วันนี้ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ มีงานปฐมทัศน์หนังใหม่

หม่อง ทองดี ปรากฏตัวที่หน้างานในชุดเสื้อยืดสีขาวสกรีนโลโก้หนังเรื่องนี้ เหตุผลแรกคือ A Time To Fly บินล่าฝัน เป็นหนังที่เขาเป็นนักแสดงรับเชิญในฉากหนึ่งของเรื่อง อีกเหตุผลคือหนังเรื่องนี้สร้างมาจากชีวิตจริงของเขา

ชายหนุ่มวัย 26 ปีที่อยู่ตรงหน้าเราเคยเป็นเด็กอายุ 11 ปี ผู้เป็นตัวแทนประเทศไทยที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปญี่ปุ่น เพื่อแข่งขันร่อนเครื่องบินกระดาษพับจนได้รางวัลชนะเลิศแบบทีมผสม และรางวัลที่ 3 ประเภทบุคคลเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี 

นอกจากลีลาการพับและเขวี้ยงเครื่องบินกระดาษแสนเฉียบที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ อีกสิ่งที่ทำให้หลายคนจำหม่องได้ คือการเป็นคนไร้สัญชาติที่เกือบทำให้เขาบินออกนอกประเทศไม่ได้

ในตอนนั้นสื่อทำข่าวกันครึกโครม มีหลายหน่วยงานยื่นมือเข้ามาช่วย สัญญาว่าจะทำให้หม่องได้มีบัตรประชาชนไทยเป็นของตัวเอง แต่หลังจากแข่งเสร็จเรื่องก็เงียบ หม่องรอแล้วรอเล่า จนตัดสินใจว่าต้องผลักดันเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

หลายคนไม่รู้ว่าหม่องเพิ่งได้จับบัตรประชาชนไทยของตัวเองเมื่อ 5 ปีก่อนนี้เอง

ในวาระที่ A Time To Fly บินล่าฝัน ได้ฤกษ์เข้าฉาย เราชวนหม่องมาสนทนาถึงหนังที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตัวเขา ชีวิตหลังจากสร้างชื่อให้ประเทศไทย ไปจนถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิพื้นฐานและบัตรประชาชน 1 ใบที่เขาควรได้มานาน แต่ใช้เวลามากถึง 20 ปี

Paper Planes

หม่องเติบโตมากับสภาพแวดล้อมแบบไหน

พ่อแม่ของผมทำงานเป็นพนักงานก่อสร้าง ตอนเด็ก ๆ ต้องย้ายที่อยู่และโรงเรียนหลายครั้ง เพราะต้องย้ายตามไซต์งานของพ่อกับแม่ จนได้มาอยู่โรงเรียนบ้านห้วยทรายก็อยู่ที่นี่ยาวเลย เพราะพ่อแม่เปลี่ยนมาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง

ในวัยเด็กของผม บางวันก็ตามพ่อกับแม่ไปทำงานด้วย บางวันที่ดื้อหน่อยก็แอบหนีเที่ยว พอมีน้องก็อยู่ดูแลน้องที่บ้าน 

ชอบเล่นเครื่องบินกระดาษมาตั้งแต่เด็กเลยไหม

ก่อนรู้จักเครื่องบินกระดาษ ผมชอบไปเล่นเกมออนไลน์ที่ร้านเกม จนได้รู้จักเครื่องบินกระดาษเลยเล่นเครื่องบินแทน

ครั้งแรกที่รู้จักเครื่องบินกระดาษคือช่วงเรียนประถม ผมก็เหมือนหลายคนที่เคยพับกระดาษเป็นเครื่องบินแล้วแข่งกับเพื่อน ใครลอยได้นานที่สุดชนะ เครื่องบินใครชนะก็ต้องไปแย่งกันเหยียบ (หัวเราะ) ช่วงแรก ๆ ไม่รู้หลักการหรอกว่าจะพับยังไงให้เครื่องบินลอยอยู่ในอากาศได้นาน จนเล่นบ่อยเข้าก็เข้าใจ และเริ่มมาได้เรียนรู้ทฤษฎีการพับอย่างจริงจังตอนได้แข่งขัน

การพับเครื่องบินกระดาษหนึ่งลำให้ดี เราต้องมีสมาธิกับมันมาก กระดาษห้ามยับ ห้ามเปียก เวลาโยนก็ต้องมีเทคนิคกการปล่อย ต้องฝึกกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายท่อนแขน ช่วงแรก ๆ ปวดมาก

ทำไมต้องฝึกกล้ามเนื้อด้วย

เวลาปล่อยเครื่องบิน เราต้องย่อตัวให้สุดแล้วโถมตัวขว้างแรง ๆ เหมือนโยนก้อนหินไปไกล ๆ โยนแค่ครั้งเดียวอาจไม่ปวด แต่พอโยนหลายครั้งเข้าแขนก็ล้า เราจึงต้องออกกำลังกายครับ

จากการเล่นสนุกในวันนั้น เด็กชายหม่องกลายเป็นผู้เข้าแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษระดับประเทศได้ยังไง

ทางสมาคมเครื่องบินกระดาษจัดแข่งขันในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วมาโปรโมตที่โรงเรียนผม ทางโรงเรียนก็อยากหากิจกรรมให้เด็ก ๆ ทำพอดี เลยคัดเด็ก ๆ จากนักเรียน 20 – 30 คน เหลือประมาณ 10 คนเพื่อไปแข่งต่อ 

ตอนนั้นผมไม่รู้เรื่องอะไร เห็นครูบอกว่าให้ไปแข่งก็ไปกับเขาและกลายเป็นคนที่ถูกเลือก ตอนซ้อมก็ซ้อมกับกระดาษ A4 ไป พอถึงสนามแข่งจริงกระดาษที่เขาใช้กลับเป็นไซซ์ A5 ที่ไม่เคยฝึกพับมาก่อน ตอนนั้นก็ดัดแปลงวิธีพับที่หน้างานแล้วแข่งไป จนได้รางวัลที่ 1 แบบงง ๆ

ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแข่งแล้วได้อะไร จนมีคนมาบอกว่าได้เป็นตัวแทนของประเทศไปแข่งต่อที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นคุณครูก็ซ้อมแบบจริงจังเลย ทั้งซื้อกระดาษไซซ์ที่เขาใช้แข่ง พานักเรียนออกกำลังแขนให้แข็งแรง ด้วยความที่โรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายอะไรมาก ครูก็ดัดแปลงวิธีฝึกด้วยการเอายางรถมามัดกับห่วงบาสเกตบอล แล้วให้ผมยืดแขนกับยางรถ บางทีก็ใช้ถุงทรายมาให้ฝึกยกเวทแทนดัมเบล 

ตอนมาแข่งรอบชิงแชมป์ประเทศไทยเป็นการเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกของผม ครูบอกว่าถ้าชนะจะพาไปเที่ยวทะเล ด้วยความที่ไม่เคยไปเลย อยากไปมาก วันนั้นเลยทำเต็มที่จนได้รางวัลชนะเลิศ แล้วครูก็พาไปทะเลจริง ๆ 

หลังจากนั้นก็ได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งญี่ปุ่น ซึ่งผมไม่รู้อีกแล้วว่าได้ไปญี่ปุ่น (หัวเราะ) กว่าจะรู้ตัวก็ตอนที่ทำเรื่องขอออกนอกประเทศแล้วออกไม่ได้ เพราะผมไม่ได้ถือบัตรประชาชนไทย มารู้เพราะข่าวออกเลย

ตอนนั้นรู้สึกยังไง

ร้องไห้เลย แต่ตอนนั้นครูก็ทำทุกอย่างให้ผมไปให้ได้ พาไปหา อาจารย์แหวว (รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร) กับ ครูแดง (เตือนใจ ดีเทศน์) จนต้องฟ้องศาลปกครอง สุดท้ายกระทรวงมหาดไทยเขาก็ยอมให้ไป เราเลยถอนฟ้อง ไม่กี่วันก็ได้ไปญี่ปุ่น 

ญี่ปุ่นเป็นยังไงบ้าง

หนาว (ยิ้ม) ไปหลายที่แต่ผมจำได้แค่โตเกียว ชิบะ ดิสนีย์แลนด์ มีแวะเที่ยวบ้างแต่หลัก ๆ ก็ไปแข่ง ผมได้รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ประเภททีม และเป็นอันดับที่ 3 ของโลกในประเภทบุคคล

Fame

มองย้อนกลับไป การไปแข่งครั้งนั้นส่งผลต่อชีวิตของหม่องยังไงบ้าง

ทำให้กลับมาประเทศไทยแล้วมีคนรู้จักมากขึ้น ไปที่ไหนมีแต่คนทัก ขอให้พับเครื่องบินให้หน่อย พอกลับมาผมก็มีตระเวนไปสอนพับเครื่องบินให้กับเด็ก ๆ ในงานต่าง ๆ 

มีเด็กหลายคนมาบอกว่าผมเป็นแรงบันดาลใจให้กับเขา จริง ๆ การพับเครื่องบินกระดาษเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม แต่พอผมไปแข่งกลับมา อีกปีหนึ่งมีเด็ก ๆ เข้ามาสมัครเข้าร่วมเยอะมาก เป็นร้อย ๆ คน จากที่มีแค่หลักสิบ มากกว่านั้นคือโรงเรียนต่าง ๆ มีการเทรนเด็กให้มาเข้าแข่งมากขึ้น ทำให้สถิติในการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

จริง ๆ ผมยังเป็นนักกีฬาพับเครื่องบินกระดาษอยู่ เข้าแข่งขันทุกปีจนตอนนี้ สัปดาห์ที่แล้วก็เพิ่งไปแข่งรอบบุคคลทั่วไป ได้รางวัลที่ 2 ของประเทศไทยมาครับ (ยิ้ม)

ในการแข่งขัน ชัยชนะสำคัญที่สุดสำหรับหม่องหรือเปล่า

สำหรับผม สิ่งสำคัญคือการได้เจอผู้คนใหม่ ๆ ในสนาม ผมมีความสุขที่มีคนเดินมาทัก เข้ามาขอถ่ายรูปบ้าง มากกว่านั้นคือได้สอนเด็ก ๆ รุ่นใหม่ให้พับเครื่องบินกระดาษเป็น

เพราะเครื่องบินกระดาษเป็นสิ่งที่สร้างผมขึ้นมา ผมก็ไม่อยากทิ้งมันหรือปล่อยให้กระแสของกีฬาประเภทนี้หายไป ผมอยากให้เด็ก ๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อยากให้เขาได้เล่นอย่างอื่นบ้างนอกจากโทรศัพท์ (หัวเราะ) ไม่ใช่เฉพาะเด็กไทยแต่รวมถึงเด็กไร้สัญชาติด้วย อยากให้เขาได้แรงบันดาลใจว่าเขาเข้ามาแข่งขันได้แบบผม

ชื่อเสียงมีผลกับหม่องแค่ไหน

ถ้าวันนั้นผมไม่ได้มีชื่อเสียง ผมอาจไม่เป็นหม่องแบบทุกวันนี้ก็ได้ แต่การมีชื่อเสียงทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาได้เวลาคิดจะทำอะไรที่ไม่ดี อย่าทำนะ มีคนคอยมองอยู่ตลอด เหมือนเราคอยดึงไว้อยู่ตลอด

กลับกัน ถ้าวันนั้นไม่ได้มีชื่อเสียง คิดว่าชีวิตวันนี้จะเป็นยังไง

ผมอาจเป็นเด็กเกเร โดนตำรวจไล่ตามอยู่ก็ได้ (หัวเราะ) ด้วยสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่มันมีโอกาสจะไปทางนั้น เมื่อก่อนผมเป็นเด็กเกเร ชอบขับรถเที่ยวกับเพื่อนแต่เด็กเลย แต่ก็มีพ่อแม่ ครูอาจารย์นี่แหละที่คอยตักเตือนผมอยู่ตลอด

Flick

ชีวิตของหม่องกลายเป็นหนังเรื่อง A Time To Fly บินล่าฝัน ได้ยังไง

มันเริ่มมาจาก พี่โส่ย (ศักดิ์ศิริ คชพัชรินทร์) ผู้กำกับ เขาสนใจเรื่องของผม วันหนึ่งเขาติดต่อผมมาว่าอยากคุยด้วย ช่วงนั้นคือช่วงปลาย พ.ศ. 2561 ผมเพิ่งได้บัตรประชาชนไทย เรียนจบ ม.ปลาย แล้วไปเรียนต่อ กศน. ก่อน ยังไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย 

พี่โส่ยก็มาบอกผมว่าอยากสร้างหนังจากเรื่องจริงของผม ผมก็ดีใจมาก เพราะอยากเห็นว่าชีวิตของผมเป็นหนังแล้วจะเป็นยังไง จะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครได้ไหม

พี่โส่ยได้บอกไหมว่าเขาสนใจอะไรในเรื่องราวของหม่อง

เท่าที่ผมจำได้ เขาสนใจในแง่ที่ว่าเครื่องบินกระดาษพลิกชีวิตของเด็กคนหนึ่งได้ยังไง พล็อตเรื่องคือเด็กคนหนึ่งใช้เวลา 19 วินาทีในการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย แต่ต้องใช้เวลา 20 ปีในการขอบัตรประชาชนไทย เป็นหนังแนว Feel Good ที่มีความดราม่าแทรกนิดหนึ่ง

หม่องมีส่วนร่วมกับหนังเรื่องนี้ยังไงบ้าง

ผมคอยเล่าเรื่องให้พี่โส่ยฟัง และเทรนเรื่องการพับเครื่องบินให้ น้องโบกี้ (ด.ช.ศุภัช ท้าวสกุล) ที่รับบทเป็นผม นอกจากนี้ก็ได้ช่วยพับเครื่องบินที่จะใช้เป็นพร็อปในเรื่องเป็นพัน ๆ ลำ และไปดูหน้าเซตเพื่อให้กำลังใจทีมงานบ้างตอนไปถ่ายที่เชียงใหม่

ความคาดหวังที่หม่องมีต่อหนังเรื่องนี้คืออะไร

ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ หลายคนที่มีฝัน แต่อาจมีเหตุการณ์บางอย่างทำให้ต้องหยุดฝัน เพราะคิดว่าทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำไม่ได้ หนังเรื่องนี้จะเป็นเครื่องย้ำเตือนว่า ไม่ว่าน้องเป็นใคร มีสัญชาติไหน เราก็มีสิทธิ์ในการทำเต็มที่เพื่อความฝันได้ สุดท้ายความฝันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เราก็ทำเต็มที่แล้ว

นี่เป็นเหตุผลที่ผมทำโครงการ ‘โรงเรียนสีขาวครูพี่หม่อง’ ด้วย โครงการนี้เป็นโครงการที่ผมร่วมมือกับบางกอกคลินิก นิติธรรมศาสตร์ เพื่อเดินทางไปสอนน้อง ๆ ในโรงเรียนด้อยโอกาสตามเขตชายแดนเรื่องการพับเครื่องบินกระดาษหรือการบินโดรน ส่วนทางนิติธรรมศาสตร์ก็ไปช่วยแก้ปัญหาด้านสิทธิให้เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติด้วย

ผมเคยเป็นเด็กไร้สัญชาติที่ไม่มีเอกสารของรัฐรองรับมาก่อน เข้าใจความรู้สึกของการไม่มีสิทธิต่าง ๆ เป็นอย่างดี ผมก็ไม่อยากให้เด็กเหล่านั้นรู้สึกแบบผม

Dreams

ตอนเด็ก ๆ หม่องมีความฝันไหม

เคยฝันอยากเป็นนักบินที่ขับเครื่องบินโดยสาร ตอนผมจะไปแข่งที่ญี่ปุ่นมีคนช่วยเหลือผมเยอะ ผมเลยฝันอยากขับเครื่องบินพาพวกเขาเหล่านั้นไปในที่ต่าง ๆ 

แต่พอโตขึ้นมา ผมยังไม่แน่ใจว่าตัวเองจะเรียนทางด้านนักบินได้ไหม คิดว่าคงเรียนไม่ได้หรอก

ทำไมล่ะ

เพราะผมไม่ใช่เด็กไทยทั่วไปที่โตมาแล้วจะทำสิ่งที่ชอบได้ อีกอย่างคือตอนนั้นยังไม่มีบัตรประชาชนไทย ซึ่งการจะมีความฝันเหมือนเด็กทั่วไป เป็นครู เป็นหมอ ก็ต้องเป็นคนไทยเท่านั้นถึงจะทำอาชีพเหล่านั้นได้ 

โชคดีที่ช่วงนั้นผมได้รู้จักกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ผมก็ชอบเลย เพราะเป็นเครื่องบินเหมือนกัน เลยเข้าไปเรียนรู้การประกอบและควบคุม อยู่ตรงนั้นมาเรื่อย ๆ จนจบ ม.3 ผมต้องเลือกแล้วว่าจะเรียนด้านไหนต่อ สายอาชีพหรือสายสามัญ สุดท้ายลองเรียนสายอาชีพได้สัปดาห์หนึ่งแต่รู้สึกว่าไม่ใช่ทาง ผมเลยลาออกมาเรียน ม.4 ต่อ แล้วเล่นเครื่องบินวิทยุบังคับไปด้วย

ผมตกตะกอนว่าถึงจะทำให้ฝันการเป็นนักบินเป็นจริงไม่ได้ แต่อย่างน้อยผมก็ได้บังคับเครื่องบินจากวิทยุเหมือนกัน แถมยังต่อยอดมันสู่การขับโดรนในทุกวันนี้ที่ผมหารายได้เป็นอาชีพเสริมจากการขับโดรนได้ บางครั้งผมใช้สกิลล์ขับโดรนนี้ในการช่วยเหลือสังคม เวลาน้ำท่วมหรือเกิดเหตุการณ์คนหลงป่า เราก็ใช้โดรนคอยเก็บภาพพวกเขา

นอกจากสิทธิ์ที่จะฝัน การไม่มีบัตรประชาชนไทยลิดรอนสิทธิ์อะไรไปอีกบ้าง

อยากจะทำในสิ่งที่ทำก็ทำไม่ได้ อยากจะเรียนในสิ่งที่อยากเรียนก็เรียนไม่ได้ เพราะบางคณะมีการกำหนดว่าต้องเป็นคนสัญชาติไทยเท่านั้น เหมือนเขาตัดโอกาสเด็กไร้สัญชาติไปเลย

ไม่แฟร์เลยเนอะ

ไม่แฟร์ครับ เพราะเด็กทุกคนมีประสิทธิภาพเหมือนกันหมด เขาควรได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียน 

ทำไมหม่องต้องใช้เวลาถึง 20 ปีกว่าจะได้เป็นเจ้าของบัตรประชาชนไทย

ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้จริงจังเรื่องการขอบัตรประชาชน เพราะผมใช้ชีวิตปกติเหมือนทุกวันเลย แค่เวลาจะเดินทางผมต้องเสียเวลาขอหนังสือเดินทางแทนบัตรประชาชน

แต่พอโตขึ้นมา พ่อกับแม่ก็เริ่มป่วย ผมก็อยากมีที่ดินไว้สร้างบ้านให้พวกเขาอยู่ ผมจึงคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ต้องดำเนินเรื่องขอบัตรประชาชน เพราะการจะซื้อที่ดินในประเทศไทย ต้องถือบัตรประชาชนไทย

จริง ๆ ตั้งแต่กลับมาจากญี่ปุ่น มีหน่วยงานหลายแห่งเข้ามาช่วยผลักดันเรื่องการขอบัตรประชาชนให้ผม ผมก็รอ แต่สุดท้ายหน่วยงานเหล่านั้นก็หายไป ผมไม่อยากรอแล้วเลยลองผลักดันด้วยตัวเองดีกว่า โดยได้ความช่วยเหลือจากอาจารย์แหววและ อาจารย์ปลาทอง (ดร.ศิวนุช สร้อยทอง หัวหน้าคลินิก​กฎหมาย​ มูลนิธิกระจกเงา) 

ยากไหมกว่าจะได้บัตรประชาชนใบหนึ่งมา

ประเทศไทยมีกฎหมายและนโยบายสำหรับคนไร้สัญชาติที่ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ แต่ยังไม่เคยมีเคสไหนเกิดขึ้น มันยากเพราะผมเป็นเคสแรก

ความยากคือผมต้องต่อสู้กับทัศนคติในการตีความว่าแบบไหนถือว่าเป็นการทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ แต่โชคดีที่พี่ ๆ สื่อมวลชนช่วยผลักดัน อยากให้หม่องถือบัตรประชาชนสักที เขาช่วยสื่อสารเรื่องนี้ว่าผมได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ เรื่องมันเลยเดินไว และมหาวิทยาลัยก็ได้ออกมารับรองว่าผมทำจริง จนในที่สุดก็ได้บัตรประชาชนมา

ตั้งแต่ได้บัตรประชาชน ชีวิตเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

ผมมีที่ดินอย่างที่หวังไว้ เดินทางไปไหนก็สะดวก แต่นอกเหนือจากนั้นก็เป็นชีวิตประจำวันทั่วไป ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมก็ใช้ชีวิตอยู่กับเครื่องบิน พอใกล้ฤดูกาลแข่งขัน ผมก็ไปสอนน้อง ๆ รุ่นใหม่ต่อ

แต่ที่ผมดีใจกว่านั้น คือพอมีเคสของผมแล้ว การตีความคำว่าคุณประโยชน์จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น เป็นกรณีศึกษาให้กับน้อง ๆ คนไร้สัญชาติคนอื่นได้

เคยมีเด็กไร้สัญชาติคนอื่นเดินมาขอบคุณไหม

เคยมีมาถามว่าพี่ทำยังไงให้ได้ไปญี่ปุ่น ผมอยากไปบ้าง (หัวเราะ) โดยที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาไปได้หรือไม่ได้ เพราะพอเขาเห็นผมไปได้ เขาก็เชื่อว่าตัวเองไปได้ มีความกล้าจะมาลงแข่งพับเครื่องบินกระดาษมากขึ้น

ณ ตอนนี้ สถานการณ์ของเด็กไร้สัญชาติในประเทศเปลี่ยนไปจากตอนคุณเด็ก ๆ บ้างไหม

กฎหมายนโยบายดีขึ้น การบังคับใช้ก็ดีขึ้น เพียงแต่ว่าเรื่องระยะเวลายังเป็นปัญหา แต่ละคำร้องยังล่าช้าอยู่ ทำให้เด็กหลาย ๆ คนต้องรอ 

สำหรับหม่อง สัญชาติหรือบัตรประชาชนคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตหรือเปล่า

สำคัญนะครับ บัตรประชาชน 1 ใบส่งผลให้ชีวิตของคนคนหนึ่งดีขึ้นได้ ถ้าเด็กไร้สัญชาติบางคนอยากเป็นหมอ ครู พยาบาล เขาก็เป็นได้เพราะถือบัตรประชาชน การมีบัตรประชาชนของพวกเขาก็ส่งผลให้เกิดทรัพยากรบุคคลที่ดีให้กับประเทศได้

แต่สำคัญที่สุดไหม อาจจะไม่ใช่ สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของผมตอนนี้คือครอบครัว พ่อกับแม่ของผมไปทำงานต่างจังหวัด 1 เดือนเจอกัน 1 ครั้ง ผมก็คิดถึงพวกเขา อยากเจอบ่อย ๆ ครับ (ยิ้ม) 

การได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เด็กรุ่นใหม่มีแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะเด็กไร้สัญชาติที่รู้ว่าตัวเขาเป็นเหมือนหม่องได้ สิ่งนี้มีความหมายต่อตัวหม่องยังไง

ผมรู้สึกดีที่เรื่องราวของผมที่ทุกคนเห็นในสื่อ หรือแม้กระทั่งหนังเรื่อง A Time To Fly บินล่าฝัน คอยกระตุ้นให้เด็ก ๆ คนอื่นที่คิดว่าความฝันของเขาดับลงไปแล้วได้สว่างขึ้นมาใหม่ ย้ำเตือนกับเขาว่าเขาทำความฝันของเขาให้สำเร็จได้ การที่พวกเขาเห็นว่าพี่หม่องยังทำได้เลย ทำไมเราถึงจะไม่ทำ ก็รู้สึกดีที่ทำให้เขามีแรงบันดาลใจครับ

Writer

พัฒนา ค้าขาย

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนชาวเชียงใหม่ผู้รักทะเลและหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง