หากพูดถึงไพ่ทาโรต์ การดูดวง การทำนายทายทัก คงเป็นอย่างแรกที่หลายคนนึกถึง แต่กับ ภูมิ น้ำวล นักสะสมไพ่ทาโรต์กว่า 70 สำรับ และเจ้าของเพจ ‘ไพ่เราเผาเรื่อง’ กลับมีมุมมองที่ต่างออกไป เขามองว่าไพ่ทาโรต์คือวรรณกรรมภาษาที่มาในรูปแบบสำรับ เราใช้ภาษาไพ่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้เหมือนภาษาทั่วไป เช่น การดูหนัง ฟังเพลง หนังสือ และวัฒนธรรม
จุดเริ่มต้นของการสะสมไพ่ทาโรต์จนนำไปสู่การทำความเข้าใจภาษาวรรณกรรม (ไพ่) เริ่มต้นเมื่อคุณภูมิเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย เขาบังเอิญได้รับไพ่การ์ตูนชุด โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ที่แถมมากับนิตยสาร ความคลั่งไคล้ในไพ่ทาโรต์ของเขาเริ่มต้นอย่างเรียบง่าย และเหนียวแน่นมาตั้งแต่ตอนนั้น
“ผมเป็นเด็กเนิร์ดๆ หน่อยที่สนใจหนังสือวรรณกรรมมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะตำนาน Mythology และสิ่งลึกลับ ซึ่งไพ่ทาโรต์เป็นศาสตร์หนึ่งที่น่าค้นหา เป็นเหมือนวรรณกรรม เพราะไพ่แต่ละใบ แต่ละสำรับ มีเอกลักษณ์ มีเรื่องราวของตัวเอง ไพ่ทุกใบจึงมีเรื่องเล่า”

01
ไพ่ = Something
จากการได้ไพ่แถมฟรีมากับนิตยสาร นำไปสู่การสะสมและทำความเข้าใจไพ่ทาโรต์กว่า 70 สำรับ เพราะไพ่แต่ละชุดมีความงาม มีเอกลักษณ์ มีสิ่งที่ซ่อนมาแตกต่างกันออกไป เขาบอกกับเราว่านี่เป็นความน่าตื่นเต้นอย่างหนึ่งของการสะสมไพ่ทาโรต์
“ตอนนี้มีไพ่เยอะมากครับ ทั้งไพ่ไทยและไพ่นอก ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้เป็นคนที่สะสมไพ่เยอะที่สุด ไม่ได้เป็นคนที่มีไพ่ราคาแรงที่สุด แต่ผมเลือกเก็บไพ่ที่มันเหมาะกับเรา”
ค.ศ. 2008 คือจุดเริ่มต้นการซื้อไพ่ทาโรต์ครั้งแรกของคุณภูมิ นอกเหนือจากไพ่ที่มักแถมมากับหนังสือคู่มือการอ่าน เขาคิดว่าการได้คลุกคลี จับต้องกับไพ่จริงๆ น่าจะส่งผลให้รู้จักไพ่ได้ดีกว่านี้

“ผมมองว่าไพ่ทาโรต์ ไพ่ทำนาย รวมถึงเครื่องมือการทำนายอย่างอื่นเป็นภาษา เหมือนกับภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารหรือถอดความจากไพ่ บางทีอาจเป็นพลังงานบางอย่างเหนือธรรมชาติซึ่งเราก็ไม่เข้าใจ คนอื่นอาจจะเรียกว่าเทพเจ้าหรือพระเจ้า แต่สำหรับผมแล้ว ผมเรียกมันว่า Something”
คุณภูมิอธิบายเพิ่มเติมว่า การสื่อสารกับอะไรสักอย่างที่เขาเรียกว่า Something เป็นเพียงการสอบถามในสิ่งที่ ‘เรา’ หรือมนุษย์หยั่งรู้ไม่ได้ด้วยตัวเอง เช่น อยากรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น หรือคนที่คุยด้วยตอนนี้คิดอย่างไรกับเรา เพราะมนุษย์อ่านใจคนอื่นไม่ได้
จึงสอดคล้องกับไพ่ทาโรต์ที่บอกเรื่องราวจังหวะชีวิตของมนุษย์ผ่านหน้าไพ่ ยกตัวอย่างไพ่ทาโรต์ชุดคลาสสิก The Rider-Waite Tarot ชุดนี้ออกแบบมา 78 ใบ แบ่งออกเป็น 2 ชุด คือ 1) ไพ่ชุดใหญ่มีจำนวน 22 ใบ (Major Arcana) 2) ไพ่ชุดเล็กมีจำนวน 56 ใบ (Minor Arcana) ซึ่งไพ่แต่ละใบจะบ่งบอกเรื่องราวหรือองค์ประกอบสำคัญของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลง การเกิด การดับสูญ และการหยุดนิ่ง นี่จึงเป็นเสน่ห์ของไพ่ทาโรต์ มันคือความพยายามที่จะทำความเข้าใจหรือหยั่งรู้ถึงอนาคต
ยกตัวอย่างไพ่ชุดเล็ก ไพ่ไม้ (Wands) เป็นตัวแทนความคิดสร้างสรรค์หรือแพสชัน ถ้ามองในแง่พื้นฐานคือการพูดเรื่องการงาน ไพ่ถ้วย (Cups) เป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ใช้ดูความสัมพันธ์ของคน ไพ่ดาบ (Swords) เป็นเรื่องความคิดความอ่าน คำพูด บางคนก็จะมองว่าเป็นเรื่องปัญหา ไพ่เหรียญ (Pentacle / Coins) สื่อเรื่องวัตถุ สิ่งที่เป็นรูปธรรม ทรัพย์สมบัติ เงินทอง ความร่ำรวย

เมื่อดูแบบนี้แล้ว ไพ่ทั้งหมดมีความหมายแทนตัวเองอยู่ การที่เราเปิดไพ่จึงเหมือนกับการอ่าน ราวกับว่าไพ่แต่ละใบเป็นองค์ประกอบของภาษา มีพยัญชนะ มีเสียงอ่าน มีรูป มีสัญญะ มีไวยากรณ์ ซึ่งไวยากรณ์ในที่นี้หมายถึงจังหวะและรูปแบบการวางไพ่
ยกตัวอย่างการวางไพ่ 5 ใบเพื่อเผาตัวเองในตอนแรก เป็นรูปแบบหนึ่งของไวยากรณ์และยังมีอีกหลายรูปแบบมาก บางคนนำไพ่มาวาง 10 ใบ (Celtic Cross) หรือไพ่บางสำรับคนสร้างก็ได้คิดไวยากรณ์เฉพาะของแต่ละไพ่ขึ้นมา ตั้งแต่คิดคอนเซ็ปต์หรือการวางไพ่ประจำตำแหน่งแต่ละชุด (Spade) ดังนั้น การเปิดไพ่ในแต่ละครั้ง จึงเหมือนกับเรากำลังอ่านภาษาที่บรรจุมากับไพ่แต่ละใบ
02
ไพ่ = ภาษา
แปลว่าไพ่แต่ละสำรับมีภาษาเป็นของตัวเองหรือเปล่า
“ใช่ แต่บางอันก็เป็นภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาที่มีมาก่อนหน้า ยกตัวอย่างภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาลี สังเกตไหมว่าคำบางคำคล้ายกัน เพราะมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินเหมือนกัน ไพ่ทาโรต์ก็มีรากฐานภาษามาจากไพ่ชุดคลาสสิก ซึ่งหลักๆ มีสามชุด ได้แก่ Rider-Waite’s, Tarot de Marseille และ Thoth สามชุดนี้เรียกได้ว่าเป็นสามเสาหลักแห่งไพ่ทาโรต์ได้เลย”

เราอดสงสัยไม่ได้ว่าการทำความเข้าใจภาษาถิ่นของไพ่แต่ละสำรับยากไหม เมื่อเหลือบไปเห็นภูเขาไพ่ทาโรต์ที่กองอยู่ข้างๆ คุณภูมิ นี่คือภาษาถิ่นที่นักดูไพ่ทาโรต์ต้องทำความเข้าใจ และจดจำองค์ประกอบของภาษาซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ด้วย เช่น Shuffle Tarot ไพ่สัญชาติไทยสังกัดสำนักพิมพ์ Destiny ก็มีวิธีการอ่านที่สลับซับซ้อนตรงข้ามความหมายไปมา หรือไพ่ Housing Tarot ของ California Rail Map ก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องสถานที่ด้วย
“แล้วแต่ไพ่แต่ละสำรับเลยครับ” คุณภูมิตอบพร้อมอธิบายต่อว่า เพราะไพ่แต่ละสำรับโฟกัสภาษาที่ต่างกัน หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เช่น ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีหลายระดับชั้น สังเกตได้จากสรรพนามหรือคำราชาศัพท์ที่ใช้ต่างกันไป ส่วนของพวกอินูอิต (Inuit) ก็มีคำเรียกหิมะหลายรูปแบบ เช่นเดียวกับไพ่ที่มีจุดโฟกัสแตกต่างกัน หรือไพ่บางชุดจะให้ความสำคัญในเรื่องของเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เป็นต้น

“นอกจากการอ่านไพ่ที่เหมือนการแปลภาษาแล้ว ผมยังคิดว่าการอ่านไพ่ก็เหมือนกับการอ่านวรรณกรรม” นอกจากศาสตร์ในการตีความแล้ว คุณภูมิยังดึงวิธีคิดแบบอักษรศาสตร์มาใช้ร่วมกับการตีความอีกด้วย เพราะเขามีพื้นฐานมุมมองมาจากการเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
เขากล่าวต่อว่า ทฤษฎีการอ่านหรือการวิจารณ์วรรณคดีมีหลายรูปแบบ ซึ่งไม่ใช่ทุกรูปแบบที่จะนำมาใช้กับหนังสือทุกเล่มได้ เฉกเช่นเดียวกับไพ่ที่วิธีการอ่านทุกรูปแบบใช้กับไพ่ทุกสำรับไม่ได้ บางชุดอาจตีความได้เลยตั้งแต่เห็นหน้าไพ่ การสัมผัสเห็นหน้าตัวละคร รับรู้ถึงความรู้สึก และตีความจากภาพได้ บางภาพอาจจะแทรกสัญลักษณ์ในเชิงโหราศาสตร์ สัญลักษณ์การเล่นแร่แปรธาตุเข้ามาด้วย เมื่อคิดอย่างนี้แล้วการสะสมไพ่ทาโรต์จึงสนุกขึ้นมากๆ เพราะต้องคอยทำความเข้าใจ และนี่คือสิ่งที่เขาได้มาจากการสะสมไพ่ทาโรต์นอกจากศาสตร์แห่งการทำนาย
03
Possible Future
ทั้งสะสมไพ่ เรียนรู้ภาษาของไพ่แต่ละสำรับ แล้วส่วนตัวเขาเชื่อเรื่องการทำนายทายทักหรือเปล่า คำตอบของเขาทำให้เราเลิกคิ้วสงสัยนิดหน่อย
“ผมอยากเชื่อ” คุณภูมิขยายความว่า เขาอยากเชื่อว่ามีอะไรบางอย่างนอกเหนือไปจากสิ่งที่มนุษย์กำหนด และเชื่อสิ่งที่ไพ่สื่อสาร
“ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าบางสิ่งมันถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนจนเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เพราะยังเชื่อในเจตจำนงอิสระหรือ Free Will อยู่” เขาอ้างอิงวรรณกรรมเรื่อง ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน :The Alchemist เพื่อมาอธิบายให้เราเห็นภาพชัดเจน
“เรื่องนี้ตัวละครพูดถึงการทำนายของพระอัลเลาะห์ ว่าพระองค์ไม่ได้ต่อต้าน ปฏิเสธการทำนาย หรือการดูดวงอนาคต แต่การที่พระองค์ยอมให้ทำนาย เพราะมองว่ามนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ หากเป็นอนาคตหรือสิ่งที่เป็นมติจากสวรรค์ชัดเจน สิ่งเหล่านี้อ่านไม่ได้ผ่านการเปิดไพ่หรือดูดวง การดูดวงในตอนนี้จึงเป็นการ Possible Future ดูแนวโน้มว่าเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง เพราะการพยากรณ์มีสิ่งที่เรียกว่าการทำงานเชิงสถิติอยู่ จะพูดว่านี่คือสิ่งเร้นลับของไพ่ทาโรต์ ซึ่่งพยายามเอาชนะสิ่งที่เราไม่รู้ก็ได้”

คุณภูมิเล่าต่อว่า เมื่อเรามองไพ่ทาโรต์เป็นหนึ่งในภาษา สิ่งที่ได้ตามมาจึงเป็นมากกว่าการทำนายดวงชะตา เพราะเราหยิบจับภาษาเหล่านี้มาเล่าเรื่องต่างๆ และทำให้ไพ่ทาโรต์มีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น ไพ่ทาโรต์จึงเป็นมากกว่าของสะสมทั่วไป เพราะไพ่ช่วยส่งสารและดึงมุมมอง สติ แง่การใช้ชีวิตต่างๆ ของเขาได้ การทำนายจากไพ่ทาโรต์เหมือนการสะท้อนภาพปัจจุบัน และคาดเดาถึงอนาคตอันใกล้ที่เจ้าตัวเปลี่ยนแปลงได้
“มีช่วงหนึ่งที่ผมพยายามทำความเข้าใจไพ่ ก็จะหยิบไพ่ประจำวันขึ้นมาทำนายว่าวันนี้เราจะเป็นอย่างไร ให้ความหมายอะไรบ้าง แล้วตอนเย็นก็กลับมาเทียบว่ามันเป็นอย่างที่ไพ่เขาทำนายหรือเปล่า เหมือนเป็นการพูดคุยกับตัวเอง”
04
ไพ่เราเผาเรื่อง
ไพ่เราเผาเรื่อง เป็นเพจที่นำไพ่ทาโรต์มาเล่าเรื่องต่างๆ ทั้งหนังสือ เกม เขียนรีวิว หรือวิจารณ์ จุดเริ่มต้นมาจากคุณภูมิสนใจอยากทำเพจคอนเทนต์รีวิว และอยากทำเพจที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับไพ่ทาโรต์ การรวมกันของ Passion ทั้งคู่กลายเป็นเพจที่พูดเรื่องการสะสมไพ่ทาโรต์ การเสพสื่อ การรีวิวผ่านภาษาของไพ่ ว่าไพ่แต่ละชุดจะเล่าหรือวิจารณ์สื่อเหล่านี้ออกมาในรูปแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นเผาบอกเล่าเกี่ยวกับ MV เพลง Lalisa, เผาเกม Popcat และภาพยนตร์เอนิเมชัน Raya and the Last Dragon
แล้วไพ่ให้มุมมองการเผาเรื่อง ต่างจากมุมมองทั่วไปที่เราประจักษ์หรือเปล่า
“ไพ่ให้มุมมองความเป็นกลาง” เขายกตัวอย่างว่าตัวเองชอบเพลงของวงลาบานูนเพลงหนึ่งมาก แต่ไม่ชอบมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ จึงนำไพ่ทาโรต์มาเผาเล่าเรื่องว่ามองอย่างไร มีความเห็นอย่างไร เลยทำให้เห็นมุมมองที่กลางกว่า ถ้าพูดอีกทางก็คล้ายกับว่าการสะสมไพ่ทาโรต์ช่วยให้มองภาพในอีกมิติหนึ่ง นอกเหนือมุมมองเดิมที่อาจมีอคติ หรือมีส่วนไหนที่เราพลาดไป

ในสภาพสังคมที่รายล้อมไปด้วยความตึงเครียด และจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพุ่งสูงขึ้นในทุกปี คุณภูมิบอกกับเราว่าไพ่ทาโรต์ก็เป็นเหมือนการพักผ่อนทางจิตใจ หลีกหนีความตึงเครียด ความกังวล หรือโรคซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ การศึกษาภาษาของไพ่ ยังทำให้เห็นความพยายามของมนุษย์ที่อยากเอาชนะธรรมชาติ เพราะมนุษย์ควบคุมธรรมชาติไม่ได้ การดูดวงอาจเป็นหนึ่งในวิธีการเอาตัวรอด เพื่อพิชิตสิ่งที่มวลมนุษยชนไม่อาจเข้าใจ ‘อนาคต’ ได้
“ส่วนตัวผมมองว่าการสะสมก็เหมือนงานอดิเรกอย่างหนึ่ง เป็นการใช้เวลาในช่วงที่เราได้เป็นตัวของตัวเอง เป็นช่วงที่ไม่ได้ทำงานหรือใช้ชีวิตท่ามกลางคนอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากๆ”
06
สำรับสำคัญ
นี่คือไพ่ชุดพิเศษที่มีความหมายต่อนักสะสมไพ่มากที่สุด ขณะบอกเล่าเรื่องราวความพิเศษที่ซ่อนอยู่ในไพ่แต่ละชุด เขาทิ้งท้ายกับเราว่า อนาคตก็อยากจะมีไพ่ทาโรต์ของตัวเองเหมือนกัน
01 Manga Tarot (2006)
ผู้ผลิต : Lo Scarabeo
ออกแบบโดย : Riccardo Minetti
วาดโดย : Anna Lazzarini

“เหตุผลที่เลือกไพ่สำรับนี้เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมและศึกษาไพ่ทาโร่อย่างจริงจัง เป็นการซื้อไพ่ที่นอกเหนือจากไพ่แถมมากับหนังสือคู่มือตำราสอน ความพิเศษของไพ่ชุดนี้คือการสลับเพศตัวละครของไพ่ ยกตัวอย่างหากตัวละครในไพ่จากชุดคลาสสิกเป็นผู้ชาย ไพ่สำรับนี้ก็จะเป็นผู้หญิง มีความเป็นเฟมินิสต์ เพราะตัวละครผู้หญิง Active มากกว่าตัวละครผู้ชาย
“อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในไพ่ชุดนี้คือทุกใบมีสัญลักษณ์บ่งบอกถึงฤดูกาล 4 ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งฤดูเหล่านี้นำมาประกอบการตีความ การทำนายได้ ซึ่งคนวาดไพ่ชุดนี้มีความละเอียดมาก สื่ออารมณ์ผ่านโทนสีของภาพได้อย่างชัดเจน”
“ที่เห็นไพ่ทาโร่ชุดนี้ จริงๆ ไม่ได้หน้าตาเป็นแบบนี้นะ ตอนซื้อมามันมีกรอบสีดำล้อมรอบรูป และมีชื่อไพ่เป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสอยู่ด้วย แต่อันนี้ผ่านการ Deck Modification หรือว่าการโมไพ่ ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ฝรั่งมาก แต่คนไทยไม่นิยมทำกัน เรารู้สึกว่าภาพชุดนี้สวย แต่มันน่าเสียดายที่มันมีกรอบที่กักขังความงามของไพ่อยู่ ก็เลยตัดสินใจโมไพ่เองด้วยคัตเตอร์ และเอาปากกาเจลมาทาขอบสีดำ”
02 The Dark Mansion Tarot (2019)
ผู้ผลิต : Taroteca Studio
วาดโดย : Magdalena Kaczan

“เป็นชุดที่เรียกแพสชันการสะสมของเรากลับมา เพราะมีช่วงหนึ่งที่ความสนใจของเราไปอยู่กับสิ่งอื่นมากกว่า แต่พอเห็นไพ่ชุดนี้ในอินเทอร์เน็ตก็รู้สึกว่าไม่ได้แล้ว เราต้องมี เพราะชอบสไตล์ลายเส้นมาก มีบางคนบอกว่าไพ่ชุดนี้คล้ายงานของ ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) ซึ่งส่วนตัวชอบงานของเขาเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเลยสั่งไพ่ชุดนี้มา นี่จึงเป็นการซื้อของจากต่างประเทศครั้งแรกผ่าน Paypal”
03 Shuffle Tarot (2020)
ผู้ผลิต : Deckstiny

“ชุดนี้เป็นของ คุณเมท ทศวิวัศน์ เขาผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิตพิมพ์ไพ่เมื่อไม่นานมานี้ สาเหตุที่เลือกชุดนี้มีสามเหตุผลคือ หนึ่ง เป็นชุดแรกที่เปิดตัว เป็นการประกาศว่ามีแบรนด์ไทยนะ แม้ว่าจะเป็นไพ่อินดี้ ไม่ได้จำหน่ายในร้านหนังสือ แต่ก็เป็นที่รู้จักในออนไลน์อย่างมาก และต่างชาติก็สั่งเยอะ สอง มันชื่อว่าไพ่ Shuffle Tarot หมายถึงการสับเปลี่ยนไปมา อย่างภาพหน้ากล่องเป็นไพ่ The Fool แต่มันกลับมานั่งที่ของจักรพรรดิ หากเคยดูซีรีย์ What if…? ของดิสนีย์ก็จะอารมณ์คล้ายๆ กัน เป็นสถานการณ์โลกคู่ขนานแปลกๆ ที่ตัวละครกลับกันหมด เช่นไพ่ The Lover ก็เอา The Devil ขึ้นมาแทน และสาม ไพ่ชุดนี้แฟนให้เป็นของขวัญวันเกิด
“การสลับกันส่งผลต่อการอ่าน การที่ไพ่ The Lover ถูกแทนด้วย The Devil หมายความว่า เราแน่ใจจริงๆ หรือว่าสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้คือความรัก หรือมันเป็นแค่ความหลงใหล”
04 Housing Tarot
ผู้ผลิต : California Rail Map
วาดโดย : Alfred Twu

“ไพ่ชุดนี้เป็นชุดที่เล็งมานาน แต่ไม่มีโอกาสซื้อสักที เพราะเป็นไพ่ที่ขายเมืองนอกและไม่มีคนนำเข้า จนสุดท้ายเราสั่งซื้อเข้ามาเอง จุดเด่นของไพ่นี้คือสถานที่ แม้ว่าไพ่ทาโรต์จะมีพื้นฐานอ่านได้ว่าหมายถึงสถานที่แบบไหน แต่ไพ่ชุดนี้กลับทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ยกตัวอย่างไพ่ The Tower ที่หมายถึงการทลายโครงสร้างดั้งเดิม การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน คนวาดก็สื่อความหมายผ่านภาพการประท้วง ไพ่ชุดนี้จึงสนุก เพราะได้แสดงศักยภาพการตีความของมนุษย์อีกด้วย”
05 The Mystery Tarot (2021)
ผู้ผลิต : Quarter Press
ออกแบบและวาดโดย : Chris Smith
ไพ่ที่สร้างจากการ์ตูน Disney เรื่อง Gravity Falls (2012 – 2014)

“เป็นไพ่ที่วาดและสร้างมาจากการ์ตูนเรื่อง Gravity Falls ของดิสนีย์ ข้อดีของไพ่ชุดนี้คือ แม้ว่าเราไม่เคยดูการ์ตูนเรื่องนี้ก็สามารถตีความได้ เพราะตัวละครทำท่าทางเหมือนไพ่ชุดคลาสสิก แต่หากเรารู้พื้นฐานของการ์ตูนไปด้วย จะทำให้ตีความไพ่ได้ดียิ่งขึ้น ที่เลือกสำรับนี้มาเพราะอยากบอกคนอื่นว่า เวลาจะใช้ไพ่ที่มีพื้นฐานมาจากการ์ตูนหรือมีเนื้อเรื่องมาแล้ว ควรศึกษาต้นฉบับและศึกษาตัวละครก่อน มันจะทำให้คุณตีความหมายของไพ่ได้ดีขึ้น”
06 Decameron Tarot (2003)
ผู้ผลิต : Lo Scarabeo
ออกแบบและวาดโดย : Giacinto Gaudenzi

“อันนี้ใครมาเห็นอาจจะมองว่าไม่แปลกเท่าไหร่ แต่เรามองว่าแปลกมาก ตอนเห็นไพ่ชุดนี้ครั้งแรกตกใจเล็กน้อย (หัวเราะ) เพราะมันมีความ 18+ อย่างชัดเจน โจ่งครึ้ม ที่สร้างมาจากหนังสือรวมเรื่องสั้นท้าทายศีลธรรมเรื่อง The Decameron โดย Giovanni Boccaccio นักเขียนชาวอิตาเลียนสมัยศตวรรษที่ 14 งานเขียนนี้ก็จะพูดถึงเรื่องของคนที่ใช้ชีวิตทั่วไป ไม่สนใจกรอบขนบของศีลธรรมใดๆ รวมถึงเรื่องเพศที่ถูกโยนออกนอกประตูไปเลย ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้ตามใจชอบ ได้แบบเต็มที่ ไพ่ที่ออกมาเลยไม่มีการเซ็นเซอร์ใดๆ
“เราจะเห็นเลยว่ามันโจ๋งครึ่มมาก ไม่มีการเซ็นเซอร์ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า ไพ่มันมาทำแบบนี้ได้ด้วยหรือ แม้ว่าไพ่สำรับนี้ไม่ใช่ชุดแรกที่พูดถึงเรื่อง 18+ แต่ชุดอื่นที่เราเคยเห็นมันไม่ได้เห็นอวัยะ หรือฉากร่วมรักแบบอล่างฉ่างแบบนี้ จะออกแนวศิลปะนู้ดๆ มากกว่า ไม่ก็ปิดนั่นปิดนี่ แต่ไพ่นี้ไม่สน เปิดเลย (หัวเราะ) “
07 Food Fortunes (2016)
ผู้ผลิต : Chronicle Books
ออกแบบและวาดโดย : Josh LaFayette

“อันนี้ผมมองว่าเป็นไพ่ที่แปลกมาก เขามีชื่อ ว่า Food Fortunes หลักๆ เป็นไพ่ธีมอาหารจากทั่วโลก เช่น อาหารญี่ปุ่น อาหารจีน อาหารอินเดีย และอาหารกรีก ภาพหน้าไพ่เป็นแนว Parody RWS ไพ่ชุดใหญ่มียี่สิบสองใบ เป็นอาหารจำพวกของกินที่ขาดไม่ได้ ส่วนไพ่ชุดเล็กมีห้าสิบหกใบ จะแบ่งเป็นสี่กลุ่ม กลุ่มละสิบสี่ใบ แบ่งเป็นอาหารจานหลัก (Mains) เครื่องเคียง (Slides) ของหวาน (Sweet) และเครื่องดื่ม (Drinks)
“มีสินค้าของไทยอยู่ด้วยนะครับไพ่ชุดนี้” คุณภูมิพูดพร้อมกับหยิบไพ่รูปวาดซอสพริกศรีราชาออกมา และบอกกับเราว่าอยากนำเสนอใบนี้มากๆ ส่วนไพ่ที่เราเห็นอยู่ผ่านการโมตัดขอบเรียบร้อยแล้ว
“มีคนเคยถามผมเหมือนกันว่าไพ่ชุดนี้มีไว้สำหรับอะไร เพราะมันนำไปเทียบกับไพ่ทาโรต์ตัวหลักไม่ได้ คนที่นำไปใช้นอกจากสะสมแบบผมแล้ว เขาก็นำไปปรับใช้ เช่น เวลาออกไปกินข้าวกับลูกค้า กับหัวหน้า วันนี้ต้องกินอาหารประเทศไหน ถึงจะทำให้การเจรจาธุรกิจราบรื่น หรือเดทแรกควรไปกินอะไร”
08 จาตุมหาราชทาโรต์ (4 Heavenly Kings Tarot) (2011)
ผู้ผลิต : Line Art Planning
ออกแบบโดย : วิโรจน์ ตั้งฑัตสวัสดิ์ และ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์

“ไพ่ชุดนี้ที่เลือกมาเพราะไพ่อ้างอิงกับพระจตุมหาราชหรือจตุโลกบาล ตามความเชื่อของ ไตรภูมิพระร่วง ที่นำโครงสร้างจากไพ่ชุดพื้นฐานมาเชื่อมโยงกับจตุโลกบาลทั้งสี่แบบ จุดที่ทำให้สนใจจริงๆ คือหน้าไพ่ที่ออกแบบมาเหมือนกับจิตรกกรรมฝาผนัง ตรงโครงสร้างของไพ่อ้างอิงมาจากไพ่ชุดคลาสสิก แต่สำรับนี้เขาเปลี่ยนตัวละคร เปลี่ยนสิ่งของต่างๆ ให้กลายเป็นภาพจิตรกรรมผนังแบบไทยๆ
“แล้วก็เช่นเคย ไพ่สำรับนี้แต่เดิมมันมีขอบอยู่ แต่ผ่านการโมเรียบร้อยแล้ว บางคนอาจจะรู้สึกไม่ชอบที่เราโมตัดขอบออก เพราะจะส่งผลต่อราคาไพ่ได้ และบอกไม่ได้ว่าเป็นไพ่รุ่นไหน เนื่องจากมีหลายเวอร์ชัน แต่ละเวอร์ชันมีราคาแตกต่างกันไป เช่น เวอร์ชันที่ขอบเป็นทองแท้และขอบเงิน แต่ส่วนตัวเราไม่ชอบเลยตัดออก เพราะเป็นของสะสม ไม่คิดจะปล่อยต่ออยู่แล้ว เลยเลือกทำไพ่ในแบบที่เราชอบดีกว่า”
09 The Tarot of Loka (2014)
ผู้ผลิต : River Horse
ออกแบบโดย : Alessio Cavatore
วาดโดย : Pete Borlace

“ความแปลกของไพ่สำรับนี้คือ ปกติแล้วไพ่ทาโรต์เคยมีที่มาจากไพ่ป๊อก แต่ไพ่ชุดนี้กลับนำตัวเอกของไพ่ป๊อก เช่น แจ็ก แหม่ม คิง มาเป็นหน้าไพ่ และมีดอกต่างๆ ร่วมด้วย ที่สำคัญคือ ไพ่สำรับนี้ออกแบบมาให้มองกลับด้านได้
“ที่สำคัญคือ ไพ่ชุดนี้มีกติการของตัวเอง ใช้ทำนายได้ และนำไปเล่นเกมได้ ผู้ออกแบบไพ่ชุดนี้คือ Alessio Cavatore เป็นนักออกแบบคิดค้นบอร์ดเกมชื่อดังต่างๆ เช่น Warhammer และ King of War”