21 ธันวาคม 2023
13 K

ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือเจ้าของกิจการ 

ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลก

หากคุณอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กร ทุกตำราบริหารบอกว่ามีอยู่ 2 ทางเลือก คือแบบ Top Down ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากนโยบายของผู้บริหาร และ Bottom Up คนทำงานหน้าด่านกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

จะเป็นแบบไหน ขึ้นอยู่กับว่าคน สังคม สิ่งแวดล้อมในองค์กรเป็นแบบใด มีความเชื่อแบบไหน 

น้อยครั้งที่องค์กรจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ด้านไปพร้อมกัน

หนึ่งในกรณีศึกษาคือ KBank หรือธนาคารกสิกรไทย สถาบันการเงินที่ตั้งใจว่าจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ 

พวกเขาเชื่อว่าเป้าหมายนี้จะเป็นจริงได้ ต้องเริ่มจากใส่ใจในรายละเอียดอย่างจริงจัง ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงพนักงานทุกภาคส่วน 

ลองจินตนาการถึงการทำงานของธนาคารในอดีต 

หากอยากได้เงินสด เราเดินไปที่ตู้ ATM ใช้บัตรเดบิตกดเงินออกมาใช้ ถ้าต้องฝากเงิน เคลียร์เช็ค หรือธุรกรรมอื่น ๆ ที่ซับซ้อน เราจะไปที่สาขาของธนาคาร ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องมีเอกสารยืนยันเป็นกระดาษ เพื่อความถูกต้องและใช้อ้างอิงเป็นลายลักษณ์อักษร 

ทั้งหมดนี้คือการทำงานของธนาคาร และถ้าหากจะทำให้ระบบนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็ต้องคิดรายละเอียดในการใช้งานทุกแง่มุม

KBank ประกาศตนว่าเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน หรือ Bank of Sustainability ตามมาด้วยการประกาศ Net Zero Commitment พร้อมแผนการทำงานที่เป็นระบบ โดยจะปรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์จากการดำเนินงานของธนาคาร (ขอบเขตที่ 1 และ 2 ภายในปี 2030 และวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อมุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายของประเทศไทย) 

สงสัยเหมือนเรามั้ยว่า ขอบเขตที่ 1 และ 2 คืออะไร

ขอบเขตที่ 1 หมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรโดยตรง (Direct Emissions) เช่น การใช้ยานพาหนะขององค์กร ขอบเขตที่ 2 คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) เช่น การใช้ไฟฟ้า 

การจัดการอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ ในมิติการใช้พลังงาน การใช้น้ำ รวมถึงการจัดการขยะอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในองค์กรจึงเป็นโจทย์สำคัญของ KBank ในการเปลี่ยนองค์กรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เหลือน้อยจนเป็นศูนย์ในที่สุด

เปลี่ยนองค์กรให้ยั่งยืนแบบ KBank ที่พนักงานทุกคน แม่บ้าน พนักงานขับรถ เป็นตัวแปรสำคัญ
เปลี่ยนองค์กรให้ยั่งยืนแบบ KBank ที่พนักงานทุกคน แม่บ้าน พนักงานขับรถ เป็นตัวแปรสำคัญ

ทั่วประเทศมีตู้ ATM ของธนาคารกสิกรไทย ทุกตู้ต้องมีเงินสด และเงินเหล่านั้นธนาคารต้องขนจากศูนย์เงินสดจากธนาคารแห่งประเทศไทยมาสู่ศูนย์เงินสดของธนาคาร ก่อนจะกระจายไปสาขาและ ATM ทั่วประเทศ ธนาคารจึงเป็นหน่วยงานที่พึ่งพาการขนส่งมากที่สุด ยังไม่นับเรื่องการทำเอกสารทางการเงินที่ต้องใช้กระดาษเป็นหลัก และกระดาษเหล่านั้น เมื่อใช้งานเสร็จก็หมดความหมาย กลายเป็นขยะกองโตที่องค์กรและลูกค้าต้องแบกรับ

ในปี 2022 KBank สร้างอาคารหนึ่งหลังชื่อว่า KLOUD by KBank ที่สยามสแควร์

อาคารหลังนี้คือวิสัยทัศน์ที่บอกว่า KBank จะจัดการเรื่องพลังงานในอาคารอย่างไร KLOUD ทำหน้าที่เป็นทั้ง Co-working Space และมีอาคารบางส่วนที่เป็นสาขาของธนาคาร ภายในเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่ได้มาตรฐานระดับสากลและใช้ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% โดยมีการติดโซลาร์เซลล์และซื้อพลังงานสะอาดผ่านกลไก Renewable Energy Certificate รวมทั้งบริหารงานแบบ Paperless ในทางหนึ่งก็แสดงให้คนเห็นว่า ธนาคารในอนาคตที่ยั่งยืนขึ้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

พรชัย ยงนพกุล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ผู้ดูแลสายงานการให้บริการลูกค้าและองค์กร มาพูดคุยกับ The Cloud ถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรของ KBank เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายที่วางไว้ 

เปลี่ยนองค์กรให้ยั่งยืนแบบ KBank ที่พนักงานทุกคน แม่บ้าน พนักงานขับรถ เป็นตัวแปรสำคัญ

“ในปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยได้ดำเนินการติดโซลาร์เซลล์กับอาคารสำนักงานใหญ่ทั่วประเทศไปแล้ว 7 แห่ง และเริ่มติดในอาคารสาขาของธนาคารที่มีลักษณะเอื้ออำนวยต่อการติดตั้งแล้ว 7 สาขา คาดว่าไม่เกิน 3 ปี ธนาคารทุกแห่งที่เป็นพื้นที่ของ KBank จะใช้พลังงานหมุนเวียนหรือ Renewable Energy ทั้งหมด และยังมีแผนงานในการเปลี่ยนอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง

“ในการขนส่ง KBank เปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ในองค์กรให้เป็นรถไฟฟ้า EV ตอนนี้ทำไปแล้ว 175 คัน และมีเป้าหมายจะเปลี่ยนรถ ‘ทั้งหมด’ ให้เป็นรถไฟฟ้า” แม้การเปลี่ยนรถของทั้งองค์กรนั้นไม่ง่ายเหมือนเปลี่ยนรถบ้าน แต่พวกเขาก็ตั้งเป้าจะทำให้ได้ภายในปี 2030 

เปลี่ยนองค์กรให้ยั่งยืนแบบ KBank ที่พนักงานทุกคน แม่บ้าน พนักงานขับรถ เป็นตัวแปรสำคัญ

ภาพจำของสาขาทุกธนาคาร คือต้องมีโต๊ะเล็ก ๆ พร้อมปากกาติดเชือกและกระดาษแบบฟอร์มสำหรับทำธุรกรรม ปัจจุบัน KBank ชวนให้ผู้ใช้บริการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS ให้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้มีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 21.4 ล้านราย เป็นส่วนหนึ่งของการปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

ธนาคารมีการพัฒนาการให้บริการต่าง ๆ ทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าทุกกลุ่มเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของธนาคารให้ได้มากที่สุดและสะดวกที่สุด นอกจากนี้การชวนให้ลูกค้าหันมาใช้บริการออนไลน์ยังมีส่วนช่วยปรับให้ธนาคารใช้กระดาษน้อยลง และยังมีส่วนทำให้ลูกค้าลดการปล่อยคาร์บอนลงด้วย เพราะไม่ต้องเดินทางมาที่ธนาคารหากไม่มีเรื่องจำเป็น 

เมื่อเจาะลึกในเชิงการปฏิบัติงาน KBank เริ่มสิ่งที่เรียกว่า ‘การจัดซื้อสีเขียว’ ออกมาตรการให้คู่ค้าทั้ง Vendor และ Supplier ปรับการทำงานให้เขียวขึ้น ใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิต ปรับรูปแบบการผลิตสินค้าในจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จำเป็น เช่น กระบวนการการพิมพ์และใส่ซองใช้พลังงานน้อยลง รวมถึงการออกแบบหน้า Statement ให้สิ้นเปลืองกระดาษน้อยลง 

เหล่านี้คือตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ KBank ทำเพื่อปรับองค์กร ทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานและวัสดุที่ใช้งานในธนาคารให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามที่ได้ประกาศ Net Zero Commitment ไว้

แต่ส่วนที่ท้าทายที่สุดคือเรื่องคน หัวใจสำคัญที่ถ้าทำไม่สำเร็จ ทั้งหมดที่เขียนมาก็แทบไม่มีความหมาย

ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานภายในธนาคาร หรือ Own Operation ให้ยั่งยืน พนักงานระดับปฏิบัติการที่อยู่หน้างานจริง ๆ จึงเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ต้องเข้ามามีบทบาทเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะต้องทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ต้องเรียนรู้ทักษะและการปรับพฤติกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้การเปลี่ยนการดำเนินงานภายในของธนาคารบรรลุผลได้จริง 

พรชัยเล่าให้ฟังว่าคน 3 กลุ่มพนักงานที่ KBank ให้ความสำคัญและหลายคนอาจคาดไม่ถึง คือพนักงานแม่บ้าน พนักงานขับรถ และทีมจัดการอาคารและสถานที่ ซึ่งล้วนเป็นจิ๊กซอว์ที่ช่วยเติมเต็มภาพแผนงานสู่ Net Zero ของธนาคารให้เกิดขึ้น

“ที่ธนาคารกสิกรไทย เราอยากให้พนักงานเรียนรู้ไปด้วยกัน และถ้าเราจะชวนพนักงานทั้งองค์กรให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเรื่องความยั่งยืน การเลือกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเขาให้มากที่สุดน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เมื่อเริ่มปรับเปลี่ยนในที่ทำงานก็อาจเป็นหนึ่งในความเคยชินที่หวังผลให้ทุกคนนำกลับไปใช้นอกองค์กร” 

การจัดการขยะคือหนึ่งในเรื่องที่ตอบโจทย์ 2 ข้อนี้ เพราะการสอนให้พนักงานแยกขยะ นอกจากองค์กรจะได้จัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมตามหลัก Zero Waste พนักงานยังได้ความรู้ว่า การนำขยะไปแยกควรแยกอย่างไร เพื่อทำให้วัสดุถูกนำไปรีไซเคิลได้มากที่สุด เกิดการใช้ซ้ำ ลดการผลิตใหม่ที่เป็นต้นทางของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยธนาคารมีการทำแคมเปญรณรงค์พนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจการแยกขยะและติดตั้งถังแยกขยะในอาคารหลักต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการลงมือทำจริงในองค์กร และในส่วนหน้างาน พนักงานแม่บ้านก็มีบทบาทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้

“เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าพนักงานแม่บ้านคือคนที่คลุกคลีกับขยะมากที่สุด นอกจากนี้ยังรู้พฤติกรรมของพนักงานในอาคารแต่ละชั้น รู้ว่าขยะประเภทไหนถูกทิ้งเยอะที่สุดในแต่ละพื้นที่ที่เขารับผิดชอบ เราจึงเล็งเห็นความสำคัญในจุดนี้และเริ่มพัฒนาศักยภาพของพนักงานแม่บ้านทุกคนในองค์กร โดยเริ่มจากการให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ การจัดเก็บข้อมูลของขยะในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาประมวลผล Waste Generation มีการปนเปื้อนในสัดส่วนต่อคนลดลงมั้ย และหาทางแก้ปัญหาร่วมกันกับทุกคนในพื้นที่นั้น ๆ ด้วยความตั้งใจอยากให้พนักงานแม่บ้านเป็นเสมือน Green Agent ที่คอยสอดส่องข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เกิดในองค์กรทั้งหมด ทั้งยังคอยช่วยฟีดแบ็กว่านโยบายจากส่วนกลาง เมื่อนำมาใช้แล้วได้ผลหรือไม่ ต้องปรับไปอย่างไรจึงจะเวิร์ก รวมถึงเป็นคนคอยช่วยแนะนำพนักงานทุกคนให้เข้าใจถึงกระบวนการแยกขยะที่ถูกต้อง”

เปลี่ยนองค์กรให้ยั่งยืนแบบ KBank ที่พนักงานทุกคน แม่บ้าน พนักงานขับรถ เป็นตัวแปรสำคัญ
เปลี่ยนองค์กรให้ยั่งยืนแบบ KBank ที่พนักงานทุกคน แม่บ้าน พนักงานขับรถ เป็นตัวแปรสำคัญ

พนักงานขับรถคือพนักงานคนสำคัญในภาคขนส่ง องค์กรจึงเน้นให้พนักงานเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเกี่ยวกับการใช้งาน การดูแลบำรุงรักษา และการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เพราะถ้าหากเปลี่ยนรถมาใช้ระบบ EV แต่พนักงานขับยังขับรถแบบเดิม จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่คาดหวัง 

“ในการจะนำรถออกแต่ละครั้ง จะมีการคำนวณระยะทางและเส้นทางล่วงหน้า เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละรุ่นระยะทางในการใช้งานไม่เท่ากัน เพื่อที่จะทำให้เราคำนวณได้ว่ากำลังไฟที่ต้องใช้งานมีเพียงพอหรือไม่ การรู้เส้นทางและวิธีขับรถจะช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงานลงได้มาก” 

เปลี่ยนองค์กรให้ยั่งยืนแบบ KBank ที่พนักงานทุกคน แม่บ้าน พนักงานขับรถ เป็นตัวแปรสำคัญ
เปลี่ยนองค์กรให้ยั่งยืนแบบ KBank ที่พนักงานทุกคน แม่บ้าน พนักงานขับรถ เป็นตัวแปรสำคัญ

ในส่วนของทีมจัดการอาคารและสถานที่ เนื่องจาก KBank มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงานที่ทันสมัย เพื่อให้ได้การรับรองในระดับนานาชาติ กระบวนการทำงานที่ต้องเปลี่ยนตาม หรือทักษะใหม่ที่ต้องใช้ เหล่านี้คือจุดประสงค์สำคัญในการดูแลอุปกรณ์ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ต้องใช้พนักงานเป็นผู้ปฏิบัติงาน ทำให้มีการสอนงานและการเทรนนิ่งเพิ่ม ต่อยอดให้เกิดทักษะใหม่ที่จะใช้ในการทำงาน การจัดการอาคาร และจะเป็นทักษะที่ติดตัวพนักงานในการบริหารการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

สุดท้าย ธนาคารยังมีการปรับกระบวนการทำงานและมีสวัสดิการที่ช่วยสนับสนุนให้พนักงานเข้าถึง Green Lifestyle ได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น ปรับให้พนักงานออกแบบชีวิตการทำงานได้อย่างลงตัวทั้งเวลา สถานที่ ยืดหยุ่นตามลักษณะงาน แต่ยังรักษาภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพ รวมถึงมีการให้สินเชื่อพิเศษด้วยดอกเบี้ยต่ำสำหรับพนักงานที่อยากเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า ติดโซลาร์เซลล์ เพื่อการปรับชีวิตให้ยั่งยืนทำได้ง่ายขึ้น

เปลี่ยนองค์กรให้ยั่งยืนแบบ KBank ที่พนักงานทุกคน แม่บ้าน พนักงานขับรถ เป็นตัวแปรสำคัญ
เปลี่ยนองค์กรให้ยั่งยืนแบบ KBank ที่พนักงานทุกคน แม่บ้าน พนักงานขับรถ เป็นตัวแปรสำคัญ

ในระยะข้างหน้าต่อจากนี้ องค์กรต่าง ๆ มีแผนการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้น เช่นเดียวกับที่ KBank ซึ่งนอกจากจะเริ่มปรับเปลี่ยนจากภายในองค์กรแล้ว จะมีการทำงานในมิติอื่น ๆ ควบคู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งบริการทางการเงินและโซลูชันที่มากกว่า เพื่อพาทุกคนเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนและคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

ที่น่าสนใจคือในการเปลี่ยนแปลงตัวเองของธนาคารกสิกรไทยไม่มีการทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะความยั่งยืนเริ่มต้นตั้งแต่แนวคิดที่คำนึงทุกรายละเอียด แม้จะมีกระบวนการทำงานที่ต้องเปลี่ยนหรือทักษะใหม่ที่ต้องใช้ พนักงานผู้ปฏิบัติงานก็ได้เรียนรู้หลักการทำงานวิถีใหม่อย่างมีมาตรฐาน ได้รับการเทรนนิ่งเพิ่ม ต่อยอดให้เกิดทักษะใหม่ที่จะใช้ในการทำงานและจะเป็นทักษะที่ติดตัวพนักงานเหล่านี้ต่อไป

ในความเป็นธนาคารซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ สิ่งที่ทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในเหล่านี้อาจดูเป็นส่วนเล็ก ๆ หากแต่การทำงานเรื่องนี้มีรายละเอียดอยู่ในทุกจุด และเป็นเครื่องยืนยันว่าธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และลงมือทำจริง โดยมุ่งหวังที่จะเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

การปรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์จากการดำเนินงานของธนาคาร (ขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2) นั้น ถึงแม้จะมีสัดส่วนในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของธนาคารได้ไม่มากเมื่อเทียบกับขอบเขตที่ 3 ที่เป็นพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อของธนาคาร ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีสัดส่วนน้อย แต่มีความสำคัญมาก เพราะที่ธนาคารกสิกรไทยเราเชื่อว่าพลังที่จะขับเคลื่อนความยั่งยืนนั้นอยู่ในมือของทุกคน เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย สิ่งที่ KBank ทำเป็นการเริ่มต้นเปลี่ยนที่ตัวเองในทุกมิติ รวมทั้งให้ความสำคัญกับพนักงานทุกกลุ่ม สร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจ การนำไปปฏิบัติ จนเกิดขึ้นเป็น Employee Engagement และหวังที่จะให้สิ่งเหล่านี้ขยายผลในวงกว้างหรือเป็นตัวอย่างพร้อมกับสนับสนุนให้ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตร องค์กรภาครัฐ และเอกชน ของธนาคารตลอดจนสังคมเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อน Thailand ESG Agenda ไปด้วยกัน

หากคุณอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กร ทุกตำราบริหารบอกว่ามีอยู่ 2 ทางเลือก ซึ่งต่างจำเป็นกับองค์กรทั้งคู่ 

ทางที่ KBank เลือกสะท้อนความมุ่งมั่นที่ต้องการให้สังคมได้ประโยชน์ ประเทศได้ประโยชน์ โลกได้ประโยชน์ และประโยชน์เหล่านั้นจะสะท้อนกลับมาที่เราทุกคนในระยะยาว เพื่อไปสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืนไปด้วยกัน

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง