‘สตูล’ จังหวัดที่ใคร ๆ มาแล้วต่างบ่นว่ามายากเหลือเกิน ส่วนคนที่ไม่เคยมาก็อาจจะไม่เคยมองเห็นสตูลอยู่ในสายตา แต่ไม่ว่าคุณจะมองจังหวัดใต้สุดของฝั่งทะเลอันดามันนี้เช่นไร ตอนนี้เราอยากให้คุณหลับตาสักครู่ ลืมตาขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แล้วตามเรามา

ตามเรามาดูว่าการอยู่ยาวในจังหวัดเล็ก ๆ อันแสนสงบนี้ ผู้คนใช้ชีวิตกันอย่างไร เที่ยวที่ไหน ของค้าของขายเป็นเช่นไร และสิ่งใดหรืออะไรกันแน่ที่เป็นเสน่ห์ที่แท้ของสตูล

#01
ลองเริ่มต้นมื้อเช้าของวันที่ข้าวมันแกงตอแมะมะหลวย

‘ข้าวมันแกงตอแมะมะหลวย’ สูตรต้นตำรับโดย มะหลวย วัยกว่า 80 ปี (มะ แปลว่า แม่ คำที่เรามักใช้เรียกผู้ใหญ่ที่น่าเคารพฝ่ายหญิง แม้ไม่ใช่แม่เราจริง ๆ AKA ตัวแม่ ตัวมัม ตัวมารดา) เครื่องแกงเข้มข้นผัดกับกะทิสดพร้อมเครื่องเทศหลากหลาย ทั้งมะขามเปียก ขมิ้น พริกแห้ง และหอมแดง สูตรดั้งเดิมของสตูลต้องใส่ ‘ปะหละอ่อแร’ หรือ ใบสมุยเทศ ให้กลิ่นและรสเฉพาะตัวลงไปด้วย ผัดพร้อมกับเนื้อปลาหรือไข่ปลา กินคู่กับข้าวมัน แนมด้วยอาจาดตัดเลี่ยน

ส่วนราคาก็มิตรภาพ ชุดละ 50 บาท ขายตั้งแต่ 6 โมงเช้า เวลาปิดไม่แน่ไม่นอนขึ้นอยู่กับว่าของหมดตอนไหน (วันไหนขายดีมาก ไม่ถึง 10 โมงก็หมดแล้ว) ร้านอยู่กลางเมือง ทางลงตลาดสดเทศบาลเมืองสตูล ถนนสมันตประดิษฐ์ (ข้างโรงแรมสินเกียรติธานี) หยุดทุกวันอังคาร

#02
ลองชิมเหนียวไก่ทอดรสเด็ดที่ร้านบังมีนเหนียวไก่สตูล

จากข้าวเหนียวไก่ทอดที่คนภาคกลางเรียก มาทางใต้กร่อนเสียงเหลือเพียง ‘เหนียวไก่’ หลายปีก่อนทุกคนน่าจะคุ้นกับไวรัล ‘เหนียวไก่น้องหล้า’ เธอซื้อเหนียวไก่วางไว้หน้าตะกร้ารถมอเตอร์ไซค์ก่อนเข้าไปในร้านสะดวกซื้อ ออกมาอีกที มือดีขโมยเหนียวไก่เธอไป เธอโวยวายตัดพ้อคนขโมยบนสื่อสังคมออนไลน์… 

จากไวรัลนั้น ร้าน ‘บังมีนเหนียวไก่สตูล’ ก็โด่งดังเป็นพลุแตก จากรถเข็นขายไก่ทอดเล็ก ๆ ในวันวาน ก็ทำร้านใหม่ มีโครงสร้างหลังคาและตัวร้านมั่นคงแข็งแรงขึ้น (บนจุดตั้งเดิม สี่แยกเจ๊ะบิลัง) ขยายสาขาและขายแฟรนไชส์ไปทั่วประเทศ (ปัจจุบันมีสาขาต่างประเทศด้วย ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว) พร้อมรับจัดอีเวนต์เฉพาะกิจด้วยทีมงานมืออาชีพ แถมต่อยอดทำแป้งทอดกรอบแบบสำเร็จรูปขายในชื่อแบรนด์ ‘ดีนาน : D-NAN’

สูตรลับความอร่อยของเหนียวไก่บังมีน คือการเลือกใช้ไก่สดหมักด้วยเครื่องเทศและแป้งทอดกรอบสูตรเฉพาะ เมื่อนำไก่หมักลงทอดจึงได้เนื้อไก่กรอบนอก แต่เนื้อในยังชุ่มฉ่ำ กินคู่กับข้าวเหนียวนึ่งร้อน ๆ และหอมเจียว เป็นได้ทั้งอาหารมื้อเช้า มื้อเที่ยง และมื้อเย็นของคนสตูลมาช้านาน ทั้งยังเป็นของว่างมื้อสะดวกเวลาเร่งรีบที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชอบมาก ๆ

#03
ลองกินโรตีและนมแพะร้อน ๆ ที่ร้านอาซิปโรตี

อีกหนึ่งร้านอาหารเช้าเก่าแก่บนถนนบุรีวานิช ถนนเส้นแรกของเมืองสตูล อดีตเส้นเลือดใหญ่ที่ใช้ค้าขาย-ประกอบธุรกิจใจกลางเมือง เมนูที่เราสั่งทุกครั้งคือโรตีไข่ดาวกับนมแพะร้อน ๆ หรือชาร้อนหวานมัน ด้วยแป้งโรตีสูตรเฉพาะ ทำให้รสสัมผัสแตกต่างจากแป้งโรตีทั่วไป ทอดได้ทั้งแบบกรอบและแบบนุ่ม จะทอดไข่ดาวรวมในแป้งโรตีหรือทอดแยกก็แจ้งได้ ยังมีโรตีมะตะบะไก่ สอดไส้เครื่องเทศเข้มข้น-กลมกล่อม หรือโรตีธรรมดาทานคู่น้ำแกงก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน

#04
ลองฝากท้องมื้อกลางวันที่ร้านอาหารมุสลิมสามพี่น้อง

นี่คือร้านอาหารมุสลิมเก่าแก่กลางเมือง ณ ถนนยาตราสวัสดี

ร้านอาหารมุสลิมสามพี่น้องขายอาหารหลากหลาย ข้าวแกง หมี่ผัด ข้าวยำ ข้าวหมกไก่ ขนมไทยต่าง ๆ ร้านนี้ขนาดอาหารแต่ละจานไม่ใหญ่มาก ทำให้ชิมได้หลายเมนู และราคาก็แสนประหยัด ที่เราอยากแนะนำเป็นพิเศษแบบพลาดไม่ได้ ถึงขนาดลองกินแล้วจะนอนฝันถึงคือ ‘เหนียวเหลือง’ หอม หวาน มัน ไม่เหมือนใคร กินคู่กับแกงไก่หรือแกงแพะเป็นของคาว หรือโปะด้วยหน้ามะพร้าวผัดหรือหน้าสังขยาเป็นของหวานก็ได้ทั้งหมด ลองแล้วติดใจทุกราย

#05
ลองเยือนเรือนประวัติศาสตร์ที่บ้านสมันตรัฐ

‘เรือนพระยาสมันตรัฐบุรินทร์’ ของ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลลาห์) อดีตข้าหลวงหรืออดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลอยู่ 18 ปี (พ.ศ. 2457 – 2475) ตัวบ้านเป็นบ้านไม้เมืองร้อนหลังใหญ่ 2 หลังที่ออกแบบให้เชื่อมต่อกันด้วยระเบียงยาวภายใต้หลังคาเดียวกัน สร้างตามคตินิยมของคนภาคกลาง (พื้นเพเดิมเจ้าคุณพระยาสมันตรัฐบุรินทร์เป็นชาวธนบุรี) บ้านหลังนี้วางตำแหน่งตามดวงอาทิตย์ โดยตัวบ้านวางตัวตามแนวตะวันตก-ตะวันออก ทำให้ระเบียงยาวช่วงกลางบ้านโปร่งสบาย ลมพัดผ่านตลอดวัน ทั้งยังไม่โดนแดด จึงใช้พื้นที่บริเวณนี้ได้ทั้งวันโดยไม่ร้อน บริเวณรอบบ้านร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ ไม้ผล และไม้ดอก ปัจจุบันบ้านได้รับการดูแลปรับปรุงเป็นอย่างดี อยู่ในสภาพงดงาม ภายในบ้านเต็มไปด้วยร่องรอย ภาพถ่าย และข้าวของเครื่องใช้ทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการเก็บรักษา ดูแลความสะอาดอย่างดีเยี่ยม ภายใต้การดูแลของ ภัทรพร สมันตรัฐ ผู้เป็นหลานปู่ของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ซึ่งยินดีต้อนรับการเยี่ยมชมจากผู้สนใจด้วยการนัดหมายล่วงหน้า

#06
ลองขึ้นไปมองเมืองจากมุมสูงที่ดาดฟ้ามัสยิดมำบัง

‘มัสยิดมำบัง’ หรือมัสยิดกลางจังหวัดสตูล เป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนาอิสลามที่งดงามกลางเมือง สร้างเสร็จและเปิดดำเนินกิจกรรมทางด้านศาสนาครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2522 ออกแบบโดย เจริญ ลิ่มสกุล สถาปนิกชื่อดังของภาคใต้ มัสยิดมำบังเป็นสถาปัตยกรรมที่เรียกได้ว่าอยู่เหนือกาลเวลา ผ่านการใช้งานมาแล้ว 40 กว่าปีก็ยังคงงดงามทันสมัย

หลายคนอาจเคยเข้าใจว่าคนที่ไม่ใช่ศาสนิกเข้าชมมัสยิดไม่ได้ เราอยากแก้ความเข้าใจนี้เสียใหม่ว่ามัสยิดยินดีต้อนรับผู้คนทุกศาสนาด้วยหัวใจเปิดกว้าง เพียงแค่แต่งกายสำรวม ให้เกียรติสถานที่ และการขึ้นไปบนดาดฟ้าของมัสยิดมำบัง คุณจะได้เดินไต่บันไดวนสูงชันอันงดงาม ภาพสตูลมุมสูงที่มีฉากหลังเป็นโดมมัสยิดมำบังนั้นสวยงามตระการตามาก

ทั้งนี้ ติดต่อขออนุญาตขึ้นชมได้จากเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในมัสยิดด้านล่าง

#07
ลองไปดูนกอินทรี-เหยี่ยวธรรมชาตินับร้อยตัวที่บ้านสุไหงตำมะลัง

ที่นี่เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จัดการโดยชุมชนท่องเที่ยวสุไหงตำมะลัง

เหยี่ยวและนกอินทรีธรรมชาติที่จะได้เห็นที่นี่มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือนกอินทรีประจำถิ่น อินทรีทะเลหรือนกออก อินทรีภูเขา และเหยี่ยวแดง อาศัยอยู่รวมกันโดยทำรังอยู่บริเวณแนวป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ การล่องเรือใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง มีทั้งล่องเรือชมเหยี่ยวอย่างเดียว ล่องเรือชมเหยี่ยวพร้อมขนมของว่าง และล่องเรือชมเหยี่ยวพร้อมอาหารซีฟู้ด ราคาแตกต่างกันไป ตั้งแต่หัวละ 250 ไปจนถึง 600 บาท รับรองว่านาทีที่เหยี่ยวและนกอินทรีนับร้อยตัวบินออกมาพร้อมกัน สลับกันกรีดปีกอวดโฉมโฉบผิวน้ำไปมานั้นจะประทับใจมิรู้ลืม

#08
ลองนั่งรถสามล้อพ่วงข้างไปซื้อกะปิปูยูอันลือชื่อที่เกาะปูยู

กว่าจะได้ซื้อกะปิปูยู ต้องต่อคิว โทรจอง (มันอร่อยอะไรขนาดนั้น) ซึ่งสาเหตุแท้จริงนอกจากรสชาติที่อร่อยพิเศษแล้ว เป็นเพราะครัวเรือนที่ทำกะปิขายในปัจจุบันมีเหลือไม่มาก เกาะปูยูเป็นเกาะสุดท้ายของเขตแดนประเทศไทยก่อนเข้าน่านน้ำมาเลเซีย นั่งเรือจากฝั่งตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ไปประมาณ 30 นาที ในอดีตการทำกะปิถือว่าเป็นกิจกรรมหลักของชาวบ้านบนเกาะปูยู เกือบทุกบ้านทำไว้กินในครัวเรือน ถ้าเหลือจึงนำมาขาย

ผู้ชายเป็นคนไปหากุ้งเคย ซึ่งกุ้งเคยหาได้ในช่วงฤดูแล้งโดยใช้อวนรุนกับเรือ ผู้หญิงเป็นคนตำกะปิ ซึ่งครกตำกะปิในอดีตเป็นครกไม้ (ยังมีเหลือให้เห็นอยู่บ้าง) ปัจจุบันนิยมใช้ครกปูนหรือเครื่องบดแทน เพราะบดได้ละเอียดและใช้เวลาน้อยกว่า อีกอย่างครกไม้นั้นมีกระบวนการในการทำที่ละเอียดซับซ้อน และปัจจุบันหาคนทำได้ยากมาก ๆ นอกจากได้ไปซื้อกะปิปูยูแสนอร่อยแล้ว เรายังจะได้เห็นวิธีทำ ได้ลองตำกุ้งเคย ได้พูดคุยกับก๊ะและมะที่ทำกะปิขายอย่างสนุกสนานอีกด้วย ทั้งนี้เกาะปูยูเป็นเกาะที่เราเดินทางไป-มาได้ตลอดทั้งปีด้วย

#09
ลองนั่งเรือไปชมสันหลังมังกรสีทองอร่ามที่ถ้ำลอดปูยู

ส่วนมากทริปนั่งเรือไปชมสันหลังมังกรจะเป็นทริปแบบต่อเนื่องกับการแวะเกาะปูยูในช่วงเช้า ช่วงเวลาในการออกเรือต้องสอบถามจากคนขับเรือแบบวันต่อวัน เนื่องจากสถานการณ์น้ำขึ้น น้ำลง น้ำมาก น้ำน้อย มีผลต่อการชมสันหลังมังกรและการเข้าถ้ำ 

25 นาทีจากเกาะปูยู เราจะพบเนินทรายสีทองอร่ามกลางทะเล เห็นได้แต่ไกลจากระยะหลายร้อยเมตร สันหลังมังกรนี้ตั้งอยู่ระหว่างเกาะปูยูกับเกาะยาว เนินทรายที่เราเห็นสีทองอร่ามจากไกล ๆ นั้น แท้จริงคือเปลือกหอยที่กำลังโดนน้ำทะเลและสายลมกร่อนเซาะ ยังไม่เข้าระยะเป็นเม็ดทราย ถ้าลงไปเดินต้องสวมรองเท้าที่ทะมัดทะแมง เพราะเปลือยหอยนับล้าน ๆ ชิ้นนั้นเล็กก็จริง แต่คมกริบแบบพร้อมบาดเท้า บาดมือได้ทุกเมื่อ และโปรดเตรียมชุดว่ายน้ำ-ชุดชายหาดไปถ่ายรูปให้พร้อม ถ้าไม่เตรียมไปจะเสียดายและเสียใจมากเชียว เราขอเตือนคุณไว้ก่อน

#10
ลองเดินในถ้ำใหญ่อลังการติดอันดับโลกที่ถ้ำภูผาเพชร

เราไป ‘ถ้ำภูผาเพชร’ มานับครั้งไม่ถ้วน ทุกครั้งที่ไปก็ยังรู้สึกประทับใจเสมอ

ถ้ำภูผาเพชร ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง เป็นถ้ำขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก มีเนื้อที่ภายในกว่า 50 ไร่ ซึ่งธรรมชาติจัดวางความงามไว้อย่างน่าอัศจรรย์ สำหรับถ้ำนี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว โดยพบหลักฐานทางโบราณคดี กระดูกมนุษย์ยุคโบราณ เศษภาชนะดินเผา ฯลฯ

ภายในถ้ำแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ 20 ห้อง ตั้งชื่อตามธรณีสัณฐานที่พบเห็น มีทางเดินไม้และมีไฟส่องสว่างตามทางเดิน แนะนำให้เช่าไฟฉายจากชาวบ้านปากถ้ำเพิ่มเติมไปด้วย หรือพกไปเองจากที่บ้าน เพื่อถ่ายภาพและสังเกตหินงอกหินย้อยตามจุดต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ควรสวมรองเท้ารัดส้นที่กระชับ อย่างรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าเดินป่า สวมเสื้อผ้าที่สบาย ๆ ไม่อึดอัด ตรงปากถ้ำจะมีช่องขนาดเล็กแค่พอดีตัวที่คุณต้องเอียงตัวมุดเข้าไป ก่อนจะเจอความโอ่โถงกว้างใหญ่ อากาศในถ้ำเย็นสบายมาก แม้จะเป็นถ้ำ แต่ก็มีอากาศถ่ายเท เพราะมีช่องลมธรรมชาติด้านบนเป็นระยะ ๆ ที่นี่เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 15.30 น. มีค่าเข้าชมคนละ 30 บาท

#11
ลองไปดูภูเขาหินปูนหน้าตาแปลกที่ปราสาทหินพันยอด

นี่คือเวิ้งลากูนเล็ก ๆ ที่คุณพายคายัคมุดเข้าไปได้ในช่วงน้ำลงเท่านั้น ‘ปราสาทหินพันยอด’ เพิ่มเสน่ห์ให้ตัวเองด้วยยอดแหลมของภูเขาหินปูนรูปร่างแปลกตา เหมือนยอดแหลมของปราสาท เป็นปราสาทหินที่มีอายุประมาณ 450 ล้านปี อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของอุทยานธรณีโลกสตูลที่ประกาศโดยยูเนสโก การเดินทางก็แค่นั่งเรือจากท่าเรือปากบาราไปเพียง 30 นาที เหมาะสำหรับ One Day Trip หากมีเวลาไม่มากพอจะลงไปนอนที่เกาะ แต่อยากสัมผัสบรรยากาศอันเวิ้งว้างกลางท้องทะเลอันดามัน

#12
ลองล่องเรือคายัคที่ถ้ำเลสเตโกดอน มรดกจากยุคน้ำแข็ง

‘ถ้ำเลสเตโกดอน’ เป็นถ้ำดึกดำบรรพ์ที่สวยงามและยาวที่สุดในประเทศไทย

ที่นี่เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของอุทยานธรณีโลกสตูลที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโก มีระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร ถ้าเข้าปากถ้ำจากฝั่งสตูล จะออกไปโผล่ปลายถ้ำที่ฝั่งจังหวัดตรังได้เลยทีเดียว เส้นทางบางช่วงแคบจนต้องลงมาช่วยกันยกเรือข้ามหินถึงจะล่องต่อไปได้

คุณจะได้ตื่นตากับชั้นหินงอก หินย้อย หินน้ำไหล (ปลายหินยังมีหยดน้ำไหลอยู่ตลอด) ได้เห็นฟอสซิลและร่องรอยของซากชีวิตดึกดำบรรพ์ โปรดเตรียมรองเท้าและเสื้อผ้าให้พร้อมผจญภัย (เพราะแน่นอนว่าคุณจะเปียก) ชาวบ้านที่จัดการท่องเที่ยวมีคายัค เสื้อชูชีพ ไฟฉายสวมศีรษะ ขนมของว่าง และมีคนพายคายัคให้ ในราคาหัวละ 500 บาท (ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับระดับน้ำและฤดูกาล) ความมืดในถ้ำนั้นอยู่ในระดับมืดสนิท ถ้าปิดไฟฉายทุกดวงจะมองไม่เห็นอะไรเลย เป็นความมืดที่เราว่ามืดที่สุดในชีวิตขณะลืมตา

คนสตูลกำลังสนใจและตื่นตัวอยากมีส่วนร่วมกับการที่จังหวัดได้ประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานธรณีโลก การล่องเรือในถ้ำดึกดำบรรพ์แห่งนี้จึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ต้องหาโอกาสไปให้ได้สักครั้ง

#13
ลองชมอาทิตย์ตกดินพร้อมกินอาหารทะเลที่บ้านบ่อเจ็ดลูก

ภาพอาทิตย์ตกดินที่ ‘หาดบ่อเจ็ดลูก’ หาดบ้าน ๆ ที่จะตราตรึงคุณไปอีกนานเท่านาน ด้วยชายหาดกว้างขวาง เนินทรายทอดยาวกว้างใหญ่ มีพื้นที่ให้เดินเล่น ถ่ายรูปได้โดยไม่ทับซ้อนเฟรมกับใคร คุณจะเพียงนั่งเงียบ ๆ ริมหาด หรือจะรับประทานมื้อเย็นไปด้วย ชมอาทิตย์ตกไปด้วยก็ยิ่งยอดเยี่ยม ถ้ามาในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม จะได้ชิมหอยท้ายเภาอันลือชื่อที่ชาวบ้านเก็บกันสด ๆ จากหาดกาสิงห์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน จะเลือกปรุงเป็นเมนูผัดฉ่า อบโหระพา หรือผัดน้ำมันหอย ก็หวานเนื้อหอยอร่อยเต็มคำ และหาทานไม่ได้จากที่อื่นแน่นอน

#14
ลองใช้บริการถ่ายภาพที่ห้องภาพนครศิลป์ อายุกว่า 100 ปี

ลินจง โกยะวาทิน ช่างภาพหญิงวัยย่าง 80 ปี ผู้บันทึกความทรงจำของจังหวัดสตูลผ่านภาพถ่าย ป้าลินจงรับมรดกตกทอดห้องถ่ายภาพต่อมาจากพ่อและพี่ชาย ปัจจุบันยังรับงานบันทึกภาพเหมือนเช่นแต่ก่อน ต่างเพียงปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการใช้งานให้ทันสมัยขึ้น

ความมองการณ์ไกลของป้าลินจง คือท่านยังคงเก็บอุปกรณ์และบรรยากาศห้องภาพสมัยก่อตั้งเอาไว้ให้ผู้สนใจเข้าชม และบรรยายกระบวนการถ่ายภาพแบบยุคก่อนให้ฟังได้ด้วย ทั้งกระบวนการจัดแสงธรรมชาติ แสงไฟ การใส่ฟิล์ม การปรับตั้งค่าใช้งานอุปกรณ์ รวมไปถึงการปรับแต่งภาพโดยใช้พู่กันและสี กระบวนการล้าง การอัดภาพถ่าย ฯลฯ

เราเคยมีโอกาสให้ป้าลินจงบันทึกภาพเมื่อสมัยอายุ 12 ขวบ ปัจจุบันภาพถ่ายจากห้องภาพนครศิลป์ยังคงแจ่มชัดเหมือนเมื่อครั้งแรกถ่าย บ่งบอกถึงคุณภาพและฝีมือ สมกับที่ได้รับความไว้วางใจให้บันทึกภาพวาระสำคัญของชีวิตจากชาวสตูลตลอดร้อยปีที่ผ่านมา

#15
ลองไปชมอาคารเก่าแก่บนถนนสตูลธานีที่สมาคมจงหัว

‘สมาคมจงหัว’ เป็นอาคาร 2 ชั้น มีตัวเลขบันทึกไว้ว่าก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2500

บริเวณชั้นล่างของอาคารเป็นโถงกว้างโล่ง ส่วนชั้นบนเป็นพื้นไม้แบ่งกั้นเป็น 2 ห้องใหญ่ และมีชั้นดาดฟ้าที่ขึ้นไปเดินรับลมชมวิวเมืองได้ อาคารของสมาคมจงหัวได้รับการปรับปรุงมาตามยุคสมัย ปัจจุบันใช้จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยไม่เคยคิดค่าเช่าพื้นที่ หากเป็นกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ก็เพียงช่วยจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟเท่านั้น

กิจกรรมล่าสุดที่เพิ่งจัดจบไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นนิทรรศการ ‘เมืองเก่าสตูลในใจ’ สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชั้นล่างจัดแสดงภาพวาดวิถีชีวิตชาวสตูล อาหารการกินแบบโบราณและร่วมสมัย โดยศิลปิน กุลธวัช เจริญผล ส่วนชั้น 2 แสดงผลงานภาพวาดเมืองโดยศิลปินทั้งมืออาชีพและศิลปินสมัครเล่น (ลูกหลานชาวสตูล) รวมทั้งมีวีดิทัศน์เล่าเรื่องราวของเมืองผ่านมุมมองของนักนิเทศศาสตร์ผสมเสียงดนตรี และรวบรวมมุมมองที่มีต่อเมืองสตูลจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันผ่านแฮชแท็ก ‘เมืองเก่าสตูลในใจ’ 

หากสมาคมจงหัวไม่มีกิจกรรมจัดแสดงหรือโชว์ เราแนะนำให้คุณไปถ่ายภาพเช็กอินกับภาพวาดสตรีตอาร์ตด้านหน้า ภาพสำคัญซึ่งอยู่ด้านหน้าสมาคมจงหัว มีชื่อภาพว่า ‘เจ้าสาวแห่งสุไหงอุเป’ เป็นภาพวาดที่วาดมาจากภาพถ่ายจริงของคู่บ่าวสาวที่จัดพิธีแต่งงานแบบเปอรานากันเมื่อกว่า 120 ปีก่อน และการเลือกภาพนี้มาวาดหน้าสมาคมจงหัว ก็เพื่อสื่อว่าที่นี่เป็นสถานที่จัดพิธีแต่งงานของชาวจีนในเมืองเก่าสตูลนับร้อยคู่ในอดีตนั่นเอง

อ่านกิจกรรมและสถานที่ที่ยกมาแล้ว อยากมาลองอยู่ยาว ๆ ที่จังหวัดสตูลกันแล้วใช่ไหมล่ะ การเดินทางมาจังหวัดนี้นั้น อย่างที่ทราบว่าสตูลไม่มีทั้งสนามบินและสถานีรถไฟ 

หากเดินทางมาด้วยรถไฟ คุณต้องลงที่ชุมทางหาดใหญ่ แล้วต่อรถตู้โดยสารเข้ามาเมืองสตูล ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 

หากเดินทางมาโดยเครื่องบิน เลือกลงได้ 2 สนามบินที่ระยะทางต่อรถมาใกล้เคียงกัน คือท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ห่างจากเมืองสตูล 100 กิโลเมตร) และท่าอากาศยานตรัง (ห่างจากเมืองสตูลประมาณ 135 กิโลเมตร)
แล้วพบกันที่สตูลนะคะ

(*สตูลไม่ไกล เป็นชื่อเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของ จำลอง ฝั่งชลจิตร)

Writer & Photographer

คีตญา อินทร์แก้ว

คีตญา อินทร์แก้ว

เจ้าของร้านหนังสือความกดอากาศต่ำ​ อ.เมือง​ จ.สตูล,​ แม่ที่มีความสุขของลูกชายที่กำลังจะเป็นวัยรุ่น​ 1 คน, นักกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม, นักอ่าน​ และนักอยากรู้​ (ไปเสียทุกเรื่อง)