บ้านที่เชียงดาวหลังนี้เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจเมื่อได้ไปเยือน มันมากกว่าไอเดียในการสร้างบ้านหรือชื่นชมแนวคิดการนำขยะมารีไซเคิลเพื่อเป็นวัสดุหลักในตัวบ้านทั้งหลังเท่านั้น แต่เพราะ Maggi McKerron เจ้าของบ้านหญิงอังกฤษวัย 75 ปี ผู้ตระหนักเรื่องภาวะโลกร้อน (Global Warming) อย่างจริงจังยังส่งพลังสร้างสรรค์ออกมาให้สัมผัสตลอดเวลาที่สนทนา พาชมบ้าน และเล่าเรื่องราวความสนใจของเธออย่างมีชีวิตชีวา

แมกกี้เล่าว่าสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมานาน แต่มาให้ความสำคัญเป็นเรื่องหลักเมื่อวัย 50 กว่าปี นับจากนั้น ทุกวันเวลาของเธอคือความทุ่มเทที่จะอยู่แบบเบียดเบียนโลกและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองได้แทบทั้งหมด และใช้ชีวิตโดยไม่ทิ้งภาระใด ๆ ไว้บนโลก

“I want to keep my carbon footprint low.” แมกกี้กล่าวขึ้นด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ทว่าหนักแน่น ยืนยันแนวคิดในการเลือกใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกินมังสวิรัติ การไม่ใช้สารเคมีในสวนหรือในบ้าน และที่สำคัญคือเลือกสร้างบ้านด้วยแนวคิด ‘Earthship’ ในเมืองไทย ซึ่งเธอบอกว่า นี่คือบ้านเอิร์ทชิปของเขตร้อนหลังแรกของโลก! เธอศึกษา พัฒนา ปรับปรุง และออกแบบสร้างขึ้นมาให้เหมาะกับสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ เพื่อให้สอดคล้องและกลมกลืนไปกับธรรมชาติ 

Tropical Earthship หลังแรกของโลกที่เชียงดาว โดยคุณยายวัย 75 ผู้สร้างบ้านแบบไม่ทิ้งภาระให้โลก

Tropical Earthship Home หลังแรกของโลก! 

หากเคยได้ยินเรื่องราวของบ้านเอิร์ทชิปมาก่อน จะรู้ว่าแนวคิดเริ่มต้นมาจากรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา โดย Michael Reynolds เป็นบ้านที่พัฒนามาให้เหมาะกับเขตเมืองหนาว ใช้ขยะมารีไซเคิลและรียูสให้เป็นบ้าน อาทิ กระป๋องเครื่องดื่มนานาชนิด ยางรถยนต์ ขวดแก้ว และหลักการสำคัญของบ้านเอิร์ทชิปคือ ปราการ หรือ Berm ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นผนังกั้นความหนาว เก็บกักความร้อน และบ้านจะหันหน้าไปทางทิศใต้เสมอ เพื่อเปิดรับแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ 

“บ้านเราตรงข้ามกับบ้านเอิร์ทชิปของเขตเมืองหนาว ซึ่งหันหน้าไปทางทิศใต้และกรุกระจกทั้งแถบเพื่อให้แสงแดดผ่านเข้ามา และกระจกก็ช่วยเก็บความร้อนไว้ด้านในบ้านให้อุ่นสบาย บ้านของฉันสร้างโดยหันหน้าไปทางทิศเหนือ เพราะที่นี่เราไม่ได้ต้องการพระอาทิตย์ขนาดนั้น (หัวเราะ) และไม่ใช้กระจก ไม่อย่างนั้นจะร้อนมากค่ะ ฉันเลือกใส่เป็นมุ้งลวดแทน เพราะนอกจากมีลมพัดผ่านแล้วยังกันยุง กันแมลงได้ดีด้วย”  

Tropical Earthship หลังแรกของโลกที่เชียงดาว โดยคุณยายวัย 75 ผู้สร้างบ้านแบบไม่ทิ้งภาระให้โลก
Tropical Earthship หลังแรกของโลกที่เชียงดาว โดยคุณยายวัย 75 ผู้สร้างบ้านแบบไม่ทิ้งภาระให้โลก

แมกกี้อธิบายหลักการสำคัญที่เธอปรับเปลี่ยนบางวิธีของการสร้างบ้านเอิร์ทชิปให้เข้ากับพื้นที่เขตร้อน และยังบอกด้วยว่ากำแพงด้านหลังของบ้านเอิร์ทชิป ซึ่งก่อด้วยยางรถยนต์ใส่ดินคล้ายปราการ และเป็นกำแพงขนาดใหญ่รองรับหลังคา ซึ่งเธอได้ยางรถยนต์เก่ามาเกือบจะฟรีทั้งหมด  

“ฉันเดินทางไปเชียงใหม่ ไปหาล้อรถเก่าเพื่อนำมาใช้ หลายอันได้มาฟรี ๆ เลย บางอันก็ซื้อมาในราคา 20 บาท” น้ำเสียงของเธอสดชื่นพร้อมยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ขณะพูดเรื่องการใช้ของที่ทุกคนมองว่าเป็นขยะ “ขวดแก้วหลายขวดก็ไปขอมาจากแถวนี้บ้าง เพื่อน ๆ บ้าง วัสดุที่ใช้ทำบ้านหลังนี้ส่วนใหญ่มาจากที่นี่ (เชียงใหม่) ไม่ได้เอามาจากที่อื่น แม้จะไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม และฉันก็มีคนงานที่วิเศษมาก ๆ เลย เราเคยทำงานด้วยกันมาก่อนตอนที่ฉันทำ Bed and Breakfast ชื่อ Chiang Dao Roundhouses แม้การสร้างที่นี่กับที่ผ่านมาจะคล้าย แต่ก็แตกต่างด้วย ทั้งฉันและคนงานได้เรียนรู้และทำงานกันไป ที่นี่ใช้เวลาสร้าง 1 ปี นานเพราะปีที่แล้วฝนตกหนักมากค่ะ ต้องหยุดทำ ทิ้งช่วงไป บ้านสร้างเดือนธันวาฯ พ.ศ. 2564 และสร้างเสร็จเมื่อต้นกุมภาฯ ปีนี้เอง”

แมกกี้แจกแจงให้ฟังว่า การอยู่อาศัยในรูปแบบบ้านเอิร์ทชิปมีหลักการอยู่ 6 ข้อ แต่เธอเลือกใช้เพียง 3 ข้อ (1, 4, 5) คือ หนึ่ง การออกแบบให้ภายในบ้านอยู่สบาย คือหน้าหนาวอุ่น หน้าร้อนเย็น สอง ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม สาม บำบัดน้ำเสีย สี่ ก่อสร้างด้วยวัสดุจากธรรมชาติและวัสดุรีไซเคิล ห้า เก็บกักน้ำจากธรรมชาติมาใช้ และหก การผลิตอาหาร (ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์เอง)  

Tropical Earthship หลังแรกของโลกที่เชียงดาว โดยคุณยายวัย 75 ผู้สร้างบ้านแบบไม่ทิ้งภาระให้โลก
Tropical Earthship หลังแรกของโลกที่เชียงดาว โดยคุณยายวัย 75 ผู้สร้างบ้านแบบไม่ทิ้งภาระให้โลก

“ฉันไม่ชอบแบตเตอรี่ เลยยังไม่เลือกใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ถ้าในอนาคตมีการพัฒนาแบตเตอรี่ที่ดีกว่านี้ ฉันอาจเปลี่ยนมาใช้ก็ได้ แต่ทุกวันนี้ฉันใช้ไฟฟ้าน้อยมาก ๆ อยู่แล้ว และใช้เท่าที่จำเป็น คือมีเพียงตู้เย็นและ Wi-Fi เท่านั้น หรือถ้าร้อนมาก ๆ ก็เปิดพัดลมบ้าง ตอนกลางคืนไม่เคยเปิดเลย และฉันก็ออกแบบแสงสว่างโดยดึงแสงจากธรรมชาติให้เข้ามาในบ้านอย่างเพียงพอ นอกจากนั้นยังออกแบบระบบน้ำให้ส่วนหนึ่งเก็บกักและไหลผ่านท่อสีดำที่วางไว้บนหลังคา เพื่อให้เป็นน้ำร้อน พอจะอาบน้ำก็เปิดก๊อกน้ำร้อนน้ำเย็นผสมกัน ก็อาบได้อย่างอุ่นสบายแล้ว” 

เป็นบ้านดิน แต่ไม่ใช้ก้อนดิน! 

หากเราผ่าเข้าไปดูภายในโครงสร้างของกำแพง ผนัง และหลังคาบ้าน ส่วนประกอบนั้นแตกต่างจากสิ่งที่คุ้นเคย แมกกี้ไม่ได้ใช้ก้อนดินแบบบ้านดินที่เราเคยได้ยินได้ฟังมา แต่เธอใช้ยางรถยนต์และถุงโพลีโพรพิลีน (Polypropylene / PP) อย่างถุงปุ๋ยเก่า ๆ ใส่แกลบแล้ววางซ้อนกันขึ้นไป

ราวกับการก่อสร้างบ้านในจินตนาการที่อยากสร้างอะไรก็เพียงใช้ไม้วาดลงบนพื้น แล้วกำแพงจะค่อย ๆ งอกจากเส้นสายที่ขีดไว้ แมกกี้วางโครงสร้างที่จำเป็นอย่างเบิร์มหรือปราการล้อยางไว้ด้านหลังทางทิศใต้ แล้วลากเส้นโครงพื้นที่ในบ้านที่อยากอยู่บนพื้น แบ่งเป็นระเบียงนั่งเล่น ห้องพักผ่อน ห้องทำงาน ห้องนอน ห้องน้ำ ขีดเส้นแล้ววางอิฐบล็อก 2 – 3 ชั้น ก่อสลับให้รองรับน้ำหนักได้ ฐานบ้านไม่จำเป็นต้องตอกเสาเข็ม เมื่ออิฐบล็อกกำหนดพื้นที่ห้องในบ้านเรียบร้อย ก็ใช้ไม้ไผ่และเหล็กบางส่วนเป็นโครงสร้างกำหนดรูปทรงความสูงของบ้านขึ้นไป เธอบอกว่า “ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่ดี มันแข็งแรงมาก แต่บางส่วนบนโดมหลังคาฉันก็ต้องใช้เหล็กนิดหน่อยด้วยค่ะ”  

Tropical Earthship หลังแรกของโลกที่เชียงดาว โดยคุณยายวัย 75 ผู้สร้างบ้านแบบไม่ทิ้งภาระให้โลก

อย่างที่บอกไว้แต่แรก บ้านเอิร์ทชิปใช้ดินเติมในล้อยางแต่ละเส้น แต่แมกกี้เลือกใช้หินเกล็ดเติมให้เต็มแทนดิน ความรู้เหล่านี้ผสมผสานมาจากตำรา ปรึกษาคนอื่น ๆ ลงมือสร้างด้วยการไปฝึกงานที่เมืองหนาว แล้วปรับให้เข้ากับตัวเอง “หลายคนแนะนำว่า ถ้าใช้ดินน่าจะใช้เวลานานกว่าหินเยอะเลย อีกอย่างมันจะทำให้บ้านเย็นเกินไป ไม่ดีกับตรงนี้ของฉันค่ะ” เธอพูดพร้อมเอามือวางบนอก

ระหว่างล้อยาง เธอวางท่อน้ำขนาดใหญ่ทะลุผ่านเข้ามาด้านในบ้าน 3 จุดด้วยกัน ท่อเหล่านั้นคือช่องลมธรรมชาติที่จะดึงลมจากนอกบ้านเข้าในบ้าน ปลายท่อด้านนอกบ้านกรุมุ้งลวดป้องกันแมลงและสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์ ส่วนปลายด้านในบ้าน เธอติดหน้าต่างไม้เล็ก ๆ เพนต์ภาพหญิงสาวชาวเหนือสวยงามอ่อนหวาน  

Tropical Earthship หลังแรกของโลกที่เชียงดาว โดยคุณยายวัย 75 ผู้สร้างบ้านแบบไม่ทิ้งภาระให้โลก
Tropical Earthship หลังแรกของโลกที่เชียงดาว โดยคุณยายวัย 75 ผู้สร้างบ้านแบบไม่ทิ้งภาระให้โลก

เมื่อว่ากันด้วยเรื่องผนังด้านในบ้าน บ้านของแมกกี้ก่อขึ้นด้วยถุงโพลีโพรพิลีนที่ใส่แกลบไว้ด้านในทีละชั้น ๆ แมกกี้บอกว่าต้องเลือกใช้ถุงที่ Breathable เพื่อให้ลม ความร้อน ความชื้น ความเย็น ผ่านได้ บางส่วนของผนังบ้านตกแต่งเพื่อความสวยงาม โดยใช้ขวดแก้วตัดปากขวดแล้วประกบกัน 2 ด้าน บางขวดวางทั้งขวด ส่วนตัวเพดานด้านบน มีช่องแสงที่สร้างสรรค์ขึ้นจากโครงรถยนต์ที่ถูกทิ้ง เธอนำมาวางเชื่อมกับส่วนของเพดานถุงแกลบ 

“แพตเทิร์นเหล่านี้ฉันต้องวางเอง เพราะฉันรู้ว่าอยากได้อะไร อยากให้แสงมาทางไหน และสีสันอะไรที่จะเกิดขึ้นภายในบ้านเมื่อแสงอาทิตย์ส่องผ่าน” เธอบอก 

ไม่เพียงแค่ช่องแสง แต่ช่องประตูลับเล็ก ๆ ระหว่างห้องหรือข้างประตูเข้าบ้าน เธอก็ตั้งใจทำขึ้นเพื่อเพื่อนรัก 3 ชีวิตที่อยู่ในบ้าน อย่างลูซี่ (Lucy) พูเดิลสีน้ำตาล โชเล่ (Chole) หมาบ้าน ๆ สีขาว และเคที่ (Katie) แมวเหมียวผู้รักชีวิตสันโดษ 

Tropical Earthship หลังแรกของโลกที่เชียงดาว โดยคุณยายวัย 75 ผู้สร้างบ้านแบบไม่ทิ้งภาระให้โลก
Tropical Earthship หลังแรกของโลกที่เชียงดาว โดยคุณยายวัย 75 ผู้สร้างบ้านแบบไม่ทิ้งภาระให้โลก

หลังวางเรียงถุงแกลบ ล้อยาง จนทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ก็ถึงขั้นตอนฉาบผนังด้วยดิน ผนังที่นี่ฉาบทับทั้งหมด 4 ชั้นด้วยกัน แต่ละชั้นต้องแห้งสนิทจึงจะฉาบทับชั้นถัดไปได้ ชั้นแรกผสมดิน ทราย แกลบ และฟางที่ตัดเป็นท่อนสั้น ๆ ฉาบครั้งถัดไปส่วนผสมไม่ต้องใช้ฟางแล้ว ส่วนการฉาบทาขั้นสุดท้ายใช้ดินและทรายที่ร่อนให้ละเอียดผสมกับปูนขาว เพื่อให้ได้ผิวสัมผัสที่สวยงาม ดูนุ่มนวล และสีของบ้านที่มองเห็นนั้นเป็นสีของดินแท้ ๆ ไม่ได้เติมสีใด ๆ ลงไปเพิ่มเลย แมกกี้บอกว่า “น่าสนุกนะถ้าเราจะมีดินในแต่ละที่ที่สีต่างกัน”

อีกเทคนิคหนึ่งที่แมกกี้ใช้ทำให้ภายในบ้านเย็น คือเธอออกแบบให้พื้นภายในบ้านต่ำกว่าระดับพื้นนอกบ้าน โดยส่วนระเบียงนั่งเล่นต่ำลงไป 50 เซนติเมตร ส่วนห้องด้านในที่ประกอบด้วยห้องพักผ่อน ห้องทำงาน และห้องนอน ต่ำลงไปอีก 50 เซนติเมตร เป็นการเล่นสเตปที่ไม่เพียงเพื่อความสวยงาม แต่เพื่อเก็บกักความเย็นให้ภายในบ้านได้อย่างดี ถัดจากห้องนอนเป็นห้องน้ำกลางแจ้ง ซึ่งเธอบอกว่ามีความสุขทุกครั้งที่ได้อาบน้ำ ได้สัมผัสลม แสง และธรรมชาติ แอบสังเกตว่าเธอให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ๆ โดยเธอเลือกใช้ส้วมแบบคอห่าน เพราะชักโครกนั้นใช้น้ำในการทำความสะอาดมากเกินจำเป็น 

เคาะประตูบ้าน Earthship ที่เชียงดาว บ้านหลังสุดท้ายของคุณยายวัย 75 ผู้ตั้งใจกลมกลืนกับธรรมชาติและไม่ทิ้งภาระใด ๆ ให้โลก
เคาะประตูบ้าน Earthship ที่เชียงดาว บ้านหลังสุดท้ายของคุณยายวัย 75 ผู้ตั้งใจกลมกลืนกับธรรมชาติและไม่ทิ้งภาระใด ๆ ให้โลก

ด้านบนสุดของหลังคาคือระบบหมุนเวียนลม ใช้ลูกหมุนระบายอากาศที่ซื้อมาจากโรงงาน แล้วมาทาสีสดใสด้วยตัวเอง บ้านที่สูงกว่าจะระบายความร้อนได้ดี อากาศจะหมุนเวียนได้ดีกว่า เธอจึงออกแบบบ้านให้หลังคาเป็นทรงโดม (เพราะสวยด้วย เธอบอก) กระนั้นก็ตาม หากมองภายนอกจะเห็นว่าหลังคามีลักษณะแบน เพื่อให้เก็บกักน้ำฝน ฝนจะไหลลงรางแล้วไปรวมกันที่แทงก์น้ำ 3 ขั้นด้วยกัน คือฆ่าเชื้อด้วยแสงแดด กรองผ่านถ่านไบโอชาร์ (เธอทำเอง) และแทงก์พักน้ำเข้าบ้าน

ถามแมกกี้ว่าล้อยางและถุงแกลบนั้นคงใช้จำนวนมหาศาล บอกได้ไหมว่าใช้ไปเท่าไร เธอหัวเราะและตอบว่า “ใช้ไปเยอะมาก ๆ เลย ไม่พอก็ไปหามาเพิ่ม ขอมาบ้าง ซื้อมาถูก ๆ บ้าง ไปเก็บที่เขาทิ้งบ้าง แต่ถ้าจะถามจำนวน ฉันตอบไม่ได้หรอก ก็ฉันเป็นศิลปิน ไม่ใช่นักคำนวณนี่นะ” 

เคาะประตูบ้าน Earthship ที่เชียงดาว บ้านหลังสุดท้ายของคุณยายวัย 75 ผู้ตั้งใจกลมกลืนกับธรรมชาติและไม่ทิ้งภาระใด ๆ ให้โลก

วัย 75 ปีที่เปี่ยมไปด้วยพลัง 

ความน่าทึ่งของแมกกี้ คือเธอตั้งใจสร้างบ้านเอิร์ทชิปหลังนี้เพื่อบอกกับทุกคนว่าเราสร้างบ้านที่ไม่ทำร้ายโลกได้ เราทำมันได้เอง เราทำได้แม้จะเป็นผู้หญิงและอายุมากแล้ว 

แมกกี้เกิดที่เมืองชิมลา (Shimla) ประเทศอินเดีย พ่อของเธอทำงานในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัยเด็กเธออยู่มาหลายที่ เคยอยู่เมืองไทยช่วงสั้น ๆ มาเลเซีย สิงคโปร์ และเมื่อช่วงอายุ 21 ปี เธอมาหาพ่อที่กรุงเทพฯ และจากนั้นก็ไม่ได้ไปอยู่ที่ไหนอีกเลยนอกจากเมืองไทย (มีช่วงสั้น ๆ ไปอยู่อังกฤษ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง) 

แมกกี้ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งที่ภูเก็ต เธอทำแมกาซีน แล้วย้ายไปกระบี่ ก็ไปเริ่มต้นทำแมกาซีนอีกครั้ง เธอเป็นคนแรก ๆ ที่ทำแมกาซีนขึ้นที่นั่น (ทั้ง 2 ที่) และเมื่อคนมาอยู่กระบี่มากขึ้น เหมือนสาเหตุที่เธอย้ายออกจากภูเก็ต เธอจึงย้ายไปอยู่สตูล จากนั้นในช่วงอายุ 51 ปี เธอสนใจภาควิชา RCSD (The Regional Center for Social Science and Sustainable Development) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงตัดสินใจมาเรียน และตั้งแต่นั้นแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเธอก็เปลี่ยนไป 

เคาะประตูบ้าน Earthship ที่เชียงดาว บ้านหลังสุดท้ายของคุณยายวัย 75 ผู้ตั้งใจกลมกลืนกับธรรมชาติและไม่ทิ้งภาระใด ๆ ให้โลก

“หลายคนบอกว่าฉันแก่แล้ว ไม่น่ามาเรียน แต่ฉันดีใจที่ได้มาเรียน เพราะหลังจากที่จบมา ไม่มีวันไหนที่ฉันไม่คิดเรื่องความยั่งยืนของโลกหรือเรื่องภาวะโลกร้อนเลย ฉันคิดและบอกกับตัวเองว่า จะทำยังไงให้อยู่อย่างยั่งยืนให้ได้ ฉันเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในวัย 50 กว่าปี ฉันทำอะไรได้บ้าง ฉันไม่มีเงินบำนาญจากรัฐ ฉันไม่มีเงินเก็บมากมายอะไร ฉันตัดสินใจเอาเงินเก็บที่มีน้อยนิดไปซื้อที่ดินที่เชียงดาวเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งยังราคาถูกมากนะคะ แล้วฉันก็ไปอังกฤษ ใช่ค่ะ เป็นครั้งแรกที่ฉันไปอังกฤษ เพื่อไปทำงานเก็บเงิน 

“และช่วงเวลานั้นแหละที่ตกผลึกได้ว่า ฉันจะทำที่พักบนที่ดินที่เชียงดาว เป็นบ้านแบบใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่สร้างมลพิษ ฉันจะไม่เอาบ้านคอนกรีตเด็ดขาด เพราะมันสร้างฝุ่นและดูไม่มีชีวิตชีวา ขณะอยู่ที่อังกฤษฉันได้ไปเวิร์กช็อปสร้างบ้านเอิร์ทชิปที่โปแลนด์ ได้ไปดูบ้านเก่าแก่ในอังกฤษหลายต่อหลายแบบ ได้ความรู้สะสมมา เพื่อจะได้สร้างบ้านในแบบที่ฉันต้องการจริง ๆ ที่เมืองไทย”   

กลับมาจากอังกฤษ แมกกี้เริ่มต้นทำที่พักแบบ Bed and Breakfast เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง โดยสร้างเป็นบ้านดินขนาดย่อม ๆ และตั้งชื่อว่า Chiang Dao Roundhouses เธอออกแบบการสร้างบ้านทีละหลังโดยเปิดรับอาสาสมัครจากทั่วโลกและคนที่บ้านถ้ำมาเรียนรู้และลงมือด้วยกัน เธอบอกว่าหลายคนในบ้านถ้ำกลายเป็นคนที่คุ้นเคยและทำงานต่อเนื่องมาด้วยกัน รวมถึงทำบ้านเอิร์ทชิปหลังนี้ด้วย 

เคาะประตูบ้าน Earthship ที่เชียงดาว บ้านหลังสุดท้ายของคุณยายวัย 75 ผู้ตั้งใจกลมกลืนกับธรรมชาติและไม่ทิ้งภาระใด ๆ ให้โลก

แมกกี้เล่าถึงเบื้องหลังชีวิตเธออย่างรวบรัด พอถามลงไปอีกนิด เธอบอกว่า 

“ไม่มีอะไรน่าสนใจหรอกค่ะ คุยเรื่องบ้านดีกว่า” 

“ในช่วงที่ฉันทำบ้าน Roundhouses ในเมืองไทยยังไม่มีคนทำบ้านดินเท่าไร ความรู้เรื่องนี้ก็ยากที่จะหาคนมาทำด้วยกัน ไม่มีคนทำมาก่อน ในตอนนั้นจึงเป็นสิ่งใหม่มาก พอมาทำบ้านเอิร์ทชิปหลังนี้ ฉันอยากทำสิ่งที่ต่างออกไป และเป็นบ้านที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของฉันอย่างแท้จริง 

คนทำบ้านดินมีหลายแบบ หลายอย่าง แต่สำหรับฉัน บ้านดินที่ทำดินเป็นก้อน ๆ มีดินเยอะเกินไป ไม่เหมาะกับร่างกายฉัน บ้านหลังนี้จึงแตกต่างมากค่ะ” 

3 – 4 ปีที่แล้ว แมกกี้วางแผนใช้ชีวิตในช่วงวัย 70 เธอตัดสินใจขายกิจการเพื่อหยุดการทำงานหนัก แต่ตั้งใจสร้างบ้านเอิร์ทชิปที่เหมาะกับเขตร้อนเพื่ออยู่อย่างสบาย และเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กว้างออกไป เธอตั้งใจเขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์การสร้างบ้าน แนวคิด ไอเดีย เทคนิคต่าง ๆ แล้วเปิดให้อ่านฟรีทางอินเทอร์เน็ต เธอบอกว่า “มีหลายอย่างที่อาจยังไม่ลงตัว แต่ฉันก็แค่ค่อย ๆ ปรับและเรียนรู้ไป” 

เคาะประตูบ้านเอิร์ทชิปที่เชียงดาว บ้านหลังสุดท้ายของคุณยายวัย 75 ผู้ตั้งใจกลมกลืนกับธรรมชาติและไม่ทิ้งภาระใด ๆ ให้โลก

แสงจันทร์ส่องผ่านเพดาน ในบ้านที่ต้อนรับแสงเช้าอย่างสดชื่น 

“ตอนกลางคืนในห้องนอน ฉันมองเห็นพระจันทร์ส่องแสงสวยมาก”   

แมกกี้ตั้งใจสร้างบ้านนี้ให้เป็นบ้านหลังสุดท้ายของเธอ ให้อยู่ได้อย่างมีความสุข เหมาะกับความเป็นตัวเองที่สุด “บ้านแต่ละหลังที่ฉันสร้างขึ้นก่อนหน้านี้เป็นบ้านเพื่อคนอื่น แต่หลังนี้ฉันทำเพื่อตัวเอง โดยคิดถึงการใช้ชีวิตในแต่ละวัน อะไรเล่าที่สำคัญสำหรับฉัน แน่นอนว่าสิ่งที่ฉันต้องการที่สุด คือบ้านที่อยู่ได้อย่างเย็นสบายโดยต้องไม่สร้างมลพิษให้กับโลก บ้านที่อยู่ได้อย่างรื่นรมย์ในภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น 

เคาะประตูบ้านเอิร์ทชิปที่เชียงดาว บ้านหลังสุดท้ายของคุณยายวัย 75 ผู้ตั้งใจกลมกลืนกับธรรมชาติและไม่ทิ้งภาระใด ๆ ให้โลก

“บ้านนี้ในฤดูร้อน ด้านในจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าภายนอก 2 – 3 องศาเซลเซียส แต่ในฤดูหนาว ด้านในบ้านจะอุ่นมาก ต่างกันเป็นสิบองศาเซลเซียสเลย 

“ฉันรักบ้านหลังนี้มาก ฉันชอบแสงเช้าที่ส่องเข้ามาในระเบียงนั่งเล่น ฉันรักแสงจันทร์ในยามค่ำคืนที่สาดส่องห้องนอน ฉันมีความสุขกับห้องครัวที่มองเห็นสวนด้านนอกนั้น บ้านเอิร์ทชิปของฉันดูนุ่มนวล อ่อนโยนกับธรรมชาติ ในบ้านไม่มีเส้นสายใด ๆ ที่แข็งทื่อ เพราะในธรรมชาติก็เช่นกัน ทุกอย่างอ่อนโยนและเป็นมิตร การได้อยู่ในบ้านเอิร์ทชิปสำหรับฉัน คือการได้อยู่กับธรรมชาติโดยแท้จริง” 

ความรู้สึกต่อบ้านของแมกกี้ฟังราวกับบทกวีที่จับใจ  

เคาะประตูบ้านเอิร์ทชิปที่เชียงดาว บ้านหลังสุดท้ายของคุณยายวัย 75 ผู้ตั้งใจกลมกลืนกับธรรมชาติและไม่ทิ้งภาระใด ๆ ให้โลก

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ