แทบจะเป็นเรื่องปกติสำหรับเราไปแล้วที่เมื่อเจอผู้บริหารใหญ่ผู้ซึ่งใครหลายคนยกให้เป็นไอดอลทีไร ความรู้สึกตื่นเต้นจะเข้ามาทันที กับผู้บริหารหญิงที่เราจะได้เจอวันนี้ก็เช่นกัน 

เธอคือประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองจากการเป็นผู้นำในด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภค และพลังงาน ล่าสุดคือดิจิทัลโซลูชัน

ในหน้าสื่อ เธอคือแม่ทัพหญิงที่พาให้กลุ่มบริษัททำผลประกอบการหลักหมื่นล้าน ใน พ.ศ. 2566 ไม่เกินจริงที่จะบอกว่าเป็นบิ๊กเนมในกลุ่มผู้ประกอบการที่พูดชื่อแล้วใครก็รู้จัก

ที่หน้างาน บนตึก WHA Tower ย่านบางนาที่เรานัดเจอกัน เธอคือเจ้านายที่ลูกน้องรักและขึ้นชื่อว่าเป็นบุคคลที่คิวแน่นมากที่สุดคนหนึ่ง แต่ก็ยังใจดีมากพอที่จะแบ่งเวลามาสนทนากันในวันนี้ 

คุณจรีพร จารุกรสกุล ปรากฏตัวด้วยรอยยิ้มกว้าง ท่าทางสบาย ๆ และคำแทนตัวเองว่า พี่จูน ทำให้อาการเกร็งของเราหายเป็นปลิดทิ้ง ยามบ่ายในห้องประชุมบนตึกสูงที่มองเห็นพื้นที่รอบข้างได้กว้างไกลสุดสายตา กัปตันทีมตอนนี้ชวนพี่จูนรีแคปเกี่ยวกับอาณาจักร WHA ทิศทางในอนาคตข้างหน้าของกลุ่มบริษัท การหันมาทำเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง มากไปกว่านั้นคือคุณสมบัติที่ทำให้พี่จูนเป็นพี่จูนวันนี้

และนี่คือเคล็ดลับเบื้องหลังความสำเร็จที่เราถอดบทเรียนได้จากบทสนทนาครั้งนี้

ความจริงที่ได้ยินแล้วหูผึ่งข้อแรกของวัน คือผู้หญิงที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราดูแลบริษัทในเครือมากกว่า 70 บริษัท และมีมูลค่ารวมนับแสนล้านบาท

พี่จูนแจกแจงให้ฟังว่า หากแบ่งเป็นประเภทคร่าว ๆ WHA อาจแบ่งบริษัทในเครือได้เป็น 4 กลุ่มธุรกิจ กลุ่มแรก คือธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งมีพื้นที่โรงงานและคลังสินค้ารวมพื้นที่กว่า 3 ล้านตารางเมตร และมีแผนจะขยายเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องในอนาคต 

กลุ่มธุรกิจที่ 2 คือนิคมอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วย 12 นิคมอุตสาหกรรมในเมืองไทยและ 1 แห่งในเวียดนาม มีพื้นที่รวมกันกว่า 80,000 ไร่ ซึ่งนิคมของดับบลิวเอชเอ ถือเป็นนิคมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

กลุ่มธุรกิจที่ 3 คือ ธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า ซึ่งตัวอย่างของธุรกิจสาธารณูปโภคคือน้ำ เรามีการผลิตน้ำ Industrial Water ภายในนิคมอุตสาหกรรม และมีการนำน้ำเสียจากนิคมอุตสาหกรรมของ WHA มาเข้ากระบวนการ Innovation แล้วนำกลับไปใช้ในนิคมฯ ส่วนพลังงานก็มีการร่วมลงทุนกับผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าต่าง ๆ ตั้งแต่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก โรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าที่สร้างพลังงานจากน้ำ รวมไปถึง Solar Power ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ WHA เน้นให้ความสำคัญในตอนนี้เช่นกัน

กลุ่มธุรกิจสุดท้าย คือธุรกิจดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะเกิดขึ้นเพื่อสร้างสรรเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อยกระดับการทำงานของ 3 กลุ่มธุรกิจแรก WHA ยังมีบริการดิจิทัลโซลูชันต่าง ๆ อย่างครบครันหลายโครงการ เช่น WHAbit แอปพลิเคชันด้านเฮลธ์แคร์ เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพและการแพทย์ทางไกล เป็นต้น

คุณจรีพรผู้เรียกแทนตัวเองอย่างน่ารักว่าพี่จูนขยายความว่าวิสัยทัศน์ของ WHA คือมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนให้เป็น Tech Company โดยทำมาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2021

“ความท้าทายในวันนี้คือการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งเทคโนโลยีทั้งหมด” พี่จูนบอก “พี่เชื่อว่าอนาคตคือเทคโนโลยี ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตามต้องมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้หมด พี่สนใจเรื่องเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 2017 แล้วดูว่าเทคโนโลยีแบบไหนจะมาใช้กับโมเดลธุรกิจของพี่ได้” 

พี่จูนยกตัวอย่างให้เราฟัง ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ WHA มีการออกแบบอาคารเพื่อรองรับระบบอัตโนมัติ (Automation) ไปใช้ในอาคารโรงงาน และระบบโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) เช่น การนำรถ EV มาใช้ในการขนส่งพร้อมกับ Control Center และการติดหลังคาโซลาร์เซลล์บนคลังเก็บสินค้า เพื่อจ่ายต่อให้รถขนส่ง EV ของลูกค้าที่เช่าพื้นที่อยู่

ส่วนกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมก็ไม่น้อยหน้า มีการปรับระบบเป็น Smart Eco Industrial Estate โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรม รวมไปถึงระบบที่ควบคุมระบบการจัดการภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอทั้งหมด ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ผ่านระบบ UOC (Unified Operation Center) ที่อยู่ภายในตึกดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ 

ซึ่งในอนาคตดับบลิวเอชเอยังจะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะมาเพื่อยกระดับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้อีกมากมาย ทั้งหมดที่ว่ามานี้ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่มาจากสายตาที่มองการณ์ไกล การวางแผนล่วงหน้า และการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีอย่างลงลึกของพี่จูน 

ในบรรดากลุ่มธุรกิจทั้งหมดจาก 4 กลุ่มธุรกิจ พี่จูนออกปากว่ากลุ่มดิจิทัลคือธุรกิจที่ท้าทายที่สุด

“3 กลุ่มแรกเราทำมานานแล้ว ความท้าทายคือการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ ถ้าทำได้จะถือว่าสร้าง Ecosystem ที่ใหญ่มากและสร้างรายได้เพิ่ม แต่กลุ่มดิจิทัลคือกลุ่มที่ท้าทายมาก ๆ สำหรับพี่ และระหว่างทางที่ผ่านมาเกิดการลองผิดลองถูกเยอะมาก”

พี่จูนขอเล่าเคสของ Data Center ซึ่งถือเป็นธุรกิจดิจิทัลโซลูชันแรก ๆ ที่ WHA วางแผนจะทำให้เราฟัง 

“จริง ๆ Data Center เป็นธุรกิจที่ดีที่พี่เลือกทำ เพราะเมื่อ 5 – 6 ปีก่อน กลุ่มธุรกิจที่ทำเรื่อง Data Center จากต่างประเทศจะเลือกไปลงทุนทำศูนย์ข้อมูลที่สิงคโปร์กันก่อนเกือบทั้งหมด ซึ่งพี่มองเห็นโอกาสในจุดนี้และได้เริ่มทำธุรกิจ Data Center ขึ้นมาในประเทศไทย เพราะข้อมูลลูกค้าเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับทุกธุรกิจ”

นอกจากนี้ ทาง WHA ยังได้มีการนำ Technology ใหม่ ๆ มาปรับใช้กับอีก 3 กลุ่มธุรกิจของ WHA ไม่ว่าจะเป็นโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภคและพลังงาน ซึ่งทำให้ดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น จุดแข็งของ WHA อีกหนึ่งอย่าง คือการที่เรามีทีมดิจิทัลที่แข็งแกร่งเป็นของตัวเอง ทำให้เราปรับเปลี่ยนได้ไวมากขึ้น ในขณะที่ใช้ต้นทุนน้อยลง

พี่จูนแอบสปอยล์ว่า ในช่วงปีที่กระแส AI มาแรง WHA จะมุ่งไปที่การพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยมีแผนทำ Transformation เช่นกัน ตัวอย่างเช่น มีการนำ AI มาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพการจ่ายไฟของแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งหากไม่มีการจ่ายไฟ AI จะแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปตรวจสอบและแก้ไขได้ทันที

ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นกลุ่มธุรกิจแบบ B2B ออกแคมเปญสื่อสารให้ผู้บริโภคในวงกว้างได้รับรู้ทิศทางขององค์กร แต่ WHA เป็นหนึ่งในนั้น

” ‘We Shape the Future’ คือตัวอย่างของแคมเปญที่เราพูดถึง ซึ่งสื่อสารเรื่องความยั่งยืนและการก้าวเข้าสู่การเป็น Tech Company แบบเต็มตัวของ WHA 

“เมื่อคนถามพี่ว่า WHA พี่ชอบพูดเสมอว่าเราไปเพื่อ Give ไม่ใช่ไป Take เราไปเพื่อสร้างอนาคตให้กับทุกคนและทุกพื้นที่ที่เราเข้าไป ต่อไปใครเห็นโลโก้ WHA ที่ไหน ตรงนั้นจะต้องเจริญ โดยเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว พี่มองว่าโลจิสติกส์เป็นโครงสร้างที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ พี่เล็งเห็นว่าถนนเส้นบางนา-ตราด เป็นทำเลที่มีศักยภาพมาก เพราะทำเลนี้ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ใกล้กรุงเทพฯ ใกล้คลองเตยและแหลมฉบัง จึงปักหลักบนพื้นที่ตรงนี้เพื่อสร้างโรงงาน คลังสินค้าและวางระบบโลจิสติกส์ให้เป็นทำเลยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ (Strategic Location) ของไทย นอกจากนี้ในทุกนิคมอุตสาหกรรมที่ WHA ไป เรายังสร้างให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมขึ้นมา เมื่อมีเมืองก็มีการจ้างงาน เกิดอาชีพและรายได้ให้คนในพื้นที่รอบ ๆ นิคมฯ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อีกด้วย เช่น วันนี้จังหวัดระยองถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มี GDP ต่อหัวสูงที่สุดของประเทศไทย

“เราจึงพยายามสื่อสารออกไปว่าเราสร้างอนาคตอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เรามีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่ที่ WHA ไปทำธุรกิจ พื้นที่ตรงนั้นต้องดีขึ้นทั้งคน สังคม และสิ่งแวดล้อมต้องไปได้ไกลกว่าเดิมให้ได้ เราเลยใช้คำว่า Shape the Future เพื่อตอกย้ำการเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกคน” พี่จูนยิ้ม

อีกหนึ่งสารที่ WHA พยายามสื่อออกไป คือนิยามของความหมายภายใต้ชื่อบริษัท

“ในสมัยที่ตั้งบริษัท WHA ย่อมาจากคำว่า Warehouse Asia Alliance เพราะเรามองว่าเอเชียต่อไปจะเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ และเราจะโตไปพร้อมกับคู่ค้าในระดับเอเชีย เราพูดแบบนี้มา 20 ปี และด้วยการที่ WHA เน้นการสร้างโอกาสและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับทุกคนเราจึงนิยาม WHA ใหม่ ดังนี้

“เริ่มจากตัว A ซึ่งหมายถึง Accessibility เราอยากสร้างให้ทั้งคนในพื้นที่ได้เข้าถึงความเจริญ สร้างงาน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นให้ประเทศ

“H คือ Human Progress WHA ให้ความสำคัญในการพัฒนาคนในทุกมิติด้วย ไม่ว่าจะคนในองค์กรหรือคนภายนอกก็ตาม อย่างตัวพี่เอง พี่ก็ไปบรรยายเยอะมากจนคนแซวว่าเหนื่อยบ้างไหม จริง ๆ เหนื่อยนะที่ไปพูด แต่พอเห็นแววตาของเด็ก ๆ แล้วมีกำลังใจ เพราะเราอยากเห็นพวกเขาโตขึ้นเป็นคนคุณภาพของประเทศ 

“ส่วน W คือ Well-being พี่อยากให้ทุกคนเข้าถึงความเป็นอยู่และมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน” 

การสื่อสารสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะทำให้คนทั่วไปได้รู้ว่า WHA ในปัจจุบันมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร ยังทำให้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของ WHA มากขึ้นอีกด้วย

นอกจากการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็น Technology Company เต็มตัวและการสื่อสารทิศทางใหม่ ความท้าทายอีกประการของพี่จูน คือเรื่องความยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศโลกคือสิ่งที่ทุกคนบนโลกต้องเผชิญในปัจจุบัน และ WHA มองว่ากลุ่มธุรกิจของพวกเขานั้นสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลกได้อย่างมหาศาล 

“คุณลองคิดดูว่านิคมอุตสาหกรรม ถ้าปล่อยน้ำเสียออกไปจะสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน หากเราควบคุมการปล่อยมลพิษหรือจัดการขยะไม่ได้ จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งหมด นี่คือสิ่งที่เรารับผิดชอบต่อสังคมและทำมาตลอด หลัก ESG อยู่ใน DNA ของบริษัทและพนักงานทุกคน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ไหน ชาวบ้านจึงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี

“เป้าหมายของเราคือสร้างผลกระทบต่อสังคมและโลกให้น้อยที่สุด ในปี 2050 เรามีเป้าหมายจะทำให้การปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา เราสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้แล้ว”

โดยในทุกธุรกิจของ WHA มีการนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีการสร้างพื้นที่สีเขียวตามกฎของ EIA ที่ระบุไว้ว่าต้องมีพื้นที่สีเขียวในนิคม 20 – 25% ของพื้นที่ทั้งหมด WHA จึงมีโครงการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในนิคมฯ และเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยเพิ่มคาร์บอนเครดิตให้องค์กร นอกจากนี้ WHA ยังมีการจัดการน้ำใช้แล้วอย่างเป็นระบบ เพื่อลดการใช้น้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และยังมีกระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำ เพื่อส่งต่อหมุนเวียนน้ำคุณภาพสูงให้กับโรงงานต่าง ๆ ในนิคมฯ ได้อีกด้วย

“การทำเรื่องความยั่งยืน หลายคนจะคิดว่ามันเป็นค่าใช้จ่าย (Cost) แต่เราทำให้มันเป็นการลงทุน (Investment) ได้ จากตัวอย่างที่กล่าวมา การสร้างรายได้จากน้ำที่ใช้แล้วคือตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าเราทำเรื่องยั่งยืนไปพร้อมกับการสร้างรายได้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือพลังงานแสงอาทิตย์ส่งผลดีต่อทั้งธรรมชาติและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ พลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้เองจะช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งลดการก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน พร้อมกับร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของโลก”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ WHA เดินทางมาได้ไกลขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเพราะ CEO เป็นคนคิดใหญ่ ทำใหญ่ 

แต่อะไรหล่อหลอมให้พี่จูนเป็นคนมุมานะแบบนี้ล่ะ

“ตั้งแต่เด็กพี่เป็นคนไม่ชอบทำอะไรเหมือนใคร” เธอตอบเร็ว “พี่มองว่าโลกนี้มีอะไรที่น่าศึกษา น่าทำเต็มไปหมดเลย และพี่เป็นคนที่ชอบชาเลนจ์ตัวเองที่สุด ชอบท้าทายตัวเองตลอดเวลา เรื่องไหนน่าเรียนรู้มาก เราอยากรู้ว่าเราจะทำได้ไหม ก็ลองดูสิ ถ้าทำได้มันก็สนุก เหมือนที่พี่บอกว่าพี่จะสร้างภูเขาของพี่เองและสร้างให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีความสุขกับการทำในสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้ เลยเกิดการสร้างสิ่งใหม่ตลอดเวลา”

หลักคิดที่พี่จูนยึดไว้ในการงานและชีวิต คือ ‘3 กล้า’ กับ ‘1 พร้อม’ 

“กล้าแรก คือกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน กล้าที่ 2 คือกล้าที่จะแตกต่าง กล้าที่ 3 คือกล้าที่จะบุกเบิก

“ถ้าคุณมี 3 กล้านี้ คุณจะทำทุกเรื่องได้หมดเลย อย่างพี่เอง เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ค่อยพูด แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงตัวเองจนกลายเป็นนักพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลให้กับหลาย ๆ คน ส่วนกล้าที่จะแตกต่าง คนส่วนมากเห็นว่าอะไรดีก็ทำตาม แต่พี่ต้องหาความแตกต่างให้เจอและก้าวขึ้นเป็น Leader ให้ได้ 

“สาม เมื่อคุณคิดต่างแล้ว คุณต้องบุกเบิกให้ได้ ทำสิ่งที่คนอื่นไม่เคยคิดจะทำ ถ้าคุณมี 3 กล้านี้ คุณก็พร้อมจะเป็นผู้นำ นี่คือ 3 กล้ากับ 1 พร้อม”

แล้วผู้นำที่ดีในแบบฉบับของพี่จูนเป็นยังไง เราสงสัย

“ในความคิดของพี่ คือต้องเป็นผู้นำที่นำหัวใจคนในองค์กรให้ได้ ถ้าคุณจะนำองค์กรแต่คนของคุณไม่อยากทำงานร่วมกับคุณเลย แบบนี้ก็คงไม่ใช่ คุณต้องนำใจคนในองค์กรให้ได้ มากกว่านั้นคือมองไปข้างหน้าให้ออกว่าหนทางเป็นอย่างไร และต้องมีสกิลล์ของการยืดหยุ่น ปรับตัวให้เร็ว (Resilience) เพราะตอนนี้โลกเปลี่ยนเร็วมาก ถ้าคิดว่าอะไรไม่ใช่ ต้องรีบเปลี่ยนทันที กล้าที่จะนำลูกน้องเดินไปข้างหน้าให้ได้

“อีกอย่างคือผู้นำที่ดีต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่รับชอบ หมายถึงว่า หากมีความผิดพลาดอะไร หัวหน้าควรจะรับผิด แต่ถ้าหากมีเสียงชื่นชม ก็ให้ลูกน้องได้รับชอบ” 

เมื่อเจอความผิดพลาด พี่จูนรับมือกับมันยังไง

“ต้องมีสติ นิ่งแล้วคิดวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นถึงไม่เป็นไปตามแผน จะแก้ทันไหม แต่ส่วนมากพี่จะไม่ค่อยมาคิดวิเคราะห์หลังจากเกิดปัญหา แต่จะวิเคราะห์ไปข้างหน้าก่อนว่าอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้างแล้วหาทางรับมือไว้ก่อน เพราะคุณเป็นผู้นำ เป็น CEO ถ้ารอให้เกิดวิกฤตแล้วค่อยมานั่งแก้ คุณก็อาจจะแย่ได้ คุณต้องคิดก่อนว่าจะเกิดวิกฤตอะไรแล้ววางแผนไว้ล่วงหน้า มีหลาย ๆ ทางเลือกในการรับมือ พอเจอปัญหาแล้วลงมือแก้ได้ทันที”

หากมีเคล็ดลับอะไรที่พอจะแนะนำสำหรับคนที่อยากประสบความสำเร็จแบบพี่จูนบ้าง คำแนะนำของเธอคือคำถามว่า “พร้อมไหมล่ะที่จะทำงานหนัก” 

พี่จูนหัวเราะ 

“เคล็ดลับคือความจริงใจ จริงจัง และต้องอดทน แค่นั้นเลย”

7 Things you never know

about Jareeporn Jarukornsakul

1.  หนังสือเล่มโปรด

Trillion Dollar Coach โค้ชแห่งซิลิคอนแวลลีย์

2.  เครื่องดื่มเพิ่มพลัง

กาแฟกับน้ำเปล่า

3.  เดินหรือวิ่ง

ชอบชกมวย

4.  ของขวัญที่ชอบที่สุดที่เคยได้

(หัวเราะ) นึกไม่ออกจริง ๆ

5.  กิจวัตรตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงเข้านอน

วันธรรมดาจะตื่นมาทานอาหารเช้า นั่งดูข่าว จากนั้นประชุมกับ C-level วันละคนตอน 8 โมง 9 โมงถึงเย็นประชุมนอนสต็อป หลังจากนั้นไป Business Dinner ถ้าวันเสาร์-อาทิตย์ จะออกกำลังกายตอนเช้า

6.  วิธีผ่อนคลายตัวเอง

นั่งจิบไวน์ สบายใจดี

7.  ผู้นำหญิงที่คล้ายตัวเอง

ไม่มี เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนเรา

Writer

พัฒนา ค้าขาย

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนชาวเชียงใหม่ผู้รักทะเลและหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง