The Cloud x ไทยเด็ด

แม่จิน-จินตนา พิมพานิชย์ เธอเป็นหญิงวัย 46 ปีที่สร้างพลังให้กับผู้หญิงในชุมชนบ้านคำประมง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำหมู่บ้านที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กประถมจนถึงวัยผู้สูงอายุ ว่าวัฒนธรรมการ ‘ทอผ้า’ จากเส้นใยฝ้ายธรรมชาติที่แทบทุกครัวเรือนทำกันมาตั้งแต่โบราณ และผู้หญิงในชุมชนแทบทุกคนทอใช้กันเป็นทุนเดิมก็สร้างรายได้ให้พวกเธอ โดยไม่ต้องรอให้ผู้ชายเลี้ยงดูหรือให้ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าอีกต่อไป

ผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จ.สกลนคร พลังสตรีชุมชนที่ทำให้เด็กสาว-คนวัย 69 ทอผ้าด้วยกัน

บทบาทของแม่จินคือการเป็นประธานกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมง มีสายตาเฉียบแหลม เล็งเห็นการต่อยอดจากการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมทอผ้าดั้งเดิมของชุมชนซึ่งเคยย้อมผ้าด้วยเคมี มาเป็นการผลิตและจัดจำหน่ายผ้าย้อมครามด้วยวัตถุดิบธรรมชาติจากเหล่าพืชพรรณต่าง ๆ ที่มอบสีอันทรงเสน่ห์ และหนึ่งสิ่งที่ทำให้ ‘ครามสกลนคร’ ของบ้านคำประมงนั้นไม่เหมือนที่ไหน คงเป็นลวดลายบนผ้าอันประณีตที่ทุกการออกแบบต่างได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวในจังหวัดสกลนคร ผ่านสายตาของผู้หญิงในชุมชน ตั้งแต่ดวงดาวบนท้องฟ้าจากการเงยหน้ามองแผ่นฟ้าบริเวณชานบ้าน สถานที่สำคัญของจังหวัดที่นั่งรถผ่านแล้วตกหลุมรัก หรือพรรณไม้ตอนพวกเธอทำสวนแล้วเห็นว่าน่ารักดี

จากวันที่แม่จินชักชวนผู้หญิงในหมู่บ้านให้ลุกขึ้นมาสร้างรายได้ให้ตัวเอง เธอค่อย ๆ ขยับรายได้จากอาชีพใหม่นี้จากหลักร้อยสู่หลักหมื่น และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ‘โครงการไทยเด็ด’ โดย บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่คัดสรรผลิตภัณฑ์เด็ด ๆ ประจำถิ่นทั่วไทยมาสนับสนุนด้านการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งผ้าทอย้อมครามของหญิงสาวบ้านคำประมง จังหวัดสกลนคร โดดเด่นและดีงามจนไทยเด็ดขอการันตีด้วยการได้รับเลือกเป็นสินค้าไทยเด็ด Select ใน พ.ศ. 2565

ผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จ.สกลนคร พลังสตรีชุมชนที่ทำให้เด็กสาว-คนวัย 69 ทอผ้าด้วยกัน

ในวันนี้ผ้าย้อมครามของกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมงเป็นที่รู้จักมากขึ้น

แม่จินบอกว่าพลังหญิงของเธอและสมาชิกในกลุ่มที่ช่วยกันถักทอขึ้นมาจากความตั้งใจนั้นเกิดผลสำเร็จ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เธอเคยคิดว่าจะไปไม่รอดอยู่หลายหน และเคยสบประมาทตัวเองว่าหญิงสาวที่จบ ป.6 จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ ไหม แต่แล้วเธอก็ทำได้ และทำได้ดีด้วย

เกิดและโตมากับกี่ทอผ้าใต้ถุนบ้าน 

คิดจะซื้อผ้าทอย้อมคราม คิดถึง ‘สกลนคร’ 

หากเราพูดแบบนั้นคงไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด เพราะสกลนครถือเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องการทอผ้าและย้อมคราม เป็นหนึ่งวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น หลายหมู่บ้าน หลายชุมชน ทอผ้ากันเป็นกิจจะลักษณะ ทำให้ความเป็น ‘ครามสกล’ นั้นเข้มแข็ง เช่นเดียวกับกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมงที่มีความดีงามในแบบฉบับของตัวเอง แต่ก่อนจะถึงเรื่องเล่าของการตั้งกลุ่ม แม่จินเล่าย้อนให้ฟังว่าเธอเกิดและโตท่ามกลางการทอผ้า จนไม่อยากเชื่อว่าสิ่งที่เห็นอยู่ทุกวันจะทำให้เธอเป็นเธอในทุกวันนี้

“เราเติบโตมากับการมีกี่ทอผ้าใต้ถุนบ้าน ทีแรกชุมชนไม่ได้ย้อมครามนะคะ ย้อมสีม่อฮ่อมด้วยสีเคมี ซึ่งทุกบ้านมีกี่ทอผ้าอยู่แล้ว ทำมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ช่วง ป.4 พ่อแม่ก็หัดให้เราทอผ้า เพราะเมื่อก่อนเศรษฐกิจไม่ดี ตอนนั้นไม่มีแหล่งให้ซื้อเสื้อผ้า ชุมชนเลยนิยมทอผ้าใช้เอง ใช้เป็นผ้าแพรบ้าง ผ้าขาวม้าบ้าง ผ้าห่มบ้าง หมอนก็ต้องทอใช้เอง หรือเวลาไปงานแต่ง ต้องทอผ้าเพื่อนำไปเป็นเครื่องไหว้ผู้ใหญ่ เด็กทุกบ้านเรียนการทอผ้ากันหมด โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ถ้าทอไม่เป็นก็เหมือนไม่ผ่านความเป็นกุลสตรี (หัวเราะ) ซึ่งไม่เหมือนกับสมัยนี้ที่ใครอยากทอก็ทอ ใครไม่อยากทอก็ไม่ต้องทอ”

ผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จ.สกลนคร พลังสตรีชุมชนที่ทำให้เด็กสาว-คนวัย 69 ทอผ้าด้วยกัน

แม้การทอผ้ากลายเป็นวัฒนธรรมของชาวสกลนคร ส่วนหนึ่งผูกติดกับบทบาทความเป็นหญิงที่ผู้หญิงต้องทอผ้าเป็น แต่แม่จินก็พยายามคิดบวก ถ้าเธอไม่ได้เรียนรู้เรื่องการทอผ้าหรือย้อมผ้ามาตั้งแต่เด็ก วันนี้เธอและคนในชุมชนก็คงไม่มีทักษะเหล่านี้ติดตัว และอาจเสียเวลาในการเรียนรู้ได้ช้าลง

“ช่วง พ.ศ. 2539 ตากับยายเริ่มพากันปลูกครามในบ้านดู พวกท่านได้ทดลองก่อหม้อครามเอง และเปลี่ยนจากการย้อมสีเคมีมาเป็นย้อมครามว่าจะทำได้ไหม ปรากฏว่าทำได้ เลยเริ่มมีการย้อมครามเกิดขึ้นในชุมชน หลายบ้านหันหลัง เริ่มเปลี่ยนจากการย้อมสีเคมีมาย้อมครามกันเต็มตัว แต่ก็ยังคงเป็นการทอผ้าใช้เอง ย้อมใช้เอง เป็นกิจกรรมที่มีอยู่แค่ในหมู่บ้าน การขายผ้าย้อมครามเพิ่งมารุ่งเรืองมากขึ้นในชุมชน ตอนที่เราได้เข้าอบรม ก่อตั้งกลุ่ม และรู้ว่าเราใช้ความสามารถหารายได้ได้”

พลังหญิงที่ให้กำเนิดกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมง

อยากให้คนเห็นว่าผู้หญิงทำได้ทุกอย่าง เลี้ยงตัวเองได้ และเชื่อว่ามีชาวบ้านบ้านคำประมงอีกมากที่ไม่อยากจากบ้านเกิดเพื่อไปหารายได้ในกรุงเทพฯ ดังนั้นการสร้างอาชีพให้ผู้หญิงปล่อยของโดยไม่ต้องเดินทางเข้าเมืองหลวงจึงเป็นความตั้งใจแรกของแม่จิน เธอตั้งใจให้ภาพที่เธอฝันนั้นเกิดขึ้นจริงกับ ‘กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมง’ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งเธอปลุกปั้นขึ้นมากับมือ

ตลอดชีวิตของแม่จิน เธอเป็นสาวบ้านนา ประกอบอาชีพทำนา-ทำสวนเป็นหลัก เมื่อเราถามว่าทำมานานหรือยัง เธอตอบพร้อมเสียงหัวเราะว่า “ทำมาตั้งแต่จำความได้” แม้เธอตอบเรากลับอย่างร่าเริง แต่แม่จินก็มีความอึดอัดใจอยู่ภายใน เมื่ออาชีพหลักของเธอและชาวบ้านคนอื่น ๆ สร้างรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เพราะนับวันการทำนา-ทำสวน มีต้นทุนในการปลูกแพงขึ้น รายได้จึงไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในครัวเรือน จนกระทั่งแม่จินได้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการย้อมคราม

“จุดเปลี่ยนของพี่ คือการเข้าอบรมที่กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย เราเห็นสมาชิกในกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยทำงานกันเป็นทีม สิ้นเดือนได้รับเงินเดือน เรามองเห็นช่องทาง จึงอยากชวนสมาชิกในหมู่บ้านรวมตัวกันสร้างกลุ่มเหมือนเขา ลองดูว่าจะไปได้ไหม และโชคดีที่เราได้งบประมาณจากหน่วยงานราชการมาช่วย ทั้งจากสำนักงานเกษตรฯ และกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งงบนั้นทำให้เราได้ฝ้ายโรงนาหรือฝ้ายซีกวงมาจำนวนหนึ่ง เลยได้โอกาสรวมตัวกันตั้งกลุ่มเมื่อ พ.ศ. 2561

ผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จ.สกลนคร พลังสตรีชุมชนที่ทำให้เด็กสาว-คนวัย 69 ทอผ้าด้วยกัน
ผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จ.สกลนคร พลังสตรีชุมชนที่ทำให้เด็กสาว-คนวัย 69 ทอผ้าด้วยกัน

“ความตั้งใจของเราคืออยากให้สมาชิกในหมู่บ้านมีรายได้เพิ่ม มีอาชีพเสริมนอกเหนือจากการทำนา-ทำสวน เมื่อมีรายได้เพิ่ม คนในชุมชนก็ไม่ต้องไปทำงานต่างบ้าน ยุคแรกเริ่มต้นจากสมาชิก 11 คน มีคนใกล้ตัว อย่างลูกพ่อเดียวกัน คนในครอบครัว จนถึงรุ่นคุณยายที่เป็นแม่ของแฟน และคนในหมู่บ้าน ซึ่งล้วนเป็นผู้หญิงทั้งหมด มีผู้ชายที่ทำมัดหมี่คือน้องแฟน แต่เป็นการรับจ้างช่วยเป็นรายวันเท่านั้น

“การชักชวนผู้หญิงในหมู่บ้านเข้ามาร่วมกลุ่ม ส่วนหนึ่งเราอยากชูความสามารถของผู้หญิงให้คนเห็นว่าผู้หญิงทำได้ทุกอย่าง ไม่ใช่มีแต่ผู้ชายที่ทำได้ ผู้หญิงก็มีความสำคัญ หารายได้ช่วยสามีได้ ไม่ต้องรอให้สามีเลี้ยงอย่างเดียว ตอนนั้นเราทำให้สมาชิกที่ว่างงานมีงานทำ หากคนในหมู่บ้านไม่มีงานทำ เขาก็ต้องเข้ากรุงเทพฯ การมีกลุ่มสตรีทอผ้าทำให้เขารู้ว่าอยู่บ้านก็มีเงินใช้ได้เหมือนกัน

ผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จ.สกลนคร พลังสตรีชุมชนที่ทำให้เด็กสาว-คนวัย 69 ทอผ้าด้วยกัน

“เราว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว บทบาทของผู้หญิงคือคนมีความสามารถ คนทอผ้าไม่เป็น เขาก็ทอผ้าเป็น เลี้ยงตัวเองรอด แต่กว่าเราจะรู้ว่ารอด ก็ทุลักทุเลอยู่เหมือนกัน ข้อดีของการที่ผู้หญิงในหมู่บ้านเติบโตมากับกี่ทอผ้า คือเราไม่ต้องสอนอะไรมากมาย เพราะทุกคนทำเป็นอยู่แล้ว แค่เปลี่ยนจากการใช้สีย้อมเคมีมาเป็นสีย้อมครามและสีธรรมชาติจากพืชพรรณ ส่วนคนไหนยังไม่เป็นก็มาเรียนกับเราได้ 

“แต่สิ่งที่เรามองว่ายากลำบากคือการเสียสละ ถ้าครอบครัวไม่เข้าใจหรือไม่สนับสนุนให้ทำงาน มันคงไปได้ยากมาก ด้วยความที่เราเป็นประธานกลุ่ม ช่วงเริ่มต้นไม่ได้มีเงินลงทุนมากนัก เราก็ต้องเสียสละเงินส่วนตัวเพื่อเอามาช่วยพัฒนากลุ่ม และยังมีเรื่องความกดดัน คิดว่าเด็กจบ ป.6 อย่างเราจะพากลุ่มไปรอดไหม แต่เราก็ทำให้มันรอดจนได้ เป็นความภูมิใจในชีวิตอย่างหนึ่งเลยที่ไม่ล้มเลิกระหว่างทาง แม้มีความไม่เข้าใจกันบ้าง ต้องอาศัยความใจเย็น ค่อย ๆ จับมือกันผ่านไป ในวันที่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน หรือบางคนลืมว่าต้องทำผ้าแบบนั้น แบบนี้ เหนื่อยนะ แต่เราก็หาทางออกและสู้กันมาได้”

ผสมสีและทอลวดลายจากเรื่องราวชีวิตในชุมชน

จากหลักร้อย หลักพัน สู่หลักหมื่น แม่จินช่วยให้สาว ๆ ในหมู่บ้านได้รับรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการถักทอและย้อมผ้าออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าเมตร และผ้าถุง เธอแอบเล่าให้ฟังว่าทุกวันนี้ช่างฝีมือทอผ้าคลุมไหล่กันวันละผืน ทอผ้าเมตรกันวันละเมตร และทอผ้าถุง 1 ผืนในระยะเวลา 2 วันครึ่ง – 3 วัน เรียกได้ว่าลูกค้าต่างติดใจในเอกลักษณ์ของผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมงอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งความพิเศษของผ้าทอหมู่บ้านก็อยู่ในคำตอบของแม่จินทั้งหมด

“ครามสกลนครของหมู่บ้านเราไม่มีเคมี ไม่มีจุลินทรีย์ผสม เป็นสีธรรมชาติล้วน ๆ และลวดลายไม่เหมือนใคร บางกลุ่มอาจเป็นลายโบราณ ลายไทย ลายดอกแก้ว ลายดอกหวาย แต่ของเราไม่ใช่ลายไทยจ๋า แต่เป็นลายยกดอก (ผิวสัมผัสมีความนูน) ซึ่งถือเป็นกลุ่มแรก ๆ ในสกลนครที่ทำลายนี้

“เอกลักษณ์ของเราคงเป็นความเนี้ยบที่ลูกค้าสัมผัสได้ เราทอผ้าประณีต สม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าทอเร็วแต่ไม่มีฝีมือ เราทอทุกผืนให้เหมือนผ้าต้นฉบับที่คิดกันไว้ทีแรก ชิ้นไหนสวยไม่เหมือนต้นฉบับจะไม่เอาไปขายเด็ดขาด แต่ไม่ทิ้งเพื่อสร้างขยะ เลือกแปรรูปเป็นกระเป๋าใส่เงิน กระเป๋าใส่โทรศัพท์แทน”

ผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จ.สกลนคร พลังสตรีชุมชนที่ทำให้เด็กสาว-คนวัย 69 ทอผ้าด้วยกัน
ผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จ.สกลนคร พลังสตรีชุมชนที่ทำให้เด็กสาว-คนวัย 69 ทอผ้าด้วยกัน

เรื่องลวดลายผ้าของกลุ่มคำประมงเรียกว่าไม่น้อยหน้าใคร และเมื่อฟังแม่จินเล่าถึงแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ลวดลาย ทำให้ว้าวกับความคิดสร้างสรรค์ของเธอและสมาชิก เพราะทุกผืนผ้าถักทอมาจากสิ่งรอบตัวที่ผู้หญิงในหมู่บ้านเห็น ผู้หญิงในหมู่บ้านมอง และผู้หญิงในหมู่บ้านสัมผัส

“ปัจจุบันมีผ้าลายกลีบมะเฟือง ลายโค้งภูพาน ลายราชวัตร ลายดาวสกล ลายดาวล้อมเดือน ซึ่งเป็นลายที่คนในกลุ่มช่วยกันคิด และมีลายพระราชทาน คือลายดอกรักและลายขอนารี

“ลายกลีบมะเฟืองเกิดจากการไปสวนแล้วเห็นต้นมะเฟืองอยู่ข้างสวนพริก เราเก็บลูกมาปาดดู แล้วเห็นแฉกที่มองดูแล้วสวยดีเลยเอามาทอใส่ผ้า ปรากฏว่าสวยมาก เลยเรียกว่าลายกลีบมะเฟือง ส่วนลายโค้งภูพานเกิดจากตอนนั่งรถไปกรุงเทพฯ ผ่านพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ (ตั้งอยู่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร) เราคิดว่าสถานที่นี้สวยดีเลยอยากได้มาทอใส่ผ้า ตัดสินใจสั่งเก็บฟืมลายนี้ (ฟืม คืออุปกรณ์ทอผ้า ลักษณะคล้ายหวีซี่ ๆ) พอทอออกมาก็สวยอีก ก็เลยตั้งชื่อว่าลายโค้งภูพาน

“ลายดาวล้อมเดือนเกิดขึ้นตอนนอนอยู่ชานบ้าน พอมองขึ้นไปบนท้องฟ้า เห็นดวงดาวมากมายล้อมกันเป็นวง ก็เลยอยากเก็บภาพที่เราเห็นมาลงบนผ้า ซึ่งลายนี้เป็นลายที่เราทอบ่อย”

ผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จ.สกลนคร พลังสตรีชุมชนที่ทำให้เด็กสาว-คนวัย 69 ทอผ้าด้วยกัน
ผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จ.สกลนคร พลังสตรีชุมชนที่ทำให้เด็กสาว-คนวัย 69 ทอผ้าด้วยกัน

ฟังแม่จินเล่าถึงเบื้องหลังกว่าจะออกมาแต่ละลายก็ยิ้มตามกับความน่ารักที่เธอบอก เมื่อถามต่อว่าแต่ละลายมีความยากง่ายอย่างไร ลายไหนขายดีสุด เธอตอบกลับมาว่า “ขายดีทุกลายเลย (หัวเราะ) ส่วนความยากก็ยากทุกลาย แต่ละลายใช้ฟืม 4 เขา ต้องเหยียบ 4 ไม้ เลยยากตรงที่เราต้องใช้ความคิดตลอดเวลา จำลายให้แม่นในหัว มีสมาธิในการทอมาก ๆ ไม่เหมือนกับการเหยียบ 2 เขาที่ทำง่ายกว่า แต่เพื่อลายสวย ๆ ที่เราตั้งใจ เราก็ฝึกฝนกับคนในกลุ่มกันหลายอาทิตย์ กว่าจะทำแต่ละลายได้คล่อง”

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมงในยุคแม่จินแตกต่างจากยุคสมัยก่อน แม่จินมองว่าเอกลักษณ์อยู่ที่เธอนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาต่อยอดด้วยการใช้สีย้อมธรรมชาติ จากรุ่นก่อน ๆ อาจเคยย้อมแค่ครามอย่างเดียว แต่เธอแทบจะใช้สีจากผลผลิตในหมู่บ้านทั้งหมดที่ย้อมผ้าได้มาใช้

“เราไม่อยากย้อมครามอย่างเดียว เลยลองเอาเปลือกไม้ ใบไม้ โคลน หรือของที่อยู่ในหมู่บ้านของเรามาทำเป็นสีธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งยุคก่อน ๆ ไม่ทำอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ตอนแรกก็ลองเอามาย้อมเล่น ๆ ดูว่าฝ้ายจะจับสีไหม พอย้อมแล้วจับสีดีเลยทำต่อ แล้วขายดีด้วยค่ะ เรามีสีชมพู สีม่วงจากฝาง มีสีเขียวจากเปลือกมะม่วง มีสีเหลืองจากดอกดาวเรือง มีสีส้มจากคำแสด หรือสีแดงก่ำ ๆ จากเปลือกก่อน เป็นต้น พี่ว่าพอทันสมัยขึ้นทั้งลายและสี ลูกค้าก็สนใจมากขึ้น ขายได้เยอะขึ้น”

พลังหญิงของกลุ่มผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ‘โครงการไทยเด็ด’ สร้างรายได้ สืบสาน ต่อยอด ภูมิปัญญา จ.สกลนคร
พลังหญิงของกลุ่มผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ‘โครงการไทยเด็ด’ สร้างรายได้ สืบสาน ต่อยอด ภูมิปัญญา จ.สกลนคร

การได้มาซึ่งผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ 1 ผืน เรามองว่าเป็นความสามารถเฉพาะตัวของคนท้องถิ่น ด้วยรายละเอียดที่ซับซ้อน ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ ดังนั้นเราขอสนับสนุนการให้คุณค่ากับงานคราฟต์ที่คนท้องถิ่นทำมาก ๆ เพราะกว่าจะได้แต่ละชิ้น บรรดาช่างฝีมือพิถีพิถันมากจริง ๆ 

โอกาสและการถูกมองเห็นต้องควบคู่ความสามารถ

มีหลายคนที่แม่จินอยากขอบคุณ นอกจากการขอบคุณตัวเองที่กล้าหาญ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ขอบคุณสมาชิกทุกคนในกลุ่มที่จับมือกันด้วยใจสามัคคี ขอบคุณครอบครัวที่เข้าใจ ทำหน้าที่เป็นกำลังใจที่ดีอยู่เสมอ เธอยังรู้สึกขอบคุณผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เธอได้รับโอกาสต่าง ๆ ซึ่งช่วยผลักดันความสามารถของเธอให้เป็นที่พบเห็นของลูกค้า เพราะการพากลุ่มมาไกลได้ถึงวันนี้ มีมากกว่าเรื่องความสามารถ 

“เราเน้นขายออนไลน์เป็นหลัก ตอนตั้งกลุ่ม พ.ศ. 2561 เราเล่นโซเชียลไม่เป็น อยากขอบคุณหัวหน้า พช.พรรณานิคม ที่เข้ามาช่วยสอน จนทำให้ไลฟ์สดเป็น ตั้งเพจเป็น มีแอดมินประจำกลุ่ม ทีแรกขายไม่ได้หรอกค่ะ ไม่มีใครรู้จัก เพราะเราเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ พอเข้า ‘โครงการไทยเด็ด’ ก็ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

“เมื่อก่อนอาชีพทอผ้าย้อมครามไม่รุ่งเรือง แทบไม่มีใครทำเป็นอาชีพด้วยซ้ำ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักมากมาย เราคิดว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ฟื้นอาชีพนี้ขึ้นมา และกลุ่มก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีวันนี้ได้”

‘ไทยเด็ด’ เป็นหนึ่งในโครงการที่คัดเลือกผลิตภัณฑ์สินค้าประจำท้องถิ่นทั่วไทยมาสนับสนุนด้านการตลาดและช่องทางจัดจำหน่ายของ OR ซึ่ง พ.ศ. 2565 โครงการไทยเด็ดลงสำรวจกลุ่มทอผ้าภาคอีสาน โดยเล็งเห็นความพิเศษของผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จนคัดเลือกให้ลายผ้าของกลุ่มเป็นตัวแทนภาคอีสาน และได้รับคัดเลือกเป็น ‘ไทยเด็ด Select’

จากเดิมแม่จินเน้นขายช่องทางออนไลน์ ทุกวันนี้เธอขายสินค้าในสกลนครตามหน่วยงานราชการ มีออร์เดอร์จาก OR เข้ามาเรื่อย ๆ รวมถึงแม่ค้าในกรุงเทพฯ ก็ออร์เดอร์ผ้าของเธอมาขายต่อกันอีกมาก และยังได้รับโอกาสในการวางขายสินค้าในร้านค้าไทยเด็ดในสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ของ OR

“ทีแรกกลุ่มเรามีเงินเดือนคนละ 300 บาทต่อเดือน เมื่อเข้าร่วมโครงการไทยเด็ด เพิ่มเป็นคนละ 15,000 บาทต่อเดือน จำหน่ายสินค้าได้เยอะ คนรู้จักบ้านคำประมงในวงกว้าง โครงการนี้ทำให้กลุ่มเป็นที่รู้จักผ่านการออกสื่อต่าง ๆ ซึ่งมันทำให้เราเห็นว่า แม้เรามีความสามารถ แต่ถ้าไม่ถูกมองเห็นก็ไม่มีผล”

ครามสกลนครไม่มีวันตาย ส่งต่อเอกลักษณ์รุ่นสู่รุ่น

ขณะนี้กลุ่มผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมงมีสมาชิก 20 คน จากเริ่มแรกที่แทบไม่มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้ ตอนนี้แม่จินได้เชื่อมสายใยคนทุกเจเนอเรชันเข้าด้วยกันไว้อย่างดี เธอในวัย 46 ปีไม่ได้มีเพียงเพื่อนวัยเดียวกันเป็นสมาชิก เธอพาเด็กอายุ 21 ปีเข้ามาเป็นสมาชิกในกลุ่มได้ และยังพาเด็กประถมมาลองรับจ้างกวักฝ้ายดูงานของกลุ่ม มีผู้สูงอายุในกลุ่มที่อายุมากที่สุด 69 ปี แม้ว่าหญิงสาวทุกคนในที่นี้จะอายุต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือใจรักในการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวสกลนครไปแล้ว

พลังหญิงของกลุ่มผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ‘โครงการไทยเด็ด’ สร้างรายได้ สืบสาน ต่อยอด ภูมิปัญญา จ.สกลนคร
พลังหญิงของกลุ่มผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ‘โครงการไทยเด็ด’ สร้างรายได้ สืบสาน ต่อยอด ภูมิปัญญา จ.สกลนคร

“เราคิดว่าเราทำสำเร็จ เพราะลูกหลานบางคนไม่อยากไปทำงานในกรุงเทพฯ แต่เราทำให้เขาเห็นว่าอยู่บ้านเรา บ้านคำประมง ก็มีรายได้ได้เหมือนกันนะ หรือเด็ก ๆ ที่ไปทำงานกรุงเทพฯ วันไหนอยากลองกลับมาอยู่บ้านเกิด แต่คิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี เราก็ยินดีต้อนรับ ให้โอกาสเขาลองทำอยู่เสมอ

“การที่เด็กรุ่นใหม่เรียนรู้ภูมิปัญญาทอผ้าและย้อมคราม มันสำคัญนะ เขาได้อยู่กันพร้อมหน้ากับครอบครัวอย่างอบอุ่น ได้เรียนรู้ประเพณีที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ปู่ย่าตายาย อนาคตเขาก็อาจปรับการทอผ้า การย้อมผ้าให้เป็นในแบบฉบับของเขา ค้นพบแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ที่ทำให้ผ้าทอนั้นวัยรุ่นขึ้นได้ในยุคสมัยของเขา เหมือนที่เราทำให้ผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมงรุ่งเรืองขึ้นได้ในยุคสมัยของเรา”

แม่จินทิ้งท้ายคำตอบอย่างสง่างามและน่าชื่นชม

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งบทสัมภาษณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงานดีที่เธอตั้งใจมอบให้กับคนในชุมชนอย่างจริงใจ และเชื่อว่าเรื่องราวของเธอจะเป็นแรงบันดาลใจดี ๆ ให้กับผู้อ่านหลาย ๆ คนได้เช่นกัน

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น

Photographer

Avatar

จิราภรณ์ ล้อมหามงคล

ช่างภาพฟรีแลนซ์ตัวไม่เล็กจากแดนอีสาน ผู้ชื่นชอบในประวัติศาสตร์