ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ขณะที่ร้านอาหารและร้านกาแฟหลายร้านจำต้องปิดตัวไป ร้าน LEMONADE by Lemonica เปิดสาขาใหม่ 9 สาขาในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในช่วง 3 ปีแรกที่ทำธุรกิจ ทางร้านเปิดสาขาไปแล้วกว่า 30 สาขา และมีแผนจะขยายสาขามากขึ้นเรื่อยๆ
สินค้าของร้านนี้มีเพียงชนิดเดียว คือ ‘น้ำมะนาว’
เหตุใดร้านที่ขายสินค้าเพียงชนิดเดียวจึงอยู่รอดได้ เหตุใดจึงไม่ค่อยมีร้านอื่นทำเลียนแบบร้านนี้ ตามมาค้นหาคำตอบกันค่ะ
จุดเริ่มต้นของร้านมะนาว
สมัยอยู่อเมริกา เซจิ คาวามูระ (Seiji Kawamura) เคยไปงาน Garage Sales ครอบครัวอเมริกันจะนำข้าวของที่ไม่ใช้ออกมาวางขายหน้าบ้าน คาวามูระสังเกตว่าเด็กๆ อเมริกันมักทำน้ำมะนาวขายหน้าบ้านตนเอง เขาชอบบรรยากาศสนุกสนาน คึกคัก ขณะเดียวกันก็มีความอบอุ่น คาวามูระจึงสนใจจำลองบรรยากาศเช่นนี้ในญี่ปุ่นบ้าง
ยิ่งศึกษา เขาก็ยิ่งพบโอกาสทางธุรกิจ ในญี่ปุ่น กระแสชานมไข่มุกกำลังเป็นที่นิยม มีร้านจำหน่ายชานมไข่มุกเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับชานมไข่มุกแล้ว น้ำมะนาวเป็นน้ำที่ดื่มง่าย ให้ความสดชื่น ตรงกับรสนิยมคนญี่ปุ่น
คาวามูระตั้งชื่อร้านง่ายๆ ว่า LEMONADE by Lemonica เป็นชื่อที่เห็นปุ๊บ รู้ปั๊บเลยว่าร้านนี้จำหน่ายอะไร
แต่หากน้ำมะนาวทำได้ง่ายขนาดเด็กๆ ก็ทำขายได้ จะทำอย่างไรให้ร้านน้ำมะนาวนี้เป็นร้านที่มีเอกลักษณ์กันล่ะ
อาวุธลับ
แม้น้ำมะนาวจะทำได้ง่ายก็จริง แต่คาวามูระก็มุ่งมั่นสร้างความแตกต่าง เขาพยายามหาวิธีสกัดน้ำมะนาวสดออกมาโดยไม่ได้ใช้ความร้อนเพื่อคงรสเปรี้ยวแต่หอมอ่อนๆ ของเลม่อนได้ โดยเขาเป็นคนแรกในญี่ปุ่นที่ทำวิธีนี้
สารสกัดมะนาวเหล่านี้จะถูกส่งจากโรงงานไปที่หน้าร้าน ให้พนักงานชงสดๆ ให้ลูกค้าทีละแก้วๆ โดยไม่ต้องเสียเวลานั่งหั่นและคั้นเลม่อน นั่นทำให้แต่ละร้านคุมคุณภาพและรสชาติได้ดียิ่งขึ้นด้วย
นอกจากนี้ คาวามูระเลือกใช้มะนาวปลอดสารพิษ เพื่อให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ดื่มได้อย่างสบายใจ

น้ำมะนาวที่คนอยากดื่มทุกๆ วัน
คาวามูระมองว่า การที่ธุรกิจจะอยู่ได้นั้น ลูกค้าต้องกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง อะไรจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าไม่เบื่อน้ำมะนาว และอยากกลับมาที่ร้านบ่อยๆ ล่ะ
ร้าน LEMONADE by Lemonica เตรียมเมนูน้ำเลม่อน 22 แบบ ทั้งเมนูทั่วไปและเมนูประจำฤดูกาล เพื่อให้ลูกค้าสนใจลิ้มลอง เช่น เลม่อนผสมพีชโซดา เลม่อนฟองชีส เลม่อนผสมโคล่า ชามะนาว

ลูกค้าเลือกได้ว่าจะรับน้ำเลม่อนแบบเย็น ร้อน หรือผสมโซดา โดยเลือกระดับความหวานและชนิดของน้ำเชื่อมได้อีกด้วย

คอนเซปต์ของร้านคือ “น้ำเลม่อนธรรมชาติที่ดื่มได้ทุกวัน โดยชงสดทีละแก้วอย่างใส่ใจ”
ไม่ได้พูดถึงความอร่อยสักคำ แต่อ่านแล้วรู้สึกอยากสั่งมาดื่มทันที
LEMONADE by Lemonica มิได้ชูเพียงความอร่อยธรรมดาๆ แต่เน้นไปที่ ‘รสชาติที่คนอยากดื่มทุกวัน’ ผสมความธรรมชาติ (ทำให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจ) และความใส่ใจ (ชงสดๆ ทุกแก้ว)
น้ำเลม่อนที่นี่จึงมีรสชาติหอมอ่อนๆ แต่ดื่มแล้วไม่บาดคอ

ภาพ : www.iza.ne.jp/kiji/life/
มองเห็นตอนจบก่อนสร้างร้าน
โดยปกติแล้ว หากเราทำร้านอาหารหรือคาเฟ่ เจ้าของอาจพุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาเมนูอาหาร รสชาติ แต่คาวามูระมิได้ทำเช่นนั้น
เขาใส่ใจในรสชาติน้ำมะนาวก็จริง แต่เขาให้ความสำคัญกับการออกแบบร้านไม่แพ้กัน
ร้าน LEMONADE by Lemonica ถูกออกแบบให้ใช้พื้นที่น้อยมาก เพียง 3.5 ตารางเมตรเท่านั้น จุดประสงค์หลัก คือการลดต้นทุนนั่นเอง

เนื่องจากเมนูมีเพียงน้ำเลม่อน คาวามูระไม่จำเป็นต้องเตรียมหม้อต้ม (เหมือนของชาไข่มุก) หรือวัตถุดิบอันหลากหลาย เคาน์เตอร์วางอุปกรณ์มีเพียงแก้วพลาสติก โถขนาดใหญ่ใส่น้ำมะนาว (ที่ผสมกับน้ำเปล่าแล้ว) ตรงเคาน์เตอร์ด้านล่าง ช่องหนึ่งเป็นที่วางขวดน้ำเชื่อมรสต่างๆ อีกช่องเป็นที่ใส่น้ำแข็ง พนักงานสามารถยืนตรงเคาน์เตอร์นี้และชงเครื่องดื่มทั้ง 22 ชนิดโดยไม่ต้องเดินไปเดินมา
แต่ละร้านใช้พื้นที่เพียง 3.5 ตารางเมตร และต้องการพนักงาน 1 – 2 คนก็เพียงพอ
เนื่องจากน้ำมะนาวไม่ต้องใช้หม้อต้มชาไข่มุกหรือทำเครื่องซีลถ้วย ต้นทุนค่าน้ำค่าไฟก็ยิ่งถูกลงไปอีก ยิ่งบริษัทขยายสาขามากขึ้น ต้นทุนก็ยิ่งต่ำลง นั่นเป็นสาเหตุที่ทำไม LEMONADE by Lemonica จึงขยายสาขาอย่างรวดเร็วเช่นนี้ กว่าบริษัทอื่นจะเลียนแบบทัน ก็ไล่ตามร้านไม่ทันเสียแล้ว
ทางร้านทำกำไรได้สูงถึงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยวงการ แต่ละสาขาสามารถทำรายได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 5 ล้านเยน (1.6 ล้านบาท) เลยทีเดียว
สรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จของทางร้าน
ร้าน LEMONADE by Lemonica ทำสินค้าง่ายๆ ที่คนทั่วไปพอทำได้ให้กลายเป็นธุรกิจหลักล้านได้อย่างไร จากการวิเคราะห์ ดิฉันคิดว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จน่าจะเป็นสิ่งต่อไปนี้ค่ะ
- การมีกรรมวิธีสกัดน้ำมะนาวที่พิเศษและยากที่จะเลียนแบบ
- การตั้งเป้าตั้งแต่ก่อนเริ่มธุรกิจ ว่าจะทำให้ร้านเป็นร้านที่คนอยากกลับมาซื้อทุกวัน ซึ่งส่งผลไปที่การออกแบบรสชาติ การเลือกใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัย และน้ำเลม่อนรสใหม่ๆ
- การออกแบบร้าน โดยเน้นไปที่ร้านเล็ก ต้นทุนต่ำ เพราะฉะนั้น แม้ทางร้านจะเลือกทำเลหน้าสถานีรถไฟ หรือย่านช้อปปิ้งที่คนเดินผ่านพลุกพล่าน ต้นทุนค่าเช่าที่และค่าแรงก็ยังไม่สูงมากจนเกินไป
- การออกแบบโมเดลธุรกิจในลักษณะยิ่งโต ยิ่งต้นทุนต่ำ ยิ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน