29 สิงหาคม 2023
1 K

เดือน 7 ในทัศนะคนจีน เขาว่าเป็นเดือนผี

เพราะตลอดทั้งเดือนนี้ ยมบาลจะเปิดประตูให้ภูตผีที่กำลังชดใช้กรรมอยู่ในนรกภูมิออกมารับการเซ่นสังเวยของมนุษย์บนโลกได้เป็นกรณีพิเศษ

ความเชื่อว่าเดือน 7 เป็นเดือนผีมีมาแต่นมนานกาเล จากความเชื่อของคนจีนโบราณว่าเทพเจ้าประจำเดือนนี้เป็นเทพแห่งความตาย ผีร้ายเร่ร่อนจะออกอาละวาดหนักหน่วง แม้เดือน 7 เป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว แต่ผลผลิตที่ได้มาจะนำไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีผีพวกนี้คอยแย่งผีบรรพบุรุษกินหรือทำร้ายคนเป็นด้วยความหิวโหย จึงต้องแยกการไหว้บรรพบุรุษและไหว้ผีไม่มีญาติออกเป็นคนละส่วน

คนจีนไม่น้อยกลัวเดือน 7 มองเป็นเดือนอัปมงคลที่สุดในรอบปี ถึงกับห้ามจัดงานรื่นเริงอย่างแต่งงานหรือขึ้นบ้านใหม่ ลูกหลานบ้านไหนยังมีอาม่าอากงที่เคร่งครัดในประเพณีจีนอยู่ ก็อาจเคยถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกจากบ้านตอนกลางคืน ห้ามเข้าใกล้น้ำ ห้ามผิวปากหรือขานรับอะไรซี้ซั้ว เพราะไม่แน่ว่าสิ่งที่เข้ามากระทบระบบประสาทสัมผัสของเรานั้น… อาจไม่ใช่สิ่งมีชีวิตก็ได้

ถึงอย่างนั้น เดือน 7 ก็ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องเลวร้าย

อย่างความเชื่อทางพุทธศาสนาที่จีนรับมาจากอินเดียก็สอนว่าเดือนนี้คือเดือนมหากุศล เนื่องจากพระสงฆ์นิกายมหายานของจีนจะเข้าพรรษาช่วงเดือน 4 และออกพรรษาเมื่อถึงเดือน 7 การได้ทำบุญกับพระที่จำพรรษามาครบ 3 เดือนเต็มย่อมได้อานิสงส์มากโข

นี่จึงเป็นเดือนบุญใหญ่ที่คนจีนนิยมทำบุญเผื่อแผ่ส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชน ผีไร้ญาติ เปรต สัมภเวสี ฯลฯ ภาพที่เราจะได้พบเป็นประจำตลอดทั้งเดือนนี้คือกิจกรรมการเซ่นไหว้ สร้างกุศลผลบุญให้กับผู้ล่วงลับ ตั้งแต่วัน 1 ค่ำที่ประตูยมโลกเปิด จนถึง 29 หรือ 30 ค่ำ เดือน 7 ซึ่งเหล่าบรรดาดวงวิญญาณถูกเรียกกลับเข้าสู่นรก

ในประดาวันไหว้ทั้งมวลของเดือนนี้ คงไม่มีวันไหนเป็นที่รู้จักมากกว่า 15 ค่ำ วันกึ่งกลางเดือน 7 ที่คนจีนเมืองไทยมักเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า ‘ชิกหง่วยปั่ว’ (七月半)

ส่วนคนไทยทั่วไปจะรู้จักในชื่อ ‘วันสารทจีน’

วันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ปี 2022 ผมลืมตาตื่นที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย

เท้าความกลับไปเมื่อ 2 เดือนก่อนหน้า เมื่อรู้ว่าสารทจีนปีนี้ตรงกับช่วงหยุดยาววันแม่เสียเหมาะเจาะ เลยชักชวนเพื่อนซี้ที่เป็นลูกหลานชาวจีนภูเก็ตไปเที่ยวปีนัง ค่าที่ทราบมาว่าคนมาเลเซียเชื้อสายจีนให้ความสำคัญกับเทศกาลเดือนผีมาก ฉะนั้น วันไหว้ใหญ่กลางเดือน 7 ก็น่าจะมีอะไรให้ดูเยอะกว่าไทย

อย่างแรก คือเทวรูปของเจ้าแห่งเปรตและภูตผีทั้งหลายที่ทางบ้านผมเรียกว่า ‘ไต่สือเอี๊ย (大士爷)’ ที่ตามศาลเจ้ามักทำรูปเคารพของท่านจากหุ่นกระดาษ ตั้งบูชาเฉพาะช่วงเดือน 7 เดือนเดียว

ทุกปีที่เดือน 7 เวียนมาถึง ภาพเทวรูปกระดาษองค์ไต่สือเอี๊ยที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่งในปีนังจะขึ้นหน้าฟีดเฟซบุ๊กเสมอ ความสูงใหญ่ราวภูเขาเลากาขององค์ท่านกระตุ้นต่อมความอยากรู้อยากเห็นของผม กลายเป็นปณิธานแรงกล้าว่าต้องไปชมไต่สือเอี๊ยองค์ใหญ่ที่สุดในมาเลเซียด้วยตาตัวเองให้จงได้

อย่างที่ 2 คืองิ้วหุ่นกระบอกที่เมืองไทยแทบไม่มีให้เห็น แต่ในมาเลเซียหาดูง่าย นี่ก็เป็นอีกสีสันหนึ่งในช่วงเดือน 7 ที่ผมไม่อยากพลาดเมื่อมีโอกาสไปถึงที่นั่น

“เกาะปีนังสมัยก่อนเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเกาะภูเก็ตบ้านมึง คนจีนที่นั่นส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยนเหมือนคนจีนที่ภูเก็ต เทศกาลหลาย ๆ อย่างก็คล้ายกัน น่าไปดูที่ปีนังบ้างนะ” ผมป้ายยาเพื่อนพร้อมกับอวดรูปถ่ายไต่สือเอี๊ยกระดาษองค์ยักษ์ให้ดู ทำเอาเขาตาลุกวาวด้วยความตื่นเต้น

“เจ้าองค์นี้ที่ภูเก็ตเรียก ‘พ้อต่อก๊อง (普渡公)’ มีศาลเจ้าด้วย คนบ้านกูศรัทธาท่านมาก น่าไปว่ะ”

ทริปเที่ยวปีนังช่วงสารทจีนของเราจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยประการฉะนี้

1 วันก่อนสารทจีน เครื่องบินหางแดงจากกรุงเทพฯ โผขึ้นฟ้า นำผมมาถึงจังหวัดสงขลา ที่ซึ่งผมใช้เวลาทั้งวันท่องเที่ยวชมเมือง และทั้งคืนที่โรงแรมในอำเภอหาดใหญ่ ก่อนตื่นแต่ไก่โห่ ลากกระเป๋าไปขึ้นรถไฟขบวน 947 หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์

ทันทีที่เข็มนาฬิกาเขยื้อนบอกเวลา 07.30 น. ขบวนรถก็พุ่งทะยานจากชานชาลาไปยังสถานีปลายทาง ซึ่งเป็นด่านพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย ร่องรอยความเจริญของเมืองเริ่มถูกแทนที่ด้วยทุ่งนาและบ้านไม้ที่ดูจะบางตาลงไปทุกขณะ ภายใน 40 นาที รถขบวนดีเซลรางปรับอากาศก็มาหยุดจอดที่ด่าน ตม.ปาดังเบซาร์ (Padang Besar)

ผมรับตราปั๊มเข้ามาเลเซียหนที่ 2 ในชีวิต ขณะที่เพื่อนเพิ่งได้มาเป็นครั้งแรก เราทั้งคู่รอรถไฟฟ้าด่วน ETS ที่นั่นอีก 1 ชั่วโมงกว่ารถไฟฟ้าขบวนที่รอคอยจะมาถึง

นักท่องเที่ยวไทยหลายกลุ่มนิยมเดินทางไปเที่ยวปีนังด้วยวิธีเดียวกันนี้ เนื่องจากปลายทางของรถไฟฟ้าขบวนนี้จะวิ่งไปสุดสายที่สถานีบัตเตอร์เวิร์ท (Butterworth) ที่ตั้งของท่าเรือข้ามฟากจากฝั่งแผ่นดินไปเกาะปีนัง (Penang Island) เมืองมรดกโลกที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน

แต่จุดหมายแรกของพวกเรายังไม่ใช่เกาะปีนัง หากเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ในรัฐปีนังฝั่งแผ่นดินใหญ่อย่าง บูกิต เมอร์ตาจัม (Bukit Mertajam) เมืองอันเป็นที่ตั้งของไต่สือเอี๊ยองค์นั้น

ผมขออธิบายเพิ่มเติมอีกสักนิดว่าดินแดน ปีนัง (Penang) ซึ่งมีความหมายว่า หมาก นั้น มีทั้งส่วนที่เป็นเกาะในทะเลอันดามัน และส่วนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ของมาเลเซียตรงข้ามกับเกาะดังกล่าว รวมกันเรียกว่า รัฐปีนัง (Penang State) แต่ก่อนทั้งหมดนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสุลต่านไทรบุรี หรือ เกอดะฮ์ (Kedah) ที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อสยามมาก่อน จนกระทั่งอังกฤษแลเห็นชัยภูมิที่ดีของเกาะปีนัง จึงขอเช่าเกาะปีนังจากสุลต่านแห่งไทรบุรีในปี 1786 ด้วยการปกครองบริหารที่ดีของอังกฤษ ปีนังจึงพัฒนาจากเกาะว่างเปล่าไร้ความสำคัญ มาเป็นเมืองท่าที่สำคัญลำดับต้น ๆ ในคาบสมุทรมลายู

ครั้นเมื่อประเทศมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ มีการแบ่งการปกครองออกเป็น 13 รัฐ รัฐปีนังเป็นหนึ่งในนั้น แต่ขอบเขตของรัฐปีนังไม่ได้มีแค่ส่วนเกาะที่เจริญมาแต่เดิมเท่านั้น หากยังกินขอบเขตไปถึงแผ่นดินฝั่งตรงข้ามเกาะอย่าง บูกิต เมอร์ตาจัม นี้เข้าไปด้วย

ชื่อ Bukit Mertajam เป็นภาษามลายู หมายถึง ภูเขาแหลม เพราะที่นี่มีเขาลูกหนึ่งซึ่งมียอดสูงแหลมเป็นจุดสังเกต แต่ตัวผมที่คลุกคลีกับคนพูดภาษาจีนแต้จิ๋ว ก็จะคุ้นกับชื่อในภาษาแต้จิ๋วที่เรียกเมืองนี้ว่า ตั่วซัวคา (大山腳) ตรงกับ ‘ต้าซันเจี่ยว’ ในภาษาจีนกลาง แปลว่า ตีนเขาใหญ่ คงเพราะคนจีนสังเกตเห็นตีนเขาที่ลาดยาวของเขาแหลมลูกนั้น

ความที่พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และความเจริญไปกระจุกอยู่บนเกาะเสียหมด พื้นที่ฝั่งแผ่นดินของรัฐปีนังจึงแทบไม่มีนักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมชม อำนาจการท่องเที่ยวยังแผ่มาไม่ถึง สภาพโดยรวมของเมืองบูกิต เมอร์ตาจัม จึงยังดูเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไร้ซึ่งการปรุงแต่ง ตึกชิโน-ยูโรเปียนที่นี่ดูเก่ากร่อนทรุดโทรมไปตามอายุ หลายหลังถูกทิ้งร้างหรือปล่อยพัง ชาวบ้านหลายคนสนทนาภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติไม่ได้ โรงแรมก็หายากเย็นแสนเข็ญ กว่าจะมาลงเอยที่ห้องพักโกโรโกโสที่สกปรกสุดบรรยาย

แต่ถ้ามองโลกในแง่ดี (อย่างที่ผมพยายามทำ) ความเรียบง่ายธรรมดาของบูกิต เมอร์ตาจัม ก็ทำให้ผมได้เห็นวิถีดั้งเดิมของคนจีนในมาเลเซียที่ยังรักษาธรรมเนียมการไหว้เดือน 7 อย่างเคร่งครัด เห็นได้จากเศษกระดาษที่เผาไหม้บนพื้นถนน หรือธงศาลเจ้าที่ปลิวไสว บ่งบอกถึงการจัดเทศกาลสำคัญนี้

ตกเย็นวันที่ 14 เดือน 7 ยามตะวันจวนจะลาลับขอบฟ้า สังขารที่เริ่มอ่อนล้าจากการเดินเที่ยวรอบเมืองตั่วซัวคาของผมกับเพื่อนก็ก้าวมาถึงปากทางเข้าศาลเจ้าแป๊ะกงโจ๊ยซึ่งพวกเราตั้งใจมา

ศาลเจ้าแห่งนี้มีอายุมากกว่า 150 ปี สร้างอุทิศแด่ ‘แป๊ะกง’ หรือเจ้าที่ เป็นที่เคารพสักการะของคนจีนในเมืองนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยนและจีนแต้จิ๋ว มีภาษาและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน มีธรรมเนียมว่าทุก ๆ เดือน 7 ทางศาลเจ้านี้จะต้องสร้างหุ่นกระดาษของไต่สือเอี๊ยที่มีขนาดใหญ่โตเสมอ

ศาลแป๊ะกงโจ๊ยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจีนที่บูกิต เมอร์ตาจัม มานานนับ 100 ปี แต่แล้วในปี 2019 ศาลเจ้าก็เกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่ตัวศาลจนต้องปิดซ่อมแซมนานหลายปี แม้ในปีที่ผมไปก็ยังซ่อมไม่เสร็จ ยังคงล้อมรั้วสังกะสี แล้วเชิญกระถางธูปทองเหลืองออกมานอกพื้นที่ก่อสร้างให้สาธุชนได้ปักธูปกัน (แต่ล่าสุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว)

ธรรมดาศาลเจ้าที่แป๊ะกงแห่งนี้ไม่ได้คึกคักมากนัก ทางเดินข้างศาลเป็นที่ตั้งของรถเข็นขายอาหารกับโต๊ะ-เก้าอี้สำหรับลูกค้าที่ต้องการนั่งรับประทาน ต้องรอให้ถึงเดือน 7 ก่อน เมื่อนั้นร้านอาหารทั้งหมดจึงจะถอยร่นไปขายริมถนนใหญ่ เปิดทางให้กับลูกหลานชาวจีนที่ทยอยเดินเข้าออกขวักไขว่ตลอดเวลา

ยิ่งค่ำเท่าไหร่ คนก็ยิ่งหลั่งไหลเข้ามามากเท่านั้น ตลอดทางมีกระดาษเงินกระดาษทองมากมายกองกันอยู่เป็นตั้ง ๆ มีทั้งที่กำลังวางจำหน่ายและได้ผู้ซื้อแล้ว กลิ่นธูปโชยฉุนทั่วอาณาบริเวณ ทั้งจากธูปที่ปักในกระถางใบใหญ่และที่เสียบกระจายในจานอาหารสักการะ

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของสถานที่จัดงานที่ผมไม่เคยมา ตาทั้งสองของผมเหลือบไปเห็นเทวรูปกระดาษองค์โตของไต่สือเอี๊ยที่ประทับเด่นเป็นประธานอยู่หน้ากระถางธูป สีสันบาดตาที่ประดับอยู่บนชุดเกราะ หมวกเกราะ และพระพักตร์ของท่าน เขย่าใจผมให้เต้นแรงด้วยความตื่นตา ยิ่งเมื่อเทียบกับขนาดตัวมนุษย์ที่ดูเหมือนจะสูงแค่ช่วงพระชานุ (เข่า) ในอิริยาบถนั่งของท่านแล้ว ยิ่งทำให้ผมพึงพอใจที่ได้มาเห็นไต่สือเอี๊ยปางนั่งองค์ใหญ่ขนาดนี้ที่ไม่น่าจะหาได้จากศาลเจ้าใดในเมืองไทย

ทั้งนี้ ไต่สือเอี๊ย หรือ พ้อต่อก๊อง ยังมีชื่อในภาษาสันสกฤตว่า ‘พระอมฤตราชโพธิสัตว์’ เป็นร่างจำแลงของ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (เจ้าแม่กวนอิม) ตำนานของท่านปรากฏใน พระสูตร บทหนึ่งของพุทธนิกายมหายาน โดยกล่าวว่าเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงพระธรรมเทศนาที่กรุงกบิลพัสดุ์ พระอานนท์ปลีกตนออกไปเข้าฌานสมาบัติที่โคนต้นไม้ใหญ่ มีเปรตตนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นเบื้องหน้าพร้อมทั้งแจ้งนามแก่พระเถระว่า ‘อัคนีชวาลมุขเปรต’ เป็นเปรตรูปร่างสูงใหญ่แต่เนื้อหนังหุ้มกระดูก ลำคอเล็กเท่ารูเข็ม ใบหน้าสีเขียว แยกเขี้ยว พ่นเปลวไฟออกจากปาก

เปรตตนนั้นโอดครวญต่อพระอานนท์ว่ากำลังหิวกระหายอย่างหนัก ขอให้ท่านอุทิศสิ่งอุปโภคบริโภคแก่ฝูงเปรต ถ้าท่านไม่ทำภายใน 3 วันนั้น ท่านจะมรณภาพ สร้างความตกใจกลัวแก่พระอานนท์ ท่านจึงนำความกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระบรมศาสดาจึงตรัสอธิบายว่าเปรตตนนั้นคือพระโพธิสัตว์กวนอิมผู้มีปณิธานโปรดปวงสัตว์ให้หลุดพ้นทุกข์ จำแลงกายมาเป็นอุบายให้พระพุทธองค์แสดงพระธรรมเทศนาแก่พระอานนท์ต่อไป

เศียรของไต่สือเอี๊ยจะมีรูปเจ้าแม่กวนอิมอยู่เสมอ เพื่อแสดงว่าท่านคือนิรมาณกาย (ร่างจำแลง) ขององค์พระโพธิสัตว์กวนอิม

ตำนานของไต่สือเอี๊ยก่อกำเนิดเป็นพิธีทิ้งกระจาดมหาทาน หรือ ซิโกว (施孤) ที่คนจีนนิยมทำทานกันในเดือน 7 คือการเซ่นไหว้ผีไร้ญาติและแจกจ่ายทานแก่ผู้ยากไร้ที่มารอรับทาน เพื่อเป็นการควบคุมดวงวิญญาณสัมภเวสีผีเร่ร่อนให้อยู่ในความสงบ ไม่แย่งชิงส่วนบุญหรือทำร้ายผู้คน ก็จะมีการสร้างเทวรูปของท่านเพื่ออัญเชิญมาเป็นประธานในมณฑลพิธี

แต่เพราะคนจีนไม่นิยมทำรูปเคารพของไต่สือเอี๊ยเป็นการถาวร จะอัญเชิญมาเฉพาะช่วงที่ทำซิโกวเท่านั้น ตามศาลเจ้าจึงสร้างเทวรูปไต่สือเอี๊ยจากกระดาษ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมทั้งหมดจะเผาเทวรูปองค์นั้นไปพร้อมกับเครื่องกระดาษต่าง ๆ นัยว่าเป็นการส่งเสด็จท่านกลับไป แล้วสร้างองค์ใหม่ในปีหน้า

ดูจากขนาดและความประณีตของเทวรูปไต่สือเอี๊ยที่ศาลเจ้าแป๊ะกงโจ๊ยแล้ว หลังกราบสักการะเสร็จแล้ว ผมกับเพื่อนอดนึกเสียดายไม่ได้ เมื่อรู้ว่าในอีกไม่กี่วันให้หลังเทวรูปที่ชาวจีนในย่านนี้เคารพศรัทธาจะต้องเผาไหม้ไปในกองไฟพร้อมกับเครื่องกระดาษเหล่านี้

ครั้นแล้วอีกใจหนึ่งก็คิดได้ว่ามันคือสัจธรรมที่ไม่มีสิ่งใดอยู่ได้ค้ำฟ้า ไม่เว้นแม้แต่ร่างจำแลงของพระโพธิสัตว์ หากไต่สือเอี๊ยล่วงรู้ความคิดของผม ท่านก็คงสอนให้ผมได้ตัดใจในความอนิจจังนี้เหมือนกัน

ได้มาเห็นไต่สือเอี๊ยองค์ใหญ่สุดในมาเลเซียสมใจแล้ว แต่ความประทับใจของผมไม่ได้หยุดอยู่แค่วินาทีที่ได้ก้มกราบหรือปักธูป เมื่อการได้สังเกตธรรมเนียมปฏิบัติของคนมาเลเซียเชื้อสายจีนยังชวนให้ผมเห็นข้อแตกต่างหลายจุดที่น่าเทียบเคียงกันคนจีนบ้านเรา

เริ่มจากช่วงวัยของคนที่มาไหว้เจ้า ในขณะที่เทศกาลสารทจีนหรือไหว้เดือน 7 แทบจะเหลือแต่คนเฒ่าคนแก่ที่ยังถือปฏิบัติกันอยู่ แต่คนจีนที่นี่ยังนิยมไหว้กันทุกเพศทุกวัย ภาพเด็กวัยรุ่นในชุดนักเรียนมัธยมชักชวนกันมาจุดธูปไหว้ไต่สือเอี๊ยที่ศาลเลยเป็นเรื่องปกติของคนท้องถิ่น ซึ่งหากเป็นที่ไทยคงรู้สึกประดักประเดิดทั้งฝ่ายผู้ไหว้และผู้พบเห็นเป็นแน่แท้

เรื่องการจุดเทียนแดงที่คนไทยเชื้อสายจีนค่อนข้างถือ ห้ามจุดเทียนต่อจากเทียนคนอื่นที่ปักอยู่ก่อน คนมาเลเซียเชื้อสายจีนกลับนิยมจุดเทียนต่อกันเป็นปกติ ถือว่าเป็นการส่งต่อความโชติช่วงชัชวาล

รวมไปถึงการเผากระดาษ ที่บ้านเราต้องหาถังหรือเตามาใส่เป็นเรื่องเป็นราว คนบ้านเขาก็จุดไฟเผาบนพื้นถนนหน้าบ้านตนเอง แล้วค่อยตามเก็บกวาดทีหลัง

ทั้งหมดนี้เป็นความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่รวมกันเป็นคติชนวิทยาก้อนใหญ่ที่น่าค้นคว้าต่อไป

ที่ศาลแป๊ะกงโจ๊ย เมืองบูกิต เมอร์ตาจัม ความตั้งใจในการดูงิ้วของผมกลายเป็นหมัน เพราะปีนั้นศาลเจ้าเพิ่งกลับมาจัดงานหลังงดไปหลายปีช่วงโควิดระบาด เมื่อกลับมาจัดก็ยังว่าจ้างงิ้วจากต่างประเทศ เช่น จีน ไทย มาแสดงฉลองเนื่องในเทศกาลสำคัญนี้ไม่ได้

แม้ไม่ได้ดูงิ้วคนแสดง แต่อีกหลายวันถัดจากนั้นผมก็ได้ดูงิ้วหุ่นกระบอกคณะท้องถิ่นของปีนัง คือคณะหุ่นกระบอกแต้จิ๋วกิมเง็กเหล่าชุง (Kim Giak Low Choon Puppet Opera) ซึ่งหมุนเวียนไปแสดงตามศาลเจ้าต่าง ๆ ตลอดเดือน 7

หุ่นกระบอกประเภทนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘หุ่นสายลวด’ เพราะที่หลังของพวกมันมีก้านไม้ยาวสำหรับควบคุมการเคลื่อนไหว ทั้งดนตรี ชุด ฉาก วิธีการขับร้อง และเรื่องที่แสดงก็เหมือนงิ้วคน เพียงแต่ลดขนาดเวทีและเปลี่ยนจากคนแสดงเองเป็นเชิดหุ่น ศาลเจ้าบางแห่งที่มีพื้นที่จำกัดหรือมีทุนไม่มากก็จะใช้วิธีว่าจ้างคณะงิ้วหุ่นกระบอกมาเล่นแทนงิ้วคน

และอีกหนึ่งบรรยกาศที่ขาดไปไม่ได้สำหรับช่วงเดือนนี้ คือการแจกทานแก่บรรดาคนยากคนจนที่มักผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามศาลเจ้า โรงเจ หรือสมาคม มูลนิธิต่าง ๆ

ถึงเดือน 7 จะเป็นเดือนผี เดือนอัปมงคล หรือเดือนไม่พึงประสงค์ตามความเชื่อของหลาย ๆ บ้าน แต่เราก็ไม่ควรลืมว่านี่คือเดือนแห่งความกตัญญูและเกื้อกูลที่ลูกหลานมีต่อบรรพบุรุษ คนเป็นมีต่อคนตาย หรือคนมั่งคั่งมีต่อคนยากไร้

เหล่านี้ต่างหากที่เป็นสารัตถะสำคัญของ ‘เดือนผี’ ที่ใครหลายคนหวาดกลัว

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย