15 พฤศจิกายน 2023
2 K

ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน

ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดใด

วรรคทองว่าด้วยพิษร้ายแห่งรักซึ่งพระฤๅษีกล่าวเตือนนางฟ้าตกสวรรค์อย่างปรานี ถูกขับขานขึ้นอีกครั้งที่สวนสวยริมหาดชะอำ ถ้อยวจีเหล่านั้นทั้งหนักแน่นและขมขื่น ราวจะพร่ำย้ำต่อกอกุหลาบทุกต้นในสวน ให้ย้อนระลึกถึงความหลังอันปวดร้าวของพวกมันเอง

ฉลอง 100 ปี มัทนะพาธา กับการแสดงสุดยอดบทละครพูดคำฉันท์เพื่อคืนชีพวังมฤคทายวัน

ใครที่เคยผ่านการเรียนวิชาภาษาไทยในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายอาจคลับคล้ายคลับคลากับคำประพันธ์ดังกล่าว เพราะนั่นคือแก่นหลักของวรรณคดีเรื่อง มัทนะพาธา ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2466 ในลักษณะบทละครพูดคำฉันท์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เป็นเหตุให้พระราชนิพนธ์เรื่องนี้เป็นที่นิยมศึกษาและใช้ในการแสดงเรื่อยมาจนถึงศกนี้ที่ มัทนะพาธา มีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์

แต่แทนที่เรื่องราวความรักที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมระหว่าง สุเทษณ์เทพบุตร นางมัทนา และ ท้าวชัยเสน จะดำเนินไปด้วยบทเจรจาเพียงอย่างเดียวเหมือนเช่นที่เป็นตลอด 100 ปีก่อนหน้า การแสดงละครพูดคำฉันท์เรื่อง มัทนะพาธา ที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ระหว่างวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 นี้ ยังได้รับการแต่งเติมสีสันด้วยเสียงเพลงและคอรัสคุณภาพคับแก้ว ให้สมกับที่มัทนะพาธาอยู่ในความรับรู้ของคนไทยมานานถึง 1 ศตวรรษ

จุดเริ่มต้นของการแสดง มัทนะพาธา ครั้งประวัติศาสตร์นี้อาจต้องเล่าย้อนเวลากลับไปหลายปี นับตั้งแต่คราวที่ คุณเหมียว-เกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ฯ เข้ามารับหน้าที่ดูแลสถานที่แห่งนี้ใน พ.ศ. 2548

ฉลอง 100 ปี มัทนะพาธา กับการแสดงสุดยอดบทละครพูดคำฉันท์เพื่อคืนชีพวังมฤคทายวัน
รศ.ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล ครูภัทราวดี มีชูธน และ คุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย ถ่ายภาพร่วมกันที่สวนภายในพระราชนิเวศน์

ครานั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาหนึ่งเดียวในรัชกาลที่ 6 ทรงรับพระราชนิเวศน์มฤคทายวันไว้ในพระอุปถัมภ์ พร้อมทั้งมีรับสั่งให้คุณเหมียวปรับปรุงพระราชนิเวศน์ฯ เป็นพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบรมชนกนาถของพระองค์เอง

“เราตีโจทย์กันอยู่ 6 เดือนว่าจะทำอย่างไรกันดี ถ้าจะเฉลิมพระเกียรติจริง ๆ ต้องนำสิ่งที่ท่านทรงทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศมาแสดงผ่านทางพระราชนิเวศน์ฯ ทั้งส่วนวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย กับส่วนธรรมชาติคือระบบนิเวศสันดอนทรายชายฝั่ง เพราะย้อนไปเมื่อทรงกั้นเขตพระราชฐาน รัชกาลที่ 6 ท่านกั้นไว้ 35 ตร.กม. ทรงใช้พื้นที่อยู่แค่ 451 ไร่ ส่วนที่เหลือทิ้งไว้ให้เป็นเขตอภัยทาน ซึ่งก็คือการอนุรักษ์พืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ที่นี่” ผู้อำนวยการพระราชนิเวศน์ฯ กล่าว

พระราชนิเวศน์มฤคทายวันใช้เวลาสร้าง 7 เดือนก็เสร็จสมบูรณ์ ร่ำลือกันว่ารัชกาลที่ 6 มีส่วนในการวางผังพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และมี 2 สถาปนิกมือฉมังชาวอิตาเลียนอย่าง มาริโอ ตามาญโญ และ แอร์โคเล มันเฟรดี เป็นผู้ออกแบบและเขียนแบบรายละเอียด จนเกิดเป็นพระที่นั่งชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง แบ่งออกเป็น 16 อาคาร ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดิน

ภายในวังเต็มไปด้วยสวนที่ตั้งชื่อตามวรรณคดีที่ทรงพระราชนิพนธ์แต่ละเรื่อง ประกอบด้วย สวนเวนิสวาณิช สวนศกุนตลา สวนวิวาหพระสมุทร สวนสาวิตรี และสวนมัทนะพาธา

ฉลอง 100 ปี มัทนะพาธา กับการแสดงสุดยอดบทละครพูดคำฉันท์เพื่อคืนชีพวังมฤคทายวัน
ฉลอง 100 ปี มัทนะพาธา กับการแสดงสุดยอดบทละครพูดคำฉันท์เพื่อคืนชีพวังมฤคทายวัน

แม้ว่าสถานที่แปรพระราชฐานแห่งนี้จะขึ้นชื่อเรื่องความงดงามทางสถาปัตยกรรม แต่ด้วยกาลเวลาที่ล่วงเลยมานานนับร้อยปี พระที่นั่งไม้สักทองก็ถูกลดเลือนความงามด้วยการทำลายของปลวกและเชื้อราที่มาพร้อมกับความชื้นริมทะเล การระดมทุนเพื่อซ่อมแซมความเสียหายให้กับหมู่พระที่นั่งริมหาดจึงเป็นภารกิจสำคัญที่สำนักงานมูลนิธิต้องเร่งรัดให้เกิด

และเมื่อคำนึงถึงพระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรมและการละครของล้นเกล้าฯ ผู้ทรงสร้างพระราชนิเวศน์นี้ การแสดงละครจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าทดลองอย่างยิ่ง โดยรูปแบบการแสดงที่คุณเหมียวเลือกคือการอ่านบทละคร (Play Reading) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในยุคสมัยของรัชกาลที่ 6 นั่นเอง

“ทางเราเคยคุยกับ อาจารย์อาทิตย์-รศ.ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล เรื่องการอ่านบทพระราชนิพนธ์มานานแล้ว เราจะเริ่มอ่านบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 กัน แต่เกิดเหตุสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ไปเสียก่อน ปีนั้นเราเลยเลือกที่จะอ่านบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 9 แทน”

Play Reading วรรณคดีในพระมหาธีรราชเจ้าจึงถูกผัดผ่อนมาโดยตลอด จนกระทั่งปีนี้ที่บทละครพูดคำฉันท์เรื่อง มัทนะพาธา ดำเนินมาถึงขวบปีที่ 100 ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงนำความคิดที่จะแสดงการอ่านบทละครกลับมาหารือกันอย่างจริงจังอีกครั้ง

ฉลอง 100 ปี มัทนะพาธา กับการแสดงสุดยอดบทละครพูดคำฉันท์เพื่อคืนชีพวังมฤคทายวัน

อาจารย์อาทิตย์แห่งภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แจกแจงความสำคัญของ มัทนะพาธา ไว้หลายข้อ เริ่มจากการเป็นวรรณคดีไทยไม่กี่เรื่องที่ไม่ได้ใช้ชื่อตัวละครเอกเป็นชื่อเรื่อง หากตั้งตามแนวคิดในการสร้างเรื่องอย่าง ‘ความเจ็บหรือเดือดร้อนจากความรัก’ ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า ‘มัทนะพาธา’ ในภาษาสันสกฤต หรือการเป็นวรรณคดีไทยไม่กี่เรื่องที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม คือนางเอกถูกสาปเป็นกุหลาบไปตลอดกาล ไม่ได้ครองคู่กับชายคนรัก แทนที่จะจบลงอย่างมีความสุขเช่นที่วรรณคดีไทยและสันสกฤตส่วนใหญ่นิยมแต่งตามกันเป็นขนบ และการเป็นวรรณคดีไทยเรื่องแรกที่นำ ‘ดอกกุหลาบ’ มาเป็นสื่อแทนความรักตามคติแบบตะวันตก ไม่ปรากฏในไทยหรืออินเดีย

ยังไม่รวมถึงสถานะ ‘บทละครพูดคำฉันท์’ เรื่องแรก ซึ่งเป็นรูปแบบคำประพันธ์และการแสดงที่แปลกใหม่ในรัชสมัยของพระองค์ เนื่องด้วยยุคก่อนนั้นการละครไทยมีแต่การร่ายรำและการร้อง ยังไม่เคยมีการเจรจาตลอดทั้งเรื่อง แถมยังเป็นบทพูดที่มีลักษณะเป็น ‘ฉันท์’ มากด้วยสัมผัสสระต่าง ๆ อีก

ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการที่พระองค์ท่านทรงได้รับแนวคิดจากละครตะวันตก เช่นผลงานของ วิลเลียม เชกสเปียร์ ที่ทรงโปรดมาตั้งแต่ครั้งประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ส่วนเหตุผลที่ทรงกำหนดฉากและชื่อตัวละครในเรื่องนี้ให้เป็นอินเดียโบราณก็เพื่อให้สมกับเรื่องราวในตำนานของไทยที่มักอ้างอิงจากวรรณคดีสันสกฤต เช่น รามเกียรติ์ หรือ ชาดก เพื่อให้การอ่านบทละคร มัทนะพาธา ในพระราชนิเวศน์มฤคทายวันออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด งานนี้จำเป็นต้องพึ่งความสามารถของปรมาจารย์ด้านการละครอย่าง ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ประจำ พ.ศ. 2557 ทั้งยังเป็นลูกสาวข้าราชบริพารใน พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 อีกด้วย

ฉลอง 100 ปี มัทนะพาธา กับการแสดงสุดยอดบทละครพูดคำฉันท์เพื่อคืนชีพวังมฤคทายวัน

“คุณแม่ดิฉันเคยอยู่วังนี้ตอนอายุ 13 ปี ท่านก็ผูกพันกับที่นี่มาก ทุกครั้งที่ดิฉันมาชะอำ-หัวหิน คุณแม่ก็พามาเดินที่นี่ ตอนเด็ก ๆ มาเที่ยวที่พระราชนิเวศน์นี้ แถวพระที่นั่งยังทิ้งรก ๆ อยู่ พอเวลามาเดินเราก็ได้ยินเสียงคนเดินข้างบน พอวิ่งไปดูก็ไม่เห็นใคร คุณแม่ก็บอกให้ไหว้ท่าน สวัสดีท่าน ก็ไม่ได้กลัวอะไรค่ะ” ครูเล็กเท้าความถึงความทรงจำวัยเด็กด้วยรอยยิ้มแจ่มใส และบอกเป็นนัย ๆ ว่าเพราะสิ่งที่เรียกว่า ‘ความผูกพัน’ นั่นเองที่ผลักดันให้ท่านรับผิดชอบดูแลการแสดงครั้งนี้

“เรื่องนี้เห็นคนทำมาเยอะแล้ว เป็นละครบ้าง เป็นบัลเลต์บ้าง ตอนแรกก็ไม่ได้คิดจะทำด้วย แต่พอคุณเหมียวบอกว่าปีนี้ครบ 100 ปี มัทนะพาธา เลยชวนว่ามาอ่าน Poetry อ่านกวีนี่ยังไม่มี”

เนื่องจากคำประพันธ์ที่กวีทรงใช้แต่งเรื่องนี้เป็นฉันท์ การอ่านออกเสียงครุ-ลหุ ลงหนักเบาในแต่ละคำจึงมีความสำคัญมาก ทั้งคุณเหมียวและอาจารย์อาทิตย์ต่างให้คำตอบเป็นเอกฉันท์ว่าครูเล็กกวดขันเรื่องการออกเสียงกับทุกคน และท่านก็ทำให้ทุกคนได้ประจักษ์ว่าการออกเสียงที่ต่างกัน ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงการวาดภาพในจินตนาการของผู้ฟังโดยแท้จริง

ฉลอง 100 ปี มัทนะพาธา กับการแสดงสุดยอดบทละครพูดคำฉันท์เพื่อคืนชีพวังมฤคทายวัน
ฉลอง 100 ปี มัทนะพาธา กับการแสดงสุดยอดบทละครพูดคำฉันท์เพื่อคืนชีพวังมฤคทายวัน

“ในวรรณคดีไทย บทพรรณนาธรรมชาติมีความสำคัญมากในแง่การสร้างจินตภาพ เวลาที่ครูเล็กอ่านจะเห็นเลยว่าเป็นดอกไม้ 1 ดอก 2 ดอก 3 ดอก มีลม มีกลิ่นหอม มันมาจาก Inner ที่ครูอ่านออกมา นี่คือพลังของการอ่าน พลังที่มาจากการอ่านแบบเข้าใจครับ” อาจารย์ภาษาไทยเล่าสิ่งที่เขาได้รับจากการสวมบทบาทเป็นตัวละคร 2 ตัวในเรื่องนี้

นักแสดงคนอื่น ๆ ที่จะมารับบทเป็นตัวละครในเรื่องนี้ล้วนผ่านการคัดสรรมาอย่างดีโดยครูเล็ก ไม่ว่าจะเป็น วุธ-อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร ที่ควบ 2 ตัวละครเอกฝ่ายชายอย่างสุเทษณ์เทพบุตรและท้าวชัยเสน อาจารย์โอ๋-ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ แสดงเป็นนางมัทนา ด้วยครูเล็กเห็นว่าเธอมีน้ำเสียงที่ไพเราะน่าฟัง บทนางร้ายอย่างนางจัณฑีแสดงโดย ศันสนีย ศีตะปันย์ ในขณะที่บทสุภางค์ ทหารเอกของท้าวชัยเสนที่ถูกใส่ไคล้ว่าลักลอบเป็นชู้กับนางมัทนา ตกเป็นของเจ้าหน้าที่ในพระราชนิเวศน์ซึ่งผู้ฝึกสอนถึงกับชมเปาะว่ายิ่งฝึกยิ่งพัฒนาจนตอนนี้ไม่จำเป็นต้องสอนเพิ่มเติมแล้ว

ในภาพจำของบทละคร มัทนะพาธา ทั่วไป ผู้ชมจะคุ้นตากับภาพนักแสดงแต่งตัวเป็นแขกอินเดีย นางมัทนาห่มส่าหรี ท้าวชัยเสนโพกผ้าคลุมศีรษะเยี่ยงมหาราชาแดนภารตะ สิ่งเหล่านั้นจะไม่เกิดกับการอ่านบทละครพูดครั้งนี้ เพราะชุดที่ใช้ทั้งหมดผ่านการตีความใหม่ นำชุดสมัยใหม่มาใช้แทน

ฉลอง 100 ปี มัทนะพาธา กับการแสดงสุดยอดบทละครพูดคำฉันท์เพื่อคืนชีพวังมฤคทายวัน

ไก่-วรายุฑ มิลินทจินดา เขามีชุดเยอะค่ะ เราก็ไม่อยากไปตัดไปทำอะไรอีก หาเงินซ่อมอันนี้ก็ใช้สิ่งที่ไก่มี ถ่ายภาพมาให้ อันไหนที่ไม่มี ดิฉันก็ชอบไปเดินซื้อที่พาหุรัด” ผู้กำกับการแสดงกล่าว

ชุดที่นางมัทนาใส่ นับเป็นชุดเดียวที่ไม่ได้รับการเอื้อเฟื้อจากผู้จัดละครคนดัง ก่อนจะตกลงใช้ชุดสีชมพู หลายคนช่วยกันระดมสมองคิดว่ากุหลาบในเรื่องควรเป็นสีใด ก่อนจะได้ข้อยุติเมื่ออาจารย์อาทิตย์อ้างถึงคำประพันธ์ท่อนที่กล่าวว่า สีอรุณแสง ปานแก้มแฉล้มแดงดรุณียามอาย นั่นหมายความว่าเป็นสีชมพูระเรื่อเหมือนแก้มหญิงสาวเมื่ออาย ไม่ใช่สีแดงสดเหมือนกุหลาบฝรั่ง

“ถ้าแดงจะเป็นกุหลาบฝรั่ง กุหลาบไทยจะเป็นกุหลาบมอญ กุหลาบป่า แล้วเผอิญไปเจอผ้าสีนี้แล้วมันแสบตาดี นางเอกก็ต้องแสบตานิดหนึ่ง” ครูเล็กกับอาจารย์อาทิตย์เห็นพ้องต้องกันนอกจากเสื้อผ้าที่นักแสดงใช้สวม อีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มมาจากการอ่านบทละครรอบนี้คือดนตรีประกอบซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ดั้งเดิม บทเพลงที่บรรเลงโดยนักดนตรี ขับร้องโดยคอรัส โดยนำบทประพันธ์มาเรียบเรียงเป็นทำนองเพลงไทยเดิมด้วยฝีมือของ อาจารย์อานันท์ นาคคง ศิลปินศิลปาธร

ฉลอง 100 ปี มัทนะพาธา กับการแสดงสุดยอดบทละครพูดคำฉันท์เพื่อคืนชีพวังมฤคทายวัน

ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน เสียงร้องของเด็ก ๆ คณะประสานเสียงกังวานหวานเจื้อยมาจากทางเดินชั้นบนหมู่พระที่นั่งไม้สักทอง ฟังดูเพราะพริ้งคล้ายจะหยอกเอินตัวอาคารให้กลับสู่ความมีชีวิตชีวาเหมือนที่เคยเป็นในอดีต…และเป็นสัญญาณที่บอกให้ทราบว่าได้เวลาซ้อมครั้งใหม่แล้ว

เบื้องล่างของหมู่พระที่นั่งที่บรรดานักร้องเสียงใสประจำการอยู่ คือ ‘สวนมัทนะพาธา’ ริมหาดสันทรายที่จัดเก้าอี้ไว้สำหรับผู้ชมหลายสิบตัว ณ ที่แห่งนี้ ยามเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 25 และ 26 พฤศจิกายนที่ใกล้จะมาถึง ตำนานความรักและความแค้นอันเป็นต้นกำเนิดของดอกกุหลาบจะถูกนำกลับมาถ่ายทอดใหม่อีกครั้ง โดยมีผู้ชมจากทั่วทุกสารทิศมาร่วมกันเป็นสักขีพยาน

ฉลอง 100 ปี มัทนะพาธา กับการแสดงสุดยอดบทละครพูดคำฉันท์เพื่อคืนชีพวังมฤคทายวัน

เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับจากการขายบัตรที่นั่งเหล่านี้จะเป็นทุนในการอนุรักษ์และบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวันซึ่งบัดนี้ยังรอการบูรณะขนานใหญ่ โดยเฉพาะส่วนหลังคาที่ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘เที่ยวด้วยช่วยได้’ หรือ ‘Meaningful Travel’ ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี ต้องการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวร่วมกันสร้างคุณค่าผ่านการเที่ยวของตนเอง

เมื่อถามความรู้สึกของครูเล็กที่มีต่อการกำกับการแสดงครั้งนี้ ท่านก็เพียงแต่ยิ้มอิ่มใจ พลันกล่าวถึงคุณแม่ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความผูกพันกับสถานที่แห่งนี้

“ได้ทำงานถวายเจ้านายแทนแม่ ได้ตอบแทนพระเดชพระคุณที่เจ้านายท่านเลี้ยงแม่เรามา เพราะแม่อยู่ในวัง ได้ขี่ม้า ตีเทนนิส เล่นกีฬากับพระองค์ท่าน แม่ได้อ่านหนังสือต่าง ๆ ให้พระนางฟังตอนกลางคืน นั่นแหละคือสิ่งที่แม่เรียนรู้มาเยอะมาก จนสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ นี่คือบุญคุณมหาศาล เพราะท่านเลี้ยงแม่มาเป็นอย่างดี แล้วแม่ก็มาเลี้ยงเราอย่างดี”

ฉลอง 100 ปี มัทนะพาธา กับการแสดงสุดยอดบทละครพูดคำฉันท์เพื่อคืนชีพวังมฤคทายวัน

ส่วนอาจารย์อาทิตย์ก็ได้เสริมถึงคุณค่าของการอ่านบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ไว้ดังนี้

“ถ้าหนังสือเล่มหนึ่งมันดีจริง มันจะอยู่คงทนกาลเวลา เรื่องเดียวกับที่เราอ่านตอน 5 ขวบ 20 ปี 40 ปี กลับมาอ่านแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนเดิม สำหรับผม มัทนะพาธา เป็นอย่างนั้น ซึ่งการอ่านในครั้งนี้ไม่ใช่เราอ่านเอง แต่มีคนอื่นมาอ่านให้ฟัง เรามาฟังว่าเขาอ่านอย่างไร ตีความอย่างไร ก็เป็นกิจกรรมที่บันเทิงอีกรูปแบบหนึ่ง คุณอาจจะได้อะไรใหม่ ๆ อาจจะมีอะไรดี ๆ ส่งต่อให้คนรุ่นหลังก็ได้”

จบคำกล่าวนั้น คุณเหมียวผู้รับหน้าที่ดูแลพระราชนิเวศน์ฯ มานานกว่า 18 ปีก็ฝากคำเชิญชวนถึงคุณผู้อ่านทุกคนด้วยสีหน้าและแววตาที่บ่งชัดว่าที่นี่พร้อมเพียงไรสำหรับงานนี้

“นี่เป็นโอกาสที่ผู้เข้าชมจะได้มาฟังผู้เชี่ยวชาญอ่านบทละครอย่างดี ตีความอย่างดี ในบรรยากาศดี ๆ แบบนี้ และยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน”

ฉลอง 100 ปี มัทนะพาธา กับการแสดงสุดยอดบทละครพูดคำฉันท์เพื่อคืนชีพวังมฤคทายวัน

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

เปมิกา เลาหสินณรงค์

Full time เภสัชกร Part time ถ่ายภาพ ชอบหาคาเฟ่สงบจิบกาแฟ และทาสแมว