เราก้าวเข้าไปในบ้านของ ลาวัณย์ อุปอินทร์ พร้อมข้าวของพะรุงพะรังในมือ หนึ่งในนั้นเป็นกล่องคุกกี้และการ์ดเขียนมือจากคุณย่า ผู้เป็นเพื่อนอาจารย์รุ่นน้องที่เคารพรักอาจารย์ลาวัณย์ยิ่ง

หลายสิบปีที่แล้ว ในยุคที่ ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ยังมีชีวิต ลาวัณย์ อุปอินทร์ เป็นบัณฑิตหญิงคนแรกของคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และ 7 ปีที่แล้ว เธอก็กลายเป็นศิลปินแห่งชาติหญิง สาขาทัศนศิลป์ คนแรกของประเทศไทยด้วย 

อาจารย์ลาวัณย์ เป็นศิลปินที่เชี่ยวชาญในการวาดรูปเหมือน จนได้รับเลือกเข้าไปวาดรูปเหมือนในราชสำนักอยู่หลายปี หากคุณเป็นคนรุ่นใหม่ คุณอาจเคยได้ยินชื่อของเธอจากข่าวที่เธอออกมาแสดงความคิดเห็นต่อ 3 ข้อเรียกร้องของม็อบราษฎร เมื่อครั้งการเมืองคุกรุ่น พ.ศ. 2563 แต่หากคุณเป็นคนยุคก่อน คุณอาจรู้จักเธอในชื่อ ลาวัณย์ ดาวราย ครูสอนศิลปะในช่อง 4 บางขุนพรหม และนางเอกแสนสวยหน้าคมในละครเรื่อง ไอด้า ทั้งสวยทั้งเก่งแบบนี้ไม่ได้มีสักกี่คน

ก้าวย่างตามทางที่เชื่อของ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ จิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ก้าวย่างตามทางที่เชื่อของ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ จิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

ปัจจุบันอาจารย์ลาวัณย์อายุ 87 ย่างเข้า 88 ปี ยังคงแข็งแรงเดินเหินได้ดี ยังเขียนรูปอยู่อย่างเคย และทำบ้านของตัวเองที่อยู่กับสามี อาจารย์สมโภชน์ อุปอินทร์ ศิลปิน Cubism และลูก ๆ ตั้งแต่ยังสาว เป็นแกลเลอรี อาร์ตช็อป และโรงเรียนสอนศิลปะ ชื่อว่า ‘House of Upa-In’ โดยมีลูกชาย อิศร์ อุปอินทร์ รับหน้าที่ออกแบบทุกสิ่งอย่างให้ร่วมสมัย

ในวันที่ทางแกลเลอรีกำลังเตรียมนิทรรศการใหม่และไม่ได้เปิดให้เข้าชม เราได้รับเกียรติให้เข้าไปนั่งคุยสบาย ๆ กับอาจารย์ลาวัณย์เกี่ยวกับชีวิตขัดใจแม่ในวัยเยาว์ บทบาทสนุกหวือหวาที่เคยได้ทำในชีวิต มรสุมที่เคยรุมเร้า มาจนถึงปัจจุบันที่ได้ทำอะไรใหม่ ๆ แม้อายุจะมากขึ้น 

ซึ่งไม่ว่าจะช่วงชีวิตไหน อาจารย์ลาวัณย์ก็เป็นคนที่รู้จักตัวเองเป็นอย่างดี เลือกเส้นทางชีวิตด้วยตัวเองอย่างมั่นใจ และเต็มที่กับทุกโอกาสที่เข้ามาเสมอ ไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะเท่ได้สักครึ่งของอาจารย์ลาวัณย์ไหม

พบกับบทสัมภาษณ์สตรีผู้ผ่านคืนวันมามากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ The Cloud ได้ ณ บัดนี้

ก้าวย่างตามทางที่เชื่อของ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ จิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

ขัดใจแม่

อาจารย์จำได้มั้ยคะ ว่าทำไมชอบวาดรูป

เห็นพี่สาว พี่สาวเขาเขียนรูปเป็นตุ๊กตานะคะ แล้วก็ใส่เสื้อ ๆ ก็ดูเขาเขียน แล้วเราก็เลยเขียนบ้าง พอเขาเลิกเขียนแล้วเราก็ยังเขียนต่อ ตอนนั้นก็เขียนไปเรื่อย ๆ ส่วนมากจะเขียนคนริมข้างทาง ไม่ได้เขียนแต่หน้านะคะ

แล้วพอที่บ้านรู้ว่าชอบด้านศิลปะ ที่บ้านสนับสนุนไหมคะ

ไม่นะคะ คุณแม่ (ม.ร.ว.อบลออ ดาวราย) บอกว่าไงรู้ไหมคะ บอกว่าดิฉันน่ะบ๊องอยู่แล้ว เรียนศิลปะท่าจะบ้าไปเลย เขากลัวลูกบ้า คนส่วนมากคิดว่าพวกช่างเขียนเนี่ย บ้า ๆ บอ ๆ อะค่ะ

ที่บ้านอยากให้เป็นอาจารย์สอนหนังสือค่ะ อยากให้เหมือนคุณแม่ คุณแม่สอนวิชาอะไรก็จำไม่ได้เหมือนกัน (ลูกชาย : คุณยายสอนภาษาอังกฤษรึเปล่าครับ)

ก้าวย่างตามทางที่เชื่อของ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ จิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

แล้วทำไมอาจารย์ถึงตัดสินใจเรียนศิลปะคะ ขัดใจที่บ้านรึเปล่า

คุณแม่ไม่ยอมให้เรียน แต่สาเหตุที่ไปเริ่มเรียนนี่นะคะ ตอนนั้นเรียนอยู่สตรีวัดระฆัง แล้วข้ามฟากไปกรมศิลปากร เขากำลังแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติอยู่ ก็จะเข้าไปดูงานแสดงค่ะ พอดีไปถึงข้างหน้าแล้วเจอผู้ชายคนหนึ่ง เป็นพี่ชายของเพื่อน เขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรที่จะเข้าไปดูรูปเหมือนกัน เขาถามว่ามาทำไมเนี่ย ก็บอกว่ามาดูรูป เขาบอก เอองั้นก็ไปด้วยกัน กำลังจะไปดูเหมือนกัน

เขาก็อธิบายอะไรเยอะนะ เราสนใจมากเลย เขาถามว่าดูสนใจมากจริง ๆ เลยนะ ชอบมากเหรอ นี่ก็บอกชอบค่ะ อ้าวแล้วทำไมไม่เรียนล่ะ เราก็บอก อยากเรียนเหมือนกันค่ะ แต่ทางบ้านไม่ยอมให้เรียน เขาเลยบอกว่าเอาอย่างงี้นะ วันเสาร์จะสอนดรออิ้งให้ ปกติวันเสาร์เราก็อยู่บ้านเฉย ๆ อยู่แล้ว ก็เลยไปเรียนดรออิ้ง เขาก็จัดกลุ่มให้เขียน เขียนอยู่หลาย ๆ วันเหมือนกันค่ะ แล้วพี่ชายเพื่อนเขาก็มาบอกข่าวดีว่าปีหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากรจะเปิดเตรียมของมหาวิทยาลัยแล้ว (โรงเรียนเตรียมศิลปากร)

เราก็แอบดีใจอยู่นะคะ พอเขาประกาศเราเลยไปสมัครโดยไม่บอกใคร แล้วก็สอบเข้าได้ที่ 1 ด้วยค่ะ ที่เราสอบเข้าได้ที่ 1 ไม่ใช่เพราะเก่งนะคะ แต่เป็นเพราะว่าเราได้ฝึกมือดรออิ้ง แต่คนอื่นไม่มีโอกาส เราแอบดีใจเงียบ ๆ แล้วก็สองจิตสองใจอยู่ว่าจะทำไงดีถึงจะไปบอกที่บ้านได้

แล้วตอนนั้นทำยังไงคะ

เราก็ทำใจเด็ดเข้าไปบอกคุณแม่ บอกว่าจะเข้าจะเรียนเตรียมศิลปากร สอบเข้าได้แล้ว ได้ที่ 1 ด้วย คุณแม่บอก เธอนี่มันดื้อด้านจริง ๆ นะ ฉันบอกไม่ให้เธอเรียน แล้วเธอยังก็จะไปเรียนอีกนะ เราไม่ได้ร่ำรวยนะ เรียนมา 8 ปี อีกปีเดียวก็เข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว เราก็บอก คุณแม่คะ ถ้าจะเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วเรียน ม.8 เนี่ย ไม่มีพื้นฐานอะไรเลยจะไปเรียนได้ยังไง แต่ถ้าเรียนเตรียมเนี่ย เรามีพื้นฐานอยู่แล้ว ก็เข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรได้เลย

คุณแม่บอก ทำไมเธอทำอย่างนี้! (ใส่อารมณ์) เราก็บอก ก็คุณแม่ทำไมทำแบบนี้กับหนู แล้วบอกไปว่ายังไงเราก็ไม่เรียน ม.8 เด็ดขาดเลย ถ้าคุณแม่ไม่ให้เราเรียนศิลปะ พูดอยู่สามนานค่ะถึงได้ยอมไปมอบตัวให้ เราก็ดีใจค่ะ เป็นบ้าเลย

ก้าวย่างตามทางที่เชื่อของ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ จิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ก้าวย่างตามทางที่เชื่อของ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ จิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

ก่อนหน้านั้นอาจารย์เคยดื้อกับคุณแม่มาก่อนไหมคะ หรือว่านี่เป็นครั้งแรกเลย

คุณแม่ไม่เคยสนใจเลยค่ะ คุณแม่มีลูกชายคนโตนะคะ แล้วก็มีพี่สาวเป็นผู้หญิงอีก 2 คน แล้วท้องดิฉันเนี่ย ทุกคนก็หวังว่าจะเป็นผู้ชาย พอออกมาเป็นผู้หญิงเขาก็ไม่มีใครสนใจเลยค่ะ เราจะทำอะไรก็ทำไป แต่คราวนี้จริงจังมากที่จะไม่ให้เรียนศิลปะ คงมีความรู้สึกว่าเป็นแม่ก็ต้องบังคับลูกได้

แล้วพอจบจากเตรียมศิลปากร ได้เข้าศิลปากรแบบที่หวังไว้ ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นยังไงบ้างคะ

สนุกมากเลยค่ะ (ยิ้ม) ในชีวิตไม่มีช่วงไหนที่มีความรู้สึกเป็นสุขและสนุกมากเท่ากับช่วงนั้นเลย ก่อนเข้าคิดว่ามันจะดียังไง มันก็ดีตามนั้นจริง ๆ อย่างที่เรานึก เราเรียนทั้งการปั้น ประวัติศาสตร์ศิลป์ Aesthetics แล้วก็ทฤษฎีสี ตลอดเวลาที่เรียนก็ได้ท็อปตลอดเลยนะ

ก้าวย่างตามทางที่เชื่อของ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ จิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ภาพสมัยเรียน เมื่ออาจารย์เฟื้อให้เขียนพอร์เทรตตัวเองผ่านกระจก

พูดถึงวิชาเรียน ตอนนั้นอาจารย์เลือกเรียนวิชาอะไรเป็นพิเศษไหมคะ

มีเพนต์กับปั้นให้เลือก ของนี่โชคดีได้หมดทั้ง 2 อย่าง ชอบทั้ง 2 อย่างด้วย ก็เลยตัดสินใจไม่ถูก ไปปรึกษาอาจารย์ศิลป์ พีระศรี พอบอกว่าชอบทั้ง 2 อย่าง อาจารย์ก็บอกให้เอาคะแนนมาดู ปรากฏว่าคะแนนปั้นสูงกว่าเพนต์ อาจารย์เลยบอกว่า เออ เรียนปั้นท่าจะดีนะ คิดดูนะ ถ้าเราไปปั้นรูปใหญ่ ๆ หรือไปทำอนุสาวรีย์ คนเขาเห็นว่าเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ มันก็น่าทึ่งนะ เท่ดีนะ เราก็จินตนาการตามอาจารย์แล้วตัดสินใจเรียนปั้น

ลืมนึกไปว่าสุขภาพเราไม่ดี เป็นหืดตั้งแต่เด็ก ๆ ติดมาจากคุณแม่ แต่เรียนปั้นต้องอยู่กับดินชื้น ๆ คอยฉีดน้ำอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าดินแข็งหน่อยก็ปั้นไม่ได้ ปั้น ๆ อยู่ก็เลยล้มทั้งยืนเลยค่ะ ไม่รู้สึกตัวเลย เขาก็เลยพาไปส่งโรงพยาบาลศิริราช ข้ามฟากไปนิดเดียว พอบอกหมอว่าเรียนปั้น หมอก็บอกว่า โอ๊ย ต้องเลิกนะ มันขัดต่อสุขภาพของเรา

พอกลับไปพักอยู่ที่บ้าน 3 อาทิตย์ มีอยู่วันหนึ่งกำลังนอนอยู่ แต่ยังไม่ได้หลับ ก็มีความรู้สึกเหมือนว่ามีคนมาก้มมองดูเรา แต่พอลืมตาขึ้นมาก็กลายเป็นผี ไม่ใช่คน งานงอกเลย เรากระดุกกระดิกตัวไม่ได้เลยนะคะ เขาจับมือไว้ด้วย ไม่สบายถึงขนาดเห็นผีเลย ที่จริงมีรูปผีที่เขียนอยู่ด้วย แสดงในงาน เพิ่งเก็บไปเนี่ยค่ะ

พอหายดีแล้วก็ไปบอกอาจารย์ศิลป์ หนูเรียนปั้นไม่ได้แล้วล่ะ หมอไม่ให้เรียน อาจารย์เอ็ดใหญ่เลย ก็นั่นน่ะสิ ทำไมไม่รู้จักตัวเอง มาเลือกเรียนปั้นทำไม! ไม่ตายก็ดีละ! คนอะไรไม่รู้จักตัวเอง! เราก็เลยย้ายไปเรียนเพนต์

งานถนัดอาจารย์คือการเขียนพอร์เทรต

คือมีสาเหตุมาจากที่อาจารย์ศิลป์หานางแบบมาให้เขียนคนหนึ่งค่ะ ให้ถอดเสื้อครึ่งตัว แกก็บอกว่า ไม่จำเป็นต้องเขียนหน้าเหมือนนะ ขอให้รู้เรื่องว่าเป็นผู้หญิงเป็นใช้ได้ แต่ปรากฏดิฉันเขียนแล้วเหมือนแบบมากเลย อาจารย์ศิลป์เขาก็เลยไปเรียก อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ที่สอนงานเพนต์มาดูว่า เฟื้อ ๆ มาดูอะไรนี่ อันนี้เหมือนจริง ๆ เลย! แล้วอาจารย์ก็บอกว่า ลาวัณย์มีนิสัยในการเขียนรูปเหมือนนะ พอจบออกมา ดิฉันจำคำพูดของอาจารย์ศิลป์ได้ งานใหญ่ที่ทำก็เลยเป็นการเขียนพอร์เทรต

ภาพเขียนอาจารย์ศิลป์ โดย ลาวัณย์ อุปอินทร์
ภาพเขียนตัวเองตอนตั้งครรภ์ในสไตล์ที่ชอบ 
แต่ไม่มีโอกาสได้เขียนนัก

การเรียนการสอนในช่วงที่อาจารย์ศิลป์ยังสอนอยู่เป็นยังไงบ้างคะ

ปี 1 – 3 อาจารย์ศิลป์ไม่ได้สอนอะไรเป็นพิเศษนะคะ จะไปวิจารณ์งานเท่านั้น แต่ว่าสอนเฉพาะปี 4 – 5 วิชา Aesthetics ก็มีการเปิดเพลงคลาสสิกให้ฟัง แล้วก็หยิบการเพนต์-ปั้นมาเปรียบเทียบกับเพลง อย่างสี สีของหวาน สีใส ๆ หวาน ๆ สีชมพู ก็เหมือนกับเสียงเพลงเพราะ ๆ เบา ๆ หวาน ๆ แล้วถ้าเสียงดังก็เหมือนสีที่สด ๆ ถ้าเสียงที่ทุ้ม ๆ ก็เหมือนสีที่เบรกแล้วอะไรอย่างงี้

ตอนที่เรียนเนี่ยนะคะ อาจารย์ก็จะให้เพื่อนที่เรียนด้วยกันเป็นคนเปิดแผ่นเสียง แล้วก็เรียกนายโอเปอเรเตอร์ ตอนหลังครูได้แต่งงานกับเขาค่ะ (อาจารย์สมโภชน์ อุปอินทร์)

แล้วเวลาอาจารย์ไปสอนปี 1 – 2 ครูได้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ด้วย ไม่ใช่ผู้ช่วยสอนนะคะ แต่ช่วยแปลภาษาไทยเป็นภาษาไทย วัดสุทัศน์เป็นวัตถุธาตุ อนุสาวรีย์คนขี้หมาเป็นอนุสาวรีย์คนขี่ม้า มีนักศึกษาผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ นงเยาว์ ทายสิคะ อาจารย์เรียกอะไร นมยาว! เรียกอะไรก็ได้เฮทุกที

อาจารย์คิดว่าได้อะไรจากอาจารย์ศิลป์มามากที่สุดคะ

โห ได้ทุกอย่างเลยค่ะ (ตอบทันที) โดยเฉพาะการประพฤติปฏิบัติตัว การทำงาน เวลาของอาจารย์ทุกนาที อาจารย์ไม่เคยใช้ให้หมดเปล่าประโยชน์เลย 

แล้วอาจารย์ก็สอนเรื่องศิลปะเปรียบเทียบ สอนว่าศิลปะเป็นยังไง ทำไมศิลปะมันถึงมีคุณค่ามาก อะไรอย่างงี้ค่ะ

ก้าวย่างตามทางที่เชื่อของ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ จิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

มหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดมาก็ตั้งหลายปีแล้ว ทำไมอาจารย์ถึงเป็นบัณฑิตผู้หญิงคนแรกของคณะจิตรกรรมและประติมากรรมได้

ถ้าเรียนปี 1 – 3 แล้วคะแนนรวมไม่ได้ถึง 70 วิชาเพนต์กับปั้นไม่ได้ถึง 70 ก็หมดสิทธิ์เรียนต่อปริญญา ต้องออกไปแค่อนุปริญญา ตอนเรียนปี 1 – 3 มีผู้หญิง 5 คนค่ะ แต่ว่าตอนเตรียมเรียนปริญญาได้เป็นผู้หญิงคนแรก คนอื่นออกไปเพราะเรียนไม่ได้คะแนนตามที่เขาต้องการไงคะ จะเรียนต่อปริญญาได้ต้องหินจริง ๆ เลย

เวลาออกไปเขียนรูปข้างนอก เพื่อนคุณแม่ไปเห็นเข้าก็เอาไปฟ้อง บอกว่าลูกสาวเปรี้ยวเหลือเกินนะ ไปไหนก็ไปกับผู้ชายเป็นฝูง ๆ (ผู้สัมภาษณ์ : หัวเราะ) คุณแม่ก็เอ็ด บอก ทำไมเธอทำอย่างนี้ ขายหน้าเพื่อน แล้วเขาก็มาฟ้องฉันเนี่ย เราก็บอก แล้วจะให้หนูไปกับใครคะ หนูเป็นผู้หญิงคนเดียวที่เรียนอยู่ แม่บอกว่า ทำไมเธอถึงไม่เล่าให้ฉันฟังล่ะ ก็บอก คุณแม่ไม่ถามนี่คะ

(หัวเราะ) เถียงกับคุณแม่อีกแล้วเหรอคะ

ต้องมีปัญหากับคุณแม่อยู่ตลอดเวลา

ก้าวย่างตามทางที่เชื่อของ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ จิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ก้าวย่างตามทางที่เชื่อของ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ จิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ
สตูดิโอปัจจุบัน

หลากสีสันบนเฟรมผ้าใบ

เห็นว่าอาจารย์ได้สอนศิลปะในโทรทัศน์ตั้งแต่เรียนเลย เป็นไงมาไงถึงได้ไปทำคะ

ตอนเรียนอยู่ปี 4 โทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เขาเปิดทำการ แล้ว คุณจำนง รังสิกุล ผู้จัดการใหญ่ที่นั่นก็ปรารภขึ้นมาว่า โทรทัศน์ของเรามีหลายสาขาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรขาดคือศิลปะ คุณจำนงก็เลยให้ลูกน้องมาที่มหาวิทยาลัย ปรากฏว่าวันนั้นดิฉันไม่อยู่ที่มหาวิทยาลัย เขาก็เลยให้ผู้ชายออกไปถ่ายครั้งแรก พอคุณจำนงรู้ว่าเป็นผู้ชาย และรู้ว่ามีผู้หญิงเรียนอยู่ด้วย ดิฉันก็เลยได้ไปออกรายการทีวี

เป็นรายการสอนศิลปะเด็กค่ะ มีเด็กไปเรียนอยู่ในห้องส่งด้วยนะคะ แล้วก็มี คุณรัก รักพงษ์ เป็นคนเล่านิทานก่อน พอเล่าว่ามีตัวละครอะไรบ้าง มีสัตว์ มีคน เราก็จะเขียนกระดานดำสด ๆ เลยค่ะ

คุณแม่ก็ไม่สนใจนะ ไม่เคยดูด้วย ลูกออกทีวีก็ยังไม่ดูเลย พอคนในบ้านรู้ว่าเราออกทีวี เขาก็มานั่งดูกันอยู่หน้าทีวี แต่คุณแม่ก็หนีไปที่อื่น คุณแม่ไม่ชอบให้เรียนทางนี้

อาจารย์รู้สึกยังไงบ้างคะ ที่คุณแม่ไม่ชอบให้เรียนศิลปะ

เฉย ๆ ค่ะ

เฉย ๆ จริงเหรอ

ก็เราต้องการเลือกทางชีวิตของตัวเอง แล้วคุณแม่จะมาบังคับอะไรเรานักหนา ดิฉันมีความรู้สึกว่าดิฉันเลือกทางเดินได้อย่างถูกต้องมากแล้ว

ก้าวย่างตามทางที่เชื่อของ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ จิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

แล้วฝั่งคุณพ่อ (ศรี ดาวราย) ว่ายังไงบ้างคะ

คุณพ่อก็ไม่เคยสนใจค่ะ เพราะเขาทำแต่งาน ปรากฏว่ามีเพื่อนคุณพ่อคนหนึ่งมาถาม เฮ้ย ๆ ศรี คนที่ออกรายการทีวี ที่มันสอนเขียนรูป นามสกุลดาวรายน่ะ ลูกสะใภ้เอ็งเหรอวะ คุณพ่อก็บอก ไม่ใช่ ลูกสาว เขาก็บอก เฮ้ย! มีลูกเก่งขนาดนั้นเชียวเหรอเนี่ย คุณพ่อก็เลยเพิ่งสนใจค่ะ เมื่อก่อนไม่สนใจเลย แต่พอมีคนเข้ามาถามแล้วชมว่าเก่ง ก็เลยมาดูบ้าง

พอคุณพ่อดูแล้ว คุณแม่ก็ยังไม่สนใจอยู่ แต่พอตอนหลังได้ไปทำงานในราชสำนัก คุณแม่ค่อยรู้สึกพอใจหน่อย

ทำไมถึงได้เข้าไปถวายงานในราชสำนักคะ

ตอนนั้นเป็นงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติค่ะ อาจารย์ศิลป์เขาเชิญในหลวง (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) กับสมเด็จฯ (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) เป็นคนเปิดงาน ในหลวงท่านโปรดงานทางด้านนี้อยู่แล้ว มาดูก็ชอบใจ แต่สมเด็จฯ เดินดูแล้วบ่นว่าดูไม่รู้เรื่องเลย จนมาเจอรูปคุณแม่ที่ครูเขียน ครูเอารูปไปแสดงที่นั่นด้วย ขออนุญาตพูดแทนตัวเองว่าครูนะ มันติดปากค่ะ สอนมาหลายปี

สมเด็จฯ ก็ยืนดูอยู่นาน แล้วว่า เอ้อ รูปนี้ค่อยดูรู้เรื่องหน่อย ดูในรูปท่าทางเป็นคุณหญิงคุณนายดีนะ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ที่ยืนอยู่ตรงนั้นก็เลยถามว่า ชอบใจมากเหรอ อยากรู้จักคนเขียนไหม พอสมเด็จฯ บอกว่าอยาก ๆ ท่านการวิกก็เดินมาตามครูไปพบ

พอไปถึง สมเด็จฯ ก็บอก อ้าว! คิดว่าผู้ชายเขียน ไม่คิดว่าเป็นผู้หญิง แล้วเป็นอาจารย์ลาวัณย์ด้วย ท่านบอกว่าท่านเป็นแฟนอาจารย์ลาวัณย์ คือครูออกรายการทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม 3 รายการ มีสอนวาดเขียน เขียนภาพประกอบละคร แล้วก็ข่าวในแวดวงศิลปะ แล้วทีวีตอนนั้นก็มีช่องเดียวด้วย ใครดูทีวีก็ต้องดู พอสมเด็จฯ บอกว่าเป็นแฟนเรา เราก็แอบดีใจอยู่เงียบ ๆ นะคะ ตั้งแต่นั้นมีอะไรท่านก็เรียกเข้าวังตลอด ได้ไปเขียนรูปพระบรมวงศานุวงศ์ในพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

ก้าวย่างตามทางที่เชื่อของ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ จิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

เริ่มเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยตอนไหนคะ

ได้สอนที่มหาวิทยาลัยตั้งแต่อยู่ปี 4 ค่ะ พร้อมกับที่ออกรายการทีวีเลย อยู่ปี 4 ก็เท่ากับจบอนุปริญญา ได้เงินเดือนเท่ากับจบอนุปริญญา แล้วพอเรียนจบเงินเดือนก็ขึ้นตาม เราเห็นคนที่เขียนไม่เป็นแล้วเราขัดหูขัดตา อยากจะให้เขาทำได้ดี ๆ แล้วมันทำได้วิธีเดียวก็คือต้องสอน (ยิ้ม)

เวลาต้องไปทำงานในวัง สมเด็จฯ จะให้รถมารับที่มหาวิทยาลัย แล้วเราก็ขออนุญาตทางมหาวิทยาลัยไว้ ว่าจะไปทำงานกับในหลวง ทางมหาวิทยาลัยก็ให้คนอื่นสอนแทน

ทำงานเยอะขนาดนี้ แล้วจังหวะไหนที่ได้ไปเป็นนางเอกละครล่ะคะ

ตอนนั้นสอนดรออิ้งอยู่ในห้องส่งช่อง 4 บางขุนพรหมค่ะ แล้วก็มีผู้ชายคนหนึ่งเดินผ่านมา พูดว่า ใช่แล้วเนี่ย! ใช่แล้ว! เราก็ได้ยินนะคะ แต่เขาก็เดินผ่านไปเฉย ๆ พอสอนเสร็จแล้วเขาก็เข้ามาบอกว่า เขาเขียนบทละครเรื่องหนึ่งไว้ตั้ง 2 – 3 ปีแล้ว แต่ยังหานางเอกไม่ได้ พอมาเห็นอาจารย์ รู้สึกว่าตรงเป๊ะกับที่ตั้งใจไว้เลย เราก็บอกว่าเราเล่นไม่เป็นหรอกค่ะ ยืนยันว่าจะไม่เล่นเด็ดขาด

ท่านก็บอกว่า คนเราเนี่ยถ้าเกิดว่าทำอะไรได้ดีแล้ว จะทำอยู่อย่างเดียวในชีวิตเลยเหรอ น่าจะทำอะไรที่ไม่เคยทำบ้างไม่ดีกว่าเหรอ ก็เลยลองนึกอีกที เอ๊ะ เราไม่เคยเลยนะ ไปลองสักทีน่าจะดีเหมือนกันนะ 3 – 4 วันถึงได้ตกลง

เราก็คิดว่า เออ จริง ๆ นะ จากที่เราก็ไม่เคยนึกทำ ได้ลองทำสักครั้งหนึ่งมันก็ไม่เลวนะ ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ก็ชมตั้งหลายฉบับ แต่ถ้าให้เล่นอีกก็ไม่เอานะคะ ต้องท่องบทหมดเลยลองคิดดูสิคะ (ยิ้ม)

เยี่ยม House of Upa-In ฟังอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ในวัยย่าง 88 ปี เล่าเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันที่เลือกเอง
สอนศิลปะออกรายการช่อง 4 บางขุนพรหม
นางเอกละคร ไอด้า

คิดว่าอาจารย์ลาวัณย์ในสายตาของคนทั่วไปในสมัยนั้นเป็นยังไงบ้างคะ

(นิ่งคิด) มีคนพูดนะคะว่า ทั้งสวย ทั้งเก่ง หาไม่ได้ง่าย ๆ นะ ไม่ใช่เก่งอย่างเดียวด้วยคิดดูสิ (ยิ้ม)

ตอนนั้นเราถือว่าเราเก่ง มีความรู้สึกอยู่ว่าจะไม่แต่งงาน แต่ถ้าแต่งงานกับใครสักคน คนนั้นต้องเก่งกว่าเรา ตอนเข้าไปทำงานในวังเนี่ยนะคะ มีคนขอครูแต่งงานเลยนะ

มีรูปที่สมโภชน์เขาเขียน ในรูปมีคนเดินออกไปข้างหลัง มีคนถือเช็คมาล่อ แล้วก็มีครูถือดอกกุหลาบอยู่ในมือ คือเขาบอกว่า มีคนชอบครูหลายคน คนรวย ๆ ทั้งนั้นเลย แต่ครูก็ไม่สนใจ ในที่สุดครูก็เลือกกุหลาบ คือตัวเขา เขาเขียนรูปนี้ก่อนแต่งงาน พอแต่งงานเสร็จเขาถึงเอามาให้ดู

ในงานศิลปกรรมแห่งชาติ ในหลวงชมงานเขา บอกว่าอีกหน่อยคนนี้จะเป็นศิลปินใหญ่ แล้วก็ซื้อไป 2 รูป สมโภชน์เขาก็ดีใจที่ในหลวงซื้องาน เราก็เห็นแล้วว่าเขาเก่ง ในแวดวงศิลปะ เราก็ไม่ได้ด้อยกว่าใคร แต่เขาเก่งกว่าเรา

ครูขอเขาแต่งงานนะคะ เขาไม่ได้ขอครูแต่ง

ทำไมถึงเป็นคนขอเองล่ะคะ

ก็เขาไม่พูดอะ!

ที่มหาวิทยาลัย ครูทำงานห้องเดียวกับเขาอยู่ 9 ปี บางทีเลิกงานแล้วเขาก็ไปส่งครูที่บ้าน บางทีก็ไปกินอาหารด้วยกัน อะไรต่ออะไร เขาทำอะไรให้เราหมดทุกอย่าง แต่เขาไม่เคยพูดอะไรเลย

ปีที่ 10 ที่ทำงานห้องเดียวกับเขา ครูก็ถามเขาว่า ถามจริง ๆ เถอะ คุณคิดจะแต่งงานใช่ไหมเนี่ย เขาบอก แต่งสิแต่ง แล้วทำไมคุณไม่บอกล่ะ ผมจะกล้าบอกได้ยังไง ในเมื่อผมเป็นคนบ้านนอกธรรมดาคนหนึ่ง คุณเป็นลูกใคร พ่อเป็นนายพล แม่เป็นหม่อมราชวงศ์ แล้วตัวคุณก็เป็นอย่างทุกวันนี้ แล้วผมเป็นใคร ผมจะกล้าไปบอกได้ไง แล้วผมจะเอาอะไรไปหมั้น ถ้าแหวนเพชรผมก็ไม่มี จะเอาเงินไปเป็นของหมั้นก็ไม่มี

แล้วคุณมีอะไร ผมมีรูปเขียนไง ครูก็บอก คุณก็หมั้นฉันด้วยรูปเขียนสิ เอารูปเขียนร้อยรูปหมั้นฉัน
แล้วเราก็แต่งงานกัน

โรแมนติกมากเลย!

แต่งในมหาวิทยาลัยด้วยนะ (ยิ้ม)

เยี่ยม House of Upa-In ฟังอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ในวัยย่าง 88 ปี เล่าเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันที่เลือกเอง
เยี่ยม House of Upa-In ฟังอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ในวัยย่าง 88 ปี เล่าเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันที่เลือกเอง

ทำไม (ถึงต้องเป็นเรา)

นอกจากพอร์เทรตแล้ว อาจารย์เขียนรูปประเภทอื่นบ้างไหมคะ

งานที่ทำจะเป็นการเขียนพอร์เทรต แต่ว่าในชีวิตเราจะเขียนเรื่องตัวเองบ้าง เรื่องอะไรต่ออะไรที่เราคิด อย่างมีรูปรูปหนึ่งที่เขียน รูปนั้นดังมากเลยค่ะ ชื่อรูป ทำไม ใคร ๆ ก็ถามว่าทำไมเขียน ทำไมตั้งชื่อว่า ทำไม

ครูเขียนจากประสบการณ์ตัวเองในเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อ พ.ศ. 2516 แล้วก็ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 ครูโดนจัง ๆ เลย ทั้ง 2 แห่ง ครูก็เลยเขียนรูปนี้ขึ้นมา แล้วตั้งชื่อว่า ทำไม เพราะว่าเราไม่รู้เรื่องด้วย อยู่ดี ๆ เราก็โดนหนักหนามากเลยค่ะ

โดนอะไรเหรอคะ

ตอน 14 ตุลา ครูเขียนรูปนายกฯ ถนอม กิตติขจร แล้วตอนนั้นที่ธรรมศาสตร์เขามีเรื่อง จะขับไล่ทรราชที่ทำให้ประเทศเสื่อมเสีย คนก็กำลังฮือเหตุการณ์ถึงขนาดฆ่ากันตายอยู่ในธรรมศาสตร์ ก็ไม่รู้ใครไปบอกอะไรนะ มีคนมากรีดรูปครูทิ้งหมดเลย รูปนายกฯ ถนอมขนาดเท่าตัวจริงที่เขียนมา 11 เดือน ใกล้จะเสร็จแล้ว น้ำตาเล็ดเลย

จริง ๆ สาเหตุที่เขียนรูปอันนี้นะคะ คือนายกฯ ถนอมเขาเคยเข้าเฝ้าในหลวงในวังสมเด็จ เขาก็เดินดูรูป ฝีมือครูทั้งนั้นเลย ครูก็เซ็นชื่อ ลาวัณย์ ชัด ๆ อ่านได้ง่าย นายกฯ ถนอมเนี่ยเขารักษาหมอเดียวกับครู เขาก็มาถามหมอ คนที่เขียนรูปที่ชื่อลาวัณย์เนี่ย นามสกุลดาวรายหรือเปล่า หมอบอก ไม่รู้ แต่ถ้าลาวัณย์ที่เขาเขียนรูปนี่มีคนเดียวในประเทศไทย เขาก็บอก ถ้าเป็นนามสกุลดาวราย รู้จักคุณศรี (คุณพ่อ) อยู่ อยากให้เขียนรูปบ้าง เพราะว่าจะเอาไปติดที่หอประชุมโรงเรียนกองทัพบก เขาก็นัดติดต่อครูมาทางโทรศัพท์ของคุณพ่อ ขอให้ทหารมารับครูไปขอเจรจาด้วย อยากให้เขียนรูป

แล้ว 6 ตุลาล่ะคะ

ครูโดนกล่าวหาว่าไปแต่งหน้านักศึกษาที่เล่นละครที่ธรรมศาสตร์ วิทยุ 200 สถานี ออกอากาศทุกจังหวัดเลย จนกระทั่งข่าวดังไปถึงประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพี่สาวครูอยู่ที่นั่น เป็นภริยาทูต

วันที่ 6 ตุลาตอนเช้ามืด นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเขามาหาครูแต่เช้าเลย พอเห็นครูก็ร้อง เอ้อ โล่งอกไป เขาก็บอกว่า อาจารย์อย่าออกจากบ้านนะ อันตรายมาก ครูเปิดวิทยุฟัง ก็โครมครามอยู่ตลอดเวลาเลยนะคะ ลูกศิษย์บอกว่าถ้าอยู่บ้านไม่ปลอดภัยแน่ ครูเลยออกจากบ้าน ไม่รู้จะไปไหนก็ไปแวะที่ร้านหมอ ขอนอนที่ร้านเขา พอแม่ของหมอเขาเปิดวิทยุฟังแล้วรู้ว่าครูเนี่ยชื่อลาวัณย์ เขาก็ไม่พอใจ กลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นใช่ไหมคะ สาย ๆ หน่อย ครูก็เลยออกจากร้านไปบ้านคุณแม่ ก็เจอสันติบาลล้อมรอบบ้านคุณแม่อยู่ เราต้องบอกว่าเราไม่รู้เรื่อง

ครูเขียนรูป ทำไม วาดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีนักศึกษาหญิงโดนถอดเสื้อ ทั้ง ๆ ที่ครูไม่ได้รู้เรื่องอะไรกับ 2 เหตุการณ์นี้เลย แต่ครูโดนขนาดนี้ ลองคิดดูก็แล้วกัน

ครูโดนมาหมด เป็นตั้งแต่จิตรกรในราชสำนัก ขี้ข้าทรราช คอมมิวนิสต์ อีแม่มด เป็นมาทุกอย่างแล้วค่ะ รู้สึกเสียใจนิดหน่อย แต่ก็ทำเป็นไม่รู้เรื่อง เราจะไปคิดมากทำไม บาปกรรมตัวเราเองเปล่า ๆ

ทำไม (2524) : ลาวัณย์ อุปอินทร์

แล้วถ้าให้นิยามตัวเองบ้าง

ครูก็เป็น นางลาวัณย์ อุปอินทร์ อยู่อย่างนี้

จริง ๆ แล้วอาจารย์ก็สนใจการเมืองใช่ไหมคะ เคยเห็นข่าวว่าออกมาพูดตอน พ.ศ. 2563

พ่อครูเป็นเสรีไทย แล้วครูก็สนใจเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่แล้วด้วย ไม่ใช่ว่าคนเรียนศิลปะ คนทำงานศิลปะไม่รับรู้อะไรเลย เราต้องรับรู้เรื่องสังคมด้วย ไม่งั้นก็ไม่ได้เรื่อง ครูเห็นที่ต่างประเทศเขาก็เขียนรูปเหตุการณ์อะไรต่ออะไรกัน แล้วทำไมเราจะเขียนบ้างไม่ได้ล่ะ

พอได้เห็นงานเด็กสมัยนี้ก็ดีใจ รู้สึกว่าคนเข้าใจอะไรมากขึ้นนะ สังคมมันก็ดีขึ้นด้วย

เยี่ยม House of Upa-In ฟังอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ในวัยย่าง 88 ปี เล่าเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันที่เลือกเอง

ยาชั้นดี

ปีนี้อายุจะย่างเข้า 88 แล้ว อาจารย์ก็ยังเขียนรูปเหมือนสมัยก่อนเหรอคะ

เขียนทุกวันค่ะ ตอนเช้าตื่นนอนมากินอาหารกินอะไรเสร็จ ครูก็อ่านหนังสือ แล้วพอตอนกลางวัน กินข้าวกินปลาเสร็จ ครูก็เขียนรูปจนกระทั่งถึงเย็น ทำอย่างนี้มาตลอดค่ะ ไปหาหมอ หมอก็บอกว่า ที่จริงคนอายุ 80 กว่าเขาไม่ทำงานกันแล้วนะ อาจารย์ทำไมยังนั่งเขียนรูปอยู่ได้

หลังจากที่ทำมาทั้งชีวิต ทำไมยังอยากเขียนรูปอยู่คะ

ที่เขียนรูปเพราะไม่รู้จะทำอะไรไง ครูคงเขียนได้ถึงร้อยนู่นล่ะ

พ.ศ. 2556 ครูเคยเป็นพาร์กินสันแล้วเขียนรูปไม่ได้ มือสั่นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเพ่งจะเขียนมันยิ่งสั่นยิก ๆ เลย แต่พอนึกถึงคำพูดของอาจารย์ศิลป์ว่า ถ้าเราไม่สบาย การได้ทำงานก็เป็นยารักษาโรคได้ ครูก็พยายามเอาเฟรมเล็ก ๆ มาลองเขียนรูปหน้าคน เขียนเฉพาะหน้าเลยนะคะ ไม่มีแบ็กกราวนด์ ไม่มีอะไร ปรากฏว่าตั้ง 5 – 6 วันถึงจะเสร็จ ตอนหลังมันก็ค่อย ๆ ดีขึ้น มันก็รู้สึกดีจริง ๆ อย่างที่อาจารย์ศิลป์บอก

หลังจากหายพาร์กินสันครูก็เขียนรูปเหลือรูปเล็ก ๆ แค่นี้ (ชี้ไปที่รูปบนขาตั้ง) ถ้ารูปใหญ่มันเขียนนานไปหน่อย 

แล้วทำไมถึงมาเปิดแกลเลอรี House of Upa-In ได้คะ

เราเป็นศิลปินแห่งชาติก็อยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อแวดวงศิลปะบ้าง แล้วก็อยากแสดงงานของตัวเองด้วย ตามสถานที่แสดงงานที่มีอยู่ทุกวันนี้ ต้องมีงานเยอะ ๆ รูปใหญ่ ๆ ถึงจะไปแสดงได้ งานของเราชิ้นเล็ก ๆ ก็เปิดบ้านของเราเองดีกว่า แล้วพอหลังจากแสดงงานของเราแล้ว ก็จะได้เชิญศิลปินที่เขาทำงานแต่ยังไม่ดังนักมาแสดงกันด้วย จะได้มีการเคลื่อนไหวในแวดวง

มีสอนด้วยนะคะ ครูสอนเอง มีคนมาเรียนเพนต์สีน้ำมัน ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็ก

เยี่ยม House of Upa-In ฟังอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ในวัยย่าง 88 ปี เล่าเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันที่เลือกเอง

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา อาจารย์มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการศิลปะไหมคะ

ตอนนี้คนสนใจศิลปะมากขึ้นนะ แล้วก็คนมองศิลปินแลดูให้เกียรติมากขึ้น คนสมัยก่อนนี่เขาจะพูดว่า ไอ้พวกจิตรกร ไอ้พวกศิลปิน มันบ้า ๆ บอ ๆ แต่เดี๋ยวนี้คนไม่พูดอย่างงั้นแล้วค่ะ เขาเห็นว่าเป็นคนที่เข้าทีถึงได้มาทำงานศิลปะ ครูก็อยากเห็นคนมาสนใจศิลปะมากขึ้น เพราะเหนือจากศิลปะขึ้นไปก็คือศาสนาแล้ว

(เปลี่ยนเรื่องกะทันหัน) หนูฟังเรื่องชีวิตครูแล้วหนูรู้สึกยังไงบ้าง

สนุกมากเลยค่ะ รู้สึกว่าอาจารย์ได้ทำอะไรที่อยากทำ ใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองเชื่อ แล้วอาจารย์คิดยังไงกับชีวิตตัวเองบ้างคะ ชอบหรือไม่ชอบยังไงบ้าง

ครูปลื้มใจที่ครูเลือกหนทางเดินชีวิตตัวเองได้ถูกต้อง พอใจที่เลือกเองแล้วประสบความสำเร็จ เพราะในแวดวงศิลปะ การเป็นศิลปินแห่งชาตินี่ถือว่าสูงสุดแล้ว ไม่มีอะไรที่เหนือไปกว่านี้อีกแล้ว

ถ้าคุณแม่ยังอยู่ อาจารย์ว่าคุณแม่จะคิดยังไงคะ

เขาคงดีใจที่ครูได้เป็นศิลปินแห่งชาติ เขาคงเลิกขัดคอครูแล้ว

ตอนครูแต่งงาน คุณแม่จะปลูกบ้านให้ด้วยนะ แต่ครูบอกว่าไม่เป็นไร แล้วก็ขอบคุณที่จะปลูกบ้านให้ คุณแม่คงหายโกรธครูแล้วล่ะถึงอยากทำอะไรให้

มีอะไรอยากบอกกับคนหนุ่มสาวที่กำลังจะใช้ชีวิตต่อไปในโลกนี้ไหมคะ

เราต้องดูว่าสิ่งที่เราเลือกมันถูกต้องดีงามไหม สมควรหรือยัง ไม่ใช่ทำตัวเละเทะ ไม่ได้ มันต้องมีหลักมีเขตในการดำเนินชีวิต แต่ถ้ารู้สึกว่าใช้ได้แล้ว เราก็ดำเนินชีวิตตามนั้น แล้วก็ขอให้ทุกคนตั้งใจ สิ่งที่ตัวทำแล้วดีเนี่ย ทำให้มันดีที่สุดในชีวิต

เยี่ยม House of Upa-In ฟังอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ในวัยย่าง 88 ปี เล่าเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันที่เลือกเอง
เยี่ยม House of Upa-In ฟังอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ในวัยย่าง 88 ปี เล่าเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันที่เลือกเอง

ภาพ : อ่านเอา

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ