มัวแต่เล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ที่ไม่สันทัดอยู่เป็นปี เพิ่งนึกขึ้นได้ว่ายังไม่เคยเล่าเรื่องที่ตัวเองถนัดที่สุดเลย 

คุณรู้จักภาษาอิตาเลียนบ้างไหม 

มา เอาเสื่อมาปู เดี๋ยวจะเล่าเกร็ดโน่นนี่ให้ฟัง รับรองได้ว่าไม่มีวิชาการเลยยยยย 

ภาษาอิตาเลียนมีเพศ

คุณพอระแคะระคายอยู่บ้างใช่ไหม ที่คุณสงสัยอาจเป็นเรื่องไปรู้ว่าสิ่งของโน่นนี่ดูเพศกันยังไง คำตอบก็คือ มันอยู่ที่คำ ในภาษาอิตาเลียนนั้น หากคำไหนลงท้ายด้วยเสียง -o ก็มักเป็นเพศชาย (เหมือน Mario, Francesco ฯลฯ) แต่ถ้าลงท้ายด้วย -a ก็มักเป็นเพศหญิง (เหมือน Maria, Francesca ฯลฯ) คงเหลือแต่คำที่ลงท้ายด้วย -e ที่ต้องท่องเอา

ตัวอย่างที่ดีของการไม่หมกมุ่นอยู่กับเพศของสิ่งของ แต่ควรไปหมกมุ่นอยู่ที่คำก็เช่น แตงโม ในภาษาอิตาเลียนมีอยู่ (เท่าที่รู้) 2 คำ หากคุณเรียกมันว่า Anguria มันจะเป็นเพศหญิง แต่หากคุณเรียกมันว่า Cocomero มันจะเป็นเพศชาย อย่างนี้เป็นต้น ใช่ ลูกเดียวกันนี่แหละ

ภาพ : gabriella clare marino on Unsplash

ภาษาอิตาเลียนไม่ใช่ภาษาประจำชาติของอิตาลี

งงไหม ทั้งนี้เพราะในรัฐธรรมนูญอิตาลีไม่ได้ระบุว่าภาษาอิตาเลียนเป็นภาษาประจำชาติ แม้จะมี ส.ส. บางคนพยายามให้บรรจุลงไป แต่ก็ไม่เคยสำเร็จแม้แต่ครั้งเดียว

สถาบันรำข้าว

ภาษาอิตาเลียนซึ่งเป็นภาษากลางที่ทุกคนต้องเรียนนั้น คือภาษาของของเมืองฟลอเรนซ์หรือภาษาของแคว้นทัสกานี สถานการณ์ภาษาอิตาเลียนลุ่ม ๆ ดอน ๆ มากนับแต่รวมประเทศ เพราะคนในแคว้นอื่น ๆ ต้องหันมาเรียนภาษานี้กันหมด 

สถาบันที่ดูแลภาษาอิตาเลียนหรือราชบัณฑิตยสถานของอิตาลี มีชื่อว่า ‘Accademia della Crusca’ (อัคคาเดเมีย เดลลา ครูสกา) ก่อตั้งมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 หรือก่อนที่จะกำหนดให้ภาษาฟลอเรนซ์เป็นภาษากลางด้วยซ้ำ ชื่อสถาบันแปลว่า ‘สถาบันรำข้าว’ ทั้งนี้เพราะตั้งขึ้นมาเพื่อขัดสีฉวีวรรณภาษาอิตาเลียนให้เหลือแต่เนื้อแท้ที่บริสุทธิ์ไว้ ประหนึ่งการสีข้าวนั้นแล สัญลักษณ์ของสถาบันจึงเป็นเครื่องสีข้าว

คำที่ยาวที่สุดในภาษาอิตาเลียน

คำที่ยาวที่สุดในภาษาอิตาเลียนที่คนอิตาเลียนทุกคนรู้จักดี และไม่ใช่ศัพท์เชิงเทคนิคคือคำว่า Precipitevolissimevolmente (อ่านว่า เปร-ชิ-ปิ-เต-โว-ลิซ-ซิ-เม-โวล-เมน-เต) ได้รับการบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 1712 ปัจจุบันมักใช้พูดเล่นกันในสุภาษิตว่า Chi troppo in alto sal, cade sovente precipitevolissimevolmente. แปลว่า ใครที่ขึ้นสูงเกินไป มักจะล้มตกหกคะเมนเกนเก้เย้โย้หัวคะมำถลำลึกจูบฝุ่นตะครุบกบ 

คำนี้มีทำไม และ คำไหนทำไมไม่มี

คำศัพท์ในภาษาอิตาเลียนที่ไม่น่าจะมีเลย ก็มี เช่น Gattara (กัตตารา) แปลว่า หญิงผู้เลี้ยงแมวจรจัด Menefreghista (เมเนเฟรกิสตา) คนซึ่งไม่สนสี่สนแปดอะไรทั้งสิ้น เป็นอาทิ

ในขณะที่คำง่าย ๆ ไม่มี เช่นคำว่า ‘ยืน’ ต้องใช้คำว่า ‘อยู่บนเท้า’ คำว่า ‘ขอยืม’ คำเดียวโดด ๆ ก็ไม่มี จะขอยืมของใครต้องใช้โครงสร้างว่า ‘จงให้ฉันยืม’ ถ้าคนอิตาเลียนพูดอะไรอย่างนี้ออกมา โปรดเข้าใจ

ภาพ : marco testi on Unsplash

สำนวนภาษาแปลก ๆ

ประโยคที่ใช้ถามว่า วันนี้วันที่เท่าไหร่ ในภาษาอิตาเลียนแปลได้ว่า ‘เรามีมันอยู่เท่าไหร่’ 

เสียงที่มีปัญหา

นอกจากเสียง ง งู และสระอือ ซึ่งชาติไหน ๆ ก็ออกไม่ได้แล้ว เสียงที่ไม่มีในระบบภาษาอิตาเลียนอย่างที่บางคนอาจไม่นึกไม่ฝันคือเสียง ฮ นกฮูก และ ว แหวน จะออกเสียง ว แหวน อิตาเลียนต้องตั้งปากอุ่นเครื่องไว้ที่เสียง อู ก่อน คนไทยที่ชื่อ ‘ว่าน’ ไปอิตาลีกลายเป็นชื่อ ‘อ้วน’ ทุกคน

แต่! (แบบตะโกน) คนในแคว้นทัสกานีออกเสียงนี้ได้ แต่!! (ตะโกนอีกที ให้ดังกว่าเก่า) ดันไปออกในที่ที่ไม่ควรออก นั่นคือไปออกในจังหวะที่เป็นเสียงตัว ค / ก เช่น เรียก ‘โคคาโคล่า’ ว่า ‘โฮฮาโฮลา’ ได้ยินครั้งแรกแทบทัดดอกลั่นทม ส่ายเอวพลิ้ว กินสับปะรด

Ciao คำทักทายสุดฮิต

ไม่ได้ออกเสียงว่า ‘เซี้ยว’ แต่ออกว่า ‘ชาว’ อันมาจากภาษาถิ่นเวนิส แปลว่า (ข้าขอเป็น) ทาส (ของท่าน)

ขอบคุณ

คำว่าขอบคุณ หรือ Grazie เป็นคำพหูพจน์ ต้องลงท้ายด้วย ‘ซีเย’ เสมอ หากลงท้ายด้วย ‘เซีย’ จะเป็นชื่อคน อยากออกเสียงให้ถูก เชิญที่นี่ 

คำเดียวกันแต่มีความหมายตรงข้าม

คำบางคำก็มีความหมายตรงกันข้ามกันอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะสื่อสารกันได้ เช่น คำว่า ‘เช่า’ กับ ‘ให้เช่า’ เป็นคำเดียวกัน คือ Affittare (อ่านว่า อัฟ-ฟิต-ตา-เร) เคยบอกอิตาเลียน อิตาเลียนม้วนต้วน ไม่นึกว่าภาษาตัวเองจะมีอะไรอย่างนี้

การยืมคำ

คำกริยาในภาษาอิตาเลียนทุกคำต้องมีหาง เพื่อที่จะได้สับหางทิ้งแล้วใส่หางใหม่เพื่อบอกประธาน ดังนั้น เมื่อมีการยืมคำจากภาษาอื่น (เช่น อังกฤษ) เข้ามา จึงจะต้องเสริมหางเสียก่อน โดยส่วนใหญ่มักใส่หาง -are เพราะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด อย่างเช่น Chat และ Click ก็จะกลายเป็น Chattare และ Cliccare ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ทำกับคำว่า Scan ไม่ได้ เพราะจะแปลว่า ฆ่าปาดคอ ไปในทันที

ส่วนคำนามบางคำก็กลายคำแปลไปเสียจนเจ้าของภาษาจำไม่ได้ เช่น Smoking แปลว่า ชุดทักซิโด Golf นอกจากเป็นชื่อกีฬาแล้ว ยังแปลว่า เสื้อสเวตเตอร์ได้ด้วย

ภาพ : vlad namashko on Unsplash

เรารักเรียนเรื่อง ร-ล หรือล้อเล่น

การกระดกลิ้นหรือรัวลิ้นเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน เพราะหากไม่กระดก คำว่า ‘อื่น ๆ’ อาจกลายเป็นคำว่า ‘สูง’ ชื่อแม่น้ำอาร์โนแห่งเมืองฟลอเรนซ์ อาจกลายเป็น รูทวาร หรือคำว่า ‘ฉันอ้วน’ อาจมีคนฟังเป็น ‘ฉันคืออวัยวะเพศชาย’ ก็ได้

นี่เพื่อนเอง

คำอวยพรว่า ‘โชคดี’ ในภาษาอิตาเลียนแปลตรงตัวได้ว่า ‘ขอให้เข้าปากหมาป่าไป’ และตามธรรมเนียมต้องไม่ตอบด้วยคำว่า ขอบคุณ หากแต่ต้องตอบด้วยคำว่า ‘ไปตายซะ’

ไม่มีไอติมแมกนัมในอิตาลี

มีแต่ ‘มันยุม’ เพราะตัว gn ออกเสียงเป็น -นย- เหมือนที่เราออกเสียง Lasagna ไง แล้วสระ U ของอิตาเลียนก็ออกเสียง อู ได้อย่างเดียว

ภาพ : rashid khreiss on Unsplash

จริง ๆ มีอีกหนึ่งอย่างที่คันปากอยากจะบอก นั่นคือชื่อคนไทยที่คนอิตาเลียนตาพอง 

แต่บอกตรงนี้คงไม่เหมาะ 

ไว้เจอกันค่อยกระซิบก็แล้วกัน…เนอะ

ภาพ : gabriella clare marino on Unsplash

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า