8 กุมภาพันธ์ 2024
1 K

“ป ปลา นั้นหายาก ต้องลำบากออกเรือไป

ขนส่งจากแดนไกล ใช้น้ำแข็งเปลืองน้ำมัน”

กาพย์สอนใจในโฆษณาวัยดึกชุดนี้น่าจะยังตราตรึงในความทรงจำคนไทยที่ได้ดูโทรทัศน์เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เช่นเดียวกับใบหน้าตี๋ ๆ ของตัวละคร ‘อาเม้ง’ เสี่ยใหญ่ ใส่แว่น รูปร่างตุ้ยนุ้ย ผู้ถูกมารดาสั่งสอนให้ท่องอาขยานข้างต้นบนโต๊ะอาหารจนเป็นวลีฮิตติดหูไปทั่วบ้านทั่วเมือง

ความโด่งดังจากบทบาทนั้นได้พลิกชีวิตผู้แสดงอย่าง อำพัน เจริญสุขลาภ ไปตลอดกาล เพราะนับแต่วันนั้นจวบจนวันนี้ คนส่วนใหญ่ยังจดจำเขาในนาม เม้ง ป.ปลา มากกว่าชื่อแซ่ที่แท้จริงเสียอีก

นอกเหนือไปจากบทอาเสี่ยในจอแก้ว ชายสูงวัยเชื้อสายจีนที่พูดไทยติดสำเนียงบรรพบุรุษผู้นี้ผ่านการทำงานมาหลากหลาย เป็นทั้งนักดนตรี ครูสอนงิ้ว คนเขียนบทงิ้ว นักร้อง นักแต่งเพลง นักแสดงหนัง-ละคร รวมไปถึงที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมจีนแก่กองถ่ายนับกองไม่ถ้วน แม้แต่ซุป’ตาร์ดังระบือโลกอย่าง เฉิน หลง และ หง จินเป่า ก็เคยกระทบไหล่เขามาแล้ว

ผลงานที่ เม้ง ป.ปลา ฝากไว้แก่ชาติและสังคมมีมากมายเหลือจะสาธยายได้ครบครัน ส่วนใหญ่เป็นงานด้านการแสดงงิ้ว ทั้งเป็นคนแรกที่นำงิ้วจีนมาแสดงเป็นภาษาไทยถวายพระบรมวงศานุวงศ์ แต่งบท ‘งิ้วสากล’ ให้เนื้อหาทันสมัย สวมเสื้อผ้ายุคใหม่แทนที่จะใส่ชุดจีนโบราณ นำโขนไทยไปพากย์ภาษาจีนถึงแผ่นดินใหญ่ ไม่เว้นกระทั่งร่วมกำกับการแสดงจีนร่วมสมัยที่ผสมกลิ่นอายซีรีส์วายเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่

เขาเน้นย้ำว่าการปรับตัวคือสิ่งสำคัญที่สุดในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมโบราณให้คงอยู่ต่อไป ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในโลกยุค 5.0

แม้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานกว่า 8 ทศวรรษ แต่ ‘อาจารย์อำพัน’ หรือ ‘อาเม้ง’ ก็ยังทำงานด้านงิ้วและดนตรีด้วยใจรัก เพื่อรักษาเจตนารมณ์ที่ตนเชื่อมาโดยตลอด นั่นคือสาเหตุที่โต๊ะทำงานส่วนตัวของอุปนายกและเลขาธิการสมาคมอุปรากรศิลปไทย-จีนแห่งประเทศไทยคนนี้ มักจะเนืองแน่นไปด้วยกองโน้ตเพลงและบทละครงิ้วไทยที่เขาประพันธ์ขึ้นใหม่อยู่เป็นประจำ

โฆษณา รวมพลังหาร 2 ของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่อาจารย์รับบทเป็น ‘อาเม้ง’ นั้นประสบความสำเร็จมาก อยากทราบว่าเหตุใดอาจารย์ถึงได้มาแสดงโฆษณานี้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นก็เป็นครูสอนงิ้วอยู่ดี ๆ

ตอนนั้นผมไม่คิดว่าจะดัง เราคิดว่าทำงิ้วไทยมันก็ดังอยู่แล้วนี่ อายุ 50 กว่าแล้ว ผมทำทัวร์ด้วย ระหว่างไปอยู่ประเทศจีน ทางฝ่ายโฆษณาก็โทรทางไกลมาที่บ้าน ผมไม่อยู่ แฟนบอกว่ามีคนจะชวนเราไปถ่ายโฆษณา ผมบอกว่าไม่เอา เราไม่อยากเอาตังค์ เพราะเราเป็นอาจารย์อยู่แล้ว ยึดหน้าตาเป็นหลัก ภาพของเราเป็นอาจารย์สอนงิ้ว จะไปเล่นซี้ ๆ ซั้ว ๆ มันก็ดูแล้วแปลก ๆ ใช่ไหม

แต่เขาบอกว่าจะคอยเรา อันนี้เป็นโฆษณาของรัฐบาล ทำเพื่อรัฐบาล ผมมองว่ามันมีความหมายดี มีโอกาสก็แสดงไป ไปเทสต์หน้ากล้องก็ผ่าน ทีนี้ติดปัญหาตรงที่หาคนเล่นเป็นตัวแม่

ตัวแม่ที่ว่าคืออาม่าที่มาแสดงเป็นแม่ของอาเม้ง มาดุลูกชายที่ไม่ยอมกินปลาทอดให้หมด แล้วสั่งให้อาเม้งท่องอาขยานบทนั้น

ครับ หาแม่ไม่ได้สักที หลายสิบคนไม่ผ่าน เขาก็ให้ผมหาคนมาแสดงเป็นแม่ ผมเลยให้กองถ่ายไปสวนลุมพินีช่วงเช้าที่มีคนแก่มารำไท้เก๊กกัน คุณก็ไปหาจากตรงนั้นสิ รองผู้กำกับก็ไปหามา กว่าจะเสร็จ ก็เจออาม่าคนหนึ่ง ให้เขามาเทสต์หน้ากล้องหน่อย

อ้าว อาม่าคนนั้นไม่ใช่แม่แท้ ๆ หรอกหรือครับ

ไม่รู้จักเขามาก่อนเลย เขาเป็นแม่เจ้าของห้างขายทอง เขาก็กลัว ตอนนั้นน่าจะเพิ่งมีมือถือ รองผู้กำกับก็ให้ผมคุยเป็นภาษาจีน ผมก็แนะนำตัวว่าเป็นอาจารย์สอนงิ้วแต้จิ๋ว แล้วก็บอกเขาว่า เจ๊งฮู่ (รัฐบาล)จะถ่ายโฆษณา มาช่วยกันหน่อย มาเป็นหม่าม้าผมหน่อยนะ ดีไม่ดีก็มาลองถ่ายดู แล้วก็ผ่าน ดูเป็นธรรมชาติมาก ผู้ชมคิดว่าเป็นแม่ผมจริง ๆ ด้วย (หัวเราะเสียงดัง)

เพราะโฆษณาชุดนี้ อาจารย์อำพันเลยเปลี่ยนชื่อจริงเป็น เม้ง ป.ปลา ไปเลยใช่มั้ย

ใช่ มันเปลี่ยนชื่อผมไปเลย เปลี่ยนให้ผม 2 ชื่อ ‘อาเม้ง’ กับ ‘ป ปลา’

อำพันก็ไม่รู้จัก แม้แต่ญาติผมเองก็เถอะ เจอกันก็เรียก อาเม้ง เฮียเม้ง อาจารย์เม้ง คิดดูสิ ชื่อภาษาจีนที่ผมตั้งมานี่ผมรักมาก หงั่วกง (คุณตา) รักผมมาก ตั้งชื่อจีนมาให้ ผมไปที่ไหนก็ไม่ยอมแก้ชื่อ แต่มาเจอโฆษณาของรัฐบาลเปลี่ยนชื่อให้ ผมก็ต้องขอโทษอาหงั่วกงไป (ยกมือไหว้พร้อมเสียงหัวเราะ)

แต่มันก็ช่วยเราไว้ งิ้วของผมมีคนรับเชิญไปแสดงมากขึ้น ใคร ๆ ก็รู้จักผม คณะเม้ง ป.ปลา ไปที่ไหนก็มีแต่คนให้ความเกรงใจ ใครจะไปรู้ ถ่ายโฆษณาตอนอายุ 50 กว่าแล้วจะดังอย่างนี้

ถ้าอย่างนั้นความจริงแล้วอาจารย์ชื่อว่าอะไรครับ

ผมแซ่ จึง (莊) ชื่อ หมุยล้ง (美隆) แต้จิ๋วอ่าน จึง หมุยล้ง จีนกลางอ่าน จวง เหม่ยหลง

ชื่อไทยว่า อำพัน นี่ก็มีมาตั้งแต่เด็ก ๆ ตอนเด็กใช้ชื่อว่า อำพัน แซ่จึง ใช้แบบนี้มาตลอด จนไปถ่ายโฆษณามาแล้วดัง คนอื่นเขาบอกว่าคุณเป็นบุคคลสาธารณะ ทำไมยังใช้แซ่อยู่ น่าจะตั้งนามสกุลไทย ผมเลยไปจดทะเบียนขอนามสกุล ทีแรกจะตั้งว่า เจริญสุข แต่มันไปซ้ำกับนามสกุลคนอื่น เลยเติม -ลาภ เข้าไป เพราะคนจีนชอบมีโชคมีลาภ แต่ชีวิตเราไม่มีโชคมีลาภ มีอยู่แต่ในนามสกุล (หัวเราะ)

ทราบมาว่าอาจารย์เกิดและโตที่สามย่าน

ครับ อยู่ที่จุฬาซอย 15 เมื่อก่อนสามย่าน-สะพานเหลืองเป็นถิ่นที่คนจีนโพ้นทะเลมาอยู่อาศัยรวมกันเยอะ เป็นชนบท มีโรงงานเล็ก ๆ ที่ร่ำรวยมีไม่กี่เจ้า ส่วนมากก็คนฐานะปานกลางพออยู่กันได้ มีเป็นกรรมกรบ้าง เปิดโรงงานเล็กๆ ทอผ้า ทำเข็มขัด ย้อมผ้า คนจีนแคะเขาทำเข็มขัดกับรองเท้ากันเยอะ คนจีนแต้จิ๋วก็จะค้าขาย อย่างตากับยายผมทำเต้าหู้หาบไปขาย

พ่อผมมาจากเมืองจีน เป็นคนแต้จิ๋วจากอำเภอโผวเล้ง เมื่อก่อนเคยค้าขาย ต่อมาท่านก็ตั้งโรงเรียนเอง ตัวท่านหัวก้าวหน้า สอนหนังสือคนฟรี แถวนั้นคนยากจนเยอะ ใครอยากเรียนก็มาเรียนได้ พ่อผมสอนไม่เอาสตางค์ เปิดโรงเรียนชื่อ จิ้งกวง (進光學校) ตอนผมอายุสัก 3 – 4 ขวบ ภายหลังพ่อก็กลับไปเป็นกรรมการโรงเรียนจีนชื่อ สิงฟ้า (醒華學校) ซึ่งเมื่อก่อนอยู่จุฬาซอย 15 แต่ปัจจุบันย้ายมาอยู่ที่คลองเตยหลังเกิดไฟไหม้ใหญ่ เป็นทั้งกรรมการผู้ก่อตั้งและบริหาร ก็ยกกิจการโรงเรียนจิ้งกวงไปรวมอยู่ตรงนั้น ผมก็เข้าเรียนที่โรงเรียนสิงฟ้า พอมัธยมก็ไปเรียนโรงเรียนชาญวิทย์พิทยาลัย สะพานเหลือง ปัจจุบันไม่มีแล้ว

มาเริ่มดูงิ้วได้อย่างไร

ตั้งแต่เด็ก สมัยก่อนทุกปีสามย่านจะมีงิ้วต้นปีกับปลายปี น่าจะมีปีละ 2 ครั้ง แสดงคราวละ 2 คืนบ้าง 3 คืนบ้าง เมื่อก่อนความบันเทิงค่อนข้างน้อยไง เวลามีงิ้ว แม่ผม ยายผมก็จะไปดูกัน แล้วพาผมไปดูด้วย ดูแล้วก็ชอบ ค่อย ๆ ซึมซับ หัดเอาไปร้องเองที่บ้าน พอพักหลังตอนที่โตแล้วก็หนีเรียน ตอนสัก 10 ขวบ เวลาเขามีงิ้ว กลางวันจะเล่นงิ้วบู๊กัน ผมก็หนีเรียนเข้าไปเรียนกับเขาบ้าง ฮ่า ๆ

แต่ก่อนมีซอยจุฬา 14 – 15 – 16 เดี๋ยวนี้ซอยเปลี่ยนไปหมด ตรงซอย 15 บ้านผมมีศาลเจ้า 2 แห่ง แห่งที่มีงิ้วคือศาลแป๊ะกงซัง (伯公訕) เมื่อไหร่ที่มีนี่ต้องไปดูเลย ชอบยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น 

นอกจากงิ้ว ผมยังชอบข้ามไปวัดหัวลำโพง เมื่อก่อนเขาก็มีงานอยู่เรื่อย จะเชิญคณะดนตรีมา แล้วยังมีงานศพ ถ้าเป็นงานคนมีเงินก็มักจะเชิญโขนเอย ลิเกเอยมาแสดง ตอนเด็ก ๆ เราก็ชอบวิ่งไปดูกับเพื่อน ดูแล้วเพลิน ติด พ่อก็ตาม ทำไมกลางคืนไม่กลับบ้าน อยากดูแต่ก็กลัวพ่อดุด้วย

งิ้วสมัยที่เคยดูตอนเด็ก ๆ กับตอนนี้ต่างกันมากมั้ยครับ

สมัยก่อนตอนเด็ก ๆ ไม่รู้ว่ามีกี่คณะ แต่ตอนนี้รู้ว่ามีคณะใหญ่ คณะเล็ก ตอนนั้นที่เยาวราชยังเคยมีประจำ 5 คณะ เล่นประจำที่โรงละครสำหรับงิ้วที่นั่น ได้แก่ คณะตงเจ็กกีเฮียง (中一枝香) เหล่าตงเจี้ยสูงเฮียง (老中正順香) เหล่าป้อ (老寳) ตรงที่เดี๋ยวนี้เป็นโรงแรมไวท์ออร์คิดติดกับปากซอยแปลงนาม คือคณะเล่าอี่ไล้เฮง (老怡來興) ตอนหลังกลายเป็นโรงน้ำชาแล้วก็โรงแรม ตรงข้ามกับเล่าอี่ไล้เฮงก็จะเป็นคณะบ่วยเจี่ย (梅正)

เมื่อก่อน 5 คณะนี้รุ่งเรืองมาก เยาวราชคนดูงิ้วคึกคักมาก พอตอนหลังมีภาพยนตร์เข้ามา คนดูก็ซา ๆ ลงไป แต่ก่อนนี่ยังดี คนเชื้อสายจีนแต้จิ๋วยังพูดแต้จิ๋วได้ เชื้อสายกวางตุ้งยังพูดกวางตุ้งได้ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว งิ้วกวางตุ้งเคยมี แต่มีน้อย ยึดเป็นอาชีพไม่ได้ ศาลเจ้ากวางตุ้งนี่ไม่มีเล่น แต่ศาลของไหหลำยังมีงิ้ว เขายังอนุรักษ์งิ้วไหหลำที่ใช้ภาษาไหหลำของเขาอยู่

พอเริ่มเป็นหนุ่ม อาจารย์ก็ได้ไปเรียนต่อที่ประเทศจีน การเรียนที่นั่นฝึกให้อาจารย์เล่นงิ้วใช่มั้ยครับ

ตอนนั้นเขาไปเรียนที่จีนกันเยอะ บางคนนั่งเครื่องบินไป บางคนนั่งเรือไป เราก็อยากไปเพราะเห็นเพื่อนเขาไปกันเยอะ มันอิสระ เพราะอยู่บ้านพ่อผมเข้มงวดมาก กลางคืนนอนดึกก็ไม่ได้ ไปเที่ยวดูงิ้วก็ไม่ได้ ดูหนังดูอะไรก็ไม่ได้ ผมออกไปก็ไม่มีใครคุมได้ เลยอยากไป

ทีแรกไม่รู้หรอกว่าเมืองจีนเป็นยังไง พูดอะไรก็ยังไม่รู้ ตามเพื่อนลงเรือไป เราเรียนภาษาจีนจากบ้านมาก่อน ถ้าไม่เรียนคงไม่มาสืบทอดงิ้วตรงนี้หรอก เราไปถึงเมืองจีนถึงได้รู้ว่ามันเป็นศิลปะที่สูงมาก ไม่ใช่แบบที่ดู ๆ กันอยู่ในเมืองไทย คนงิ้วไม่ได้มีพื้นฐานทฤษฎีอะไร เล่นเพื่อถวายเทพเจ้าในศาลเจ้า ให้เจ้าดูอย่างเดียว เรียกว่าเล่นเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพเท่านั้นเอง

ส่วนใหญ่ผมทิ้งเวลาหนีไปเรียนงิ้ว ไปกับคณะงิ้ว ไปเรียนเขียนบท แต่งเพลง แต่งทำนอง ท่า ทฤษฎี พอหยุดเรียนเขามีปิดเทอมเราก็จะไป แต่ตอนหลังมันหลงมาก ๆ เลยยิ่งไปกันใหญ่ อันดับแรกคือเรียนเขียนบท แต่งเพลง แล้วก็พวกท่า กำกับ เล่นดนตรี ตีกลอง ไปเรื่อย ๆ

เรียกว่าฝึกแทบทุกอย่างเลย ยกเว้นเป็นนักแสดงเอง

ตอนนั้นเราไปก็อายุเยอะแล้ว ส่วนใหญ่คนจีนเขาเรียนงิ้วกันตั้งแต่เด็ก ๆ ตอนอยู่ประเทศไทย เรามีพื้นฐานเล่นสีซอมะพร้าว ชอบเล่นเครื่องดนตรี เขาก็เห็นว่าเราควรอยู่เบื้องหลัง ทางเขียนบทก็ดึงเราไปแล้วบอกให้ดูเขากำกับกันอย่างนี้ ฉากนี้ควรเล่นแบบนี้ เรามีพรสวรรค์ทางด้านกำกับมาก เลยเรียนทางนี้ไปด้วย เคยไปแสดงอยู่โรงเรียนบ้าง

เวลาเราเรียนเขียนบท เรียนกำกับ เราต้องดูด้วยว่าบุคลิกใครเหมาะจะไปทางไหน เสียงใครเหมาะจะเล่นบทอะไร อย่างตัวผมเหมาะไปทางตลกมากกว่าบทอื่น

ทีแรกเราก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปเล่นงิ้ว แค่เป็นวิชาความรู้ที่เราชอบแล้วมีโอกาสเรียน ประเทศไทยไม่มี เขาไม่มีสอนอย่างนี้ ไม่มีทฤษฎีให้เขียนบทว่าต้องเขียนอย่างนี้ ตัวละครต้องเขียนอย่างนี้ เพลงต้องเขียนอย่างนี้ โน้ตเพลง โด เร มี ฟา ซอล ลา ที ผมก็เรียนที่นั่น สมัยกลับมาไทยใหม่ ๆ ยังไม่มีโน้ตเพลงแบบนี้สำหรับบทงิ้วในเมืองไทยเลย

พอกลับมาอยู่เมืองไทย อาจารย์ก็เริ่มทำงานด้านงิ้วเลยหรือเปล่า

ที่จริงผมไม่ได้ตั้งใจไปเข้าวงการนี้ แต่เป็นความบังเอิญที่ตอนกลับมาพ่อผมไปซื้อที่ตรงตลาดประเวศในซอยอ่อนนุชเข้าไป ซื้อไว้ 12 ไร่สำหรับเลี้ยงปลา เพราะเห็นว่าที่ดินแถวหนองงูเห่าอีกหน่อยจะแพง เพราะจะสร้างสนามบินตรงนั้น พ่อเลยซื้อที่ไว้แล้วให้ผมเข้าไปอยู่ช่วย เราเข้าไปก็รู้สึกว่าเหมือนอยู่ชนบท เพราะอยู่ประเทศจีนก็อยู่ชนบท ทำเกษตรอยู่เรื่อย พ่อผมเลี้ยงปลาตีน มันตายอยู่เรื่อยก็ขาดทุน เลยบอกว่าไม่ไหว

ตอนนั้นพ่อแนะนำให้ไปทำงานโรงงาน เป็นเซลส์แมน เป็นผู้จัดการ เรายังไม่ค่อยชินกับการต้องค้าขายทุกวัน ต้องเข้าไปทักทายคนนั้นคนนี้ เรียกเขา เถ้าแก่ เถ้าแก่เนี้ย ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ทาง เผอิญเพื่อนพ่อเป็นอาจารย์สอนงิ้วอยู่คณะไซ้ป้อฮงเกียะท้วง (賽寳豐劇團) กำลังขาดคนเขียนโน้ต คณะงิ้วเขาเรียก ‘กี๋ปึ้ง’ แต่ละคนจะมีบทส่วนตัวของเขา เขาเห็นผมมีความรู้เรื่องงิ้ว ก็มาเรียกผมไปช่วยเขียนโน้ต พักหลังรู้ว่าผมแต่งเพลงได้ เขียนบทได้ เขาเลยบอกว่างิ้วประเทศไทยนี่ล้าสมัยมาก โน้ตก็ไม่มี เวลาเล่นดนตรีทำนองก็ไม่ค่อยดี เราไปโรงงิ้วก็รู้สึกว่าได้รับการต้อนรับจากผู้แสดง เถ้าแก่เขาเห็นความสำคัญของเรา เลยทำให้เราอยากพัฒนาตรงนี้บ้าง แล้วก็ช่วยกัน ให้เขาหัดอ่านโน้ตสมัยใหม่ ทุกวันนี้ที่งิ้วไทยที่มีอ่านโน้ตแบบนี้ก็ผมทั้งนั้น เมื่อก่อนเขายังอ่านไม่เป็นกัน

ตอนมาอยู่คณะงิ้วใหม่ ๆ รู้สึกอย่างไร

อยู่กับคณะงิ้วมันลำบากบ้าง แต่มีความสุข อย่างแรกคือสิ่งที่เราชอบ สอง มีอะไรให้ผมน่าจะท้าทายบ้าง ไม่ใช่เอาแต่มองในเชิงเปรียบเทียบแล้วเห็นว่าล้าสมัยกว่าจีนเยอะ ระบบมันก็ต่างกัน ที่นี่นักแสดงงิ้วส่วนใหญ่เป็นเด็ก ๆ มักทำสัญญา 5 ปี 10 ปี ถูกรังแกข่มเหงบ้าง หนังสือหนังหาไม่ได้เรียน จีนมันไม่ใช่ งิ้วถือเป็นศิลปิน ไปที่ไหนเขาก็ต้อนรับ นอนก็นอนเตียงดี สังคมจีนให้ความเคารพมาก ผมเลยเห็นว่าต้องพัฒนาให้เด็กมีความรู้ ให้เรียนเรื่องทำนองเพลง เนื้อเรื่อง ฯลฯ มาตั้งแต่นั้น

อาจารย์ใช้ชีวิตอยู่กับคณะงิ้วใดนานที่สุด

อยู่กับโรงงิ้วเยาวราชนี่แหละนานที่สุด เข้ามาตั้งแต่ปลายปี 1973 – 1980 กว่า ๆ ก่อนหน้านั้นผมสอนอยู่คณะงิ้วเร่ที่ไปตามต่างจังหวัด เคยอยู่หลายคณะ เช่น ไซ้ป้อฮง แชลั่งเง็กเล่าชุน เหล่าตงเจี้ยสูง ฯลฯ มาเลเซียก็เคยไปอยู่ ฮ่องกงก็เคยไป เดี๋ยวนี้ก็ยังไปสอนสักครึ่งปี – 1 ปี คณะพวกนั้นเขาก็จะเชิญเราไป ให้เงินเดือนเยอะหน่อย เขาอยากให้ไป เราก็ไป 

โรงงิ้วเยาวราชยุคนั้น

สมัยที่ผมยังเด็ก โรงงิ้วเยาวราช 4 – 5 คณะแข่งขันกันมากเลย แต่ละโรงก็แสดง 1 เรื่อง 1 สัปดาห์เป็นส่วนใหญ่ เป็นเรื่องยาวเป็นตอน ๆ บางทีเรื่องหนึ่งเล่นเป็นร้อยตอนก็มี 40 – 50 ตอนก็มี เพื่อดึงคนเหมือนกับช่องทีวีที่มีหลายตอน แต่ละโรงเขาก็เหมือนช่องทีวี เอาเรื่องใหม่มาแข่งกัน ขึ้นกับว่าเอาเรื่องอะไร คนเขียนบทเขาก็จะดูว่าโรงนั้นเขาทำอะไร เราจะเอาบทอะไรเด่น บุคลากรของเราคือใคร ตัวพระ ตัวนาง หรือตัวตลก หรือตัวผู้ร้าย แล้วผลักตัวนั้นออกไปเพื่อดึงคน จะได้ดึงแฟนคลับมาดูกัน

ปัจจัยใดที่ทำให้งิ้วเยาวราชเคยเฟื่องฟูมาก 

งิ้วเป็นสื่อบันเทิงและศิลปะแขนงหนึ่ง คนจีนแต่ก่อนเขาไม่มีที่ทางไป ว่างก็อยากจะดูงิ้ว มันสนุกสนาน ให้ความรู้ด้วย เหมือนกับเป็นโรงเรียนเคลื่อนที่ ไปเรียนรู้ สมัยก่อนคนก็เรียนน้อย ไปดูงิ้วพอรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของจีน เรื่องวัฒนธรรม ปรัชญาลัทธิขงจื๊อ คุณธรรม อย่างจะต้องเป็นคนจงรักภักดี ต้องเป็นคนดี ทำดีได้ดี สอนเรื่องความดี

สอนงิ้วอยู่หลายเรื่อง กำกับมาหลายปี มีเรื่องไหนที่ประทับใจมากเป็นพิเศษมั้ยครับ

เรื่องที่ผมประทับใจก็มีหลายเรื่อง จิตใจผมอยากพัฒนา ไม่ได้อยากแค่ทำมาหากินกับงิ้ว ผมต้องการให้งิ้วตรงนี้เป็นโรงเรียนสร้างบุคลากรขึ้นมา เสร็จแล้วก็เอางิ้วดี ๆ มาอยู่แสดงนาน ๆ ไม่ใช่อยู่สัปดาห์ละเรื่องแล้วก็ไป อันนั้นไม่ใช่ความคิดของผม เราอยู่นี่คือทนอยู่ ไม่ได้ภาคภูมิใจอะไร

แต่ถ้าส่วนมากพูดกัน เรื่องไหนที่มีคนดูเยอะ ส่วนตัวผมก็มีเรื่องที่เขียนแล้วดังมาก เป็นงิ้วสมัยใหม่ อย่างพวก อ่วงเหงียกแจ่ (孽債) ที่ผมเขียนขึ้นมาใหม่ เป็นงิ้วสากล แต่งตัวแบบยุคปัจจุบัน เหมือนหนังละครอะไรอย่างนี้ พูดถึงเรื่องที่ลูกหลานอกตัญญูต่ออาม่า ผมตั้งใจสื่อว่าชีวิตในสังคมจริงมีคนแบบนี้ เราก็ให้คำสอนคนดูว่าคนอกตัญญูนี่ผิด เราควรกตัญญูอะไรแบบนี้

ในเมื่องิ้วที่เยาวราชเคยดังมาก ตามความคิดของอาจารย์ สิ่งใดคือต้นเหตุของความเสื่อมที่ทำให้โรงงิ้วเยาวราชต้องเลิกกิจการไปหมด แล้วผันตัวมาเป็นงิ้วเร่ด้วยกันหมด

ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว อย่าว่าแต่งิ้วเลย ร้านค้าอาหารการกินก็เปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อย เพราะแต่ละรุ่นทำไม่เหมือนกัน ของงิ้วอันดับแรกคือเรื่องภาษา คนรุ่นใหม่ไม่รู้ภาษาแต้จิ๋ว อ่านหนังสือจีนไม่ออก สอง คือความชื่นชอบศิลปะการแสดงแขนงนี้ เขาไม่นิยมแล้ว เขาไปดูหนังดูดนตรีที่ตื่นเต้นกว่า

เทียบกับรุ่นเราตอนเด็ก ๆ มันมีแต่อย่างนี้ มันป้อนเข้ามาให้เราจนติดไปแล้ว เราเข้าใจและรู้ซึ้งว่ามันสวยงามมาก แต่รุ่นใหม่เขาไม่รู้ โรงงิ้วที่เยาวราชเขาต้องลงทุนเอง ต้องอาศัยคนซื้อบัตรมาดู สมัยก่อนคนที่ดูที่ชอบนี่เขาอายุมากแล้ว แถมมีสื่อบันเทิงอื่นมาทดแทนอยู่ที่บ้าน มีทีวี มีเทป ดีวีดี วีซีดี ดูจากเทปก็ได้ ฉะนั้นเขาไม่จำเป็นต้องมา นั่งอยู่ที่บ้านก็มีแอร์เย็น ๆ จิบน้ำชาไป กินกาแฟไป ดูงิ้วไปก็ได้

ว่ากันว่า อาจารย์เม้ง ป.ปลา เป็นผู้สร้างงิ้วไทยคนแรก เรื่องนี้เป็นมาอย่างไร

เป้าหมายหลักของผมคืออยากพัฒนาศิลปะงิ้วให้ทันสมัย มั่นคง แข่งกับสังคมให้ได้ ดึงคนหนุ่มสาวเข้ามาดูได้ ไม่ว่าคุณเป็นคนรุ่นไหนก็ต้องมาดู ศิลปะมันดลใจคน มีคุณค่ามาก ผมเก่งภาษาแต้จิ๋วอยู่แล้ว ทำไมถึงมาทำงิ้วไทย ผมทำงิ้วแต้จิ๋วต่อไปง่าย ๆ ไม่ดีกว่าหรือ ก็ต้องรู้ว่าภาษานี่สำคัญ

จากชีวิตผมที่ได้เป็นอาจารย์สอน ติดตามคณะงิ้วเร่ไปต่างจังหวัด บางเทศกาลเราต้องไปอุดรธานี ไปนครราชสีมา ขอนแก่น บางแห่งเราก็ต้องไปเจอหมอลำ เจอวงดนตรี เวลาเขาเปิดวิกคนแน่นหมดเลย บางครั้งงิ้วเราเลยพูดไทยด้วย บางคำพูดเป็นไทยเลย เราก็รู้สึกว่าอะไรวะ ไม่เห็นด้วยเลยนะ

แล้วทำไมอยู่ ๆ อาจารย์ถึงเห็นว่าต้องปรับเป็นภาษาไทย

ต่อมาผมก็คิดได้ว่าประเทศจีนมีงิ้ว 300 กว่าชนิด แต่ละที่ก็ร้องภาษาต่างกัน อย่างงิ้วแต้จิ๋วที่แพร่หลายในบ้านเราก็ต้องร้องภาษาแต้จิ๋ว เพราะเล่นในถิ่นแต้จิ๋ว คุณเอาภาษาถิ่นอื่นมาแสดงไม่ได้ เพราะเขาไม่ฟังไม่ออกกัน ผมก็คิดว่าผมเป็นคนไทยเชื้อสายจีนนะ เกิดเมืองไทย เราแสดงงิ้วไม่ใช่ให้แค่คนแต้จิ๋วมาดู คนแต้จิ๋วมีแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง ต่อไปคนเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ หายไป คนไทยเขาก็มีสิทธิ์ดู จะทำยังไงให้คนไทยก็ดูได้ มีทางออกทางเดียวคือพูดไทย ร้องไทย ทำให้เป็นศิลปะอีกแขนงของไทย เหมือนกับลิเกที่มาจากอินเดีย หรือภาพยนตร์ฝรั่งที่ต้องพากย์

ความคิดนี้เกิดขึ้นนานแค่ไหนแล้ว 

ตั้งแต่ปี 1965 ผมก็เริ่มคิดตรงนี้แล้ว แต่ไม่มีโอกาส เพราะชาวจีนโพ้นทะเลเขาชาตินิยม กรรมการเป็นคนจีนหมด เขาบอกไม่เอาภาษาไทยเลย พอดีมีงานสมโภชรัตนโกสินทร์ 200 ปี เราก็ตั้งสมาคมแล้วตั้งคณะงิ้วไท้ตงเตี่ยเกียะท้วง (泰中潮劇團) ขึ้นมา แปลว่า ‘คณะงิ้วแต้จิ๋วไทย-จีน’ ทาง คุณเกียรติ และ คุณนายจรรย์สมร วัธนเวคิน ก็บอกว่าจะทูลเชิญฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในขณะนั้น มาทอดพระเนตรงิ้วสมโภชกรุง เลยมาเชิญผมไปร่วมงานนี้

ผมก็เห็นเป็นโอกาสว่างิ้วไทยจะเกิดได้ เลยเสนอไปว่าถ้าเล่นเป็นงิ้วแต้จิ๋วอาจจะทรงหลับ เพราะไม่เข้าพระทัยในเรื่องที่เล่น อย่างผมไปดูโขนก็อย่างนั้น งิ้วไทยครั้งแรกก็เลยเกิดขึ้นมาใน พ.ศ. 2525 ปีที่กรุงเทพฯ เรามีอายุครบ 200 ปีนั่นแหละครับ

เมื่อก่อนนักแสดงงิ้วพูดกันแต่ภาษาแต้จิ๋ว การฝึกพวกเขาให้พูดไทยเป็นงานยากมั้ย

ยากซี ทุกคนเขายังไม่เคยเล่นกันถูกเลย อย่าง ทิเซี๊ย-ทิศา เบญจเทพ นักแสดงบทดาวร้ายชื่อดังในอดีต เขาเสียงดี แต่เขายังไม่เคยพูดไทย ผมเลยบอกว่าโอกาสนี้แสดงให้พระเทพฯ ทอดพระเนตรเป็นเกียรติ เป็นความภาคภูมิใจของตระกูลคุณ ตอนนั้นมีเรื่อง เปาบุ้นจิ้น ที่เป็นละครไต้หวันโด่งดังอยู่แล้ว คุณทิเซี๊ยเขาก็เล่นบทเปาบุ้นจิ้นในงิ้วดีอยู่แล้ว ผมเลยให้เล่นเรื่องนี้ ซ้อมกันเดือนเดียว บทดีไม่ดีไม่มีใครรู้ แต่ใจผมก็ซาบซึ้ง เพราะถ้าไม่มีงานนั้นและสมเด็จพระเทพฯ ไม่เสด็จฯ มา งิ้วไทยคงไม่เกิด

พอเล่นเสร็จแล้ว พระองค์ท่านปรบพระหัตถ์ พระราชทานดอกไม้ให้คุณทิเซี๊ยอีก อีกวันช่อง 9 เอา เปาบุ้นจิ้น ตอนประหารเปาเหมี่ยน ที่เราแสดงงิ้วไทยไปออกอากาศ คนเปิดดูกันทั่วประเทศเลย ต่อมาสหพัฒนพิบูลที่เขาเคยซื้อละคร เปาบุ้นจิ้น ไต้หวันมาแพร่ภาพ เล็งเห็นว่างิ้วไทย เปาบุ้นจิ้น นี้ก็มีคนดูเยอะ เลยจ้างผมทำงิ้วไทยต่อ ผมก็รับปากไป ถ่ายกันอยู่ตรงนั้นอีก 3 ปีกว่า ถึงจะทำให้งิ้วไทยมีทุกวันนี้ได้ครับ

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้งิ้วไทยมีวันนี้ได้

เราดวงดี ไม่ใช่เราเก่ง พอมีงิ้วไทยออกอากาศทางทีวี ละครอย่าง เสน่ห์นางงิ้ว เขาก็เชิญเราไปทำต่อ ผมก็เขียนบทให้เขาเรื่อง นางพญางูขาว เป็นทำนองฟังดูจีน ๆ แต่ร้องเป็นไทย ของดีคนจะเห็น คุณมีโอกาสต้องเอาของใหม่ ๆ และดีไปนำเสนอด้วย ไม่ใช่ใหม่แล้วไม่ดี

ศิลปะงามอยู่แล้ว ตอนนี้งิ้วยังมีโอกาสพัฒนาไปเยอะมาก แต่เราไม่ได้ทำไง ถ้าทำตรงนี้ ผมว่าเราไม่แพ้วงดนตรีดัง ๆ เรากล้าการันตี

เมื่อครู่ได้พูดถึงละคร เสน่ห์นางงิ้ว มาแล้ว อยากทราบว่าอาจารย์ไปร่วมงานกับกองถ่ายภาพยนตร์และละครตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ

เรื่องนี้ต้องพูดถึง ท่านมุ้ย-หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ตอนนั้นประมาณปี 1983 ท่านมุ้ยเห็นผมทำงิ้วไทย ตัวท่านกำลังถ่ายหนัง Citizen 2 (1984) อิสรภาพของทองพูนโคกโพ ท่านทราบว่าผมก็รู้เรื่องจีนเยอะ เลยเชิญผมไปว่าอยากให้ร่วมแสดงตรงนี้ เล่นเป็นเถ้าแก่คนจีน ท่านมีชื่อเสียงโด่งดัง ผลงานท่านดีมาก เป็นคนที่เราเคารพอยู่แล้ว ตอนนั้นไปถ่ายผมไม่เอาเงินสักบาท ยินดีไปช่วย ถึงวันนี้ผมก็ยังผูกพันต่อท่านอยู่ เพราะว่าท่านมุ้ยดีต่อผมมาก

เห็นอาจารย์เม้งได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์ของท่านมุ้ยหลายเรื่องเลย

หลังจากนั้นมาก็มีกองถ่าย จดหมายจากเมืองไทย ท่านให้ผมไปอยู่เบื้องหลัง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องจีน ๆ แล้วก็ได้แสดงด้วย เล่นเป็นคนจีนทุกเรื่องเลยแหละ คนเขาเห็นผมแสดงตรงนี้ โฆษณาเขาเลยติดต่อเข้ามาหาผม

ตื่นเต้นมั้ยครับกับการที่ได้แสดงร่วมกับดาราดังอย่าง สรพงศ์ ชาตรี

ไม่ตื่นเต้น ที่จริงผมเคยมีพื้นด้านการแสดงมาก่อนแล้ว เคยแสดงในฮ่องกงมาก่อน ตอนผมอยู่ในฮ่องกง เขาตื่นเต้นกับผมมากกว่า ไอ้ผมตอนอยู่จีน อยู่ฮ่องกง ก็เป็นคนมีระดับเป็นอาจารย์ นักแสดงดัง ๆ อย่าง เฉิน หลง ตัวผมก็เคยเจอมาก่อน

อย่าบอกนะว่าอาจารย์เคยร่วมงานกับดาราดังอย่าง เฉิน หลง มาก่อนด้วย!

เคย เมื่อก่อนเฉิน หลง เขายังเด็กอยู่ เขามาเล่นงิ้วเป็นตัวทหารกับพวกเรา อายุ 10 กว่าขวบ ยังไม่ก้าวหน้า ไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะดังขนาดนี้ ก็เห็นเลยว่าชีวิตคนเรามันไม่แน่ไม่นอน

เมื่อก่อนตอนเฉิน หลง เด็ก ๆ เขาก็โตมาจากโรงงิ้ว เมื่อก่อนเขาอยู่คณะทางฮ่องกง เราก็ไปช่วยเขา อาจารย์ของเขาคือ อวี้ เจิ้งหยวน ก็พาลูกศิษย์ไปโชว์ที่ไนต์คลับตอนกลางคืน หง จินเป่า นี่ก็ศิษย์สำนักเดียวกัน เป็นศิษย์พี่ใหญ่ พวกนี้บู๊เก่งกันทั้งนั้น คนงิ้วแต้จิ๋วเราเล่นบู๊ไม่เก่งเท่า ก็ปล่อยให้เขาเล่นรบไป

อาจารย์เม้งอวดภาพถ่ายเมื่อครั้งที่เคยร่วมงานกับคนดังอย่าง เติ้ง ลี่จวิน และ เฉิน หลง

นอกจากแสดงเอง ยังเห็นอาจารย์เป็นที่ปรึกษาให้กับกองถ่ายหนัง-ละครเยอะแยะเลย

มีอะไรเขาก็เชิญ ยิ่งใกล้ตรุษจีนงานยิ่งเยอะ ตอนนี้เราอายุเยอะ บางทีไม่ไหว ก็ไม่ได้ไป แต่งานสำคัญจริง ๆ ก็ต้องไป อย่างงานตรุษจีนที่เซ็นทรัลเวิลด์เมื่อปี 2023 เขาเชิญผมให้ไปทำงิ้ว อยากให้มีละครเวทีด้วย ก็มาเชิญผมไปคุยว่าไปร่วมงานกันได้ไหม ผมก็คิดว่ามันก็ดี มีของใหม่เข้ามาก็ผสมผสานกับของเก่าได้อยู่แล้ว คุณก็เล่นละครเวทีของคุณไป เราก็เอาดนตรีงิ้วมาผสม ๆ ให้

เรื่องที่เขาแสดงกันคือเรื่อง ทู่เอ๋อร์เสิน (兔兒神) นำแสดงโดย มีน-นิชคุณ ขจรบริรักษ์ และ ปิง-กฤตนัน อัญชนานันท์ เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ งิ้วไม่ได้เล่นเรื่องนี้นะ มันเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ แล้วก็ท้าทายมากสำหรับงิ้ว เรื่องนี้ผมดูแล้วก็ว่าจะทำใหม่หมด เอามาเขียนให้ลึกขึ้น จะต้องมีท่างิ้ว จะบทงิ้วไทยกับบทจีนแยกกัน 2 บท งิ้วเป็นศิลปะแบบหนึ่ง จะเล่นอะไรก็ได้ นี่ผมก็เขียนเรื่อง แม่นาคพระโขนง อยู่

ทางผู้จัดเขาเชิญผมไปคุย ผมก็อยากลองดูมาก เขาก็ได้รับรู้ว่างิ้วเป็นยังไง เราก็ได้รู้ว่าพวกเขาเป็นยังไง จะได้ผสมผสานกันได้ ทู่เอ๋อร์เสิน เลยออกมาในงาน บางคนเขาก็ชอบกันนะ (หัวเราะเสียงดัง)

ในฐานะผู้ใหญ่ที่มีอายุมากและได้ร่วมงานกับวงการบันเทิงยุคใหม่อยู่ตลอด อาจารย์คิดอย่างไรกับซีรีส์แนว LGBTQ ที่กำลังแพร่หลายทุกวันนี้

งิ้วไม่มีมาก่อน แต่ถ้าเรามองกว้างก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะเนื้อเรื่องอะไรเอามาเล่นได้หมด สำคัญที่สุดคือคุณทำเพื่ออะไร ทำเพื่อตลาดอย่างเดียว เพื่อขายก็ไม่มีความหมายอะไร แก้ผ้าเพื่อตลาดอย่างนี้ไม่น่าทำ แต่ถ้าเขาเน้นว่าชีวิตความจริงมีอย่างนี้อยู่แล้ว เมื่อก่อนเขาไม่กล้าเปิด แล้วเรามาทำตรงนี้ เราก็เอาความจริงมาคุย มันก็ได้ไหม ได้สิ กฎหมายเขาไม่ได้ห้ามเรา ชีวิตคนมีอยู่อย่างนี้จริง เมืองจีนสมัยโบราณเคยมีฮ่องเต้ที่ทรงรักชายคนสนิท ยอมตัดแขนเสื้อดีกว่าให้ชายคนรักที่นอนหนุนแขนเสื้อพระองค์ตื่น จนเป็นที่มาของตำนานตัดแขนเสื้อ (ต้วนซิ่ว) หรือในไทยเองก็มี

แค่ผมยังอยากเอามาบอกตรงนี้ว่าศิลปะงิ้วจะเน้นอะไร ถ้าเน้นเรื่องคุณธรรมอยู่ได้แน่นอน อย่าง ทู่เอ๋อร์เสิน บทจริง ๆ น่าจะลึกกว่านี้ มีร้องเพลงว่าจะฆ่าหรือจะปล่อยเขาไป ถ้าฆ่าเขาอันนี้ผิด เรื่องนี้น่าเล่นด้วย เดี๋ยวผมจะเขียนเป็นทั้งงิ้วไทยและงิ้วจีน เพราะในประวัติศาสตร์งิ้วแต้จิ๋วที่ผ่านมาไม่น่าจะมีคนเคยเขียนอย่างนี้ครับ

ที่ผ่านมาการแสดงงิ้วในไทยก็เคยมีทั้งยุคที่รุ่งเรืองและตกต่ำ แต่ในยุคนี้ที่ซบเซาลงไปมาก อาจารย์คิดว่าศิลปะแขนงนี้จะกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีกมั้ย

ตอนนี้เรากำลังทำสิ่งนี้อยู่ จะเปิดสมาคมอุปรากรศิลปไทย-จีนแห่งประเทศไทยที่ดาวคะนองคอนโดมิเนียมชั้น 9 ให้เป็นที่ฝึกงิ้ว สร้างบุคลากรใหม่ ๆ วัยรุ่นให้ขึ้นมาสืบสานประเพณีต่อไป

อย่างที่ผมพูดมาแต่ต้นว่าเราจะทำงิ้ว เราต้องมีความรู้ก่อน คุณทำเพื่ออะไรก่อน งิ้วเป็นศิลปะรวมกันอยู่หลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งวรรณกรรม การขับร้อง การรำ การดนตรี การแต่งหน้า ไหนจะฉากสวย ๆ ที่มีเพิ่มเข้ามาในยุคใหม่นี้อีก จริง ๆ มันมีเสน่ห์มาก แต่เราพร้อมหรือยัง มีความรู้ที่จะทำตรงนี้มั้ย ถ้าพวกเราไม่มีความรู้จะทำยังไง จะเอาบทอะไรที่เรียกว่าเด่น ๆ มาแสดงแล้วเรียกคนได้

จุดเด่นที่จะทำให้งิ้วกลับมาเรียกคนดูตามความคิดของอาจารย์คืออะไร

ศิลปะการแสดงแขนงนี้มีข้อเด่นมากกว่าการแสดงอีกหลายแขนง มันไม่ได้ดีกว่า แค่เด่นกว่าในบางเรื่อง ผมยกตัวอย่างลำตัด ส่วนใหญ่อยู่แค่ภาคกลางแถวสุพรรณบุรี หมอลำก็มักอยู่แต่ในอีสาน มโนราห์หาดูได้ก็แค่ทางใต้ แต่งิ้วไปได้ทุกที่ ไปเล่นทุกที่ เพราะชุมชนคนจีนอยู่ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด คนจีนไปทั่วเลย คนไทยก็ดูได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ดู เขาชอบทุกอย่างที่สนุกสนาน ที่เป็นศิลปะ เพราะคนไทยมีพรสวรรค์ทางการแสดงจริง ๆ เสียงดีมาก หมอลำบางท่านร้องได้ดีมาก ผมยังชอบหมอลำเลย ลิเกเขาก็เก่ง ดาราตลกบางคนมาจากลิเก ถ้าคนไทยมาสัมผัสมาศึกษาเรื่องงิ้ว เขาก็น่าจะทำได้ดี

เทพนิยายจีนที่มาสร้างละครอย่าง ไซอิ๋ว คนไทยก็ดูกันใช่ไหม แต่จะเอาลิเกมาเล่นก็ไม่ได้ ใช้โขนแสดงยิ่งไม่ได้ใหญ่ แต่งิ้วทำได้ เพียงแต่เวลาเล่นงิ้ว ถ้าเล่นเป็นภาษาจีนก็อาจจำกัดอยู่แค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าอยู่ประเทศไทยต่อไปก็อาจจะอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว

ในเมืองไทยเราจะมีงิ้วให้ดูต่อไปอีกนานเท่าไหร่ครับ

ถ้าผมยังอยู่ และมีคนส่งเสริมนาน ๆ มันก็น่าจะยังอยู่และรุ่งขึ้นได้ 

หนึ่ง คุณต้องแนะนำให้คนทั่วไปรู้ว่าศิลปะนี้มันดี เนื้อเรื่องดี การแสดงดี การรำก็ดี คุณจัดประกวดสิ ปีหนึ่งมีการประกวดแข่งขันทั้งร้องและเล่นงิ้ว ทำอย่างนั้น คุณให้กำลังใจเขา คนชอบเขาก็มีโอกาส เขาก็อยากมาประกวดเพราะมันรุ่ง

สอง ส่วนมากถ้ามีพื้นฐาน ดูว่าคนนี้ปั้นได้ ส่งเสริมได้ เราก็ส่งไปเรียนต่อที่จีนสิ ไปเรียนงิ้วปักกิ่งบ้าง เซี่ยงไฮ้บ้าง แล้วกลับมา มันก็เป็นผลแก่เขาที่สุด 

งิ้วไทยของเราตอนนี้เราพูดตรง ๆ เพียงชื่อ เราแค่เป็นไทย ยังไม่สมหวังที่ผมคิดเอาไว้ หลายสิบปีผมคิดจะทำให้มันดีเด่นตรงไหน ก็ยังไม่เด่น ถ้าเด่น ผมคิดว่าถ้าเราทำเสียงเพราะ ๆ ร้องดีเล่นดี ผมคิดว่าเรื่องดนตรีอย่างนี้ เสื้อผ้าชุดสวย ๆ รำดี ผมคิดว่ามันก็จะยังอยู่ได้ต่อไป

อาจารย์พูดอยู่บ่อยครั้งว่าทำเรื่องงิ้วไม่ได้ช่วยก้าวหน้า ไม่ได้สร้างกำไรมากมาย ฉะนั้นแล้วอะไรที่ทำให้คณะงิ้วไทยของ เม้ง ป.ปลา ดำเนินมาจนถึงวันนี้

ในฐานะที่เราเป็นคนไทย เราก็ต้องตอบแทนผืนแผ่นดินไทยที่เลี้ยงเราจนโต เราต้องทำสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ลืมบรรพบุรุษที่เป็นคนจีน พื้นฐานที่สุดเราก็ต้องส่งเสริมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน

สิ่งที่ผมทำตรงนี้ก็อย่างนี้ จนรวยไม่เป็นไร ขอให้เราเป็นคนดีเท่านั้นเอง เงินมันเอาไปได้ไม่หมด ขอแค่เราอยู่ได้ดีกินดีก็เท่านั้นเอง เราอยู่เมืองไทยสุขสบายอยู่แล้ว แต่ต้องทำงานอย่างยิ่งใหญ่ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ อันนี้คือสำคัญที่เราตั้งใจไว้ ผมอาจทำไม่ถึง แต่รุ่นหลังก็อาจจะทำได้ นี่คือสิ่งที่ผมคิดอยู่จนทุกวันนี้ สิ่งที่ผมทำสมาคม ทำงิ้วอยู่ตรงนี้ เพราะคิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์ทั้งกับชาติไทยและชาติจีนครับ

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์