ด้วยชีวิตที่ผ่านการหมักบ่มได้ที่ เหมือนใบชาดี ๆ ที่ผ่านการเด็ด ผึ่ง หมัก นวด จนกลายเป็นชาหอม ๆ พร้อมดื่มของ พี่เอ๊ง-สาโรจน์ สุวัณณาคาร ทำให้ช่องลุงชงชาใน TikTok มีภาพของลุงข้างบ้านใจดี เสียงนุ่ม มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะดูอบอุ่น นั่งเล่าเรื่องราวของใบชาแต่ละชนิดให้เรารู้จักและอยากสัมผัสรสชาติ พร้อมกับเรื่องเล่าที่แอบจิกกัดเบา ๆ กลายเป็นช่องที่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่

วันนี้เราพามารู้จักกับตัวตนของลุงชงชา ผู้กำกับโฆษณาที่คร่ำหวอด ผ่านจุดผกผันในชีวิตและธุรกิจ จนต้องปรับตัว ผันตัวเองมาสร้างช่อง TikTok เพื่อสื่อสารกับผู้คนในสังคมยุคโซเชียลมีเดีย

เรามีนัดกับลุงชงชาที่ร้านตามใจคาเฟ่ หนึ่งในธุรกิจที่เปิดพร้อม ๆ กับบ้านวรรณกวี สถานที่จัดอีเวนต์และงานแต่งงาน ดำเนินไปพร้อม ๆ โปรดักชันเฮาส์ ธุรกิจเดิมที่เคยสร้างความสำเร็จให้

ส่วนลุงชงชาอยู่ในตามใจคาเฟ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่สีเขียวร่มรื่นขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ เป็นความสงบที่ดูตัดกับความสับสนวุ่นวายภายนอก จนกลายเป็นหนึ่งคาเฟ่ลับที่ถูกใจใครหลาย ๆ คน

เอ๊ง-สาโรจน์ สุวัณณาคาร เจ้าของโปรดักชันเฮาส์ ทศกัณฐ์ ​ฟิล์ม และเจ้าของช่องลุงชงชาใน TikTok

จุดเริ่มต้นก่อนเป็นลุงชงชา

ลุงชงชา หรือ พี่เอ๊ง คือชื่อที่รู้จักกันดีในวงการโฆษณา เจ้าของโปรดักชันเฮาส์ ทศกัณฐ์ ​ฟิล์ม มีประสบการณ์มานาน 40 ปี พื้นเพพี่เอ๊งเป็นคนภูเก็ต เริ่มต้นจากการเป็นนักศึกษารามคำแหง คณะบริหารธุรกิจ สนใจงานด้านโฆษณา วันหนึ่งตอนอยู่ปี 3 ก็เห็นประกาศรับสมัครคัดเลือกนักศึกษา เพื่อเข้าอบรมในเวิร์กช็อป​พิเศษ ซึ่งกลุ่มอาร์ตไดเรกเตอร์ในวงการโฆษณาอย่าง Barry Owen และอีกหลายคนอยากคัดเด็ก ๆ 25 – 30 คน ไปอบรมเพื่อสร้างอาร์ตไดเรกเตอร์รุ่นใหม่ โดยการทำโฆษณาเพื่อแนะนำคุณสมบัติของตัวเอง พี่เอ๊งจึงชวนเพื่อนอีกคนสมัคร จนได้รับคัดเลือกจากคนสมัครร่วม 400 คน เข้าอบรมกับอาร์ตไดเรกเตอร์ตามเอเจนซี่ต่าง ๆ อยู่หลายอาทิตย์ หลังจากเรียนจบก็มี Portfolio ของตัวเอง ไปสมัครงานตามที่ต่าง ๆ

แล้วเขาก็ได้รับโอกาสจาก Ogilvy เรียกตัวไปทำ ซึ่งที่นี่ก็กลายเป็นสนามฝึกปรือและสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้พี่เอ๊ง แม้ช่วงแรกจะยังไม่มีตำแหน่งชัดเจน ซึ่งพี่เอ๊งเล่าติดตลกให้ฟังว่า

“ตอนสัมภาษณ์ คุณสุนันทา ตุลยธัญ ซึ่งเป็น MD ยุคนั้น บอกว่า ดิฉันก็ไม่รู้ว่าคุณมีดีอะไร แต่คุณแบร์รี่ โอเวน อยากได้คุณ ดิฉันจึงต้องรับไว้” นั่นน่าจะมาจากผลงานที่ทำตอนเวิร์กช็อป​ เขาเล่าต่อว่า ตอนแรกที่เป็นครีเอทีฟเทรนนี ต้องแข่งกับเด็กจบนอก เด็กจบสถาปัตยฯ เด็กจบอักษรศาสตร์ ขณะที่ตนจบรามฯ จึงต้องผลักดันตัวเองอย่างหนัก ทำงานดึก ๆ เรียนรู้ทุกอย่างจากรุ่นพี่ จนทำได้ทั้งอาร์ตและก๊อบปี้ไรเตอร์ 

จนถึงจุดหนึ่งเมื่อต้องเลือกสายงานว่าจะไปด้านไหน พี่เอ๊งเลือกงานก๊อบปี้ไรเตอร์ เพราะรู้ว่ายังมีความสามารถด้านอาร์ตไดเรกเตอร์ไม่พอ แม้ใจชอบด้านอาร์ตก็ตาม ซึ่งพี่เอ๊งก็เล่าการทำงานในช่วงนี้ว่า 

“เราใช้การดูจากก๊อบปี้ไรเตอร์เก่ง ๆ ที่อยู่รอบตัว แล้วรวมมาเป็นของตัวเอง ก็ได้ความเป็นตัวของตัวเองที่ชัดเจน ตรง ๆ ไม่ต้องมีคำสละสลวยแบบคนอื่น จากที่ผมเขียนไม่เป็นก็เจอสไตล์ตัวเอง” 

พี่เอ๊งทำตำแหน่งก๊อบปี้ไรเตอร์อยู่ 3 – 4 ปี ด้วยความขยันและทำงานได้หลากหลาย จึงถูกดึงตัวไปทำที่ DYR ซึ่งมีการแข่งขันสูง ต้องรับผิดชอบลูกค้าแบรนด์ใหญ่ ด้วยความสนใจงานอาร์ตไดเรกเตอร์ และค้างคาใจจากงานที่ตัวเองบรีฟผ่านแต่กลับไม่ถูกสร้างมา 2 – 3 หน จึงตัดสินใจลาออกและมาเป็นผู้ช่วยไดเรกเตอร์ของหนึ่งในผู้กำกับชื่อดัง เพื่อหาประสบการณ์ด้านกำกับ แต่ทำได้ไม่นานก็ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านฟิล์มที่สหรัฐฯ 2 ปี แล้วกลับมารับงานฟรีแลนซ์ จนตั้งบริษัททศกัณฐ์ ​ฟิล์ม รับงานโฆษณาที่ดังชั่วข้ามคืน จากผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายยี่ห้อหนึ่ง จนมีสินค้าแนวนี้เข้ามามากมาย โดยลูกค้า 90% คือเพื่อนฝูงเก่า ๆ 

บททดสอบความสำเร็จ

ถึงจะเริ่มต้นได้ดี เริ่มมีชื่อเสียงรวดเร็ว แต่ก็พบอุปสรรคสำคัญหลังจากนั้นเพียง 1 ปี

นั่นคือวิกฤตต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540 ทำให้มีเงินเก็บเหลือไม่ถึงแสน จนพี่เอ๊งต้องโทรไปขอความช่วยเหลือจากทางบ้าน หลังจากนั้นเขาก็เริ่มต้นใหม่ด้วยทุน 2 แสนบาท ลองเทสต์งานโฆษณาด้านผม (แชมพู) ที่ยังไม่เคยทำ จนประสบความสำเร็จ ลูกค้าชอบ กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญสินค้าด้านผมและความงาม

จนลูกค้าจากประเทศญี่ปุ่นเดินสายว่าจ้างเพื่อถ่ายโฆษณาแฮร์บิวตีช็อตอย่างไม่ขาดสาย

“ผมได้ค่าจ้างเรื่องละ 2 หมื่นเหรียญฯ หรือราว 8 แสนบาทในยุคนั้น ผมทำเงินได้มากมายจากงานในประเทศญี่ปุ่น จนซื้อบ้าน ซื้อรถ ส่งลูกเรียนหนังสือ และกลายเป็นผู้กำกับสินค้าบิวตีไปเลย”

จากนั้น 4 ปี พี่เอ๊งตัดสินใจสร้างโปรดักชันเฮาส์ขึ้นในพื้นที่ปัจจุบัน มีทั้งโรงถ่ายทำหนัง-โฆษณา บ้านทรงไทยหลังใหญ่ พร้อมด้วยพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ พรรณไม้ร่มรื่นมากมาย ช่วงแรกมีลูกค้าฝรั่งและญี่ปุ่นมาใช้ประจำ งานขยายจนถึงจุดที่เคยมีคนในบริษัท 80 คน จากนั้นก็ผ่านจุดถดถอยของธุรกิจโฆษณา จนเหลือพนักงานราว 40 คน ทำต่อมาจนถึงยุค Digital Disruption ในช่วง 7 – 8 ปีหลัง ซึ่งงบโฆษณา จากเดิม 4 ล้าน เหลือเพียงครึ่งเดียว แทบไม่พอค่าใช้จ่าย นับเป็นเรื่องยากที่จะอยู่ต่อไปหากไม่ปรับตัว

ปรับตัวผ่านวิกฤต

พี่เอ๊งตัดสินใจนำบ้านทรงไทยสุดหวงหลังนี้ เปลี่ยนเป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน และเรียกประชุมพนักงานเพื่อแจ้งถึงการปรับเปลี่ยน ดึงแคสติง เอาโปรดักชันเมเนเจอร์มาเป็นเซลส์ ช่วยกันขาย เขาอยากให้พนักงานทุกคนมีส่วนช่วยทำงานร่วมกัน โดยอธิบายให้เข้าใจถึงสถานะบริษัทและเปิดคาเฟ่ขึ้น เพื่อให้คนมาเที่ยวได้รู้จัก ซึ่งบ้านทรงไทยสำหรับจัดงานแต่งตอนนั้นส่วนใหญ่อยู่นอกเมืองและขาดสิ่งอำนวยความสะดวก จึงเป็นจุดขายของที่นี่ สะดวกและอยู่กลางเมือง โดยตั้งชื่อว่า ‘บ้านวรรณกวี’ ส่วนคาเฟ่ชื่อ ‘ตามใจคาเฟ่’ และสำหรับงานโปรดักชันก็ยังคงทำควบกันไปด้วย แม้จะซบเซาลงเรื่อย ๆ ก็ตาม

จนถึงช่วงโควิด-19 มีล็อกดาวน์ ในระยะแรกพี่เอ๊งเรียกประชุมและรีบแก้ปัญหาด้วยการมองหาข้อดีในตัวเอง ซึ่งคือประสบการณ์ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องไม้ในการทำสื่อ จึงรับทำสื่อให้กับ SME ด้วยงบเพียง 8 พันบาท นั่นทำให้บริษัทประคองตัวได้ในช่วงแรก ๆ ไม่ต้องลดพนักงานและเงินเดือน 

จุดเปลี่ยนสู่ลุงชงชา

“ตอนโควิด-19 ผมไม่มีงานอยู่ 5 เดือน จึงเสียใจที่ต้องเอาพนักงานออก ผมต้องหยิบคนที่ไปต่อได้ออก แล้วเก็บคนที่เป็นตัวจี๊ดเอาไว้ คือคนที่ทำได้หลาย ๆ หน้าที่ ด้วยการตกลงกันใหม่ ผมกลับไปถ่ายหนังเป็นอย่างแรก แล้วคุยกันว่าจะเปิดตามใจคาเฟ่ขึ้นใหม่ ให้ลูกน้องทำกาแฟ ถ้าลูกน้องต้องมาทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ ผมจะต้องทำอะไรสักอย่างด้วย จะให้อยู่เฉย ๆ คงไม่ได้ เลยถามตัวเองว่าเรามีอะไรดี อ้อ เราชอบกินชา แล้วก็ชงชาอร่อย และสะสมชาอยู่ไม่น้อย รู้ว่าชายี่ห้อไหนอร่อย”

ชาเป็นสิ่งที่พี่เอ๊งชอบมานาน เป็นครอบครัวคนจีนที่ดื่มชาประจำ ตอนอยู่สหรัฐฯ ก็ดื่มชา ทำงานก็ดื่มประจำ แล้วก็รู้จักชาดี ๆ อย่างชา Kusmi (ลุงชงชานำเสนออยู่ประจำ)​ พี่เอ๊งเลยจัดพื้นที่อีกด้านของตามใจคาเฟ่ให้เป็นพื้นที่นำเสนอชา พร้อมลองเปิดประตูสู่โลกโซเชียลมีเดีย เพราะรู้ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว เป็นโลกที่ต้องนับหนึ่งใหม่เพื่อไต่ระดับ เมื่อมั่นใจว่าทำได้และไม่มีอะไรจะเสีย จึงทำทันที

“ผมเป็นคนทำโฆษณามาก่อน รู้วิธีการพูดและจริงใจในเรื่องที่พูด และ แจ็ค หม่า เคยพูดว่า You don’t have to be the best, you have to be the first. ผมเชื่อว่าต้องมีคนสนใจชาบ้างแหละ แล้วก็จริง หลาย ๆ คนสนใจอยากลองเปลี่ยนจากกาแฟเป็นชา และงานนี้ก็ทำให้ผมสนุกด้วย

ลุงชงชาเกิดมาได้ด้วยการนับหนึ่ง และยอมรับว่าโลกเปลี่ยนไป

“ผมมาทำ TikTok เพราะรู้ว่าผมต้องนับหนึ่งใหม่ ถ้าไม่เอาหน้ามานำเสนอ คนก็ไม่รู้ว่ามีลุงชงชาอยู่ด้วย ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นอินฟลูเอนเซอร์ แต่ผมคิดว่าต้องเป็นคนเริ่มต้นบอกเขาด้วยตัวเอง และการทำสื่อในยุคนี้เร่งไม่ได้ มันต่างจากตอนที่ผมเคยดังชั่วข้ามคืนจากโฆษณาชิ้นเดียว

“คุณต้องค่อย ๆ สะสมคะแนน ทำเป็นประจำ ช่องผมมีคนติดตาม 2 หมื่นกว่าคนภายใน 4 เดือน ถ้ามาทางนี้แล้ว อย่าท้อ จง Keep Going ลุงชงชาจะทำต่อไปเรื่อย ๆ ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชา แต่เป็นคนสนใจและเรียนรู้เพื่อมาถ่ายทอด ผมต้องทดลองชาให้รู้ก่อนจะนำมาขายหรือนำมาอธิบาย

“ตอนทำโฆษณา ผมยังรู้ว่าผู้ชมคือใคร แต่ทุกวันนี้มันลอยในอากาศมาก ๆ เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก หรือบางคอนเทนต์กะว่าโดนแน่ ๆ กลับไม่โดน มันทำลายความเชื่อเดิมที่ผมเคยเรียนรู้มา 

“ผมเคยลงคลิปที่ไม่คิดว่าจะโดน กลับมียอดวิว 3 แสน ผมงง เขาชอบคลิปนั้นตรงไหน แล้วคลิปที่มียอดวิวเป็นแสนก็มีจุดร่วมไม่เหมือนกันเลย ความยากอีกอย่าง คือเมื่อก่อนผมกำกับเอง เวลามองมอนิเตอร์ก็จะเห็นภาพทุกอย่าง พอมาเป็นคนพูดหน้ากล้องแล้วมานั่งดูทั้งหมดเพื่อตัดต่อ มันเสียเวลามาก (หัวเราะ) แต่ข้อดีคือผมจะขอถ่ายเทคเดียวแล้วจบ ทีมงานผมมีแค่ 2 คน ตากล้องกับผู้ช่วย”

แสดงว่าพี่เอ๊งตัดต่อคลิปทั้งหมดด้วยตัวเองใช้ไหม – เราถาม

“ผมตัดคลิปเองและลงเอง บางทีตัดถึงตี 3 – ตี 4 กว่าจะเสร็จ แต่สนุกนะ พอคลิปใกล้จะหมดก็ค่อยมาคิด แล้วก็ถ่ายกันใหม่ ผมไม่มีสคริปต์ ตั้งต้นว่ามารีวิวชาและการชงชา มาด้วยความตั้งใจดี คิดและพูดสิ่งดี ๆ บางทีก็มีเล่าเรื่องเรียลไทม์ อย่างวอลเลย์บอลก็เอามาพูด ติดตลกหรือซีเรียสได้นิดหน่อย”

“สำหรับวัยรุ่น ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นขวัญใจ มีคนจำนวนหนึ่งที่เข้ามาแล้วแฮปปี้ บางคนก็มีปัญหาเข้ามา เป็นโรคซึมเศร้า อยากกินชาสมัยรุ่นพ่อเพราะคิดถึงพ่อ ก็มาคุยกันไป ดื่มชากันไป ดื่มเป็นเพื่อน การที่เราเป็นผู้ใหญ่อาจเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้เขาได้ บางคนมานั่งรอจนเย็นเพื่อจะคุยกับลุงก็มี

ลุงชงชาเริ่มให้ความสนใจที่จะทำชาเอง เป็นชาแบบ Balance & Living โดยศึกษาเรื่องธาตุในร่างกาย และศึกษาประโยชน์ด้าน Healing เพื่อปรับสมดุลร่างกายและดีต่อสุขภาพคนดื่มด้วย

ถึงจะมีชาดี ๆ หลากหลาย และเตรียมนำชาตัวใหม่ ๆ มานำเสนอ แต่ลุงชงชาตั้งใจไว้ว่าจะไม่นำชาที่แพงเกินไปมาขายในร้าน เพราะอยากให้ลูกค้าทุกคนได้ลองชิมชาในราคาที่เข้าถึงได้จริง ๆ

“โลกยุคใหม่ทำให้ผมได้พบคนแปลก ๆ ใหม่ ๆ มากมาย ไม่เหมือน 40 ปีที่ผ่านมา เพราะแค่ปีกว่าที่ผมเปิดตามใจคาเฟ่ ผมได้พบคนในวิชาชีพสนุกสนานเยอะเลย ผมมีแฟนคลับไม่น้อยนะ ถ้ามาวันอาทิตย์จะเห็นว่า 40% ของโต๊ะต้องมีชาของผม ลูกค้าบางคนมาไกลจากลพบุรี บางคนมาจากกระบี่ก็มี”

สโลแกนที่ลุงชงชาบอกว่า ‘ดื่มชาอร่อยสไตล์ลุง’ มันเป็นแบบไหน

“สไตล์กินให้รู้ว่าอร่อย ไม่มีพิธีรีตอง ชาที่นิยมส่วนใหญ่เป็นชากลิ่นหอม ดื่มง่าย ถ้าใครมาที่ร้านแล้วต้องการให้ผมแนะนำ ผมจะให้เขาดมชม 2 ชนิด แล้วถามว่ากินคาเฟอีกอีกมั้ย วันนี้รู้สึกยังไง 

“อีกหนึ่งจุดขายของผม คือทายนิสัยจากการดื่มชา ชาแต่ละตัวบ่งบอกคาแรกเตอร์ของคนได้ เพราะผมเคยเป็นผู้กำกับ ต้องเจอคนเยอะ หลายบุคลิก ก็ใช้ประสบการณ์ตรงนั้นมาทายสนุก ๆ”

สำหรับคำแนะนำเรื่องการใช้ชีวิต ลุงชงชาบอกว่า ถ้าคิดจะเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ และแน่นอนว่าเมื่อถึงจุดสูงสุดย่อมตกลงมา สำคัญคือมันไปกระแทกกับอะไร ไม้ สปริง หรือน้ำ ถ้าเป็นไม้คงกระเด้งกลับ คุณเลือกสิ่งที่จะกระแทกได้ แล้วสิ่งนั้นอาจพาคุณกลับไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน

ส่วน Digital Disruption ทำให้ลุงเดือดร้อนก็จริง แต่เขาไม่ได้เกลียดมัน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน สิ่งสำคัญคือการอัปเดตตัวเองและยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก มองสิ่งใหม่ที่จะเข้ามา

ลุงชงชาในวัย 61 ปียังคงมีสิ่งใหม่ ๆ ให้ทำ ให้ศึกษา ให้สนุกกับงาน แถมได้รู้จักคนใหม่ ๆ แม้ยังมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ มีปัญหาให้ต้องแก้ไขในแต่ละวัน แต่ลุงชงชาบอกว่าจะหาเวลาเบรกทุกอย่าง มานั่งเฉย ๆ จิบชา เทสต์ชา ฟังเพลงบ้าง และยังเข้ามาที่คาเฟ่เกือบทุกวัน เพราะที่นี่ทำให้เขาผ่อนคลาย​

ส่วนตัวผมรู้สึกว่าพี่เอ๊งในบทบาทลุงชงชาดีกว่าตอนทำโฆษณาเสียอีก

เพราะคนนั้นต้องวางฟอร์ม ต้องรู้ทุกเรื่อง ต่างจากลุงชงชาที่สบาย ๆ พูดอะไรจริงใจ

เร็ว ๆ นี้ลุงชงชาจะเปิดลุงชงชาช็อป เป็นหน้าร้านที่มีสินค้าเกี่ยวกับชาใหม่ ๆ มาวางขาย และพี่เอ๊งเปิดใจเจอผู้คน ทำให้เขาเจอไอเดียดี ๆ เห็นมุมมองจากคนรุ่นใหม่และลดอีโก้ที่มีไปได้มาก

ถ้าคุณเริ่มสนใจดื่มชา ลองมาเริ่มต้นทำความรู้จักกับชาได้ที่ตามใจคาเฟ่ สถานที่สงบ ๆ ใจกลางเมือง เป็น Tea Room ที่ซ่อนตัวอยู่ในคาเฟ่อีกที คุณอาจได้เจอชาที่เหมาะกับตัวคุณในราคาเอื้อมถึงได้ และถ้าโชคดีก็อาจได้เจอเรื่องราวดี ๆ จากคนชงชาที่นุ่มลึกไม่แพ้ชาในแก้วที่เขาชงให้คุณ

ตามใจคาเฟ่
  • 73 ซอยประชาอุทิศ 23 แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30 – 18.00 น.
  • ตามใจคาเฟ่

The Cloud Golden Week : Happy Young Old คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ The Cloud จับมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระ อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์

ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’ เปรียบเสมือนคู่มือเล่มน้อย ๆ ที่อัดแน่นด้วยคำแนะนำ การรับมือ การใช้ชีวิตก่อน-หลังเกษียณในหลากหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘ปรับตัวกับยุคสมัย’ เราจึงชวนวัยอิสระเล่าเรื่องราวของ ลุงชงชา ผู้กำกับภาพยนตร์-โฆษณา วัย 61 ปีที่ข้ามผ่าน Digital Disruption ด้วยการปรับตัวและยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมบทบาทใหม่ TikToker ที่เล่าความรู้ด้านชา วิธีชงชา และเกร็ดสนุก ๆ ที่อาศัยความชอบในการดื่มชา ศึกษาความรู้เพิ่มเติม และประสบการณ์ด้านโปรดักชันเฮาส์กว่า 40 ปีมาผลิตเนื้อหา จนมีผู้ติดตามหลักหมื่น

Writer

วิศิษฐ์ พันธุมกุล

วิศิษฐ์ พันธุมกุล

ทำธุรกิจส่วนตัวด้านสิ่งพิมพ์ อดีตนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เคยเป็นนักแปลบทหนัง ซีรีส์ อดีต บรรณาธิการหนังสือเล็ก ๆ ชื่อ popcorn ชอบอ่านหนังสือ ดูหนังฟังเพลง ทำอาหาร ถ่ายภาพ และวิ่ง

Photographer

เอกพจน์ ธนะสิริ

เอกพจน์ ธนะสิริ

จากการเป็นแบบถ่ายภาพและถ่ายหนัง 8mmSuper ของพ่อมาตั้งแต่เล็ก ทำให้อยากเป็นช่างภาพตั้งแต่เด็ก จึงมาเป็นอาจารย์สอนถ่ายภาพ สอนถ่ายหนัง ทำงานกราฟิกดีไซน์ จนถึงทุกวันนี้ เมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนาน ก็ยังคงมีความสุขกับการมอง และการบันทึกภาพ "Happy Shooting !"