***บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความหดหู่ ความตาย และความหวัง และมีภาพถ่ายของผู้เสียชีวิตในสงคราม
เจมส์ นาคท์เวย์ (James Nachtwey) คือหนึ่งในช่างภาพสงครามคนสำคัญที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก มีผลงานปรากฏในสิ่งพิมพ์ชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น National Geographic, LIFE หรือ TIME เป็นเจ้าของรางวัล The Robert Capa Gold Medal สำหรับช่างภาพผู้มีความกล้าหาญและความมุ่งมั่น 5 สมัย รวมถึงรางวัล Magazine Photographer of the Year 8 สมัย World Press Photo of the Year 2 สมัย และอีกกว่า 40 รางวัลจากเวทีทั่วโลกตลอดการทำงาน 42 ปี
ขณะนี้จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เจมส์นำผลงานหาชมยากกว่า 126 ภาพส่งตรงจากสตอกโฮล์มมาแสดงในนิทรรศการภาพถ่าย ‘James Nachtwey: Memoria’ จัดโดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิกที่ได้จัดแสดงผลงานของเขา รวมถึงเป็นครั้งแรกของโลกที่จะได้เห็นภาพถ่ายในสงครามยูเครน

เจมส์ นาคท์เวย์ เป็นทั้งช่างภาพ นักข่าว และพยานที่นำตัวเองไปอยู่แทบทุกเหตุการณ์สำคัญ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่ไม่ควรเกิดขึ้นให้ชาวโลกเห็น แต่การสะท้อนความจริงอันโหดร้ายไม่ใช่จุดหมายของชายผู้อยู่ในวงการมานานกว่า 4 ทศวรรษ
เขาชวนเรามองลึกเข้าไปในแววตาและท่วงท่าของบุคคลในภาพ
อำนาจของการหยุดเวลาทำให้เราเห็นเรื่องราวที่แฝงอยู่
ท่ามกลางมือที่พร้อมสะบัดออกจากกัน มือของแม่ยังพร้อมไขว่คว้าลูกเอาไว้ ท่ามกลางพรมแดนที่ปิดกั้นความหวัง พ่ออุ้มลูกฝ่าธารน้ำที่ละลายจากหิมะอันหนาวเย็นเพื่อเริ่มชีวิตใหม่ ท่ามกลางฝุ่นควันสีอิฐและเสียงเฮลิคอปเตอร์ เด็กน้อยในชุดกระโปรงฉลองวันนักบุญพากันออกมาดูการอพยพของทหาร ท่ามกลางการฆ่าฟัน ความเห็นอกเห็นใจยังส่องประกาย และท่ามกลางความโหดร้าย สันติภาพยังมีความหวังจะงอกงาม
ต่อจากนี้คืออุดมการณ์ที่ไม่เคยสั่นคลอนของช่างภาพผู้ถ่ายทอดโลกสีเทาในสงคราม และคุณค่าที่เขาค้นพบในวัย 75 ปี
“แต่จริง ๆ เราไม่ต้องคุยกันเรื่องอายุหรอก I’m timeless.” เขาว่า
Kharkiv

ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียยังคงดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับความสูญเสียที่ยังคงเกิดขึ้นแม้จะไม่ได้ปรากฏเป็นกระแสข่าวอย่างช่วงแรก กระนั้น สงครามไม่ใช่สิ่งที่ควรถูกเพิกเฉย เจมส์สะท้อนความคิดนี้ผ่านรูปที่ถ่ายไว้ในปี 2022 ณ เมืองคาร์คิฟ ประเทศยูเครน ขณะที่กองกำลังรัสเซียยิงจรวดโจมตีเขตพลเรือน ชายคนหนึ่งรีบขนสัมภาระเท่าที่ขนได้ใส่จักรยานเพื่อหนีตาย
เจมส์ลงพื้นที่ในเมืองคาร์คิฟและบูชาเพื่อบันทึกภาพให้ The New Yorker

“มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลก ความอยุติธรรม ความทุกข์ทรมาน การรุกราน ความรุนแรงที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน ไปจนถึงการละเลยเมินเฉย ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ควรหยิบยกมาพูดถึงและทำให้สังคมสนใจ
“มหาชนและผู้มีอำนาจควรได้รับข้อมูลเหล่านี้ เพื่อตระหนักถึงปัญหาและกระตุ้นให้ใครสักคนลงมือทำสิ่งที่ถูกต้อง หยุดการรุกราน ทำให้คนที่ถูกละเลยมีตัวตน ผมคิดว่านี่คืองานที่พวกเราทำ นี่คือความสำคัญขั้นพื้นฐานของสื่อมวลชน” เจมส์บอก
Bucha

“ที่นี่เหมือนโรงเชือด” เขาเล่าต่อ
ทหารรัสเซียคร่าชีวิตชาวยูเครนมากมาย เหตุการณ์ต่อจากนั้นคือการถอยทัพกลับ เหลือไว้เพียงร่างของผู้เสียชีวิตที่ถูกนำมารวมไว้ที่สุสานประจำเมืองบูชาเพื่อหาทางระบุตัวตน ถุงใส่ร่างถูกเปิดและปิดอยู่อย่างนั้น โดยหวังเพียงว่าการเปิดแต่ละครั้งจะได้พบหน้าคนที่สงครามพรากไป
หลากหลายความรู้สึกแผ่ซ่านและจมลึกเข้าไปในจิตใจของผู้พบเห็น น้ำตาอาจซึมออกมาทั้งที่บุคคลดังกล่าวไม่ใช่เครือญาติหรือคนรู้จัก ไม่จำเป็นต้องเก็บความรู้สึกใด ๆ เอาไว้ หากเกิดอะไรบางอย่างขึ้นภายในจิตใจของคุณ นั่นแปลว่าภาพของเจมส์เริ่มทำงานแล้ว
“รูปเหล่านี้ช่วยเชื่อมโยงผู้คน คุณไม่ได้อ่าน แต่คุณเห็น เห็นทั้งแววตา ท่าทางของพวกเขา ผมคิดว่าสิ่งที่มนุษย์ตอบสนองได้เร็วที่สุดไม่ใช่ตัวหนังสือแต่เป็นภาพ หากแม่ทั้งหลายเห็นเด็กน้อยกำลังทุกข์ทรมาน พวกเขาจะสื่อถึงกันทันที แม่จะเริ่มสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กเหล่านั้นและพยายามหาคำตอบ” เขาบอกว่าความพิเศษและจุดแข็งของรูปถ่าย คือการสื่อสารที่รวดเร็วและเป็นธรรมชาติ


เจมส์ยังคงแน่วแน่ในสายอาชีพ เขาไม่มีวี่แววจะเกษียณหรือออกจากวงการ นับตั้งแต่ตัดสินใจเรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเองเมื่อครั้งเรียนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและรัฐศาสตร์ที่ Dartmouth College โดยภาพของ แลร์รี เบอร์โรวส์ (Larry Burrows) ช่างภาพในสงครามเวียดนาม คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เจมส์เห็นถึงพลังของการบอกเล่าเรื่องราว แลร์รีนำเสนอความจริงของสงครามในหลากหลายมุม เจมส์ในวัยหนุ่มจึงค้นพบว่า วิธีการนี้ทั้งสื่อสารได้เร็วและแฝงไปด้วยความหมาย
“สิ่งที่เกิดขึ้นกับยูเครนคืออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ เราจึงควรสนับสนุนยูเครนเท่าที่ทำได้” เขาทิ้งท้ายสำหรับสงครามที่ทั่วโลกไม่อาจเมินเฉยได้อีกต่อไป
Kabul

ภาพถ่ายในปี 1996 จากย่านการค้ากลางเมืองคาบูล สู่ซากความทรงจำที่ปัจจุบันมีสภาพไม่ต่างจากพื้นผิวดวงจันทร์
“แต่ไหนแต่ไรมา เรามีนักคิดผู้เก่งกาจ มีนักปราชญ์ ผู้นำศาสนา และผู้นำทางการเมือง แต่ไม่มีใครที่สร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจริงบนโลกได้ ยังมีคนที่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด ผมเลยไม่คิดว่ารูปถ่ายหรืองานสื่อสารมวลชนจะสร้างสันติภาพได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่พวกเราทำคือการสะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ตรงหน้า”
เจมส์ไม่คิดว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นทันทีบนโลกที่แทบไม่รู้จักสันติภาพที่แท้จริงด้วยซ้ำ แต่เขาเชื่อว่าข้อมูลและความจริงที่ส่งออกมาจะเปลี่ยนความคิดของมหาชนเกี่ยวกับสงครามนั้นได้ กระแสโลกอาจเปลี่ยนไป เพราะเสียงของทุกคนส่งผลต่อการตัดสินใจทางการเมือง


เขาเล่าต่อว่าสงครามคือประสบการณ์อันทรงพลังและสร้างผลกระทบยิ่งใหญ่ ชนิดที่หลายคนจินตนาการไม่ถึง สงครามเปลี่ยนคน แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญไม่ใช่ว่าสงครามเปลี่ยนตัวเขาไปอย่างไร เพราะการได้เห็นความงดงามเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้ง คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เห็นว่าโลกใบนี้ยังมีความหวัง
“บางคนอาจมองว่าสงครามทำร้ายพวกเขา แต่มันให้ผลตรงข้ามสำหรับตัวผม ผมคิดว่ามันขยายความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สิ่งที่ทำให้สภาพจิตใจของผมมั่นคงและยังตั้งใจทำหน้าที่นี้อยู่ เพราะผมและเพื่อน ๆ รู้ดีว่างานนี้สำคัญขนาดไหน”
Darfur

นี่คือรูปที่ถ่ายในปี 2004 ท่ามกลางความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บในซูดาน ผู้คนถูกบังคับให้ออกจากบ้านและกระจายตัวไปยังแคมป์ต่าง ๆ แม่คนหนึ่งปลอบลูกชายที่เข้ารับการรักษาในศูนย์การแพทย์ ซึ่งจัดตั้งโดยองค์การแพทย์ไร้พรมแดน Médecins Sans Frontières
จากความใกล้ชิดที่เจมส์เข้าไปอยู่แทบทุกช่วงเวลา เราถามเขาว่าได้คุยกับคนในพื้นที่บ้างไหม
“ผมพูดภาษาของพวกเขาไม่ได้ แต่เมื่อไปอยู่ในสงคราม บางครั้งผมก็คุย บางครั้งก็ไม่ บางทีพวกเขาไม่ได้อยากสนทนากับคุณเท่าไหร่ เพราะกำลังยุ่งกับงานของเขาเอง”
แล้วถ้าได้คุย คุณจะคุยเรื่องอะไร – เราถามต่อ
“พวกเขาคือคนชายขอบ ไม่มีอำนาจ ถูกทำให้ไร้ตัวตน เสียงของพวกเขาส่งไปไม่ถึงไหน ผมเลยเป็นเหมือนคนส่งสารแทน ที่นี่เต็มไปด้วยเหยื่อของความอยุติธรรม พวกเขาอยากให้โลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนถึงขั้นเสี่ยงตายเพื่อเล่า


“เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมได้เป็นผู้ฟัง ผมจะฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ แต่หน้าที่ของผมคือการถ่ายทอดผ่านภาพ ดังนั้น ผมเลยตั้งสมาธิกับการกดชัตเตอร์ที่สุด”
สำหรับคนตัวเล็กที่เสียงไม่ดังหรือบางครั้งไม่มีอะไรเล็ดลอดจากปาก แม้แต่แผลเป็นบนใบหน้าก็เล่าเรื่องราวได้มากมาย ความหวาดกลัวและความหวังซ่อนอยู่ในดวงตาที่จับจ้องมายังอุปกรณ์ในมือของผู้มาเยือน
Ramallah

ระหว่างการประท้วงในปี 2000 ผู้ชุมนุมชาวปาเลสไตน์เริ่มขว้างปาก้อนหินและระเบิดขวดใส่ทหารอิสราเอลที่ติดอาวุธครบมือ อีกฝ่ายตอบโต้ด้วยการยิงปืนกระสุนจริงและกระสุนเหล็กกล้าเคลือบยาง ซึ่งทำให้บาดเจ็บร้ายแรงและอาจถึงขั้นเสียชีวิต
“รู้ไหมว่าพวกเขาปายังไงก็ไม่ถึง” เจมส์พาเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์
“ทหารอิสราเอลอยู่ห่างไปอีกไกลมาก ไม่มีทางที่ระเบิดขวดอัดแน่นด้วยแก๊สโซลีนพวกนี้จะโยนไปถึง แต่นั่นคือวิธีเดียวที่พวกเขาจะแสดงออกถึงการต่อต้าน เป็นสัญลักษณ์ของความโกรธและการประท้วงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น”


ท่ามกลางเหตุความรุนแรงที่อาจถึงตาย เราถามผู้มากประสบการณ์ว่าเขาเตรียมตัวอย่างไร
“ไม่รู้สิ ผมคิดว่าตัวเองทำงานนี้มานานมาก ได้รับการฝึกฝนให้พร้อมรับทุกสถานการณ์ รู้ว่าต้องเคลื่อนไหวยังไง ต้องทำอะไรให้ถูกที่ ถูกเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ถูกนะ” เขาเว้นช่วง “หวังว่าอย่างนั้น (ยิ้ม)”
Mostar

ปี 1993 เจมส์อยู่ในการรบชิงเมืองมอสตาร์ นี่คือการต่อสู้ระหว่างบ้านใกล้เรือนเคียงเมื่อกองกำลังติดอาวุธชาวโครเอเชียเข้ายึดอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง พร้อมขับไล่ผู้อยู่อาศัยชาวมุสลิมออกไป
บ้านหลังหนึ่งหันกระบอกปืนหาบ้านอีกหลัง แม้จะอยู่ด้วยกันมาหลายชั่วอายุคนก็ยังหันกระบอกปืนหากันได้ ในรูปนี้ ห้องนอนอันเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนกลับกลายเป็นสนามรบขนาดไม่กี่ตารางเมตร
แค่พูดว่าสงคราม ก็คงไม่ต้องถามต่อแล้วว่าชีวิตของชายคนนี้เจอมาหนักขนาดไหน
กระสุนแหวกอากาศพุ่งผ่านศีรษะไประหว่างสงครามแอฟริกาใต้ในปี 1994 เขายังจำความรู้สึกของเส้นผมที่ปะทะแรงกระสุนได้ดี เพื่อนของเขาคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต และอีก 2 คนบาดเจ็บ


เจมส์ยังเคยถูกยิงเข้าที่ขา ขณะปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม กปปส. ในประเทศไทยเมื่อปี 2014 เฉียดตายมาหลายหนจนไม่ต้องนับ อยู่ทั้งในสงครามและเหตุการณ์ภัยพิบัติ เคยบาดเจ็บจากระเบิดที่เอลซัลวาดอร์และอิรัก มีกระสุนฝังอยู่ตามร่างกาย และโสตประสาทได้รับความเสียหาย
“อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ไม่มีใครเดาออก ผมไม่ได้ไปยืนตรงนั้นเพราะอยากได้ภาพ มันคือหน้าที่ของสื่อมวลชน ผมเสี่ยงตาย ตั้งใจอุทิศชีวิต แต่เพราะตัดสินใจแล้วว่าต้องทำงานนี้ต่อไปไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผมยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น”
San Luis de la Reina

เจมส์เริ่มงานกับ Albuquerque Journal เป็นแห่งแรกในฐานะช่างภาพหนังสือพิมพ์เมื่อปี 1976 ใช้เวลาฝึกฝนฝีมือหลายปีจนได้ลงสนามเพื่อบันทึกเหตุการณ์ความขัดแย้งในต่างประเทศครั้งแรกเมื่อปี 1981 เขาตีตั๋วไปยังเมืองเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ พาตัวเองไปยืนท่ามกลางการต่อสู้ที่ผ่านไปเพียงเสี้ยววินาทีก็ถือเป็นประวัติศาสตร์
แน่นอน เจมส์ในวัยหนุ่มรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่เกิดตรงหน้า
และในปี 1984 เขาก็ถ่ายรูปเด็ก 3 คนนี้เอาไว้ ทหารลาดตระเวนเอลซัลวาดอร์ถูกซุ่มโจมตีโดยพลรบกองโจร เมื่อนำส่งทหารบาดเจ็บมาถึงสนามฟุตบอลหมู่บ้าน เด็กหญิง 3 คนในชุดฉลองประจำวันนักบุญออกมาจากโบสถ์ เพื่อดูกองทหารอพยพออกจากพื้นที่ทางเฮลิคอปเตอร์
“ดูไปรูปนี้กลับค่อนข้างน่าขัน เพราะมีความละเอียดอ่อนและความงดงามอยู่ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้” เขาว่า


Idomeni

ปี 2016 ทางการประกาศปิดพรมแดนระหว่างกรีซกับมาซิโดเนีย ผู้อพยพจึงต้องรอนานหลายสัปดาห์ภายในค่ายอพยพที่เต็มไปด้วยโคลน ท่ามกลางฝนตกและอากาศหนาว ผู้อพยพบางคนพยายามมองหาเส้นทางอื่น เช่น ช่องโหว่ตามแนวป่า จนมาถึงจุดที่ต้องเดินข้ามแม่น้ำเย็นยะเยือกที่ละลายจากหิมะบนยอดเขา พ่อคนนี้อุ้มลูกเอาไว้และเดินหน้าต่อไปอย่างมีความหวัง
อย่างที่เจมส์เล่าไปตอนต้น ภายใต้ความโหดร้าย ความรักและความเมตตายังปรากฏ
ทุกภาพเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกที่อัดแน่นในใจของเจมส์ หลายครั้งเขาโมโหสิ่งที่เห็นตรงหน้า ฉากผู้คนหนีตาย คนบริสุทธิ์โดนทำร้ายฉายซ้ำในทุกสนามรบ หลายเหตุการณ์ทำให้เขารู้สึกหดหู่ แต่ด้วยประสบการณ์และความเจนสนาม เขาและเพื่อน ๆ จึงค้นพบเป้าหมายของการทำงานในแนวหน้า


“ผมดึงสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ออกมา” เขาเว้นจังหวะ
“ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความรู้สึกอันแรงกล้าของคนที่อยู่หลังกล้อง ผมและเพื่อนอุทิศตัวเพื่อให้โลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อความเปลี่ยนแปลง เราเอาชีวิตไปเสี่ยงอันตรายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเชื่อในสิ่งนั้นจริง ๆ ไม่มีรูปไหนถ่ายมาโดยไร้ความรู้สึก เราไม่ได้กดชัตเตอร์อย่างบ้าคลั่ง มันจึงเต็มไปด้วยความปรารถนาและแรงผลักดันอันเต็มเปี่ยม”
เจมส์มองเราด้วยแววตามุ่งมั่น นี่คือชายวัย 75 ปีที่อุดมการณ์ไม่เคยสั่นคลอน
New York City

ปี 2001 ขณะที่เจมส์กำลังเริ่มเก็บภาพเหตุการณ์ 9/11 อาคารฝั่งใต้ของตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ก็ถล่มลงมาต่อหน้าต่อตา เขายังคงลั่นชัตเตอร์บันทึกประวัติศาสตร์ต่อไปโดยไม่ละสายตาจากช่องมองภาพ
“การมองสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านเลนส์เป็นความท้าทายอย่างมาก ความบังเอิญอาจเกิดขึ้นได้ แต่พวกเราไม่ทำงานบนความบังเอิญ
“เรารู้ว่ากำลังดูอะไร ทำอะไร เราใช้ฝีมือเพื่อให้ภาพเป็นไปตามความตั้งใจในการสื่อสาร การจัดองค์ประกอบทุกอย่างต้องมีความหมาย”


เจมส์ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เขาบันทึกเอาไว้ไม่ควรถูกลืม แต่สิ่งสำคัญกว่า คือการไม่ทำให้เกิดขึ้นซ้ำ
ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งจาก 126 ภาพที่นำมาโชว์ในงานนิทรรศการ James Nachtwey: Memoria หากใครอยากร่วมเป็นพยานผ่านภาพถ่าย รับรู้ความเป็นมาและสิ่งที่กำลังเป็นไปของโลก เราขอชวนคุณเดินหน้าไปพร้อมกับเจมส์ เพื่อสร้างการรับรู้สู่สันติภาพที่รอคอยการแบ่งบานในอนาคต
