26 กุมภาพันธ์ 2024
2 K

ดึกดื่นค่อนคืนแล้ว ตึกแถวนับสิบคูหาที่ปลูกยาวไปตามแนวถนนปัตตานีภิรมย์ต่างจมอยู่ในความมืด จากย่านการค้าใจกลางจังหวัดซึ่งคึกคักด้วยกิจกรรมพาณิชย์ของชาวจีนเมื่อกลางวัน มาบัดนี้กลับเงียบสงัดด้วยผู้คนพากันพักผ่อนนอนเอาแรง เพื่อลุกขึ้นมาเริ่มต้นวันใหม่ยามแสงตะวันส่อง

ทว่าท่ามกลางความมืดมิด ความเงียบงัน และการหลับใหลนั้น ยังมีห้องแถวอยู่คูหาหนึ่งที่ไม่เคยปราศจากแสงสว่างจากดวงไฟ และเสียงก๊อกแก๊กที่บ่งบอกว่าผู้อยู่อาศัยกำลังทำงาน บางครั้งเป็นเสียงการเข้าไม้ บ้างเป็นเสียงป้ายสีสันและตกแต่งผลงาน ทั้งหมดผสมกันเป็นท่วงทำนองประจำร้าน ‘หย่งชาง’ ที่ โก้-ชูโชติ เลิศลาภลักขณา จัดจำหน่ายและรับซ่อมเทวรูปจีนมานานปี

ภายในร้านดูลานตาไปด้วยรูปสลักเทพเจ้าจีนซึ่งคนไทยภาคใต้มักเรียกตามภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า ‘กิ้มซิ้น’ เป็นจำนวนมากกว่าศาลเจ้าทั่วไปหลายเท่าตัว โก้มีชีวิตอยู่กับกิ้มซิ้นเหล่านี้ เขาออกตัวว่าวันหนึ่ง ๆ ตนเองมีเวลาล้มหัวหนุนหมอนน้อยชั่วโมงจนนับด้วยนิ้วมือข้างเดียวได้ เวลาส่วนใหญ่ในรอบวันของเขาหายไปกับการปรับปรุงแก้ไขให้กิ้มซิ้นแต่ละองค์มีสภาพสวยงาม ควรค่าแก่การนำกลับไปบูชาต่อ

ทั้งที่เหนื่อยกายจนสายตัวแทบขาด แต่ใจหนุ่มใหญ่ชาวปัตตานีผู้นี้กลับสดใสอยู่เสมอ เพราะนี่คืองานแรกที่คนขี้เบื่ออย่างเขารักหมดใจ หลังจากลองผิดลองถูกกับสายงานอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีใจรักจริงมามากถึง 20 อาชีพ จากเคยเปลี่ยนงานถี่เฉลี่ยปีละครั้ง ก็เพิ่งจะมีงานนี้ที่โก้บอกตัวเองได้ว่าจะทำจนวาระสุดท้าย

เพียงไม่ถึง 10 ปีที่หันมาจับงานนี้ กิ้มซิ้นทั่วสารทิศก็หลั่งไหลมายังร้านหย่งชาง และส่งกลับไปประดิษฐานให้คนทั้งประเทศได้กราบไหว้ด้วยสองมือของชายผู้นี้ที่เคยเป็นคนห่างไกลศาลเจ้า ไม่เคยมีอาจารย์ถ่ายทอดวิชา หากทำทุกอย่างได้โดยมีความรู้สึกที่เรียกว่า ‘ศรัทธา’ คอยนำทาง

“ผมเข้าศาลเจ้าปีละครั้ง”

โก้เกิดและโตในครอบครัวคนจีนในปัตตานี จังหวัดที่ลูกหลานจีนเมืองไทยรู้จักดีในฐานะที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศูนย์รวมใจของชาวไทยเชื้อสายจีนที่นี่ ตระกูลของเขาก็ให้ความเคารพบูชาองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเฉกเช่นครอบครัวอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียงที่สืบรากเหง้ามาจากแผ่นดินมังกร เป็นแต่ตัวเขาไม่ได้นึกผูกพันกับการไหว้เจ้ามากนักหากเทียบกับลูกจีนอีกหลายคน

“ถ้าไม่ใช่ช่วงสมโภชเจ้าแม่ ผมไม่เข้าศาลเจ้าเลยครับ” ช่างใหญ่แห่งร้านหย่งชางวางมือจากเทวรูปที่เพิ่งซ่อมเสร็จ มาย้อนวันวานถึงตอนเป็นเด็ก

“ผมจะตามพ่อไป เพราะพ่อเป็นคนหามพระแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ส่วนผมเป็นเด็กถือธงนำหน้าพระ แต่ประเพณีถือธงตอนนี้สูญหายไปซะแล้ว เด็กรุ่นใหม่มาถึงก็หามพระเลย ผมจะไปศาลเจ้าก็แค่ปีละครั้ง แต่ก็มีความรู้สึกผูกพัน เพราะว่าพ่อสอนผมตลอดว่า ต่อไปเราต้องมาสืบทอดหามเจ้าแม่องค์เล็กแทนพ่อ เรื่องนี้ฝังอยู่ในใจมาตลอด ไม่ว่าไปเรียนหรือทำงานที่ไหน ๆ ช่วงสมโภชเราก็ต้องกลับมา”

ช่วงวัยรุ่นของโก้ระหกระเหินไม่น้อย เริ่มต้นจากความชอบเรียนวิชาศิลปะสมัยมัธยมต้น หาที่เรียนต่อสาขาที่ชอบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้ จึงหันเหไปเรียนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่วิทยาลัยเทคนิคยะลาแทน เพราะเข้าใจว่าใกล้เคียงกัน จบไปต่อไทยวิจิตรศิลป์ แล้วได้งานด้านโยธาธิการและผังเมืองของจังหวัด แต่ชีวิตการทำงานที่นั่นก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะเมื่อเขาทำงานมาได้ถึงขวบปีที่ 3 ประเทศไทยก็เกิดวิกฤตฟองสบู่แตก ทำให้หน่วยงานจำเป็นต้องคัดคนออก เพื่อนร่วมตำแหน่งร้องขออยู่ต่อ โก้จึงเสียสละตัวเองด้วยการยกมือลาออกมาทั้งที่ไม่มีงานใหม่รองรับ

หนุ่มปัตตานีเดินเตะฝุ่นอยู่ในเมืองหลวงเสียนาน เพราะทักษะการเขียนแบบด้วยมือของเขาไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานฝีมือรุ่นใหม่ที่หันมาใช้คอมพิวเตอร์อีกต่อไป จากเป็นลูกจ้างราชการอยู่หลายปี โก้ต้องซมซานกลับมาใช้แรงงานอยู่ที่สะพานปลาในบ้านเกิด ลากกระบะปลาอยู่เป็นปี ก่อนย้ายไปช่วยพ่อซ่อมเรือประมง ต่อด้วยประกอบเรือประมงซึ่งเป็นงานที่ช่วยสร้างพื้นฐานการซ่อมกิ้มซิ้นแก่เขา

“เราทำแล้วเราก็รู้สึกชอบ เริ่มรู้จักไม้ วิธีเข้าไม้ วิสัยไม้ ว่าเขาเป็นยังไงในอากาศแบบนั้นแบบนี้” มือของโก้ลูบไล้ไปตามองค์พระที่แกะขึ้นจากไม้ “ที่มาซ่อมพระจีนทุกวันนี้ ทักษะศิลปะ สถาปัตยกรรมที่เรียนมาก็ช่วยครับ แต่ที่ช่วยได้เยอะสุดคือตอนไปประกอบเรือไม้ เราได้ใช้ชีวิตอยู่กับไม้ตลอดเวลา เราเลยรู้วิธีซ่อมงาน พอเห็นแผลแต่ละแบบ ผมก็รู้แล้วว่าต้องใช้วัสดุอะไร ซ่อมยังไง”

“ไม่ต้องกลัวนะ เดี๋ยวเราจะคุ้มครองเอง”

ทำเรือประมงอยู่ได้พักใหญ่ โก้ก็มีเหตุให้ต้องเปลี่ยนอาชีพอีกครั้ง เมื่อเถ้าแก่ของเขาปิดกิจการและย้ายกลับไปอยู่จังหวัดบ้านเกิด โก้จึงหันไปเป็นผู้จัดการโรงงานน้ำดื่มอยู่เกือบ 3 ปี พร้อมกับทำธุรกิจส่งแก๊ส ส่งน้ำ ต่อด้วยย้ายไปทำงานแพปลาของญาติ ฉับพลันความสงบสุขในชีวิตของเขาและเพื่อนร่วมเมืองก็เหือดหายไป เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ขึ้น

“เราอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เลยเปลี่ยนมาเป็นอาสาสมัครทหารพรานอยู่ 8 ปีกว่า จนได้เข้าไปอยู่หน่วยข่าวกรอง” สุ้มเสียงของโก้เครือลง เมื่อเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เขาได้สัมผัส ‘พระจีน’ ที่ไม่เคยมีในหัว

เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นขณะที่เขาประจำการอยู่ฐานอำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี คืนหนึ่งที่เขานอนเคลิ้มและหลับไปในเปลญวน เขาได้ฝันเห็นสตรีจีนนางหนึ่ง สวมชุดเครื่องแต่งกายอย่างจีนมายืนข้างเปล นางส่งยิ้มให้โก้ และกล่าวประโยคที่เขายังจดจำราวกับยังอยู่ในหูตลอดเวลา

ไม่ต้องกลัวนะ เดี๋ยวเราจะคุ้มครองเอง โก้ถ่ายทอดคำกล่าวนั้นอย่างนุ่มนวล

เมื่อตื่นขึ้น โก้ยังอยู่ในห้วงความรู้สึกกึ่งจริงกึ่งฝัน เขารู้สึกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเหมือนเกิดขึ้นจริงมาก พร้อมกันนั้นก็ยังหาคำตอบไม่เจอว่าอะไรคือสิ่งที่เขาจะต้องกลัว ฉับพลันที่เขาตั้งท่าจะเดินไปอาบน้ำ เพียงหันหลังให้ถนน เขาก็พบคำตอบที่กำลังหาอยู่ เมื่อทันใดนั้นมีรถกระบะคันหนึ่งขับผ่านมาทางแผงกั้น ชะลอความเร็วลง ก่อนกระหน่ำสาดกระสุนปืน M16 มาที่ตัวเขาเต็ม ๆ!

“กระบอกแรกเขายิงป้อมเวรยามก่อน ไม่ให้ตอบโต้เขาได้ กระบอกที่ 2 ถึงเล็งยิงมาทางผม แต่กระสุนเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ชนต้นไม้กระจุยกระจายไปหมด พอเราตั้งหลักจับปืนได้ ก็ตอบโต้ไป เขาก็หายไป ผมเลยนึกถึงที่ผมฝันว่ามีเทพเจ้าผู้หญิงจะมาคุ้มครอง พอไปดูวิถีกระสุน มันเป็นวงกลมอยู่รอบ ๆ ผมเลยนะครับ แต่ไม่โดนผมเลย ทำให้เรานึกถึงเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวขึ้นมา เพราะเรารับใช้ท่านมานาน”

ถึงจะรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด แต่โก้ก็ตระหนักตัวเองดีว่าโชคดีอาจไม่มาเป็นครั้งที่ 2 หลังจากถูกลอบทำร้ายโดยผู้ก่อความไม่สงบครานั้น โก้ย้ายกลับเข้ามาเป็นอาสารักษาดินแดนในเมือง ทำให้มีเวลามากพอจะเปิดร้านทำธุรกิจของตัวเองควบคู่กันไปได้ เขาเลยทำงาน 2 อย่างคู่กันไปตลอดเวลา จนกระทั่งฝันเห็นเทพเจ้าจีนบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ราวว่าพวกท่านได้บอกใบ้เส้นทางชีวิตใหม่แก่ตัวเขาแล้ว

“ผมคิดว่าเราน่าค้าขายนำเข้าเทพเจ้าจีนมาจำหน่ายดีกว่า” ความคิดนี้ผุดขึ้นในหัว ก่อนจะแปรรูปเป็นร้านหย่งชางที่ชักนำโก้มาสู่เส้นทางอาชีพทุกวันนี้

“พี่ ผมอยากได้มาก ทำยังไงให้เหมือนเดิม”

‘หย่งชาง’ เป็นชื่อร้านค้าเก่าแก่ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามร้านที่โก้มาเช่าขายข้าวต้มปลา ก่อนจะหันมาค้ากิ้มซิ้น เดิมเคยสะกดว่า ‘เอ้งเชี้ยง’ ตามภาษาจีนฮกเกี้ยน เจ้าของร้านเดิมได้มอบป้ายและชื่อร้านนี้แก่โก้ พร้อมทั้งแนะนำให้เขาเปลี่ยนมาใช้ภาษาจีนกลางให้เข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่า

บนวัย 40 ปีเศษ โก้กลายเป็นผู้นำเข้าเทวรูปจีนจากไต้หวันไม่กี่รายในไทย เป็นธุรกิจที่ขายได้ดีมาก แต่ขณะเดียวกัน งานศิลปะที่มีความละเอียดสูงอย่างนี้ก็สุ่มเสี่ยงต่อการชำรุด ส่งผลให้เทวรูปหลายองค์ที่โก้นำเข้ามาจากเกาะไต้หวันเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่ง

โก้ทดลองซ่อมกิ้มซิ้นที่ชำรุดเอง ทำด้วยฝีมือและความรู้ของตัวเองโดยไม่มีใครสอน ครั้นซ่อมเสร็จก็ส่งขาย จนมีครั้งหนึ่งที่ลูกค้าจากพังงาสั่งซื้อไปแล้วพบว่าเทวรูปองค์นั้นหักพังหลายชิ้นเมื่อถึงปลายทาง ด้วยความเสียใจผสมผิดหวัง ลูกค้ารายนั้นได้อ้อนวอนกับโก้อย่างตรงไปตรงมา

“พี่ ผมอยากได้มาก ทำยังไงให้เหมือนเดิม” โก้พูดตามคำขอของลูกค้า “ผมก็อาสาว่าส่งกลับมา แล้วผมจะซ่อมให้ พอส่งที่ซ่อมกลับไป เขาจำรอยหักไม่ได้ จำตำหนิไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน เขาเลยชมว่า พี่ซ่อมเนียนมาก พี่รับอาชีพซ่อมอีกสักงานได้มั้ย”

เมื่อเจ้าของร้านหย่งชางรับปาก เขาก็ได้รับงานซ่อมกิ้มซิ้นองค์แรกที่ไม่ได้มาจากร้านของเขา เป็นกิ้มซิ้นเจ้าที่แป๊ะกงจากศาลเจ้าปุนเท่ากงอำเภอตะกั่วป่า ที่ทั้งเก่าแก่และมีลายเส้นเล็กละเอียดมากจนหาช่างซ่อมในไทยไม่ได้ โก้รับมาซ่อมจนสุดฝีมือ พอส่งกลับไปก็ได้ความสวยเหมือนเดิม กรรมการทุกคนต่างสรรเสริญในฝีมือการซ่อมพระของเขา เหนืออื่นใดคือมีร่างทรงวัยชราคนหนึ่งทำพิธีเข้าทรงเพื่อรับขวัญองค์เทพเจ้าที่เพิ่งอัญเชิญกลับศาล ท่านได้ทำนายอนาคตให้โก้อย่างแม่นยำ

“ท่านบอกให้ทำอาชีพนี้ ต่อไปจะเลี้ยงครอบครัวเราได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการซ่อมจริงจังครับ”

“77 จังหวัดผมซ่อมครบหมดแล้ว”

กว่าจะเริ่มอาชีพซ่อมพระจีน อายุก็ล่วงเลยเข้าวัยกลางคนไปแล้ว แต่เริ่มรับซ่อมได้ไม่เท่าไหร่ ฝีมือของช่างโก้แห่งปัตตานีก็ร่ำลือไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ จนชั้นวางที่เคยเต็มไปด้วยเทวรูปจากไต้หวันที่สั่งนำเข้ามาขายต่อ ถูกแทนที่ด้วยเทวรูปสารพัดช่างที่ถูกส่งมาทำการบูรณะ

จำนวนร้านค้านำเข้ากิ้มซิ้นในไทยเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย ขณะที่จำนวนช่างซ่อมลดน้อยจนแทบไม่เหลือ เมื่อคำนึงถึงความจริงข้อนี้ โก้ได้ตัดสินใจลดการนำเข้าสินค้าและเริ่มนิยามตนเองเป็นช่างซ่อมเต็มตัวเมื่ออายุได้ 44 ปี มีทั้งที่มาจากศาลเจ้า และเทวรูปที่บูชาส่วนบุคคลตามบ้านเรือน

“เฉพาะกิ้มซิ้นรายบุคคลที่ผมซ่อม 77 จังหวัดนี่ผมซ่อมครบหมดแล้วครับ” โก้ยิ้มเต็มหน้า

“ถ้าเป็นของศาลเจ้าจะเวียน ๆ กันอยู่แถวหาดใหญ่ บางศาลก็ซ่อมเป็นปี ไม่หมดซะที เพราะพระเขาเยอะ ลูกค้าส่วนใหญ่จะมาทางภูเก็ต พังงา ตรัง ตอนนี้ทางกรุงเทพฯ ก็เยอะขึ้น ตั้งแต่ผมอยู่ตรงนี้มา ผมรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงว่าคนกรุงเทพฯ เริ่มนำเทพเจ้าจีนมาไหว้ในบ้านมากขึ้นนะครับ” 

โดยส่วนมาก ลูกค้าที่ส่งพระมาให้โก้ซ่อมมักจะซ่อมทำสีใหม่เพื่อให้มีความสวยงามมากกว่าจะเป็นการซ่อมแก้ไขจุดที่ผุพัง ความที่คร่ำหวอดกับเทวรูปมาหลายองค์ หลายประเภท ช่วยโก้เรียนรู้เรื่องสกุลช่างผู้สร้าง ตลอดจนขั้นตอนและกระบวนการซ่อมให้ถูกประเภทกิ้มซิ้น

“ผมแบ่งงานที่ซ่อมเป็นงานจีนและงานไต้หวันนะครับ ศิลปะเขาจะแตกต่างกัน เทคนิคก็ต่างกัน การลั่นไม้ก็ต่างกันด้วย ของจีนเวลาเขาจะกันไม้ลั่น เขาจะใช้ผ้าหุ้มกาวปิดไปตามองค์พระ ถ้าเป็นของไต้หวันเขาจะใช้การโปะความชื้นออกไป ถ้าเรายกใต้ฐาน จะเห็นตรงขอบฐานมีผ้าอยู่ ศิลปะจีนเองก็จะมีความแตกต่างของตระกูลช่างอีก เช่น จ่วนจิว เอ้หมึง ตระกูลไฉ ฯลฯ

“เวลาจะซ่อม เราก็ต้องซ่อมให้เหมือนศิลปะเดิมของเขา เพราะส่วนใหญ่คนที่เขาสะสมงานศิลปิน เขาจะรักษาไว้ซึ่งศิลปะของแต่ละตระกูลช่าง” โก้กล่าวถึงแนวคิดที่เขายึดเป็นหัวใจในการทำงานก่อนชี้ให้เห็นเทวรูปองค์หนึ่งที่อยู่ในลำดับรอทำสีใหม่

“งานกิ้มซิ้นในไทยเป็นของช่างไทยเชื้อสายจีนเยอะเหมือนกัน ตอนนี้ผมทำของช่างไทยเยอะมาก อย่างองค์นี้เป็นงานของ เปี๊ยะบ๊วย งานเขาอยู่ในศาลเจ้าทางภาคใต้แทบทุกศาลเลย”

สาเหตุที่ลูกค้ามากมายส่งพระของเขามาที่ร้านหย่งชาง นอกเหนือไปจากฝีมืออันเลิศล้ำของโก้แล้ว ยังเป็นเพราะความเข้าใจอันลึกซึ้งที่นายช่างผู้นี้มีต่อเทวรูปแต่ละสกุลช่าง

“ที่ทุกคนเขายอมรับของเรา ก็เพราะเราซ่อมเฉพาะจุด แต่เราทำสีให้เหมือนเดิม กลมกลืนไปกับสีรอบ ๆ ได้ คนอื่นเวลาทำ เขาจะทำทั้งองค์เลย หรือถ้าซ่อมเฉพาะจุด ก็จะเห็นเลยว่าเขาซ่อมเฉพาะตรงจุดนั้น แต่ถ้าของผมทำ เขาจะดูไม่ออก เพราะมันจะกลมกลืนไปหมดทั้งองค์ ตรงนี้คือจุดที่ยากสุด มีการผสมสีเลียนแบบให้เก่าด้วย” โก้บอกก่อนจะเริ่มสาธิตวิธีซ่อมให้ดู

“ก่อนอื่นเลยต้องมีศรัทธา”

เบื้องหน้ารูปเคารพองค์ใหญ่ที่เต็มไปด้วย ‘แผล’ มากมายรอให้โก้ซ่อม อุปกรณ์ช่างไม้สารพัดชนิดวางกองอยู่พร้อมสรรพ ตั้งแต่เลื่อยไฟฟ้า กบไฟฟ้า เครื่องเจียร สิ่ว ของพวกนี้ล้วนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อม ‘แผลใหญ่’ เช่น องค์พระแตกหักไปทั้งดุ้น หรือมีรอยแตกหักขนาดใหญ่จนยากจะสมานได้

โก้จะจำแนกงานออกเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มจากขั้นตอนแรกที่ถือเป็นงานหนักสุด คือการตกแต่งองค์พระให้เรียบร้อย ใช้เลื่อยและหินเจียรในการขัด ต่อด้วยขั้นที่ 2 คือการปิดรอย ซึ่งต้องใช้ฝุ่นจีนผสมกาวในการทำ หากเป็นแผลที่ลึก เขาก็ต้องใช้กาวดินน้ำมันเข้ามาเสริม พร้อมทั้งขัดเรียบแผล ปิดท้ายขั้นตอนที่ 3 อย่างการลงสี และตกแต่งด้วยรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ม่านไข่มุก หมวกยศประจำองค์เทพ

“การทำงานนี้ต้องมีความใส่ใจหน่อย รู้ทักษะการเข้าไม้ การใช้วัสดุต่าง ๆ ที่มาประยุกต์ เราต้องรู้จักไม้วัสดุที่ใช้ให้ดี บางคนที่ส่งมาซ่อมกับผมเขาเล่าว่าเพิ่งซ่อมกับที่อื่นมา แต่ปรากฏว่าซ่อมมาได้แค่ไม่กี่วัน แผลเปิดอีกแล้ว อย่างนี้คืออุดไม่ดี ต้องมีการเข้าไม้ด้วย เวลาเราบีบแผล พอเราบีบเข้ามา ข้างหน้าก็จะลั่น เหมือนแรงมันส่งไปอีกด้าน เวลาเขาง้างมา เราก็ต้องปล่อยเขาง้างไปโดยธรรมชาติครับ”

สรรพนาม ‘เขา’ ที่โก้ใช้แทนไม้ที่ซ่อมบ่งบอกว่าเขาผูกพันกับวัสดุชนิดนี้มากเพียงไร

“ต้องมีเทคนิคการเลือกใช้สีและการปิดทองด้วย ปิดทองต้องกะระยะ ต้องมีประสบการณ์ด้วย ไม่งั้นปิดไปแล้วทองจะไม่แวว ส่วนสีนั้น ผมใช้สีอะคริลิก สีน้ำมัน และสีนาโนอะคริลิกในองค์เดียว ถ้าพื้นที่ใหญ่ ๆ กว้าง ๆ อย่างเช่นฐาน ผมจะใช้สีน้ำมัน เพราะรักษาเนื้อไม้ได้ดีที่สุด ถ้าตามลวดลาย ผมใช้สีนาโนอะคริลิกเพราะจะทำให้เราไม่ต้องทาซ้ำหลายรอบ เขามีความเข้มข้นของสีเยอะ จากนั้นใช้สีอะคริลิกธรรมดามาทาซ้ำปิดท้ายครับ”

ยอดฝีมือด้านการซ่อมพระจุ่มหัวแปรงลงในขวดสีน้ำมัน ระบายไปบนฐานที่วางหงายขึ้นจนทั่ว ขณะที่ลูกน้องคู่ใจคอยช่วยดูช่วยทำอยู่ไม่ห่าง

“เราทำทุกอย่างกันเองตั้งแต่ขั้นตอนแรกยันสุดท้าย ทำอยู่ 2 คน” โก้พลิกองค์พระเพื่อทาสีอีกด้าน พลางเล่าที่มาของผู้ช่วยที่น่าระทึกใจไม่แพ้ตัวเขา “ผมมีผู้ช่วยคนหนึ่งคือ น้องป่าน ตัวเขาไม่เคยสัมผัสเทพเจ้าจีน ไม่เคยเรียนศิลปะ ไม่เคยมีประสบการณ์ใช้พู่กัน จบแค่ ม.3 ศิลปะอะไรก็ไม่รู้ แถมมือเขายังพิการเพราะเขาเกิดอุบัติเหตุรถสิบล้อชนแล้วลากไป คนทางภูเก็ตและพังงาเขาเชื่อว่าคนนี้ตายไปแล้ว แต่เทพเจ้าจีนต่ออายุให้ แล้วขอใช้ร่างมาทำแบบนี้ วันนั้นเขาคุยทางเฟซบุ๊กว่าอยากลองมาทำ ผมก็ให้ทำ พอทำปุ๊บกลับทำได้ ไม่ต้องสอนอะไรเขาเลย เป็นเรื่องที่แปลกมากนะครับ”

ตอนนี้สีบนฐานพระงดงามเหมือนเก่าแล้ว โก้ปล่อยมือจากงานเพื่อเช็ดเหงื่อที่ซึมตามตีนผม พลางกล่าวถึงหัวใจสำคัญของการซ่อมกิ้มซิ้นที่ตนยึดมั่นตั้งแต่วันแรกจนวันนี้

“ก่อนอื่นเลย ต้องมีใจ มีศรัทธาครับ” เขาว่าพร้อมกับยกฝ่ามือทาบอก “ผมเคยจ้างลูกน้องคนหนึ่ง เขาจบศิลปะมาเลย แต่สุดท้ายเขาก็ทำงานกับเราไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้มีใจรัก เขาไม่ได้มองว่าต้องทำงานให้ดี มองแค่วันนี้จะรับได้เท่าไหร่ มองเป็นเงินว่าจะทำให้ได้เท่านี้ ๆ เขาก็เลยสูญเสียความละเอียดไป”

สายตาของเขาเพ่งมองไปยังเทวรูปเก่าคร่ำองค์หนึ่ง…เทวรูปที่ดูเหมือนจะเป็นผู้หญิง สวมฉลองพระองค์ที่งดงาม เหมือนกับที่เขาเคยเห็นในฝันบนเปลเมื่อคืนนั้น…

“ถ้าผมป่วยหนักๆ…ให้ผมมานอนหน้าหิ้งพระ”

ย้อนไปในวันที่หย่งชางริเริ่มกิจการเกี่ยวกับกิ้มซิ้น โก้ยังมีงานประจำเป็นอาสารักษาดินแดนซึ่งทำให้เขาต้องวิ่งไปวิ่งมาระหว่างที่ทำงานกับร้าน ต่อมาอีก 2 ปี พอเริ่มมีตลาดที่มั่นคงอยู่กับตัว เขาก็ลาออกเพื่อมาทำงานที่ร้านตัวเองเพียงอย่างเดียวด้วยคิดว่าจะทำให้เขามีเวลากับคนที่เขารักมากขึ้น

“ผมตั้งเป้าเอาไว้ว่าวันสำคัญเราจะได้อยู่กับครอบครัว เราจะได้พาครอบครัวไปเที่ยว เหนื่อยเราก็หยุด คิดไว้อย่างนั้น แต่พอลาออกมาจริง ผมไม่เคยมีวันหยุดเลย งานผมล้นมือตลอด”

สิ้นเสียงหัวเราะที่แฝงด้วยน้ำเสียงของความยินดี โก้ขยายความว่าภารกิจส่วนใหญ่ของเขาจะเร่งรัดพันตัวในช่วงก่อนถือศีลกินเจ เพราะตามศาลเจ้าและรายบุคคลจะส่งพระมาให้ซ่อมมากเป็นพิเศษ ซึ่งเขามีหน้าที่ปฏิสังขรณ์ให้เสร็จทันกำหนดทุกองค์ ด้วยมีธรรมเนียมปฏิบัติว่าเมื่อจะอัญเชิญเทวรูปคืนที่ประดิษฐานเดิม จะต้องทำพิธีไคกวง (เบิกเนตร) และพิธีกรรมอื่น ๆ ตามความเชื่อให้ถูกต้อง ซึ่งก็มักจะวางฤกษ์งามยามดีไว้ก่อนจะส่งซ่อมแล้ว

“ผมทำงานจนเช้า ใช้ชีวิตแบบนี้มาเกือบปีแล้ว ตื่นเช้ามาซ่อมพระ ซ่อมจนง่วง นอน ตื่นเช้ามา ผมไม่ได้ออกไปไหนเลย ทำงานน้อยสุดวันละ 12 ชั่วโมง เราไม่อยากผิดสัญญากับลูกค้า”

น่าแปลกที่ในบรรดาเทพเจ้าจีนเหลือคณานับที่โก้เคยซ่อมมา เจ้าแม่สมุทร (เทียนซ่งเส่งโบ้) หรือที่บางคนรู้จักในนาม ‘เจ้าแม่ทับทิม’ ด้วยความสับสน และอีกหลายพระนามที่ไล่เรียงไม่มีวันหมด เป็นเทวรูปที่โก้ได้ซ่อมบ่อยที่สุด เป็นองค์แรกที่เขาอัญเชิญมาบูชาด้วยตัวเอง จนบัดนี้เขาก็แน่ใจแล้วว่าเจ้าแม่ที่เคยปรากฏองค์ให้เห็นในห้วงฝันก่อนถูกลอบยิงครั้งนั้น คือเจ้าแม่ผู้คุ้มครองท้องทะเลองค์นี้

“ท่านสร้างปาฏิหาริย์ให้ผมเชื่อว่าท่านมีจริง มีหนหนึ่งมีพัสดุจากไต้หวันส่งมาผิด เป็นเจ้าแม่สมุทรที่เก่าและงามมาก ผมให้น้องโทรไปที่ไต้หวันถามว่าส่งผิดมั้ย เขาถามทั้งร้านแล้วก็บอกว่าไม่ได้ส่งไป เขาส่งมาไทยไม่เป็น เจ้าแม่องค์นั้นส่งมาตรงวันเกิดผมพอดี ก็โพสต์ขายเผื่อมีร้านอื่นที่เขาสั่งไป เราก็พร้อมจะส่งให้ แต่โพสต์ไป 2 – 3 เดือนก็ไม่มีใครติดต่อมา ทั้งที่องค์นี้สวยและเก่ามาก ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติก็คงมีคนซื้อ ผมก็เลยมั่นใจว่าท่านตั้งใจข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้ผมกราบไหว้

“และเป็นองค์เจ้าแม่สมุทรนี่แหละที่ลูกค้าส่งมาให้ผมซ่อมบ่อยที่สุด ช่วงไหนเงินขาดมือ ก็จะมีเจ้าแม่สมุทรทยอยกันมา องค์ที่สั่งซื้อมาเตรียมไว้ก็ทยอยปล่อยออก เงินทองก็ไม่ค่อยจะขัดสน เพราะท่านคอยดูแลเราตลอด มีปาฏิหาริย์กับเจ้าองค์นี้บ่อยมากครับ”

ช่างซ่อมพระจีนผินหน้าไปยังเทวรูปที่เดินทางมาไกลโดยหาสาเหตุไม่ได้ มือพนมไหว้ พร้อมหลับตาลงด้วยแววตาอิ่มสุขเหนือคำบรรยายทั้งปวง

“ผมทำงานมาแทบจะ 20 อาชีพได้ มี 12 อาชีพที่ได้ทำนานข้ามปี ระหว่างทำงานทั้งหมดนี้ผมเคยเป็นบุคคลดีเด่นขององค์กรมาตลอด เพราะผมเป็นคนที่ทำงานอะไรแล้วทำจริง แต่ใจไม่เคยชอบ จนได้มาซ่อมกิ้มซิ้น ผมถึงมีความสุขมากที่ได้ทำ 

“อาชีพนี้ทำให้ผมได้ไปสนิทกับคนทุก ๆ อาชีพตั้งแต่นักเลงหัวไม้ยันนักวิชาการ ผมได้สนิทกับอาจารย์หลายมหาวิทยาลัย และเป็นอาชีพที่เศรษฐีคนรวยอยากให้เข้าบ้านมาก ได้รู้จักนายแพทย์หรือคนระดับสูง ๆ มากมาย เป็นเรื่องแปลกประหลาดมากสำหรับคนเกเรคนหนึ่งที่เพิ่งมาตั้งตัวได้ตอนอายุ 40 กว่า ๆ ตื่นมาผมก็อยากทำงานเลย ทำแล้วก็นอน ชีวิตวันหนึ่งไม่ได้ออกไปไหน วน ๆ เวียน ๆ อยู่อย่างนี้หลายปีแล้ว แต่ก็มีความสุขดีมาก”

มองเข้าไปในแววตาของช่างซ่อมพระมือหนึ่งแห่งถนนปัตตานีภิรมย์ ไม่ว่าใครก็ย่อมได้เห็นประกายความสุขลุกโชนอยู่ในตาคู่นั้น เมื่อมองไปยังเทวรูปองค์แล้วองค์เล่า ทั้งที่ซ่อมเสร็จแล้วและยังรอซ่อมอยู่ คราใดที่รูปเสมือนองค์เทพเจ้าเหล่านั้นผ่านตาและมือของเขาไป เมื่อนั้นที่ไหนสักแห่งในประเทศไทยก็จะมีเทวรูปที่งดงามกลับไปตั้งบูชา เพื่อสืบสานศรัทธาต่อไป

ความฝันของเขาในตอนนี้คือการออกแบบลวดลายฉลองพระองค์ให้เทพเจ้าจีนทุกองค์ตั้งแต่ชั้นสูงสุดลงมาด้วยศิลปะที่เขาเป็นคนคิดประดิษฐ์ขึ้นเอง

“จากที่ผมเป็นคนเร่ร่อนไปเรื่อย ย้ายบ้านไปทั่ว เช่าเขาไปเรื่อย จนมีบ้าน มีรถเป็นของตัวเอง ทุกอย่างมีได้เพราะอาชีพนี้ และผมจะทำมันไปจนตาย” กังวานเสียงของชูโชติ เลิศลาภลักขณา ดังชัดคล้ายจะให้สัตย์ปฏิญาณต่อเทพทุกองค์ในร้านหย่งชาง 

“ผมบอกทุกคนในบ้านว่า ถ้าผมป่วยหนักไม่ต้องพาไปโรงพยาบาลแล้วนะ ให้มานอนหน้าหิ้งพระเลย ไม่ต้องรักษาแล้วด้วย ปล่อยให้ตามไปตามธรรมชาติเลย ผมจะตายไปพร้อมกับพระนี่แหละ”

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ชานิตา ดานิชสกุล

ช่างภาพฟรีแลนซ์(บ้างเป็นบางโอกาส)ที่อยากทำทุกอย่าง แต่ทุกวันนี้อยู่กับแมว หนังสือ ขนม และกาแฟ