แฟน ๆ หนังสือรู้จัก ‘กิ่งฉัตร’ ในฐานะนักเขียนนิยายและเรื่องสั้นผู้โด่งดัง

นอกจากหนังสือนิยายที่เธอเขียนจะทำให้หนอนหนังสือตกอยู่ในจินตนาการแล้ว นิยายเหล่านั้นยังนำมาสร้างเป็นละคร มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในจอทีวี ให้ผู้ชมได้อินและร่วมทุกข์สุขไปกับเรื่องราวของเธอ 

สำหรับฉัน กิ่งฉัตรเป็นมนุษย์เพื่อนคนหนึ่งที่รู้จักกันมาเนิ่นนาน ทะเลาะกัน จิกกัดกัน ร้องไห้หัวเราะ เติบโตมาด้วยกัน ในขณะเดียวกันเธอก็เป็นนักเขียนชื่อดังที่ฉันชื่นชอบ สิทธิพิเศษของฉันในการเป็นเพื่อนกับกิ่งฉัตร คือได้เป็นตัวละครในนิยายของเธอและได้อ่านนิยายของเธอก่อนคนอื่น

ทุกครั้งที่อ่านก็อดปลื้มแกมพิศวงไม่ได้ว่าเธอ ‘ก่อเรื่อง’ เหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร กินก็กินด้วยกัน เที่ยวก็เที่ยวที่เดียวกัน มีอะไรที่ฉันพลาดไป ทำไมเธอถึงเก็บข้อมูลมากลั่นเป็นเรื่องเป็นราวได้เป็นตุเป็นตะ แล้วเธอจะก่อเรื่องไปอีกนานเท่าไร (ฉันจะได้เกาะแกะขอเป็นนางเอก-นางร้ายในเรื่องราวของเธอต่อไป)

วันนี้ฉันมีโอกาสเจอกิ่งฉัตร จากที่ไม่ได้เจอกันนานมากกก (1 สัปดาห์) หลังอาหารกลางวันมื้อใหญ่ ๆ (ก็บอกแล้วว่าเราเป็นเพื่อนกิน) เราย้ายมาดื่มกาแฟไปพร้อม ๆ กับจับเข่าคุยกันก๊อก ๆ แก๊ก ๆ (หมายถึงคุยกันเบา ๆ สบาย ๆ ไม่ใช่เสียงเข่าลั่น!) ว่ากิ่งฉัตรกำลังทำอะไร และมองชีวิตข้างหน้าอย่างไร

ทบทวนกันหน่อยว่าเริ่มเขียนนิยายได้อย่างไร

เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ อ่านแล้วหัวเราะ ร้องไห้ไปกับตัวละคร เรามีความสุขมากกับไอ้โลกสี่เหลี่ยมใบเล็ก ๆ และเราอยากให้คนอื่นรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก ได้สัมผัสในสิ่งที่เราสัมผัส

เราเริ่มเขียนมาตั้งแต่มัธยมต้น แต่ก็เป็นการเขียนแบบเด็ก ๆ บังคับให้เพื่อนอ่าน

มาเริ่มจริงจังตอนเข้ามหาวิทยาลัย ตอนปีสุดท้าย ปี 4 

เธอนั่งเขียนตอนเรียนในคาบวิชาเขียนข่าวหรือเปล่า จำได้เลา ๆ
(กิ่งฉัตรบอกปัดเสียงหลงว่า ไม่ช่ายยยย อย่าทำให้เสียประวัติ เดี๋ยวอาจารย์มาอ่านเจอ)

เราเรียนเอกหนังสือพิมพ์ พอปี 4 ไปฝึกงานที่ ไทยรัฐ เราใช้เวลาเรียนแค่ 3 ปีครึ่ง เลยเอาเวลาที่ไม่ต้องไปเรียนมานั่งทำสารนิพนธ์และเขียนหนังสือไปพร้อม ๆ กัน ตัวละครก็เป็นเพื่อนในกลุ่ม

เราเห็นนิสัยเขาเป็นแบบนี้ เราก็ดึงบุคลิกเขามาเป็นนางเอก เลยเป็น พรพรหมอลเวง นิยายเรื่องแรก ซึ่ง พรพรหมฯ ก็จบพร้อม ๆ กับสารนิพนธ์ เราส่งนิยายเข้าตามระบบ แล้วก็ทำเรื่องจบการศึกษา

ฉันแอบเอาคืนด้วยการฟ้องคุณผู้อ่านว่า ที่ตัวละครในนิยายของกิ่งฉัตรดูเป็นมนุษย์มาก ๆ เพราะเธอเอาชีวิตเพื่อน ๆ เป็นวัตถุดิบ แต่อดสงสัยไม่ได้ว่าเธอใช้จินตนาการจากที่ไหนใส่เข้ามา

จินตนาการเป็นสิ่งที่เสริมขึ้น ถ้าเรามีบุคลิกของคนที่ชัดเจนพอจะง่าย พอเขียน ๆ ไป บุคลิกจะชัดมากขึ้น จนคนเขียนเข้าใจว่าคนนี้เป็นแบบนี้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นมา การตัดสินใจของตัวละครจะมาจากบุคลิกของตัวละคร พอเราเขียนไปได้สักพัก บุคลิกของตัวละครจะนำเรื่องราวทั้งหมด 

อย่าง แก่นไม้หอม เรื่องล่าสุดที่กำลังเขียนลงอ่านเอา เราได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพื่อนในกลุ่ม ใช้เพื่อนในกลุ่มเกือบจะครบทุกคนแล้ว (หัวเราะ) เรารู้จักกันมากี่ปีนะ (ฉัน : 37 ปี)

การเขียนหนังสือ พล็อตไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ซับพล็อตหรือดีเทลของเรื่องราวที่นำเสนอเป็นตัวแบกเรื่องราว เพราะดราม่าชีวิตผู้หญิงจีนที่มาโตเมืองไทยมีมากมายก่ายกอง จะเขียนสุข เขียนเศร้าเคยมีคนเขียนมาหมดแล้ว แต่สิ่งที่แตกต่างคือซับพล็อต เพราะนั่นทำให้เรื่องราวน่าสนใจ น่าติดตาม คนอ่านไม่รู้สึกเบื่อว่าฉันก็รู้อยู่แล้ว ฉันเคยอ่านมาแล้วนี่นา เดาตอนจบได้ การนำเสนอตรงจุดนี้จึงสำคัญ รวมถึงการใช้ภาษา ลีลาการนำเสนอที่ทำให้เรื่องราวถูกลากไปได้อย่างสนุกและน่าสนใจมากขึ้น

พรายปรารถนา เป็นนวนิยายที่กิ่งฉัตรได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของผู้เขียน (ดิฉันเป็นนางเอกนั่นแหละค่ะ)

ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร เรื่องราวในนิยายของกิ่งฉัตรเป็นเบอร์ไหน สู้ชีวิตจริงได้ไหม

เคยเขียนเรื่อง ลำเนาลม ได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อน เห็นไหม เอาเพื่อนมาเป็นวัตถุดิบอีกแล้ว 

ชีวิตเขาน่าสนใจมาก เขาไปเรียนที่ฝรั่งเศส พอดีน้องเราได้ทุนไปเรียนเหมือนกัน เลยตามไปอยู่ด้วย ตอนเขียนเรื่องนี้ขึ้นมามีคนบอกว่า โอ้โห ทำไมเรื่องราวดราม่าขนาดนี้

เขาแต่งงานกับฝรั่งแล้วพ่อไม่ยอมลงมารดน้ำสังข์ แม่ต้องขึ้นไปร้องห่มร้องไห้ อ้อนวอนให้พ่อลงมา คนอ่านบอกว่าทำไมโอเวอร์แบบนี้ เราคิดในใจ นี่ลดความดราม่าไปครึ่งหนึ่งแล้วนะ

เรื่องจริงหนักหนาสาหัสเกินเบอร์กว่านี้อีก ทำให้เรารู้ว่า ไม่ว่านิยายจะดราม่าพิสดารแค่ไหนก็สู้เรื่องจริงไม่ได้ เราเคยเป็นนักข่าวมาก่อน เห็นความแตกต่างของชีวิตอย่างสุดโต่ง มีครั้งหนึ่งไปสัมภาษณ์คนที่ถูกหลอกไปเป็นโสเภณีในประเทศมาเลเซีย เราก็เอามาเขียนใน ฟ้ากระจ่างดาว ทุกอย่างที่เราเจอในชีวิตเป็นข้อมูลที่เก็บมาใช้ได้ ประหลาดตรงที่บางข้อมูลเราได้มาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว วันนี้ก็ยังจริงอยู่ 

บริบทของสังคมเปลี่ยนไปเยอะมาก ๆ ในฐานะเป็นนักเขียนที่ผ่านมาแล้วถึง 3 ทศวรรษ (หน้าตาปวดใจนิดหน่อย) คนอ่านก็สังเกตว่างานเขียนของกิ่งฉัตรวิวัฒน์ไปกับสังคมเช่นกัน 

ต้องปรับตัวเยอะมาก ขึ้นอยู่กับอายุด้วยนะ ตอนเขียนใหม่ ๆ อายุ 20 กว่า ๆ เรามองโลกเป็นสีขาวและสีดำ พอโตขึ้น มุมมองเราเปลี่ยน เริ่มรู้ว่าชีวิตไม่มีสีขาวและสีดำ มันเห็นได้ชัดมากจาก พรพรหมอลเวง ที่ทำละครไปแล้ว 3 ครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ความคิดของเราต่อสถานการณ์นั้น (ในหนังสือ) เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราทำคือไม่กลับไปแก้งานเก่าของตัวเอง เพราะถือว่านั่นคือต้นฉบับที่บันทึกเหตุการณ์และความรู้สึกของเรา ณ ตอนนั้น ว่าเรามีความคิด ความอ่าน และความเชื่ออย่างไร

นักเขียนเปลี่ยนเพราะประสบการณ์ของนักเขียนเปลี่ยน หรือเพราะบริบทสังคมเปลี่ยน

ทุกอย่างมีผลกระทบกับเราหมด ตอนเพิ่งเริ่มเขียนอาจเห็นโลกมาไม่เยอะ แต่ปัจจุบันเราต้องดูพื้นฐานครอบครัวของเขาด้วยว่าทำไมเขามีความคิดแบบนั้น เอาตัวเองเป็นหลักไม่ได้

ตัวละครของเรามีความเป็นมนุษย์ปุถุชนมากขึ้น เราต้องหาเหตุผลให้ตัวละครมากขึ้น มีศัพท์ของวงการเรียกว่า Flat Character คือตัวละครที่แบน ขาว-ดำชัดเจน เป็นการนำเสนอแบบด้านเดียว คนดีก็ดีวิเศษ คนเลวก็เลวหาที่ดีไม่ได้ กับ Round Character คือตัวละครกลม ๆ มีดี-เลวในตัว

งานเขียนสะท้อนภาพของยุคสมัย มองเห็นชีวิตจริงของผู้คนและสังคม แล้วเคยคิดจะเขียนตัวละครที่เข้าสู่วัยเกษียณบ้างไหม เพราะตอนนี้ประเทศเราเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้วนะ

มีแทรกอยู่เสมอ อย่าง ค่าของหัวใจ ก็มีคู่ของคุณประกอบที่เป็นรุ่นปู่ ไปหลงรักผู้หญิงที่เป็นคุณป้าของเด็กในเรื่อง ผู้อ่านชอบมาก กรี๊ดคู่นี้มาก เรายังมีนามปากกาชื่อ อลินา ใช้สำหรับเขียนเรื่องสืบสวนลึกลับสั้น ๆ ผู้อ่านก็เป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพราะคนที่อ่านนิยายมักไม่ชอบอ่านเรื่องสั้น จนน้องสาวถามว่าจะทำไปทำไม แต่เราทำเพราะชอบ เรารักที่จะเขียนสไตล์นี้ งานชุดนี้เป็นกึ่ง ๆ วรรณกรรมเยาวชน

แล้วก็มีอีกนามปากกา คือ ชื่อถง ใช้เขียนนิยายแนวจีนโบราณ 

กังวลไหมว่า AI จะมาแทนที่งานที่กลั่นออกมาจากสมองและสองมือของเรา

เราเป็นคนที่ไม่ชำนาญเรื่องนี้ แต่ในแวดวงนักเขียนถกกันเยอะมาก สิ่งที่น่ากลัวมากกว่างานเขียนคือรูปภาพ เช่น ภาพปก มีหลายสำนักพิมพ์เริ่มใช้ Midjourney มาแทนที่คนทำภาพประกอบ 

แต่งานเขียนมันยากกว่า เคยมีคนลองใช้ AI แต่แทนที่นักเขียนคนนั้นไม่ได้ ภาษา สำนวน สำคัญมาก อย่างที่บอกว่าคุณให้ AI คิดพล็อตได้ แต่เวลาเขียน ภาษาคุณต้องมีเอกลักษณ์มากพอ อย่าง คุณทมยันตี แค่เอามือปิดให้เหลือแค่ย่อหน้าเดียว คนอ่านดูปุ๊บก็รู้เลยทันที ไม่ว่าจะในนามปากกาไหน

ถ้าถามถึงการเข้ามาของ AI ในเชิงวรรณกรรม เรายังไม่ค่อยกังวล ตอนนี้ยังอยู่ในหมวดศิลปกรรม ซึ่งจริง ๆ เราก็ให้คำตอบไม่ได้นะว่าจะเกิดขึ้นไหมหรือจะเกิดเมื่อไหร่ โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน

และอนาคตไม่มีอะไรแน่นอน บางทีตอนนั้นเราอาจแก่เกินกว่าจะมานั่งเขียนแล้ว

แก่เกินจะมานั่งเขียนนี่คือแก่ขนาดไหน เคยคิดจะเลิกเขียนหนังสือไหม

อยากเกษียณมานานแล้วนะ อิจฉาเพื่อน ๆ หลายคนที่ Early Retire

จุดมุ่งหมายในชีวิตของเรามีอย่างเดียว คือนอนและอ่านหนังสือ

ทันสมัยมาก เป็น NEET ใช่ไหม (Not in Education, Employment, or Training) นอนเฉย ๆ ทำสิ่งที่อยากทำ แต่กิ่งฉัตรต้องอยู่ในกลุ่ม FIRE (Financial Independence, Retire Early) สิ แล้วเธอวิตกกังวลเรื่องอนาคตบ้างไหม

ความวิตกกังวลมีมานานแล้ว ตั้งแต่เริ่มทำงาน งานหนังสือไม่ได้พุ่งเปรี้ยง ไม่งั้นคงไม่มีคำว่านักเขียนไส้แห้ง ถ้าวันหนึ่งกราฟเราเริ่มตก เราจะมีเงินใช้จ่ายไหม ถ้าไม่มีคนอ่านแล้วจะทำยังไง

เราเคยปรึกษาเพื่อนเรื่องนี้ เพื่อนมองหน้าแล้วตอบว่า

ตราบใดที่เธอยังมีความคิดกังวลในเรื่องนี้ เธอจะไม่มีวันไปถึงจุดนั้น

Only the Paranoid Survive 

เพราะเรากังวล เลยต้องเตรียมการไม่ให้เราต้องจบลงด้วยการสูญเสียทุกอย่าง เราเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าจะประมาทกับชีวิตไม่ได้ วันหนึ่งเรามีชื่อเสียง มีผู้คนมากมายสนับสนุน แต่วันหนึ่งทุกอย่างอาจหมดไปเลยก็ได้ ข้อแรกที่ต้องทำ คือต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเอาชีวิตรอดได้

ข้อสอง คือเก็บออมและลงทุนบ้าง ซึ่งเราไม่มีความรู้เรื่องลงทุนเลยไม่เสี่ยง ไม่ใส่ไข่ทุกใบในตะกร้าเดียวกัน แล้วยิ่งเป็นคนโสด แน่นอนว่าใครจะมาเลี้ยงดู ถ้างานเราขายไม่ได้ ไม่มีคนอ่านสนับสนุน เราจะทำยังไงให้ยังอยู่ในจุดนี้ได้ สิ่งหนึ่งที่เราจะทำ คือมองหาวิธีที่ทำให้มีเงินเก็บเพียงพอเลี้ยงตัวเอง เพื่อให้เราใช้ชีวิตเกษียณอย่างอิสระ ไม่ต้องเครียด เพราะมีความมั่นคงทางการเงินพอสมควร

ที่ว่าเป็นคนโสด ไม่มีลูกหลานดูแล มองชีวิตในวันข้างหน้ายังไง

เกาะเพื่อน (หัวเราะ)

ว้าย!!!

ไหนว่าให้ไปอยู่ด้วยกัน เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ใช้ชีวิตพอเพียง จริง ๆ แล้วเราคุยกันเล่น ๆ มาตลอดว่าอีกหน่อยต้องซื้อคอนโดอยู่ด้วยกัน เธอห้องนั้น ฉันห้องนี้ เรียงกันไป ตื่นเช้าก็ออกมาสวัสดี เจอกันที่ห้องนั่งเล่น มีนางพยาบาลดูแลสักคน มีคนขับรถตู้พาเราไปโรงพยาบาล มันเป็นแนวคิดที่ดี เราต้องดูแลตัวเองได้ ดูแลกันและกันได้ เพราะเพื่อน ๆ เราหลายคนทั้งโสดและไม่โสด ขอสมัครมาอยู่ด้วยกันเพียบเลย 

แม้แต่พวกที่มีลูกหลานก็ไม่มีใครคิดว่าจะไปเป็นภาระพึ่งพิงลูกหลาน และไม่มีใครรับประกันว่าลูกหลานจะมาเลี้ยงดูเรา ฉะนั้น เราเลี้ยงตัวเองได้ อยู่ด้วยตัวเองได้ ซึ่งอยากจะย้ำอีกครั้งว่าเรื่องนี้มันทำได้ ถ้าเราเริ่มวางแผนและสร้างวินัยทางการเงิน ใช้แค่นี้ เก็บแค่นี้ ทำตั้งแต่อายุยังน้อยจะได้ไม่กังวล จะเกษียณไปนอนเล่น อ่านหนังสือยังไงก็ได้ เพราะเรามีความมั่นคงเพียงพอ ต้องไม่ลืมทำประกันสุขภาพไว้ด้วย

ทำไมพูดเรื่องการเงินหรือการเก็บออมอยู่บ่อย ๆ

ตอนนี้เรามีปัญหาเรื่องสุขภาพของพ่อแม่ ใช้เงินเยอะมากในการรักษา นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราพูดถึงเรื่องเงินเยอะ เพราะการดำเนินชีวิตในทุกย่างก้าวใช้เงินทั้งนั้น เราพูดในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่กำลังมองไปข้างหน้า เตรียมพร้อมชีวิตที่ย่างเข้าสู่วัยเกษียณอย่างอิสระและมีคุณภาพในอนาคต 

ต่อให้คุณเป็นคนแก่ มีลูกหรือไม่มีลูก วันหนึ่งอาจต้องไปอยู่บ้านพักคนชราหรือจ้างคนมาดูแล คุณก็ต้องใช้เงิน ใช้เงินทำงานให้คุณภาพชีวิตคุณดี ไม่แก่ตัวอย่างยากลำบาก แต่ในกรณีวางแผนช้า ไม่มีเงินเก็บ ยังมีหนทางอีกมากมายในการหารายได้ ปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้นในทุกวงการ จะขายของออนไลน์ก็ได้ จะคิดประดิษฐ์อะไรขึ้นมาก็ได้ หรืออย่างอาชีพที่ทำเงินมาก ๆ ในตอนนี้ คือเล่าเรื่องลงยูทูบ เมื่อมีคนกดฟัง คุณก็มีรายได้ ต่อให้คุณอายุ 60 หรือ 70 คุณก็ยังมีความพิเศษในตัว จงเอาสิ่งนั้นมาหาเงิน บางคนเกษียณแล้วมาเขียนหนังสือ ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าที่เคยได้ก่อนเกษียณเสียอีก

ฉะนั้น คุณถนัดตรงไหน ก็ต่อยอดและทำจากตรงนั้น

อย่างเรื่องสุขภาพหรือมิตรภาพก็สำคัญไม่ใช่น้อย

ถ้าดูแลสุขภาพอย่างดีก็ประหยัดเงินไปได้เยอะ เพราะถ้าป่วยขึ้นมาก็ต้องใช้เงิน

แต่สิ่งที่เงินซื้อไม่ได้คือมิตรภาพที่จริงใจ เรารู้ตัวเสมอว่าเป็นคนโชคดีเรื่องเพื่อน ตอนทำงานใหม่ ๆ จำได้ไหมที่เราเคยไปไหว้พระแล้วเจ้าอาวาสดูดวงให้ เราถามท่านว่าชีวิตเราจะเป็นยังไง จะรวยไหม

พระท่านตอบว่า ชีวิตที่อยากกินอะไรก็ได้กิน อยากเที่ยวที่ไหนก็ได้ไป นั่นเรียกว่ารวยไหม

จำได้ เราเลยกินเที่ยวกันแบบ Nonstop ให้สมกับคำอวยพรของท่านเจ้าอาวาส 

ท่านยังบอกต่อว่าสิ่งดีที่สุดที่เรามี คือมีเพื่อนดี การงานยังสู้เพื่อนดีไม่ได้ เชื่อไหม

เพื่อนโรงเรียนก็ดี เพื่อนมหาลัยก็ดี เพื่อนที่ทำงานก็ดี เป็นเพื่อนที่เกื้อหนุนกัน เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ถือว่าโชคดี มีเพื่อนที่พึ่งพาได้ ซึ่งเพื่อนแต่ละคนก็มีดีมีเลวกันหมด แต่เรายอมรับกันได้ ไม่ว่าเธอจะเลวยังไง ฉันก็หาส่วนดีของเธอได้ บางทีก็ด่ากันสารพัดจะด่า แต่ก็ยังคบกัน เพราะเขามีส่วนดีอื่น ๆ

ด้วยความที่เราคบกันมานาน เราจะรู้จุดบอดของเพื่อน ซึ่งเราเข้าใจ เรายอมรับได้ นั่นคือความถาวร ทำให้เราอยู่กันได้อย่างมีความสุข ซึ่งสำหรับนักเขียน เพื่อนสำคัญม้ากกกก เพราะเป็นแหล่งข้อมูล แหล่งวัตถุดิบชั้นเยี่ยม บางทีก็เป็นคลังสมอง หน่วยความจำ หน่วยสนับสนุน แม้บางทีจะเป็นข้อมูลที่เออเรอร์ไปบ้าง เพราะความจำเริ่มไม่ค่อยเสถียร เอ นี่เรากำลังพูดเรื่องอะไรอยู่นะ ลืมไปแล้ว

พักกินชาใบแปะก๊วยก่อนเธอ อะ มาคุยกันต่อ มีโควตฝรั่งบอกไว้ว่า We will always be friends til we are old and senile, then we can be new friends.

สมมติว่าสมงสมองไปหมดแล้ว แต่ความรู้สึกลึก ๆ ยังจำกันได้อยู่ดี จริง ๆ คือแก่ไปด้วยกัน

มีคำพูดหนึ่งบอกว่า คนที่คล้ายคลึงกันจะดึงดูดกัน เวลามีความขัดแย้ง ทุกคนจะคิดเห็นไปในทางเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์ เรากับเพื่อนเคยมีขัดแย้งกันบ้าง แต่เรายอมรับว่านั่นคือมุมมองของเขา เถียงกันนิดหน่อย เบ้หน้า มองบน แบ่งเค้ก แบ่งขนมกินกันไป แล้วก็ลืมว่าเมื่อกี้เถียงกันเรื่องอะไร ฮ่า ๆๆ 

ความสวยงามของการเป็นอดีตวัยรุ่นคือการลืมง่ายนี่แหละ เย็นนี้เราไปกินอะไรกันไหม

เอาสิ ชวนเพื่อน ๆ ออกมากินกัน มีบุฟเฟต์เจ้าใหม่อยู่ใกล้ ๆ บ้าน ใช้ได้เลย ไปกัน

The Cloud Golden Week : Happy Young Old คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ The Cloud จับมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระ อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์

ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’ เปรียบเสมือนคู่มือเล่มน้อย ๆ ที่อัดแน่นด้วยคำแนะนำ การรับมือ การใช้ชีวิตก่อน-หลังเกษียณในหลากหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘การออกแบบชีวิตเกษียณ’ เราจึงชวนวัยอิสระเล่าเรื่อง กิ่งฉัตร นักเขียนนวนิยายที่มีการวางแผนการเงินเพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิตหลังเกษียณ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพและการรักษามิตรภาพ โดยมีเป้าหมายว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างอิสระไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี

Writer

ลดารัตน์ เจริญพินิจการ

ลดารัตน์ เจริญพินิจการ

นักโฆษณา นักเขียน นักท่องเที่ยว นักปลูก นักกิน และนักใช้ชีวิตอิสระ

Photographer

วิศรุต อังคทะวานิช

วิศรุต อังคทะวานิช

ช่างภาพสายโฆษณาและศิลปินภาพถ่ายที่เป็นที่รู้จักจากการถ่ายภาพปลากัด