เมื่อได้ยินคำว่า ‘ศิลปะบนฝาท่อ’ เชื่อว่าหลายคนคงนึกไปถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก ด้วยฝาท่อที่ถ่ายทอดอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ออกมาได้โดดเด่นจนนักท่องเที่ยวทั่วโลกจดจำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเป็นญี่ปุ่นมาก ๆ ประเทศแห่งความคิดสร้างสรรค์แห่งนี้ชอบทำให้ความธรรมดาดูพิเศษขึ้นมาเสมอ

พอรู้ว่าที่ไทยก็มีกับเขาเหมือนกัน เราก็อดคิดไม่ได้ว่า แล้วมันจะต่างจากญี่ปุ่นตรงไหน แต่เมื่อมีโอกาสได้นั่งคุยกับ ‘กลุ่มเมืองยิ้ม’ ที่ทำฝาท่อย่านคลองผดุงกรุงเกษม ใน พ.ศ. 2566 นี้ และได้ศึกษารายละเอียดของฝาท่อย่านคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเป็นโปรเจกต์เมื่อ พ.ศ. 2562 เราก็ได้รู้ว่า ฝาท่อทั้งสองเป็นการออกแบบเพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาเมือง ณ ท้องที่นั้นโดยเฉพาะ

เมียงเมืองคราวนี้ เราจะมาแชร์ข้อมูลเบื้องลึกของฝาท่อของแต่ละที่ ตั้งแต่ญี่ปุ่นมายังเมืองไทย และพาไปสังเกตสังกาถึงความน่าสนใจในมุมมองของคนเดินเมืองคนหนึ่ง

สร้างเมืองที่เด็กร่วมเป็นเจ้าของและชวนมองถึงอนาคต จาก ‘ศิลปะบนฝาท่อ’ ฉบับไทย

ตอนแรกเราคิดว่าฝาท่อสวย ๆ ของญี่ปุ่นมีเป้าหมายหลักในแง่การท่องเที่ยว อยากจะดึงผู้คนให้มาดูฝาท่อสวย ๆ ที่เมืองเล็ก ๆ ให้มากที่สุด เหมือนกับการทำกาชาปองประจำเมือง (แบบนั้นก็เป็นเป้าหมายที่น่าสนใจเช่นกัน) แต่จริง ๆ แล้ว มันเริ่มจากการพยายามปรับทัศนคติของประชาชนที่มีต่อระบบระบายน้ำเป็นหลัก โดยเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2520 จนทุกวันนี้กระจายไปถึง 47 จังหวัด 809 เมือง บางเมืองก็มีฝาท่อหลายดีไซน์ให้สังเกต

พอรู้อย่างนี้ก็มองชั้นเชิงในการพัฒนาเมืองของญี่ปุ่นล้ำลึกขึ้นไปอีกระดับเลย

ฝาท่อญี่ปุ่นจะเน้นการสะท้อนเรื่องราวของเมือง บ้างก็เป็นภาพธรรมชาติ บ้างก็เป็นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม บ้างก็เป็นผู้คน บางทีก็เจาะไปถึงสินค้าพื้นเมือง เทศกาลประจำปี หรือทีมกีฬาประจำเมือง

ย้อนเวลากลับไป เมืองนาฮะ จังหวัดโอกินาว่า เป็นที่แรกที่ฝาท่อสวย ๆ แบบนี้ไปปรากฏ

สร้างเมืองที่เด็กร่วมเป็นเจ้าของและชวนมองถึงอนาคต จาก ‘ศิลปะบนฝาท่อ’ ฉบับไทย

เริ่มจากการที่เมืองนาฮะอยากจะวางท่อระบายน้ำเพิ่ม แต่ประชาชนทั่วไปมองระบบระบายน้ำว่าเป็นสิ่งสกปรกเสียมากกว่าเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ทางการเมืองนาฮะจึงปิ๊งไอเดียในการดีไซน์ฝาท่อให้สวย โดยถ่ายทอดภาพที่คนท้องถิ่นมองแล้วคุ้นเคยที่สุด เพื่อทำให้ผู้คนมีความรู้สึกที่ดี และเห็นความสำคัญของท่อระบายน้ำมากขึ้น

จากเมืองนาฮะ ก็ขยายไปสู่เมืองอื่น ๆ แล้วความละเอียดคิดเยอะของประเทศญี่ปุ่นก็ทำให้ฝาท่อไม่จบแค่ฝาท่อ เริ่มมีการพิมพ์กระดาษชำระเป็นลายน่ารัก ๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับฝาท่อเพิ่มเติม แผนกท่อระบายน้ำเองก็ใช้โอกาสนี้ในการสร้างความตระหนักเรื่องระบบกำจัดน้ำเสียให้ประชาชน

จุดที่เจ๋งสำหรับเรา คือการให้ข้อมูลเรื่องระบบสาธารณูปโภคของรัฐนั้นฟังยังไงก็ดูน่าเบื่ออยู่แล้ว แต่พอนำไปผูกกับเรื่องความสวยงามและเสน่ห์อันหลากหลายของแต่ละท้องที่ ก็เป็นมูฟเมนต์ที่น่าพูดถึงขึ้นมา

พอฝาท่อสวย ฝั่งประชาชนเองก็เอนจอยไปด้วย แล้วตั้ง ‘Gesuido Koho Platform’ เพื่อสะสมรูปภาพฝาท่อมาอวดกันในกลุ่ม มีการทำการ์ดฝาท่อให้คนตามสะสม จากเป้าหมายเพื่อสร้างภาพจำที่ดีให้ท่อระบายน้ำ ก็กลายเป็น Tourist Attraction นักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาเที่ยวญี่ปุ่นก็ไม่พลาดที่จะก้มมองพื้น ถ่ายรูปเท้าตัวเองกับฝาท่อเมืองต่าง ๆ กันสนุกสนาน จนมีบริษัททัวร์จัดทริปพาชมฝาท่อโดยเฉพาะ 

แม้ว่าเป้าหมายแรกจะไม่ใช่การท่องเที่ยว แต่สุดท้ายฝาท่อก็ดึงดูดนักเดินทางทั่วโลก และนั่นก็คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ สำหรับญี่ปุ่นแล้ว ยิงปืนนัดเดียวย่อมได้นกหลายตัวเสมอ

สร้างเมืองที่เด็กร่วมเป็นเจ้าของและชวนมองถึงอนาคต จาก ‘ศิลปะบนฝาท่อ’ ฉบับไทย

เราคิดว่าฝาท่อที่มีเป้าหมายหลักเพื่อการท่องเที่ยวจริง ๆ คือที่คลองโอ่งอ่าง แต่ก็เกิดจากการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน เพราะย่านค้าขายซบเซา

จากการที่รัฐสั่งรื้อสะพานเหล็กเมื่อ พ.ศ. 2558 ร้านค้าของชาวบ้านก็ไม่คึกคักเหมือนก่อน หน้าบ้านเดิมก็กลายเป็นหลังบ้านไปโดยปริยาย พ.ศ. 2562 กลุ่มอาจารย์จากคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ที่ได้รับทุนวิจัยปัญหานี้จาก สกสว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) จึงผุดโครงการที่ทำร่วมกับ กทม. ในการฟื้นฟูคลองโอ่งอ่าง ชุบชีวิตให้พื้นที่นั้นมีชีวิตชีวา ปรับคลองให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีจุดขายเชิงท่องเที่ยว ตรงกับเทรนด์พัฒนาพื้นที่ Riverfront ที่กำลังมา

จุดเด่นของการปรับปรุงครั้งนี้คืองานศิลปะในที่สาธารณะหลากหลายรูปแบบ อย่างกราฟฟิตี้สวย ๆ บนกำแพง ประติมากรรมลอยตัว-นูนต่ำ ม้านั่ง รั้วกั้นริมน้ำ และฝาท่อ

ฝาท่อคลองโอ่งอ่าง เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่จะนำเสนอความพิเศษของคลองผ่านศิลปะ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์อันยาวนานของย่าน ชีวิตความเป็นอยู่ในย่านซึ่งมีทั้งสิ่งเก่า-สิ่งใหม่รวมกัน และแหล่งชุมชนที่อาศัยร่วมกันหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน และอินเดีย

พอเป็นศิลปะบนฝาท่อที่คนมักเคยเห็นแต่ที่ญี่ปุ่น คนก็ให้ความสนใจกันมากกว่าองค์ประกอบอื่น ๆ แม้ว่าส่วนใหญ่คนจะไม่รู้เบื้องหลังว่ามีที่มาที่ต่างไปจากญี่ปุ่นก็ตาม

การพัฒนาในครั้งนั้นคืนชีวิตชีวาให้คลองโอ่งอ่าง คนในเมืองมีพื้นที่สาธารณะอีกที่ให้มาพักผ่อนหย่อนใจ มีตลาดนัดแบกะดิน มีนักดนตรีเปิดหมวก ร้านค้าที่อยู่ตรงนั้นดั้งเดิมก็มีลูกค้าเดินเข้ามาอุดหนุนมากขึ้นเยอะ และฝาท่อก็ได้ทำหน้าที่ของมันเป็นอย่างดี

สร้างเมืองที่เด็กร่วมเป็นเจ้าของและชวนมองถึงอนาคต จาก ‘ศิลปะบนฝาท่อ’ ฉบับไทย

กาลเวลาล่วงเลยมาอีก 4 ปี พ.ศ. 2566 นี้มีศิลปะบนฝาท่อปรากฏขึ้นอีกครั้งที่คลองผดุงกรุงเกษม สำหรับเราแล้ว คราวนี้น่าสนใจในแง่กระบวนการและวิสัยทัศน์ของผู้พัฒนาเป็นพิเศษ

เริ่มมาจากกลุ่มเพื่อนจบใหม่จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ บางมด 3 คนที่รวมตัวกันในนาม กลุ่มเมืองยิ้ม โดยมีเป้าหมายหลวม ๆ ที่ตั้งไว้ว่า ‘อยากจะทำให้เมืองมีรอยยิ้ม’ ไม่ได้กำหนดประเภทงาน

เดิมทีที่กลุ่มเมืองยิ้มเข้าไปทำงานกับทาง กทม. พวกเขาก็เริ่มจากการทำกราฟิกต่าง ๆ ก่อน ไป ๆ มา ๆ เมื่อ กทม. มีนโยบายพัฒนาทางเท้าของกรุงเทพฯ แล้วย่านคลองผดุงกรุงเกษมเป็นหนึ่งในนั้น พวกเขาก็ได้มาแสดงฝีมือกันที่ศิลปะบนฝาท่อ

กลุ่มเมืองยิ้มเล่าให้เราฟังว่า พวกเขาอยากจะทำให้ฝาท่อทำมากกว่าการฉายภาพสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น สถานที่สำคัญในย่าน แต่เป็นการมองไปข้างหน้า โดยให้ฝาท่อเป็น ‘จุดเริ่มต้นของบทสนทนา’ และส่งเสริมสังคมที่ผู้คนมีส่วนร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

สร้างเมืองที่เด็กร่วมเป็นเจ้าของและชวนมองถึงอนาคต จาก ‘ศิลปะบนฝาท่อ’ ฉบับไทย

ด้วยความช่วยเหลือของ Urban Studies Lab ที่พัฒนาย่านคลองผดุงฯ อยู่แล้ว กลุ่มเมืองยิ้มจึงมีโอกาสได้เข้าไปจัดเวิร์กช็อปกับเด็ก ๆ หลากศาสนาในชุมชน ทั้งโรงเรียนบำรุงอิสลามวิทยา และมูลนิธิเดอะฮับสายเด็ก รวมแล้ว 45 คน โดยให้โจทย์น้อง ๆ วาดภาพ ‘คลองของฉัน เมืองในฝัน’ เพื่อนำมาปรับเป็นศิลปะฝาท่อ ร่วมกับภาพวาดของทีมงาน

เมื่อโจทย์มากว้าง ๆ เด็ก ๆ ก็วาดกันออกมาหลากหลาย บางคนก็สื่อว่าคลองเป็นพื้นที่เล่นผจญภัย บางคนก็สื่อถึงความสงบสุข บางคนก็วาดเป็นบ้าน เป็นเมือง บางคนก็วาดสะพานออกมาได้เหมือนเป๊ะแม้ไม่ได้ดูแบบ ราวกับว่าเดินผ่านทุกวันจนฝังเข้าร่างกายไปแล้ว

45 คนนั้นเป็นจำนวนที่เยอะมาก เทียบกับจำนวนที่ต้องการ คือ 23 บ่อ แต่ทีมงานก็หยิบนำองค์ประกอบในภาพของเด็ก ๆ มาได้ครบทุกคน เป็นภาพคลองบ้าง พระอาทิตย์บ้าง บางคนก็เป็นลายมือ เขียนชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในย่าน 

สุดท้ายแล้วก็ได้ออกมา 13 ลายที่สื่อถึงภาพฝันของเด็กในพื้นที่และการอยู่ร่วมกันของชุมชน มีภาพที่แสดงให้เห็นถึง Urban Fabric อย่างวิถีริมคลอง วัฒนธรรมอาหาร ตลาดผลไม้ นอกจากนี้ยังแฝงเอาไว้ด้วยองค์ประกอบที่ชวนให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับฝาท่อ ไม่ว่าจะเป็นรอยเท้าใหญ่เล็กให้ผู้ใหญ่และเด็กไปยืนถ่ายรูป ภาพรอยยิ้มที่ทีมงานซ่อนไว้ให้คนตามหา บางฝาก็มีฟังก์ชันพิเศษ อย่างลายแผนที่ย่านที่บอกทางได้จริง หรือลายชามต้มยำที่ใหญ่มากจนเด็ก ๆ เข้าไปวิ่งเล่นได้

สร้างเมืองที่เด็กร่วมเป็นเจ้าของและชวนมองถึงอนาคต จาก ‘ศิลปะบนฝาท่อ’ ฉบับไทย

เมื่อฝาท่อติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ เด็ก ๆ ก็ได้สนุกกับการมองหาสิ่งที่ตัวเองวาด และรู้สึกถึง Sense of Belonging กับคลองผดุงกรุงเกษม ถิ่นเกิดที่จะมีผลงานที่พวกเขาตั้งใจทำปรากฏอยู่บนฝาท่อไปอีกเป็นสิบ ๆ ปี

ฝาท่อทำให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้หยุดยืนชื่นชมเมืองมากขึ้น ได้พูดคุยกับเพื่อนที่เดินมาด้วยกัน บางชุมชนที่ไม่มีทางเข้าเป็นกิจจะลักษณะ ก็ได้ฝาท่อเป็นแลนด์มาร์กเวลานัดคน ลุงป้าที่กวาดขยะก็เห็นว่าทางเท้าเรียบร้อยขึ้น ขยะน้อยลง เมื่อฝาท่อกลายเป็นของสวยงามและเป็นอัตลักษณ์ของบ้านเขา ผู้คนก็ช่วยกันรักษา หลายอย่างที่เราว่าเป็นผลลัพธ์ที่นักออกแบบอาจไม่คาดคิดด้วยซ้ำ 

ส่องที่มาที่ไปอันหลากหลายของศิลปะบนฝาท่อในญี่ปุ่น มาจนถึงคลองโอ่งอ่างและคลองผดุงกรุงเกษมที่เมืองไทย

ทั้ง 2 โปรเจกต์ฝาท่อของไทยนั้นมีที่มาต่างไปจากของญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง ทั้งยังแตกต่างกันเองอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ทำหน้าที่ได้ดีในแบบที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก

ฝาท่อที่คลองโอ่งอ่างช่วยในการฟื้นฟูพื้นที่ให้มีชีวิต คืนพื้นที่ทำกินให้คนในย่าน คนนอกย่านก็ได้มีพื้นที่สาธารณะไว้ใช้เวลากับคนที่รักอีกที่หนึ่ง

ส่วนที่คลองผดุงกรุงเกษม ก็สร้างรอยยิ้มให้คนเดินเท้า ชวนให้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน และสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน

เมื่อลองพิจารณาเป้าหมายของทั้ง 2 โปรเจกต์ดู จริง ๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องทำศิลปะบนฝาท่อ แต่ใช้วิธีอื่นก็บรรลุตามที่ต้องการได้ ถึงอย่างนั้นฝาท่อก็ยังเป็น Element ที่น่าสนใจในหลายประการ

หนึ่ง ฝาท่อเป็นสิ่งที่ต้องมีทั่วไปในท้องถนนอยู่แล้ว หากจะใช้ฝาท่อเพื่อพัฒนาเมืองไปในทางที่เห็นสมควรก็ไม่ทำให้เมืองดูรกรุงรังไปมากกว่าเดิมนัก ทั้งยัง ‘ยั่งยืน’ เมื่อมองในมุมที่ว่า หลังจากจบโปรเจกต์มันจะไม่ถูกถอดออกไปเป็นขยะที่ไหน

สอง ปกติแล้วสิ่งที่จะเรียกความสนใจหรือสร้างความเพลิดเพลินให้คนเดินเท้าได้จะอยู่ในระนาบดิ่ง เช่น ภาพวาดบนกำแพง แต่ฝาท่อเป็นสิ่งที่อยู่ในระนาบพื้น สำหรับกรุงเทพฯ การมีศิลปะที่พื้นนั้นให้รสชาติแปลกใหม่ในการชมเมือง และทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับเมืองในวิธีที่ต่างออกไปจากเดิม หากเป้าหมายหนึ่งของกรุงเทพฯ คืออยากให้คนเดินเท้ามากขึ้น การทำฝาท่อที่มีเอกลักษณ์ก็เป็นทางหนึ่งที่อาจช่วยส่งเสริมได้

ส่องที่มาที่ไปอันหลากหลายของศิลปะบนฝาท่อในญี่ปุ่น มาจนถึงคลองโอ่งอ่างและคลองผดุงกรุงเกษมที่เมืองไทย

หากไม่ใช่ฝาท่อ ก็นึกไปถึง Element อื่น ๆ ในเมืองที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการออกแบบได้ โดยอยู่ถาวรคล้ายกับฝาท่อ และให้มิติในการมองต่างไปจากภาพวาดบนกำแพง เช่น Street Furniture อย่างที่นั่งริมถนน ศาลานั่งเล่นริมถนน ที่ทิ้งขยะ ตู้ไปรษณีย์ เสาเตี้ย จุดจอดรถประจำทาง หรือ Infrastructure อย่างเสาไฟ ทางยกระดับ สะพานลอย ทั้งที่พื้น ราวกันตก ไปจนถึงใต้สะพาน ถ้าลวดลายอยู่ในการควบคุมให้ไม่ดูลายตาเกินไปหรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย

จุดร่วมที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งของโปรเจกต์ฝาท่อทั้งสอง คือแม้จะดูแลโดย กทม. แต่ก็มาจากความคิดอยากจะพัฒนาเมืองของประชาชน และดำเนินการจนสำเร็จด้วยความคิดสร้างสรรค์ของประชาชนทั้งสิ้น 

การจะสร้างเมืองที่ดีสำหรับทุกคนในยุคนี้และอนาคตข้างหน้า จึงต้องอาศัยความเปิดกว้างขององค์กรท้องถิ่นที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งเปิดกว้างในแง่ระบบการทำงาน ทั้งแง่ความรู้สึกที่เข้าถึงง่าย เพราะมีผู้คนมากมายในเมืองที่เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถ และพร้อมที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาเมืองในทางที่ตัวเองถนัด

นอกเหนือไปจากที่กรุงเทพฯ หรือญี่ปุ่น ศิลปะบนฝาท่อนั้นยังมีอีกหลายที่ในโลกรอให้ทุกคนไปชม โดยเฉพาะทางตะวันตก ซึ่งผู้คนทางนั้นก็สนุกกับฝาท่อกันมากถึงขนาดมีศิลปะพิมพ์ลายบนฝาท่อที่เขาเรียกกันว่า ‘Raubdruckerin’ (ไปเสิร์ชดูได้)

ถ้าเราได้รู้เรื่องราวเบื้องหลังของฝาท่อแต่ละที่ เราก็เดินเที่ยวสนุกขึ้น ที่สำคัญคือเราจะได้รู้จักเมืองเพิ่มขึ้นในอีกมิติ เพราะได้เห็นถึงความตั้งใจและวิสัยทัศน์ของคนพัฒนาเมืองในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นรัฐหรือคนธรรมดาก็ตาม

ส่องที่มาที่ไปอันหลากหลายของศิลปะบนฝาท่อในญี่ปุ่น มาจนถึงคลองโอ่งอ่างและคลองผดุงกรุงเกษมที่เมืองไทย
ข้อมูลอ้างอิง
  • web-japan.org/trends/11_fashion
  • japanjourneys.jp/lifestyle/art/japanese-manhole-drain-cover-art
  • wattention.com/th/japanese-manholes
  • mgronline.com/japan/detail
  • mgronline.com/travel/detail
  • urbancreature.co/manhole-cover-bangkok
  • www.klook.com/th/blog/unseen-manhole-bangkok
  • raubdruckerin.de

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ