The Cloud x องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)
ณ จังหวัดชื่อสั้นสุดในแดนอีสาน เสียงลือเสียงเล่าอ้างจากที่นี่ดังไกลไปถึงเมืองหลวงว่า เมืองเลยมีแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่แจ้งเกิดจากความอุตสาหะของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง
ในอ้อมกอดของภูใหญ่ 2 ลูกอันเป็นที่มาของชื่อ ‘ตำบลภูหอ’ และ ‘อำเภอภูหลวง’ ทุ่งนาเขียวขจีและกอกล้วยดกครึ้ม เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทางซึ่งติดตามเราไปทุกที่ หรือไม่ก็เจ้าถิ่นใจดีที่ช่วยนำทางเราไปสู่จุดหมายที่ซ่อนกายอยู่ท่ามกลางดอยดงหล่งลึกของตำบลนี้ หลังป้ายทำมือเขียนว่า ‘Banana Land’ คือที่ดินผืนใหญ่ที่ถูกแบ่งสรรเป็นที่ทอผ้า บ่อปลา แปลงนา ผลิตงานฝีมือ และฟางกองใหญ่ที่สุมกันในรูปปราสาทจำลอง เสียงหัวเราะและรอยยิ้มของชาวบ้านหนองบัว ตำบลภูหอ ที่มาร่วมแรงทำงานตามความถนัดของตนเองที่นี่ ล้วนเป็นมาตรวัดความสุขที่พวกเขาได้รับยามมาเยือนสถานที่เที่ยวเปิดใหม่

บั้ม-ลักขณา แสนบุ่งค้อ ปรากฏตัวในชุดม่อฮ่อมย้อมคราม นุ่งผ้าขาวม้าทอเอง รวบผมสั้นมัดจุกง่าย ๆ ลุคเดียวกับที่เราเคยเห็นในทีวีเมื่อ 4 – 5 ปีก่อน ตอนเธอนำผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปของอำเภอภูหลวง แปะฉลาก ‘Banana family’ ไปขายไอเดียถึงสตูดิโอรายการ Win Win WAR Thailand สุดยอดนักธุรกิจแบ่งปัน ซีซันแรก
วันนั้น Banana Land ของเธอเพิ่งตั้งไข่ในฐานะโมเดลพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเพื่อชุมชน
วันนี้ โมเดลที่เคยคิดเพื่อตอบโจทย์ของรายการได้รับการสานต่อให้เป็นจริง ด้วยแรงใจและไฟฝันอันโชติช่วงของสาวเลย ผู้เรียกตัวเองว่า ‘คนบ้าพลัง’ และในวันที่ Banana Land ของบั้มก่อกำเนิดเป็นรูปเป็นร่าง เราอยากชวนเจ้าตัวมาเล่าย้อนถึงหลักกิโลเมตรแรกที่เธออุทิศตนเองเพื่อรอยยิ้มและรายได้ของคนในชุมชน เผื่อว่าผู้อ่านที่รักทุกท่านจะได้รับพลังบวก ๆ ไปจากผู้หญิงบ้าพลังคนนี้
จากภูหลวง

“ที่นี่คืออำเภอภูหลวง ภูยาว ๆ ที่เป็นสันเขาฝั่งกระโน้นคือชื่ออำเภอนี้ เป็นภูยาวที่กินพื้นที่ 3 อำเภอ ส่วนด้านหลังโน่นคือภูหอ ส่วนมากคนรู้จักชื่อ 2 ภูนี้ ภูหนึ่งคือชื่อตำบล อีกภูคือชื่ออำเภอ” บั้มวาดแผนที่กลางอากาศให้คนต่างถิ่นอย่างเราเข้าใจภูมิศาสตร์ของบ้านเกิดเธอในไม่กี่ประโยค
“บ้านบั้มอยู่ที่นี่ เป็นที่ดินของบรรพบุรุษ ตาทวดให้ยาย ยายยกให้แม่ แล้วส่งต่อมาถึงรุ่นบั้ม” เจ้าบ้านตีวงให้แคบลงมาถึงแค่ผืนดินเขียวขจีที่พวกเรายืนอยู่

ทุกถ้อยกระทงความที่บั้มกล่าวถึงอำเภอภูหลวงที่ตระกูลเธอหยั่งรากอาศัยมาหลายชั่วอายุคน เปี่ยมด้วยความรักใคร่อย่างที่ใครฟังก็รู้สึกได้ แต่เพื่อความก้าวหน้าของการงานอาชีพ หญิงสาวชาวภูหลวงคนนี้จึงจำจากบ้านเกิดในชนบทไปยังเมืองฟ้าอมร เพื่อโอกาสทางการศึกษาที่เปิดกว้างกว่า
บั้มเรียนจบปริญญาตรีคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ทั้งที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ก่อนจะได้รับทุน IFP Thailand ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ AIT (Asian Institute of Technology) โดยสาขาที่เลือกเรียนในตอนนั้นคือ วิชาความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย หากแต่วิชาที่กำหนดเส้นทางอนาคตของเธอกลับไม่ใช่วิชาที่เลือกโดยจำเพาะ แต่เป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาที่ได้รับทุนทุกคน
คืนภูหลวง
“พ.ศ. 2557 บั้มไปเรียน SE (ธุรกิจเพื่อสังคม) ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยกชุดไปสอนพวกเรา เพราะเด็กทุนทุกคนต้องเรียนเรื่องนี้ ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่า SE คืออะไร รู้แต่ว่าต่างประเทศเขาเน้นเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมกันมานานมาก แต่ประเทศไทยไม่มีเลย มีแต่ทำบริษัทใหญ่โต รวยแล้วค่อยแบ่งไปทำ CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคม) ซึ่งมันต่างจาก SE มาก”
อาจกล่าวได้ว่า นี่คือวิชาที่ปลุกวิญญาณนักพัฒนาในตัวบั้มอีกขั้นหนึ่ง ก่อนหน้านี้เธออาจเคยเป็นมือข้างหนึ่งที่ร่วมด้วยช่วยกันในกิจกรรมยกระดับความเป็นอยู่ของคนในบ้านเกิดมาแล้ว แต่เรื่องธุรกิจการค้ายังไม่เคยปรากฏในหัวคิดเช่นครั้งนี้


“เราได้โจทย์มาว่า ถ้ากลับมาที่ชุมชนของเรา เราจะทำธุรกิจเพื่อสังคมอะไรได้บ้าง” สาวเลยร่างเล็กเอ่ยด้วยดวงตาฉายแววครุ่นคิด “ก่อนหน้านี้พวกเราไม่เคยขายของ เคยแต่ทำงานอาสา ทำกลุ่มเยาวชนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ชื่อ ‘ชวนน้องออมถวายพ่อหลวง’ ชวนกันออมเงิน ออมบ้าน ออมเด็ก ออมเวลา อันสุดท้ายนี้หมายถึงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เลยชักชวนกันมาทำ SE”
Banana family
โจทย์ที่ได้จากห้องเรียนธุรกิจเพื่อสังคมทำให้บั้มครุ่นคิดอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะพบทางสว่างเมื่อเธอสำรวจพื้นที่บ้านเกิดจนทั่ว แล้วพบว่าของดีประจำถิ่นคือ ‘ต้นกล้วย’ เธอชักชวนชาวบ้านละแวกใกล้เคียงมาแปรรูปกล้วยที่ปลูกในชุมชนเป็นขนมกล้วย ได้แก่ Banana Stick และ Banana Snack
เริ่มจากกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เคยร่วมงานกันในฐานะสมาชิกกลุ่มชวนน้องออมถวายพ่อหลวง รูปที่ใช้ออกแบบโลโก้บนหีบห่อ ก็ได้แบบจากใบหน้ารุ่นน้องที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าฝ่ายผลิต
“ตอนแรกเราจะทำรูปภูหอ แต่ตอนนั้นภูหอยังไม่ดัง ไปเสนออาจารย์แล้ว อาจารย์ก็แย้งว่าเห็นรูปภูหอแล้วใครจะรู้ว่าขายกล้วย ตอนนั้นก็เหมือนจะเรียนเรื่องทำแผนธุรกิจอยู่ค่ะ แก้ไขกันมานานพอสมควรกว่าจะได้โลโก้นี้ เราคิดกันว่าสัญลักษณ์ประจำตัวเด็กอีสานอย่างเรา ๆ มันคืออะไรนะ
“โหนกแก้มใหญ่ กรามเยอะ ตาน้อย ๆ ใช่ไหม ก็เลยออกมาเป็นรูปการ์ตูนประมาณนี้”

บั้มและผองเพื่อนเยาวชนตั้งชื่อแบรนด์ให้ขนมกล้วย ๆ ทั้งหมดของพวกตนว่า Banana family มีเมนูชูโรงคือ ‘กล้วยเส้น’ ที่สร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างเห็นผลจริง จึงเป็นแรงผลักดันให้เธอเพิ่มรสและกลิ่นใหม่ ๆ อย่างปาปริก้า สาหร่าย และบาร์บีคิว ก่อนที่ตรา Banana family จะขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบอื่น ๆ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องผลิตเองและปลอดสารพิษ
“SE สอนให้เราเลือกคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผลกำไรต้องแบ่งปันได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ผู้ผลิตวัตถุดิบต้องได้กำไรด้วยตั้งแต่แรก ซื้อของโดยไม่กดราคา คัดคุณภาพเพื่อการผลิตที่ดี กลางน้ำคือการผลิตที่ดี มีการผลิตที่ดีมั้ย ไม่ใช่ตะบี้ตะบันทำงาน แล้วของจะมีคุณภาพได้ยังไงถ้าคนที่ทำยังไม่ดี สุดท้ายปลายน้ำก็คือผู้บริโภค ถ้าเราเริ่มต้นมาดีทั้ง 2 อย่าง การส่งมอบของต่าง ๆ ก็จะดีไปด้วย นี่คือสิ่งที่ SE บ่มเพาะเรา เลยทำให้สินค้ามีคุณภาพดี มีมาตรฐานส่งออก GMP Codex ทุกอย่าง”

ถ้าถามว่าสินค้าตรา Banana family มีคุณภาพดีสมคำร่ำลือหรือไม่ เราขอตอบด้วยผลงานว่าเพียง 1 ปีที่ขนมขบเคี้ยวจากกล้วยของบั้มเริ่มวางจำหน่าย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ก็เลือก Banana family เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยวในอำเภอภูหลวง และทุกคราวที่บั้มเปิดไลฟ์ขายของ ลูกค้าจากทั่วสารทิศก็พร้อมใจเข้ามาชมและสั่งสินค้ากันใหญ่
Banana Land

Banana family ออกจำหน่ายอยู่ 4 ปี บั้มก็รู้สึกว่าสายป่านที่ใช้หล่อเลี้ยงธุรกิจกล้วยเส้นของเธอเริ่มจะสั้นเกินไปเสียแล้ว เพื่อหาเงินทุนมาต่อยอดทำบรรจุภัณฑ์และเครื่องจักรบางอย่าง เธอจึงตัดสินใจนำแบรนด์ Banana family ไปท้าประลองในรายการ Win Win WAR Thailand สุดยอดนักธุรกิจแบ่งปัน ด้วยความมุ่งหวังที่พกพาจากเมืองเลยว่า จะนำเงินรางวัลกลับไปเพื่อการนั้น
“เรามีความคิดว่าอยากทำ Banana Land อยู่แล้ว แต่กะว่าจะขยาย Banana family ก่อน ค่อยเอาเงินมาทำบ้านตัวเองเป็น Banana Land ต่อ เราลงแข่งรายการนี้เพราะมันเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมโดยตรง ไปเจอ โค้ชเจ-เจรมัย พิทักษ์วงศ์ แกเป็นโค้ชส่วนตัวของเรา แกก็โยนคำถามมาคำถามหนึ่งว่า ‘บั้มอยากให้หมู่บ้านของบั้มกลายเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมเหรอ’ ไม่เคยมีใครถามเราแบบนี้”
ครั้งนั้น โค้ชเจเสนอแนะกับบั้มว่า แทนที่จะมองหาเครื่องจักรชุดใหม่และอะไรอีกหลายขั้น คงจะสบายกับเธอมากกว่า หากเธอสร้าง Banana Land ทันทีโดยไม่ต้องหมายน้ำบ่อหน้า


ด้วยคำแนะนำของกุนซือผู้มองการณ์ไกล บั้มได้เสนอแนวคิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อชุมชน Banana Land ต่อรายการ Win Win WAR Thailand สุดยอดนักธุรกิจแบ่งปัน เรียกเสียงปรบมือและคะแนนความนิยมกึกก้อง แม้ไม่อาจคว้ารางวัลชนะเลิศกลับมาได้ แต่การติดอันดับ 1 ใน 5 สุดยอดธุรกิจ ก็ไม่ทำให้การเข้ากรุงต้องเสียเปล่า เนื่องจากเงินรางวัลที่เธอได้รับจากการเข้ารอบสุดท้าย มากเพียงพอสำหรับการพลิกฟื้นที่ดิน 8 ไร่อันตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะของคนบ้านใกล้เรือนเคียง
เครือกล้วยใน Banana Land ยังเป็นสายพานสำคัญที่ป้อนผลผลิตสู่โรงงาน Banana family แต่ ‘ดินแดนกล้วย ๆ’ แห่งนี้หาได้มีแค่กล้วยเหมือนในชื่อ เพราะที่นี่คือแหล่งท่องเที่ยวชุมชนผสมเครือข่ายชาวบ้าน เปิดโอกาสให้คนในและคนนอกมาพบปะและเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านกิจกรรม พร้อมแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ อาทิ สปาเท้า เตียงแคร่ งานแฮนด์เมด อีโคพรินต์ ทอผ้า อาหารพื้นบ้าน เลี้ยงกุ้งหอยปูปลา ร้านกาแฟ นาข้าว รวมถึงปราสาทฟางหลังใหญ่ที่กำลังจะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของตำบลภูหอและอำเภอภูหลวงในไม่ช้านี้ ทั้งหมดทั้งมวลนี้วางอยู่บนแนวคิด ‘อนุรักษ์ เชื่อมความสัมพันธ์ และแบ่งปัน’

อนุรักษ์
“การอนุรักษ์ เราทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่พวกเราทำเรื่อง 4 ออม หลังจากนั้นเราเห็นชุมชนเราเผาฟาง เราก็มาคุยกับเด็ก ๆ ว่าเราจะทำยังไงไม่ให้ชุมชนเผาฟาง เด็ก ๆ อยากได้สวนสนุก ก็เลยสร้างปราสาทฟางขึ้นมา เราไม่ได้บอกเขาว่า ห้ามเผานะ แต่เราจะดึงเขามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยกัน”
ผู้ใหญ่บางคนอาจติว่าความคิดดังกล่าวฟังดูเหมือนคบเด็กสร้างบ้าน แต่ถึงไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าปราสาทฟางของบั้มช่วยลดการเผาฟางข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยวได้มากราว 60 – 100 ตัน หรือคิดเป็นประมาณ 1,000 ไร่ ทั้งยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านรุ่นเยาว์ทุกผู้ทุกนาม

เชื่อมความสัมพันธ์
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ทุกชุมชนต้องประสบเหมือน ๆ กันคือเรื่องช่องว่างระหว่างวัย ที่คนวัยไม้ใกล้ฝั่งกับลูกหลานวัยเด็กมักคิดเห็นขัดแย้ง แม้กายอยู่ใกล้ แต่ใจกลับอยู่ห่างราวกับต่างมีโลกของตัวเอง
เรื่องนี้บั้มมีวิธีคลายปัญหาด้วยการเชื่อมความสัมพันธ์แบบกล้วย ๆ ว่า “จะเด็ก วัยรุ่น หรือผู้สูงอายุ เราทำงานร่วมกันได้ด้วยการท่องเที่ยว ก่อนหน้านี้วัยรุ่นกับผู้เฒ่าไม่คุยกัน พอเราให้พวกเขามาคุยกัน เฮ้ย ก็เข้ากันได้นะ วัยรุ่นก็ถามเขาหน่อยว่าผู้เฒ่าผู้สูงอายุคิดยังไง ผู้สูงอายุก็ถามวัยรุ่นหน่อยว่าเด็ก ๆ คิดยังไง เสร็จแล้วก็กลับมาคุยกันเอง เล่าสู่กันฟังว่าสิ่งที่เราเรียนรู้คืออะไร แล้วให้มาเจอกันครึ่งทาง”

ตัวอย่างการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนหลากวัยที่เห็นชัดที่สุด คือ ภาพวาดที่บั้มภูมิใจนำเสนอแขกผู้มาเยือนที่ปราสาทฟาง บางรูปวาดโดยเด็ก บางรูปวาดโดยคนชรา และมีบางรูปที่เธอให้คน 2 กลุ่มวาดบนผืนกระดาษแผ่นเดียวกันจากมุมมองที่แตกต่างกัน ผลที่ได้รับคือจิตรกรรมอันงดงามตามคติที่ว่า ‘ศิลปะไม่มีถูกไม่มีผิด’
แบ่งปัน
แบ่งปันในความหมายของบั้ม คือ การมอบให้คนนอกที่แวะมาเยี่ยมเยือน Banana Land ของเธอได้ตักตวงความสุขและประสบการณ์ดี ๆ ไปจากคนพื้นถิ่นอำเภอภูหลวง
“คำว่าแบ่งปัน ก็คือให้นักท่องเที่ยวมารับอากาศดี ๆ ทานอาหารพื้นบ้านที่เราปลูก ที่เราทำ ได้มาใช้ผ้าห่ม ซื้อของที่ทำในชุมชน ที่นี่ไม่ได้ทำการท่องเที่ยวแบบเชิงธุรกิจจ๋า เพราะเราไม่ได้เปิดทั้งปี เราอยากแบ่งปันหน้าฝน ฉันก็จะบอกว่าฉันเปิดแค่หน้าฝน หน้าแล้งพวกคุณอย่ามา ถ้ามาจะไม่เห็นอะไรเลย สมมติว่าช่วงนี้มาแล้วไม่เห็นอะไร ก็เพราะฉันไม่ได้ทำอะไร คุณมาผิดช่วง
“เหมือนกับข้างนอกเขามาเติมเต็มเรา เราก็เติมเต็มข้างนอก ส่วนมากที่ข้างนอกเขามาเติมเต็มเรา คือการให้ไอเดียเรา เขาชอบนะ เขาเหมือนเห็นเราเป็นคนในครอบครัว อย่างบางคนที่ซื้อสินค้าเรา ปีที่แล้วซื้อแล้ว ปีนี้ก็ซื้อซ้ำอีก เหมือนเขาเอ็นดูเรา อยากมาแชร์กับเรา”

คงป่วยการเปล่าหากเราจะถามบั้มว่ารู้สึกอย่างไรในสิ่งที่เธอทำอยู่ทุกวันนี้ ในเมื่อยิ้มชื่นบานตามติดใบหน้าคล้ำแดดของเธอไปตลอดทางที่นำเราเที่ยว
“เป็นคนบ้าพลัง มีงานทุกวัน ไม่เคยมีวันหยุด” อะไรจะยืนยันคำอวดอ้างนี้ได้ดีเท่ากระดานข้างฝาบ้าน ที่บั้มและทีมงานผู้ช่วยของเธอพากันลงหมึกปากกาจดคิวงานจนแน่นไปทั้งแถบ
“เรารู้สึกว่ารอยยิ้มที่เราได้จากชุมชนที่ยิ้มกลับมาให้เรา หลายคนบอกว่า “บั้ม ทำไมเราไม่เจอกันให้นานกว่านี้ หรือ ทำไมบั้มไม่เกิดตั้งนานแล้ว” เหมือนเราพาเขามาทำงานกลุ่มแล้วเขาประสบความสำเร็จ มีรายได้ที่มั่นคง ทำให้เรารู้สึกว่ารอยยิ้มของคนในชุมชนที่พวกเขายิ้มได้จากการมีรายได้ จากการที่ไม่ต้องออกไปนอกเมือง มันคือรอยยิ้มของเราด้วยเหมือนกัน”
ถึงยามอำลาจากภูหลวง ภูหอ รวมทั้งเจ้าของแบรนด์สินค้ากับแหล่งท่องเที่ยวที่ชื่อ ‘บั้ม’
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พลังอันเหลือล้นของเธอจะถ่ายทอดไปยังหัวใจดวงน้อย ๆ ของเยาวชนทุกคน เพื่อให้มวลธาตุแห่งความคิดบวกคงอยู่คู่บ้านเกิดของเธอไปอีกนานเท่านาน
