กระแสละคร บุพเพสันนิวาส-พรหมลิขิต กำลังดังเปรี้ยงปร้าง ส่งผลให้ชาวละครทั้งหลายหันไปสนใจตัวบทในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายกันอย่างล้นหลาม แฟชั่นแต่งชุดไทยเดินเที่ยวโบราณสถานในพระนครศรีอยุธยาก็กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง นับว่าละครไทยสร้างปรากฏการณ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อีกครั้ง กระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดได้พอดีพองาม

พอย้อนไปดูละครแม่การะเกด ภาคนี้เขาเล่าจับบทตั้งแต่ตอนที่ พระนารายณ์ สวรรคต เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างรวดเร็วจนถึงรุ่นลูกของนางเอก ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งประกอบด้วยกษัตริย์ที่สำคัญ 6 รัชกาลคือ พระเพทราชา, พระเจ้าเสือ, พระเจ้าท้ายสระ, พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ, พระเจ้าอุทุมพร, พระเจ้าเอกทัศน์ พร้อมด้วยตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับคอลัมน์ของเรา คือ แม่มะลิ หรือ มารี กีมาร์ ภรรยาม่ายของ คอนสแตนติน ฟอลคอน ตัวอย่างของชาวคริสต์ลูกครึ่งที่เข้ามามีบทบาททางการเมือง และยืนหยัดยึดถือพระผู้เป็นเจ้าไว้ด้วยศรัทธา แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายรัชกาล

ชะตากรรมหมู่บ้านญี่ปุ่นยุคบ้านพลูหลวง ความจริงของบ้านแม่มะลิที่พรหมลิขิตไม่กล่าวถึง
พิธีรับศีลสมรสของ มารี กีมาร์ และ คอนสแตนติน ฟอลคอน จัดขึ้นตามประเพณีของนิกายคาทอลิก
ภาพ : Ch3Thailand

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชุมชนคริสต์อยู่ประมาณ 3 ชุมชน คือหนึ่ง ชุมชนโบสถ์นักบุญยอแซฟ ของมิชชันนารีฝรั่งเศส สอง ชุมชนโปรตุเกสลูกครึ่ง สาม ชุมชนญี่ปุ่น ทีนี้เราลองมาย้อนดูชุมชนคริสเตียนญี่ปุ่นในระยะเวลาร่วมสมัยแม่มะลิในละคร พรหมลิขิต ดูบ้าง ว่าหลังจากผ่านพ้นความรุ่งเรืองและการปฏิวัติขัดแย้งต่าง ๆ นานา ไปแล้ว ชุมชนญี่ปุ่นคริสต์เหล่านี้มีความเป็นอยู่กันอย่างไร

ตัวตนของหมู่บ้านญี่ปุ่นคริสตัง

ดังที่รู้กันดีว่า ‘แม่มะลิ’ หรือ ท้าวทองกีบม้า เป็นคริสตังครึ่งชาติ (ศัพท์เก่าแปลว่า ลูกครึ่ง) ที่มีเลือดผสมหลายชาติ ทั้งญี่ปุ่น โปรตุเกส เบงกอล จากทางพ่อและแม่ แต่ตัวนางนั้นพำนักอยู่ในหมู่บ้านญี่ปุ่น ชุมชนญี่ปุ่นคาทอลิกซึ่งลี้ภัยการเบียดเบียนศาสนาคริสต์ออกจากประเทศ

หมู่บ้านนี้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้ของกรุงศรีอยุธยา ฝั่งตรงกันข้ามคือหมู่บ้านโปรตุเกสที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก นัยว่าประชากรเกินครึ่งของหมู่บ้านญี่ปุ่นนี้เป็นคาทอลิก มีโบสถ์และบาทหลวงญี่ปุ่นติดตามมาประกอบพิธีทางศาสนาให้ มีการขนส่งหินจากมาเก๊ามาสร้างโบสถ์ด้วย (หากลองไปสำรวจบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านญี่ปุ่น เช่น วัดสิงห์ปากน้ำ อาจพบหินแกรนิตสีขาว ซึ่งไม่ใช่ของที่ใช้ทั่วไปในสยาม) โบสถ์นี้ตกแต่งด้วยหน้าบันปิดทองแบบโบสถ์พุทธอย่างสวยงาม สร้างโดย คุณพ่อโทมัส วัลกวาร์เนย์รา สงฆ์ซิซิเลียนคณะเยสุอิตซึ่งมีข่าวลือว่าเป็นพ่อที่แท้จริงของแม่มะลิ ทำให้พวกชาวต่างชาติมักหัวเราะเยาะฟอลคอนทุกครั้งที่เขาเรียกคณะสงฆ์เยสุอิตว่าเป็นพี่น้อง

อย่างไรก็ดี – เราไม่ทราบชื่อโบสถ์นี้

ชะตากรรมหมู่บ้านญี่ปุ่นยุคบ้านพลูหลวง ความจริงของบ้านแม่มะลิที่พรหมลิขิตไม่กล่าวถึง
หมู่บ้านญี่ปุ่นในจินตนาการของผู้เขียน
ชะตากรรมหมู่บ้านญี่ปุ่นยุคบ้านพลูหลวง ความจริงของบ้านแม่มะลิที่พรหมลิขิตไม่กล่าวถึง
ภาพสันนิษฐานหมู่บ้านญี่ปุ่นที่กรุงศรีอยุธยา โดยบริษัท Toppan Printing จากญี่ปุ่น ใช้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น พระนครศรีอยุธยา
ภาพ : holdings.toppan.com

การที่ชาวญี่ปุ่นในอยุธยาจำนวนมากนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกนั้น เกิดจากนโยบายต่อต้านศาสนาคริสต์ของ โชกุนโตกุกาวะ เพราะประชากรคาทอลิกเพิ่มจำนวนมากจนเกินควบคุม และบางส่วนก็ฝักใฝ่ชาวสเปนหรือโปรตุเกส จึงมีคำสั่งให้ทรมาน ประหัตประหารหรือนำไปตรึงกางเขนเลียนแบบพระเยซู ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นคริสตังหนีออกนอกประเทศกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะหนีออกมาเองหรือถูกจับใส่กระสอบโยนลงสำเภา เกิดเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นทั่วทั้งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ที่มะนิลา อันเป็นศูนย์กลางคาทอลิกของสเปน ฮอยอัน เวียดนาม กัมพูชา รวมทั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งกษัตริย์มีนโยบายเปิดต้อนรับคนทุกชาติศาสนา

กระนั้นก็ดี ชาวคาทอลิกในสมัยโบราณไม่อาจแต่งงานกับคนต่างศาสนาได้ และยังไม่อาจแต่งงานในเครือญาติได้ด้วย พวกเขาจึงแต่งงานกับชาวคาทอลิกด้วยกันเองที่อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะพวกโปรตุเกสที่เป็นชุมชนคาทอลิกใหญ่ที่สุด เกิดเป็นลูกครึ่งที่เรียกว่า ครีโอล (Creole) มีวัฒนธรรมพิเศษที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมดั้งเดิม ทั้งภาษา ศาสนา อาหาร การแต่งกาย

ตัวอย่างที่เรารู้จักกันดีก็คือ มารี ตองกีมาร์ ผู้มีเชื้อสายอันหลากหลาย (และควรนับเป็นตัวอย่างของชาวสยามที่แท้จริง) นั่นเอง

ชะตากรรมหมู่บ้านญี่ปุ่นยุคบ้านพลูหลวง ความจริงของบ้านแม่มะลิที่พรหมลิขิตไม่กล่าวถึง
ภาพสันนิษฐานออกญาเสนาภิมุขกับบรรยากาศกรุงศรีอยุธยา โดยบริษัท Toppan Printing ใช้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น พระนครศรีอยุธยา
ภาพ : www.thaich.net
ชะตากรรมหมู่บ้านญี่ปุ่นยุคบ้านพลูหลวง ความจริงของบ้านแม่มะลิที่พรหมลิขิตไม่กล่าวถึง
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
ภาพ : visitworldheritage.com

ความรุ่งเรืองในฐานะกองอาสาญี่ปุ่นและเอเยนต์ค้าหนังกวาง 

แรกเริ่มเดิมที ญี่ปุ่นเข้ามาเป็นกองทหารอาสาในอยุธยาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวร เจ้ากองชื่อ พระเสนาภิมุข คุมกองอาสาญี่ปุ่นห้าร้อย

ทหารกลุ่มนี้เป็นพวกโรนินหรือซามูไรนายตาย ออกมาเผชิญโชคนอกประเทศ ถือเป็นชุมชนญี่ปุ่นกลุ่มแรกที่เข้ามารับราชการทหาร และอาจมีอิทธิพลทางการเมืองขึ้นเรื่อย ๆ ดังจะเห็นว่าสมัยพระศรีเสาวภาคย์ ราชโอรสของพระเอกาทศรถ ในเวลานั้นเกิดกรณีขุนนางไทยฉ้อโกงเงินจากการค้ากับพ่อค้าญี่ปุ่น (ใน คำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวอย่างง่าย ๆ ว่า เอาเงินปลอมจ่ายค่าสินค้า) กลุ่มกบฏญี่ปุ่นได้บุกเข้าในพระราชวัง และบังคับให้พระองค์เซ็นสัญญาว่าจะไม่แก้แค้น แล้วพากันหลบหนีออกไป แสดงให้เห็นว่าชุมชนญี่ปุ่นคงจะมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองมากทีเดียว

อย่างไรก็ดี พระศรีเสาวภาคย์ ทรงครองราชย์ไม่นานนัก ก็ถูก พระพิมลธรรมอนันตปรีชา หรือ พระเจ้าทรงธรรม ยึดอำนาจสำเร็จ โดยได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนชาวญี่ปุ่นอีกนั่นเอง พระองค์รักษาความสัมพันธ์อันแน่นเหนียวกับชุมชนญี่ปุ่นไว้ได้ตลอดรัชกาล 

ชะตากรรมหมู่บ้านญี่ปุ่นยุคบ้านพลูหลวง ความจริงของบ้านแม่มะลิที่พรหมลิขิตไม่กล่าวถึง
ภาพจดหมายของเจ้าเวียดนามที่กล่าวถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายในสงครามกลางเมืองระหว่างพระศรีเสาวภาคย์และพระพิมลธรรม (พระเจ้าทรงธรรม) ทำให้เกิดโจรสลัดอาละวาด และเรือสำเภาญี่ปุ่นลำหนึ่งต้องแล่นจากปัตตานีกลับญี่ปุ่นทันที เนื่องจากเกรงความไม่สงบ 
ภาพ : www.kyuhaku.jp

ชุมชนญี่ปุ่นรุ่งเรืองที่สุดในสมัยพระเจ้าทรงธรรม (โอรสพระเอกาทศรถ) หัวหน้าชุมชนญี่ปุ่นที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ ยามาดะ นางามาซะ คนหามเกี้ยวที่ได้ไต่เต้าขึ้นไปถึงระดับ ‘ออกญาเสนาภิมุข’ ในนิทานที่เล่าลือในหมู่คนญี่ปุ่นถึงกับเชื่อว่ายามาดะแต่งงานกับพระราชธิดาพระเจ้ากรุงสยาม (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) การขึ้นสู่อำนาจของเขาจึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าจับตามอง กรุงศรีอยุธยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 – 23 เป็นเหมือนเมืองแห่งโอกาสที่เปิดให้ชนชั้นล่างจากประเทศใด ๆ ก็ตามเข้ารับราชการตามความสามารถที่ตนมี และอาจไต่เต้าขึ้นสู่ระดับขุนนางชั้นสูงได้

เรื่องการเข้ารับราชการของยามาดะก็ไม่ต่างอะไรกับคอนแสตนติน ฟอลคอน ผู้มาจากตระกูลต่ำ แต่ใช้ ‘ฝีมือ’ ถีบตัวเองขึ้นสู่วงสังคมระดับสูงโดยอาศัยโอกาสจากการทำธุรกิจ (หรือการหนุนหลังราชสำนักด้วยจำนวนไพร่พล หรือเครือข่ายการค้ากับต่างชาติ) ไม่ใช่การสงครามรบทัพจับศึกเหมือนในอดีต อาจนับได้ว่ากรุงศรีอยุธยาเริ่มรู้จักระบบการสะสมทุนบ้างแล้วผ่านการค้าและการลงทุนระดับนานาชาติ

การเลือกใช้ขุนนางต่างชาติตามความสามารถของกรุงศรีอยุธยาโดยไม่เลือกหน้าเช่นนี้ ล้วนถูกจับตามองจากนานาชาติด้วยความเคลือบแคลงใจ โดยเฉพาะในยุคของศักดินาฐานันดรที่มักติดตัวตั้งแต่เกิดไปจนวันตาย การเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมได้อย่างลื่นไหลเช่นนี้ดูจะเข้ากันดีกับการผลัดราชวงศ์ 2 ราชวงศ์สุดท้ายของอยุธยาที่ไม่ได้มีสายเลือดเจ้านายมาแต่เดิม แต่ก็เถลิงขึ้นเป็นเจ้านายได้

ชะตากรรมหมู่บ้านญี่ปุ่นยุคบ้านพลูหลวง ความจริงของบ้านแม่มะลิที่พรหมลิขิตไม่กล่าวถึง
ยามาดะ นางามาซะ หรือออกญาเสนาภิมุข ตามจินตนาการของจิตรกร 
www.mitsubishielectric.co.jp 

ยามาดะทำงานเป็นเอเยนต์ค้าส่งหนังกวางระหว่างราชสำนักสยามกับญี่ปุ่น เขาจึงร่ำรวยจากธุรกิจข้ามชาติ ส่งหนังกวางออกไปยังญี่ปุ่นถึงปีละ 200,000 ผืน ประกอบกับหนังกวางสยามมีคุณภาพดีกว่าหนังกวางไต้หวันที่ผูกขาดโดยโคซิงกา (กบฏชาวฮั่นต่อต้านราชวงศ์ชิง) และหนังกวางจากชวาที่ดัตช์เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด เนื่องจากผลิตและซักฟอกโดยคนงานชาวญี่ปุ่นโดยตรง จึงรับรู้ความต้องการของผู้ใช้ในประเทศญี่ปุ่น ตลาดญี่ปุ่นจึงอ้าแขนยินดีรับสินค้าจากอยุธยามากกว่า 

ยามาดะภักดีต่อพระเจ้าทรงธรรมผู้เป็นสายเลือดราชวงศ์สุโขทัย อย่างไรก็ดี เขาไม่ใช่คริสเตียน เพราะมีหลักฐานการส่งเงินกลับไปทำบุญที่วัดพุทธในญี่ปุ่น เพื่ออุทิศให้พ่อแม่ที่ตายไปแล้วของเขา 

ชะตากรรมหมู่บ้านญี่ปุ่นยุคบ้านพลูหลวง ความจริงของบ้านแม่มะลิที่พรหมลิขิตไม่กล่าวถึง
ภาพร้านขายหนังสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธีฟอกย้อมและตัดเย็บแล้ว เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสู่งของญี่ปุ่น
ภาพ : www.hyogo-c.ed.jp
ชะตากรรมหมู่บ้านญี่ปุ่นยุคบ้านพลูหลวง ความจริงของบ้านแม่มะลิที่พรหมลิขิตไม่กล่าวถึง
ภาพจาก สารานุกรมมารยาทและประเพณี พิมพ์เมื่อปี 1690 (พ.ศ. 2230) ร่วมสมัยพระนารายณ์ แสดงอาชีพต่าง ๆ ที่ทำในสมัยเอโดะตอนต้น หนึ่งในนั้นคือช่างตัดเย็บหนังสัตว์ 
ภาพ : www.benricho.org

จนเมื่อ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พระราชบิดาของพระนารายณ์) ทำรัฐประหารสมเด็จพระอาทิตยวงศ์สำเร็จ วางแผนส่ง ยามาดะ นางามาซะ (ออกญาเสนาภิมุข) ไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และถูกลอบวางยาพิษตายที่นั่น บุตรชายของเขาลี้ภัยการเมืองไปยังเขมร ชุมชนญี่ปุ่นในอยุธยาก็ขาดที่พึ่งลดบทบาททางการเมืองลง แต่กำไรจากการค้าหนังกวางยังคงหอมหวาน เมื่อคนงานญี่ปุ่นที่เป็นแรงงานฝีมือดีขาดแคลนลง พระเจ้าปราสาททองก็ส่งคนไปขอแรงงานจากโชกุนโตกุกาวะ (ซึ่งไม่ให้) ทั้งยังเคลือบแคลงใจกับเชื้อสายของพระเจ้าปราสาททอง เพราะพระองค์มิได้สืบเชื้อกษัตริย์มาแต่เดิม

เมื่อหมดเอเยนต์ใหญ่อย่างยามาดะ ชุมชนญี่ปุ่นที่เหลือก็ผูกขาดการค้าหนังกวางในสยามไม่ได้อีกต่อไป บรรดาลูกมือชาวญี่ปุ่นที่ตกค้างก็หันไปรับจ้างโรงงานดัตช์คู่แข่งเก่า ทำงานฟอกหนังกวางในหมู่บ้านฮอลันดาที่อยู่ใกล้เคียงแทน อย่างไรก็ตาม ชาวญี่ปุ่นคาทอลิกเหล่านี้สร้างโรงสวดเล็ก ๆ ไว้ในโรงงานของฮอลันดาที่เป็นโปรเตสแตนต์ด้วย แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งในคริสต์ศาสนานิกายต่าง ๆ ในยุโรปไม่ค่อยมีผลนักในดินแดนเอเชีย 

เราทราบเพียงแต่ว่านายบ้านญี่ปุ่นคนสุดท้ายในสมัยพระเจ้าปราสาททองชื่อ เซนเอมอน อันโตนี จากชื่อนั้นเห็นได้ชัดว่าเป็นคริสเตียน หลังจากนั้นเราก็ไม่รู้จักชื่อนายบ้านญี่ปุ่นอีกเลย 

ในสมัยพระนารายณ์ พระองค์ทรงใช้ชาวจีนและชาวญี่ปุ่นเดินเรือสำเภา เนื่องจากเป็นอาชีพที่พวกเขาถนัด ประกอบกับนโยบายปิดประเทศของญี่ปุ่นตั้งแต่ พ.ศ. 2176 ที่ห้ามชาวต่างชาติผู้ใด ยกเว้นจีนและดัตช์ แต่งสำเภามาค้าขายกับญี่ปุ่นได้อีก การที่ทรงใช้ชาวจีนและญี่ปุ่นก็เพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามประการนี้ กอปรกับชาวญี่ปุ่นบางคนในอยุธยายังรักษาสัมพันธ์กับเครือญาติในเมืองท่านางาซากิไว้ได้ เป็นประโยชน์ต่อการค้า ทำให้รัชกาลของพระองค์ราว 30 ปี แต่งสำเภาไปญี่ปุ่นถึง 43 ครั้ง เห็นได้จากรายการเครื่องราชบรรณาการที่พระองค์ถวายแด่ พระเจ้าหลุยส์ เลอ กรองด์ (หลุยส์ที่ 14) ล้วนแล้วแต่เป็นงานศิลปะจากญี่ปุ่น

แต่กระนั้นหมู่บ้านญี่ปุ่นก็ค่อย ๆ เสื่อมความสำคัญลง คงเพราะนโยบายปิดประเทศ ห้ามชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าออกอีกต่อไป แรงงานญี่ปุ่นที่มีฝีมือก็ขาดแคลนลงเรื่อย ๆ หรือย้ายออกไปอยู่ที่อื่น 

หมู่บ้านญี่ปุ่นล่มสลาย

ชะตากรรมหมู่บ้านญี่ปุ่นยุคบ้านพลูหลวง ความจริงของบ้านแม่มะลิที่พรหมลิขิตไม่กล่าวถึง
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ภาพ : Ch3Thailand

หลังการรัฐประหารของพระเพทราชาก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง ราชวงศ์ใหม่ของพระองค์แทบไม่มีเวลาสนใจเรื่องการต่างประเทศ การรับราชสาส์นจากฝรั่งเศสที่ บาทหลวงตาชาร์ เพียรเทียวไปเทียวมาก็เป็นการรับรองอย่างแกน ๆ อย่างเสียมิได้ ราชสำนักรีบส่งตาชาร์กลับอินเดีย แล้วเน้นว่ายังรักษาความสัมพันธ์อันดีกับฝรั่งเศสอยู่ โดยมีตัวแทนฝรั่งเศสอยู่แล้วในกรุงคือบรรดาบาทหลวงมิชชันนารีที่วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา ซึ่งในสายตาของราชสำนักสยาม – เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นเสมือนสถานกงสุลสำหรับประเทศที่สยามไม่อยากยุ่งเกี่ยวด้วยอีก

ส่วนพวกบาทหลวงเยสุอิตก็พยายามปัดเรื่องหีบเครื่องเพชรที่มาดามฟอลคอนฝากไว้กับพวกตนขณะเกิดการปฏิวัติ หีบอัญมณีทั้ง 3 หีบก็หายสาบสูญไป กลับไพล่ไปพยายามจัดแจงให้คอนแสตนติน ฟอลคอน ได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘มรณสักขี’ หรือกระทั่งนักบุญผู้พลีชีพเพื่อศาสนาท่ามกลางชนชาติป่าเถื่อน แต่กระนั้นเรื่องนี้ก็เงียบหายไปตามกาลเวลา

พระเพทราชาใช้เวลาในรัชสมัยของพระองค์ไปกับการปราบกบฏที่ไม่พอใจการล้มราชวงศ์ปราสาททอง ทั้งกบฏเมืองนครราชสีมาและนครศรีธรรมราช รวมทั้งการส่งไพร่พลรุกรานเข้าไปในดินแดนล้านช้าง การต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันตกในระยะนี้จึงซบเซาลง หมู่บ้านญี่ปุ่นก็แทบจะร้าง

พระเจ้าเสือเมื่อทรงดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชปฏิพัทธ์ต่อมารี กีมาร์
ภาพ : Ch3Thailand

 ในสมัยพระเพทราชา-พระเจ้าเสือ มารี กีมาร์ ต้องทำงานหนักเพื่อรับใช้ราชสำนักตามที่ถูกลงโทษไว้ เนื่องจากนางไม่ยอมรับพระราชปฏิพัทธ์ของ หลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) ที่ต้องการนางเป็นสนม บางครั้งนางต้องแอบพายเรือจากที่คุมขังออกมาเพื่อไปนมัสการพระเจ้าในโบสถ์ที่หมู่บ้านโปรตุเกส ซึ่งอยู่ห่างไกลลงไปทางใต้มาก ต้องทนตากฝนและความหนาวเพื่อให้กลับมาทันตอนเช้าตรู่ บางครั้งนางเหนื่อยถึงกับสลบไปถึง 12 ชั่วโมง

หมอแกมเฟอร์ ที่มาพบเห็นนางเข้าในสมัยพระเพทราชา ยังกล่าวถึงนางและลูกน้อยว่าได้รับการปฏิบัติอย่างดูถูกดูแคลน ต้องเดินเร่ขอทานเลี้ยงชีวิต

มารี กีมาร์ และบุตรชาย ขณะถูกจองจำ
ภาพ : Ch3Thailand

เมื่อพระเจ้าเสือสวรรคต สมัยพระเจ้าท้ายสระผู้เป็นราชโอรส มารี กีมาร์ ได้รับการยอมรับอีกครั้ง ด้วยความขยันหมั่นเพียรของนาง ทำให้นางได้รับการอวยยศอีกครั้งให้เป็น ‘ท้าวทองกีบม้า’ เจ้าพนักงานคุมห้องเครื่องฝ่ายใน ดูแลพระภูษาและอาหารหวานคาวต่าง ๆ มีพนักงานในกำกับกว่า 2,000 คน (เป็นจำนวนที่เกินความเป็นจริงไปมาก หากเชื่อว่าจริงตามนั้น นางก็คงจะต้องเป็นหม่อมห้ามของกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งแล้ว)

เชื่อกันว่านางคงปรับสูตรขนมหวานตำรับโปรตุเกส-ญี่ปุ่น นำมาเผยแพร่ในราชสำนักด้วย เป็นที่สบพระทัยของพระเจ้าท้ายสระ อาจเพราะในช่วงนั้นนางเริ่มย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัวและมีลูกชายแล้ว จึงไม่มีผู้ใดสนใจความงามของนางเฉกเช่นพระเจ้าเสืออีก ส่วนลูกชายของนางคือ จอร์จ ฟอลคอน ก็ได้รับความโปรดปรานในราชสำนักด้วย พระเจ้าท้ายสระโปรดให้หัดเรียนภาษาไทยและพระองค์ทรงเป็นครูสอนให้เอง

ภาพครัวขนมตะวันตกจากตำราอาหารญี่ปุ่น เขียนเมื่อ พ.ศ. 2261 ร่วมสมัยพระเจ้าปราสาททอง แสดงการใช้เตาอบ และขนมหวานแบบยุโรปที่เข้าไปเผยแพร่ในญี่ปุ่นมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 แล้ว 
ท้าวทองกีบม้าก็คงเคยชินกับตำรับขนมลูกผสมโปรตุเกส-ญี่ปุ่นนี้เป็นอย่างดี 
ภาพ : Llibrary.tohoku.ac.jp

 กระนั้นก็ดี จากสนธิสัญญาที่พระเจ้าท้ายสระทรงทำกับพวกสเปน โดยทรงยกที่ดินบริเวณบ้านญี่ปุ่นให้พวกเขาตั้งสถานีการค้าได้ พวกเขาปักไม้กางเขนใหม่ ชื่อว่า Nuestra Señora del Soto y San Buenaventura ไว้กลางหมู่บ้าน อาจหมายความว่า หมู่บ้านญี่ปุ่นรกร้างลงจนแทบไม่มีคนอยู่ ส่วนท้าวทองกีบม้านั้นคงย้ายเข้าไปอยู่ในวังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือมิเช่นนั้นอาจได้รับทำเนียบเก่าในกรุงศรีอยุธยาของฟอลคอนคืน เพราะนางปฏิบัติศาสนกิจได้โดยเสรีและรับเลี้ยงอุปการะเด็กหญิงกำพร้ากว่า 120 คน โดยสอนให้พวกเขารู้จักพระคริสตธรรมและจัดการแต่งงานให้พวกนางด้วย 

พื้นที่บ้านญี่ปุ่นถูกเปลี่ยนมืออีกครั้ง เมื่อชาวสเปนไม่ประสบผลสำเร็จทางการค้าในอยุธยานัก และในที่สุดก็ต้องย้ายออกไป พื้นที่เดิมกลายเป็นที่รกร้าง ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เกิดข่าวพวกญวนเมืองจันทบุรีตั้งกลุ่มเป็นโจรสลัด พระเจ้าบรมโกศจึงโปรดให้กวาดต้อนชาวเวียดนามคริสตังจากจันทบุรีเข้าไปอาศัยแทน อาจเพราะเป็นกลุ่มคริสตชนเหมือนกัน แต่ก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

พวกญวนคงไม่ยอมอยู่ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ในคำให้การชาวกรุงเก่าได้พูดถึงบ้านญี่ปุ่นว่า ที่ตึกบ้านญี่ปุ่น บ้านญี่ปุ่นแต่ไทยอยู่ แปลว่าในช่วงเวลาท้ายสุดของกรุงศรีอยุธยา บรรดาชาวญี่ปุ่นคงเหลือน้อยเต็มที่จนคุมกันเป็นชุมชนไม่ได้ คนไทยจึงเข้ามาอาศัยตึกโกดังสินค้าอยู่แทน

แต่ก็ใช่ว่าชาวญี่ปุ่นในสยามจะหมดไปอย่างสิ้นเชิง เพราะในสมัยรัตนโกสินทร์ยังปรากฏทะเบียนศีลล้างบาปของโบสถ์ซางตาครู้สที่มีคนใช้นามสกุลยามาดะอยู่ อีกทั้งข้าราชการในกรมอาสาญี่ปุ่นก็ยังคงอยู่จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีถิ่นพำนักอยู่แถบวัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี

อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นเหล่านี้ไม่ใช่ญี่ปุ่นแท้ หากแต่อาจเป็นลูกหลานของข้าราชการญี่ปุ่นที่สืบเชื้อสายกันมา หน้าที่หลักในสมัยรัตนโกสินทร์คือการเป็นมูลนายควบคุมไพร่และคอยเก็บภาษีส่งรัฐ หรือการเข้ากระบวนแห่ร่วมในพระราชพิธีต่าง ๆ 

บ้านญี่ปุ่นในปัจจุบันคงเหลือแต่ชื่อเท่านั้น แม้จะมีกลุ่มนักโบราณคดีญี่ปุ่นเข้ามาสำรวจบ้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้จากการสำรวจนั้น เช่น รูปเจ้าแม่กวนอิม หรือเสาที่ทำจากไม้สนนำเข้า สูญหายไประหว่างสงคราม ปัจจุบันคงเหลือแต่พื้นที่ว่าง ๆ ซึ่งมีการจัดแสดงนิทรรศการความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นที่สืบทอดยาวนานมากว่า 600 ปี นับเป็นอีกหนึ่งชนชาติที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองและวัฒนธรรมในไทยอย่างน่าทึ่ง เมื่อคำนึงถึงระยะทางที่ห่างไกลกันมาก

Writer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช