กึ๋น-กุลภัทร ยันตรศาสตร์ ปรากฏตัวในชุดช่าง แบบที่บางคนเรียกว่าชุดจัมป์สูต

แต่หนุ่มใหญ่ท่าทางใจดีคนนี้ไม่ได้เป็นช่าง เขาเป็นศิลปินศิลปาธร สถาปนิกคนแรกในสาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ประจำ พ.ศ. 2552 และเป็นสถาปนิกชื่อดังระดับโลก

ที่นัดหมายของเราเป็นไซต์งานก่อสร้างของพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะขนาดใหญ่ย่านกล้วยน้ำไทที่มีแผนจะเปิดปีหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานออกแบบของชายคนนี้ สถาปนิกหนุ่มใหญ่เลือกโพสท่าถ่ายรูปด้วยความสนุกสนานที่ด้านหน้าโครงการ ก่อนพาเราเข้าไปถ่ายรูปต่อในไซต์งาน แม้จะเป็นการชมเร็ว ๆ แต่ผมก็พอเห็นได้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้องสวยงามอลังการแน่นอนเมื่อสร้างเสร็จ

เรื่องนี้เป็นรายละเอียดส่วนหนึ่งของความเป็น ‘นักออกแบบ’ ของ กุลภัทร ยันตรศาสตร์ สถาปนิกใหญ่ที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยกันยาว ๆ ซึ่งต้องบอกว่าโอกาสนี้หาไม่ง่ายนัก เพราะปกติแล้วเขาใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่ลอสแอนเจลิสและนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ช่วงนี้เป็นเพียงช่วงเวลาไม่นานที่เขาได้กลับมาเมืองไทย

และเขาไม่ได้กลับมาเมืองไทยบ่อย ๆ แน่นอน เพราะก่อนหน้าที่จะลงหลักปักฐานทำบริษัทออกแบบของตัวเองที่สหรัฐฯ กุลภัทรก็ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ 15 ปี เขาทำงานกับ ทาดาโอะ อันโดะ (Tadao Ando) สถาปนิกชื่อดังระดับโลกที่มีอิทธิพลต่อใคร ๆ เป็นการทำงานแบบไป ‘อยู่’ กับอันโดะ ทั้งที่บ้านและสำนักงานทีเดียว และประสบการณ์นั้นก็ส่งผลให้เขามีความเชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบพิพิธภัณฑ์และงานคอนกรีต จนเมื่อมาก่อตั้งบริษัทของตัวเองที่ชื่อ WHY ที่ลอสแอนเจลิส บริษัทก็ได้รับงานออกแบบพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์อย่างต่อเนื่อง และหลาย ๆ ชิ้นงานเป็นงานระดับโลกและระดับรางวัล ให้เอ่ยชื่อบางส่วนก็เช่น Metropolitan Museum of Art ที่นิวยอร์ก, Northwest Coast Hall ที่ American Museum of Natural History ที่นิวยอร์ก, Academy Museum of Motion Pictures ที่ลอสแอนเจลิส, The Quaich Project ที่สกอตแลนด์ และ Tchaikovsky Academic Opera and Ballet Theatre ที่รัสเซีย

ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และเรื่องราวของกุลภัทรเต็มไปด้วยเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบอาคารต่าง ๆ โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ และถือเป็นเรื่องราวที่คนที่ชื่นชอบเรื่องงานดีไซน์และงานศิลปะควรได้ลองสัมผัสสักครั้ง

ก่อนการพูดคุยครั้งนี้ ผมค้นประวัติของเขาที่พอมีให้ค้นหาบ้างในโลกออนไลน์ (โดยเฉพาะในเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ) และเตรียมคำถามเอาไว้คุยกับเขาหลายคำถาม โดยตั้งใจไว้แล้วว่าคำถามสุดท้ายที่จะถามเขา คือ ถ้าคุณมีพิพิธภัณฑ์ชีวิตของคุณเอง คิดว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง

หลังถ่ายภาพเสร็จ เราย้ายทำเลไปนั่งคุยกันที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ กัน

เมื่อได้นั่งพูดคุย เรื่องราวของเขาเริ่มฉายออกมาผ่านน้ำเสียง ถ้อยคำ ผมได้ยินความรู้สึกตื่นเต้นของการออกค้นหา ความสนุกสนานของการทำงาน ความกล้าลองก้าวไปสู่ขอบเขตใหม่ ๆ และกล้าตอบรับโอกาสที่วิ่งเข้ามาในชีวิต เรื่องราวของเขาค่อย ๆ เล่าออกมาอย่างกระตือรือร้น จนผมจินตนาการถึงคำตอบสำหรับคำถามสุดท้ายของผมได้

แล้วภาพพิพิธภัณฑ์ในจินตนาการแห่งหนึ่งก็ค่อย ๆ ปรากฏขึ้นมา

ห้องแรก : ก่อนจะถึงสถาปนิก

เราเริ่มต้นด้วยภาพตึกรามบ้านช่องสวย ๆ และบรรยากาศอันงดงามของเมืองปารีสในยุคหลายสิบปีที่แล้ว

“ผมชอบศิลปะ ชอบงานตกแต่งตั้งแต่เด็กแล้ว แต่เรื่องของสถาปัตยกรรมน่าจะเป็นตอนที่สัก 6 ขวบที่พ่อแม่พาไปปารีส คุณพ่อไปทำงาน ผมไปเดินกับแม่แล้วก็ประทับใจมาก ทำไมเมืองนี้มันสวยเหลือเกิน ไม่ใช่ตัวอาคารเท่านั้น เราประทับใจแม่น้ำ ประทับใจเมือง ทำไมคนเราถึงสร้างเมืองออกมาได้สวยงามอย่างนี้”

แล้วภาพต่อไปคือภาพห้องนอนในวัยเด็กของกุลภัทรนั่นเอง แต่เป็นห้องนอนที่ผนังถูกทุบออกไปด้านหนึ่ง!

“ปีถัดมาพอดีที่บ้านมีการขยายบ้าน แล้วเขาจะขยายห้องนอนผมให้ใหญ่ขึ้น คุณพ่อผมเป็นวิศวกร จบวิศวฯ จุฬาฯ เขาก็ถามผมว่าจะเอาห้องแบบไหน จะเอาห้องเล็ก จะเอาหน้าต่าง ระเบียงอะไรต่าง ๆ ไหม เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ! ถามเราทำไม เราเป็นเด็ก ก็ต้องอยู่ที่ผู้ใหญ่ให้อยู่แล้วว่าจะให้เราอยู่ยังไง จำได้ว่ารู้สึกโกรธด้วยซ้ำ ถามทำไม ทำมายังไงเราก็จะอยู่ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าโอกาสของเราอยู่ในแค่การตกแต่ง ก็บอกว่าเอาห้องใหญ่แล้วกัน ระเบียงไม่เอา จนวันที่เขาลงมือก่อสร้าง เป็นช่วงวันหยุดหน้าร้อน เราก็นอนตื่นสาย คนงานเขาก็เริ่มมาทำงานเลย นอนไปเรื่อย ๆ อยู่ดี ๆ ตรงผนังด้านหลังที่เดิมเป็นหน้าต่างเนี่ย เขาทุบไปหมดเลย ทั้งแผงหายไปเลย กลายเป็นเห็นต้นมะม่วงอยู่ข้างนอก เราก็โอ๊ะ! มันคือช็อกนะ เอ้ย! ทำไมมีอย่างนี้ได้ด้วย ไอ้กำแพงที่เราเห็นว่ามันเคยถาวรก็ไม่ถาวรแล้ว เกิดความรู้สึกว่า เออ ไอ้สภาพแวดล้อมของเรามันเปลี่ยนได้นะ ก็เริ่มสนใจเรื่องนี้
    

“ทีนี้พ่อผมเขาก็ฉลาดอีก เพราะว่าเราอยู่บ้านไม่มีอะไรทำ เขาก็ให้เก็บเศษเหล็ก พวกตะปูที่ตก ๆ พื้น และให้ไปช่วยช่างทำความสะอาด แล้วก็เก็บเศษเหล็ก เขาจะเอาไปขาย แล้วเราก็ได้เงิน (หัวเราะ) ผมเลยติดอยู่กับงานของช่าง เราอยู่ว่าง ๆ เราก็ช่วย เขาอยากเอาค้อนเราก็ไปหยิบค้อนให้ เหมือนใช้ชีวิตทำงานก่อสร้างเลย เลยเข้าใจขึ้นมาว่ามันสร้างอย่างนี้นี่เอง แต่ตอนนั้นเอาจริง ๆ ก็ยังไม่รู้ว่าสถาปนิกคืออะไรหรอก

“เราเป็นเด็กเรียน อยู่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน แล้วก็ได้มาอยู่ห้องคิงที่เตรียมอุดมศึกษา ตามสไตล์คือถ้าไม่เป็นหมอก็เป็นวิศวกร เราไปเรียนกวดวิชาเตรียมจะเป็นหมอ แต่ก็รู้สึกว่าไม่ใช่เส้นทางของเรา ดูเพื่อน ๆ รอบ ๆ ที่เรียนก็สไตล์ไม่เหมือนเราเลย จนจะต้องกรอกใบสมัครเอนทรานซ์แล้ว ตอนดึกคืนสุดท้ายเลยไปเคาะประตูห้องพ่อแม่ แล้วก็บอกว่า เนี่ย ไม่อยากเป็นหมอแล้ว อยากเป็นสถาปนิก 

“เขาก็ตกใจ แม่อยากให้เป็นหมอ แต่พ่อบอกว่า ก็ให้เขาเป็นอย่างที่อยากจะเป็นสิ เท่าที่ผมจำได้เขาบอกว่าพวกเพื่อน ๆ ที่เป็นหมอมัวแต่ยุ่ง มัวแต่เข้าเวรอะไรต่าง ๆ (หัวเราะ) ส่วนพวกเพื่อน ๆ ที่เป็นสถาปนิกเขาไปเล่นกอล์ฟสนุกสนาน แล้วเขาก็บอกว่า แต่ถ้าเป็นสถาปนิกนี่ยังไงเงินก็ไม่มี เพราะเป็นงานขายเซอร์วิส ถ้าจะทำต้องชอบจริง ถ้าจะไปเส้นทางนี้จริง จะต้องเลือกงานที่ชอบเท่านั้น อย่าเลือกงานเพราะเงิน เพราะว่าจะไม่มีเงิน และถ้าไปเลือกงานเพราะเงินแล้ว เงินจะไม่ได้ ความสุขใจก็จะไม่มี ซึ่งเรายังไม่ค่อยเข้าใจ (หัวเราะ) แต่ก็ดีใจที่เขายอมให้เอนทรานซ์เข้าเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์”

กุลภัทรมีเวลาในการปรับเส้นทางในการเรียนต่อจากแพทยศาสตร์ไปสู่สถาปัตยกรรมศาสตร์เพียงเดือนเดียว เขาติวเพื่อเขาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อย่างเข้มข้น พ่อของเขาพาไปดูออฟฟิศของสถาปนิกที่พอรู้จักกัน แต่เอาเข้าจริง ๆ ตอนนั้นเขาก็ยังเห็นภาพของ ‘สถาปนิก’ ไม่ชัดนัก

“ก็ยังไม่รู้หรอกว่าสถาปนิกทำอะไรกันบ้าง รู้แต่ว่าสนใจเรื่องของกราฟิกดีไซน์ พวกโปรดักต์ดีไซน์ สนใจเรื่องโฆษณา สนใจหลายเรื่องเลย เราก็รู้สึกว่าเข้าไปเรียนดูก่อนแล้วกัน”

หากเปรียบเป็นภาพสักภาพในหัวของเขาตอนนั้น คงเป็นภาพเบลอ ๆ มั่ว ๆ และรวม ๆ ของการงานและข้าวของที่ ‘สถาปนิก’ หรือ ‘ดีไซเนอร์’ สร้างและลงมือทำได้

แต่ในที่สุด เขาก็ได้เข้าไปเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




ห้องที่ 2 : การค้นหาในรั้วคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

หากเราเอางานในสมัยเรียนปริญญาตรีของกุลภัทรมาจัดแสดง จะเห็นว่านี่คือผลงานของคนที่กำลังค้นหาทิศทางของตัวเอง
    

“พูดจริง ๆ พอเข้าไปเรียนเราก็รู้สึกว่าหลง ๆ เหมือนกันนะ คือคนที่เป็นเด็กเรียนแบบเราก็มีบ้าง แต่ส่วนมากเขาจะลุย ๆ กันหน่อย และเป็นคนที่ถูกฝึกมือมาบ้างแล้ว ตอนนั้นพยายามจะเข้าใจตัวเองว่า นอกจากเรียนอย่างที่เขาอยากให้เรียน แล้วตัวเราคือใคร ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเราไม่เหมือนคนอื่น มีคนเขียนรูปเก่งกว่า มีคนใช้แอร์บรัชเก่งกว่า มีคนทำอะไรเก่งกว่า ก็เริ่มทำความเข้าใจว่าจุดยืนของเราอยู่ที่ไหน อาจเป็นเพราะไม่ได้ฝึกฝนเพื่อเข้าคณะนี้แต่แรก เราก็คิดว่า เออ ของเราอาจจะเป็นเรื่องของคอนเซปต์ เรื่องความคิดต่าง ๆ เราเน้นไปทางด้านความคิดว่าจะคิดยังไงไม่ให้เหมือนคนอื่น ตอนเรียนจุฬาฯ ก็ปานกลางครับ ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 เรียกว่าไม่ได้หลุดจากคนอื่นเท่าไหร่ แต่งานที่เราทำได้ดีเป็นงานคอนเซปต์ พวกพิพิธภัณฑ์หรืออนุสาวรีย์ต่าง ๆ”
    

หากช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังค้นหาตัวเองและมองหาแบบอย่างที่น่าสนใจ บางคนอาจค้นหาจากคนรอบข้าง การหาประสบการณ์ใหม่ ๆ หรือการดูสื่อต่าง ๆ สำหรับกุลภัทร เขาบอกว่านิตยสาร JA (The Japan Architect) และ GA (Global Architecture) ที่อยู่ในห้องสมุดของคณะ ถือว่าเป็นสิ่งพิมพ์ที่ทำให้เขาค้นพบอะไรบางอย่าง

“ตอนที่อยู่จุฬาฯ เราค่อนข้างสนใจเรื่องอัตลักษณ์ (Identity) ว่างานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในเมืองไทยควรจะเป็นแบบไหน ตอนนั้นเขาถกเถียงกันเรื่องศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยที่ญี่ปุ่นออกแบบ สถาปนิกของไทยก็ไปติงว่า ทำไมคนญี่ปุ่นออกแบบศูนย์วัฒนธรรมไทยออกมาไม่เหมือนไทยเลย เหมือนเป็นญี่ปุ่นกล่อง ๆ และมีหลังคาแบบนี้ ทุกคนพากันให้ความหมายต่าง ๆ ส่วนผมคิดเหมือนกันว่า อย่างบ้านผมอยู่สุขุมวิท สมัยก่อนตึกที่สูง ๆ คือตึกโชคชัยที่เหมือนตึกในต่างประเทศ มันสวยแต่ดูไม่เข้ากับภูมิอากาศบ้านเรา 

“หรือเวลาผมอยู่บ้าน โซฟาในบ้านเป็นหนังสีดำหมด (หัวเราะ) แต่เราชอบนั่งกับพื้น พอมองตัวเองอยู่ในสเปซแล้วรู้สึกว่าทำไมสันดานเรากับการใช้สเปซไม่เหมือนกันเลย มีเก้าอี้สวยงามเป็นหนัง แต่ก็ไม่มีใครนั่งเพราะร้อน แล้วก็มานั่งกับพื้น ตึกก็ไม่มีการบังแดด เป็นตึกกล่องกระจกล้วน ๆ เราก็ เอ๊ะ! ความต้องการความโมเดิร์นกับความสุขของตัวเองนี่มันไม่แมตช์กันเลย ถ้าจะแมตช์ก็เป็นบ้านไทยไปอีก เป็นหลังคาอีก เอาหลังคาไปคลุมก็จะเป็นของไทย 

“เราว่าแล้วความเป็นสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ของไทยควรอยู่ที่ไหน พอดีไปอ่านนิตยสาร JA หรือ GA ก็รู้สึกว่าญี่ปุ่นเขาเก่ง ดูแต่ละคนนี่ไม่มีสไตล์เดียวกันเลย อย่างอันโดะ (Tadao Ando) ก็แบบหนึ่ง อิโตะ (Toyo Ito) อีกแบบหนึ่ง อิโซซากิ (Isozaki Arata) หรือ ทังเงะ (Tange) เขาดูหลากหลาย แต่ทุกคนก็มีกลิ่นญี่ปุ่นหมด ซึ่งไม่ได้ญี่ปุ่นจ๋าแบบของเราที่เป็นไทยจ๋า เราว่าน่าสนใจ ตอนสักปี 3 – 4 ก็คิดว่าการที่จะไปเรียนต่อคงไม่เหมาะสมที่จะไปที่สหรัฐฯ หรือยุโรป เพราะปัญหาของเขากับปัญหาของเราไม่เหมือนกัน

“ปัญหาของเขาเป็นเรื่องของความเป็นเมืองหรือประวัติศาสตร์ ส่วนปัญหาของเราคือเรามีรากของตัวเอง แต่รับวัฒนธรรมเขามา แทนที่จะไปแข่งกับเขา เราว่าจะทำยังไงเพื่อจะผสมผสานสไตล์ที่เป็นสากลให้เข้ากับรากของเราดีกว่า ฉะนั้น ควรไปหาประเทศที่ปัญหาเหมือนกับเรา จึงเริ่มดูที่ญี่ปุ่น เม็กซิโก บราซิล คือประเทศที่เขามีความทรอปิคอลและมีบริบทคล้ายบ้านเรา ก็เริ่มสนใจ บาร์รากัน (Luis Barragán) สนใจ นีเมเยอร์ (Oscar Niemeyer) และเริ่มสนใจอันโดะด้วย เพราะเขาดีไซน์คอนเซปต์ดี ถูกใจ แรงดี น่าสนใจที่จะไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เพราะงานเขามีการพัฒนาต่อไป งานรุ่นใหม่ที่ออกมาเห็นชัดเจนว่าเบลนด์สไตล์ของสากลเข้าไปได้ และมีเอกลักษณ์ของตัวเองด้วย”

กุลภัทรได้ทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วการมองโลกของเขาก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง

ห้องที่ 3 : สวนญี่ปุ่นและอันโดะ

ภาพประเทศญี่ปุ่นในยุค 90 คือช่วงฟองสบู่เช่นเดียวกับที่ประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายของเมือง และโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ดูรุดไปข้างหน้าอย่างเร็วรี่ แต่สิ่งที่หนุ่มไทยซึ่งเพิ่งจะเรียนจบแล้วต้องไปอยู่ตัวคนเดียวที่นั่นให้ความสนใจกลับเป็น ‘สวนญี่ปุ่น’

ห้องนี้พาเราเข้าไปสู่สวนญี่ปุ่นหลากหลายแห่งก็จริง แต่บางทีอาจไม่ต้องจัดแสดงเป็นสวนญี่ปุ่น หากแต่เป็นการแสดง ‘ประสบการณ์’ ของการไปเดิน นั่งมอง และตกตะกอนความคิดจากการชมสวนญี่ปุ่นมากกว่า
    

“ตอนไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกเลยที่ผมต้องอยู่ด้วยตัวเอง ตอนที่ไปถึงเป็นปี 90 เราเห็นว่าทุกอย่างดูเฟื่องฟุ้งไปหมด มีดีไซน์ของต่างประเทศเข้ามา ผมชอบญี่ปุ่นในแง่ความคิด ญี่ปุ่นยังเป็นชาติที่คิดลึกและเกรงใจกัน เราว่ามันลึกซึ้ง แล้วที่ชอบมาก ๆ คือสวนญี่ปุ่น เพราะตอนเข้าไปจะรู้สึกว่า โอ้โห มันกลมกล่อมกันเหลือเกินระหว่างข้างในข้างนอก 

“ผมเป็นคนชอบเรื่องการเชื่อมโยงของข้างในข้างนอก อยู่ในบ้านมองไปข้างนอก อยู่ข้างนอกมองมาข้างใน รู้สึกว่าชีวิตไหลไปไหลมาระหว่างธรรมชาติกับสถาปัตยกรรม ตอนทำรีเสิร์ชปริญญาโทเลยเลือกทำเรื่องนี้ เพราะอยากศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสวนกับตัวอาคารในวัฒนธรรมญี่ปุ่น เลือกมา 23 กรณีศึกษา มามองว่าการวางอาคาร วางสวนอย่างไร รู้สึกสนุกมาก ขณะเดียวกันก็เริ่มสนใจคุณอันโดะมากขึ้น เพราะเขาพูดว่าเขาไม่ได้เรียนจากสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น แต่เรียนเรื่องสเปซจากสวนญี่ปุ่น ด้านหนึ่งเขาเรียนจาก เลอ กอร์บูซีเย (Le Corbusier) จาก แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ (Frank Lloyd Wright) จาก มีส ฟาน เดอร์ โรห์ (Mies van der Rohe) อีกด้านหนึ่งคือเรื่องสเปซ เขาเรียนมากจากสวนญี่ปุ่น เราเริ่มรู้สึกถูกใจ เพราะมันเป็นเรื่องของนามธรรม (Abstract) ไม่ใช่ว่าเรื่องสวนญี่ปุ่นจะต้องไปทำสวน แต่เอามาปรับกับเรื่องอื่นได้”

ปี 1996 กุลภัทรได้พบกับ ทาดาโอะ อันโดะ เป็นครั้งแรก ตอนที่สถาปนิกชื่อดังท่านนี้ได้รับเชิญให้มาเยือนเมืองไทย ด้วยการที่กุลภัทรต้องไปอยู่บนเวทีเดียวกับอันโดะและสถาปนิกไทยระดับประเทศอีกท่านพร้อมกัน

“วันนั้นเขาได้รับเชิญให้มาพูดที่กรุงเทพฯ ของ ASA (สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์) พอดีว่าผมพูดญี่ปุ่น ตอนนั้นผมจบปริญญาเอกแล้ว กำลังรอไปทำงานกับคุณอิโตะอยู่ ผมกลับไทยมาทำเวิร์กช็อป เพราะตอนเรียนที่ญี่ปุ่นชอบทำเวิร์กช็อป เป็นเด็กกิจกรรม ก็เอานักเรียนไทย-ญี่ปุ่นมาทำเวิร์กช็อปด้วยกัน เชิญสถาปนิกญี่ปุ่นกับสถาปนิกไทยมาเวิร์กช็อปด้วยกัน เผอิญคุณอันโดะได้รับเชิญมาเลกเชอร์ในจังหวะพอดีกับช่วงที่เรากำลังทำเวิร์กช็อปอยู่ ผมถูกขอให้มาช่วยดำเนินการคุยกันระหว่างคุณอันโดะกับ อาจารย์ภิญโญ (ภิญโญ สุวรรณคีรี – ศิลปินแห่งชาติ) ซึ่งมันคนละธีมเลย (หัวเราะ) อันโดะคือถือว่าเป็นเจแปนนิสมาสเตอร์ อาจารย์ภิญโญคือมาสเตอร์ด้านสถาปัตยกรรมไทย 

“เผอิญก่อนจะคุยก็ไปกินข้าวกับคุณอันโดะก่อน คุยถูกคอกันมาก เขาบอกว่าประทับใจบางปะอินมาก เขาทำโปรเจกต์ที่ญี่ปุ่นตอนนั้นอยู่ ฟีลคล้าย ๆ บางปะอิน คือเป็นน้ำตรงกลาง แล้วมีพาวิลเลียนหลายอัน เราก็เลยคุยกันเรื่องบางปะอิน ประสานกับฝั่งอาจารย์ภิญโญได้สนุก ทีนี้ก็เริ่มคุ้นเคยกัน หลังจากงานเขาก็ขอให้เราพาไปเที่ยว อันโดะเขาไม่อยากไปวัดวัง เขาอยากให้พาไปเที่ยวคลอง แกแฮปปี้เพราะแกมากรุงเทพฯ หนก่อนนี่มาต่อยมวยนะ (หัวเราะ) 

“ชีวิตอันโดะเขาน่าสนใจ ตอนอยู่มัธยมปลายเขาเข้าชมรมต่อยมวยเพราะจะได้เดินทางมาต่อยมวยแบบมิตรสัมพันธ์กับคนไทยได้ ตอนนั้นเขาก็มาที่เวทีลุมพินี แล้วก็ไม่ได้มาไทยอีกเลย พอได้มาอีกแกก็แฮปปี้ เลยคุ้นเคยกันดี แล้วแกก็ชวนว่า ถ้ากลับไปญี่ปุ่นให้มาหาหน่อย”

ในชีวิตของกุลภัทร สิ่งหนึ่งที่ดูจะเป็นนิสัยติดตัวคือการเป็นนักอ่าน หากต้องเอาหนังสือที่ส่งอิทธิพลต่อความคิดของเขามาจัดแสดงคงต้องใช้พื้นที่อยู่ไม่น้อย และอย่างที่ใครบางคนบอกไว้ว่าหนังสือบางเล่มเปลี่ยนชีวิตเราได้ มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตการทำงานของเขาที่ทำให้ได้เริ่มต้นทำงานร่วมกับ ทาดาโอะ อันโดะ 
     

“ตอนนั้นผมอ่านหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ Deconstructing the Kimbell เป็นหนังสือดีมากนะครับ พูดถึงแนวคิดดีคอนสตรักชัน (Deconstruction) ซึ่งตอนนั้นเป็นที่นิยมมาก คนเขียนชื่อ ไมเคิล เบเนดิกต์ (Michael Benedikt) เราอ่านแล้วประทับใจมาก ตอนที่ทำธีสิสปริญญาเอกที่ Tokyo University ได้อ่านหนังสือเยอะ เมื่อผมกลับไปพบคุณอันโดะที่โอซาก้าอีกที แกบอกว่าแกกำลังจะทำประกวดแบบพิพิธภัณฑ์ที่ติดกับ Kimbell Art Museum อยู่ ผมบอกเขาว่า ถ้าไม่อ่านเล่มนี้ทำไม่ได้หรอก แล้วอันโดะก็ชอบ หลุยส์ คาห์น (Louis I. Kahn – สถาปนิกชื่อดังที่ออกแบบ Kimbell Art Museum) มากอยู่แล้ว เขาก็สนใจขึ้นมา เขาบอกว่า เอ้า! คุณก็มาทำงานด้วยกันแล้วกัน เพราะคุณอ่านแล้ว (หัวเราะ) 

“ตอนนั้นไม่มีคนต่างชาติในออฟฟิศเขาเลย เราตื่นเต้น อุ๊ย เขาชวนเรา (หัวเราะ) ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นฮีโร่อะไรนะ แต่ว่าเขาเป็นคนน่าสนใจ คือพอไปเที่ยวด้วยกัน เวลาเขาสังเกตสิ่งต่าง ๆ เรารู้สึกว่ามันใช่ มันชัดเจน รู้สึกว่าคนนี้มีวิสัยทัศน์ ทุกคอมเมนต์ลิงก์กับหลักคิดของเขาเอง ดูเป็นคนที่น่าเคารพ แต่ก็ยังไม่ได้รู้จักกันลึก พอเขาชวนเรา เราก็กำลังรองานอยู่พอดี เขาบอกไปช่วยกัน 3 เดือน เราก็โอเค 3 เดือนก็ดี เนื่องจากว่าเราไม่ใช่พนักงานปกติ เหมือนเป็นเพื่อนหรือเป็นที่ปรึกษา แล้วเขามีบ้านอยู่ซึ่งก็มีห้องติดกัน เขาก็ให้เราอยู่ไป 

“ตอนนั้นไปทำทุกอย่าง ทำโมเดล ทำรีเสิร์ช เขียนตีฟ (Perspective) ทำรูปตัด (Section) เราก็ทำเฉพาะโปรเจกต์นี้ไปเรื่อย ๆ สรุปทำไป 6 เดือน พอเสร็จเราก็ส่งงานไป แล้วเขาก็ไปประกวดแบบ แต่เราไม่ได้ไป เพราะเป็นแค่ที่ปรึกษา เราก็เศร้า ๆ เหมือนกันนะ มันเหมือนเป็นงานชิ้นแรก ๆ ของเรา
   

 “ส่วนมากในชีวิตเราจะมีทิศทางว่าต้องทำอันนั้นแล้วไปอันนี้ บางครั้งผมก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องของโชคชะตา หลังจากที่ทำงานให้อันโดะเสร็จ กลับไปห้องที่เช่าไว้ที่โตเกียว เป็นห้องเล็ก ๆ มีหนังสือเต็มไปหมด ตอนนั้นก็คิดว่าเราจะยังไงดี จะกลับมาสอนที่จุฬาฯ ดีไหม คือเราก็รอคุณอิโตะอยู่นะ แกไม่โทรมาสักที แต่ตอนนั้นอยู่ญี่ปุ่นมา 7 ปีก็ยังไม่อยากกลับ เริ่มเศร้า เริ่มเก็บของกลับบ้านด้วย เก็บของใส่กล่อง เก็บหนังสือไป กำลังรอคนมารับของส่งกลับเมืองไทย ห้องโล่งหมดเลย มีโทรศัพท์เครื่องเดียวที่รอว่าเมื่อไหร่คนขนของจะโทรมาบอกให้เอาของลงไปเพราะจอดรถนานไม่ได้ 

“เผอิญมีคนโทรเข้ามา เป็นภรรยาของคุณอันโดะ (หัวเราะ) เขาบอกว่า อ้าว คุยกับอันโดะหน่อย อันโดะก็บอกเราว่า ที่ทำประกวดแบบไปนี่เราชนะนะ เราก็เริ่มตื่นเต้นในใจ เราบอก โอเค ๆ เดี๋ยวขอส่งหนังสือก่อนเดี๋ยวโทรไปคุยทีหลัง คือเราทำงานกับเขา 8 เดือน รู้สึกเข้ามือกันดี เริ่มสนุก คุยไปก็ดีใจว่า ตอนนี้ชีวิตมีจุดหมายมากขึ้น แต่ผ่านไป 5 นาที คุณอิโตะโทรมาบอกว่า เออ มากินข้าวกันหน่อยไหม มีเรื่องงานอยากจะคุยด้วยหน่อย ตอนนั้นเราก็โกรธนิดหน่อยนะ รอมาตั้งปี (หัวเราะ) เรานัดไปเจอคุณอันโดะที่โอซาก้า เขาส่งตั๋วรถไฟมาให้ คุยเรื่องเงินเดือน เรื่องขอบเขตงานต่าง ๆ เราก็ดีใจว่ามีงาน เลยบอกคุณอิโตะว่าเรารับงานไปแล้ว เขาก็บอก ขอโทษทีที่ช้า เพราะว่าคุณจบ Ph.D. หางานแบบที่ให้คุณทำได้มันไม่ค่อยมี (หัวเราะ) ไม่อยากให้คุณไปทำงานอยู่ใต้คนที่จบปริญญาตรี เราก็บอกว่าไม่ถือ แต่แหม ก็น่าจะอธิบายให้ฟังก่อน (หัวเราะ)

“สุดท้ายเลยไปทำงานกับคุณอันโดะ กลับไปก็ไปอยู่ห้องเดิม ตอนแรกทำโปรเจกต์ที่เราชนะไป แต่เนื่องจากเป็นคนต่างชาติคนเดียว เขาจึงส่งงานมาให้เราทุกงาน ตอนหลังไม่ใช่เฉพาะงานสถาปัตยกรรม แต่งานประเภทเขียนหนังสือก็ต้องเขียนให้ ต้องเขียนภาษาอังกฤษ มีหนหนึ่งไปประกวดแบบที่ซานฟรานซิสโก แล้วคนที่เป็นล่ามไม่ค่อยดี เราอยู่ตรงนั้นเลยบอกอันโดะว่า ต่อจากนี้ไปถ้าเป็นงานที่เราทำ เราจะขอแปลทุกงาน แม้ภาษาจะไม่เหมือนเจ้าของภาษา แต่เราก็รู้ตัวงาน รู้บริบท ตอนหลังผมก็เลยกลายเป็นคนพูดอะไรต่าง ๆ ให้อันโดะหมด ทั้งเลกเชอร์ บทสัมภาษณ์ การออกสื่อ เรียกว่าเราเป็นผู้จัดการงานต่างประเทศทั้งหมดของเขา แล้วก็ต้องเดินทางด้วยกันตลอดเวลา ซึ่งเราได้เรียนรู้เยอะมาก ตัวงานจริง ๆ ทำอยู่ก็หลายงาน แต่ว่าที่เยอะมาก ๆ คือการใช้ชีวิตด้วยกันครับ”

เราจินตนาการถึงภาพกุลภัทรและอันโดะไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อย ๆ ชนิดที่ต้องเรียกว่าใช้ชีวิตด้วยกันตลอดเวลา ทั้งเดินทางไปที่ต่าง ๆ ไปเลกเชอร์ด้วยกัน บางครั้งกลับมาบ้านก็ยังนั่งคุยกันอีก

“8 ปีที่อยู่กับอันโดะเข้มข้นมากครับ เราได้เรียนรู้หลายเรื่องมาก แต่ที่เรียนรู้มากที่สุดคือเรื่องการมีรีแอคชัน (Reaction) กับทุกอย่าง งานที่ดี ๆ ของคุณอันโดะจะเป็นงานที่เขามีรีแอคชันด้วย ไม่ว่าจะเป็นรีแอคชันกับไซต์งาน รีแอคชันกับลูกค้า เช่นว่าไซต์นี้ต้องเป็นแบบนี้ ต้องอาคารแบบนี้ แล้วมันจะเกิดขึ้นแบบซาโตริ (Satori – รู้แจ้ง) ไม่ใช่ว่านั่งเขียน ๆๆ ไปแล้วออกมา มันเหมือนสายฟ้าฟาด (Flash of Creativity) ซึ่งความจริงอาชีพแบบเราก็มีการออกแบบประเภทที่เอาโปรแกรมมาวาง ๆ มาผสมกันแล้วก็ออกมาสวยนะ และมีงานที่ดีด้วย แต่ว่าสำหรับผม ถ้าวิชัน (Vision) ไม่เคลียร์ ก็จะเหมือนเอากล่องมาวาง ๆ แล้วมารวมกัน แต่คุณอันโดะทำให้เราคิดไม่เหมือนก่อน พอคิดได้ว่าต้องเป็นอย่างนั้นแล้ว วิธีการของเราคือจะทำอย่างไรให้เราไปถึงจุดนั้น ก็จะต้องมีความสงสัยใคร่รู้ (Curiousity) ต้องอ่านจากบริบท (Context) ต้องเปิดใจกว้าง จะดูไซต์ยังไง คุยกับลูกค้ายังไง บางทีคุยกับลูกค้าไป ๆ มา ๆ ลูกค้าพูดขึ้นมา เราก็เกิดไอเดียขึ้นมาได้ มันอาจจะเกิดโดยบังเอิญได้ด้วย แต่ความเป็นตัวเราเอง และเราฝึกฝนเพื่อให้จะเข้าถึงตรงนี้ได้มากขึ้น ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ที่บางทีเราคิดว่า เอ๊ะ เขาคิดมาได้ยังไง ความจริงแล้วมันเป็นรีแอคชัน คุณอันโดะเขาเคลียร์มากเรื่องวิธีคิดว่าจะเข้าถึงปัญหาอย่างไร และการเข้าไปถึงปัญหาก็เป็นทางแก้ปัญหาอยู่ในตัวมันเอง”

กุลภัทรเริ่มทำงานและใช้ชีวิตกับอันโดะตอนที่เขาอายุ 27 พออายุ 32 เขาก็เริ่มคิดเรื่องการขยับขยายโยกย้ายชีวิต

“ตอนนั้นเมืองไทยเป็นยุคฟองสบู่ เพื่อนรุ่นเดียวกับเราเขาได้ทำตึกใหญ่ ๆ อาคารสำคัญต่าง ๆ เราเริ่มรู้สึกว่าอยู่กับอันโดะไปนาน ๆ จะออกไม่ได้ เพราะงานสนุก งานดี ลูกค้าดี เราต้องออกไปทำเอง จะดีร้ายยังไงก็ต้องไปลอง เราบอกเขา 3 ปีก่อนจะออก เราทำโปรเจกต์เยอะมาก ทำทุกอย่างเลย ซึ่งเขาก็กลุ้มนะ เพราะคุยกันตลอด แล้วเราก็ซื่อสัตย์ด้วยไง ซัพพอร์ตทุกอย่าง เราจะออกประมาณสิ้นปี 2003 เพราะว่าโปรเจกต์จะจบปี 2002 แล้วก็บอกรายละเอียดเลยว่าจะเคลียร์งานที่ทำตรงนี้เป็นชั้น ๆ อันสุดท้ายจบเดือนพฤศจิกายน ปี 2003 ถ้าจบแล้วก็จะออกจากตรงนั้นเลย แล้วจะย้ายไปที่อื่น 

“ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน เพราะตอนนั้นงานหลักทำอยู่ที่ปารีสกับอยู่ที่สหรัฐฯ จริง ๆ ก็อยากอยู่ปารีส แต่ตอนนั้นไม่มีงาน แล้วเขาก็ไม่ค่อยต้อนรับคนต่างชาติ ส่วนสหรัฐฯ เราไม่เคยไปอยู่ ไม่เคยไปเรียน ตอนนั้นอายุ 32 ถ้าสัมภาษณ์ก็จะดูแก่เกินไปหน่อยที่จะอยู่นิวยอร์ก (หัวเราะ) ถ้าไปนิวยอร์กก็ต้องไปทำงานกับคนอื่นสัก 3 – 4 ปี กว่าจะเริ่มก็เกือบ 40 เราเลยคิดว่ามาทำเองแล้วกัน เลือกแอลเอ (ลอสแอนเจลิส) ก็แล้วกัน เพราะคงคล้าย ๆ บ้านเรา มีคนไทยเยอะ ท้องฟ้าแจ่มใส จะดีร้ายยังไงก็คงมีงานทำบ้าง ตอนนั้นมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เลยชวนมาตั้งออฟฟิศกัน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2004”

ห้องที่ 4 : การเริ่มต้นที่แอลเอ

ฉากชีวิตของสถาปนิกหนุ่มวัย 35 ก็เปลี่ยนไป เขาเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนผู้คนที่รายล้อม และเปลี่ยนบรรยากาศรอบตัว รวมทั้งเปลี่ยนบทบาทไปด้วย

“ผมอยู่ญี่ปุ่นมาเกือบ 15 ปี เราซึมซับวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่ความเป็นไทยของเราก็ยังมี และมันเริ่มดันออกมา ผมชอบความหลากหลาย ชอบแบบมีกลิ่น ที่ญี่ปุ่นเรารู้สึกว่าทุกคนเล่นเกมเดียวกัน เป็นมินิมอลไปหมด ทุกอย่างขาวหมด มันไม่มีกลิ่นชีวิต ในขณะที่เมืองไทยฉูดฉาดเหลือเกิน มีเรื่องการผสมผสานต่าง ๆ มากกว่า เราเลยอยากไปลองอะไรใหม่ ๆ ที่ใหม่ ๆ แล้วที่อยากเริ่มที่สหรัฐฯ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่กลาง (Middle Ground) ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ผสมทั้งสองเข้าด้วยกัน สหรัฐฯ ไม่ได้ Abstract เหมือนญี่ปุ่น มันมีชีวิตชีวา อย่างงาน หลุยส์ คาห์น ก็เป็นงานที่เรียกว่าแนวอันโดะก็ไม่เชิง งานเขามีกลิ่นชีวิตนะ ทั้งการใช้วัสดุ การใช้เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ดังนั้น สหรัฐฯ อาจเป็นที่ที่ดีที่จะสร้างอะไรต่าง ๆ จะได้สร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง เราเลยคิดว่าอยู่ที่นั่น”

กุลภัทรกลายเป็นเจ้าของสำนักงานออกแบบ เขากับเพื่อนตั้งชื่อบริษัทว่า WHY แล้วการเดินทางครั้งใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2004

“เราโชคดีเพราะคนรู้จักมาก่อน เดิมเราเป็นเหมือนหน้าบ้านให้คุณอันโดะ พอย้ายออกมาทำเอง ก็มีงานที่ผมทำค้างอยู่ คือบ้านที่ออกแบบไว้กับอันโดะ ซึ่งตอนนี้เจ้าของเพิ่งขายให้ บียอนเซ่ (Beyoncé) บ้านอยู่ที่มาลิบู (Malibu) ที่แอลเอ ลูกค้าก็บอก อ้าว! คุณย้ายไปอยู่แอลเอก็มาทำต่อให้สิ เราคุยกับคุณอันโดะ แล้วพอย้ายไปแอลเอก็ไปทำบ้านหลังนี้ต่อเลย ถือเป็นงานแรกของ WHY ในขณะเดียวกัน ตอนที่ย้ายไปอยู่แอลเอ คนในวงการศิลปะก็เริ่มรู้ว่าเราย้ายไป หรือลูกค้าก็ช่วยแนะนะว่า นี่คุณกุลภัทร เขาเป็นมือขวาของอันโดะ ก็เลยมีงานเข้ามาครับ”

งานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในช่วงแรกของ WHY คือ Grand Rapids Art Museum ในรัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แรกในโลกที่ได้ LEED Gold (Leadership in Energy and Environmental Design ระดับ Gold) หากใครอยากให้ผู้คนได้รู้จักการทำงานออกแบบของกุลภัทร ต้องมีโปรเจกต์นี้จัดแสดงให้เห็นด้วยแน่นอน

“ตอนแรกเราก็พยายามจะหนีออกจากคอนกรีต เพราะกลัวคนมองว่า เอ๊ะ งานคุณอันโดะหรือเปล่า แต่ว่าเราทำงานคอนกรีตเป็น ทำคอนกรีตทำสวยแล้วไม่แพง เรารู้วิธีการทำคอนกรีต รู้เรื่องไม้แบบ สำหรับโปรเจกต์ Grand Rapids ตัวลูกค้าเขาอยากให้เป็นแบบ LEED Gold เราก็บอกว่าโอเค ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องทำเป็นคอนกรีต เพราะไม่ต้องเดินทาง งบก็ไม่มาก ใช้วัสดุพื้นถิ่นได้ ไม่ต้องนำเข้ามา มันเข้ากับงบประมาณและได้เรื่องความยั่งยืนด้วย เราก็เลยทำงานเป็นงานคอนกรีตไป 

“มีจุดหนึ่งตอนที่ทำพิพิธภัณฑ์ที่แกรนด์ ราพิดส์ เราไปขอให้ เอลส์เวิร์ท แคลลี (Ellsworth Kelly) ซึ่งเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง ให้เขามาทำประติมากรรมในล็อบบี้ พอดีว่าเอลส์เวิร์ทก็เป็นคนที่คุณอันโดะนับถือมาก ซึ่งผมเคยรู้จักมาก่อน ตอนที่เขามาติดตั้งผลงานในพิพิธภัณฑ์ เราไปกินข้าวด้วยกัน ผมถามเขาว่า คิดว่าคนจะมองว่าเป็นของอันโดะหรือเปล่า เพราะเป็นคอนกรีต เขาก็บอกว่า No, very different แล้วเขาก็บอกว่าของอันโดะเขาเป็นคนญี่ปุ่น It’s all about control คือเป็นการให้คนเดินไปตรงนี้ ตรงไปทางนี้ มองหน้าต่างบานนี้ ทุกอย่างมันถูกควบคุมไปหมด ส่วนคุณเป็นคนไทย ใจดี (หัวเราะ) คือให้คนเดินไปแล้วมองตรงนี้ก็ได้ มองขึ้นมองลง มีตัวเลือก 

“ตอนที่เขาพูดตอนนั้นประมาณปี 2007 เราทำมาได้ 3 ปีแล้ว ก็พบว่าสิ่งที่เราตามหาอยู่ก็คืออะไรอย่างนี้ ที่เราทำงานสไตล์ญี่ปุ่นแบบเรียกว่าโหด ๆ บังคับแบบห้องกลมและมีหน้าต่างอันเดียวไม่ได้ เพราะว่าเราอยู่ไม่ได้ และไม่อยากให้คนอื่นอยู่ด้วย ถึงแม้จะดูสวยก็ตาม ที่เขาพูดขึ้นมามันตรงใจเลยว่าเราเป็นแบบนี้จริง ๆ เราอยากให้มีรสชาติ (Flavors) อยากให้ห้องที่มองตรงนี้ก็ได้ จะมองตรงนั้นก็ได้ แต่ทำยังไงให้บาลานซ์ ที่เขาพูดก็จี้ใจเรา แต่ก็เป็นความสวยอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นความสวยที่เราหาอยู่ เพราะเราไม่อยากไปควบคุมคนขนาดนั้น เหล่านี้เลยเป็นพื้นฐานความคิดของเรา”

ห้องที่ 5 : พิพิธภัณฑ์ของพิพิธภัณฑ์

หลังจากนั้น WHY ก็เริ่มมีลูกค้ามากขึ้น ๆ ซึ่งหากต้องจัดแสดงผลงานของกุลภัทรว่ามีที่ไหนบ้าง มีคอนเซปต์ รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง คงต้องใช้พื้นที่จัดแสดงไม่น้อยเลย

“ทุกงานมีความยากที่ไม่เหมือนกัน งานพิพิธภัณฑ์ใหม่เราก็ทำเยอะ งานประเภทรีโนเวตก็ทำเยอะ อย่างการทำงานที่ Metropolitan Museum of Art (MET Museum) ที่นิวยอร์ก ยากในแง่ว่าจะทำยังไงให้คอลเลกชันที่เขาเรียกว่า Rockefeller Wing เชื่อมโยงไปถึงตัวอาคารหลักได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นตัวของตัวเองด้วย ทำยังไงให้คนที่เข้ามารู้สึกไม่สับสนและมีแรงบันดาลใจ สิ่งนี้นับเป็นปัญหาระดับหนึ่ง 

“หรือโปรเจกต์อีกแบบที่ยากคือบ้าน จะทำบ้านให้สวยหรือออกมาเหมือนโชว์รูมนี่ไม่ยาก แต่จะทำบ้านให้ชีวิตคนมีคุณค่าและมีความหมายนี่ทำยาก เพราะต้องเข้าใจคนคนนั้น เพื่อให้ความเป็นชีวิตของเขาออกมา ทั้งการเลือกวัสดุ การใช้สเปซ การใช้เวลา อย่างผมทำงานบ้านก็จะเลือกคนที่เราเคารพ เพราะว่าอยากให้เขารู้สึกดี ถ้าเจอลูกค้าที่ไม่รู้จัก เราก็จะถามว่า Do you know what makes you happy? เพราะต้องถามตัวเองก่อน เราไม่อยากสร้างบ้านให้คนเอาไปอวดว่า ดูสิ บ้านสวย คือแบบนั้นทำไม่ยาก มันก็อาจจะดี แต่เราอยากรู้ว่าความสุขของเขาอยู่ที่ไหน

“ทีนี้กลับไปถึงเรื่องสายฟ้าของแรงบันดาลใจ (Lighting of Inspiration) ถ้าสมมติว่าเขาชอบตรงนั้นตรงนี้ ก็จะกลายเป็นคอนเซปต์ขึ้นมา เช่น ชอบหนังสือก็ทำเป็นทาวเวอร์หนังสือเลย ชอบรถยนต์ก็ทำเป็นโรงรถเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ มีวิธีต่าง ๆ ที่ทำให้บ้านเป็นส่วนหนึ่งของเขาได้ ทำให้ชีวิตเขามีความหมายมากขึ้นได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของรูปร่างหน้าตา เป็นเรื่องของศักยภาพในชีวิต เรื่องการใช้ชีวิต เรื่องความเข้าใจในตัวเอง ความสุขต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้น การออกแบบบ้านจึงค่อนข้างใช้เวลาเยอะ และพูดตรง ๆ ว่าบ้านส่วนมากที่เราทำเป็นบ้านของนักสะสมงานศิลปะหรือไม่ก็ศิลปิน ไม่ก็เป็นพวกปัญญาชน (Intellectual) แม้แต่คนที่เป็นนักสะสมงานศิลปะก็ต้องคิดว่าจะอยู่บ้านอย่างไรให้ไม่เหมือนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ต้องมีชีวิตชีวาของเขาด้วย”

และเชื่อว่าหากต้องจัดแสดงผลงานของกุลภัทรแล้วล่ะก็ โปรเจกต์ประเภทพิพิธภัณฑ์ดูจะเป็นงานที่เขาถนัดและมีผลงานเยอะที่สุด
    

“พิพิธภัณฑ์เป็นโปรเจกต์ที่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ (Spiritual) เป็นเรื่องคอนเซปต์ แต่ก็มีหลายแบบมาก ไม่ใช่เฉพาะอาร์ตมิวเซียม หรือถ้าเป็นก็ยังมีแบบร่วมสมัย (Contemporary Art Museum) มีแบบประวัติศาสตร์ (History Museum) ฉะนั้น ข้อคิดต่าง ๆ อาจจะไม่เหมือนกัน ถ้ามองในบริบทของงานพิพิธภัณฑ์ ศิลปะสมัยใหม่หรือร่วมสมัย ผมคิดถึงเรื่องแก่นแท้ (Essence) คือถ้ามีคอลเลกชันแล้ว ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้งานศิลปะมันเฉลิมฉลองได้ ผมชอบคิดว่าการทำพิพิธภัณฑ์เหมือนเราเป็นพ่อสื่อ (Matchmaker) ระหว่างคนกับงานศิลปะ จะทำยังไงให้คนกับศิลปะรักกัน ก็ต้องทำให้งานดูดี ทำให้คนมั่นใจ ทำให้ทั้ง 2 ฝั่งเข้าหากันด้วยความเป็นธรรมชาติ แล้วคนทั่วไปเขาจะรู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์มีความข่มผู้เข้าชม ดูน่ากลัว เกิดกำแพงไปแล้วว่าต้องเป็นคนที่มีการศึกษา ต้องมีสตางค์ถึงจะรู้คุณค่าของศิลปะ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เราจะทำอย่างไรให้เขารู้สึกมั่นใจ เพราะถ้าคนมั่นใจแล้ว เขาก็จะกล้าเปิดใจสำรวจ แล้วเขาจะค้นพบเอง 

“อย่างพ่อแม่ผม เขาไม่ใช่คนที่ชอบไปดูพิพิธภัณฑ์นะครับ พอไปเที่ยวด้วยกันเราก็พาไปดูเรื่อย ๆ ตอนนี้เขาก็ชอบไปเอง บางทีเวลาไปด้วยกัน เขาไปมอง ๆ รูป แล้วก็พูดอะไรขึ้นมา เราก็คิดว่า เออว่ะ มุมมองที่ไม่มีอคติ (Prejudice) มันชัดเจนมาก เขาเห็นชัดกว่าเราอีก คนอย่างเรานี่เรียนศิลปะมากไป แทนที่จะไปมองศิลปะหรือองค์ประกอบรูปต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เรากลับไปมองเรื่องความรู้ ดูแล้ว อุ๊ย รูปนี้ต้องไปอ้างอิงถึงรูปนั้น แต่พ่อแม่เขาไม่สนอะไรแบบนี้นะ เขาดูแล้วเขาก็ อ้อ! งานนี้ศิลปินเขาคิดแบบนี้ ศิลปินกำลังพูดถึงความเศร้าของมนุษย์อยู่ อะไรก็ว่าไป เราก็ เออว่ะ จบเลย (หัวเราะ) ไอ้เราก็ไปคิดว่าเออรูปนี้เรียนมาจากรูปนั้นนะ มันก็สำคัญเหมือนกัน แต่ปัญหาก็คือว่าจะทำยังไงให้คนทั่วไปเข้าถึง พอเข้าถึงแล้วชีวิตมันมีความหมายมากขึ้น แต่เนื่องจากเราเป็นคนสายศิลป์ เราไปเรียนศิลปะมาเพื่อจะทำงานศิลป์ แต่คนที่ไม่ใช่ศิลปินเขาเรียนศิลปะเพื่อหาทางออกของชีวิตว่ามีวิธีคิดแบบนี้ มีความสุขรูปแบบแบบนี้ แล้วศิลปะช่วยหาทางออกของชีวิตได้”

ห้องที่ 6 : เห็นความเห็น

เวลาได้นั่งคุยกับคนที่ ‘เห็นโลก’ มาเยอะ ๆ อย่างเช่นกุลภัทรที่ได้พบปะผู้คน สถานที่ ได้ใช้ชีวิตในหลาย ๆ ส่วนของโลกมาแล้ว การได้ฟังความเห็นและมุมมองที่เขามีต่อสิ่งต่าง ๆ ย่อมน่าสนใจเสมอ และหากต้องนำเสนอความเห็นของเขา ผมนึกถึงการสัมภาษณ์ จะเป็นการถ่ายวิดีโอหรือเป็นตัวหนังสือก็ได้ทั้งนั้น

ในฐานะที่ออกแบบพิพิธภัณฑ์มาหลายแห่ง คุณมองว่าพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีสำคัญกับสังคมมนุษย์อย่างไรบ้าง

เราอยู่ในยุคที่มี AI ผ่านมา 4 – 5 ปีแล้ว ผมมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนของมนุษย์คือโควิด-19 ทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับสังคมต่างกันไปเลย เรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ เรื่องความสัมพันธ์อะไรต่าง ๆ มันไม่เหมือนเดิม และตอนนี้ก็เปลี่ยนด้วย AI เข้าไปอีก AI แทนที่วิธีคิดของคนได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนจะเชื่อถือได้มีน้อยลง ๆ ไปเรื่อย ๆ แต่ว่าคนก็ยังต้องเชื่อถือด้วยประสบการณ์ของตัวเอง ทุกวันนี้ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นยาก เหมือนกับว่าคนถูกกระหน่ำด้วยข้อมูลเต็มไปหมด มันเบลอไปหมด การได้ไปเจอของแล้วมีการเผชิญหน้า มีอารมณ์ความรู้สึกท่วมท้นแบบนี้มีน้อย ผมว่าบทบาทของพิพิธภัณฑ์กับแกลเลอรีคือให้เรื่องความคิดได้ด้วย ในขณะเดียวกันก็ให้เรื่องอารมณ์ความรู้สึก เมื่ออารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้นในตัวเราแล้ว เราจะไม่ลืม

ผมคิดว่า AI อยู่ในชีวิตเราแล้ว หลีกเลี่ยงไม่ได้ AI ทำให้ชีวิตคนสะดวกขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดในสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ สิ่งที่ AI ไม่มีคือความเข้าอกเข้าใจมนุษย์ สำหรับผม เวลาออกแบบ ผมจะเห็นชีวิตคน อาชีพหลักของสถาปนิกคือทำให้ชีวิตคนดีขึ้น จะด้วยความสวยงาม ความภูมิใจ หรือสุขภาพ ไม่ว่าจะดีขึ้นแบบไหน แต่การทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นสำคัญที่สุด เพราะคนมีหัวใจแต่ AI ไม่มี ถ้าคิดแบบมนุษย์ บางอย่าง AI ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราควรแข่งกับ AI ด้วยวิธีคิดในแง่คุณธรรมและความเข้าอกเข้าใจไม่ใช่ตรรกะ

คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อมองแวดวงนักออกแบบของไทยด้วยมุมมองของต่างประเทศ คนไทยเรามีข้อดี ข้อเด่น และจุดอ่อนอย่างไรบ้าง


ช่วงหลัง ๆ ผมกลับมาเมืองไทยบ่อย ก็เชื่อว่าคนไทยฝีมือดีมาก แต่ผมพูดประจำว่ายุคนี้เป็นยุคศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่จำเป็นต้องได้นักออกแบบ ได้นักคิดที่ผสมของหลาย ๆ อย่างเข้าไปด้วยกันได้ ยุคนี้เรายังมีอีกหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชน ผู้ใช้งาน คือปฏิเสธไม่ได้ มันเป็นเรื่องของสังคมอีกแบบ ถ้าจะเอาวิธีการออกแบบสมัยก่อนที่คนออกตังค์เป็นคนเลือกสถาปนิกเท่านั้นก็ไม่ได้ อาจมีปัญหาขึ้นมา เพราะฉะนั้น การออกแบบต้องมีทักษะหนึ่งที่จะเอาของมาผสม ๆ ด้วยกัน ผมมองว่าสมัยก่อนมันก็เหมือนกับซูชิ (หัวเราะ) มีข้าวและปลา จบเลย ง่าย ๆ แต่การออกแบบสมัยใหม่เหมือนผัดไทย ผสมผสานไปเรื่อย ๆ ผมว่าคนไทยจะเก่งเรื่องนี้ เพราะวัฒนธรรมเราโตมาแบบนี้ มีของจีน อินเดียมานิดหนึ่่ง ๆ ออกมาแล้วอร่อย เอาอาหารอิตาเลียนมาทำ เอามาใส่ปลาเค็ม ออกมาแล้วอร่อย 

คนไทยเก่งเรื่องปรับตัวมาก เก่งเรื่องอิมโพรไวส์ แล้วทำออกมาก็งาม ดังนั้น ทักษะของคนไทยมีประโยชน์ต่อโลกเยอะมาก เพียงแต่ว่าคนไทยยังไม่ได้มองจุดเด่นของตัวเองแบบนั้น แต่ไปเน้นเรื่องตกแต่ง ถ้ามองลึก ๆ แล้ว ดีเอ็นเอการแก้ปัญหาของเรามีอยู่เยอะ ถ้าชัดเจนพอ คนไทยจะไปได้ทั่วโลก ถึงวิธีคิดแบบญี่ปุ่นจะเยอะ ทุกคนชอบ เราก็ชอบ เห็นห้องสวย ๆ ขาว ๆ มีหน้าต่าง มีโต๊ะไม้ก็ดูสวย แต่ความจริงแล้วมันเป็นการหนีมากกว่าเป็นการแก้ปัญหา ผมเชื่อว่าไทยมีคนเก่งเยอะ จะทำยังไงให้ภูมิปัญญาของไทยหรือวิธีคิดวิธีแก้ปัญหาของไทยไปช่วยแก้ปัญหาในระดับโลกได้ เป็นอะไรที่ผมคิดอยู่ตลอดเวลา



คุณพูดเรื่องปัญหาบ่อยเหมือนกัน แสดงว่าคุณเชื่อว่าดีไซน์คือการแก้ปัญหาใช่ไหม
    

ปัญหาที่ผมพูดถึงคือปัญหาในเรื่องการตั้งโจทย์ ไม่ใช่ปัญหาแบบความยุ่งยาก แต่ผมว่ามันจำเป็นต้องมี เรียกว่าเป็นเฟรม (Frame) ก็ได้ เป็นบริบท ถ้าเราไม่มีเฟรม ทุกอย่างก็ไม่มีความหมาย ผมจะใช้คำว่าปัญหาในบริบทที่รู้สึกว่าเป็นทางบวกที่สุด ผมชอบปัญหา (หัวเราะ)



ทุกวันนี้คุณงานยุ่งแค่ไหน และมีวิธีคิดในการรับงานอย่างไร
    

“ก็ยุ่งบ้าง (หัวเราะ) ก็มีเดดไลน์บ้าง เราแบ่งเวลาเป็น ต้องมีความสนุกในชีวิต อะไรที่ยังไม่เคยเห็นก็ต้องไปเห็นสักหน่อย ไหลไปเรื่อย ๆ เลือกงานพอประมาณ เลือกงานที่ทำแล้วชีวิตดีขึ้น จะทำยังไงให้มีการเรียนรู้ ไม่ใช่เฉพาะลูกค้า อย่างตอนนี้เราลองทำงานกับคลับแห่งหนึ่งที่สเปน ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน เป็นคลับฟังแผ่นเสียง มีเพื่อนเขาที่เป็นผู้ออกแบบเสียง ซึ่งก็คุ้นเคยกันอยู่ เราชื่นชมเขาก็เลยชวนมาทำงานด้วยกัน อยากจะออกแบบด้วยกัน อยากให้ลำโพงเป็นตัวกำหนดสเปซไปเลย ไม่ใช่ว่ามีสเปซแล้วเอาลำโพงไปใส่ เราอยากให้ทั้งห้องขยายมาจากลำโพง ซึ่งเราก็รู้สึกว่า เอ้อ มันสนุกกว่า พอคุยกับเขาก็รู้สึกว่าได้เรียนรู้เยอะ ได้เสริมสร้างอะไรให้ชีวิต พอไปบอกลูกค้า เขาบอกไม่มีงบขนาดนั้น เราก็บอก ไม่เป็นไร เอางบเราไป ทำงานสถาปัตยกรรมน้อยหน่อย แต่สาดแสงเสียงมากหน่อย ถ้าเป็นงานแบบนี้เราก็เรียนรู้ได้เยอะและสนุกด้วย ก็เลยชอบมองหางานแบบนี้



โปรเจกต์ในฝันของคุณที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ยังไม่ได้ทำคืออะไร   

ผมสนใจเรื่องชีวิต แต่ว่าอาคารประเภทที่รู้สึกว่ายังขาดอยู่คือบ้านพักคนชรา (Senior Housing) ผมอยากให้คนเตรียมตัวเรื่องการตาย เรื่องการแก่ มันควรจะเป็นการเฉลิมฉลองให้ชีวิต (Celebration of Life) ถึงแม้ร่างกายมันอาจจะไม่ดี เจ็บป่วย เดินไม่ไหว หรือหูไม่ดีก็ตาม แต่ควรจะมีความสุขสงบ สมัยก่อนคนไปวัด ไปโบสถ์ มันก็ได้ระดับหนึ่ง แต่สมัยนี้มีทางออก อยากให้เป็นที่ที่คนแก่อยู่ด้วยกัน อาจจะมีพยาบาลหรือคนมาช่วยดูแลอยู่รวมเป็นชุมชนที่พึ่งพากันและกัน ส่วนเราอยากเน้นเรื่องสถาปัตยกรรม อาจจะมีน้ำแร่ การที่คนแก่ ๆ ได้อยู่ในน้ำอุ่น ๆ มันสบายเพราะไม่มีแรงโน้มถ่วง เข่าที่เจ็บก็ไม่เจ็บ (หัวเราะ) เหมือนเขาได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง 

เราอยากจะออกแบบให้มันเป็นความสุขทางใจด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ คนแก่เขาอาจมีเงินมากกว่าเด็กนะ แต่ไม่ต้องเยอะ รัฐบาลก็ช่วยส่วนหนึ่งได้ ผมแค่อยากให้ชีวิตมีความหมาย แต่เราก็ต้องเน้นเรื่องความสบายทางกายภาพด้วย อาจจะเป็นเรื่องของการเดินในสวนหรือไปเล่นน้ำ อะไรแบบนี้

ถ้าเพื่อนของคุณมีลูก แล้วลูกเขาอยากเป็นสถาปนิก เลยพามาขอคำแนะนำจากคุณ คุณจะแนะนำอย่างไร   

ก็แล้วแต่เด็กเหมือนกันนะครับ เราไม่อยากให้เด็กเขาเบื่อ แต่ว่าถ้าเขาสนใจจริง ๆ และอยากรู้มาก ก็อาจจะถามว่า How do you want to design your life – เธออยากออกแบบชีวิตของตัวเองแบบไหน แล้วก็ต้องถามเขาว่าอยากจะดีไซน์ยังไง ผมอยากให้เด็กรู้ว่าศักยภาพในการเป็นสถาปนิกไม่ใช่แค่เรื่องกายภาพหรือวัตถุ แต่เป็นทุกอย่าง ทั้งเรื่องเส้นทางชีวิต ความสุข ความสัมพันธ์กับมนุษย์ คือเราดีไซน์ได้หมด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกตรงไหน”

ภายนอก : พิพิธภัณฑ์ของนักออกแบบพิพิธภัณฑ์

เรานั่งคุยกันอยู่นานสองนาน เรื่องราวประสบการณ์และความเห็นได้บันทึกเอาไว้ ช่วงท้ายของการสนทนา ภาพในจินตนาการของผมยังคงไม่หายไป ผมถามคำถามสุดท้ายกับกุลภัทรว่า หากชีวิตของเขากลายเป็นพิพิธภัณฑ์สักแห่ง เขามองเห็นอะไรอยู่ในนั้นบ้าง เผื่อว่าจะให้นักออกแบบคนนี้ได้ลองเติมพิพิธภัณฑ์ในจินตนาการของผมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น“ถ้ามีพิพิธภัณฑ์ของชีวิตผม สงสัยจะต้องเป็น Museum of Discovery ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวผม ก็อาจจะเป็นโมเมนต์ในชีวิตที่เรารู้สึกคุ้มค่าที่ได้มีชีวิตอยู่ (Worth Living) เช่น เห็นดอกไม้ดอกแรก เห็นหิมะเกล็ดแรก หรือมีความรักครั้งแรก อาจเป็นเรื่องสิ่งของต่าง ๆ อาจจะเป็นภาพยนตร์หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ โดยสร้างไว้ไม่ได้ให้คนอื่นดู แต่สร้างให้ตัวเองดู (หัวเราะ) พอเวลาเราเข้าไปก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของจิตใจเหมือนกันนะ พอใกล้จะตาย ถ้าได้มามองตรงนี้แล้วรู้สึกว่าเราเคยมีช่วงเวลาอย่างนี้ เราเคยมีชีวิตที่ดีนะ เราได้เรียน ซึ่งไม่ใช่การเรียนเรื่องความรู้หรือประวัติศาสตร์อะไรนะ แต่เป็นการเรียนรู้ว่าการเป็นมนุษย์เป็นอย่างไรมากกว่า”

Writer

Avatar

วิภว์ บูรพาเดชะ

บรรณาธิการ happening ที่เป็นสื่อด้านศิลปะ ซึ่งกำลังพยายามสื่อสารให้ผู้คนเห็นความสำคัญของศิลปะในหลายๆ มิติ FB: facebook.com/khunvip TWIT: @viphappening IG: @viphappening

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล