เมื่อวันก่อน (24 สิงหาคม 2565) หลายคนคงโยกกันจนเอวเคล็ดกับเพลง bad guy ในคอนเสิร์ตของ Billie Eilish
ถัดไปก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน San Cisco วงดังจากออสเตรเลีย ก็บินลัดฟ้ามาเล่นคอนเสิร์ตนอกประเทศในรอบ 3 ปีที่งาน Maho Rasop Experience #1
มีคนน่าอิจฉาจำนวนมากที่ได้ดูศิลปินโปรดสมใจในประเทศบ้านเกิด
แต่มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ชอบโกงกาลเวลา ด้วยการบินไปดูด้วยตาที่ประเทศอื่นเสียเลย!
ก่อนอื่น ต้องบอกว่าบทความชิ้นนี้มีต้นเรื่องเป็นบุคคลนิรนาม สารภาพอย่างสัตย์จริงว่าแม้เราจะพูดคุยกับเขา เขียนเรื่องของเขา เราเองก็ยังไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร มีหน้าค่าตาอย่างไร นอกเสียจากนามแฝง ‘เฮีย’ ที่บรรดาคนฟังดนตรีในยุคนี้น้อยนักจะไม่เคยได้ยินชื่อ
ใบ้ให้นิดหน่อยก็แล้วกันว่า คนคนนั้นเป็นเจ้าของเพจ H… #กรุงเทพเมืองคอนเสิร์ต #ไทยแลนด์แดนเฟสติวัล
หากย้อนกลับไปหลายปี สมัยที่เพจของเขาเพิ่งตั้งไข่ การรีวิวเทศกาลดนตรีต่างประเทศถือเป็นเรื่องใหม่มาก ตั้งแต่ตีตั๋วเข้าไปดู จนถึงประสบการณ์ติดมือกลับบ้าน ถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่าเขากลายเป็นเพจเกี่ยวกับคอนเสิร์ตแถวหน้าที่เก่งนักเรื่องสปอยล์ให้ใจเต้น จนต้องขอร้องว่าช่วยพอได้แล้ว
สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าการคาบข่าวมาบอกประหนึ่งวงใน คือความรักในเสียงเพลงและเรื่องเล่าผ่านเพจ ที่นำพาให้เขาได้รับเลือกเป็นสื่อคนเดียวของไทย ในเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง Glastonbury Festival 2022


The less I know the better
เราเริ่มต้นด้วยการขอให้ปลายสายแนะนำตัวเอง ไม่ใช่ชื่อจริง-นามสกุล แต่ในฐานะ ‘เฮีย แห่งเพจ hear and there’
ความจริงคือเขาไม่ได้ตั้งใจจะเป็น เฮีย ของทุกคนตั้งแต่แรก แต่เกิดจากบรรดาลูกเพจที่มอบฉายานี้ให้กับเขา เพี้ยนมาจากการเรียกสั้น ๆ ว่า เพจเฮีย
ส่วนที่มาก็ตรงตามความหมาย Hear คือการฟังเพลง There คือหลังฟังเสร็จแล้ว เขาก็จะไปดูคอนเสิร์ต
เป็นธรรมดาที่ทุกเพจจะมีช่วงที่กราฟนิ่ง ๆ ไม่ค่อยขยับ ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึง เขาเลยหยิบฉายานี้มาสร้างคาแรกเตอร์ให้ตัวเอง มีการตั้งสเตตัสชวนลูกเพจพูดคุยกันมากขึ้น ต่างจากตอนแรกที่จะเป็นเพจรีวิวเทศกาล และคอยอัปเดตข่าวสารดนตรีต่างประเทศเท่านั้น
เมื่อถามว่าเขารู้สึกยังไงที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้นามแฝงนี้
“เราเป็นลูกคนจีน ปกติญาติพี่น้องก็เรียกเฮียอยู่แล้วครับ” คำตอบของเขาพาเราหัวเราะตามไปด้วย
“รู้สึกว่ามันดูเป็นกันเอง ทุกวันนี้ก็ชอบมีลูกเพจเหงาแล้วทักมาคุยแชทเยอะมาก บางคนอยากไปเฟสติวัลไหนก็ส่งมาถามว่าเฮียเคยไปไหม เข้ามาปรึกษาปัญหาความรักก็มี (หัวเราะ) เราได้ลูกเพจเป็นเพื่อนเยอะเหมือนกัน จริง ๆ ก็ให้อารมณ์เหมือนเราเป็นดีเจออนไลน์”
เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่เพจถือกำเนิด จากคำชักชวนของเพื่อนที่เห็นเขาตระเวนดูคอนเสิร์ตอย่างบ้าคลั่ง แบบที่ไม่สมควรเก็บเรื่องเล่าไว้กับตัวเพียงคนเดียว บวกกับเชื้อไฟอีกอย่างคือความขี้เกียจตอบคำถามรายบุคคล ก็เปิดเพจเล่า How to ไปเทศกาลมันให้รู้แล้วรู้รอด
เฮลโหลลลลลล ตื่นเต้นมาก อีกแป๊ปก็จะถึง Coachella อีกแล้ว ปีนี้ Weekend 1 จัดวันที่ 13-15 เมษา ส่วน Weekend 2 วันที่…
โพสต์โดย hear and there เมื่อ วันพุธที่ 28 มีนาคม 2018
Feels like we only go backwards
ในยุคแรกเพจของเขาจึงเต็มไปด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ต้องใช้เงินเท่าไร เดินทางไปยังไง มีอะไรอร่อยที่ไม่ควรพลาด สื่อสารกับคนที่รักการไปเทศกาลเช่นเดียวกับเขา รวมถึงคนที่ยังไม่บรรจุคอนเสิร์ตต่างประเทศเข้าไปในบักเก็ตลิสต์ เพราะสิ่งที่ได้กลับมาไม่ใช่แค่ความสนุกสนาน แต่วัฒนธรรมที่หลากหลายของแต่ละพื้นที่จะทำให้คุณมีประสบการณ์ชีวิต
จากนั้นไม่นาน โควิด-19 ก็เข้ามาทำให้การดูดนตรีหยุดชะงัก เป็นกิจกรรมท้าย ๆ ที่ถูกผ่อนปรนมาตรการด้วยซ้ำไป เฮียเล่าว่า 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เขารู้สึกเหี่ยวแห้ง คอนเทนต์ในเพจจึงเหลือเฉพาะแค่การแนะนำเพลงใหม่ อัลบั้มใหม่ รวมถึงการ Live from Home
ตัดภาพมาปัจจุบัน เฮียลงเพจเกือบทุกวันราวกับอัดอั้น
ไม่ว่าเมื่อไรที่คุณเลื่อนหน้าฟีดเฟซบุ๊ก คุณจะพบคอนเทนต์ของเขาเสมอ เฮียคงไม่รู้หรอกว่าเขาโด่งดังขนาดไหน แต่อิทธิพลและความน่าเชื่อถือของเขา ก็ทำให้ทั้งไทม์ไลน์สั่นสะเทือนเพียงบอกใบ้ศิลปินด้วยตัวอักษรแค่ 1 ตัวเท่านั้น
เฮียยอมรับว่าเพจของเขาเดินทางมาไกลมากพอ ๆ กับกระแสความนิยมไปดูคอนเสิร์ตของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี
หากผู้อ่านเป็นคนที่กำลังติดตามเพจนี้อยู่ ไม่ต้องห่วง เราบอกเขาแล้วว่าให้หยุดประกาศ แต่เขาเองก็หยุดการมาของคอนเสิร์ตไม่ได้
“เรากำลังจะกลับไปเป็นเหมือนปี 2019 ที่คอนเสิร์ตในไทยพีกมาก ๆ มีคนที่ร้องโอดโอยว่าพอแล้ว ไม่ต้องมาแล้ว ซึ่งตอนนี้มันกำลังจะกลับไปเป็นแบบนั้น
“ก่อนหน้านี้คอนเสิร์ตในไทยไม่ได้บูมขนาดนี้ เราคุยกับผู้จัดก็คือตั้งแต่เขาจัดมาเป็นสิบ ๆ ปี คอนเสิร์ตในไทยคือมาไกลมาก คนคงอยากไปเจอศิลปินที่ชอบ อยากไปฟังเขาร้องสด ๆ ไม่ได้อยากฟังเขาร้องดิจิทัลอย่างเดียว
“แต่เอาจริง ๆ เศรษฐกิจไทยไม่ได้เอื้ออำนวยให้มีคอนเสิร์ตได้เยอะ คนไม่ได้มีกำลังซื้อ เขาอาจจะชอบศิลปินทั้งหมดเลยที่มา แต่โอเค ฉันต้องเลือกเพราะมีเงินแค่นี้ ซึ่งถ้าประเทศไทยเศรษฐกิจดีหรือรัฐบาลสนับสนุนงบ คนในประเทศก็อาจจะไปดูคอนเสิร์ตมากขึ้นก็ได้”
ขนาดว่าคนยังไม่มีกำลังซื้อ หลายคอนเสิร์ตในช่วงครึ่งปีหลังก็ขายบัตรหมดกันเทน้ำเทท่า ไม่แน่ใจว่าตัดสินใจถูกไหมที่ถามออกไป แต่ไหน ๆ ก็ได้คุยกับนักสปอยล์สักที เราใช้โอกาสนี้ถามเขาว่าช่วงสิ้นปียังเหลืออีกกี่คอนเสิร์ต
อีกเป็น 10 ที่ยังไม่ประกาศคือคำบอกใบ้ของเขา พ่วงกับคำว่า “ก็น่ากลัวอยู่เหมือนกันครับ” ที่ทำให้คนฟังต้องกลับไปเช็กยอดเงินในกระเป๋า ติดตรงที่ของจริงมันจะไม่ใช่ปีนี้
“เราว่าปีนี้เผาหลอก ปีหน้าคือเผาจริง ศิลปินใหญ่ ๆ จะมาปีหน้าหมด” ฟังจบแล้วขอตัวไปปาดเหงื่อ 1 ที

Yes, I’m changing
เฮียบอกกับเราว่าเขาทำเพจนี้เพียงคนเดียว ทุ่มเทความสนใจทั้งหมดลงบนเพจ ถึงกับเลิกเล่นอินสตาแกรมส่วนตัวของตัวเองไปเลย 4 ปี
ชีวิตตอนนี้มอบให้ hear and there เลยเหรอ – เราถาม
“ใช่ครับ จริง ๆ เพจนี้สร้างอาชีพให้เรานะ เหมือน Love What You Do เราได้ร้านแผ่นเสียงมาจากการทำเพจ”
ที่พูดอย่างนั้นเพราะอีกขาหนึ่งนอกจากเป็นเฮียของทุกคนแล้ว เขายังเป็นพ่อค้าแผ่นเสียงร้าน h records ที่ก็ทำเองคนเดียวอีกเหมือนกัน ถือเป็นอาชีพท่อน้ำเลี้ยงให้ได้มีโอกาสไปดูดนตรีที่เขาใฝ่ฝัน และยังเป็นงานที่รายล้อมไปด้วยเสียงเพลงที่เขารัก ลำพังหวังพึ่งรายได้จากการทำเพจคงจะไม่พอ (แม้ตัวตนของเขาจะถูกปิดเป็นความลับก็จริง แต่หากเป็นเรื่องค้าขาย เขายินดีเปิดเผยเต็มที่)
“เราแทบไม่ได้เงินจากการทำเพจเลย เหมือนทุกอย่างเราทำเพราะความฝัน เพราะความรักทั้งนั้น
“เราเป็นคนชอบฟังเพลงมาก ชอบไปคอนเสิร์ตมาก ชอบไปเฟสติวัลมาก ๆ คิดว่าเราทำเพจนี้ได้ไปจนตายเลย เพราะตอนนี้ชีวิตกำลังอยู่ในจังหวะที่โอเค พอมีรายได้จากการขายแผ่นเสียง แล้วก็ได้ไปเฟสติวัลที่อยากไป ได้ดูคอนเสิร์ตที่อยากดู ได้ฟังเพลงที่อยากฟัง ได้ใช้ชีวิตที่อยากใช้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่านี้แล้ว”


หลังคุยกันมาเนิ่นนาน ก่อนจะมาเป็นเฮียที่ฝันอยากดูคอนเสิร์ตไปจนวันตาย เราชวนเขาคุยถึงเด็กชายในความทรงจำจนได้ความว่า ตัวเขาในวัยเยาว์ก็หมดเงินไปกับซีดีเพลงและเทปเยอะมาก ราว ๆ 500 ชิ้น
เฮียเป็นคนชอบฟังเพลงมาตั้งแต่มัธยม ฝึกทักษะภาษาอังกฤษจากการซื้อเทปเพลงสากลมาฟังแล้วแกะเนื้อเอง ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ยุคนั้นเป็นยุคของ Spice Girls หรือ Radiohead หากมีโอกาสไปเจอศิลปินไทยที่ร้านทาวเวอร์เรคคอร์ดในตำนาน เขาก็ถือแผ่นซีดีไปขอลายเซ็นเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป
“เราชอบดู Channel V ชอบโทรไปหาพี่ VJ ตะแง้ว ชอบฟังเพลง ชอบดูสถิติว่าเพลงไหนขึ้นอันดับ 1 แต่มาเริ่มดูคอนเสิร์ตจริง ๆ ตอนโตขึ้นหน่อยเพราะว่าไม่ได้มีเงิน แล้วก็ไป Fat Festival ไปคอนเสิร์ตเดี่ยวของศิลปินนู่นนี่ ตามกำลังทรัพย์”
ถึงเขาจะเริ่มจากการฟังเพลงไทย แต่สุดท้ายเขาก็สนใจเพลงสากลมากเป็นพิเศษ เราจะเห็นว่าเพจของเขาพูดถึงศิลปินต่างชาติเพียงเท่านั้น และหากนึกดูแล้ว ย่อมมีเพจเพลงไทยที่มีความรู้ลึกรู้จริงมากกว่าหลายเท่า คำแนะนำของเขาจึงเป็นการศึกษาและลงแรงลงใจอย่างเต็มที่ จนกว่าจะเก่งในเส้นทางของตัวเอง แล้วผลลัพท์ที่ได้ตามมาจะคุ้มค่า
ใครจะรู้ว่าคนที่กดบัตร Glastonbury เป็น 10 ปีไม่เคยได้ วันหนึ่งจะกลายเป็นสื่อไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับคัดเลือกในเทศกาลระดับโลก


Is it true
แทร็กที่ 4 ของ Tame Impala ในบทความนี้มีชื่อว่า Is it true
ส่วนความฝัน 10 ปีของนักดูดนตรีอย่างเฮียมีชื่อว่า Glastonbury เทศกาลดนตรีและการแสดงบนผืนหญ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งเกาะอังกฤษ
คล้ายจะถามซ้ำอีกครั้งว่ามันเกิดขึ้นจริง ๆ ใช่ไหม
ระดับความยากของเทศกาลนี้มีการเปรียบเทียบอย่างติดตลก เช่น ว่ากันว่า ระหว่างเป็นศิลปินแล้วได้ไปแสดงในงาน กับเป็นคนธรรมดาที่กดบัตรเอง การเป็นศิลปินน่าจะมีโอกาสไปงานได้มากกว่า
เฮียเล่าให้ฟังว่าการกดบัตร Glastonbury นั้นยากเพราะเต็มไปด้วยขั้นตอนมากมาย จะต้องมีการลงทะเบียน ต้องอัปโหลดรูปถ่าย ต้องใส่หมายเลขที่ได้จากการลงทะเบียนก่อนสั่งซื้อ พอได้บัตรมาก็จะมีชื่อจริงกับรูปภาพของตนติดอยู่บนบัตร ทำให้เป็นเทศกาลที่รีเซลค่อนข้างยาก หรืออาจจะขายต่อไม่ได้ด้วยซ้ำ ยิ่งการสมัครขอบัตรในฐานะสื่อเฟซบุ๊กที่มียอดติดตามเพียง 6 หมื่น ณ ขณะนั้น ยิ่งเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ
“ในใจคิดว่าไม่น่าได้” ถึงจะเป็นกังวล แต่เขาก็ถือคติไม่ลองไม่รู้
เขายื่นใบสมัครด้วยการบอกว่า hear and there เป็นสื่อออนไลน์ที่โดดเด่นเรื่องคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี พร้อมแนบรีวิว Coachella Valley Music and Arts Festival, Fuji Rock Festival, Wanderland Festival รวมถึงเทศกาลต่าง ๆ ที่เขาเคยไปมาแล้วไม่ได้กลับมาด้วยมือเปล่า
“สุดท้ายเราก็เป็น Waiting List แล้วก็ได้มาแบบบังเอิญมาก วันที่เขาบอกคือ 13 พฤษภาคม แต่งานมีวันที่ 22 มิถุนายน ช่วงนั้นวีซ่าอังกฤษใช้เวลาขอนานกว่าปกติ คือได้วีซ่าก่อนไปแค่อาทิตย์เดียว ถือว่าฉิวเฉียดมาก เลยรู้สึกว่าเป็นความสำเร็จของเราระดับหนึ่งในฐานะสื่อที่ทำอยู่ตอนนี้”
จากคนที่แค่อยากเปิดเพจเพื่อแชร์เรื่องเล่าจากเทศกาลให้เพื่อนฟัง น่าสนใจว่าการได้รับคัดเลือกครั้งนี้ ทำให้เขารู้สึกเหมือนตัวเองเติบโตขึ้นมากแค่ไหน เฮียตอบเราทันควันว่าการเข้าไปใน Press Tent ที่ Glastonbury เป็นการตอกย้ำว่าเขายังคงเป็นสื่อที่ตัวเล็กมากเหลือเกิน


“ในเต็นท์มี Press จากทุกที่ เช่น Rolling Stone, Time Magazine ทุกคนจริงจังมาก เขียนบทความกันรัว ๆ เดินออกไปถ่ายรูป แล้วก็เดินกลับมาเขียนใหม่ เขามืออาชีพมาก เลนส์กล้องยาวมาก เพราะมันเป็นงานใหญ่ ทุกคนก็ทุ่มสุดตัว เพื่อที่ปีต่อ ๆ ไปเขาจะได้มาอีก
“แต่คือเราไปจากไทย คิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าคงไม่มีเวลาทำคอนเทนต์ ไม่ลงเพลงใหม่ เอ็มวีใหม่ช่วงนั้นเลย เราก็ไม่ได้เอาคอมไปเพราะคงไม่ต้องใช้อยู่แล้ว อุปกรณ์ที่เราใช้ลงคอนเทนต์คือมือถือ มีแอบคิดในใจว่าทุกคนจะคิดว่ากูเข้ามาเล่นมือถือรึเปล่า แต่จริง ๆ แล้วกูมาทำงานนะ (หัวเราะ)”
แม้จะเดินทางไปเทศกาลมาแล้วหลายประเทศ เขาก็ยังคงตื่นเต้นเหมือนครั้งแรกที่ได้ไป ตามมาด้วยความตื่นตาตื่นใจสุดขีด เพราะ Glastonbury เป็นงานใหญ่ที่มีมากกว่า 100 เวที รวมถึงบาร์ลับ และกิจกรรมให้ร่วมสนุกอีกเยอะมาก ขนาดที่ว่าเดิน 5 วันก็ยังไม่ครบ จนเขายอมรับว่าคงต้องมาอีกสัก 3 รอบถึงจะไปได้ครบทุกโซน บรรยากาศภายในงานจึงเป็นสิ่งที่เขาคิดถึงมาจนถึงวินาทีที่เราสนทนากันอยู่


“คนไปมันเอ็นจอยมากเหมือนไปเพื่อซึมซับบรรยากาศ ไปเพื่อใช้ชีวิต ไม่ใช่แค่คอนเสิร์ตอย่างเดียว มีกิจกรรมเยอะแยะมาก มีโซน Kids ที่ทั้งโซนเป็นของเล่นเด็กให้พ่อแม่พาลูกไป คนอังกฤษที่พ่อแม่เคยพาเขาไปตั้งแต่เป็นเด็ก ตอนนี้โตขึ้นจนไปงานเองกันได้แล้ว งานนี้เหมือนเป็นประเพณีของประเทศ พวกเขาโตมากับเฟสติวัลนี้เลย”
แม้จะทุลักทุเล ผิดแผนไปบ้าง แต่เส้นทางความฝัน 10 ปีก็ลงเอยอย่างสวยงาม และเต็มไปด้วยความประทับใจที่คงลืมไม่ลงไปตลอดชีวิต
Apocalypse Dream
เราถามเขาว่าทำไมถึงหลงรักการไปดูคอนเสิร์ตขนาดนั้น เฮียตอบคำแรกว่าไม่รู้ ส่วนคำต่อมาคือประสบการณ์ที่เคยยืนดูศิลปินเล่นสดแล้วน้ำตาไหล เข้าใจว่าความตื้นตันพวกนี้คงอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ยาก
“บางทีถ้าเจอศิลปินร้องแย่ก็คือแย่ มันไม่ได้มีแค่ความรู้สึกดี ๆ ตลอดหรอก แต่การไปคอนเสิร์ตคือเราได้สัมผัสจริง ๆ ได้ไปเจอกับคนที่ชอบศิลปินเดียวกัน ได้ร้องเพลงได้แหกปากกับคนที่ร้องได้เหมือนกัน ยิ่งการไปเฟสติวัลต่างประเทศ เราก็จะได้ไปดูคอนเสิร์ตที่เราอยากดู ได้ไปเที่ยว ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้ไปใช้ชีวิต ไปพบปะผู้คน”
นอกจากการไป Glastonbury ในฐานะสื่อที่เป็นความฝันสูงสุดแล้ว เป้าหมายใหญ่ ๆ ที่อยากท้าทายตัวเองเล่น ๆ ของเขา คือการออกจากบ้านไปดูเฟสติวัลรอบโลกตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 1 มกราคมของอีกปี
เราฟังแล้วถึงกับบอกว่ามันบ้ามาก เขาเองก็เห็นอย่างนั้น พูดย้ำอยู่หลายครั้งว่ามันเป็นฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่คงไม่มีทางเป็นไปไม่ได้ในชีวิตนี้ สำหรับความฝันที่มีมูลค่าหลายล้านบาท กับเพจหนึ่งเพจที่ปราศจากรายได้ และความยุ่งเหยิงในชีวิตส่วนตัวที่เขาต้องรับผิดชอบทุกอย่างเพียงคนเดียว
อย่างน้อย เราก็ขอเป็นลูกเพจที่เอาใจช่วยให้เขาทำฝันเป็นจริงได้สำเร็จ ไม่แน่ว่าอนาคตในหลักหน่วยปีหรือสิบปีต่อไป เราอาจจะได้เห็นมหากาพย์การรีวิวเทศกาลทั่วโลกแบบที่คนในโลกเขาไม่คิดจะทำกัน
และถ้าวันนั้น Tame Impala ยังคงเป็นศิลปินคนโปรดของเขาอยู่ แทร็กที่เราอยากมอบให้ก็คงเป็นเพลง Eventually


ก่อนจากกันเราขอชวนทุกคนทำความรู้จัก ‘เฮีย’ผ่าน 15 คำถามต่อไปนี้
‘เฮีย’ อายุเท่าไหร่
ชราแล้วครับ เริ่มยืนดูคอนเสิร์ตไม่ไหว
‘เฮีย’ อยู่ในวงการดนตรีรึเปล่า
มีคนเคยคิดว่าเฮียเป็นศิลปิน เป็นนักร้อง แต่ไม่ได้อยู่ในวงการครับ
นิยามคนที่ชื่อ ‘เฮีย’ ใน 3 คำ
น่ารัก เป็นกันเอง ขี้เม้า
คิดว่า ‘เฮีย’ ในจินตนาการของลูกเพจเป็นยังไง
เป็นคนแก่ ๆ มีอายุระดับหนึ่งมั้งครับ
ลูกเพจชอบส่งมาว่า เฮียขอกู้เงินหน่อยได้ไหม ชอบคิดว่าเฮียเป็นคนรวย มีเงินไปเที่ยว แต่จริง ๆ ไม่รวย เฮียก็เป็นคนปกติทั่วไปนี่แหละ เหมือนที่เขาชอบพูดกัน ใน IG ถ่ายรูปสวยแต่ชีวิตจริงกินมาม่า (หัวเราะ)
วงล่าสุดที่ฟังแล้วดีมาก ๆ จนต้องแชร์ให้โลกรู้
The Lazy Eyes เป็นวงที่กำลังมาจากออสเตรเลีย เพลงดี แต่ยังไม่ดัง เล่นเปิดให้กับ The Strokes (เพลงแนะนำ Cheesy Love Song)
วงไหนที่คิดว่าน่าจะรู้จักมาตั้งนานแล้ว
Kikagaku Moyo
จำนวนการแสดงสดมากสุดที่เคยดูใน 1 ปี
ปี 2019 ทั้งหมด 334 โชว์
ศิลปินคนโปรดตลอดกาล
Tame Impala
คอนเสิร์ตที่อยากไปดูให้ได้ก่อนตาย
ถ้าอยากดูตอนนี้น่าจะเป็น The Strokes กับ Arctic Monkeys ที่ยังไม่ได้ดูสักที คลาดกันไปมา
คอนเสิร์ตที่ประทับใจที่สุดในชีวิต
Beyoncé ที่ Coachella ครับ
ประสบการณ์การไปเทศกาลที่จำได้ไม่ลืม
เคยไป Fuji Rock แล้วมีคนเข้ามาทักว่ายูเคยไป Coachella ปีล่าสุดรึเปล่า เรายืนข้าง ๆ กันตอน The 1975 คิดว่าเขาคงจำได้เพราะเราร้องเพลงเสียงดังมาก เป็นคนญี่ปุ่นที่ไปเรียนอเมริกา ตอนนี้ก็เป็นเพื่อนกันอยู่
บัตรราคาแพงสุดที่เคยไป
เคยซื้อแพ็กเกจ Coachella 55,000 บาท รวมโรงแรม
ศิลปินไทยคนไหนที่จะก้าวไปสู่ Coachella เหมือน MILLI ได้
ระดับความว้าวของศิลปินคนต่อไปใน #กรุงเทพเมืองคอนเสิร์ต
มีที่ว้าวมาก ๆ แต่ยังไม่ได้บอก ว้าวถึงขนาดที่ต้องจ่ายตังค์มาให้ได้แน่นอน
สปอยล์อะไรก็ได้ให้ลูกเพจ 1 อย่าง
ปีหน้าจะมีเฟสติวัลใหม่เกิดขึ้นในไทยครับ

ภาพ : hear and there