‘หัวหิน’ เป็นทะเลโปรดของคนไทยมานาน เริ่มตั้งแต่มีการสร้างทางรถไฟสายใต้มาถึงหัวหินเมื่อ พ.ศ. 2454 จากนั้นก็มีการสร้างบ้านพักของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ สร้าง ‘โรงแรมรถไฟ’ โรงแรมชายทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งพาให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศชายทะเลแห่งแรกของประเทศไทยไปด้วย
วันเวลาผ่านไป บ้านเราก็ผุดแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมาอีกนับไม่ถ้วน แต่ถึงอย่างนั้น หากอยากไปพักผ่อนกายใจกับญาติมิตรในช่วงวันหยุดสั้น ๆ หัวหินก็ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่ผู้คนนึกถึง ด้วยความน่ารักเรียบง่ายของเมือง ความสวยที่จับต้องได้ของชายหาด และที่สำคัญคือเดินทางง่าย ถ้าเทียบกับการนั่งรถจากภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศลงไปเที่ยวทะเลใต้
แต่ในความคลาสสิกนั้น ก็ยังมีสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่
“หัวหินเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวมาก แต่ไม่ค่อยมีพื้นที่สาธารณะติดทะเลที่ให้คนเข้าไปได้โดยไม่ต้องเสียเงิน ถ้าลองนึกดู เวลาไปหัวหิน เราก็ต้องไปพักโรงแรม เดินเข้าร้านอาหาร เราถึงจะไปทะเลได้” ปุ๊ก สถาปนิกชุมชนว่า
และมากไปกว่าพื้นที่ติดทะเลที่นักท่องเที่ยวต้องการ ‘พื้นที่สาธารณะดี ๆ’ สำหรับให้เจ้าบ้านใช้พบปะพูดคุยกัน ออกกำลังกาย เข้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็เรียกว่ายังขาดแคลนการพัฒนายิ่งกว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวเสียอีก
ด้วยเหตุนี้ พื้นที่สุดท้ายจาก 8 พื้นที่ ใน ‘โครงการลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน’ โครงการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือร่วมกับท้องถิ่น 4 จังหวัดภาคกลางตอนล่าง จึงมาอยู่ที่หัวหิน
ปุ๊ก-นฤมล พลดงนอก สถาปนิกชุมชน และ เป้-รัฐพงศ์ ปิ่นแก้ว ภูมิสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ จะมาแชร์เรื่องราวของโปรเจกต์เนรมิตสวนหลวงราชินีที่ทรุดโทรม 19 ไร่ และพื้นที่ข้างเคียงอีก 6 ไร่ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เดียวในหัวหิน ตอบโจทย์ความต้องการอันหลากหลายของคนท้องถิ่นและผู้มาเยือน ทั้งการออกกำลังกาย เล่นกีฬา การจัดงานแฟร์ การทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม การค้าขาย การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และการพักผ่อนริมทะเลโดยไม่ต้องเสียเงินเข้า
ตามหาพื้นที่ที่ใช่
อาศรมศิลป์ได้เข้าหาเลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน เพื่อคุยในขั้นแรก
“พอเราอธิบายโครงการและเป้าหมายที่อยากจะพัฒนาพื้นที่สาธารณะโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ทางเทศบาลเขาก็เห็นด้วยและชอบมาก เพราะว่ามันไปตรงกับโครงการที่เขาทำอยู่แล้ว คือ หัวหินสร้างสุข” ปุ๊กเริ่มเล่าที่การพูดคุยกับท้องถิ่น
จากนั้นเทศบาลก็เตรียมหลากหลายพื้นที่ในความดูแลมาเสนอทีมออกแบบ แล้วทีมออกแบบก็ทำ Site Analysis วิเคราะห์ไซต์กลับไปให้เทศบาล
เทศบาลเสนอมาทั้งหมด 4 พื้นที่ด้วยกัน ได้แก่ พื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำเขาเต่า พื้นที่ริมคลองใกล้โรงเรียนเขาตะเกียบ พื้นที่เลียบคลองบริเวณชุมชนบ่อฝ้าย และสวนหลวงราชินี 19 ไร่
“จากการวิเคราะห์ทุกพื้นที่ เราคิดว่าสวนหลวงราชินีนี่แหละที่ทำแล้วเกิดประโยชน์มากที่สุด ตอบโจทย์คนในชุมชน แล้วก็เป็นพื้นที่ของเทศบาล การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่น่าจะทำได้ง่าย” ปุ๊กสรุปการตัดสินใจให้เราฟัง ซึ่งหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่เลือกพื้นที่นี้มาดำเนินโครงการ คือการที่มีส่วนหนึ่งติดทะเล
“จริง ๆ ตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะอยู่แล้วนะคะ แต่เริ่มเก่า และยังต้องพัฒนาให้ใช้งานได้ดีขึ้น”
สวนหลวงราชินี 19 ไร่ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกที่มีบริเวณใหญ่ที่สุดเป็นศูนย์รวมราชการ มีอาคารตำรวจท่องเที่ยว ศูนย์ดับเพลิง มีการสร้างเป็นศูนย์โอท็อปไว้ แต่ไม่มีการจัดการที่ดีจึงเริ่มรกร้าง มีส่วนออกกำลังกายอย่างคอร์ทแบดมินตัน สนามฟุตซอล และมีพื้นที่ลานคอนกรีตขนาดใหญ่ที่คนหัวหินใช้จัดมหกรรมงานแฟร์ต่าง ๆ ปีละ 1 – 2 ครั้ง ส่วนที่สองเป็นพื้นที่ติดทะเลที่รอการพัฒนา
นอกจากนี้ ยังมีบริเวณที่เชื่อมต่อกับสวนหลวงราชินีอีก 6 ไร่ ซึ่งเทศบาลให้เพิ่มเติมมา เดิมทีเป็นพื้นที่รกร้าง และมีคลองสำหรับระบายน้ำจากตัวเมืองลงทะเล เมื่อรวมสวนหลวงราชินีและพื้นที่ที่เพิ่มมาแล้ว ก็จะมีพื้นที่โครงการทั้งหมด 25 ไร่
รู้จักคนหัวหิน
“หลังจากคุยกับเทศบาล เราก็ลงชุมชนเพื่อสำรวจ ทำความรู้จัก ถามความเห็นชาวบ้านเบื้องต้น” โฟกัสกรุ๊ป เป็นงานพาร์ตสำคัญที่ทีมสถาปนิกชุมชนจะได้ไปเห็นบริบทเดิม มองภาพกิจกรรม หรือภาพคนในพื้นที่ออก งานนี้กินเวลา 2 วันในการคุยกับกลุ่มชาวบ้านต่าง ๆ
“เราลงไปที่ชุมชนของเขา ก็เลยได้รู้ว่าป้า ๆ เขาอยู่กันแบบนี้นะ ที่เขาเป็นกลุ่มลีลาศ เขาเต้นกันอยู่ตรงนี้นะ สมาชิกเขามีเท่าไหร่” ปุ๊กบอกว่าหัวหินมีกลุ่มกิจกรรมที่แน่นแฟ้น สถาปนิกจึงต้องทำการบ้านเรื่องนี้ให้มาก
เมื่อรู้จักชุมชนเบื้องต้นแล้ว อาศรมศิลป์ก็จัดเวทีใหญ่ที่เทศบาล เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่
“เวทีที่นี่คนมาเยอะมาก อยากได้กี่คนก็บอกได้เลย ถ้าขอ 80 ก็ได้ 100 ขอ 100 ก็ได้ 150” ปุ๊กเล่าอย่างอารมณ์ดี หัวหินเป็นอีกที่ที่เธอประทับใจเรื่องการมีส่วนร่วมมาก “ทุกคนอยากมาแสดงความคิดเห็น เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สำคัญ พอเขารู้ว่าเทศบาลจะพัฒนา ทุกคนก็ตื่นเต้น อยากมาร่วมรับฟัง”
“พื้นที่สาธารณะที่หัวหินมีอยู่มันไม่ตอบโจทย์ ไม่เอื้อให้คนมาใช้งาน ทุกคนมองแต่เรื่องท่องเที่ยว เรื่องทะเล แต่เรื่องพื้นที่สุขภาวะที่มาจากความต้องการของคนในพื้นที่ยังไม่ค่อยได้รับการพัฒนาเท่าไหร่”
คนนับร้อยในวันนั้นคือกลุ่มคนที่เทศบาลเชิญมา มีทั้งกลุ่มผู้ใช้งานเดิม หน่วยงานราชการที่อยู่ในพื้นที่ กลุ่มชุมชนที่อยู่ในละแวกนั้น กลุ่มกิจกรรมที่คิดว่าจะมาใช้งาน อย่างกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มลีลาศ กลุ่มกีฬา แบดมินตัน ฟุตซอล และโรงเรียนต่าง ๆ
“นอกจากจะมีคนในชุมชนโดยทั่วไปแล้ว พ่อค้าแม่ค้าก็เข้ามา ส่วนใหญ่เขาจะกลัวการถูกไล่ที่ เวลาเราไปเดินลงไซต์ แล้วดูเหมือนเป็นคนมาพัฒนาพื้นที่ เขาถามเราว่าจะไล่ที่เขาไหม” เป้พูด ปกติแล้วในสวนหลวงราชินีจะมีร้านค้า บ้างเป็นรถเข็นหาบเร่แผงลอย บ้างก็เป็นซุ้มที่ได้สัมปทานขาย
สถาปนิกชุมชนได้นำความต้องการที่สำรวจจากชาวบ้านในวันนั้น มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากการลงชุมชนตอนแรก แล้วนำมาสรุปผลร่วมกัน จากนั้นก็ส่งไม้ต่อให้ทีมออกแบบแลนด์สเคปไปเก็บข้อมูลด้านกายภาพของสวนหลวงราชินี
“เราพาน้อง ๆ ในทีม 7 – 8 คน ไปเดินสำรวจ พูดคุยกับคนในสวนว่าเขามาทำอะไร ต้องการอะไรบ้าง พอตกเย็นเราก็มาเริ่ม Sketch Design กันว่าผังจะเป็นยังไง” ภูมิสถาปนิกอธิบายวิธีการทำงาน
ในที่สุดก็แบ่งพื้นที่ 25 ไร่ ออกมาเป็น 4 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ สวนเพื่อการออกกำลังกาย สวนศิลปะและวัฒนธรรม สวนแห่งการพักผ่อน และสวนแห่งการเรียนรู้
สร้างสวน-สร้างสุข
“คอนเซ็ปต์เราคือสวนสร้างสุข” เป้เล่าถึงแบบ Final ที่ได้
สร้างสุข หมายถึงทั้งสุขกายและสุขใจ ที่ชุมชนได้มีส่วนร่วมออกแบบตามความต้องการ มีการแบ่งโซนที่เหมาะสม แต่ก็เชื่อมต่อพื้นที่เพื่อการปฏิสัมพันธ์ ปลอดภัยสำหรับคนและรถ ทั้งยังมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ปรับปรุงระบบนิเวศด้วยแนวคิดของ ร.9 เป็นที่ระลึกที่สวนอยู่ใกล้วังไกลกังวล
“เราคงหลายฟังก์ชันไว้ที่ตำแหน่งเดิม เช่น สนามฟุตซอล สนามแบดมินตัน หรือเวที แล้วเราก็ปรับปรุงพื้นที่และแทรกกิจกรรมต่าง ๆ เข้าไป” เป้เริ่มอธิบายที่ส่วนแรก ‘สวนเพื่อการออกกำลังกาย’ “อย่างสนามฟุตซอลเดิม เราปรับปรุงพื้นผิวใหม่ให้มีความเป็นทะเล แล้วก็เพิ่มลู่วิ่งลูปเล็กที่จะเชื่อมต่อกับลูปใหญ่ข้างนอก”
“ตรงนี้เมื่อก่อนจะเป็นเวทีเดิม มีลานโล่งไว้จัดงานเทศกาลต่าง ๆ ปีละ 1 – 2 ครั้ง จริง ๆ เราอยากทำลานให้เป็นสวนเลยนะครับ แต่ชุมชนกังวลว่าจะจัดกิจกรรมไม่ได้ ก็เลยดีไซน์เป็นต้นไม้แทรกเข้าไป ลดความร้อนของพื้นที่ดาดแข็ง เพื่อให้คนมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ในทุก ๆ วัน และเมื่อถึงเวลาที่เขาจะใช้งานใหญ่ก็จัดได้ รถยนต์ก็ยังเข้าไปจอดได้เหมือนเดิม ส่วนเวทีเราก็ปรับปรุงให้ดีขึ้น”
พื้นที่สตรีทอาร์ตที่เคยมี นักออกแบบก็คงไว้ที่มุมเดิม เพิ่มเติมคือขยายพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์ชาวหัวหินมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และจัดความเรียบร้อยให้ดี
สำหรับการแยกขยะเพื่อนำไปรียูส-รีไซเคิล ซึ่งเมืองนี้มีกลุ่มคนและนักเรียนที่จัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว อาศรมศิลป์ก็ได้จัดทำ Station สำหรับแยกขยะให้เป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น รวมถึงศึกษาความต้องการของกลุ่มแยกขยะในการดีไซน์ Station ด้วย
“ส่วนต่อมาเป็นพื้นที่ศิลปะและวัฒนธรรมครับ” เขาเล่าต่อเนื่องมาถึงส่วนที่ 2 “ตรงนี้มีอาคารเดิมเป็นศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์ขายของโอท็อป แล้วก็มีตำรวจท่องเที่ยว เราเลยยึดโยงกับเรื่องราวเดิม โดยเพิ่มพื้นที่ชาน ทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกอาคารให้คนเข้ามาใช้งานได้ มีคอร์ทสำหรับการแสดงศิลปวัฒนธรรม มีพื้นที่ให้ผู้สนใจในกิจกรรมนั่งดู”
แล้วกลุ่มกิจกรรมของหัวหิน อย่างป้า ๆ กลุ่มลีลาศที่เหล่าสถาปนิกชุมชนได้ไปเยี่ยมเยียนมาในตอนแรก ก็จะได้ใช้พื้นที่ศิลปวัฒนธรรมนี้ในการฝึกซ้อม
มาถึงส่วนพื้นที่ติดทะเล ซึ่งเรียกว่าเป็น ‘สวนแห่งการพักผ่อน’ สำหรับทำกิจกรรมสบาย ๆ
สถาปนิกพยายามรักษาลักษณะเดิมไว้ สนามเด็กเล่นที่มีก็ยังคงอยู่ แต่ปรับปรุงให้กลายเป็นธีมทะเล เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับทะเลเมื่อได้มาเล่น มีการปรับปรุงศาลาให้ผู้สูงอายุมาพบปะพูดคุย นั่งเล่นหมากฮอร์สกัน
“แสดงดนตรีในสวนได้ด้วยนะครับ” เป้เปิดภาพ Amphitheatre ที่ทีมออกแบบให้เราดู “วันไปดูไซต์ เราเห็นกลุ่มดนตรีของหัวหินมาเล่นกัน ก็เลยเตรียมพื้นที่รองรับให้เขา”
ส่วนพื้นที่หน้าหาด ก็ปรับปรุงลดความดาดแข็งของโครงสร้างให้สวยงามน่าใช้งานมากยิ่งขึ้น ต่อไปคนหัวหินและนักท่องเที่ยว ก็จะเข้ามาทำกิจกรรมพร้อมดื่มด่ำวิวทะเลกับครอบครัวได้ที่นี่
ถนนด้านหน้าของสวนแห่งการพักผ่อนที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างแต่ละโซน ได้เปลี่ยนวัสดุปูพื้นให้มีความรู้สึกว่าเป็นถนนที่คนเดินถึงกันได้มากขึ้น ทำกิจกรรมได้มากขึ้น และรองรับร้านค้าต่าง ๆ ที่มาตั้งได้ พร้อมทั้งมีการทำที่จอดรถรองรับใกล้ ๆ เพื่อให้ผู้คนใช้วิธีจอดด้านนอกแล้วเดินเข้าไป แทนการขับต่อมาจอดถึงด้านใน และผ่านบริเวณที่เป็นจุดเชื่อมของแต่ละโซนนี้
“เราอยากเชื่อมแต่ละพื้นที่ให้คนแต่ละกลุ่มมีการปฏิสัมพันธ์กัน” เป้พูดถึงหนึ่งในแนวคิดของสวนสร้างสุข “อย่างคนที่มาเพื่อออกกำลังกาย เขาก็เชื่อมไปที่การเรียนรู้วัฒนธรรมได้ คนที่มาพักผ่อน ดูทะเล เขาก็จะศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมจากสวนแห่งการเรียนรู้ได้”
‘สวนแห่งการเรียนรู้’ ส่วนสุดท้ายที่เป้อธิบาย เป็น Station เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการบำบัดน้ำ
จากเดิมที่เป็นจุดรับน้ำเสียจากตัวเมืองหัวหินอยู่แล้ว ทางภูมิสถาปนิกก็ได้ศึกษาจากกรณีโครงการพระราชดำริแหลมผักเบี้ย แล้วปรับปรุงระบบที่นี่ให้เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น จากตอนแรกที่เป็นคอนกรีต ก็ปรับปรุงใหม่ มีการปลูกต้นไม้น้ำเพื่อลดความเป็นดาดแข็งลงไป โดยเลือกพืชพรรณที่ทนความเค็มและเน้นต้นไม้ท้องถิ่น ซึ่งผู้ที่ได้มาเยือนสวนแห่งการเรียนรู้นี้ จะได้เรียนรู้กระบวนการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทะเลในบรรยากาศที่น่าเดินเล่น
“เราเพิ่มแลนด์มาร์กตรงส่วนนี้เป็นหอชมวิว ขึ้นไปชมเมืองหัวหินและวิวทะเลได้” เป้บอกกับเราว่านี่เป็นการเพิ่มจุดสนใจให้คนเดินมาเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ ซึ่งนอกจากคนที่มาใช้สวนจะเข้ามาชมได้แล้ว เมื่อปรับปรุงใหม่จะเปิดทางเข้าบริเวณหลังวัดไกลกังวล เพื่อให้คนจากวัดเข้ามาใช้ได้ด้วย
หัวหินหลากมิติ
“บางทีคนจะมองแค่เรื่องเศรษฐกิจ พัฒนาพื้นที่แค่แหล่งท่องเที่ยว แต่ลืมเรื่องคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วคนที่ขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ ก็คือคนหัวหินที่ทำอาชีพบริการ ทำอาชีพค้าขาย เราต้องให้ทำเขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี” ปุ๊กพูดในฐานะคนนอกที่เข้าไปคลุกคลีกับคนท้องถิ่นจนผูกพัน
“ถ้ากายดี ใจดี สังคมดี มันจะส่งผลไปเรื่องเศรษฐกิจเอง”
จากที่มองเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวทั่ว ๆ ไป ตอนนี้หากนึกถึงหัวหิน ปุ๊กเห็น ‘คน’ มากขึ้น เวลาไปเธอก็จะชอบเข้าไปคุยกับคน ดูว่าเขากำลังทำกิจกรรมอะไรกัน เธอได้รู้แล้วว่าที่นี่มีผู้คน วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนเมืองไปในทุกวัน จนเป็นที่ที่คนไทยยังนึกถึง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่
“พื้นที่ 25 ไร่ ตรงนี้ ถ้ามัน Success คนก็จะรู้จักหัวหินในหลายมิติ”
ทีมออกแบบวาดหวังว่า เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ พื้นที่เรียนรู้สวนหลวงราชินีนี้จะเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวแวะมาใช้เวลา มาดูสวนบำบัดน้ำ เดินช้อปของกินจากรถเข็น พาลูกชมคนหัวหินเล่นดนตรี มานั่งเล่นดูคลื่นอย่างสบายอารมณ์ร่วมกับคนในพื้นที่
แล้วทะเลหัวหินก็จะไม่เป็นเพียงของคนที่มาทานอาหารในร้านริมหาด หรือคนที่จ่ายเงินนอนโรงแรมอีกต่อไป แต่กลายเป็นทะเลของทุกคนอย่างแท้จริง
ภาพ : สถาบันอาศรมศิลป์