ร้านขนมหวานขนาดเล็กแห่งหนึ่งบนถนน La Trobe เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023 กลิ่นหอมของเมนูในความทรงจำลอยคลุ้งเรียกแขกมาต่อคิวตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีมเจลาโต้โฮมเมดรสชาไทย บิงซูมะพร้าวไข่แดง บิงซูข้าวเหนียวมะม่วง ขนมปังสังขยา นมเย็น ไมโลโรงเรียน ไอศกรีมโบราณ หรือโชกุปังใบเตยมะพร้าวอ่อน

ทั้งที่หลายอย่างในร้านยังไม่เรียบร้อยดี เจ้าของควบหน้าที่รับออร์เดอร์ ทำขนม เสิร์ฟอาหาร จนถึงเป็นช่างซ่อมบำรุงด้วยตัวเอง แต่ด้วยความที่อยากคว้าทุกโอกาสเพื่อเติบโตอย่างมั่นคงในออสเตรเลีย กลุ่มชาวไทยมือใหม่จึงทุ่มสุดตัวในเวลาเพียง 1 เดือน เพื่อเปิดร้านและทำให้ ‘Homm’ ร้านขนมหวานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากขนมหลากหลายชนิดในเอเชียกลายเป็นร้านที่ประจำท้องถิ่นที่ใครมาก็ต้องรู้จัก

จนถึงตอนนี้ โชกุปัง 200 จานยังไม่พอเสิร์ฟ เบส-ชยธร ศักดาทร เจ้าของเพจ ลักพาตัวแฟนมาเป็น Aussie แพรว-แพรวทิพย์ สายไทย ภรรยาของเบส และ บี-ภัทรานิษฐ์ จันทร์อินทร์ จึงตัดสินใจขยายร้านเพิ่มอีก 2 สาขาหลังเปิดร้านเพียง 6 เดือน อะไรทำให้ร้านเล็ก ๆ ริมถนน La Trobe แห่งนี้กล้าไขว่คว้าโอกาสและยอมรับความเสี่ยงขนาดนี้ พวกเขาบริหารธุรกิจของหวานที่ความนิยมไม่แน่นอนอย่างไร 

The Cloud ต่อสายตรงชวนเบสพูดคุยก่อนเขาต้องไปเปิดร้านต้อนรับลูกค้าที่กำลังรอชิมของอร่อยด้วยความมุ่งมั่น

กว่าจะ Homm

“วันหนึ่ง ผมเดินไปเปิดร้านตอนบ่าย 3 มีลูกค้ายืนรอเต็มไปหมดจนไม่น่าเชื่อสายตา ผมคิดว่าไฟไหม้เสียอีก เพราะคนมุงเยอะมาก แต่ใช่ครับ เขามารอเข้าร้านเรา” เบสเริ่มด้วยประสบการณ์มือสั่นครั้งแรก หลังจากนั้นทุกวันคิวก็ไม่เคยลด แถมยังยาวจนร่มไม้หน้าร้านไม่พอบังแดด เขาและหุ้นส่วนจึงตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการยอมรับความเสี่ยงเปิดร้านอีก 2 สาขา คือ Melbourne Central ที่ห่างกันแค่ถนนขั้น และสาขา Box Hill ที่ห่างออกไปอีก 20 กิโลเมตร

แต่กว่าจะมาถึงขั้นนี้ ไม่มีอะไรง่าย ปลายสายบอกว่า การเปิดธุรกิจที่ประเทศออสเตรเลียยุ่งยากด้วยกฎหมาย แต่อย่างน้อยก็เป็นกฎหมายที่พร้อมคุ้มครองสิทธิประโยชน์ในทุกด้านทั้งผู้ลงทุนและผู้บริโภค ซึ่งสิ่งนี้สมเหตุสมผลกับน้ำพักน้ำแรงและต้นทุนที่ลงไป ต่างจากเมืองไทยที่การเปิดร้านมีขั้นตอนน้อยกว่า แต่รักษาธุรกิจเอาไว้ได้ยากกว่า เพราะผู้ประกอบการต้องเผชิญทั้งปัญหาทั่วไปจนถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง 

“ผมกับแพรวเคยอบขนมขาย แต่ไฟดับ จะให้อบ ๆ หยุด ๆ ก็ไม่ได้ พอจะล้างอุปกรณ์น้ำก็ไม่ไหล ทำไมเราต้องแบกรับทุกความเสี่ยงเอาไว้” เบสทดความเจ็บใจนี้เอาไว้ในใจ เพราะหลังจากนั้นมันก็ถูกนำไปรวมกับความเจ็บใจตอนที่เขาช่วยธุรกิจครอบครัวของแพรว ซึ่งเบสรับหน้าที่ดูแลเอกสารทางราชการ แต่แล้วก็ถูกแซงคิว เขาต้องต่อสู้กับระบบที่ไม่เป็นระเบียบเฉกเช่นประชาชนคนอื่น ๆ

“เลยตัดสินใจกลับออสเตรเลีย ทั้งที่ตอนผมจากประเทศไทยมาตอนอายุ 12 มาใช้ชีวิตที่ออสเตรเลียกับครอบครัว ภาพจำของบ้านเกิดมันสวยมาก ผมหวังจะกลับไปอยู่ ไปสร้างชีวิตที่นั่น แต่หลายอย่างไม่เอื้อให้ชีวิตวัย 20 ปลาย ๆ อยู่ได้อย่างมั่นคง” 

จากครั้งแรกที่เลือกกลับไปทำงานเมืองไทยพร้อมคนรัก มีบ้าน มีครอบครัวให้พึ่งพิง มีรถให้ขับ มีธุรกิจให้สานต่อ ตอนนี้สองสามีภรรยากลับไม่มีอะไรเลยแม้กระทั่งอาชีพ พวกเขาใช้เงินเก็บทั้งหมดในการแย่งตั๋วเครื่องบินราคาแพงในช่วงโควิด-19 แล้วมาเริ่มใหม่แบบงง ๆ พร้อมเงินเพียง 800 ดอลลาร์ที่แดนจิงโจ้ นั่นคือการเผาสะพานครั้งแรก

“ผมเป็นพลเมืองที่นี่อยู่แล้ว พอแต่งงานกับแพรว เธอก็ได้ Permanent Residence (PR) ด้วย แต่มันไม่ง่ายเลย เราพยายามอย่างหนักเหมือนที่พยายามในไทย จนต่างคนต่างได้งานที่ออสเตรเลีย จากที่ต้องเช่าโรงแรมนอน ไม่มีบ้าน มีแต่เสื้อผ้า เราก็เก็บเงินซื้ออะพาร์ตเมนต์ได้ใน 8 เดือน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีความสุข

“วันหนึ่ง ตอนเช้าบีมาเรียนโยคะกับแพรว เขาก็คุยไอเดียกันว่าอยากทำร้านขนมหวาน อยากตั้งรกรากที่นี่ บีที่มีความรู้เรื่องการจัดการการเงินก็เอาด้วย ไม่ถึง 4 ชั่วโมง บีโทรมาบอกแพรวว่าได้เงินทุนแล้ว พวกเขารอผมตื่น ผมตื่นมางง ๆ แต่ก็เอาด้วย

“จริง ๆ ต้องบอกว่า พอ HOMM ไม่ได้มีแค่แพรวและผมอีกต่อไป เลยต้องทําให้เกิดขึ้นจริงได้แล้ว”

สำหรับเขาและภรรยาที่เคยเผาสะพานมาแล้วครั้งหนึ่ง การเผาสะพานอีกครั้งเพื่อเปิดกิจการในออสเตรเลียจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก

Homm แล้ว

หอม หมายถึง กลิ่นหอม

ฮอม ภาษาเหนือ หมายถึง การรวมกัน

Homm อ่านได้ทั้ง 2 แบบ เพราะไม่ว่าจะอ่านแบบไหนก็สื่อถึงกลุ่มคนไทยไฟแรงที่อยากส่งขนมพวกเขาให้ครองใจทุกคนที่มาเมลเบิร์น โดยความลับของสำเร็จคือ ‘กลิ่น’ เพราะเบสเชื่อว่า ขนมจะอร่อยหรือไม่อยู่ที่กลิ่นเป็นสำคัญ ซึ่งนั่นคือหัวใจของขนมไทยเช่นกัน

เขามีร้านขนมหวานชื่อดังที่ชื่นชอบสมัยอยู่ประเทศไทยเป็นแรงบันดาลใจในการเปิดร้าน แต่ Homm ต้องพิเศษกว่านั้น เพราะมีกลุ่มเป้าหมายเป็น Global Asian แถมยังเป็นร้านเล็ก ๆ ที่ต้องอยู่ในกระแสที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ของวงการขนมหวานให้ได้

นอกจากวัตถุดิบคุณภาพ ใส่ใจทำเองทุกขั้นตอน เรื่องการออกแบบยังต้องมีกลิ่นอายบ้านเกิดผสมอยู่ ไม่ว่าจะไมโลโรงเรียน ชาไทย หรือการนำเมนูพื้นบ้านมาประยุกต์ อย่างสังขยา ข้าวเหนียวมะม่วง การจะทำให้ลูกค้าพูดถึงเป็นเรื่องยาก แต่ในขั้นตอนก่อนหน้านั้น เบสบอกว่าแค่จะเปิดร้านก็ยากแล้ว ด้วยกฎหมายยิบย่อยที่มีรายละเอียดเต็มไปหมด

“ขอเล่าก่อนว่า ผม แพรว และหุ้นส่วนนั่งคุยกันที่ซิดนีย์ แล้วพอผมกับแพรวบินมาที่เมลเบิร์น พวกเราชอบที่นี่มาก มันเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยโอกาส แล้วเราก็ได้ไปกินร้านขนมหวานร้านหนึ่งซึ่งรสชาติโอเค แต่บริการไม่ดี ยิ่งเราเองเคยทำขนมกันที่ไทย มีความฝันลับ ๆ ที่ไม่เคยพูดว่าอยากเปิดร้านขนมก็เลยได้ฤกษ์ทำสิ่งที่ต้องการ

“ทางหุ้นส่วนเองเขาก็เชื่อเรามาก ยกให้เบสกับแพรวบริหาร เราเลยลาออกจากงานประจำมาทำเต็มตัว ที่นี่เปิดร้านยาก เพราะเจ้าหน้าที่เขาตรวจทุกรายละเอียด ตอนเปิดร้านใหม่ ๆ เขาเอาตลับเมตรมาวัดอ่างล้างมือ ซึ่งตามกฎหมายต้องมีทุก 5 เมตร ถ้าเราทำทุก 5 เมตรครึ่งก็ไม่ได้ เขาต้องการให้พนักงานล้างมือตลอด

“ประตูร้านต้องลองปิดให้ดู ห้ามมีรูให้หนูให้แมลงเข้าเด็ดขาด ถ้ามีแสงลอดออกมาคือไม่ได้ ใช้ไฟฉายส่องตามซอกเพื่อดูด้วย” แต่เพราะระบบการจัดการที่เป็นระเบียบ แม้รายละเอียดจะเยอะก็เปิดร้านได้ภายในเวลา 1 เดือน ต่อจากนั้นคือความท้าทายด้านการบริหารจัดการล้วน ๆ เพราะขนาดเปิดร้านมา 1 ปี เบสยังคงเดินถือสว่านมองหาจุดพลาดในร้านเพื่อรีบซ่อมให้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

เขาบอกว่าความโชคดีของตนและแพรวคือการได้หุ้นส่วนที่น่ารัก ขอตู้เย็นก็พร้อมร่วมลงทุน ขอเครื่องทำบิงซูใหม่ แต่แพงขึ้น 2 เท่า เพราะอันเก่าใช้แล้วไม่ได้คุณภาพ ทุกคนก็เห็นพ้อง ซึ่งข้อแนะนำพื้นฐานของการทำธุรกิจร่วมกัน คือต้องพูดคุยตั้งแต่แรก รวมถึงกล้าเขียนสัญญาขึ้นมา เพื่อป้องกันการทะเลาะกันในอนาคต

แต่ถามว่ามีเรื่องทะเลาะกันไหม เขาตอบว่าอาจมีเมื่อธุรกิจเปลี่ยน ความคิดคนทำงานเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม พวกเขาคิดสินค้าและบริการมาเป็นอย่างดีแล้ว โดยไม่ได้หวังเจาะตลาดทุกกลุ่ม แต่เป็นคนที่อยากทานขนมด้วยความรู้สึกเป็น ‘ผู้ชนะ’

“Dessert at Heart น้องสาวของผมเป็นคนช่วยคิด และแพรวก็เคยเปรียบให้ผมฟังว่า แบรนด์ขนมหวานก็เหมือนแบรนด์เนม เราจะทํายังไงให้ลูกค้าที่มาต่อคิวรู้สึกชนะ ชนะที่ไม่ได้หมายถึงชนะพ่อค้า แต่ทําให้รู้สึกว่าเขาชนะโดยการเข้ามายู่ในกลุ่มสังคมของเรา

“เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกว่า ถ้าเขาเลือกมากินที่ Homm คุณคือคนรู้จริงเรื่องขนม คุณจึงมาที่ร้านของเรา คุณคือผู้ชนะที่ต่อคิวยาวเป็นครึ่งชั่วโมงแล้วได้นั่งอยู่ในร้าน เราจึงต้องพัฒนาเมนู การบริการ จนถึงภาพลักษณ์ เพื่อให้เขารู้สึกชนะแล้วยังคงกลับมาหาเราอีก

“ล่าสุดเป็นเรื่องไอศกรีมเจลาโต้ทำเอง สมัยก่อนเราสั่งทำ แต่พอคิดว่ารสชาติมันไปได้ดีกว่านี้ เลยเลือกจะทำเองโดยจับมือกับพาร์ตเนอร์ แต่ราคากลับแพงขึ้น 2 เท่า ถึงอย่างนั้นก็คุยกันว่า เราจะไม่ยอมไปตัดราคาแข่งกับคนอื่น ถ้าราคาแลกมากับความอร่อย ยังไงเราก็จะใช้อันนี้และขายราคาเท่าเดิม เราอยากให้ลูกค้าที่ทานภูมิใจได้เลยว่า คุณได้ทานของดีและมาตรฐานเราไม่มีตกแน่นอน” เขาเล่าอย่างภูมิใจ

Homm Homm Homm

อยากให้สลัดภาพจำของลูกค้าฝรั่งในประเทศออสเตรเลียออกไปก่อน เบสบอกว่าในเมืองมีแต่คนหัวดำ ตลาดที่เขาอยากเจาะจึงเป็น Global Asian แล้วอินฟลูเอนเซอร์ที่นี่ก็คือ Global Asian เป็นส่วนใหญ่ ทั้งจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย โดยสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์ที่ออสเตรเลียทำค่อนข้างต่างจากประเทศไทย เพราะคนดูไม่ได้ต้องการความรู้เชิงลึกหรือความคิดสร้างสรรค์ขั้นสุด แต่พวกเขาต้องการความจริงว่า ร้านนี้หน้าตาเป็นอย่างไร มีอะไรน่าสนใจบ้าง

เมื่อทุกอย่างตอบโจทย์ ลูกค้าก็หลั่งไหลมา แม้แพลตฟอร์มออนไลน์ของทางร้านจะไม่ได้ทำการตลาดออนไลน์เท่าไหร่นัก เพราะเบสไม่ถนัดนัก ส่วนใหญ่จึงเป็นการถ่ายภาพและเขียนแคปชันมากกว่า

Instagram : Homm, Dessert at Heart

“ต่อจากนั้นก็เป็นอย่างที่เล่าไป วันหนึ่งมีคนมาต่อคิวร้านเยอะจนผมคิดว่าคนมุงไฟไหม้ หลังจากนั้นลูกค้าที่มาต่อคิวก็ไม่ลดลงอีกเลย ต่อกันยาวจนร่มไม้หน้าร้านช่วยบังไม่ได้ พวกเราก็ไม่อยากให้เขารอนานขนาดนั้น เลยตัดสินใจเปิดอีก 2 สาขาเพิ่มอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2023” 

สําหรับเรา Homm เติบโตเร็วมากในเวลา 6 เดือนกับ 3 สาขา จริง ๆ การตัดสินใจเปิดแฟรนไชส์ก็ถือเป็นความท้าทายที่ต้องใช้ความกล้าขั้นสุดในการกระโดดลงมาเล่น เพราะช่วงแรกหลายร้านก็คงเนื้อหอม ใคร ๆ ต่างอยากชวนเปิดสาขา อะไรทำให้เขากล้าขนาดนี้

“โอกาสมาจะไม่คว้าไว้จริงหรอ” เขาถามกลับ

เมื่อขนมหวานคือแฟชั่น ทุกอย่างจึงมีอายุขัยในการรุ่งและร่วง พวกเขามีทางเลือก 2 ทาง หนึ่ง รอสร้างแบรนด์จนแข็งแรงและมั่นคงค่อยขยายกิจการ สอง ลุยเต็มที่ไปก่อน เพราะความต้องการซื้อพุ่งขึ้นมาแล้ว

“แย่ที่สุดก็แค่เจ๊ง” เขาเว้นจังหวะ “เราได้ทุนคืนแล้ว ผมเลยถามแพรวว่า เราจะเผาสะพานกันอีกสักรอบไหม ถ้าร้านใหม่ทำแล้วจะเจ๊ง รับได้ไหม แพรวก็บอกว่ารับได้ แต่ถามว่าเพราะอะไร ทำไมเรารับได้ เพราะ 6 เดือนที่ผ่าน เราใส่คุณภาพในทุกกระบวนการแล้ว 

“เราศึกษากันหนักมาก เพราะมีคนชวนเยอะ คุยกันทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ คุยถึงขั้นไปจบว่า หากร้านไม่ได้มาตรฐาน ลูกค้าไม่มี ปิดร้าน เป็นหนี้ เราก็จะกลับไปทำงานประจำ เรียกว่าคุยจนหุ้นส่วนทุกคนโอเค การศึกษาทีละนิดทุกวัน ๆ เป็นงานที่เพิ่มขึ้นวันละเล็กวันละน้อยโดยที่เราไม่รู้ตัว จนมาอีกครั้ง เราก็เปิด 3 สาขาแล้ว คนอื่นอาจมองว่าเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ แต่ความจริงมันคือการตัดสินใจทำสิ่งเล็ก ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่คว้าโอกาส จะรู้ได้ยังไงว่าโอกาสจะมาหาเราอีก”

สำหรับคนทั่วไปอาจมองว่า Homm โชคดีที่มีความพร้อมมากพอจะขยายสาขาได้ ความจริง ไม่ใช่เพราะความโชคดี แต่เพราะพวกเขาวางแผนและวางรากฐานทุกอย่างมาดีตั้งแต่เริ่ม ตั้งใจทำทุกขั้นตอนให้ถูกต้อง ถูกกฎหมาย เพื่อไม่ต้องมากังวลทีหลัง

เรื่องแรกที่เบสแนะนำให้คำนึงถึงก่อนเปิดร้านคือการจัดตั้งกลุ่มบริษัทและสัญญาหุ้นส่วน

เรื่องที่สองคือการจัดการภาษี ต้องจ่ายภาษีให้ถูกต้องเสมอ เพราะหากโดนคิดภาษีย้อนหลังหลายปีก็อาจโดนถึงหลักล้านเหรียญได้

เรื่องที่สามคือความสะอาดที่ต้องรักษามาตรฐานให้ได้ตลอดรอดฝั่ง หากได้รับหมายเตือนจากเจ้าหน้าที่ให้หยุดร้านเพื่อปรับปรุงมาตรฐาน ขอให้รีบจัดการแก้ไข เพราะถ้าการตรวจครั้งต่อไปไม่ผ่าน คราวนี้จะโดนปิดกิจการถาวร

เมื่อทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กฎหมายก็จะช่วยปกป้องสิทธิประโยชน์ของคุณและลูกค้าเช่นกัน

ส่วนบทสรุปย่อที่ทำให้หอมทั้ง 3 สาขามีคนต่อคิวอยู่เสมอ เบสบอกว่าเพราะเขาทำช้า เอ๊ย! เขาล้อเล่น

“อย่างแรกคือจับสินค้าให้ถูก เพราะที่เมลเบิร์นสิ่งที่เราทำเป็น Blue Ocean ธุรกิจที่เน้นสร้างพื้นที่การแข่งขันใหม่ที่ยังไม่มีใครทำ อาจแบ่งย่อยได้อีกว่า ขนมหวานของเรารสชาติดี ไม่หวาน ถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้เราขายดี ลูกค้าทานได้เรื่อย ๆ กลิ่นของเราดึงดูดและสร้างความประทับใจตั้งแต่ยังไม่ได้ที่นั่งในร้าน เรียกว่าเราทำ Mass Production ให้ทุกคนประทับใจอยู่เสมอ มาทานกี่ครั้งต้องเหมือนเดิม

“เสริมจากข้อแรกคือเรื่องบริการ เดินเข้ามาต้องไม่โดนเมิน ครั้งแรกที่เจอกันต้องให้ความรู้สึกเหมือนต้อนรับเพื่อนมากินข้าวที่บ้าน หากเกิดปัญหาใด ๆ ก็ตามต้องแก้ไขปัญหาโดยมองว่าลูกค้าอยู่ฝั่งเดียวกับเรา เราจะอนุญาตให้ทีมบริการหน้าร้านรวมทีมกับลูกค้าเพื่อตามออร์เดอร์จากในครัวให้เร็วได้ เกิดอะไรผิดพลาดต้องบอกในครัวได้ แบบนี้ลูกค้าก็จะรู้สึกพิเศษอยู่เสมอ

“สอง เรื่องการนำเสนอ ทำยังไงให้ลูกค้าบอกกันปากต่อปาก ชวนคนมากิน รูปแบบการนำเสนอมีความเป็นหนึ่งเดียวกับท้องถิ่น ยิ่งชาวเมลเบิร์นชอบลองอะไรใหม่ ๆ ชอบต่อคิว ร้านของเราก็ตอบโจทย์”

สำหรับการเป็นผู้ประกอบการ ปลายสายเล่าต่อว่าสิ่งสําคัญของการทําธุรกิจ คือการซื่อสัตย์กับตัวเอง ถ้าทําได้อย่าบอกว่าตัวเองทําไม่ได้ อะไรที่ต้องใช้เวลาก็จงใช้เวลาให้เต็มที่ 

Homm หน่อย

“Homm เป็นลูกของผมกับแพรว” ปลายสายทิ้งท้าย 

Homm ทำให้พวกเขาค้นพบความหลงใหล ได้พบแรงผลักดันที่ทำให้มุ่งมั่นสร้างกิจการ ค่อย ๆ เดินทางค้นหาความหมายว่าทีมที่ดีในนิยามของตัวเองเป็นอย่างไร เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คู่รักและผองเพื่อนมีทางเลือกในชีวิตเพิ่มขึ้น

Homm คือหลักฐานที่ย้ำเตือนว่าสิ่งที่ลงทุนลงแรงไปไม่สูญเปล่า

เบส แพรว และบี บ่มเพาะความฝันของพวกเขาออกมาด้วยความใส่ใจ ทั้งแบรนด์ ร้าน และทีม ทุกสิ่งตกตะกอนออกมาเป็นก้อนประสบการณ์ ซึ่งมอบให้ผู้อ่านเป็นไกด์ที่ไม่ใช่การนำทาง แต่เป็นแรงบันดาลใจให้นักธุรกิจหน้าใหม่ได้ลองกรุยทางของตัวเอง

ส่วนเป้าหมายต่อไปของ Homm ใคร ๆ ต่างก็บอกว่ายิ่งใหญ่เกินตัว ถึงอย่างนั้น เบสและทีมก็ไม่ย่อท้อ เขาอยากให้ Homm เป็นแบรนด์ท้องถิ่นที่ใครมาก็ต้องกิน ใครนึกถึงร้านขนมหวานก็ต้องนึกถึงพวกเขาให้ได้

Lessons Learned

  • คว้าทุกโอกาสที่เข้ามา อาจไม่ต้องถึงขั้นเผาสะพานอย่างเจ้าของร้าน Homm แต่ต้องลงเล่นโดยชั่งน้ำหนักสิ่งที่ได้และสิ่งที่อาจสูญเสียให้ดีก่อน
  • เปิดก่อนได้เปรียบในตลาด Blue Ocean หยิบสิ่งที่เก่ง ยกสิ่งที่เด่นมาเป็นเครื่องมือในการเจาะกลุ่มลูกค้าที่ใช่
  • You have an ego for everthing that you do. เมื่อรู้จักสินค้าและบริการของตัวเองอย่างดีแล้ว จงตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าอยากไปถึงจุดไหน อย่าสนใจคำดูถูกจนเกินไป และใช้อีโก้เป็นแรงในการขับเคลื่อน

Writers

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

กัญญมล ทรงศิริภัทร

กัญญมล ทรงศิริภัทร

นักกวีสาวที่คลั่งไคล้เรื่องราวอิโรติกเเม้เพียงจินตนาการ

Photographer

อัจฉรีย์ เสือนาค

อัจฉรีย์ เสือนาค

บ้านอยู่กรุงเทพฯ หนีไปเรียนถ่ายภาพที่เชียงใหม่ ตอนนี้ผันตัวเองมาเป็นบาร์เทนเดอร์สาวที่ออส เพราะรักในรสแอลกอฮอล์และอยากชุบตัวเองเป็นสาวโกอินเตอร์