“เฟอร์นิเจอร์คนไทยแบรนด์นี้เคยตกแต่งห้องให้บุคคลสำคัญระดับโลกและผู้นำประเทศเลยนะ”
นี่คือประโยคแรกที่ทำให้เรารู้จักแบรนด์ที่กำลังจะเล่าให้คุณฟังในบทความนี้
‘แบรนด์ไทยไปไกลถึงเมืองนอก’ อาจไม่ใช่เรื่องประหลาดที่เราได้ยินคำพูดนี้ในยุคนี้
แต่ ‘แบรนด์ไทยที่ได้รับความไว้วางใจให้รับใช้บุคคลระดับ VVIP ของโลก…’ เรื่องนี้ทำให้เราถึงกับต้องอ่านข้อความซ้ำ การที่แบรนด์หนึ่งไปไกลถึงต่างประเทศก็เป็นเรื่องยากแล้ว แต่การได้รับความไว้วางใจให้รับใช้บุคคลระดับท็อปของโลก ถ้าไม่ใช่เรื่องที่ยากกว่า ก็คงเป็นเรื่องที่ยากที่สุดแล้วกระมัง และแบรนด์นั้นคือ ‘กนกเฟอร์นิเจอร์ (Kanok Furniture and Decoration)’
ตลอดระยะเวลากว่า 52 ปีที่ผ่านมา กนกเฟอร์นิเจอร์ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการตกแต่งภายในของสถานที่ต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์ชื่อดังทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศ คอนโด ไปจนถึงเครือโรงแรมหรูอย่าง Mandarin Oriental, Banyan Tree, Shangri-La, Four Seasons ฯลฯ

ถึงตรงนี้ บางคนอาจสงสัยว่าธุรกิจอายุค่อนศตวรรษแบบนี้ โดยส่วนใหญ่ผู้ก่อตั้งก็มักเกษียณและส่งไม้ต่อให้ทายาทธุรกิจบริหารไปตั้งนานแล้ว การที่จะได้พบกับผู้ก่อตั้งที่ยังคงบริหารอยู่นั้นคงเป็นเรื่องยากยิ่ง แต่ทำไมบทความนี้จึงมาอยู่ในคอลัมน์ The Entrepreneur ไม่ใช่คอลัมน์ ทายาทรุ่นสอง
คุณผู้อ่านไม่ได้กำลังอ่านผิดคอลัมน์หรอกครับ นั่นก็เพราะว่าผู้ก่อตั้ง กนกเฟอร์นิเจอร์ นั้น ยังคงทำงานเองอยู่ในทุก ๆ วัน และบริหารธุรกิจนี้เองกับมือเคียงคู่ไปพร้อม ๆ กับทายาทของเขา
วันนี้ The Cloud มีนัดหมายพิเศษกับ แดง-ไพรัช เลิศกังวาลไกล ผู้ก่อตั้ง บริษัท กนกเฟอร์นิเจอร์ แอนด์ เดคคอเรชั่น จำกัด ผู้ประกอบการรุ่นเก๋า แม้ปีนี้อายุ 81 ปี แต่ยังคงพาเราเดินทัวร์โรงงานพร้อมอธิบายเทรนด์ล่าสุดและวิธีการต่าง ๆ ในนั้นได้อย่างคล่องแคล่วเสมือนวัยรุ่นคนหนึ่ง
ขอเชิญผู้อ่านทุกท่านไปท่องยุทธจักรผ่านประสบการณ์ชีวิตกว่า 80 ปีของจอมยุทธ์รุ่นเก๋ากันเลย

กำเนิดจอมยุทธ์
“เด็ก ๆ ผมเกิดมาก็โชคดีประเดี๋ยวเดียว”
คุณไพรัชเล่าย้อนกลับไปถึงความทรงจำในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจบลง
ในยุคนั้น หลังจากล่องเรือเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน คุณพ่อของคุณไพรัชก็มาเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่ทว่า “หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดไฟไหม้ สมัยนั้นไม่มีประกันเลยหมดตัว หลังจากนั้นจึงลงมากรุงเทพฯ แต่อยู่ได้ไม่นานเตี่ยก็เสียไป สมัยนั้นผมอายุไม่กี่ขวบ”
ก่อนสิ้นลม คุณพ่อของคุณไพรัชจึงฝากฝังเขาไว้กับพี่น้องร่วมสาบานคนหนึ่งที่มาจากเมืองจีนด้วยกัน “คุณอาเป็นคนดีและซื่อสัตย์มาก ส่วนคุณแม่ก็สอนให้มีวินัยและขยัน นี่คือทุนของผมที่ซึมซับมา”
ด้วยความซื่อสัตย์ของคุณอา ทำให้ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ย่านเวิ้งนครเกษมที่เขาเปิดขึ้นมา มีลูกค้าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ตบเท้าเข้ามาไม่ขาดสาย
ในด้านของสินค้า ก็ได้ช่างที่เป็นยอดฝีมือหลายคนส่งเฟอร์นิเจอร์มาขายที่นี่
“คุณอาท่านเป็นคนเลี้ยงผม ให้ผมเรียนหนังสือ แต่ผมไม่ชอบ ผมชอบเป็นช่าง”

ฝากตัวเข้าสำนัก
การเรียนรู้เรื่องงานฝีมือในยุคนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสำหรับช่างที่เป็นยอดฝีมือแล้ว การจะเข้าไปเรียนรู้จากเขาเหล่านั้นได้ เรียกว่าแทบต้องเอาหัวหมูไปไหว้เพื่อขอเป็นลูกศิษย์กันเลยทีเดียว
ทว่าด้วยความโชคดีที่ได้คุณอาเลี้ยงดู ทำให้คุณไพรัชค้นพบความชอบของตนเองในวัยเพียง 10 กว่าขวบ และได้รับการฝากฝังให้เข้าไปเรียนรู้งานช่างกับช่างเฟอร์นิเจอร์เก่ง ๆ หลายคน
“ทุกวันนี้มีแต่คนทำงานช่าง แต่ไม่มีคนเป็นช่าง คนทำงานช่าง สั่งอย่างทำอย่าง เพียงเพื่อหาเงินไปวัน ๆ แต่คนที่เป็นช่าง เขาจะรอบรู้ว่าอะไรควร ไม่ควร โลกเจริญได้ทุกวันนี้ก็เพราะช่าง
“ความสวยงาม บ้าน อาวุธยุทโธปกรณ์ รถยนต์ ก็เพราะช่างสร้างขึ้นมา”

เมื่อเวลาผ่านไปจนคุณไพรัชอายุครบ 16 ปี การเติบโตมากับถนนเยาวราชซึ่งเป็นย่านทำมาค้าขายในยุคนั้น ทำให้เด็กหนุ่มตัดสินใจปักธงความฝันสุดยิ่งใหญ่ว่า เขาจะต้องเป็นเจ้าสัวให้ได้!
“ความลำบากเป็นเพียงทางผ่าน แต่ไม่ใช่เส้นทางชีวิต” เขาทวนบทเรียนจากอดีต
“หลังจากไฟไหม้บ้าน ผมต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก แต่ผมไม่ยึดติดกับมัน คิดแค่ว่าผมต้องไปข้างหน้า แต่ก่อนจะเดินไปข้างหน้า ผมต้องมีการเตรียมตัว” ถ้าหากรู้เพียงด้านในด้านหนึ่ง การต่อยอดให้ก้าวไกลจนถึงขั้นเป็นเจ้าสัวได้คงเป็นเรื่องยาก เขาจึงตัดสินใจว่าจะต้องรู้ให้รอบด้านมากขึ้น
“ทุกวันนี้เขาเรียนแยกกันนะ เรียนออกแบบก็รู้เฉพาะออกแบบ เรียนช่างก็รู้เฉพาะช่าง สมัยผม อะไรที่เกี่ยวกับช่าง ผมตั้งใจเรียนรู้ให้หมด ช่วงกลางวันผมเรียนทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างสี ส่วนกลางคืน ผมก็ไปช่วยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรเขียนแบบ” เด็กหนุ่มทุ่มสุดตัว
ในวัยไม่ถึง 20 ปี การเรียนรู้อย่างลึกในงานช่างหลายแขนง จนถึงการออกแบบและเขียนแบบ นับว่าเป็นทุนสำคัญที่ทำให้เขาได้ฝึกฝนฝีมือและเรียนรู้จากการทำงานจริง แม้ไม่ได้ไปเรียนมหาวิทยาลัยด้านนี้โดยตรง แต่ก็มีคุณอาอยู่เบื้องหลัง ฝากฝังเข้าสำนักต่าง ๆ
กำเงินพันบาทในวันนั้น เปิดโรงงานพันล้านในวันนี้
หลังจากฝึกฝนลับคมฝีมือมาเกือบสิบปี คุณไพรัชในวัย 25 จึงตัดสินใจเริ่มเช่าพื้นที่เพื่อเปิดโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ของตัวเองขึ้น แน่นอน เป็นโรงงานแรกในชีวิต ด้วยเงินทุนตั้งต้น 1,000 บาท
“ผมมีเงินติดตัวอยู่แค่นั้น แต่ผมมีทุนที่มองไม่เห็นอยู่เบื้องหลัง เป็นทรัพย์สินที่ทรงพลังมาก”
ทุนที่มองไม่เห็นที่เก็บสะสมไว้ไม่ใช่เพียงความรู้ แต่คือความไว้เนื้อเชื่อใจนับ 10 ปีก่อนหน้านี้ที่เขาสร้างขึ้นมาด้วยความซื่อสัตย์และความนอบน้อม ทำให้เมื่อ กนกเฟอร์นิเจอร์ ประสบปัญหาอย่างการโดนไล่ที่จนต้องย้ายโรงงาน ก็มีกัลยาณมิตรยื่นมือเข้ามาช่วยเสมอ
“ชื่อของ กนก มีความหมายอยู่ 2 อย่าง หนึ่ง คือลวดลายไทย สอง คือทอง และ กนก ยังเป็นคำที่อยู่ในหน้า 1 ของสมุดหน้าเหลืองด้วย เพราะมันเป็นคำไทยที่ไม่มีสระ” ผู้ก่อตั้งเล่า

ด้วยวัฒนธรรมของประเทศไทยในยุคนั้น การใช้เฟอร์นิเจอร์ยังไม่แพร่หลายนักในหมู่คนทั่วไป ตลาดส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับโปรเจกต์จากภาครัฐ โดย กนกเฟอร์นิเจอร์ ทำหน้าที่รับเหมา ออกแบบ และผลิตเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในให้โครงการจากรัฐเหล่านั้น ทว่าเรื่องก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
“ในงานราชการแต่ละส่วนมักมีคนยึดครองไว้หมดแล้ว แต่เผอิญว่าตอนนั้นรัฐบาลกำลังจะสร้างวิทยาลัยครูทั่วประเทศเพื่อเปิดสอนคน แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปเอาครุภัณฑ์ในที่ต่าง ๆ เพราะว่าอยู่ในแดนของผู้ก่อการร้าย แต่ผมกลับมองว่านั่นเป็นโอกาส”
คุณไพรัชจึงตัดสินใจขับรถขึ้นเหนือลงใต้เพื่อรับงานเหล่านั้น
ความกล้าในการทำสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ ทำให้บริษัทเริ่มมีรายได้และกำไรพอจะตั้งตัวได้


จอมยุทธ์ผู้ซื่อสัตย์
ความกล้าของคุณไพรัชทำให้ธุรกิจตั้งตัวได้ แต่สิ่งที่ทำให้ กนกเฟอร์นิเจอร์ เติบโต คือความซื่อสัตย์ในคุณภาพ
“กนกโตมาด้วยความซื่อสัตย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ผมต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ถึงแม้สัญญาบอกว่ามีอยู่เท่านี้ แต่ผมไม่จบแค่นี้ ถ้าผมทำให้ดีกว่าได้ ผมต้องทำให้ดีกว่า” เขายื่นคำมั่น
เมื่อยึดความซื่อสัตย์ หากมีอะไรที่ทำให้ดีกว่าเดิมได้ คุณไพรัชจะแย้งทันที
อย่างโปรเจกต์ China World Hotel ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นโรงแรมหรูภายใต้เครือ Shangri-La ซึ่งดีที่สุดในจีน ณ เวลานั้น เมื่อฤดูหนาว อากาศจะแห้งมาก เมื่อความชื้นหายไป ไม้สำหรับตกแต่งอาคารก็แตกและหดตัว นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของการแย้งที่ทำให้งานมีคุณภาพดียิ่งขึ้น

“ตอนนั้นดีไซเนอร์เมืองนอกเขียนแบบมาเป็นไม้ใหญ่ ๆ ทั้งท่อน ผมบอกเลยว่าไม่ได้ ต้องแบ่งไม้เป็นท่อนย่อย ๆ ไม้ถึงจะไม่ขยายตัวพร้อมกันและไม่แตก นั่นทำให้บัวคิ้วของโรงแรมไม่แตกเลย”
มากไปกว่านั้น เมื่องานที่ทำให้กับโรงแรม China World Hotel ประสบความสำเร็จ กนกเฟอร์นิเจอร์ จึงได้ต่อยอดไปทำงานต่อที่มณฑลซานตง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญที่สร้างชื่อให้ธุรกิจอย่างมาก
“ผมต้องทำให้มันยืนยงคงอยู่ ไม่ใช่ทำเพื่อเงิน หรือไปโกงเขาโดยการลดสเป็กหรือลัดขั้นตอน”

นอกจากคุณไพรัชช่วยให้คำแนะนำเพื่อให้ได้งานที่ดีขึ้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือความซื่อสัตย์ต่อคุณภาพ อย่างการสั่งผลิตตู้ 1 ใบ ถ้าหากช่างไม่ทำไส้ใส่ในแผ่นไม้ ต้นทุนก็จะลดลง แถมลูกค้าก็ไม่รู้ว่าช่างไม่ใส่ไส้ เพราะไม่เห็นข้างใน แต่เหตุการณ์เช่นนั้นคือสิ่งที่ กนกเฟอร์นิเจอร์ ไม่มีวันทำเด็ดขาด
ท้ายที่สุด คุณภาพของสินค้าก็จะถูกเผยออกมาผ่านความคงทน และความซื่อสัตย์ต่อคุณภาพของกนกเฟอร์นิเจอร์นี่เองที่เป็นเหตุผลที่ทำให้โรงแรม Grand Hyatt Erawan ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ของกนกเฟอร์นิเจอร์ แทบไม่ต้องรื้อโครงสร้างมาปรับปรุงเลยตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา

จอมยุทธ์เผยตัว
ที่ผ่านมากว่า 50 ปี คือช่วงเวลาที่ กนกเฟอร์นิเจอร์ อยู่หลังม่านในการตกแต่งภายในด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณภาพให้กับลูกค้ามานับไม่ถ้วน แต่หลังจากนี้ พวกเขาจะก้าวออกมาหน้าม่าน เพื่อให้คนที่มีบ้านและต้องการสินค้าคุณภาพ ได้มีโอกาสใช้ผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านที่ดีด้วยเช่นกัน
ก้าวต่อไปของธุรกิจนี้คือการเปิดโชว์รูม เพื่อให้คนที่มีบ้านและอยากได้ของดีมีโอกาสสัมผัสกับเฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง โดยคุณไพรัชรับหน้าที่ออกแบบโชว์รูมแห่งนี้เองทั้งหมด ตั้งแต่การตกแต่งภายนอกและภายใน จนถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้
“ผมเห็นใจคนมีบ้าน เพราะเขาไม่รู้จะหาซื้อของดีที่ไหน ผมจะเป็นคนแรกที่ทำมันขึ้นมา คุณไปโชว์รูมทั่วไป เขาก็จะขายแต่ของสวย ๆ แต่ของที่คุณใช้จริง ๆ กลับไม่มี” เขารู้ Pain Point ของลูกค้าเป็นอย่างดี

โชว์รูมแห่งนี้จะจำลองมุมต่าง ๆ ภายในบ้านขึ้นมา ทำให้คนที่เข้ามาไม่ใช่แค่ได้เห็นเฟอร์นิเจอร์ แต่จะได้เห็นมุมที่เขาจะใช้ชีวิตจริง ๆ โดยมีการออกแบบไว้รองรับตั้งแต่คนหนุ่มสาวไปจนถึงผู้สูงอายุ
“คนซื้อวันนี้เขาอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ผมเป็นคนขาย ผมจะอธิบายและทำห้อง ทำมุมต่าง ๆ จริง ๆ ขึ้นมาเพื่อให้เขาเห็น เป็นบ้านเสมือนจริง มีตั้งแต่ตู้รองเท้า ชั้นวางของ ตู้โชว์ ครบหมด และผมก็จะแนะนำด้วยว่า คนแต่ละช่วงอายุควรใช้เฟอร์นิเจอร์แบบไหนให้เหมาะสมกับของช่วงวัยของเขา
“ที่ กนกเฟอร์นิเจอร์ ผมไม่ได้ขายแค่เฟอร์นิเจอร์ แต่ผมคือผู้รับใช้คนมีบ้าน”
นี่คือคำสัญญาของจอมยุทธ์รุ่นเก๋าวัย 81 ที่ยังดำเนินธุรกิจด้วยตนเองมาตลอด 52 ปี
