“…ณ เวลานี้เอง ที่ความสุขอันแสนสั้นของข้าพเจ้าได้เริ่มขึ้น ห้วงเวลาแห่งความสงบสุขที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ทำให้ข้าพเจ้ามีสิทธิ์กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าได้ใช้ชีวิตแล้ว’…”
คำสารภาพ (Les Confessions), ฌอง-ฌาค รุสโซ
มีคนบอกว่าความรักครั้งแรกเป็นสิ่งที่ลืมไม่ได้และลืมไม่ลง ไม่ว่ามันจะหอมหวานหรือขื่นขมเพียงใด
ดูเหมือนคำกล่าวนี้จะไม่ใช่ข้อยกเว้น แม้แต่กับ ฌอง-ฌาค รุสโซ (Jean-Jacque Rousseau) นักปรัชญาและนักเขียนผู้เป็นที่รู้จักจากหนังสือปรัชญาการเมืองเรื่อง ว่าด้วยสัญญาประชาคม (The Social Contract) และผู้มีอิทธิพลทางปัญญาต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1789
รุสโซไม่เคยลืมความรักครั้งแรกของเขา และหากใครเคยได้อ่านหนังสือ คำสารภาพ (Les Confessions) ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของรุสโซ ก็จะพบว่าเขาถือเอาห้วงเวลานั้นเป็นช่วงที่มีความสุขมากที่สุดในชีวิต เรื่องราวความรักครั้งแรกของรุสโซเริ่มขึ้นและจบลงที่บ้านสวนหลังเล็กชานเมืองช็องเบรี (Chambéry) เมืองหลวงของแคว้นซาวัว (Savoie) ในประเทศฝรั่งเศส เป้าหมายการเดินทางครั้งนี้ของผู้เขียน
บ้านสวนหลังนี้มีชื่อว่า ‘เลส์ ชาร์เมตส์’ (Les Charmettes) อยู่ห่างจากตัวเมืองช็องเบรีเพียง 2.5 กิโลเมตร ผู้เขียนใช้เวลาเดินเท้าราวครึ่งชั่วโมงก็ถึง แม้ทุกวันนี้มีความเป็นเมืองมากกว่าสมัยของรุสโซ แต่สองข้างทางเดินยังคงเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่น และมีลำธารเล็กๆ ไหลอยู่ข้างทาง ถนนเส้นนี้อยู่ระหว่างเนินเขาสองข้าง มีบ้านกระจัดกระจายอยู่บนเนิน เหมือนที่รุสโซได้บรรยายเอาไว้เมื่อเกือบ 300 ปีก่อน บรรยากาศเช่นนี้ยิ่งชวนให้จินตนาการถึงยุคสมัยของเขา รุสโซชื่นชอบการเดินเท้าไม่ต่างกันกับผู้เขียน และเขาคงเดินทางไป-กลับระหว่างช็องเบรีและเลส์ ชาร์เมตส์อยู่บ่อยๆ ในช่วงแรกที่บ้านสวนหลังนี้ยังคงเป็นเพียงที่พักตากอากาศสำหรับหนีความอึมครึมของบ้านหลังหลักในตัวเมือง
รุสโซบ่นถึงความเลวร้ายของบ้านในตัวเมืองช็องเบรีไว้ว่า
“…ที่นี่ไม่มีสวน ไม่มีลำธาร ไม่มีทิวทัศน์ มีแต่บ้านที่มืดและน่าหดหู่ อพาร์ตเมนต์ของข้าพเจ้านั้นอึมครึมเป็นที่สุด เมื่อมองออกไปจากหน้าต่างก็จะเห็นแต่กำแพงทึบ เห็นตรอกแคบๆ แทนที่จะเป็นถนน อากาศอับๆ ห้องเล็กๆ ตะแกรงเหล็ก หนู และพื้นเน่าๆ เรียกได้ว่าเป็นการรวมเอาเงื่อนไขของความไม่น่าอยู่อาศัยมารวมเข้าไว้ด้วยกัน…”
(จาก คำสารภาพ – เล่ม 5)
แม้จะเริ่มจากการเป็นบ้านพักตากอากาศ แต่ในเวลาไม่นาน เลส์ ชาร์เมตส์ ก็ได้กลายเป็นที่อยู่อาศัยหลักของรุสโซถึงราว 6 ปีด้วยกัน และนี่คือ 6 ปีอันเป็น ‘ห้วงแห่งความสุขอันแสนสั้น’ ที่รุสโซไม่มีวันลืม
ในปัจจุบัน เลส์ ชาร์เมตส์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้าเยี่ยมชมได้ฟรี เปิดทุกวันยกเว้นวันจันทร์และวันหยุดเทศกาล โดยเปิดตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น มีเครื่องบรรยายเสียงภาษาต่างๆ (Audio Guide) ให้เช่าในราคาเพียง 1 ยูโร แม้เลส์ ชาร์เมตส์ จะเพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส (Monument Historique) ใน ค.ศ. 1905 แต่บ้านสวนแห่งนี้เป็นเสมือนกับสถานที่แสวงบุญของผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตและผลงานของรุสโซมาตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้ว
เลส์ ชาร์เมตส์ ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ เมื่อมองจากถนนจะเห็นเป็นบ้านสองชั้นอยู่ท่ามกลางสวนที่ร่มรื่น เพียงเดินขึ้นเนินตามถนนโรยกรวดไปได้ไม่กี่สิบก้าว ก็จะถึงหน้ารั้วไม้เลื้อยที่ภายในแบ่งเป็นตัวบ้านและสวนสมุนไพร นอกรั้วยังมีสวนผลไม้และระเบียงไม้เลื้อยที่เต็มไปด้วยพวงองุ่นขนาดจิ๋ว
เมื่อเดินผ่านรั้วบ้านเข้ามาแล้ว สิ่งแรกที่สะดุดตาผู้เขียนก็คือแผ่นหินจารึกเก่าแก่จากสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสของมารีย์-ฌอง เอโรลต์ เดอ เซแชลส์ (Marie-Jean Hérault de Séchelles) ผู้พิพากษาและนักปฏิวัติ ที่ประดับอยู่บนฝาผนังบ้านเพื่ออุทิศให้อนุสรณ์สถานแห่งนี้
“…ที่พำนักของฌอง-ฌาค ผู้เคยอาศัยอยู่ที่นี่ทำให้เราได้ระลึกถึงอัจฉริยภาพของเขา ความโดดเดี่ยวและความทระนงของเขา ความทุกข์ทนและความบ้าบิ่นของเขา แด่ความยิ่งใหญ่ แด่ความจริงแท้ เขาอุทิศชีวิตตนให้อย่างกล้าหาญ แม้ถูกกลั่นแกล้งรังแกอยู่โดยเสมอ ทั้งเพราะสิ่งที่เขาจงใจทำ หรือเพียงเพราะถูกริษยา…”
เป็นจริงดังข้อความในวรรคสุดท้าย ชีวิตของรุสโซในวัยกลางคนเต็มไปด้วยการเดินทางเพื่อหลบหนีโทษทัณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม เพราะหนังสือปรัชญาการเมืองของเขาสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้มีอำนาจในสมัยนั้นอยู่ไม่น้อย ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจอะไรนักที่รุสโซจะมองเห็นวันเวลาของเขาที่เลส์ ชาร์เมตส์ เป็นเสมือนความสงบสุขในอุดมคติ การมาเยี่ยม ‘ความทรงจำในอุดมคติ’ ของเขาในวันนี้ อาจช่วยทำให้เราเข้าใจความรู้สึกนึกคิดและแรงบันดาลใจของรุสโซได้ไม่มากก็น้อย
เลส์ ชาร์เมตส์ ไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่รุสโซโหยหา แต่ยังมีความทรงจำของรักครั้งแรกที่ได้เปิดฉากขึ้นที่นี่ ขณะที่เขามีวัยได้ 20 ปี
ความรักครั้งแรกของรุสโซนั้นไม่ธรรมดา เพราะเขาตกหลุมรักกับผู้หญิงที่เขาเรียกว่า ‘แม่’ (Maman) และมีอายุมากกว่าถึง 13 ปี เธอเป็นหญิงหม้ายสูงศักดิ์ที่รับอุปการะเลี้ยงดูเขาในขณะตกยาก หรือหากจะใช้ภาษาตลาดเสียหน่อยก็คงจะต้องบอกว่า เธอเป็นคนเลี้ยงต้อยรุสโซ ผู้หญิงคนนี้มีชื่อว่า ฟร็องซัวส์-ลุยส์ เดอ วาร็องส์ (Françoise-Louise de Warens) หรือมาดาม เดอ วาร็องส์ (Madame de Warens) หญิงอภิชนที่มีคอนเนกชันกว้างขวาง และถูกฝากฝังให้ช่วยเลี้ยงดูรุสโซ เด็กหนุ่มวัย 16 ปี ผู้หัวดีแต่ขัดสน
ในตอนแรกความสัมพันธ์ของทั้งคู่มีลักษณะเหมือนแม่และลูกบุญธรรม แต่เมื่อรุสโซเป็นหนุ่มใหญ่มีอายุได้ 20 ปี มาดาม เดอ วาร็องส์ เป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอให้รุสโซมาเป็นหนึ่งในคนรักของเธอ ที่บอกว่าเป็นหนึ่งในคนรัก เพราะในเวลานั้นมาดาม เดอ วาร็องส์ คบหากับชายหนุ่มอีกคนหนึ่งอยู่แล้ว เขาคือ โคลด อาเน็ต (Claude Anet) พ่อบ้านของเธอเอง ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น โคลด อาเน็ต ล้มป่วยและเสียชีวิตลงตั้งแต่ยังหนุ่ม เปิดทางให้รุสโซกลายเป็นคนรักเพียงคนเดียวของมาดาม เดอ วาร็องส์ ในช่วงเวลาที่ทั้งคู่ย้ายไปอยู่อาศัยด้วยกันที่ เลส์ ชาร์เมตส์
ทั้งคู่ (รวมทั้งโคลด อาเน็ต) อาศัยอยู่ที่บ้านในตัวเมืองช็องเบรีเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่รุสโซจะรบเร้าให้มาดาม เดอ วาร็องส์ เสาะหาบ้านพักตากอากาศในชนบท พวกเขาสำรวจบ้านอยู่หลายหลังจนกระทั่งมาพบกับ เลส์ ชาร์เมตส์ และในวันแรกที่พวกเขาค้างคืนที่นี่ รุสโซบันทึกไว้ว่า
“… ‘โอ แม่จ๋า!’ ข้าพเจ้าพูดกับเพื่อนรักคนนี้ ขณะจุมพิตและถาโถมเธอด้วยน้ำตาแห่งความอบอุ่นและความปิติสุข การพำนักนี้เปี่ยมไปด้วยความสุขและความบริสุทธิ์ ถ้าเราไม่สามารถแสวงหามันได้จากที่นี่แล้วล่ะก็ เราจะหามันได้จากที่อื่นอีกหรือ…”
(จาก คำสารภาพ – เล่ม 5)
ซ้ายมือของแผ่นหินจารึกคือทางเดินเข้าสู่สวนสมุนไพรของมาดาม เดอ วาร็องส์ ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ้าน แม้ไม่มีบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าในสวนสมุนไพรนี้เคยมีพืชอะไรบ้าง แต่ทางพิพิธภัณฑ์ได้จำลองสวนขึ้นใหม่โดยสันนิษฐานจากสมุนไพรที่หาได้ทั่วไปในยุโรป มาดาม เดอ วาร็องส์ มีความสนใจในการปรุงยา และเธอก็เป็นคนที่ทำให้รุสโซในวัยหนุ่มมีความสนใจในด้านพฤกษศาสตร์ด้วยเช่นกัน หลายครั้งทั้งคู่มักศึกษาเรื่องพืชสมุนไพรต่างๆ ด้วยกัน แต่ในบางครั้งที่รุสโซฝึกซ้อมฮาร์ปซิคอร์ดอยู่ในห้องนั่งเล่น ส่วนมาดาม เดอ วาร็องส์ ก็ง่วนอยู่กับการปรุงยาอยู่ที่เตานั้น รุสโซมักหยอกล้อด้วยการชวนเธอมาร้องเพลงหรือเล่นดนตรีด้วยกัน ซึ่งเธอมักขู่ว่า “ถ้าเธอทำยาฉันไหม้ ฉันจะให้เธอกินให้หมด” รุสโซเล่าว่าเรื่องมักจบลงที่มาดาม เดอ วาร็องส์ ลืมยาที่ปรุงอยู่จริงๆ และเขาก็ถูกเธอเอาคืนด้วยการโดนละเลงใบหน้าด้วยผงขี้เถ้าจากหม้อยา
จากสวนสมุนไพรเราจะมองเห็นทิวทัศน์อันสวยงามของเทือกเขา เดอ ลา ชาร์เติร์ส (Massif de la Chartreuse) อันสูงตระหง่าน แต่ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า ในมุมหนึ่งของสวนมีก็อกน้ำที่ถูกปล่อยให้หยดเป็นจังหวะช้าๆ และอ่างเล็กๆ ที่ข้างในมีก้อนหินหลายก้อนเรียงอยู่ ในตอนแรกผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าเขามีไว้ทำไม แต่เมื่อเข้าไปใกล้ๆ จึงได้รู้ว่าเป็นอ่างน้ำที่ทำไว้ให้ผึ้งมาดื่ม ผึ้งชอบมาดื่มน้ำที่เปียกอยู่บนหินเช่นนี้ เพราะสามารถยึดเกาะกับก้อนหินและไม่เสี่ยงที่จะจมน้ำเหมือนแบบที่อยู่ในอ่าง
จะว่าไปแล้วรุสโซเองก็มีเพื่อนเป็นฝูงผึ้ง เขาเล่าว่าที่ท้ายสวนมีรังผึ้งอยู่หลายรัง และเขาจะต้องมาเยี่ยมพวกมันทุกวันอย่างขาดเสียไม่ได้ เขาสนใจในกิจวัตรของพวกผึ้ง และรู้สึกทึ่งที่เห็นพวกมันแบกก้อนเกสรไว้ที่ขาเล็กๆ จนเดินแทบไม่ได้ ความพยายามผูกมิตรอย่างไม่ระวัดระวังในช่วงแรกทำให้รุสโซโดนผึ้งต่อยไปเสียหลายที แต่เขาเล่าว่าเมื่อเวลาผ่านไป พวกมันก็ค่อยๆ เชื่องและไม่ต่อยเขาอีก แถมยังชอบป่ายปีนไปตามใบหน้าและมือของเขาอีกด้วย
ในสวนนี้เองที่มาดาม เดอ วาร็องส์ ยื่นข้อเสนอให้รุสโซกลายมาเป็นคนรักของเธอ รุสโซเล่าไว้ใน คำสารภาพ ว่า
“…เราจึงไปที่นั่นในเช้าวันรุ่งขึ้น เธอจัดแจงให้เราได้อยู่กันตามลำพังตลอดทั้งวัน เพื่อช่วยให้ข้าพเจ้าได้เตรียมพร้อมกับความสุขเหล่านั้นที่เธอหมายจะมอบให้ หาใช่ในแบบที่สตรีคนอื่นจะทำด้วยการหยอกเอินหรือแสดงออกอย่างล้นเกิน แต่ด้วยคำพูดที่เต็มไปด้วยความรู้สึกและเหตุผล เธอชี้แนะมิได้ยั่วยวน และสิ่งเหล่านั้นสื่อสารกับข้าพเจ้าที่หัวใจมากกว่าร่างกาย ขณะเดียวกัน แม้ว่าวาจาเหล่านั้นจะถูกเอื้อนเอ่ยอย่างงดงามและชัดเจนเพียงใด และถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เย็นชาหรือเศร้าโศกอะไร ข้าพเจ้ากลับไม่ได้ใส่ใจมันอย่างที่ควรจะเป็น ไม่แม้กระทั่งสลักฝังมันไว้ในความทรงจำเช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าคงจะทำในวาระโอกาสอื่นๆ
“ท่วงท่าที่ดูมั่นคงแน่ใจของเธอทำให้ข้าพเจ้ากระวนกระวาย ขณะที่เธอพูด (แม้ข้าพเจ้าจะพยายามฝืนสักเท่าไหร่) ข้าพเจ้ากลับจมอยู่ในห้วงคิดและใจลอยไปไกล ไม่ได้ใส่ใจข้อความที่เธอจะสื่อ แต่กระหายใคร่รู้ว่าสิ่งใดกันที่เธอมาดหมาย และทันทีที่ข้าพเจ้าเข้าใจจุดประสงค์ของเธอ (ซึ่งโดยปกติ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย) แวบความคิดใหม่ ซึ่งตลอดเวลาหลายปีที่ข้าพเจ้าใช้ร่วมกับเธอ ไม่เคยเยื้องกรายเข้ามาในจินตนาการของข้าพเจ้าแม้แต่น้อย ก็ผุดขึ้นมา และครอบงำทุกอณูของข้าพเจ้าจนไม่อาจรับรู้คำพูดของเธอได้อีกต่อไป! ในหัวของข้าพเจ้ามีแค่เธอ หูของข้าพเจ้าไม่ได้ยินเธออีกแล้ว…”
(คำสารภาพ – เล่ม 5)
เธอให้เวลาเขาตัดสินใจ 8 วัน และนั่นเป็น 8 วันที่เขาตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ 88 วันที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์จากแม่และลูกบุญธรรมเป็น ‘คนรัก’ และเราก็ได้รู้ว่าคำตอบคือ ‘ตกลง’
หลังเดินชมสวนพลางมองดูวิวเทือกเขาที่สวยงามไปพลาง ผู้เขียนก็เดินเข้าสู่ตัวบ้านซึ่งภายในมีการประดับอย่างเรียบง่าย ตามโถงทางเดินมีคำบรรยายประวัติของรุสโซและมาดาม เดอ วาร็องส์ รวมทั้งเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเลส์ ชาร์เมตส์ที่น่าสนใจติดตั้งอยู่
ห้องแรกที่ผู้เขียนได้ชมก็คือห้องรับประทานอาหารที่มีการจัดโต๊ะเอาไว้สำหรับสองคน ใกล้กันกับโต๊ะรับประทานอาหารมีภาพวาดของรุสโซที่จำลองมาจากภาพวาดจริงในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส สมัยที่บ้านแห่งนี้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญและเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวสาธารณรัฐ (ซึ่งเราอาจจะจินตนาการได้ว่ามีผู้เลื่อมใสรุสโซพากันเดินทางไกลมาแสดงความคารวะกับรูปภาพนี้)
ถัดจากนี้คือห้องนั่งเล่นที่มีประตูเชื่อมกันกับสวนสมุนไพร หน้าต่างบานใหญ่อนุญาตให้แสงสว่างส่องเข้ามาเต็มที่ ในห้องนี้เองที่รุสโซมักฝึกซ้อมฮาร์ปซิคอร์ดและถูกมาดาม เดอ วาร็องส์ ละเลงใบหน้าด้วยขี้เถ้าจากหม้อสมุนไพร นอกจากความสว่างที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากห้องรับประทานอาหารแล้ว ฝาผนังยังถูกตกแต่งด้วยลวดลายเถาวัลย์และดอกไม้แบบจีนอีกด้วย
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับห้องนี้ก็คือการที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักรุสโซในฐานะนักประพันธ์ดนตรีเท่ากับในฐานะนักปรัชญาและนักเขียน ความสามารถด้านดนตรีของรุสโซเป็นผลของการที่มาดาม เดอ วาร็องส์ ให้การศึกษากับรุสโซอย่างดี และเคยหาครูมาสอนวิชาดนตรีให้เขาเป็นการส่วนตัวอีกด้วย นอกจากบทเพลงหลายสิบชิ้น รุสโซยังคิดค้นระบบบันทึกโน้ตที่เป็นตัวเลขอยู่บนบรรทัดเดียว เช่นเลข 1 4 7 แทนเสียง โด ฟา และที เป็นต้น ซึ่งต่างจากการบันทึกโน้ตในปัจจุบันที่ใช้ระบบบรรทัด 5 เส้น รุสโซจริงจังมากถึงขนาดเคยเสนอความคิดนี้กับราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ (Académie des Sciences) สถาบันทางวิชาการชั้นสูงของฝรั่งเศสซึ่งเป็นต้นแบบให้กับราชบัณฑิตยสถานของไทย แต่ราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ปฏิเสธระบบของรุสโซ โดยวิจารณ์ว่าเปล่าประโยชน์และไม่ใช่ความคิดใหม่แต่อย่างใด ถึงกระนั้นยังได้ยกย่องถึงความรอบรู้และความสามารถด้านดนตรีของเขา
จบจากห้องนั่งเล่น ผู้เขียนเดินย้อนกลับไปยังห้องโถงที่อยู่ก่อนถึงห้องรับประทานอาหารเพื่อเดินขึ้นบันไดสู่ชั้นสองของบ้าน ก่อนจะขึ้นบันได มีเกี้ยวที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเอาไว้ แม้ไม่ได้มีคำอธิบายพิเศษอะไร แต่ผู้เขียนเข้าใจว่าเขาต้องการแสดงตัวอย่างของเกี้ยวที่มาดาม เดอ วาร็องส์ ใช้สำหรับการเดินทางจากเมืองช็องเบรีมาเลส์ ชาร์เมตส์
“…ในวันแรกที่เราเดินทางมาพำนักที่เลส์ ชาร์เมตส์ ทางค่อนข้างชัน และตัวมาดาม เดอ วาร็องส์ ก็ค่อนข้างหนัก เธอนั่งอยู่ในเกี้ยว ส่วนข้าพเจ้าเดินเท้าตาม เธอขอลงกลางทางด้วยกลัวว่าคนหามเกี้ยวจะเมื่อยล้า จากนั้นเธอจึงตัดสินใจเดินต่อในครึ่งทางที่เหลือ…”
(คำสารภาพ – เล่ม 6)
สิ่งแรกที่ผู้เขียนเห็นเมื่อขึ้นมาถึงชั้นบนก็คือแท่นบูชาไม้ขนาดเล็ก ตรงกลางเป็นรูปพระแม่มารีย์อุ้มพระคริสต์ ผู้เขียนไม่แน่ใจในเรื่องความเคร่งศาสนาของทั้งสองคนมากนัก มาดาม เดอ วาร็องส์ และรุสโซต่างกำเนิดในครอบครัวโปรเตสแตนต์ (รุสโซเป็นคนเจนีวา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์) แต่ทั้งคู่เปลี่ยนมานับถือนิกายคาทอลิกในภายหลัง ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องศาสนา เช่น มาดาม เดอ วาร็องส์ เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เพื่อรับเบี้ยช่วยเหลือของศาสนจักรสำหรับคนเปลี่ยนศาสนา (ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้ในการต่อสู้กับการแผ่ขยายของนิกายโปรเตสแตนต์จากเจนีวาซึ่งอยู่ห่างไปไม่กี่สิบกิโลเมตร) แม้แต่รุสโซเอง ก็จะเปลี่ยนศาสนากลับไปเป็นโปรเตสแตนต์อีกในอนาคต เพื่อรื้อฟื้นสถานะพลเมืองเจนีวาของตนเอง
ขวามือของแท่นบูชามีห้องนอนหลัก 2 ห้อง ซึ่งเป็นของรุสโซและของมาดาม เดอ วาร็องส์ ทั้งสองห้องถูกตกแต่งอย่างเรียบง่ายด้วยวอลเปเปอร์เป็นลวดลายต่างๆ ห้องนอนของรุสโซใหญ่กว่าเล็กน้อย เพราะเชื่อมต่อกับห้องนอนของคนรับใช้ที่อยู่ใต้หลังคา เสียดายว่าทางพิพิธภัณฑ์ไม่ได้เปิดให้เยี่ยมชม น่าสนใจว่าคนรับใช้อาศัยกันอยู่อย่างไร ห้องของพวกเขาอยู่บนที่นอนของรุสโซและดูไม่น่าจะมีพื้นที่ใช้สอยมากนัก
การเยี่ยมชมตัวบ้านมาถึงจุดสิ้นสุดที่ห้องนอนของมาดาม เดอ วาร็องส์ พลันที่ผู้เขียนก็นึกถึงฉากจบชีวิตรักของรุสโซกับมาดาม เดอ วาร็องส์ ซึ่งเกิดขึ้นที่นี่เช่นกัน
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อรุสโซได้รับคำแนะนำจากแพทย์ส่วนตัวให้เดินทางไปยังสวนสมุนไพรในต่างจังหวัดเพื่อรักษาอาการป่วยเรื้อรังของเขา ในระหว่างที่เขาอยู่ต่างจังหวัด แม้จะเขียนจดหมายติดต่อกับมาดาม เดอ วาร็องส์ อยู่ตลอด แต่จดหมายตอบกลับของเธอกลับน้อยลงทุกที เวลาหลายเดือนผ่านไป เมื่อเขากลับมาถึงช็องเบรีด้วยความตื่นเต้น ด้วยหวังว่าจะเห็นมาดาม เดอ วาร็องส์ ยืนรอต้อนรับเขาอยู่ที่ถนน แต่เขากลับพบว่า
“…ข้าพเจ้าไม่เห็นใครอยู่ในสวน ที่ประตู หรือที่หน้าต่าง ความพรั่นพรึงเข้าจับหัวใจของข้าพเจ้า ด้วยความกลัวว่าจะมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น เมื่อเข้าไปในบ้าน ทุกอย่างเงียบสงัด คนงานกำลังทานอาหารเที่ยงอยู่ในครัวในสภาพที่ห่างไกลนักกับการเตรียมตัวต้อนรับข้าพเจ้า คนรับใช้ต่างตกใจเพราะไม่นึกว่าจะเห็นข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเดินขึ้นบันได แล้วก็มองเห็นเธออยู่ไกลๆ เพื่อนที่รักของข้าพเจ้า! ช่างอ่อนหวาน เธอเป็นคนที่ข้าพเจ้ารักหมดทั้งหัวใจอย่างแท้จริง ข้าพเจ้ารีบวิ่งเข้าไปหาเธอ โถมตัวแทบเท้าของเธอ”
“อา! เด็กน้อย เธอกล่าว เธอกลับมาแล้วสินะ เธอพูดพลางกอดข้าพเจ้า การเดินทางเป็นอย่างไรบ้าง เธอสบายดีไหม การต้อนรับนี้ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจอยู่ไม่น้อย ข้าพเจ้าจึงถามเธอไปว่า เธอได้รับจดหมายของข้าพเจ้าบ้างหรือไม่ เธอตอบ ได้สิ ซึ่งข้าพเจ้าพูดกลับว่า ผมกลับคิดว่าไม่น่าจะได้รับเสียอีก แล้วคำตอบก็กระจ่างอยู่ในตัว ชายหนุ่มคนหนึ่งอยู่กับเธอตลอดเวลา ข้าพเจ้าพอจะจำได้อยู่เลาๆ ว่าเคยเห็นชายคนนี้ในบ้านก่อนที่จะจากไปต่างจังหวัด แต่การปรากฏกายของเขาในครั้งนี้ได้แสดงถึงสถานะอย่างชัดเจน นั่นคือ ข้าพเจ้าได้ถูกแทนที่เสียแล้ว! …”
(คำสารภาพ – เล่ม 6)
แม้รุสโซวัยหนุ่มจะค้นพบความจริงว่าพื้นที่ในหัวใจของมาดาม เดอ วาร็องส์ ได้ถูกคนอื่นจับจองไปเสียแล้ว และเขาไม่ใช่คนรักคนโปรดอีกต่อไป ถึงกระนั้นเขาก็พยายามอาศัยร่วมกันกับคนรักของคนใหม่ของมาดาม อย่างที่เขาเคยอาศัยร่วมกันกับโคลด อาเน็ต แต่แล้วเขาก็พบว่าตนเองไม่สามารถทนเห็นมาดาม เดอ วาร็องส์ แสดงความรักกับคนอื่น (อันที่จริงรุสโซยังได้บรรยายด้วยว่าชายหนุ่มคนใหม่นี้ทั้งไม่เอื้ออารีเหมือนดังโคลด อาเน็ต และทั้งไม่ค่อยฉลาด มีลักษณะท่าทางเหมือนพวกพระเอกในละครที่รู้จักแต่การใช้กำลัง) ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจจากเลส์ ชาร์เมตส์มา
การเดินทางออกจากเลส์ ชาร์เมตส์ ของรุสโซเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาเห็นบ้านสวนหลังนี้ เขาได้พบมาดาม เดอ วาร็องส์ อีกในราว 20 ปีต่อมาที่เจนีวา เมื่อเธอมีอายุได้ 55 ปี และผ่านพ้นร่องรอยของความสาวไปจนหมดสิ้นแล้ว หลังจากนั้นเมื่อเขากลับจากการลี้ภัยที่ประเทศอังกฤษใน ค.ศ. 1767 และต้องการพบมาดาม เดอ วาร็องส์ อีกครั้ง เขาจะได้รับรู้ข่าวอันน่าเศร้าว่ามาดาม เดอ วาร็องส์ ได้เสียชีวิตอย่างอนาถาไปก่อนหน้าแล้วถึง 6 ปีด้วยกัน แม้มาดาม เดอ วาร็องส์ จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เรารู้ได้จากงานเขียนของรุสโซว่าความทรงจำของเธอยังประทับอยู่ในหัวใจของเขาเสมอมา
เมื่อรุสโซเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยเส้นเลือดในสมองแตกในวัย 66 ปี เขาได้ทิ้งงานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ยังเขียนไม่เสร็จ ชื่อ ห้วงคำนึงของนักเดินเท้าผู้สันโดษ (Les Rêveries du promeneur solitaire) เอาไว้ หนังสือเล่มนี้มี 10 บท มีเพียงบทสุดท้ายที่ยังเขียนไม่เสร็จ และเป็นบทที่บันทึกความทรงจำของเขากับมาดาม เดอ วาร็องส์… บางทีห้วงคำนึงสุดท้ายของรุสโซอาจจะนึกถึงมาดาม เดอ วาร็องส์ ก็เป็นได้
และแล้วก็ถึงเวลาที่ผู้เขียนจะต้องอำลาเลส์ ชาร์เมตส์ ไว้ข้างหลัง แล้วเดินเท้ามุ่งหน้าสู่เมืองช็องเบรี ผู้เขียนไม่รู้หรอกว่าในขณะที่รุสโซเดินทางจากเลส์ ชาร์เมตส์ มานั้น เขากำลังคิดอะไรอยู่ แต่ผู้เขียนขอยกข้อความส่วนหนึ่งใน คำสารภาพ ซึ่งเขาได้เขียนขึ้นภายหลังเหตุการณ์เป็นเวลาหลายปีมาให้ผู้อ่านได้พิจารณา
“…ข้าพเจ้าหยุดเปรียบเทียบไม่ได้เลยระหว่างชีวิตในตอนนี้ กับชีวิตที่ข้าพเจ้าเดินจากมา ความทรงจำของ ‘เลส์ ชาร์เม็ตส์’ อันเป็นที่รัก สวนหย่อม ต้นไม้ น้ำพุ สวนผลไม้ และเหนือสิ่งอื่นใด คือการได้มีเธออยู่ด้วย เธอผู้เกิดมาเพื่อมอบชีวิตและจิตวิญญาณให้กับความอภิรมย์ทั้งหลาย เมื่อนึกถึงความสุขและชีวิตอันไร้เดียงสาของเรา
“หัวใจของข้าพเจ้าถูกเกาะกุมด้วยความเจ็บปวดและหน่วงหนักจนหมดไร้ซึ่งเรียวแรงที่จะทำอะไรๆ อย่างที่ควรจะเป็น เป็นร้อยครั้งได้แล้วที่ข้าพเจ้าอยากจะออกเดินเท้าไปหามาดาม เดอ วาร็องส์ ผู้เป็นที่รักให้ได้เสีย ณ บัดนั้น เชื่อว่าถ้าข้าพเจ้าได้พบเธออีกแค่สักเพียงครั้ง ข้าพเจ้าคงจะเป็นสุขหัวใจจนแทบจะตายได้ในตอนนั้นเลย ท้ายที่สุด ข้าพเจ้าก็ไม่อาจต้านทานอารมณ์อันอ่อนไหวที่เรียกข้าพเจ้ากลับไปหาเธอ ไม่ว่าจะต้องเสียอะไร ข้าพเจ้าโทษตัวเองที่ไม่อดทน โอนอ่อน และอ่อนหวานพอ ไม่อย่างนั้นแล้วข้าพเจ้าอาจจะยังได้ใช้ชีวิตร่วมกับเธออย่างมีความสุข ด้วยมิตรภาพอันอ่อนโยน และด้วยการแสดงสิ่งเหล่านั้นให้เธอได้เห็นมากกว่าที่ข้าพเจ้าเคยทำมา
“ข้าพเจ้าวาดฝันถึงสิ่งที่งดงามที่สุดที่จะทำกับเธอ ร้อนรนที่จะทำสิ่งเหล่านั้น ทอดทิ้งทุกสิ่ง สละทุกอย่าง ออกเดินทาง โบยบิน และมาถึงแทบเท้าของเธออีกครั้งด้วยความเสน่หาทั้งหมดของวัยแรกหนุ่ม โธ่เอ๋ย ข้าพเจ้าน่าจะตายไปเสียซะตรงนั้นด้วยความปิติ หากในการต้อนรับของเธอ ในอ้อมแขนของเธอ หรือในหัวใจของเธอ ข้าพเจ้าได้รู้สึกแค่เพียงเสี้ยวหนึ่งของสิ่งที่ข้าพเจ้าเคยได้สัมผัส และจากสิ่งนั้น ข้าพเจ้าได้รับความอบอุ่นอันไม่เสื่อมคลาย…”
คำสารภาพ -เล่ม 6
Write on The Cloud
Travelogue
ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ
Write on The Cloud
Travelogue
ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ