24 มิถุนายน 2023
2 K

‘เกาะมาเฮ’ (Mahé) เป็น 1 ใน 115 เกาะที่รวมกันเป็นประเทศเซเชลส์ (Seychelles) ประเทศหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทวีปแอฟริกาตะวันออก ในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้ ๆ กับประเทศหมู่เกาะอย่างมาดากัสการ์ (Madagascar) และมอริเชียส (Mauritius) เป็นต้น เกาะมาเฮเป็นเกาะใหญ่และสำคัญของประเทศ เพราะเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงอันมีนามว่าวิกตอเรีย (Victoria) 

เซเชลส์เคยอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1756 โดยชื่อของประเทศนั้นก็ตั้งขึ้นตามชื่อของ ฌอง โมโคร เดอ เซเชลส์ (Jean Moreau de Séchelles) ผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการคลังในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ต่อมาในปี 1814 เซเชลส์ได้ตกไปเป็นอาณานิคมของอังกฤษจนได้รับอิสรภาพในปี 1976 ดังนั้นคนเซเชลลัวส์ (Seychellois) จึงรัวได้ทั้งภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ ด้วยความที่เคยอยู่ในอาณัติของทั้ง 2 ประเทศมาก่อน ส่งผลให้ชื่อเกาะ Mahé พลอยออกเสียงเป็นมาเอ (อ อ่าง) ตามแบบฝรั่งเศส หรือมาเฮ (ฮ นกฮูก) ตามแบบอังกฤษก็ได้นะครับ

เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles
ชายทะเลที่เกาะมาเฮ
เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles
หาดสวยน้ำใสที่เกาะมาเฮ

น่าเสียดายที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักมองข้ามทั้งเกาะมาเฮและเมืองวิกตอเรียไปเสียนี่ ต่างพากันหนีไปหมกตัวกันที่เกาะลาดิก (La Digue) หรือเกาะปราส์แลง (Praslin) เพื่อใช้เวลาปลาบปลื้มดื่มด่ำกับชายหาดอันงดงามติดอันดับโลก ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่หลังจากนั่ง ๆ นอน ๆ ซาบซึ้งกับหาดสวยน้ำใสมานานนับ 10 วัน ผมก็ตัดสินใจข้ามกลับมาที่เกาะมาเฮเพื่อใช้เวลา 3 – 4 วันสุดท้ายที่นี่ โดยเฉพาะที่เมืองวิกตอเรีย แล้วผมก็พบว่าเกาะมาเฮมีอะไรเฮ ๆ รออยู่เหมือนกันแฮะ  

เช้าตรู่ในวันอันสดใส ผมรีบขึ้นรถเมล์จากโรงแรมไปยังหมุดหมายแรก นั่นคือตลาดสดที่ใหญ่ที่สุดอันมีชื่อว่า ‘Sir Selwyn Selwyn-Clarke’ ซึ่งตั้งขึ้นตามนามของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของกษัตริย์อังกฤษซึ่งเข้ามาปกครองเซเชลส์อยู่ระยะหนึ่ง ส่วนเมืองวิกตอเรียนั้น เมื่อฝรั่งเศสได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกาศครอบครองเซเชลส์ในฐานะอาณานิคม ฝรั่งเศสได้ประกาศชื่อเมืองหลวงแห่งนี้อย่างง่าย ๆ ว่า เลตาบลิสม็องต์ (L’établissement แปลว่า ตั้งถิ่นฐาน) จนปี 1814 อังกฤษได้เข้ามาครอบครองต่อ และประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็นวิกตอเรีย เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร

เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles
แผงขายปลาที่ตลาด
เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles
แผงขายดอกไม้หลากสีที่ตลาด

“เมอซิเออร์แวะก่อน แวะก่อนสิ ของสด ๆ ดี ๆ ทั้งนั้นเลย” เสียงพ่อค้าแม่ขายเชิญชวนลูกค้าให้แวะชมสินค้าคุณภาพของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นปลาทะเลสด ๆ หลากหลายสายพันธุ์ ผักผลไม้เมืองร้อนต่าง ๆ ที่ดูคุ้นหน้าคุ้นตาคนไทยอย่างเรา รวมทั้งดอกไม้สดสีจัดที่มัดช่อรอลูกค้าอยู่ก็มีด้วยกันหลายแผง นอกจากนี้ยังมีเครื่องเทศกลิ่นหอมนานาชนิดที่แบ่งบรรจุเป็นห่อ ๆ เรียบร้อย ผมสังเกตว่าคนเซเชลลัวส์มักใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแรกเมื่อสนทนากับนักท่องเที่ยวอย่างเรา แต่ถ้าเราทำหน้าอึ้ง ๆ งง ๆ เขาก็พร้อมจะสลับลิ้นกลับมาเป็นอังกฤษได้เสมอ

ผมเดินดูแผงสินค้านู่นนี่อย่างสนุกสนานจนกระทั่ง 

“อันนี้คืออะไรครับ อบเชยใช่ไหมครับ” ผมแวะเข้าไปถามแม่ค้าเมื่อเห็นแผ่นเปลือกไม้สีน้ำตาลอ่อนม้วนรวมกันเป็นมัด ส่งกลิ่นหอมยวนใจ และทำให้ผมนึกถึงเครื่องดื่มอย่างคาปูชิโน่รวมทั้งขนมอย่างซินนามอนโรล

“ใช่ค่ะเมอซิเออร์ อบเชยของเซเชลส์ดีที่สุดในโลก ไม่ซื้อกลับไปบ้างหรือคะ” เธอเชิญชวน

เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles
อบเชยเป็นม้วน ๆ มัดรวมกัน วานิลลาสกัดขายในขวดลักษณะคล้ายขวดบรรจุเครื่องดื่มบำรุงกำลัง วานิลลาตากแห้งขายในซองพลาสติก

เมื่อปี 1771 ปิแอร์ ปัวเฟรอะ (Pierre Poivre) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ที่ลักลอบนำตัวอย่างต้นอบเชย (Cinnamon) พันธุ์แท้จากดินแดนอาณานิคมของดัตช์ (ปัจจุบันคืออินโดนีเซีย) กลับมายังห้องทดลองพันธุ์พืชของเขาที่เกาะมอริเชียสได้สำเร็จ การกระทำเช่นนี้ถือเป็นความเสี่ยงต่อชีวิตเลยทีเดียว เพราะโทษที่รัฐบาลดัตช์กำหนดไว้สำหรับความผิดลักษณะนี้คือโทษประหารสถานเดียว อบเชยที่เมอซิเออร์ปัวเฟรอะแอบนำติดมือมาเมื่อครั้งนั้น ส่งผ่านจากเกาะมอริเชียสมาขยายพันธุ์ต่อที่เซเชลส์ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศในเวลาต่อมา

“อบเชยของที่นี่ไม่มีสารเคมีเจือปน รัฐบาลเน้นการผลิตแบบออร์แกนิก เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีที่สุด” เธอเล่าอย่างภูมิใจ และผมก็ตัดสินใจซื้อเปลือกไม้อบเชยกลิ่นหอมฟุ้งติดมือมา พร้อมกันกับวานิลลาสกัดเข้มข้น (Vanilla Essence) ที่มีขายเป็นขวด ๆ 

“เพื่อนผมมีร้านทำขนมครับ และเขาฝากให้ผมซื้อวานิลลาสกัดจากที่นี่ติดมือกลับไปด้วย” ผมบอกกับเธอ

“วานิลลาของเซเชลส์ก็ดีที่สุดในโลกเช่นกันนะคะ คุณภาพของเราพอ ๆ กันกับวานิลลาที่มาดากัสการ์และหมู่เกาะอื่น ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย” เธอเล่าอย่างภูมิใจอีกครั้ง

วานิลลาเป็นพืชที่นำมาปลูกในเซเชลส์ตั้งแต่ปี 1866 โดยชาวฝรั่งเศส สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยช่วยส่งผลให้วานิลลาเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นสินค้าคุณภาพของประเทศนี้ 

แม้ตลาดสดแห่งนี้อาจไม่พลุกพล่านเจี๊ยวจ๊าวเช่นตลาดสดในประเทศแอฟริกาอื่น ๆ แต่ก็สร้างความเพลิดเพลินได้ไม่น้อยจนผมเพลินเดินชมอยู่นาน พ่อค้าแม่ขายใจดีและพร้อมจะชวนเราคุยอย่างเป็นมิตร

จากตลาด เดินไปอีกไม่นานก็ถึงศาสนสถานของชาวฮินดูที่เรียกว่า ‘Seychelles Hindu Kovil Sangam’ ซุ้มทางเข้ารวมทั้งมุมและเครื่องยอดของศาสนสถานแห่งนี้ประดับตกแต่งด้วยรูปปั้นเทพเจ้าองค์สำคัญตามความเชื่อ อินเดียเคยเป็นอาณานิคมสำคัญของอังกฤษมาก่อนตั้งแต่อดีต เมื่ออังกฤษมาปกครองเซเชลส์ ชาวทมิฬจำนวนมากจากอินเดียตอนใต้ได้เดินทางมายังที่นี่ด้วย ก่อเกิดเป็นชุมชนชาวทมิฬขนาดใหญ่ ส่งผลให้ศาสนาฮินดูกลายเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เซเชลส์จึงกลายเป็นดินแดนสำคัญที่มีผู้นับถือศาสนาฮินดูมากเป็นอันดับต้น ๆ ในทวีปแอฟริกา น่าเสียดายที่วันนั้นประตูวิหารปิด ผมจึงทำได้เพียงแค่ยืนชมความงามอยู่ภายนอกเท่านั้น

เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles

แดดสายเริ่มร้อนขึ้นจนผมคิดว่าน่าจะหาสถานที่บรรเทาความร้อนเสียหน่อย ผมจึงตัดสินใจจับรถเมล์มุ่งหน้าไปยังสวนพฤกษศาสตร์แห่งเซเชลส์ (Seychelles Botanical Gardens) การตัดสินใจครั้งนี้ได้พาผมไปพบกับของดีโดยไม่รู้ตัว

ในมุมเล็ก ๆ ของสวนอันกว้างใหญ่และร่มรื่นปรากฏสวนพรรณไม้ไทย-เซเชลส์ตั้งอยู่ ป้ายไม้แผ่นยาวมีตัวอักษรสลักอ่านได้ว่า ‘Thai-Seychelles Garden’ ผมเดินเข้าสู่บริเวณสวนสวยด้วยความอิ่มเอมใจ กล้วยไม้ไทยหลากชนิดออกดอกสะพรั่ง ผมเดินไปเรื่อย ๆ จนพบป้าย Fragrance Trail ซึ่งเป็นเส้นทางเดินที่พาผมลัดเลาะผ่านหมู่ไม้ไทยที่มีกลิ่นหอมนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืชผักสวนครัวอย่างกะเพรา สะระแหน่ มะกรูด รวมทั้งสมุนไพรหลายต่อหลายชนิด ผมได้กลิ่นหอมอ่อน ๆ มาตลอดทาง

เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles

สวนพรรณไม้ไทย-เซเชลส์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2557 ในโอกาสครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเซเชลส์ โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ 

นอกจากสวนสวย ๆ และพรรณไม้ไทยหอม ๆ แล้ว โครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือในเชิงวิชาการจากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อจัดสร้างห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแห่งแรกขึ้นที่ประเทศเซเชลส์ ซึ่งนับว่าเป็นห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแห่งแรกในภูมิภาคหมู่เกาะกลางมหาสมุทรอินเดียในแถบแอฟริกาด้วย ปัจจุบันห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแห่งนี้ได้จัดเก็บและรวบรวมพันธุ์พืชเฉพาะถิ่น (Endemic Species) เป็นจำนวนมาก มีการแลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงวิชาการระหว่างบุคลากรไทยและเซเชลส์อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

ในบริเวณสวนพฤกษศาสตร์ไทย-เซเชลส์

น่าภูมิใจไหมครับ ผมล่ะลืมความร้อน เดินยิ้มตาหยีระหว่างชมสวนเลย

และแล้วก็ถึงเวลาอาหารกลางวันอันเป็นไฮไลต์ของวันนี้ และผมได้เลือกแล้วว่าจะฝากท้องไว้ที่ไหน

เมื่อผมสอบถามใครต่อใคร ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับที่โรงแรม คนขับรถแท็กซี่ หรือไปลองอ่านรีวิวร้านอาหารที่น่าสนใจในเมืองวิกตอเรีย ร้านที่ใครต่อใครพากันแนะนำก็คือ ‘ร้านมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) ซึ่งให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็นร้านอาหาร ‘เซเชลลัวส์ เครโอล’ ที่ทุกคนจะไม่มีวันลืม 

แต่อะไรคือ เซเชลลัวส์ เครโอล ล่ะนี่

อย่างที่ทราบกันดีว่าเซเชลส์เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมาแต่แรกเริ่ม ก่อนจะเปลี่ยนมือมาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอีกระยะ ดังนั้นวัฒนธรรมความเป็นฝรั่งเศสจึงหยั่งรากลึกลงไปในวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขาพอสมควร เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เป็นฝรั่งเศสจ๋า ๆ เพราะว่าได้เกิดการกลายพันธุ์ไปเมื่อผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมของชาวแอฟริกัน จึงก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมลูกผสมใหม่ที่เรียกว่า เซเชลลัวส์ เครโอล (Seychellois Créole) เรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘เครโอล’ ซึ่งสะท้อนออกมาหลากหลายมิติ ไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะการกินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาษา การแต่งกาย การใช้ชีวิต ฯลฯ

หากพอพูดและเข้าใจภาษาฝรั่งเศสได้บ้าง เมื่อมาถึงที่นี่ใหม่ ๆ และได้ยินภาษาเครโอล เราจะรู้สึกว่าคุ้นหูมาก ๆ ฟังแล้วช่างฝรั่งเซ้ด ฝรั่งเศส แต่พอฟัง ๆ ไป อ้าว ไม่ใช่นี่หว่า เอาเข้าจริงก็ฟังแทบไม่รู้เรื่องจนต้องยอมถอยทัพ

อาหารการกินก็เช่นกัน บางอย่างนำมาราดซอสที่ผ่านการปรุงแบบฝรั่งเศส แต่ดันนำมากินกับข้าวสวยแนมพริก หรือขนมบางอย่างที่วิธีการทำมันคือแครมบรูว์เล่ (Crème Brûlée) ชัด ๆ แต่วัตถุดิบที่ใช้ทำดันเป็นน้ำตาลปึกกับกะทิเป็นต้น

ผมขออนุญาตนิยามลักษณะอาหารแบบเครโอลว่า เป็นการผสมผสานกันอย่างงง ๆ แต่ลงตัวละกันครับ ฮ่า ๆๆ

เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles
ร้านมารี อ็องตัวแน็ต

ร้านมารี อ็องตัวแน็ต ตั้งอยู่ในอาคารไม้โบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1800 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบเฟรนช์ โคโลเนียล (French Colonial) และยังคงอนุรักษ์ไว้ให้อยู่ในสภาพเดิมแทบทุกประการ การตกแต่งภายในเรียบง่าย บนผนังด้านหนึ่งมีภาพเขียนสุภาพสตรีวัยกลางคนท่าทางใจดี นั่นคือภาพเขียนของ Mrs.Kathleen Fonseka ผู้ก่อตั้ง ร้านมารี อ็องตัวแน็ต เริ่มเปิดบริการเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1972 โดยใช้ชื่อว่า ‘Le Grand Trianon’ ซึ่งพ้องกันกับชื่อพระตำหนัก เลอ กร็องด์ ตริอานง อันเป็นพระตำหนักสีชมพูในพระราชวังแวร์ซายที่แสนหรูหรา และเป็นพระตำหนักที่ พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ทรงโปรดมากที่สุด

เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles

ต่อมาเมื่อ Mr.Roy Fonseka บุตรชาย ได้เข้ามาดูแลกิจการร้านอาหารแทนคุณแม่ เขาเปลี่ยนชื่อไปเป็น มารี อ็องตัวแน็ต และใช้ชื่อนี้มาจนปัจจุบัน เพื่อยังยืนยันถึงความตั้งใจของเจ้าของทั้งรุ่นแม่รุ่นลูก ที่ต้องการจะมอบเมนูอาหารคุณภาพดีเยี่ยมราวกับจัดพระกระยาหารถวายองค์ราชินีเลยทีเดียว

สิ่งที่ยืนยันความโด่งดังของร้านอาหารร้านนี้ก็คือผนังที่อัดแน่นไปด้วยนามบัตรของลูกค้าคนแล้วคนเล่าที่แวะเวียนมาทานอาหารเครโอลรสดั้งเดิม ดังนั้น หากใครมีโอกาสไปที่นี่ อย่าลืมพกนามบัตรไปด้วยนะครับ

เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles

วันนั้นทางร้านได้จัดเมนูเซตแบบเครโอลขนานแท้ให้ทดลองชิมไว้เรียบร้อย ดังนั้น ผมจึงไม่คิดอะไรมากนอกจากจิ้มเมนูเซตนี้มาลองทันที

ตาม โลจน์ นันทิวัชรินทร์ เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles

ข้าวสวยร้อน ๆ หอมฉุยแบบข้าวไทยนำมาเสิร์ฟพร้อมกับกับข้าวอีกหลายเมนูละลานตา แต่สิ่งที่สะดุดตาผมมากที่สุด คือยำมะม่วงกับน้ำปลาพริกที่แนบมะนาวฝานมาด้วย 2 – 3 ซีก แค่เห็น 2 รายการนี้ผมก็รู้สึกอร่อยขึ้นมาแล้ว

“ผมต้องทานอะไรก่อนหลังอย่างไรบ้าง ถึงจะถูกวิถีการบริโภคแบบเซเชลลัวส์ เครโอลครับ” ผมแอบถามคุณพี่คนเสิร์ฟใจดี

“เมอซิเออร์ทานข้าวสวยกับกับข้าวต่าง ๆ ตามที่ต้องการเลยค่ะ ลองทานของทอดบ้าง สลับกับแกงบ้าง แล้วก็ลองหันมาทานยำ ก่อนจะวนกลับมาทานของทอดอีกครั้ง ลองรสชาติต่าง ๆ กันสลับไปมาแบบนี้จะทำให้ตื่นเต้นค่ะ” พี่คนเสิร์ฟอธิบาย และผมว่ามันแสนจะเป็นวิถีไทยแท้เอามาก ๆ

นอกจากยำมะม่วงที่มีทั้งเปรี้ยว หวาน เผ็ด ครบ 3 รสแล้ว อาหารมื้อนั้นยังประกอบด้วยปลาทอดขมิ้น สเต๊กปลาทูน่ารสออกเปรี้ยวผสมหวาน แกงกะหรี่ปลากะพงแดง มะเขือม่วงทอดแบบมันฝรั่ง แกงเผ็ดเนื้อเปื่อย ซุปผักคล้าย ๆ แกงส้ม และปลาราดกระเทียม สำหรับของหวานนั้นเป็นมะพร้าวกวนกับน้ำตาลปึกรสหวานมาก ๆ แต่เมื่อตบท้ายด้วยกาแฟดำแบบฝรั่งเศส ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามันช่างลงตั๊วลงตัว

ตาม โลจน์ นันทิวัชรินทร์ เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles

เมื่อผมบรรจุอาหารทั้งหมดลงกระเพาะก็ได้เวลา 12.00 น. พอดี

“โอ๊ง โอ๊ง โอ๊ง โอ๊ง…..” เสียงร้องแปลก ๆ คล้าย ๆ สุนัขผสมกับแมวน้ำดังขึ้นหลังร้านมารี อ็องตัวแน็ต

“เมอซิเออร์ เร็ว ๆ ไปหลังร้านเลยค่ะ เจ้าอับบราฮัมเริ่มโชว์แล้ว ไปเลยค่ะ ไปเลย รีบเลย” คุณพี่สาวเสิร์ฟใจดีรีบเร่งผมให้วิ่งไปด้านหลัง

ใครคืออับบราฮัม อับบราฮัมทำอะไร เสียงอะไรประหลาด ๆ คำถามมากมายผุดขึ้นในหัว แต่ผมไม่มีเวลาสำหรับคำตอบ ผมถลาไปหลังร้านพร้อมกล้องถ่ายรูปตามสัญชาตญานอยากรู้พร้อม ๆ กับแขกคนอื่น ๆ อีกหลายคน และสิ่งที่ผมเห็นก็คือเจ้าอับบราฮัม เต่าบกตัวยักษ์สายพันธุ์อัลดาบรา (Aldabra Tortoise) กำลังขึ้นคร่อมหนึ่งในสมาชิกสาวในฮาเร็มของมัน และเสียง โอ๊ง ๆ ที่ดังกังวานสะท้านร้านนั้น ก็คือเสียงแห่งความหฤหรรษ์ของเจ้าอับบราฮัมนั่นเอง

ตาม โลจน์ นันทิวัชรินทร์ เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles

ระหว่างที่เรากำลังบันทึกภาพแห่งความสุขของอับบราฮัมและสาว ๆ ของมันอยู่นั้น พนักงานของร้านก็เข้ามาชวนคุยให้เราคลายข้อสงสัย เธอชวนให้เราสังเกตกระดองของอับบราฮัมที่ปรากฏรอยแตกมองเห็นได้ชัดเจน

ตาม โลจน์ นันทิวัชรินทร์ เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2001 เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักจนโคลนถล่มเมืองวิกตอเรีย ทำให้กำแพงคอนกรีตยักษ์หนัก 1 ตันล้มลงมาทับเต่ายักษ์จำนวนหนึ่งที่เลี้ยงไว้ในศูนย์อนุรักษ์แห่งนั้น

มีเต่าที่รอดชีวิตทั้งหมด 11 ตัว และอับบราฮัมคือหนึ่งในนั้น

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ร้านมารี อ็องตัวแน็ต ได้รับเต่าที่รอดชีวิตทั้ง 11 ตัวมาเลี้ยงดูในบ่อซีเมนต์ใหญ่หลังร้าน ซึ่งกลายมาเป็นลานแสดงโชว์ของเจ้าอับบราฮัมในวันนี้

“ตัวอื่น ๆ ไม่มีตัวไหนหื่นแบบอับบราฮัมเลยหรือครับ ผมเห็นเต่าตัวอื่น ๆ อยู่อย่างสงบเสงี่ยม ไม่มีใครโชว์แมนอย่างเจ้านี่เลย” ผมถาม

“ไม่เลยค่ะ ตัวอื่น ๆ ก็อาจจะมีบ้างนะคะตามธรรมชาติ แต่อับบราฮัมนี้สม่ำเสมอและตรงเวลามาก พอเที่ยงปั๊บเราจะได้ยินเสียงแห่งความสุขสันต์ของมันแผ่ซ่านไปทั่วร้าน” พี่สาวคนเสิร์ฟเล่าไปขำไป เธอบอกว่าพฤติกรรมโชว์แมนของเจ้าอับบราฮัมนี้โด่งดังมากจนชาวเมืองต่างก็ให้สมญานามมันว่า ‘ดอน ฆวน แห่งเซเชลส์’ (Don Juan de Seychelles) 

ผมขอกระซิบว่า หลังจากวันนั้น ผมตัดสินใจเดินทางข้ามเกาะอีกครั้ง จากเกาะมาเฮไปยังเกาะกูริเยิส (Curieuse) เพื่อไปเที่ยวศูนย์อนุรักษ์เต่าบกสายพันธุ์อัลดาบราโดยเฉพาะเพื่อเป็นการสั่งลาก่อนกลับเมืองไทย 

บนเกาะนั้นมีเต่ายักษ์พันธุ์นี้เดินต้วมเตี้ยมอย่างอิสรเสรีทั่วไปหมด

“โอ๊ง… โอ๊ง… โอ๊ง….” เสียงดังคล้ายสุนัขผสมแมวน้ำก้องกังวานสะท้านมาสู่ประสาทหูของผม และผมก็แทบไม่ต้องหันไปดูก็รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น

ตาม โลจน์ นันทิวัชรินทร์ เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles
ตาม โลจน์ นันทิวัชรินทร์ เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles
เต่าโชว์แมนที่เกาะกูริเยิส

เที่ยงวันนั้นเจ้าอับบราฮัมโชว์แมนไปหลายรอบเลยนะครับ เดี๋ยว ๆ ก็ โอ๊ง จนผมชักจะสงสารสาว ๆ ในฮาเร็มของมันขึ้นมาบ้างละ

หลังอาหารกลางวันมื้อสุดประทับใจมื้อนั้น ผมกลับเข้าไปเดินเล่นในเมืองวิกตอเรียอีกพักใหญ่ ผมไปถ่ายรูปหอนาฬิกากลางเมืองวิกตอเรีย ซึ่งสร้างขึ้นเลียนแบบหอนาฬิกาที่หน้ารัฐสภาอังกฤษในกรุงลอนดอน หรือที่เรารู้จักกันดีว่าหอนาฬิกาบิกเบน (Big Ben) และทำให้หอนาฬิกากลางเมืองวิกตอเรียแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า ‘Little Big Ben’ ไปด้วย

ตาม โลจน์ นันทิวัชรินทร์ เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles

หอนาฬิกาบิกเบนน้อยสร้างขึ้นเมื่อปี 1903 เป็นเวลา 2 ปีหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จสวรรคตในปี 1901 ขณะนั้นเซเชลส์ยังอยู่ในปกครองของอังกฤษ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงความรุ่งเรืองของจักรวรรดิอังกฤษในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์นี้

ตกเย็นผมโบกมือลาเมืองวิกตอเรีย เกาะมาเฮ กลับที่พักหลังจากตะลอนเที่ยวตั้งแต่เช้าจรดเย็น นึกดีใจที่ตัดสินใจมาใช้เวลาสั้น ๆ ในเมืองวิกตอเรีย บนเกาะมาเฮแห่งนี้ ไม่เช่นนั้นผมอาจพลาดของดีไปเสียแล้ว

ถ้ามีโอกาสไปเที่ยวเซเชลส์ อย่าลืมว่า (เกาะ) มาเฮ (ก็) มีเฮ แล้วลองใช้เวลาสักช่วงหนึ่งที่นี่กันบ้างนะครับ

ตาม โลจน์ นันทิวัชรินทร์ เที่ยวเกาะมาเฮ 1 ใน 115 เกาะของประเทศเซเชลส์ ชมเต่าโชว์แมนที่ได้ฉายา Don Juan de Seychelles

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK