ในบรรดาอาภรณ์เครื่องประดับทุกชนิด คงไม่มีสิ่งใดบ่งชี้สถานะของกษัตริย์ได้ดีเท่ากับเครื่องสวมพระเศียรอย่างมงกุฎ หรือ Crown ในภาษาอังกฤษซึ่งมีรากมาจากภาษาละตินว่า Corona

การที่ผู้ใดมีสิทธิ์ได้สวมใส่มงกุฎก็เหมือนกับการประกาศตัวกลาย ๆ ว่าคนผู้นั้นเป็นกษัตริย์ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมว่ากษัตริย์และราชินีพระองค์ใหม่ที่เพิ่งได้ขึ้นครองบัลลังก์จะต้องผ่านพิธีสวมมงกุฎให้ถูกต้องตามจารีตประเพณีเสียก่อน ถึงจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินอย่างสมบูรณ์แบบ

พิธีการสวมมงกุฎแก่กษัตริย์พระองค์ใหม่เรียกว่า Coronation ซึ่งไทยใช้ว่า ‘ราชาภิเษก’

6 พฤษภาคม ปี 2023 เป็นวันแรกในรอบ 70 ปีที่แผ่นดินอังกฤษมีพิธีราชาภิเษก ภายหลังจาก สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระชนนี (แม่) เมื่อกันยายนปีที่แล้ว

แกะรอยโบราณราชประเพณีอังกฤษที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในพิธีราชาภิเษก ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’
สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ปัจจุบัน
ภาพ : The Guardian

หากย้อนหลังไปเมื่อคราว สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งล่าสุดในปี 1953 สหราชอาณาจักรยังเป็นชาติมหาอำนาจที่มีดินแดนอาณานิคมในปกครองเหลืออยู่มาก ผิดกับปัจจุบันที่อาณานิคมเกือบทั้งหมดทยอยได้รับเอกราชไปจนหมดสิ้น ประชาชนกว่าค่อนประเทศยังไม่เกิด ขณะที่ ‘คิงชาร์ลส์’ ซึ่งปัจจุบันทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้เสวยราชสมบัติเมื่อตอนมีพระชนมพรรษาสูงที่สุดในโลก ก็ยังเป็นเพียงเจ้าชายพระโอรสองค์น้อยติดตามพระชนนีมายังพระราชพิธี

แกะรอยโบราณราชประเพณีอังกฤษที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในพิธีราชาภิเษก ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’
ภาพ : People

ด้วยช่องว่างระหว่างเวลาที่มากถึง 1 ชั่วอายุคน ประกอบสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง จนสำนักพระราชวังบักกิงแฮมยังเคยออกแถลงว่า “พิธีราชาภิเษกครั้งนี้จะสะท้อนถึงบทบาทพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันและมองไปสู่อนาคต พร้อมกับรักษารากฐานจากประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน” ก็ทำให้สื่อมวลชนคาดการณ์กันไปต่าง ๆ นานาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพิธีราชาภิเษกของคิงชาร์ลส์ที่ 3 บ้าง

สิ่งใดจะยังอยู่ สิ่งใดจะเลิกไป แล้วพิธีสวมมงกุฎประมุขใหม่ของสหราชอาณาจักรอันประกอบด้วยประเทศอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

เชิญอ่านกันได้ใน Scoop บันทึกประวัติศาสตร์บทนี้

พระราชพิธีราชาภิเษกของบริเตน

ประเทศสหราชอาณาจักร (United Kingdom) นับเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองที่แปลกประหลาดที่สุดชาติหนึ่งในโลก เพราะประเทศนี้เกิดจากการนำประเทศทั้งหมด 4 ประเทศมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว ชาวไทยเรามักเรียกผิดจนเป็นความเคยชินว่าประเทศนี้คือ ‘อังกฤษ’ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว อังกฤษมีสถานะเป็นเพียงประเทศหนึ่งในสหราชอาณาจักร ร่วมกับสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ

ก่อนที่จะผนวกไอร์แลนด์เหนือเข้าไปเป็น ‘สหราชอาณาจักร’ ดินแดนฝั่งที่อยู่บนเกาะบริเตนอันได้แก่ อังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์ เคยรวมกันในชื่อ ‘Great Britain’ หรือ ‘บริเตนใหญ่ อยู่ก่อนแล้ว เมื่ออังกฤษกับสกอตแลนด์ซึ่งเป็นอาณาจักรใหญ่ทั้งสองแห่งเกิดการรวมราชบัลลังก์กัน มีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกันตั้งแต่ปี 1603 เป็นต้นมา

แกะรอยโบราณราชประเพณีอังกฤษที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในพิธีราชาภิเษก ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’
ธงมหาราชของกษัตริย์แห่งราชอาณาจักร สัญลักษณ์ต่าง ๆ สื่อถึงอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศองค์ประกอบใน ‘สหราชอาณาจักร’
ภาพ : Wikimedia

หลายร้อยปีก่อนหน้านั้น อังกฤษกับสกอตแลนด์ต่างเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อกัน ทั้งสองชาติมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตนเองซึ่งก็มีธรรมเนียมในการราชาภิเษกแตกต่างกันเล็กน้อย กระนั้นก็ยังมีลักษณะร่วมกันคือความเชื่อทางคริสต์ศาสนา มีการเชิญนักบวชระดับสูงมาเทศนาธรรม ก่อนเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ และสวมมงกุฎให้พระประมุของค์ใหม่ เช่นเดียวกับประเพณียุโรปอีกหลาย ๆ ชาติ

ในพิธีราชาภิเษกของประมุขแห่งสหราชอาณาจักรยุคนี้จะยึดตามธรรมเนียมเดิมของอังกฤษและสกอตแลนด์เป็นหลัก กษัตริย์บางพระองค์ประกอบพิธีที่อังกฤษครั้งหนึ่งและไปประกอบพิธีในสกอตแลนด์อีกครั้ง ก่อนจะยึดวิหารเวสต์มินสเตอร์ใจกลางกรุงลอนดอนเป็นที่ประกอบพิธีถาวรมาตั้งแต่ปี 1066

แกะรอยโบราณราชประเพณีอังกฤษที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในพิธีราชาภิเษก ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’
พิธีราชาภิเษกพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ในปี 1377
ภาพ : TheCollector

ในอดีตกาล พิธีราชาภิเษกมักจัดขึ้นอย่างเร็วที่สุดหลังจากกษัตริย์พระองค์ก่อนเสด็จสวรรคต รัชทายาทจะไม่ทรงเรียกพระองค์เองว่า ‘Monarch (ประมุข)’ จนกว่าจะได้ทรงมงกุฎครั้งแรกในพิธีราชาภิเษก ฉะนั้น พระราชพิธีสำคัญนี้จึงต้องรีบจัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กระทั่งปี 1272 เมื่อ พระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ เสด็จสวรรคตในกรุงลอนดอน ระหว่างที่พระราชโอรสคือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงนำทัพออกรบในสงครามครูเสดอยู่ ด้วยการสู้รบที่ยังติดพันนั้นทำให้องค์รัชทายาทกลับไปประกอบพิธีราชาภิเษกอย่างถูกต้องตามธรรมเนียมไม่ได้ จึงทรงสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ไปพลางสู้รบ ก่อนจะเสด็จฯ กลับไปสวมมงกุฎที่ลอนดอนอีก 2 ปีให้หลัง

แกะรอยโบราณราชประเพณีอังกฤษที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในพิธีราชาภิเษก ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’
พิธีราชาภิเษกสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ปี 1838
ภาพ : Art UK

นับแต่นั้นมา พิธีราชาภิเษกจึงนิยมเว้นช่วงเวลาออกไปสักระยะ เนื่องจากโดยมากการขึ้นครองราชย์ของประมุขใหม่จะเกิดขึ้นหลังจากประมุของค์ที่แล้วสวรรคต จึงเป็นการไม่สมควรที่จะเฉลิมฉลองในช่วงเดียวกับการแสดงความอาลัย กำหนดการจัดพระราชพิธีราชาภิเษกในยุคต่อ ๆ มาจึงคำนึงถึงฤกษ์ยามที่ดีเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันก็ทำให้พิธีราชาภิเษกเพิ่มความโอ่อ่าอลังการเข้าไปในพิธีการมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในทางปฏิบัติ ประมุของค์ใหม่จะเริ่มการครองราชย์ ณ วันเดียวกับวันที่ประมุของค์เดิมลาโลก แต่กว่าจะได้เป็นประมุขถูกต้องตามทฤษฎีก็ต้องรอไปอีกนานแรมเดือน ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เสวยราชย์ต่อจากพระชนกในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 1952 แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์จัดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน ปี 1953 หลังจากวันขึ้นครองราชย์เกิน 1 ปี นับว่าช้ากว่าคิงชาร์ลส์ที่ 3 ที่ทรงรอคอยการสวมมงกุฎเพียง 8 เดือน

พระอิสริยยศและพระปรมาภิไธย

Monarch’ หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นประมุขของชาติ คำที่จะมาคู่กันคือ ‘Consort’ ที่หมายถึงพระชายาหรือคู่สมรสของประมุข ซึ่งทั้ง 2 ตำแหน่งในสหราชอาณาจักรเป็นได้ทั้งบุรุษและสตรี

โดยมากแล้ว Monarch จะเป็นเพศชาย จึงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น King (กษัตริย์) ส่วนพระชายาที่เป็นหญิงจะได้รับการสถาปนาเป็น Queen (ราชินี) แต่ในแผ่นดินที่แล้วเป็นกรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก คือควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์เป็นประมุข เทียบเท่ากับกษัตริย์ผู้หญิง เรียกว่า ‘Queen Regent’ (กษัตรี) ส่งผลให้พระราชสวามีได้รับการสถาปนาเป็นเพียง ‘Prince Consort’ (เจ้าชายพระราชสวามี) ไม่เป็น King เหตุเพราะคนทั่วไปมักเข้าใจว่ากษัตริย์เป็นตำแหน่งที่สูงกว่าราชินี

แกะรอยโบราณราชประเพณีอังกฤษที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในพิธีราชาภิเษก ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’
ภาพ : Marie Claire UK

การขึ้นครองราชย์ของคิงชาร์ลส์ที่ 3 ทำให้ตำแหน่ง Monarch กลับมาเป็น King อีกครั้งในรอบหลายทศวรรษ พร้อมกันนั้นก็จะมีการสถาปนา Queen Consort หลังจากที่เว้นว่างตำแหน่งนี้มานานโข

พระปรมาภิไธย ‘ชาร์ลส์ที่ 3’ นี้ตั้งขึ้นเพราะพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรลำดับที่ 3 ที่ทรงพระนามว่า ‘ชาร์ลส์’ ทั้งนี้พระนามดังกล่าวเป็นพระนามแรกหรือพระนามคริสเตียน (Christian Name) ซึ่งได้รับการตั้งเมื่อเข้ารับศีลจุ่มเมื่อเสด็จพระราชสมภพ

แกะรอยโบราณราชประเพณีอังกฤษที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในพิธีราชาภิเษก ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’
คิงชาร์ลส์ที่ 1, ชาร์ลส์ที่ 2 และชาร์ลส์ที่ 3

ตามธรรมเนียมยุโรป กษัตริย์ไม่จำเป็นต้องใช้พระปรมาภิไธย (ชื่อขณะครองราชย์) เดียวกับพระนามเดิมก็ได้ แต่ละพระองค์เลือกสรรพระนามที่เหมาะจะทรงใช้เป็นพระปรมาภิไธยได้ตามความเหมาะสม อย่างกรณีที่เห็นล่าสุดคือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ซึ่งเดิมทรงพระนามว่า อัลเบิร์ต แต่ทรงใช้พระปรมาภิไธยว่า ‘จอร์จ’ ตามพระชนกนาถ เนื่องจากมีเสียงติว่า ‘อัลเบิร์ต’ ฟังดูคล้ายกับชื่อชาวเยอรมัน ดูไม่เหมาะสม ด้วยขณะนั้นสหราชอาณาจักรกำลังจะประกาศสงครามกับเยอรมนี

ตอนที่คิงชาร์ลส์ที่ 3 เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระชนนี มีหลายคนคาดเดาแกมเสนอแนะว่าพระองค์อาจทรงเปลี่ยนพระปรมาภิไธยเป็น ‘สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 7’ เหมือนที่พระอัยกา (ปู่) ของพระองค์ทรงกระทำมาแล้ว ทั้งนี้ก็ด้วยพระปรมาภิไธย ‘ชาร์ลส์’ ดูไม่เป็นมงคลนัก พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งราชวงศ์สจวตทรงถูกปฏิวัติยึดอำนาจและสำเร็จโทษด้วยการตัดพระเศียรในฐานะผู้ทรยศต่อบ้านเมือง ส่วน พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 พระโอรสในพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ก็ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่ละเลยต่อพระราชภาระ

แกะรอยโบราณราชประเพณีอังกฤษที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในพิธีราชาภิเษก ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’
ภาพ : The Telegraph

ถึงอย่างนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่ก็ไม่ทรงเชื่อถือคำท้วงติงเหล่านั้น ทรงยืนยันที่จะใช้พระนาม ชาร์ลส์ เป็นพระปรมาภิไธยสืบมา เป็นเหตุให้พระราชลัญจกรของพระองค์ปรากฏอักษรย่อว่า ‘CR’ ย่อจาก ‘Charles Rex’ (กษัตริย์ชาร์ลส์) พร้อมด้วยสัญลักษณ์ III หรือเลข 3 ในภาษาละติน

สถานที่ประกอบพระราชพิธี

พิธีราชาภิเษกของคิงชาร์ลส์ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับรัฐบาลสหราชอาณาจักรแม้แต่น้อย เพราะตั้งแต่พระชนนีของพระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษามากขึ้นเรื่อย ๆ ภาครัฐก็ได้นัดหมาย ซักซ้อมรอรับการเสด็จขึ้นครองราชย์ของรัชทายาทลำดับที่ 1 เป็นการภายในมานานหลายปี ภายใต้รหัสลับ ‘ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ (Operation Golden Orb)’ เมื่อใกล้เวลาที่ปฏิบัติการนี้จะได้ใช้งานจริง รายละเอียดต่าง ๆ จึงได้รับการเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้มากขึ้นตามลำดับ

เป็นที่ยืนยันแน่ชัดแล้วว่าสถานที่ตลอดจนบุคลากรผู้ประกอบพิธีระดับสูงจะยังยึดตามประเพณีเก่าแก่ โดยสถานที่ประกอบพิธีคือวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) โบสถ์ใหญ่ใจกลางกรุงลอนดอนอันเป็นที่ทำพิธีราชาภิเษกแด่กษัตริย์ในอดีตมาแล้วถึง 39 ครั้ง ตั้งแต่พิธีราชาภิเษกของ พระเจ้าเอ็ดการ์ ในปี 1066 หรือเมื่อ 957 ปีที่แล้ว

แกะรอยโบราณราชประเพณีอังกฤษที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในพิธีราชาภิเษก ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’
ภายในวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งอดีตเคยเป็น แอบบี (Abbey) หรืออารามมาก่อน
ภาพ : Lonely Planet

พิธีราชาภิเษกครั้งที่ 40 ในวิหารแห่งนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอป (อัครมุขนายก) แห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำหลักของคริสตจักรแห่งอังกฤษ ก็จะยังเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมแด่กษัตริย์พระองค์ใหม่เหมือนเช่นทุกคราวที่ผ่านมา โดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีคนปัจจุบันคือ ศาสนาจารย์จัสติน เวลบี และจะมีผู้ช่วยหลักคือเจ้าอาวาสโบสถ์เวสต์มินสเตอร์ เดวิด ฮอยล์ ซึ่งทั้งสองท่านจะมีบทบาทที่สำคัญตลอดพิธีการ

ในขั้นตอนที่สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 และ สมเด็จพระราชินีคามิลลา เสด็จฯ เข้าสู่วิหาร เราจะเห็นเหล่าขุนนางซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานระดับสูงแห่งรัฐ (Great Officers of State) จำนวน 9 คนในชุดเครื่องแต่งกายเต็มยศร่วมนำเสด็จฯ และคอยถวายการรับใช้อยู่ไม่ห่างพระองค์ ที่สำคัญที่สุดคงเป็น เอิร์ลมาร์แชล (Earl Marshal) หัวหน้าขุนนางผู้รับหน้าที่ดูแลม้าทรงและรัฐพิธีทั้งหลายแหล่ โดยตำแหน่งนี้ตกอยู่ในความรับผิดชอบของ ดยุกแห่งนอร์ฟอล์ก (Duke of Norfolk) มาตั้งแต่ปี 1672 และยังปฏิบัติสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมาตราบจนท่านดยุกคนปัจจุบันที่เป็นดยุกคนที่ 18

แกะรอยโบราณราชประเพณีอังกฤษที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในพิธีราชาภิเษก ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’
Great Officers of State ฝ่ายพิธีการของสำนักพระราชวังแห่งสหราชอาณาจักร
ภาพ : Royal Central

ครั้นประมุขและพระชายาทรงพระดำเนินเข้ามาในวิหารแล้ว ทั้งสองพระองค์จะทรงผ้าคลุมแบบโบราณที่ทั้งยาวและหนักมาก ภาพที่จะเห็นจนเจนตาก็คือเด็กรับใช้หรือนางกำนัลที่ต่อแถวเดินตามเสด็จพร้อมกับใช้มือหนึ่งจับขอบผ้าแต่ละด้านเอาไว้ มีรายงานว่าคิงและควีนจะทรงมีเด็กรับใช้ตามเสด็จเพียงพระองค์ละ 4 คน นอกจากนี้ยังมีเด็กชายหญิงอัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์อีกหลายคน ส่วนใหญ่เป็นพระนัดดาของทั้งสองพระองค์เอง หนึ่งในนั้นก็คือ เจ้าชายจอร์จ รัชทายาทลำดับที่ 2 นั่นเอง

แกะรอยโบราณราชประเพณีอังกฤษที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในพิธีราชาภิเษก ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’
บรรดานางกำนัล (Maid of Honors) เดินประคองพระภูษาให้ควีนเอลิซาเบธที่ 2
ภาพ : TODAY

พระราชอาคันตุกะ

สมัยที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกของพระองค์เมื่อ 70 ปีก่อนนั้น วิหารเวสต์มินสเตอร์อัดแน่นไปด้วยผู้มีเกียรติกว่า 8,000 ชีวิตที่ได้รับการ์ดเชิญมาร่วมพระราชพิธี ในจำนวนนั้นมีทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี ขุนนางชั้นสูง ตลอดจนผู้แทนจากดินแดนอาณานิคมและประเทศเครือจักรภพที่เคยอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษมาก่อน แต่ด้วยเหตุผลทางความปลอดภัย ในพิธีราชาภิเษกปีนี้จำกัดผู้เข้าร่วมในวิหารเหลือเพียง 2,000 คน

แกะรอยโบราณราชประเพณีอังกฤษที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในพิธีราชาภิเษก ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’
พิธีราชาภิเษกยุคเก่าจะมีพระราชอาคันตุกะเข้ามาร่วมมากมายจนแน่นวิหาร
ภาพ : Wikimedia

บรรดาเชื้อพระวงศ์ที่สืบสายพระโลหิตมาจาก สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งเป็นพระปัยกา (ปู่ทวด) ของกษัตริย์องค์ปัจจุบันจะได้รับเชิญให้มาร่วมงานทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ที่ทรงเคยสละฐานันดรเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับพระชายาที่สหรัฐอเมริกา แต่จะทรงเสด็จมาเพียงพระองค์เดียว ไม่มีพระโอรส พระธิดา ตลอดจนพระชายาติดตามมาด้วย

เจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่ทุกสื่อต่างรายงานว่าจะไม่ปรากฏพระองค์ในงานนี้ คือ เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก พระอนุชาของคิงชาร์ลส์ ซึ่งทรงถูกฟ้องร้องจากคดีอื้อฉาวในอดีต แต่พระองค์จะให้พระธิดา 2 พระองค์เสด็จมาร่วมพิธีแทน

แกะรอยโบราณราชประเพณีอังกฤษที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในพิธีราชาภิเษก ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’
บัตรเชิญร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของคิงชาร์ลส์ที่ 3
ภาพ : Town & Country Magazine

เนื่องจากควีนคามิลลาเคยเสกสมรสมาก่อน และมีพระโอรสและพระธิดากับสามีคนเก่าอย่างละคน ได้แก่ ทอม ปาร์เกอร์-โบลส์ และ ลอรา โลเปส ทั้งคู่ก็ได้รับเชิญมาด้วย

และที่พิเศษไปกว่านั้นคือ นี่จะเป็นพิธีราชาภิเษกของพระราชวงศ์อังกฤษครั้งแรกที่มีการเทียบเชิญเชื้อพระวงศ์ ตลอดจนผู้นำต่างชาติให้ร่วมพิธีในวิหารด้วย ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี ของไทยก็จะเสด็จฯ ไปร่วมพระราชพิธีนี้เช่นกัน

ขบวนเสด็จ

หากใครได้ดูภาพถ่ายเก่าสมัยปี 1953 รวมถึงราชาภิเษกก่อนหน้านั้น จะเห็นว่าประมุขแห่งสหราชอาณาจักรจะประทับนั่งในรถม้าพระที่นั่ง State Coach ที่ทำจากทองแทบทั้งคันในการเสด็จฯ จากพระราชวังบักกิงแฮมไปยังวิหารเวสต์มินสเตอร์ และเสด็จฯ กลับสู่พระราชวังบักกิงแฮม โดยขบวนเสด็จครั้งก่อน ๆ นั้นจะยาวและดูโกลาหลมาก เพราะจะมีบรรดาเชื้อพระวงศ์และนายกรัฐมนตรีจากประเทศในเครือจักรภพตามเสด็จฯ ไปด้วย

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ภาพ : Encyclopedia Britannica

แต่ในครั้งนี้ ขบวนเสด็จของคิงและควีนองค์ปัจจุบันจะลดความโอ่อ่าลงมาก เพื่อประหยัดเวลาและพระราชทรัพย์ในการประกอบพระราชพิธี โดยราชรถที่ประทับก็จะไม่ใช้ State Coach คันเดียวกับที่ประมุขแห่งสหราชอาณาจักรประทับมานานกว่า 200 ปี ส่วนหนึ่งก็เพราะราชรถคันนั้นมีขนาดใหญ่ เคลื่อนตัวได้ช้า ทั้งยังร้อนอบอ้าว โดยจะเปลี่ยนไปใช้ราชรถพระที่นั่งพัชราภิเษก (Diamond Jubilee Coach)

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ภาพ : The Telegraph

ราชรถคันนี้สร้างเมื่อปี 2012 ในพระราชพิธีพัชราภิเษก ฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติของควีนเอลิซาเบธที่ 2 รถม้าโครงสร้างอะลูมิเนียมคันนี้มีขนาดเล็กกว่า และมีระบบไฮโดรลิก รวมถึงระบบปรับอากาศในตัว ช่วยให้การเสด็จพระราชดำเนินเป็นไปด้วยความราบรื่นกว่ามาก เมื่อเคลื่อนขบวนออกจากพระราชวังแล้ว ราชรถจะมุ่งไปตามถนนเดอะมอลล์ ถนนไวต์ฮอลล์ และถนนรัฐสภา ผ่านจัตุรัสรัฐสภา ก่อนไปถึงวิหารเวสต์มินสเตอร์ในที่สุด

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ฉลองพระองค์มาตรฐานที่ประมุขและพระชายานิยมสวมใส่กันในวันราชาภิเษก
ภาพ : Monarchy of British Wiki

เป็นที่คาดเดากันไปต่าง ๆ นานาว่า ในการเสด็จฯ ครั้งประวัติศาสตร์นี้ คิงชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงฉลองพระองค์แบบใด บ้างก็ลือกันว่าพระองค์จะทรงเครื่องแบบกองทัพติดเหรียญตรา ในขณะที่บางเสียงเห็นแย้งเนื่องเพราะในอดีต สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลียมที่ 4 เคยทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมาทำพิธีราชาภิเษก ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากถึงความไม่เหมาะสมที่ทรงสวมมาร่วมพิธีทางศาสนา

รับรองพระราชสถานะ

ไม่ว่าคิงชาร์ลส์จะทรงฉลองพระองค์ชุดใดมา เมื่อเสด็จฯ มาถึงโถงที่ประกอบพระราชพิธีเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น พระองค์จะต้องทรงพระภูษาสีแดงเข้ม มีผ้าคลุมยาวดั่งธรรมเนียมปฏิบัติ และจะทรงพระมาลาสีแดงใบเล็กที่ดูคล้ายมงกุฎขนาดย่อมเพื่อบอกสถานะประมุขที่ยังไม่ผ่านการสวมมงกุฎอย่างถูกต้อง ว่ากันว่าในอดีต กษัตริย์จะทรงมงกุฎเพชรเล็ก ๆ ที่เรียกว่า Tiara ด้วย แต่เพราะมงกุฎลักษณะนั้นแลดูเป็นเครื่องประดับสำหรับสตรีเกินไป กษัตริย์รุ่นหลังจึงไม่ทรงมันอีก

สิ่งนี้ส่งผลให้พระชายาหรือราชินีที่ต้องไม่ทรงศิราภรณ์ประดับพระเศียรให้ดูเกินหน้าองค์ประมุข

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ขณะทรงพระดำเนินมายังวิหาร
ภาพ : Westminster Abbey

เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จฯ มาถึงแล้ว ขั้นตอนแรกของพระราชพิธีก็จะเริ่มต้นขึ้น เหล่าเจ้าพนักงานระดับสูงจะยืนประจำการรอบทิศ ก่อนตั้งคำถามต่าง ๆ ให้กษัตริย์ได้มีพระราชดำรัสตอบ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของพระราชสิทธิและพระราชอำนาจ พระองค์ต้องตรัสยืนยันว่า จะทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ดำรงพระองค์อยู่ในกรอบของกฎหมาย และธำรงไว้ซึ่งคริสตจักรแห่งอังกฤษ และลงพระนามยืนยันคำปฏิญาณ ที่กษัตริย์ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อให้การขึ้นครองราชย์เป็นไปด้วยความชอบธรรม ได้รับความเห็นชอบจากปวงชน

ที่ต้องเน้นย้ำว่า ‘จะต้องธำรงไว้ซึ่งคริสตจักรแห่งอังกฤษ’ ก็เพราะในอดีตกาลนานมา อังกฤษเคยแยกตัวจากพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก มาตั้งนิกายอังกลิกันและศาสนจักรของตนเองเป็นเอกเทศ แต่ประมุขใหม่บางพระองค์ยังฝักใฝ่นิกายคาทอลิกอยู่ นำมาซึ่งการต่อต้านและเหตุนองเลือดหลาย ๆ ครั้ง รัฐธรรมนูญอังกฤษจึงระบุว่า พระมหากษัตริย์จะต้องนับถือนิกายอังกลิกันเท่านั้น และ ‘กษัตริย์อังกฤษ’ ยังต้องครองตำแหน่งประมุขสูงสุดของคริสตจักรแห่งอังกฤษด้วย

เสร็จจากนี้ ทุกคนในพิธีจะป่าวร้องว่า “ขอพระเจ้าคุ้มครององค์ราชันย์ (God save the King)”

รับเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์

ขั้นตอนที่ศักดิ์สิทธิ์และอิงกับความเชื่อทางศาสนามากที่สุด คือการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ (Anointing) บนพระวรกายของประมุขพระองค์ใหม่ เป็นพิธีคริสต์ที่รับมาจากความเชื่อโบราณหลาย ๆ ศาสนา ในพระคัมภีร์ไบเบิลยังเคยระบุว่า กษัตริย์โซโลมอน ของชาวยิวเคยได้รับเจิมจาก นักบวชซาด็อก เพื่อรับรองพระราชอำนาจเมื่อหลายพันปีก่อน ก่อนจะกลายเป็นวิถีปฏิบัติของชาวคริสต์สืบมา

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
บัลลังก์ราชาภิเษก
ภาพ : Westminster Abbey

ในขั้นตอนนี้ กษัตริย์จะต้องถอดพระภูษาออก ประทับบนบัลลังก์ราชาภิเษก (Coronation Chair) เป็นเก้าอี้ไม้แกะสลักที่สร้างขึ้นในปี 1296 บางครั้งบัลลังก์นี้ก็ถูกเรียกว่า ‘บัลลังก์นักบุญเอ็ดเวิร์ด’ ตามพระนามของ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี กษัตริย์อังกฤษพระองค์เดียวที่ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนักบุญในศาสนาคริสต์ 

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ภาพ : Daily Express

ใต้บัลลังก์ที่ทำจากไม้แกะสลักนี้ มีช่องสำหรับสอดบัลลังก์ศิลาของพวกสกอตเข้าไปได้ กล่าวคือ สมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 สกอตแลนด์กับอังกฤษยังเป็นรัฐอิสระที่รบพุ่งกันไปมา กษัตริย์สกอตแลนด์จะทำพิธีราชาภิเษกด้วยการประทับบนศิลาแห่งโชคชะตา (Stone of Scone) เมื่อครั้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดแห่งอังกฤษทรงพิชิตทัพสกอตได้ ก็ทรงยึดบัลลังก์ศิลานี้มาได้และนำมาเป็นส่วนประกอบในบัลลังก์ราชาภิเษก

ถึงแม้ว่าในปี 1996 ทางโบสถ์เวสต์มินสเตอร์จะส่งคืนศิลาแห่งโชคชะตาให้กับสกอตแลนด์ไป แต่เมื่อคิงชาร์ลส์ที่ 3 จะเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ของสกอตแลนด์ด้วย ทางสกอตแลนด์ก็ไม่เกี่ยงที่จะส่งมอบศิลานี้มาให้ประกอบกับบัลลังก์ราชาภิเษก เพื่อให้กษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ประทับขณะประกอบพิธี

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ภาพ : Wikimedia

ในขั้นตอนเทน้ำมันศักดิ์สิทธิ์นี้ มหาดเล็กจะพากันนำปะรำสีทองมาคลุมเหนือพระวรกาย เจ้าอาวาสแห่งเวสต์มินสเตอร์จะเทน้ำมันที่ได้รับการเสกจากโถรูปอินทรีทองคำ ลงในช้อนทองของอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี เพื่อให้ท่านได้เจิมน้ำมันบนพระนลาฏ (หน้าผาก) พระอุระ (อก) และพระหัตถ์ทั้งสองข้าง เป็นการอัญเชิญให้พระเจ้าและอำนาจเทวสิทธิ์ของพระองค์มาสถิตอยู่กับกษัตริย์พระองค์นี้

ทรงเครื่องราชกกุธภัณฑ์

เมื่อผ่านการเจิมน้ำมันแล้ว อาร์ชบิชอปจะสวมฉลองพระองค์ใหม่แด่กษัตริย์ เป็นเสื้อคลุมสีทองอร่าม บอกสถานะผู้แทนของพระผู้เป็นเจ้าบนพื้นพิภพ

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ภาพ : Royal Collection Trust

คิงชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ (Regalia) ที่เต็มไปด้วยของสูงค่านานาชนิด และแต่ละชิ้นก็มีความหมายเฉพาะตัว อาทิ เดือยรองเท้า หมายถึงความกล้าหาญดั่งอัศวิน พระแสงดาบแห่งราชอาณาจักรซึ่งกษัตริย์นิยมรับมาเหน็บไว้ที่บั้นพระองค์ (เอว) กำไลข้อพระหัตถ์ทองคำ แทนอำนาจของราชาและสติปัญญา ลูกโลกทองคำมีกางเขนเพชรบนยอด แทนอำนาจของพระเยซูคริสต์ที่ปกครองโลก พระธำมรงค์ (แหวน) แสดงถึงบุญญาธิการของกษัตริย์ที่มีต่อชาติบ้านเมือง และคทา 2 อัน อันหนึ่งมีหัวเป็นไม้กางเขน แสดงถึงอำนาจต่อรัฐ อีกอันมียอดเป็นรูปนกพิราบขาว แสดงอำนาจทางจิตวิญญาณ

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ภาพ : Royal Collection Trust

เครื่องราชกกุธภัณฑ์เหล่านี้มีอายุราว 400 ปี เพิ่งสร้างขึ้นในยุคพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เลียนแบบของเดิมที่ถูกทำลายไปในยุคที่มีการล้มล้างสถาบันกษัตริย์อังกฤษ มีเพียงช้อนทองคำที่ใช้เจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์เพียงชิ้นเดียวที่เก่ากว่านั้น เพราะรอดพ้นจากการถูกทำลายมาได้

รับถวายพระมหามงกุฎ

กษัตริย์จะทรงถือเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งหมดไว้กับพระองค์เอง แล้วทรงพระดำเนินต่อไปทรงรับการสวมพระมหามงกุฎนักบุญเอ็ดเวิร์ดจากอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี 

นี่คือขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในกระบวนการพระราชพิธีราชาภิเษกทุกขั้นตอน พระมหามงกุฎองค์นี้จะใช้เฉพาะในราชาภิเษกเท่านั้น ขุนนางและทุกคนในโถงวิหารที่สวมหมวกอยู่จะต้องถอดหมวกของตนเองออก รอจนกว่านักบวชที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในแผ่นดินอังกฤษจะถวายการสวมพระมหามงกุฎแด่คิงชาร์ลส์

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ภาพ : Royal Collection Trust

เมื่อพระมหามงกุฎนักบุญเอ็ดเวิร์ดอยู่บนพระเศียรแล้ว ทุกคนถึงจะใส่หมวกของตนพร้อมกัน พลางตะโกน “ขอพระเจ้าคุ้มครององค์ราชันย์” ให้ดังลั่นทั้งหมด 3 ครั้ง เจ้าพนักงานจะเป่าแตรแซ่ซ้อง ระฆังโบสถ์ทั่วราชอาณาจักรจะถูกตีก้องกังวาน มีการยิงสลุตถวายพระเกียรติยศที่สถานที่สำคัญอย่างหอคอยแห่งลอนดอน และไฮด์พาร์กไปพร้อม ๆ กันด้วย

อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะคุกเข่าลงเฉพาะพระพักตร์ ก่อนท่องบทสวดโบราณที่แปลมาจากภาษาละติน ตลอดเวลาเหล่านี้ กษัตริย์จะทรงสวมพระมหามงกุฎน้ำหนัก 4.9 ปอนด์ต่อไป

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ภาพ : Footer Menu

หลังจากนี้ พระชายาจะต้องประกอบพิธีแบบเดียวกันทุกขั้นตอน ตั้งแต่รับเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์จนกระทั่งสวมใส่มงกุฎสำหรับพระชายา โดยทั่วไป ราชินีจะต้องคุกพระชานุ (เข่า) เป็นเวลานานมากในขั้นตอนเหล่านี้ แต่เนื่องจากควีนคามิลลามีพระชนมพรรษามากแล้ว กอปรด้วยกระแสความเท่าเทียมทางเพศที่กำลังแพร่หลายอยู่ในโลกปัจจุบัน จึงเป็นไปได้ว่าธรรมเนียมนี้จะเปลี่ยนเป็นให้พระองค์ทรงยืนแทน 

มงกุฎราชินีที่ทรงสวมก็เปลี่ยนไปจากเดิม กล่าวคือ ในพิธีราชาภิเษกครั้งก่อน ๆ มักมีการสร้างมงกุฎใหม่ให้พระราชินีได้สวมเสมอ ทว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรตอนนี้ ควีนได้ตัดสินพระทัยใช้มงกุฎเดิมของ สมเด็จพระราชินีนาถแมรี ในปี 1911 แทนที่จะสร้างมงกุฎอันใหม่

เสด็จขึ้นครองราชย์

เวลานี้เท่ากับว่าคิงชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรโดยสมบูรณ์แล้ว พระองค์จะเสด็จฯ ไปประทับบนพระราชอาสน์เพื่อรอรับการถวายสัตย์ปฏิญาณจากเหล่าเชื้อพระวงศ์และขุนนางที่เดินเรียงแถวกันมาประกาศความจงรักภักดีเฉพาะพระพักตร์

ตามประเพณีเดิม กษัตริย์จะไม่ทรงพระดำเนินไปด้วยพระองค์เอง ด้วยที่เครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งหลายมีน้ำหนักมากจนไม่อาจขยับเขยื้อนเคลื่อนพระวรกายได้ถนัด เหล่านักบวชและขุนนางจะช่วยกันอุ้มหรือยกพระวรกายของพระองค์ไปประทับบนพระราชอาสน์นั้น

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ประทับในตำแหน่งสูงกว่าสมเด็จพระราชินีนาถแมรีเล็กน้อย
ภาพ : Royal Collection Trust

พระชายาจะประทับบนพระราชอาสน์ที่อยู่ฝั่งซ้ายมือของประมุข และอยู่ในระดับต่ำกว่าเล็กน้อย ทรงคทาคู่และพระธำมรงค์คล้าย ๆ กัน

ผู้เดินแถวมาจะต้องถอดเครื่องประดับศีรษะออก โค้งคำนับ ให้สัตย์ปฏิญาณ พระญาติที่ใกล้ชิดอาจจุมพิตพระปราง (แก้ม) ก่อนแตะพระมหามงกุฎ เป็นสัญลักษณ์ของความเคารพและความตั้งใจจะรับใช้เบื้องพระยุคลบาท โดยเริ่มจากเชื้อพระวงศ์ลงมาทีละขั้น จนถึงขุนน้ำขุนนางที่เรียงลำดับตั้งแต่ดยุก มาร์ควิส เอิร์ล ไวเคานต์ และบารอนทีละคน

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ภาพ : Parade

เพื่อเป็นการประหยัดเวลาที่ยาวนานเกินความจำเป็น มีกระแสข่าวว่าขั้นตอนการกล่าวปฏิญาณจะถูกตัดทอนลง เหลือเพียงศาสนาจารย์เวลบีและ มกุฎราชกุมารวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ เท่านั้นที่เป็นตัวแทนปฏิบัติให้กับขุนนางและข้าราชบริพารทั้งมวล

เสด็จออกสีหบัญชร

คอยจนกระทั่งการกล่าวคำปฏิญาณจบสิ้นลงด้วยดี คิงและควีนที่เพิ่งเสร็จพิธีราชาภิเษกจะเสด็จลงจากพระราชอาสน์ไปผลัดเปลี่ยนมงกุฎ เป็นพระมหามงกุฎอิมพีเรียล และเสด็จกลับพระราชวังบักกิงแฮม แต่คราวนี้ทั้งสองพระองค์จะประทับในราชรถ State Coach สีทองที่ใช้มานานกว่า 260 ปีแทน ฉลองพระองค์ตอนนี้ก็จะหรูหรากว่าเก่า เพราะจะเปลี่ยนมาทรงพระภูษาสีม่วงซึ่งเป็นสีที่มีราคาแพง ใช้สำหรับกษัตริย์หรือจักรพรรดิเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะพระราชสถานะได้เปลี่ยนจากกษัตริย์และราชินีที่ยังรอพิธีราชาภิเษก มาเป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินีที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณีทุกประการ

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ภาพ : Sky News

ในการเสด็จพระราชดำเนินกลับนี้ นับว่าลดทอนความยิ่งใหญ่ของขบวนราชรถจากครั้งล่าสุดเมื่อปี 1953 มาก เพราะในคราวของพระชนนีผู้ล่วงลับนั้น ราชรถได้ขับวนรอบกรุงลอนดอนเป็นเวลานานถึง 2 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่คอยอารักขามากถึง 16,000 นาย แต่คิงชาร์ลส์ได้ย่นย่อการเดินทางของพระองค์เหลือเพียง 45 นาที โดยแทบจะตรงกลับพระราชวังบักกิงแฮมด้วยเส้นทางที่ใกล้ที่สุด ใช้ทหารอารักขาเพียง 6,000 นาย เรียกว่าน้อยกว่าพิธีราชาภิเษกของพระชนนีเกือบ 3 เท่าตัว

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ภาพ : Wikipedia

และแล้วก็ถึงช่วงเวลาที่เหล่าพสกนิกรรอคอย คือหลังจากคิง ควีน ตลอดจนเชื้อพระวงศ์ที่ใกล้ชิดเสด็จฯ ถึงวังหลวงแล้ว ทุกพระองค์จะเสด็จออก ณ สีหบัญชรของพระราชวังเพื่อให้ปวงประชาได้ชื่นชมพระบารมี รวมถึงมีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกรที่มารอรับเสด็จฯ เนืองแน่นพื้นที่จัตุรัสหน้าวัง เป็นธรรมเนียมที่พระราชวงศ์แห่งอังกฤษถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ปี 1902 เมื่อคราวที่ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกของพระองค์

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ภาพ : Royal Collection Trust

เหล่าเชื้อพระวงศ์จะโบกพระหัตถ์ทักทายผู้คนที่อยู่เบื้องล่าง ก่อนที่ฝูงบินถวายพระเกียรติของกองทัพอากาศแห่งสหราชอาณาจักรจะบินผ่านพระราชวังด้วยการแปรอักษรเป็นตัวย่อ ซึ่งเป็นไปได้ว่าคงเป็นอักษร ‘CR III’ ที่ย่อจากพระปรมาภิไธย Charles Rex III

เรื่องจำนวนเชื้อพระวงศ์ที่จะเสด็จออกสีหบัญชรก็ยังเป็นที่คาดเดากันอยู่ นอกจากคิงชาร์ลส์และควีนคามิลลาที่สำนักพระราชวังบักกิงแฮมยืนยันว่าจะเสด็จออกอย่างแน่นอนแล้ว หลายสื่อก็เชื่อว่าสมาชิกพระราชวงศ์ที่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้ง 11 พระองค์จะเสด็จมาทั้งหมด อาจรวมถึงพระโอรส-ธิดาบางพระองค์ นับทั้งหมดแล้วอาจมีมากถึง 17 พระองค์ก็เป็นได้

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
คิงชาร์ลส์ขณะมีพระชนมพรรษา 4 พรรษา ออกสีหบัญชรในพิธีราชาภิเษกพระชนนี
ภาพ : ELLE

พระราชพิธีราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ยังเต็มไปด้วยข้อกังขาในหลายประเด็น เช่นการที่สำนักพระราชวังแจงว่าพิธีกรรมในวิหารจะลดทอนพิธีกรรมเฉพาะของคริสเตียนลง สนับสนุนให้พสกนิกรต่างศาสนาได้มีส่วนร่วมในการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ผู้นำศาสนาอื่นเช่นศาสนายิวได้ทยอยตอบรับเข้าร่วมพระราชพิธีนี้ ซึ่งก็น่าสนใจว่าในขั้นตอนพิธีการจะทำได้อย่างไร ปรับเปลี่ยนจารีตที่เคยปฏิบัติมามากน้อยแค่ไหน

แต่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรวันนี้ก็จะได้รับการบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ ในฐานะพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของศตวรรษที่ 21

รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21
ภาพ : Time Out
ข้อมูลอ้างอิง
  • ทีมงาน Visual Journalism. “คู่มือชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ฉบับสมบูรณ์”. บีบีซีไทย, 27 เมษายน 2566 (ออนไลน์)
  • UsefulCharts. “Coronation of Charles III”. Online Video Clip. Youtube, 28 April 2023. Web.
  • History Tea Time with Lindsey Holiday. “What to expect at the Coronation of King Charles III & Queen Camilla”. Online Video Clip. Youtube, 25 April 2023. Web.
  • Said-Moorhouse and Foster. “Everything you need to know about King Charles III’s coronation”. CNN, 28 April 2023 (online).
  • McTaggart, India. “Inside King Charles’s Coronation: When is it and what happens?”. The Telegraph, 30 April 2023 (online).

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย