ไม่นานมานี้ มีข่าวเล็ก ๆ ว่า ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มีการประกาศว่า เกาะหมากได้รับรางวัล 2023 Green Destinations Story Awards อันดับสอง จากแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนสุดยอดทั่วโลก 100 แห่ง

เกาะหมากมีพื้นที่ประมาณ 8,500 ไร่ เป็นเกาะใหญ่อันดับ 3 ในท้องทะเลตราด รองจากเกาะช้างและเกาะกูด

หลายคนอาจเคยไปเที่ยวทะเลตราด อาจจะรู้จักเกาะกูด และอาจขับเรือผ่านเกาะหมากที่น้อยคนจะรู้จักเพื่อไปขึ้นเกาะช้าง สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่มีเรือเฟอรีบรรทุกนักท่องเที่ยวเทียบท่าวันละหลายรอบ

แต่สำหรับชาวยุโรปที่รักธรรมชาติและความเงียบสงบ ที่นี่คือสวรรค์บนดินของพวกเขา

ไม่นานมานี้ผู้เขียนมีโอกาสแวะขึ้นเกาะหมากครั้งแรก บรรยากาศช่างแตกต่างจากเกาะทางฝั่งทะเลฝั่งตะวันออกที่เคยไปมา

หน้าหาดทรายที่พัก น้ำทะเลใสแจ๋ว จนเห็นปลาหลายชนิดมาว่ายวนเวียน รวมถึงปะการังหลายชนิด

นานมาแล้ว เจ้าของที่ดินบนเกาะหมากต่างร่วมใจกันออกระเบียบสำหรับคนที่จะเข้ามา คือ

1. ไม่มีท่าเรือเฟอรี ไม่ต้องการนักท่องเที่ยวมาก ไม่ต้องการรถยนต์

2. ห้ามส่งเสียงดังหลัง 4 ทุ่ม ห้ามมีบาร์เบียร์และสาวนั่งดริงก์

3. บนหาดทรายห้ามตั้งเก้าอี้ ร้านค้า หรือบริการหมอนวด ไม่ส่งเสริมกีฬาทางน้ำที่ส่งเสียงดัง อาทิเจ็ทสกี บาบาน่า โบ้ต

4. ทุกบ้านต้องแยกขยะ บนเกาะมีโรงงานคัดแยกขยะ

เกาะหมากยังคงรักษาน้ำทะเลใส ปะการัง หาดทราย ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ แทบไม่มีเสียงอึกทึกใด ๆ และวิถีชีวิตเดิม ๆ ไม่ต่างจากบรรพบุรุษของพวกเขาที่อพยพมาตั้งรกรากเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ชุมชนดั้งเดิมบนเกาะหมากส่วนใหญ่เป็นคนเขมรเชื้อสายไทยที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานจากเมืองประจันตคีรีเขตร์หรือเกาะกง หลังจากใน พ.ศ. 2449 รัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินพระทัยยอมยกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้กับฝรั่งเศส เพื่อแลกเอาจังหวัดตราดและหมู่เกาะต่าง ๆ ที่ถูกฝรั่งเศสยึดไปก่อนหน้านั้นกลับคืนมา

ผู้ครอบครองที่ดินส่วนใหญ่บนเกาะแห่งนี้จึงเป็นญาติพี่น้องกัน ประกอบด้วย 5 ตระกูลใหญ่ คือ ตะเวทีกุล วงษ์ศิริ สุทธิธนกูล จันทสูตร และสุขสถิตย์ เกาะหมากจึงเป็นไม่กี่เกาะในประเทศที่เอกชนมีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินเกือบทั้งเกาะ แตกต่างจากเกาะส่วนใหญ่ที่พื้นที่บนเกาะมักเป็นของทางราชการ

ในอดีต ชาวบ้านเกาะหมากมีอาชีพประมง ออกทะเลหาปลา ทำการเกษตร แต่เมื่อ 30 – 40 ปีก่อน เริ่มมีนักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนบนเกาะที่มีหาดทรายสวยงาม น้ำทะเลใสและความสงบ จนเกาะแห่งนี้เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

“เวลานั้น เรามีนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จากทางยุโรปที่มาเป็นครอบครัว ต้องการใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ รักความสงบ แต่ไม่ใช่นักท่องเที่ยวจากอเมริกาที่ชอบเสียงดังอึกทึกแบบบาร์เบียร์”

นพดล สุทธิธนกูล ประธานกลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมากกล่าวกับผู้เขียน

ที่ผ่านมา เกาะหมากมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 40,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ และเกือบทั้งหมดเป็นชาวยุโรปที่ชื่นชอบท่องเที่ยวแบบอยู่กับธรรมชาติ มักอยู่ท่องเที่ยวเกาะหมากเป็นเวลา 5 – 6 เดือน บางคนจะใช้ชีวิตที่เกาะหมากสลับกับกลับไปทำงานที่ยุโรป

แต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน เมื่อทะเลแถวนี้เกิดปัญหาปะการังฟอกขาว ความงดงามใต้ทะเลหายไปแทบหมดสิ้นจากภาวะโลกร้อน ซ้ำเติมด้วยเรือประมงจำนวนมากเข้ามาจับปลาบริเวณนั้นด้วยเครื่องมือประมงทันสมัยอย่างหนัก ทะเลมีสภาพเสื่อมโทรมลงมาก นักท่องเที่ยวหดหาย รายได้หายวับไปอย่างน่าตกใจ

เหตุการณ์ในช่วงนั้นทำให้ชาวเกาะหมากทั้ง 5 ตระกูลเริ่มคิดจะหาทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้

เวลานั้นลูกหลานของชาวเกาะหมากหลายคนมีโอกาสไปเรียนและทำงานเมืองนอก ได้ซึมซับแนวความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน หลายคนจึงกลับมาเพื่อช่วยกันฟื้นฟูบ้านเกิดด้วยสำนึกความเป็น ‘เจ้าของเกาะหมาก’

พวกเขาเริ่มก่อตั้ง ‘กลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก’ นำโดย คุณนพดล สุทธิธนกูล ช่วยกันฟื้นฟูปลูกปะการัง ด้วยการเอาเศษปะการังที่หักในทะเลมาอนุบาลเพาะในเฟรมบนบก พอโตได้ขนาดแล้วจึงค่อยนำกลับคืนสู่ใต้ทะเล

ที่ผ่านมาการอนุบาลและเพาะปะการังเป็นเรื่องยากมาก และเป็นหน้าที่โดยตรงของกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง (ทช.) แต่ครั้งนี้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมากขออนุญาตทางราชการเพื่อขอจัดการเพาะปะการังด้วยตนเอง แต่แน่นอนว่าตอนแรกทางราชการก็คิดว่าไม่น่าจะประสบความสำเร็จ

“มีการแซวกันว่า หากพวกผมเพาะปะการัง 30 กิ่งแล้วรอดเพียงกิ่งเดียว ถือว่าเก่งมากแล้ว”

ทางกลุ่มฯ ติดต่อนักวิชาการและมีอาสาสมัครชาวต่างประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยว มาช่วยกันเพาะปะการัง ช่วยกันดำน้ำนำปะการังที่เพาะบนพื้นดินกลับไปปลูกใต้ท้องทะเล และติดต่อให้ทาง ทช. มาอบรมให้ความรู้ตามหลักสูตรแก่บุคลากรของกลุ่ม เพื่อให้มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ปะการัง หญ้าทะเล และสัตว์น้ำรอบเกาะหมาก เมื่ออบรมจนครบ ทช. ได้มอบใบประกาศนียบัตรเพื่อรับรองสิทธิในการเข้าไปการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้กับสมาชิกทั้ง 23 คน

ภาพ กลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก
ภาพ กลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก

“พวกเราลองผิดลองถูกกันมานาน ปะการังเป็นสัตว์ทะเลที่มีผลต่อระบบนิเวศอย่างมาก บริเวณนี้จะมีปะการังเขากวางสีฟ้า สีเหลือง และสีน้ำตาล ปะการังจะขยายพันธุ์เหมือนพืช เหมือนการปักชำ และดูดซับคาร์บอนเหมือนหญ้าทะเล จนกระทั่ง 6 ปีผ่านไป เราสามารถเพาะปะการังให้รอดได้ถึง 90%” คุณนพดลเล่าถึงความพยายามหลายปีที่ไม่สูญเปล่า

พวกเขาปลูกปะการังใต้ทะเลได้ 60,000 กว่าต้น และถือว่าประสบความสำเร็จในการปลูกปะการังให้ทุกวันนี้ ทช. ให้การยอมรับในการทำงาน ความรู้ความสามารถของกลุ่มฯ  และในอนาคต เกาะหมากจะเป็นแหล่งปะการังที่ฟื้นตัวได้ดีที่สุดของประเทศ

ทุกวันนี้เกาะหมากมีแนวปะการังใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย ทำให้ทรัพยากรชายฝั่งกลับคืนมา นอกจากนี้กลุ่มฯ ยังทำการอนุรักษ์หญ้าทะเลรอบ ๆ เกาะให้กลับคืนมา จนเกาะนี้กลายเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนและแหล่งบลูคาร์บอน (Blue Carbon) ที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากมีแนวปะการังและหญ้าทะเลที่สมบูรณ์

บลูคาร์บอนคือคาร์บอนที่ดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเล โดยสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสำคัญ คือ ป่าชายเลนและหญ้าทะเล

ข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International. Union for Conservation of. Nature : IUCN) ระบุว่า หญ้าทะเลสามารถดูดซับกักเก็บมากกว่าป่าบนบก 7-10 เท่า

ภาพ กลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก

เมื่อธรรมชาติท้องทะเลกลับคืนมา มีกติกาในการประมงชายฝั่ง มีการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำทะเลในบางพื้นที่ มีระเบียบการใช้พื้นที่บนฝั่งเพื่อการคัดกรองนักท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ไม่นานนักชื่อเสียงของเกาะหมากก็โด่งดังไปทั่วโลกจากปากต่อปาก

ใน พ.ศ. 2565 เกาะหมาก ได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนใน 100 แห่งของโลก หรือ Top 100 ประจำปี จัดโดย Green Destinations Foundation ประเทศสวีเดน ถือเป็นเกาะต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทยในด้านความปลอดภัยและด้านการจัดการขยะ

พ.ศ. 2566 เกาะหมากคว้ารางวัลที่ 2 Green Destinations Story Awards ประเภทระบบการจัดการและการฟื้นฟู ในเวทีงานมหกรรมส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ITB Berlin 2023

ภาพ กลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก

สำหรับพวกเขาแล้ว รางวัลระดับโลกยังไม่เป้าหมายสูงสุด พวกเขาฝันอยากให้เกาะหมากเป็น Coral Reef ด้านฝั่งตะวันออกของประเทศอันสมบูรณ์ที่สุด เป็นแหล่งพื้นที่วิจัยแนวปะการังและหญ้าทะเลระดับโลก

ลองไปสัมผัสเกาะหมากสักครั้ง แล้วจะพบว่าทำไมฝันของพวกเขาช่างก้าวล้ำ

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว