ลองจินตนาการว่าจะน่าสนุกแค่ไหน หากโจทย์งานกลุ่มของนักศึกษาที่เรียนเรื่องสัตว์มีกระดูกสันหลัง คือการนำความรู้มาถ่ายทอดเป็นงานกราฟฟิตี้บนกำแพงห้องแล็บหรือกำแพงตึก
จะน่าสนใจขนาดไหน หากวิชาที่ต้องเก็บข้อมูลภาคสนามกลางป่า แล้วการส่งงานคือการนำข้อมูลมานำเสนอในรูปแบบหนังสือทำมือ หรือการบ้านวิชานิเวศวิทยาคือการไปอ่านเปเปอร์วิจัย แล้วย่อยข้อมูลออกมาเป็นโปสเตอร์ที่คนทั่วไปอ่านเข้าใจได้
จะน่าภูมิใจแค่ไหน ถ้านักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ก็มีผลงานศิลปะจัดแสดงเป็นนิทรรศการกับเขาด้วย โดยเป็นผลงานในวิชา ‘การวาดภาพทางชีววิทยา’ ซึ่งจะจัดแสดงในงานรับปริญญาแต่ละปีด้วยธีมต่างกัน เช่น ธีม ‘เลื้อย’ ที่อาจเป็นไม้เลื้อย งูเลื้อย หรือธีม ‘นามพิลึก พฤกษ์หรือสัตว์’ ที่เกี่ยวกับพืชที่ชื่อเหมือนสัตว์หรือสัตว์ที่ชื่อเหมือนพืช หรือธีม ‘ขาล’ ที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่มีคำว่าเสืออยู่ในชื่อ เช่น ปลาเสือ นกอีเสือ ดอกพญาเสือโคร่ง ฯลฯ
นี่คือบางส่วนของวิชาที่ออกแบบการสอนโดย อาจารย์ก้อง-ดร.กัมปนาท ธาราภูมิ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ไม่เพียงแต่สอดแทรกศิลปะให้นักศึกษาภาคชีววิทยาเท่านั้น แต่เขายังนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติไปสู่นักศึกษาคณะอื่นเช่นกัน โดยที่พวกเขาไม่ต้องมาท่องชื่อไฟลัมยาก ๆ หรือจำชื่อวิทยาศาสตร์ยาว ๆ แต่พวกเขาจะได้เข้าใจและมองเห็นความงดงามของสรรพชีวิต ในวิชา ‘Nature Appreciation’ ที่ได้เสียงตอบรับอย่างดีจนมีนักศึกษาลงเรียนนับ 400 คน นอกจากนั้นยังมีวิชา ‘รักษ์นก’ ที่ไม่เพียงสอนการดูนก แต่ยังชวนให้นักศึกษาเข้าใจถึงวิถีชีวิตและความสำคัญของพวกมัน
“ผมมองว่าทุกวันนี้คนยังไม่ค่อยเข้าใจธรรมชาติเท่าที่ควร ผมอยากให้เรื่องราวธรรมชาติเข้าถึงคนมากขึ้น เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจมัน เพื่อรักมัน อย่างเช่นนักศึกษาวิศวฯ ที่อนาคตอาจไปทำงานโรงงาน ถ้าเขาเข้าใจธรรมชาติ ไม่ต้องใช้กฎหมายบังคับ เขาก็จะหลีกเลี่ยงการทำอะไรที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
เบื้องหลังไอเดียสุดสร้างสรรค์ที่ทำให้ความรู้วิทยาศาสตร์กลายมาเป็นความรู้ที่เปี่ยมสีสันคืออะไร และปัจจัยอะไรคือสิ่งที่ทำให้ใครสักคนหนึ่งหันมารักธรรมชาติได้ เราไปฟังอาจารย์เล่ากันเลย
Nature of Awe : เปิดประตูสู่โลกมหัศจรรย์
ย้อนกลับไปในยุค 80 – 90 ก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะแพร่หลาย และรายการโทรทัศน์ยังมีเพียงฟรีทีวีให้เลือกดูแค่ไม่กี่ช่อง รายการส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่ที่ทอล์กโชว์ เกมโชว์ ข่าว และละครน้ำเน่า
แต่ในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่ชั่วโมงบนผังรายการที่มีสารคดีธรรมชาติออกฉาย ครอบครัวเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่งก็จะมานั่งพร้อมกันที่หน้าจอ และรายการที่ไม่ค่อยฮอตฮิตนั้น หล่อหลอมให้เด็กชายคนหนึ่งเริ่มสนใจธรรมชาติ และเติบโตมาเป็นอาจารย์ผู้ส่งต่อความสนใจนี้สู่ลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า
“ที่บ้านของผม ทั้งพ่อ แม่ ผม น้องชาย ชอบดูสารคดีธรรมชาติกันมาก เวลาที่รายการสารคดีธรรมชาติมาเมื่อไหร่ ไม่ต้องเถียงกันเรื่องเปลี่ยนช่องเลย ทุกคนจะดูช่องนั้นแหละ”
แม้อาจารย์ก้องจะเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ ไม่มีป่าเขาลำเนาไพรรอบบ้านให้วิ่งเล่น แต่ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่เขาได้เห็นผ่านหน้าจอก็สร้างความประทับใจจนถึงขนาดว่า ในช่วงเปิดเทอมที่กลับบ้านมาดูไม่ทัน ต้องขอให้คนที่บ้านอัดไว้ให้ เพราะไม่อยากพลาดแม้แต่ตอนเดียว
“ถ้าให้เลือกระหว่างการ์ตูนกับสารคดี ผมเลือกสารคดีนะ เราได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ ได้เห็นว่าเขาทำอะไรอย่างนี้ได้ด้วยเหรอ มันเป็นแบบนี้เองเหรอ จากความสงสัยสารคดีก็ช่วยอธิบาย”
นับจากนั้นมา เขาก็เป็นแฟนสารคดีชีวิตสัตว์โลกตัวยง โดยนอกจากทางฟรีทีวีแล้ว อีกช่องทางหนึ่งในยุคต่อมาคือร้านวิดีโอให้เช่าและร้านวีซีดี ซึ่งเขาก็ได้รู้จักสารดคีจาก BBC ในช่วงนั้น

“ช่วงที่ได้ดูเยอะ ๆ คือช่วงที่ไปต่อปริญญาเอกที่สกอตแลนด์ ตอนนั้นสารคดี Planet Earth ซีซันแรกออกมา แล้วก็มี The Life of Mammals ออกอากาศช่วงวันอาทิตย์ตอนค่ำ ซึ่งถือเป็นช่วงไพรม์ไทม์ของเขาเลย เวลานั้นผมต้องรีบทำทุกอย่างให้เสร็จแล้วกลับบ้านเพื่อรอดู คุณตาเดวิด”
คุณตาเดวิดที่อาจารย์ก้องพูดถึงก็คือ Sir David Attenborough ผู้ดำเนินรายการสารคดีธรรมชาติชื่อดังของช่อง BBC ที่ไม่เพียงทำให้ชายหนุ่มจากเมืองไทยรีบกลับบ้านไปเกาะขอบจอเท่านั้น แต่ชาวเมืองสกอตแลนด์อีกมากมายก็ทำแบบนี้เช่นกัน
“พอเช้าวันจันทร์ หนังสือพิมพ์บางฉบับก็ลงเกี่ยวกับสารคดีตอนเมื่อคืน พอมาถึงแล็บทุกคนก็จะคุยกันเรื่องนี้ ถือเป็น Talk of the Town ที่เป็นหัวข้อคุยกันในเวลาน้ำชา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นที่ไทย”
แม้การได้เห็นความมหัศจรรย์ผ่านทางหน้าจอจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ แต่การได้สัมผัสธรรมชาติด้วยประสาทสัมผัสทั้งหมดของตนเอง คือสิ่งที่สร้างความผูกพันและความรู้สึกบางอย่างที่หน้าจอมอบให้ไม่ได้
Nature Connection : สานสัมพันธ์ธรรมชาติ
“ช่วงที่ผมได้สัมผัสและเชื่อมโยงกับธรรมชาติจริง ๆ คือช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทในป่าห้วยขาแข้ง”
ย้อนกลับไปในช่วงปริญญาตรี อาจารย์ก้องเรียนมาทางสายสัตวศาสตร์หรือสัตวบาล (Animal Science) ซึ่งเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ เนื่องจากเขาเติบโตมาในบ้านที่เลี้ยงสัตว์หลายชนิด ทั้งสุนัข ปลา ไก่ แต่เมื่อเรียนจบมา เขาก็รู้ตัวว่านั่นไม่ใช่เส้นทางที่เขาสนใจ จึงเบนเข็มไปสมัครปริญญาโทด้านสัตววิทยา (Zoology) ที่เป็นศาสตร์ของการศึกษาสัตว์ในธรรมชาติ
“เราอยากไปทำงานเก็บข้อมูลในป่า แบบที่คุณตาเดวิดนั่งท่ามกลางฝูงนก นี่คือความฝันของเราเลย พอไปสัมภาษณ์ที่จุฬาฯ กรรมการก็เห็นตรงกันว่าต้องไปทำกับ อาจารย์กำธร (รศ.ดร.กำธร ธีรคุปต์) พอไปคุยกับท่านถึงได้รู้ว่าสิ่งที่เราชอบคือนิเวศวิทยา (Ecology) อาจารย์กำธรก็ดีมาก เหมือนพ่อเราคนหนึ่ง อาจารย์ใช้วิธีสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตั้งแต่ยุคนั้น เขาจะถามก่อนว่าคุณชอบอะไร อยากทำอะไร”
แล้วโอกาสของการทำวิจัยในป่าก็มาถึง เมื่อมีนักศึกษาปริญญาเอกจากไอร์แลนด์มาไทยเพื่อเก็บข้อมูลเต่าเหลืองในป่าห้วยขาแข้ง เมื่อกัมปนาทได้รับข้อเสนอให้ร่วมวิจัยด้วย เขาก็ตอบตกลงทันที

“ช่วงที่อยู่ห้วยขาแข้งคือได้อยู่กับธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ เราชอบชีวิตแบบนี้มากจนแทบไม่อยากกลับออกไปเลย และเป็นช่วงที่มีโมเมนต์ประทับใจกับธรรมชาติหลายอย่าง บางอย่างอาจเป็นเหตุการณ์เล็ก ๆ แต่ก็ตราตรึงใจ เช่น ตอนค่ำวันหนึ่ง ที่บ้านพักนักวิจัย ผมได้ยินเสียงนกร้องอยู่ไกล ๆ ด้วยความเป็นคนชอบเลียนเสียงอยู่แล้ว ผมก็เลยลองผิวปากตาม ปรากฏว่านกตัวนั้นก็เข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อย ๆ และบินลงมาใกล้มาก”
นกที่บินมาหาเขานั้นคือ ‘นกตบยุงยักษ์’ ซึ่งเป็นนกนักพรางตัวขั้นเทพ
“เขามาหาผมด้วยสาเหตุอะไรไม่รู้นะ แต่เราก็ประทับใจตรงที่รู้สึกเหมือนเราสื่อสารกับเขาได้”
ส่วนอีกเหตุการณ์ประทับใจเกิดขึ้นกลางดึก ระหว่างที่เขาเดินไปห้องครัวเพื่อชงกาแฟ และบนทางเดินมืด ๆ นั้น มีเม่นขนาดใหญ่เดินสวนมา
“ถ้าเป็นคนอื่นคงกลัวเขา แต่เราดูแล้วเขาไม่มีท่าทีคุกคามอะไร ผมลองเดินสวนไปโดยเว้นระยะห่าง ผลคือต่างคนต่างเดิน เขาก็สนใจในเส้นทางของเขา จากนั้นเวลาเจอเม่น เราก็เดินสวนกันได้เป็นปกติ”
นักธรรมชาติวิทยาหลายคนมักพูดตรงกันว่า ช่วงเวลาที่สัตว์ป่าอนุญาตให้เราเข้าใกล้เขาได้คือห้วงเวลาพิเศษ เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่สัตว์ป่าจะไว้วางใจให้มนุษย์เข้าไปใกล้

“อีกครั้งคือตอนเช้าระหว่างที่ผมเดินสำรวจรอบ ๆ บ้านพัก แล้วตรงฝายดินเล็ก ๆ แถว ๆ ดงผักกูด ผมก็เห็นพังพอนกินปูโผล่ขึ้นมา โห เขาสวยมาก หางเป็นสีทอง ถึงจะเห็นไกล ๆ แต่ก็ประทับใจมาก วันต่อมาก็เตรียมกล้องไป ได้ยินเสียงฟึด ๆ ฟัด ๆ ในพุ่ม ผมก็รู้ว่าเป็นเขาแน่ ๆ แล้วไม่นึกไม่ฝัน เขายืน 2 ขาขึ้นมา มองมาที่ผม เรามองตากันสักพัก แล้วเขาก็ลงไปหากินต่อ เป็นโมเมนต์ที่ผมตะลึง เราก็ดีใจที่เขาไม่กลัวเรา หลังจากนั้นก็ได้เจอกันอีกหลายครั้ง”
หากใครเคยมีประสบการณ์เชื่อมโยงกับสัตว์ป่าในธรรมชาติแบบนี้ ก็จะรู้ว่ามันเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้ใครสักคนตกหลุมรักและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ จนนำมาสู่ความรู้สึกอยากปกป้องรักษาพวกเขาในฐานะเพื่อนของเรา
แม้การได้สัมผัสธรรมชาติจะนำมาซึ่งความรัก แต่การที่จะอนุรักษ์ให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นอยู่รอดได้ ความรักอย่างเดียวอาจยังไม่พอ

Decoding Nature : จากงานวิจัยสู่การอนุรักษ์
หลายคนอาจเคยมีคำถามว่า นักวิจัยจะศึกษารายละเอียดของสัตว์ต่าง ๆ ไปทำไม เช่น ทำไมนักวิจัยชะนีต้องเดินตามชะนีเป็นวัน ๆ ทำไมนักวิจัยช้างต้องเก็บขี้ช้างมาตรวจดีเอ็นเอ ทำไมนักวิจัยนกต้องจับนกมาติดห่วงขา ฯลฯ
อาจารย์ก้องเองก็เช่นกัน สมัยที่เขาวิจัยเต่าเหลืองในป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งต้องติดตัวส่งสัญญาณวิทยุบนเต่า และคอยติดตามเส้นทางการเดินของมันตลอด 24 ชั่วโมง เขาก็เคยได้รับคำถามนี้ ซึ่งอาจารย์ก้องเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าเหมือนกับเวลาเราซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาสักอย่าง เราก็ต้องอ่านคู่มือการใช้ เพื่อให้อุปกรณ์นั้นมีอายุการใช้งานยาวนาน หรือถ้ามีปัญหาก็รู้ว่าต้องแก้ไขยังไง
“การที่เราจะอนุรักษ์สัตว์ อนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อให้เขาไม่สูญพันธุ์และอยู่กับเรายาวนาน เราก็ต้องมีคู่มือการใช้ ซึ่งนักวิจัยคือคนที่มีหน้าที่ทำคู่มือนี้ เพราะเราไม่เคยรู้ว่าเต่าเหลืองที่ใกล้สูญพันธุ์ เขาหากินยังไง ไปอยู่ที่ป่าไหนบ้าง ฤดูฝนไปไหน ฤดูแล้งไปไหน ตัวผู้ตัวเมียมีพื้นที่บ้านต่างกันไหม นักวิจัยอย่างเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเติมเต็มคู่มือนี้”
เพราะหากเราไม่รู้จักชีวิตของพวกมัน คงยากที่จะปกป้องถิ่นอาศัย แหล่งหากิน และพื้นที่ผสมพันธุ์ของสัตว์เหล่านั้น
หลังจากอาจารย์ก้องเรียนจบปริญญาโทและเริ่มงานเป็นอาจารย์ เขามีหน้าที่สอนนักศึกษาให้รู้จักกระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาคู่มือนี้เช่นกัน ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่เขาเป็นที่ปรึกษา ก็คืองานวิจัยเรื่องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในนาข้าว
“ผมประทับใจนาข้าวตั้งแต่สมัยออกค่ายอาสาช่วงปริญญาตรี ตอนนั้นได้ไปอยู่กับชาวบ้าน ได้เห็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ น้อย ๆ ในนาข้าวเต็มไปหมด แล้วมันก็เขียวขจี เรียกว่าหลงเสน่ห์นาข้าวตั้งแต่ตอนนั้น ประกอบกับตอนไปญี่ปุ่นก็ได้เห็นนิทรรศการเรื่องข้าว ตอนไปเห็นนี่คือเหวอไปเลย โห แค่เรื่องข้าวเรื่องเดียวเขาทำนิทรรศการได้ครบทุกมิติ ตั้งแต่การปลูกข้าว เสียงในนาข้าว มีการทำเป็นอุโมงค์เสียง ไปจนถึงการแปรรูปข้าว เช่น เอามาทำสาเก ประทับใจมาก แต่ละอย่างเว่อร์วังมาก”
นอกจากนั้น นิทรรศการนี้ยังมีหนังสือที่แสดงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในนาข้าวแต่ละช่วงของปี แม้เขาจะอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก แต่ก็รู้สึกประทับใจจนเกิดแรงบันดาลใจว่าอยากทำแบบนี้ในบริบทนาข้าวไทยบ้าง เพื่อที่จะได้รู้ว่าในแต่ละฤดูกาลมีสิ่งมีชีวิตอะไรอยู่ในผืนนา
“เราอยากสื่อสารให้คนเห็นความสำคัญของระบบนิเวศนาข้าวว่ามีหน้าที่มากกว่าแค่ผลิตข้าวให้เรา ถึงแม้มันจะเคยเป็นพื้นที่ป่ามาก่อนและมนุษย์เข้าไปเปลี่ยนแปลง แต่มันก็เกิดขึ้นนานแล้วตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิ จนสิ่งมีชีวิตหลายชนิดปรับตัวมาใช้ประโยชน์ได้ แต่เรายังขาดความรู้ว่ามีความหลากหลายอะไรบ้าง ก็เลยให้เป็นงานวิจัยของนักศึกษา”
ในการสอนของเขาจะใช้หลักเดียวกับอาจารย์กำธร คืออิงตามความสนใจของนักศึกษาว่าเขาชอบอะไร เช่น ถ้าใครชอบแมงมุมก็ไปทำเรื่องแมงมุม ใครชอบปลาก็ทำเรื่องปลา ซึ่งอาจารย์บอกว่าหากเขาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ก็จะทำให้เขามีแรงบันดาลใจในการทำงาน

“แล้วผมก็จะให้เขาออกแบบเองทั้งหมด เก็บข้อมูลยังไง ใช้อุปกรณ์อะไร ผมแค่สนับสนุนให้สิ่งที่เขาคิดเป็นจริง เช่น จะเก็บแพลงก์ตอนที่พื้นนาข้าวต้องทำยังไง เขาก็ต้องเอากระจกสไลด์ใส่ในถุงตาข่ายวางไว้ในนาข้าว เพื่อไม่ให้สัตว์อื่นมากินแพลงก์ตอนบนกระจกสไลด์”
ส่วนนักศึกษาปริญญาโทก็จะมีรายละเอียดมากขึ้น เช่น ให้เปรียบเทียบความหลากหลายระหว่างนาเคมีกับนาอินทรีย์ ซึ่งแน่นอนว่าในนาอินทรีย์มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากกว่า และสิ่งที่เจอก็ไม่ใช่แค่แมลงศัตรูพืช แต่คือสัตว์อีกมากมายที่ช่วยควบคุมศัตรูพืชอีกที ทั้งแมลงปอ แมงมุม ฯลฯ
“ปกติเราจะไปเก็บข้อมูลที่นาเพชรบุรี แต่มีปีหนึ่งที่ระบบปล่อยน้ำของเพชรบุรีเปลี่ยนไป นาที่เด็กต้องไปเก็บข้อมูลไม่มีน้ำ กลายเป็นนาร้าง ผมก็เลยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนหัวข้อเป็นความหลากหลายในนาร้าง ซึ่งในไทยไม่ค่อยมีใครวิจัยเรื่องนี้ ก็ปรากฏว่ามีสัตว์หลายชนิดมาใช้ประโยชน์ มีนกมานอนที่พื้นนาด้วย ทำให้เราเห็นว่านาร้างก็มีประโยชน์ต่อสัตว์เหมือนกัน”
แน่นอนว่างานวิจัยที่ดีต้องไม่ใช่งานวิจัยที่อยู่บนหิ้ง แต่คืองานวิจัยที่สื่อสารสู่คนทั่วไปในสังคมได้ ซึ่งนั่นก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่อาจารย์ก้องให้ความสำคัญ
Nature Communication : สื่อความหมายธรรมชาติ
“เราอิจฉาประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษมาก มันมีหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติเต็มไปหมดแทบทุกหัวข้อ ตั้งแต่เรื่องมดเรื่องแมลง โดยเขาจะเอาข้อมูลจากงานวิจัยมาย่อยเป็นพ็อกเกตบุ๊กให้คนทั่วไปเข้าใจได้ หรือตอนไปเยอรมนี ผมเห็นหนังสือภาษาเยอรมันแต่ละเล่มแล้วอิจฉามาก เป็นหัวข้อน่าสนใจทั้งนั้นเลยและมีหลากหลายมาก แต่เมืองไทยเรายังมีหนังสือแบบนี้น้อยมาก”
นั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่ความรู้ทางธรรมชาติของคนไทยจึงมีน้อย เช่น ภาพโปสเตอร์วันรักนกเงือกของหลายหน่วยงานกลับนำภาพนกทูแคนของอเมริกาใต้มาใช้ หรือการที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักนกฮัมมิงเบิร์ดที่ไม่มีในไทย มากกว่านกกินปลีที่เป็นนกกินน้ำหวานสีสวยของบ้านเรา
“หลังจบเอกกลับมา หัวหน้าภาคก็บอกว่าเปิดวิชาใหม่ได้นะ ผมก็เลยมองว่าคนยังไม่ค่อยเข้าใจธรรมชาติเท่าที่ควร สังเกตจากเวลาเขาตอบคำถามหรือให้ความเห็น หรือเวลาให้ยกตัวอย่างสัตว์ เขาจะยกตัวอย่างสัตว์ต่างประเทศหมดเลย สิงโต ยีราฟ ม้าลาย หมีแพนด้า ฮิปโป แล้วสัตว์ไทยอยู่ไหน”
จากการเห็นปัญหานี้ เขาจึงเลือกเปิดวิชาที่ให้นักศึกษาคณะอื่นมาเรียนด้วยได้ โดยวิชาแรกที่เปิดคือ Nature Appreciation โดยได้แรงบันดาลใจจากวิชาคณะอักษรศาสตร์ที่ชื่อ ‘Art Appreciation – ศิลปวิจักษ์’
“ผมเองก็ชอบศิลปะ ช่วงที่เป็นอาจารย์แรก ๆ ก็เคยแอบไปนั่งเรียนวิชานี้ด้วย อาจารย์วินัย ผู้นำพล จะสอนวิธีเสพงานศิลปะ สอนว่าศิลปะแต่ละยุคดูยังไง คืออาจารย์สอนดีมาก เด็กเรียนเต็มเลย เด็กวิทย์ก็ไปเรียนด้วย สอนในหอประชุม แม้แต่ตรงบันไดยังนั่งกัน”

และนั่นจึงเป็นที่มาของวิชา Nature Appreciation เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว โดยมีหัวใจหลักคือการสร้างความเข้าใจและมองเห็นความงดงามของธรรมชาติ โดยอาจารย์ก้องวางแผนไว้ว่า เกินครึ่งของการสอนวิชานี้จะเป็นการเชิญวิทยากรพิเศษมาถ่ายทอดประสบการณ์และแรงบันดาลใจ ซึ่งที่ผ่านมาก็มี ‘เซเลบ’ สายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาสอนมากมาย ทั้ง อาจารย์ยงยุทธ จรรยารักษ์, หมอหม่อง-นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์, ดร.อ้อย-ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์, ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์, เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์, สมิทธิ์ สูติบุตร์ ฯลฯ
“ความน่ารักคือไม่มีใครปฏิเสธผมเลย อย่างหมอหม่องติดต่อเมื่อไหร่แทบตอบกลับทันที ไม่เคยคิดค่าเครื่องบิน ผมยังคิดเลย เด็กแต่ละคนนี่โชคดีขนาดไหนที่ได้เรียนกับบุคคลเหล่านี้ บางครั้งเด็กก็ไม่รู้ว่าคนที่มาสอนสำคัญต่อวงการธรรมชาติวิทยาขนาดไหน”
นอกจากจะเชิญวิทยากรพิเศษมาถ่ายทอดประสบการณ์แล้ว บางครั้งอาจารย์ก้องก็จะฉายสารคดีหรือภาพยนตร์ที่หาดูยากแต่มีเนื้อหาตราตรึงใจ เช่น ภาพยนตร์จากยุค 80 เรื่อง Local Hero
“ตอนแรกนักศึกษาก็ถาม ทำไมหนังเก่าจังอาจารย์… แต่พอดูจบก็จะเห็นกลไกที่ทำให้คนคนหนึ่งหันมารักธรรมชาติ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับบริษัทน้ำมันในสหรัฐฯ จะมาซื้อพื้นที่ชายฝั่งที่สกอตแลนด์เพื่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน แล้วก็มีตัวแทนคนหนึ่งถูกส่งมาเพื่อเจรจาซื้อหมู่บ้านแห่งนี้ แต่พอมาถึง จากคนที่มาเพื่อต่อรองธุรกิจ พอต้องมาเดินชายหาด สัมผัสธรรมชาติ เจอกระต่ายโดนรถชน ได้เห็นดาวตก เห็นแสงเหนือ คนนี้ก็เปลี่ยนไป ถ้าคนชอบภาษาหนังจะเห็นสัญลักษณ์มากมายเต็มไปหมด”


ส่วนการให้คะแนนและประเมินผล ส่วนใหญ่ก็มาจากการทำงานส่ง เช่น การเขียน ‘Nature Moment’ เล่าความประทับใจครั้งแรกต่อโลกธรรมชาติ หรืองานกลุ่มที่ให้ทำคลิปธรรมชาติที่ประทับใจในรั้วมหาวิทยาลัย หรือทำงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ
“เราอยากพาเขาไปออกทริปมาก แต่ยังทำไม่ได้ เพราะมีนักศึกษาจากหลายสาขา หาเวลาตรงกันยาก แล้วการจะพานักศึกษาเกือบ 400 คน ออกนอกสถานที่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย”
หรือในช่วงโควิดที่ทุกอย่างล็อกดาวน์ ให้งานกลุ่มหรือให้ไปเดินดูธรรมชาติในมหาวิทยาลัยไม่ได้ เขาก็เปลี่ยนโจทย์เป็นให้เขียน ‘Diary of Life’ ที่คล้ายการเขียนไดอารีประจำวัน แต่เป็นการบันทึกในมุมที่สมมติว่าเราเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เราเห็นในวันนั้น ไม่ว่าจะเป็นจิ้งจกในห้อง แมลงตรงระเบียง มดในห้องครัว ฯลฯ รวมถึงให้การบ้านไปดูสารคดี Our Planet และให้บันทึกธรรมชาติที่ชอบมาส่ง
“ผลตอบรับดีมากนะ บางคนก็บอก ถ้าอาจารย์ไม่บอกเขาคงไม่ได้ดูเรื่องนี้ หรือบางคนก็ติดใจจนมาถามว่ามีเรื่องอื่นแนะนำอีกไหม ผมชอบนกที่มันเต้นมากเลย ผมก็แนะนำไปว่าถ้าสนใจเรื่องนี้ ต้องไปดู Dancing with the Birds จะได้เห็นลีลาการเกี้ยวพาราสีของนกอย่างจุใจ”

ส่วนวิชารักษ์นก ซึ่งเป็นวิชาที่เปิดในลำดับถัดมา ก็มีจุดเริ่มต้นจากเสียงตอบรับในวิชา Nature Appreciation ที่นักศึกษาหลายคนติดใจเรื่องนกและอยากรู้จักมันมากกว่านี้
“ปกติผมสอนวิชาปักษีวิทยาสำหรับนักศึกษาในภาคอยู่แล้ว แต่มันยาก มีศัพท์วิทยาศาสตร์เยอะ ก็เลยทำเวอร์ชันที่ย่อยข้อมูลง่าย ๆ เพื่อให้นักศึกษาคณะอื่นมาเรียนด้วย เช่น ทำไมนกต้องร้องเพลง ทำไมนกต้องวางไข่ แต่ละครั้งจะตั้งคำถามแล้วมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้เขารู้จักและต่อไปจะได้เริ่มรักมัน รวมถึงสอนการดูนกด้วย แล้วปีนี้โชคดีมากเพราะมีเหยี่ยวเพเรกรินมาอยู่ที่ตึกใหม่ แถมล่าเหยื่อฉีกเนื้อกินให้ดู ได้ใจทุกคนมาก”
ส่วนในภาควิชาเอง เขาก็ได้ร่วมออกแบบวิชาใหม่กับอาจารย์หลายท่านในวิชาชื่อ ‘Diversity of Life’ เพื่อให้นักศึกษาได้รู้จักความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตนับตั้งแต่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวไปจนถึงวาฬขนาดใหญ่ ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่นักศึกษาต้องแยกสายระหว่างพืชหรือสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ส่วนไอเดียกราฟฟิตี้บนกำแพงก็มีจุดเริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่แล็บเปรยว่าผนังห้องตรงนี้ดูว่าง ๆ เขาก็เลยผุดไอเดียนี้ขึ้นมา เมื่อได้รับไฟเขียวจากหัวหน้าภาค ปฏิบัติการก็เริ่มขึ้น โดยแบ่งกลุ่มนักศึกษาในวิชาสัตว์มีกระดูกสันหลังเป็น 2 กลุ่ม สำหรับกำแพง 2 ฝั่ง โดยฝั่งหนึ่งได้โจทย์เรื่องวาฬ อีกฝั่งเรื่องเต่ามะเฟือง
“เราให้เขาเริ่มจากเนื้อหาก่อน โดยให้แต่ละคนไปหาข้อมูลว่าคนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับสัตว์นั้นเรื่องอะไรบ้าง เช่น ขี้ปลาวาฬ วาฬเป็นปลาไหม วาฬโอมูระต่างจากบรูด้ายังไง เพราะกราฟฟิตี้ของเราไม่ใช่แค่ความสวย แต่ต้องได้ความรู้ด้วย ต่อมาทุกคนก็ต้องช่วยกันออกไอเดียว่าประเด็นเหล่านี้จะสื่อสารออกมายังไง แล้วแต่ละกลุ่มก็จะมีอย่างน้อย 1 คนที่วาดรูปได้ พอเขาร่างแบบและตรวจแก้กันจนสมบูรณ์แล้ว ก็ฉายโปรเจกเตอร์ลงกำแพง ทุกคนก็ช่วยกันลงสี”


จากจุดเริ่มต้นที่กำแพงห้องแล็บ ในรุ่นต่อมาก็ได้รับโจทย์เป็นกำแพงอื่น ๆ เช่น โถงบันไดในหัวข้อ ‘ดูนกในทับแก้ว’ หรือกำแพงตึกในหัวข้อ ‘ตัวเหี้ย’ อีกทั้งในเทศกาลรับปริญญาของทุกปี ภาควิชานี้ก็จะมีงานนิทรรศการเล็ก ๆ ชื่อ ‘วาดวิทย์’ ที่นำผลงานนักศึกษาจากวิชา ‘การวาดภาพทางชีววิทยา’ มาจัดแสดงในธีมต่าง ๆ ซึ่งวิชานี้ก็ได้นักวาดภาพธรรมชาติอย่าง ครูกุ้ง-ธัญลักษณ์ สุนทรมัฏฐ์ เจ้าของเพจ ‘บันทึกสีไม้byครูกุ้ง’ เป็นอาจารย์พิเศษ
และความพิเศษของนิทรรศการที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ ก็คือเป็นครั้งแรกที่ทีมอาจารย์ผู้สอน (ดร.ภาณุพงษ์ ทองเปรม และ ดร.ภัคพล ท้าวเวชสุวรรณ) อยากผสานเรื่องวัฒนธรรมลงไปด้วย โดยเป็นผลงานในหัวข้อ ‘สิ่งมีชีวิตบนจิตรกรรมฝาผนังวัดบางกระพ้อม’
“มหาวิทยาลัยศิลปากรมีโครงการ ‘สมุทรสงครามอยู่ดี’ ที่ไปช่วยขับเคลื่อนเศรฐกิจสร้างสรรค์ ฐานนิเวศวัฒนธรรม และวิถีชุมชนให้กับจังหวัดสมุทรสงคราม ทำให้เราได้ไปเจอจิตรกรรมฝาผนังที่ไม่ธรรมดา เพราะเป็นยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ช่างมักบันทึกความจริง ไม่ใช่จินตนาการ ซึ่งก็จะสะท้อนระบบนิเวศสมัยนั้น แล้วเขาเก็บรายละเอียดดีมาก อย่างมีต้นไม้ต้นหนึ่งดูแล้วคุ้นมาก เหมือนต้นฝาดแดง แล้วก็มีคนบอกว่าใช่ต้นนี้จริง ๆ แล้วภาพที่แสดงอยู่ข้าง ๆ ก็คือภาพพระที่ถากเปลือกไม้ ต่อด้วยการนำเปลือกไม้นั้นมาย้อมสีจีวร และนำจีวรมาหุ้มห่อศพ ซึ่งบนผนังนี้มีสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิดเลย เราก็จะนำมาเป็น Subject ให้นักศึกษาวาด โดยใช้หลักการวาดภาพทางชีววิทยา แต่ก็ต้องตีความก่อนว่าภาพที่เห็นคือสิ่งมีชีวิตอะไร”
ส่วนในปีการศึกษาหน้า อาจารย์ก้องก็ร่วมกับอาจารย์ภาณุพงษ์และอาจารย์ภัคพลที่เป็นอาจารย์รุ่นใหม่ของภาควิชา เพื่อเปิดวิชาใหม่ชื่อ ‘บันทึกธรรมชาติ’ ที่นอกจากจะสอนเรื่องการสเกตช์ภาพสิ่งมีชีวิตแล้ว ก็จะมีสอนเทคนิคอื่น ๆ เช่น การถ่ายภาพ การบันทึกเสียง ไปจนถึงการทำไซยาโนกราฟ (Cyanograph) ที่เป็นการนำตัวอย่างที่ต้องการบันทึกวางบนกระดาษเคลือบน้ำยาแล้วนำไปตากแดด ซึ่งจะได้ภาพวัตถุนั้นประทับบนแผ่นกระดาษเป็นสีขาว ขณะที่พื้นหลังเป็นสีฟ้า

“เราสังเกตจากเวลานักศึกษาทำแล็บหรือทำโปรเจกต์ เขายังมีทักษะการสังเกตและการจดบันทึกน้อยมาก ซึ่งทักษะนี้สำคัญมากต่อการนำไปสู่คำถามและการเก็บข้อมูลวิจัยหลายอย่าง ก็เลยต้องฝึกเรื่องนี้ แล้วผมก็วางแผนว่าหลังจากเขาผ่านการเรียนวิธีบันทึกแบบต่าง ๆ แล้ว ตอนท้ายก็จะเชิญอาจารย์ด้านจิตรกรรมที่สื่อสารกับเด็กวิทย์รู้เรื่องมาอธิบายการสร้างงานศิลปะจากวิธีการบันทึกธรรมชาติแบบต่าง ๆ และสุดท้ายก็จะมีนิทรรศการอีกงาน… ก็ลุ้นนะว่าจะออกมาเป็นยังไง”
นอกจากงานนิทรรศการเหล่านี้แล้ว อีกกิจกรรมที่เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาชมได้คือช่วงสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ที่ห้องแล็บของภาควิชาจะจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างกันไปทุกปี บางปีเป็นกิจกรรมทำไซยาโนกราฟ บางปีก็เป็นห้องฟังเสียงจากธรรมชาติ
“ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ ผมก็พยายามผสานศิลปะลงไปทุกเรื่อง เพราะปรัชญาของมหาวิทยาลัยคือวิทย์ผสานศิลป์ จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยศิลปากรคือเป้าหมายที่จะสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสร้างสรรค์แบบศิลปิน และผมมองว่าศิลปะคือเครื่องมือที่สอนให้เขารู้จักคิดนอกกรอบ มีจินตนาการ ไม่ยึดติดกับแบบแผนเดิม ๆ”
เมื่อนักวิทยาศาสตร์มีความคิดสร้างสรรค์ ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ ๆ งานวิจัยหัวข้อใหม่ ๆ การสื่อสารด้วยรูปแบบใหม่ ๆ ที่ทำให้ความรู้ธรรมชาติถูกสื่อสารให้คนทั่วไปได้กว้างไกลขึ้น
“สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนรักธรรมชาติ คือต้องเริ่มจากให้เขารู้จักก่อน เพราะถ้าไม่รู้จักจะรักได้ยังไง พอรู้จักแล้ว เขาก็จะเห็นคุณค่า และความรู้สึกอยากอนุรักษ์ก็จะเกิดขึ้นเอง”
