ย้อนกลับไปในยุคที่สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์กำลังเป็นกิจการที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู เป็นกำลังสำคัญของภาคเศรษฐกิจของประเทศ ในภาวะที่โลกขับเคลื่อนด้วยทุนเสรีนิยม 

กลุ่มธุรกิจธนาคารและการเงินนับว่าเติบโตอย่างมาก ใน พ.ศ. 2504 ทรัพย์สินทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ คือ 5,000 ล้านบาท และต่อมาในช่วงปลายทศวรรษ 2510 จึงจัดตั้ง ‘สมาคมธนาคารไทย’ ประกอบไปด้วยธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง และขยายสาขาต่าง ๆ ไปทั่วประเทศ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

เมื่อเกิดการก่อสร้างธนาคารพาณิชย์สาขาต่าง ๆ ตามต่างจังหวัดอย่างรวดเร็ว ต้องยอมรับว่าธนาคารรายหนึ่งที่ก่อสร้างตัวอาคารได้โดดเด่น มีเอกลักษณ์เป็นที่จดจำได้ง่าย คือ ‘ธนาคารกสิกรไทย

ยุคทองของการขยายสาขา

คุณบัญชา ล่ำซำ หัวเรือใหญ่ของธนาคารกสิกรไทยในขณะนั้น นับเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 3 ถัดจาก คุณจุลินทร์ ล่ำซำ ผู้เป็นบิดา และ คุณเกษม ล่ำซำ ผู้เป็นอา (กรรมการผู้จัดการรุ่นที่ 2) ซึ่งเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกจนถึงแก่มรณกรรม คุณบัญชาจึงต้องเข้ามารับช่วงดูแลการบริหารกิจการต่อใน พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา

ขณะนั้นธนาคารกสิกรไทยเริ่มมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักดีว่ามีฐานะมั่นคงและมีรูปแบบการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐาน นับตั้งแต่ยุคสมัยของคุณเกษม นายธนาคารอาวุโสที่ได้รับความไว้วางใจให้ร่วมก่อตั้งและเป็นประธานสมาคมธนาคารไทยคนแรก และมีส่วนผลักดันอยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

แผนการขยายเครือข่ายสาขานี้เริ่มมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2508 โดยคุณบัญชาเป็นผู้ตัดสินใจเลือกทำเลและการออกแบบก่อสร้างอาคารสำนักงานสาขาเองทั้งหมด นโยบายการเปิดสาขาที่สำคัญประการหนึ่ง คือการออกแบบที่ทำการสาขาให้เป็นอาคารที่มีความสง่างาม สะอาดตา เป็นเอกลักษณ์เดียวกัน เพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจจนเป็นที่จดจำได้ 

การมุ่งขยายสาขานับตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ในบางปีธนาคารกสิกรไทยเปิดถึง 26 สาขา จนกระทั่งใน พ.ศ. 2519 ก็ก้าวขึ้นเป็นธนาคารที่มีจำนวนสาขามากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ 

แนวคิดการออกแบบที่ทำการสาขาต่าง ๆ

ผลต่อเนื่องจากแนวคิดการสร้างเอกลักษณ์ให้ที่ทำการสาขาต่าง ๆ คุณบัญชาจึงมอบหมายให้สถาปนิกหัวก้าวหน้าอย่าง รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เป็นผู้ออกแบบธนาคารสาขาต่าง ๆ 

ครั้งหนึ่งที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกที่ออกแบบธนาคารกสิกรไทยสาขาต่าง ๆ ไว้มากที่สุดเคยบรรยายให้ฟังว่า เริ่มออกแบบโดยใช้ไอเดียจากคำว่า ‘กสิกรรม’ ตามชื่อของธนาคาร จนได้รูปแบบของรวงข้าว อันเป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายถึงเกษตรกรไทยได้ดีที่สุด จากนั้นจึงพัฒนามาเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะในการออกแบบ Facade หรือรูปด้านหน้าให้อยู่ในรูปทรง (Form) ของรวงข้าว ส่วนใหญ่สร้างจากวัสดุที่เรียกว่าคอนกรีตเปลือกบาง (Thin Shell Concrete) เพื่อให้เกิดเส้นสายที่อ่อนช้อย โค้งไปตามจินตนาการได้ คิดลูกเล่นได้แตกต่างกัน ไม่ซ้ำกันในแต่ละสาขา 

เราอาจเคยเห็นรวงข้าวทั้งรูปแบบกลม เหลี่ยม หรือแม้กระทั่งแบบโค้งอื่น ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นดีไซน์คุณรังสรรค์ท่านเดียวกันทั้งหมดหรือไม่ เพราะข้อมูลจากหนังสือบางเล่มอย่าง เส้นทางสถาปนิกสยาม ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ระบุว่าบางสาขาเป็นผลงานของการออกแบบของ พ.อ.จิระ ศิลป์กนก หรือ สละ ทรรภดิษ ซึ่งแสดงให้เห็นลายเซ็นการออกแบบที่แตกต่างกัน

สถาปัตยกรรมธนาคารกสิกรไทยกลายเป็นหนึ่งในอาคารที่ Foto_momo ถ่ายภาพเก็บไว้เยอะที่สุด เพราะเอกลักษณ์สะดุดตา ยิ่งเมื่อมีแสงเงามาตกกระทบ สร้างมิติให้มีเสน่ห์ยิ่งขึ้น และกลายเป็นอาคารที่คนมักจดจำว่าเป็นตึกเก๋ ๆ แปลก ๆ 

อย่างไรก็ดี ธนาคารเหล่านี้บางสาขาอาจปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานไปแล้ว จากธนาคาร Stand-alone กลายเป็นร้านค้า ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งถูกปล่อยทิ้งร้างเพื่อรอเจ้าของใหม่

แต่สิ่งที่ยังคงเหลือไว้ คือร่องรอยที่ทำให้เห็นพัฒนาการของเศรษฐกิจและความเจริญของเมือง เกิดการขยายตัวของย่านการค้าควบคู่ไปกับการขยายตัวของเมือง แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของนายธนาคารร่วมกับฝีมือการออกแบบของสถาปนิก นำความล้ำสมัยของเทคโนโลยีการก่อสร้างในยุคนั้น เป็นอาคารที่คงเอกลักษณ์ของยุคสมัยของความโมเดิร์นได้ดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง

แล้วสถาปัตยกรรมธนาคารรอบ ๆ ชุมชนของคุณมีหน้าตาอย่างไรกันบ้าง

Writer & Photographer

Avatar

วีระพล สิงห์น้อย

ช่างภาพสถาปัตยกรรม และเจ้าของเพจภาพถ่ายอาคารเปี่ยมเสน่ห์ชื่อ FOTO_MOMO