้รอบ ๆ กรุงมัสกัตจึงมีป้อมปราการและหอสังเกตการณ์มากมายที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่โปรตุเกสเรืองอำนาจ

ใกล้ ๆ กับทางเดินเลียบชายฝั่งทะเลและท่าจอดเรือสำราญ เป็นที่ตั้งของตลาดพื้นเมืองชื่อ ‘Muttrah Souq’ แม้ว่าจะเป็นตลาดเก่าดั้งเดิมของโอมาน แต่ปัจจุบันสินค้าที่นี่ไม่ได้มาจากโอมานเป็นส่วนใหญ่อีกต่อไป เพราะที่นี่เน้นขายของที่ระลึกซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ แม้จะขาดเสน่ห์ไปสักหน่อย แต่ก็นับว่าสถานที่แห่งนี้พอจะทำให้เราเห็นความคึกคักของการค้าในบริเวณนี้ที่มีมานานกว่า 200 ปี เดิมทีตลาดแห่งนี้เรียกว่า ‘Al Dhalam’ (ตลาดมืด) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสถานที่ขายของผิดกฎหมาย แต่เป็นเพราะแผนผังที่สลับซับซ้อนของตลาดแห่งนี้ จนทำให้แสงแดดส่องเข้าไปได้น้อย ตลาดแห่งนี้จึงมีชื่อเช่นที่ว่านี้เอง

ได้เห็นอ่าวโอมานและตลาดพื้นเมืองแล้ว ทีนี้ก็ได้เวลาสำหรับพิพิธภัณฑ์แล้วครับ ผมนั่งรถต่อไปยังใจกลางของเมืองเก่า เพื่อสัมผัสกับพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง 2 แห่งของประเทศโอมาน นั่นคือ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (Oman National Museum) และ พิพิธภัณฑ์เบต อัล ซูแบร์ (Bait Al Zubair Museum) ซึ่งเป็นสถานที่ที่จะบอกเล่าความเป็นโอมานให้ผู้มาเยือนอย่างผมรู้จักกับดินแดนแห่งนี้มากขึ้น

ท่องพิพิธภัณฑ์ในโอมาน

ผมตั้งสมมติฐานขึ้นมาเองเป็นการส่วนตัวว่า เมื่อเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์กลางของประเทศต่าง ๆ เราจะรู้ได้โดยไม่ยากเลยว่าประเทศแห่งนั้นภูมิใจนำเสนอเรื่องอะไร โดยสังเกตจากการการจัดแสดงข้าวของต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์ว่าให้น้ำหนักเรื่องใดมากเป็นพิเศษ สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโอมาน ผมสังเกตเห็นความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของประเทศข้อสำคัญ คือการเดินเรือ ซึ่งการเดินเรือของประเทศนี้นั้นไม่ธรรมดา เพราะปรากฏว่าชาวโอมานเดินเรือได้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นชาติที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การค้าทางทะเลตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงยุคจักรวรรดินิยม สินค้าที่นำชื่อเสียงมาสู่ดินแดนบริเวณนี้ก็คือ ‘กำยาน’ ก่อนที่โอมานจะทำการค้ากับหลายชาติ ทั้งในแอฟริกา จีน และอินเดีย

แน่นอนว่าโอมานเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ภายในพิพิธภัณฑ์จึงจัดแสดงศิลปะอิสลามที่สวยงาม วิจิตรบรรจง ซึ่งไม่ได้ปรากฏเฉพาะความสวยงามของงานเขียนหรืองานสลักบนมัสยิดเท่านั้น เพราะภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานโลหศิลป์ที่มีการแกะสลักลายอย่างวิจิตร ลายเหล่านี้เรียกว่า ‘Arabesque’ ส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากลายพรรณพฤกษาชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะต้นปาล์มซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นอยู่แพร่หลายในพื้นที่นี้ เพราะฉะนั้น ศิลปะมุสลิมในพื้นที่ตะวันออกกลางจึงมีต้นปาล์มเป็นแรงบันดาลใจของการออกแบบงานทัศนศิลป์จำนวนมากในสมัยจารีตนิยม

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โอมานตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ ทำให้ความนิยมของใช้จากยุโรปและอินเดียแพร่หลายในโอมาน จนกระทั่งถึงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โอมานก็ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ และเข้าสู่รัชกาลของ สุลต่านกอบูส บิน ซะอีด (Qaboos bin Said) ซึ่งทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานถึง 50 ปี (ปี 1970 – 2020) ท่ามกลางความผันผวนนานัปการในโลกตะวันออกกลาง ทรงมีบทบาทในการนำพาประเทศผ่านความขัดแย้งในภูมิภาคมามากมาย และทรงทำให้โอมานมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศต่าง ๆ 

ห้องจัดแสดงหนึ่งของพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงสิ่งของทูลพระขวัญ เป็นตัวแทนของพระราชไมตรีระหว่างโอมานกับประเทศต่าง ๆ จัดแสดงอยู่ โดยเลือกสิ่งของเหล่านั้นมาประเทศและ 1 ชิ้น สำหรับสิ่งของทูลพระขวัญจากประเทศไทย เป็นจานเบญจรงค์ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ถวายสุลต่านกอบูส บิน ซะอีด เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลโอมานเมื่อวันที่ 8 – 10 มีนาคม ปี 1989 นับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนโอมานในระดับพระราชวงศ์เป็นครั้งแรกของฝ่ายไทย คนไทยที่ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้หาจานเบญจรงค์ใบนี้ได้ไม่ยาก เพราะทางพิพิธภัณฑ์จัดแสดงจานใบนี้ไว้อย่างโดดเด่น สวยงามสะดุดตาทีเดียว

เมื่อเดินออกจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโอมาน ใกล้ ๆ กันคือ Bait Al Zubair Museum ซึ่งเป็นบ้านเก่าแก่กลุ่มหนึ่งตั้งอยู่เป็นหมู่อาคารภายในรั้วรอบขอบชิด ชื่อ Bait Al Zubair แปลว่าบ้านของตระกูล Al Zubair อันเก่าแก่และมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งทายาทของตระกูล Al Zubair เปลี่ยนพื้นที่บ้านหลังเก่าของตนเองให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับนักท่องเที่ยว จัดแสดงของสะสมส่วนตัวของตระกูล Al Zubair ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตหลากหลายแง่มุม

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนกรุงมัสกัตเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นบ้านเก่านั้น ยังได้รับพระราชทานรางวัล Majesty Sultan Qaboos’ Award for Architectural Excellence เมื่อปี 1999 โดยเป็นอาคารหลังแรกในประเทศโอมานที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

สิ่งที่น่าสนใจในบรรดาของสะสมอันละลานตาของตระกูล Al Zubair คือข้าวของเครื่องใช้ที่พบได้ยากในวัฒนธรรมโอมาน เช่น การใช้มีดสั้นชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า Khanjar ประดับด้วยทอง โดยทั่วไปชาวโอมานนิยมใช้เครื่องเงินมากกว่าเครื่องทอง เนื่องจากทองคำเป็นของหายากและมีราคาแพง อย่างไรก็ตาม ยังมีการนิยมใช้เป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรีชาวโอมานในโอกาสสำคัญบ้าง เช่น ในพิธีฉลองมงคลสมรส แต่ความพิเศษของ Khanjar ของสุภาพบุรุษในตระกูล Al Zubair คือการประดับด้ามจับและฝักด้วยทองคำที่ไม่ใช่คนในทุกตระกูลจะครอบครอง Khanjar ทองคำเช่นนี้ได้

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำให้ผมทราบว่า ปัจจุบันชาวโอมานบางครอบครัวยังนิยมซื้อปืนให้ลูกชาย แม้ว่าทุกวันนี้การยิงปืนในประเทศโอมานจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายก็ตาม แต่การครอบครองปืนเป็นสัญลักษณ์ของลูกผู้ชาย เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะไม่มีโอกาสได้ใช้ปืนเลย แต่ผู้ชายชาวโอมานหลายครอบครัวก็ยังพกปืนเป็นของตนเองอยู่ เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์เล่าให้ผมฟังว่าที่บ้านของเขาก็มีปืนเหมือนกัน แต่เขายิงปืนไม่เป็นเลย ผมเลยถามเขาว่าถ้ามีโจรขึ้นบ้านจะทำอย่างไร เขาหัวเราะแหะ ๆ และบอกกับผมว่า

“สงสัยต้องใช้มีดแทงเอา”

นอกเหนือจากอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ Bait Al Zubair ยังจัดแสดงเหรียญกษาปณ์และเหรียญที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ ดวงตราไปรษณียากรมากมายหลายรุ่น และข้าวของเครื่องใช้สำหรับคุณแม่บ้านทั้งหลายในวัฒนธรรมมุสลิมด้วย 

ความแตกต่างของพิพิธภัณฑ์ Bait Al Zubair และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโอมาน (Oman National Museum) คือพิพิธภัณฑ์ Bait Al Zubair จะเน้นเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ในโอมานยุคใหม่ ในขณะที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติโอมานเน้นบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชาติในปัจจุบัน โดยไล่ลำดับมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัย รวมถึงนำเสนอศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นในระดับชาติมากกว่าชีวิตประจำวันของผู้คน เพราะฉะนั้น การไปเข้าชมพิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 แห่งโดยไม่ตัดที่ใดที่หนึ่งออกไป จึงทำให้ผู้มาเยือนได้มองเห็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชาวโอมานดีขึ้น และได้รู้จักกับโอมานทั้งในระดับประเทศและในระดับครอบครัวหรือชุมชน

เช้าวันถัดมา ผมยังพอมีเวลาอีกเล็กน้อย ผมจึงลองค้นดูว่าในระยะทางที่ 2 เท้าจะพาผมไปได้ถึง มีสถานที่อะไรน่าสนใจอยู่ใกล้ ๆ โรงแรมบ้าง และผมก็พบว่ามี Natural History Museum ตั้งอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามถนนนี้เอง ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แสดงเรื่องราวของวิวัฒนาการตามยุคสมัยทางธรณีวิทยา ไล่ตั้งแต่บรรพกาลเป็นต้นมาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศโอมานด้วย ในวันที่ผมไปที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โชคร้ายนิดหน่อยที่ห้องจัดแสดงวาฬ (Whale Hall) ซึ่งเป็นสัตว์ที่พบได้มากในทะเลโอมานปิดปรับปรุง ผมจึงไม่มีโอกาสได้เห็นโครงกระดูกของวาฬขนาดใหญ่ที่พบในพื้นที่นี้ แต่ก็ทำให้ผมได้รู้จักกับเพื่อนร่วมโลกมากมายที่มีชีวิตอยู่ในทะเลทราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตัว White Oryx

White Oryx เป็นสัตว์ในตระกูลใกล้เคียงกับละมั่ง (Antelope) มีความสามารถในการปรับตัวให้อยู่อาศัยได้ในทะเลทราย โดยตัวผู้ที่ตัวเต็มวัยอาจมีน้ำหนักได้มากถึง 80 กิโลกรัม เจ้าสัตว์ตัวนี้ปรับสายตาของตนให้อยู่ท่ามกลางแสงจ้าในทะเลทรายได้ และมีสภาพร่างกายที่ทนต่อพายุทราย และในช่วงฤดูร้อนซึ่งอากาศในทะเลทรายร้อนจัดและแห้งแล้งเป็นพิเศษ White Oryx จะปรับตัวไปหากินกลางคืนและกินน้ำค้างที่อาจมีอยู่บ้างตามยอดหญ้า เพียงเท่านี้ก็มีชีวิตอยู่ได้

และบ่ายวันนี้เองที่ผมจะได้เดินทางไปพบกับเจ้า White Oryx ตัวเป็น ๆ กลางทะเลทรายวาฮิบา (Wahiba Desert) ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศโอมาน

นอนกลางดิน กินกลางทราย

ก่อนหน้าที่เราจะมุ่งหน้าสู่ทะเลทราย เราแวะหลุมยุบบิมมาห์ (Bimmah Sinkhole) ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาค Al Sharqiyah หลุมยุบที่ว่านี้กว้างประมาณ 50 x 70 เมตร อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลเพียงแค่ 600 เมตรเท่านั้น น้ำในหลุมที่ว่านี้เป็นน้ำเค็ม เพราะเกิดจากการกัดกร่อนของคลื่นและกระแสน้ำที่กระทำต่อพื้นผิวใต้ดิน จนกระทั่งทำให้หินบริเวณนี้ยุบลงโดยมีความลึกประมาณ 20 เมตร

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อของชาวบ้านในพื้นที่ดูเหมือนจะสวนทางกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากตำนานปรัมปราของท้องถิ่นเชื่อว่าหลุมยุบบิมมาห์เกิดจากอุกกาบาตตกใส่พื้นดินจนกระทั่งกลายเป็นหลุมยุบ คนพื้นเมืองเรียกกลุ่มนี้เป็นภาษาอารบิกว่า Hawiyyat Najm อันมีความหมายว่า บ่อน้ำอุกกาบาต ปัจจุบันหลุมยุบแห่งนี้กลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจคลายร้อนของชาวเมือง มีผู้คนมากระโดดน้ำเล่นกันสนุกสนาน

ต่อมาเรานั่งรถผ่านเมืองซูร์ (Sur) ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านการต่อเรือมาตั้งแต่สมัยโบราณเพื่อเข้าไปยังทะเลทรายวาฮิบา ค่ำคืนนี้ผมจะได้พักในแคมป์กลางทะเลทรายร่วมกับนักท่องเที่ยวอีกหลายชาติ ที่หน้าแคมป์มี White Oryx เลี้ยงไว้เป็นคอก ๆ ให้นักท่องเที่ยวแวะไปทักทาย ผมมีโอกาสพูดคุยกับคุณตาชาวโปแลนด์ คุณยายชาวเยอรมัน และกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นราวคราวเดียวกันจากออสเตรีย น่าสังเกตว่าชาวตะวันตกนิยมเดินทางมาโอมานไม่น้อย ไถ่ถามไปได้ความว่า พวกเขารู้สึกว่าโอมานเป็นประเทศที่ปลอดภัยและสะดวกสบายในระดับหนึ่งที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมแบบอาหรับดั้งเดิมเอาไว้ได้ ไม่วัตถุนิยมจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องผจญภัยมากเกิน ซึ่งความเห็นของนักท่องเที่ยวชาวยุโรปทั้งหลายนั้นสอดคล้องกับความรู้สึกของผมทุกประการ โอมานเป็นประเทศที่มีเสน่ห์อย่างนี้เอง

เนื่องจากแสงแดดยามบ่ายนั้นโหดร้ายจนไม่มีใครขยับตัวทำอะไรได้ เราจึงรอจนกระทั่งถึงช่วงเย็นเพื่อไปชมพระอาทิตย์ตกกลางเนินทราย ผมเช่าสไลด์สำหรับถลาลงเนินทรายมาได้ตัวหนึ่งและขึ้นรถไปพร้อมกับคนอื่น ๆ หลังจากที่หอบสไลด์ขึ้นเนินทรายและเลื่อนตัวลงมาไปกลับเช่นนี้หลายรอบจนได้เหงื่อ ก็ถึงเวลาที่เราจะอำลาแสงสุดท้ายของวัน 

เมื่อสิ้นแสงพระอาทิตย์ ทะเลทรายก็กลับกลายเป็นเหมือนคนละโลกกับเมื่อตอนกลางวัน ลมเย็น ๆ เริ่มพัดเอื่อยมา อุณหภูมิลดต่ำลงอย่างรวดเร็วและเริ่มมีน้ำค้างพร่างพราว มิน่าเล่าผู้คนในสมัยโบราณที่จำเป็นต้องเดินทางรอนแรมในทะเลทราย จึงนิยมเดินทางในเวลากลางคืน และพักแรมในเวลากลางวัน เพราะบรรยากาศของทะเลทรายยามค่ำคืนนั้นดีมาก ผิดกับตอนกลางวันซึ่งร้อนไหม้ราวกับนรกบนดิน

คืนนั้นที่แคมป์มีวงดนตรีของชาวเบดูอิน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายมาเล่นดนตรีให้พวกเราฟัง เป็นการฟังดนตรีที่ปลอดภัยมาก เพราะปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายของโอมาน นักท่องเที่ยวสารพัดชาติชงชาร้อน ๆ พูดคุยกันเคล้าเสียงดนตรี คุยไปคุยมาสักพักก็ปรากฏว่ามีคนเริ่ม ‘เมาชา’ และลุกขึ้นเต้น แน่นอนว่าเมื่อมีคนเมาชาขึ้นมาสักคนแล้วคนที่เหลือก็รู้สึกว่าตัวเองต้องเมาชากับเขาด้วยเหมือนกัน ใครต่อใครหลายคนจึงชวนกันลุกขึ้นเต้นอย่างสนุกสนาน

ผมเองก็คงจะยอมแพ้ไม่ได้ จึงออกอาการเมาชากับเขาด้วยคน ครื้นเครงไปอีกแบบครับ

นิซวา ปราการแห่งรัฐอิหม่าม

หลังจากอำลาแคมป์กลางทะเลทราย ผมเดินทางมุ่งหน้าไปสู่เมืองนิซวา (Nizwa) ซึ่งเป็นเมืองเก่าที่คึกคักไปด้วยผู้คน ยังคงมีตลาดซึ่งเป็นแหล่งค้าขายเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญของประเทศ ใจกลางของนิซวาเป็นที่ตั้งของป้อมปราการแห่งเมืองนิซวา (Nizwa Fort) ซึ่งมีโครงสร้างเก่าแก่ย้อนกลับไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่โครงสร้างป้อมปราการที่เราเห็นในปัจจุบันได้รับการก่อสร้างในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 (ราวปี 1650) โดย อิหม่ามสุลต่าน บิน ซาอีฟ แห่งวงศ์ยารุบิ (Imam Sultan bin Saif Al Ya’rubi) โครงสร้างหลักใช้เวลาก่อสร้างยาวนานประมาณ 12 ปี เมื่อเราขึ้นไปบนสุดของพื้นที่หอสังเกตการณ์ จะสังเกตเห็นภูมิทัศน์ของเมืองนิซวาได้โดยรอบว่าเป็นเมืองที่มีภูมิประเทศโอบล้อมไปด้วยภูเขา และมีพื้นที่สีเขียวพอสมควร

ย้อนกลับไปเมื่อหลายศตวรรษก่อน โอมานยังไม่ได้เป็นรัฐสุลต่านที่ปกครองในลักษณะรัฐเดี่ยวอย่างในปัจจุบัน แต่โอมานนั้นประกอบด้วยนครรัฐน้อยใหญ่ที่รวมกัน มีความเป็นอิสระต่อกันในระดับหนึ่ง รัฐใดที่มีบารมีน้อยกว่าก็จะอ่อนน้อมต่อรัฐมีบารมีมาก นิซวาเป็นหนึ่งในเมืองที่มีอำนาจมาก และเป็นเมืองพิเศษ เนื่องจากเมืองนี้ไม่เคยมีกษัตริย์หรือเจ้าผู้ปกครอง แต่ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในเมืองนี้คืออิหม่าม (Imam) ซึ่งเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม เพราะฉะนั้น ป้อมปราการแห่งนิซวาจึงเป็นป้อมปราการที่ไม่เคยมีกษัตริย์มาประทับอยู่ แต่เป็นศูนย์บัญชาการของเมืองที่มีอิหม่ามเป็นผู้นำ จึงสรุปได้ว่านิซวาเป็นรัฐที่ปกครองด้วยระบบศาสนาอย่างแท้จริง

ภายในป้อมปราการยังมีพื้นที่ใช้สอยส่วนหนึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับสอนศาสนา ห้องสมุด และพื้นที่ที่ให้อิหม่ามมีโอกาสได้พบปะกับประชาชนภายในเมืองด้วย นับว่าเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของเมืองอย่างแท้จริง และพื้นที่ด้านหลังของป้อมใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเล็ก ๆ มีแปลงเพาะปลูก และมีบ่อน้ำที่ใช้กักเก็บน้ำ เมื่อต้องการตักน้ำขึ้นมาใช้ คนในสมัยโบราณจะใช้แรงงานวัว 2 ตัวในการดึงเอาน้ำขึ้นมาใช้ พร้อมกันนี้ยังมีห้องสำหรับเก็บอินทผลัมด้วย เมื่ออินทผลัมสุกได้ที่ ก็จะมีน้ำเชื่อมไหลออกจากถุงเข้าสู่ภาชนะที่รองรับเอาไว้ น้ำเชื่อมอินทผลัมและผลอินทผลัมถือเป็นอาหารที่ให้พลังงานได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ขาดแคลนอาหาร

ใกล้กับตัวป้อมยังมีร่องรอยของกำแพงเมืองเก่าและเป็นพื้นที่ของตลาด ของฝากขึ้นชื่อของนิซวาคือเครื่องปั้นดินเผา แต่เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาเป็นของที่กินไม่ได้ผมจึงขออนุญาตเดินข้ามไป และมุ่งตรงไปที่ร้านขายฮาลวา (Halwa) ขนมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายเจลลี่ มีน้ำเชื่อมอินทผลัมประกอบเข้ากับเครื่องเทศอื่น ๆ เป็นเครื่องชูรส 

มองไปมองมา บรรยากาศการขายฮาลวาในนิซวาคล้ายกับการขายขนมหม้อแกงที่เมืองเพชรบุรีของบ้านเรา เพราะแต่ละร้านต่างงัดสูตรเด็ดอ้างความเป็นต้นตำรับเก่าแก่กันทั้งนั้น บรรยากาศแห่งความหอมหวานจึงอบอวลไปทั่วทั้งตลาด มีรอยยิ้มกันทั้งคนซื้อคนขาย เมื่อได้ลองชิมฮาลวาของเมืองนิซวาแล้วต้องยอมรับว่าเป็นฮาลวาที่อร่อยที่สุดเท่าที่ผมเคยรับประทานมาในชีวิต เพราะเนื้อสัมผัสละเอียดเนียนนุ่ม รสชาติหวานหอม และถั่วพิสตาชิโอที่โรยหน้ามาให้เคี้ยวพอกรุบ ๆ ผสานลงตัวกันพอดิบพอดี กินไปกินมาก็ต้องห้ามใจไม่ให้บริโภคอะไรไปได้มากกว่านั้น เพราะถ้ารับประทานอีกนิด เห็นทีว่าวันรุ่งขึ้นจะต้องไปวิ่งมาราธอนเพื่อกำจัดแคลอรีของฮาลวาเมืองนิซวาที่อร่อยเหลือใจ

น้ำคือชีวิต

ท่ามกลางความแห้งแล้งทั้งหลายในโอมานนั้น การมีแหล่งน้ำสักแห่งหนึ่งในประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญ ตั้งแต่อดีตกาล แหล่งน้ำกลางทะเลทรายหรือที่เรียกขานกันว่าโอเอซิส (Oasis) มีความสำคัญมาก เพราะเป็นแหล่งเติมเสบียงและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของบรรดานักเดินทางทั้งที่ต้องรอนแรมท่ามกลางความเป็นความตายมาหลายวัน และหากโอเอซิสที่ใดมีน้ำใสไหลเย็นผุดขึ้นตลอดทั้งปี โอเอซิสแห่งนั้นก็มีโอกาสพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่ได้

โอเอซิสที่ผมมีโอกาสได้ไปชมคือ Wadi Bani Khalid หรือหุบเขาของตระกูลบานิคาลิด เป็นหุบเขามีธารน้ำใสไหลเย็นตลอดทั้งปี ตัวลำธารและหุบเขาเกิดจากการทรุดตัวของแนวหินบริเวณเทือกเขาฮาจาร์ (Hajar Mountains) ลำน้ำมีแอ่งสำหรับว่ายน้ำมากมาย มีน้ำตกเป็นระยะ ๆ นับว่าเป็นภูมิประเทศที่แปลกตาอย่างมาก จนแทบลืมไปได้เลยว่าเรากำลังเดินอยู่ในประเทศที่แห้งแล้ง

  คงจะกล่าวไม่ผิดนักว่าหุบเขาแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันดับ 1 ของประเทศโอมาน เพราะว่าโอเอซิสแห่งนี้ปรากฏอยู่บนภาพประชาสัมพันธ์น้อยใหญ่ของทางการ รวมถึงบรรดาบล็อกเกอร์ชื่อดังก็พร้อมใจกันมารีวิวกันอย่างคึกคัก เราเดินฝ่าเปลวแดดลัดเลาะไปตามทางเดินแคบ ๆ เข้าไปสู่ความชุ่มชื้นนั้น โชคดีว่าวันที่เราเดินทางไปถึงคนไม่หนาแน่นมากนัก นั่นคงเป็นเพราะเรามาถึงที่นี่ตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันทำงานวันแรกในสัปดาห์ของประเทศโอมาน (ประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางมักมีวันศุกร์และวันเสาร์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์) 

ชาวต่างชาติมากหน้าหลายตากำลังดำผุดดำว่ายอยู่ในลำธารที่ไหลผ่านหุบเขานี้ รวมถึงชาวโอมาน แม้จะมีกฎระเบียบตามวัฒนธรรมที่ทางการโอมานขอความร่วมมือให้ทุกคนที่เล่นน้ำยังคงต้องแต่งกายมิดชิด แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับความสนุกสนานแต่อย่างใด อาจมีนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่ละเมิดคำขอความร่วมมือข้อนี้อยู่สักหน่อยด้วยความเคยชิน แต่โดยมากแล้วผู้มาเยือนก็ให้ความเคารพขนบธรรมเนียมของพื้นที่เป็นอย่างดี

โอเอซิสอีกแห่งหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้ไปชมคือ Wadi Tiwi (หุบเขาทิวิ) ซึ่งเป็นโอเอซิสที่ทำให้ผมงุนงงมากที่สุดนับตั้งแต่เดินทางมา เพราะผมจินตนาการเอาไว้ว่า อย่างน้อยที่สุด Wadi Tiwi จะต้องเป็นลำธารที่ใหญ่ประมาณหนึ่ง มีเกาะแก่งตามสมควร และมีมุมต่าง ๆ ให้เราเที่ยวชมได้อย่างเพลิดเพลิน เราต้องขับรถลัดเลาะไปตามเนินเขา ผ่านตรอกแคบ ๆ กลางชุมชนตรอกแล้วตรอกเล่า ชวนให้ผมตื่นเต้นว่าโอเอซิสในหุบเขาแห่งนี้จะน่าชมสักเพียงใดกันหนอ แล้วรถก็หยุดลงที่ริมถนนแคบ ๆ แห่งหนึ่งที่มีแอ่งน้ำ มีกอหญ้ากอกกขึ้นเรียงรายอยู่รอบ ๆ ซึ่งผมเข้าใจว่าเราหาแอ่งน้ำเช่นนี้ได้ในทุกตำบลของประเทศไทย ผมหันไปถามคนนำทางว่าหยุดรถทำไม คำตอบที่ไกด์ให้กลับมาทำเอาผมอึ้งไป เพราะไกด์บอกว่านี่แหละคือจุดไฮไลต์ของ Wadi Tiwi

“จะบ้าเหรอ! แอ่งน้ำแค่นี้เองเนี่ยนะ” ผมนึกในใจ 

แต่ในชั่ววินาทีหลังจากนั้น ผมก็กลับได้มุมมองว่า Wadi Tiwi นี่แหละคือสถานที่ที่ทำให้คนจากเมืองลุ่มน้ำอย่างผมเข้าใจหัวอกของคนอยู่ทะเลทรายมากขึ้น เพราะแอ่งน้ำเล็ก ๆ ที่ว่านี้มีคนโอมานจับกลุ่มกันเล่นน้ำท่ามกลางแดดจัดกันอย่างมีชีวิตชีวา ผู้คนสาดน้ำในแอ่งใส่กันด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุขเหลือเกิน เมื่อนั้นเองผมก็รู้ได้เลยว่า ‘น้ำ’ สำคัญต่อคนที่นี่ขนาดไหน เราอยู่เมืองไทยและเห็นน้ำจนเคยชิน เห็นจนไม่รู้สึกว่าเป็นของแปลกอะไร และเราอาจหลงลืมไปว่าน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าไม่มีน้ำ ชีวิตของพวกเราก็จบสิ้นลงเพียงเท่านั้นเอง แต่ด้วยความเคยชินนี้ เราจึงอาจจะมองน้ำเป็นของตาย

Wadi Tiwi จึงได้เตือนใจผมว่าอย่ามองทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ในเมืองไทยเป็นของตาย เพราะของธรรมดาที่เราเคยชินอาจเป็นของล้ำค่าอย่างยิ่งสำหรับคนในอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งพิเศษเสียจนต้องจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ให้คนต่างถิ่นมาเยี่ยมเยียน

ในชีวิตของคนเราอาจยังเผลอมองอะไรที่เคยชินว่าเป็นของตาย ไม่ได้คิดว่าสิ่งเหล่านั้นสลักสำคัญอะไร แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งชิ้นส่วนสำคัญนั้นเสียหายไปจากชีวิตแล้ว เราอาจเพิ่งได้รู้สึกตัวว่าสิ่งเหล่านั้นมีค่ามากมายเหลือเกินเมื่อสายเสียแล้ว

นอกจากน้ำแล้ว คงมีของล้ำค่าอีกมากมายในสังคมของเราที่ไม่ควรถูกมองว่าเป็นของตาย และควรตระหนักในคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่เสมอ แม้ว่าเราจะเคยชินกับสิ่งเหล่านั้นมากเพียงใดก็ตาม

ระหว่างรอเที่ยวบินกลับกรุงเทพฯ ที่สนามบิน ผมถามตัวเองว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับการเดินทางในประเทศโอมาน และคำตอบที่ได้ คือผมว่าเป็นการเดินทางที่เรียบง่ายและสบายใจ โอมานเป็นประเทศที่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบตะวันออกกลางให้เราพบเห็นได้ ไม่ประดิดประดอยจนเป็นตะวันตกมากเกินไป บ้านเมืองปลอดภัยและเปิดกว้างต่อนักท่องเที่ยวพอสมควร อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่แปลกตาน่าสนใจ ซึ่งทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องราวของโลกใบนี้อีกมากมายจากการเดินทางครั้งนี้

สำหรับผมแล้ว การเดินทางไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ พบปะวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย เป็นการชาร์จพลังและแรงบันดาลใจให้ผมเสมอ หลังจากที่เดินทางกลับจากประเทศโอมานแล้ว แน่นอนว่าร่างกายของผมยังคงเรียกร้องทะเลทราย และไวเท่าความคิด นิ้วผมก็คลิกหาประเทศทะเลทรายประเทศต่อไปอีกแล้ว ให้ตายสิ!

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ณัฐพงศ์​ ลาภบุญทรัพย์

วิทยากรและครูสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาฯ ผู้รักการเดินทางเพื่อรู้จักตนเองและรู้จักโลกเป็นชีวิตจิตใจ เดินทางไปแล้วครบทุกจังหวัดในประเทศไทย และกว่า 50 ประเทศทั่วโลก