7 พฤศจิกายน 2023
742

เราว่ายตามหลังอยู่รั้งท้ายของกลุ่ม อุณหภูมิน้ำเย็นถึง 18 องศาเซลเซียส ทำให้เราต้องใส่ Wetsuit หนาขึ้นกว่าที่ใส่ในไทย Wetsuit ที่หนาขึ้นและอุปกรณ์ไม่คุ้นชินทำให้เราว่ายน้ำและขยับตัวได้ไม่ถนัด จังหวะแรกที่เราหันไปเห็นฉลามตัวสีเทา ๆ ทางขวามืออยู่ห่างออกไปไม่ถึง 5 เมตร ก็คิดในใจแค่ว่าฉลามตัวนี้ใหญ่และว่ายมาใกล้จัง แต่เมื่อมันเอียงตัวส่วนหัวที่เป็นรูปทรงค้อน ก็เผยให้เห็นออกว่าเป็น ‘ฉลามหัวค้อนแห่งเกาะมิโกะโมโตะ’ โด่งดังในหมู่นักดำน้ำชาวญี่ปุ่นมานานกว่า 20 ปี ถ้าโชคดีเราจะได้เจอฝูงฉลามหัวค้อนหลายร้อยตัวว่ายผ่านหน้าไปเหมือนเป็นกำแพงสูง และนั่นเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักดำน้ำให้มาที่นี่

พอใช้อุปกรณ์ที่เช่ามาทั้งชุดเลยไม่มีกระดิ่งหรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่จะใช้เรียกนักดำน้ำติดตัวอยู่เลยสักชิ้น เราได้แต่ตะโกนทำเสียงอู ๆ อา ๆ ให้ดังพอที่พวกเขาจะได้ยิน โชคดีว่าทุกคนหันมาทันก่อนที่ฉลามหัวค้อนตัวใหญ่จะหันกลับแล้วว่ายจากไป

ประสบการณ์ใกล้ชิด ‘ฉลามหัวค้อน’ ช่วงเวลาแสนพิเศษของเหล่าช่างภาพใต้น้ำ
ฉลามหัวค้อนแห่งหมู่เกาะกาลาปากอส หนึ่งในจุดหมายของนักดำน้ำที่ต้องการพบเจอฉลามหัวค้อนได้อย่างไม่ยากนัก

ฉลามหัวค้อนที่นี่เป็นชนิด หัวค้อนหยัก (Scalloped Hammerhead Shark) ซึ่งมักอยู่รวมกันเป็นฝูง การที่เราได้เห็นฉลามหัวค้อนว่ายมาตัวเดียวเดี่ยว ๆ จึงนับว่าเป็นเรื่องแปลก แต่ฉลามตัวที่เราเห็นอาจไม่ใช่ชนิดค้อนหยักก็เป็นได้ มันเป็นนาทีที่เลือนรางและผ่านไปรวดเร็ว จนเราเองระบุชนิดของหัวค้อนในวันนั้นไม่ได้

นั่นคือประสบการณ์การพบเจอกับฉลามหัวค้อนครั้งแรกของเรา ซึ่งคือเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว

ฉลามหัวค้อนน่าจะเป็นฉลามที่คนทั่วไปรู้จักมากที่สุด แม้แต่หลานชายอายุ 5 ขวบของเรายังเรียกชื่อมันถูก ถึงแม้จะไม่เคยได้พบเห็นตัวจริงก็ตาม นั่นก็เพราะส่วนหัวของมันเป็นเอกลักษณ์สมชื่อ 

สารคดีธรรมชาติชุดหนึ่งพูดถึงฉลามหัวค้อนไว้ว่าเป็นสัตว์ที่มีความสันโดษและลึกลับสูง แค่เพียงเสียงหายใจของนักดำน้ำก็อาจไล่พวกมันให้หลบหนีออกจากพื้นที่ได้ นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งของตำนานที่ทำให้ทุกคนอยากพบเจอมากขึ้น

ประสบการณ์ใกล้ชิด ‘ฉลามหัวค้อน’ ช่วงเวลาแสนพิเศษของเหล่าช่างภาพใต้น้ำ
เงาของฉลามหัวค้อนใหญ่บนพื้นทรายเห็นส่วนหัวเป็นทรงค้อนอย่างชัดเจน

เมื่อเราศึกษาเพิ่มอย่างจริงจังก็พบว่า ที่จริงแล้วฉลามหัวค้อนมีหลายชนิด แต่ละชนิดพบในพื้นที่ที่แตกต่างกัน และพฤติกรรมของพวกมันก็แตกต่างกันออกไปด้วย บางชนิดไม่ได้ตื่นกลัวเสียงหายใจของนักดำน้ำอย่างที่สารคดีกล่าวไว้เลยด้วยซ้ำ 

คืนที่เงียบ คลื่นในทะเลแทบไม่มี เรือของเราลอยอยู่ห่างจากเกาะใต้สุดของหมู่เกาะสิมิลันออกมาไกลพอสมควร ตรงจุดนี้ไม่มีแนวปะการังแบบที่เราดำน้ำกันตามปกติ พื้นทะเลอยู่ลึกลงไปถึง 65 เมตร ซึ่งลึกเกินกว่าความลึกที่เราจะลงไปดำเกือบ 3 เท่า พระอาทิตย์ตกไปได้สักพักหนึ่งแล้ว ความมืดครอบคลุมทะเลไว้ทั้งหมด พวกเรากำลังเตรียมตัวดำน้ำท่ามกลางทะเลเปิดแบบที่เรียกว่า Black Water เป็นการล่องลอยอยู่กลางน้ำที่ดำสนิท มีเพียงไฟฉายที่ผูกไว้กับทุ่นช่วยเป็นจุดอ้างอิงให้เราไม่หลงทาง

ระหว่างทางที่ดำน้ำลงไป จู่ ๆ เสียงเคาะถังอากาศก็ดังลั่นขึ้นมาจากเพื่อนนักดำน้ำใกล้ ๆ ตัว แสงไฟฉายในมือของเขาปัดขึ้นลงถี่ ๆ เป็นสัญญาณเรียก เราหันไปทันเห็นรูปทรงยาว ๆ สีอ่อน ว่ายจากไปในความมืดด้านล่าง มองไม่ชัดว่าเป็นตัวอะไร แต่รู้ว่าไม่ใช่ปลาธรรมดา ๆ แน่ ๆ เพราะตรงนี้ไม่มีแนวปะการัง สิ่งที่จะว่ายอยู่กลางน้ำแบบนี้ต้องเป็นปลานักล่าชนิดหนึ่งแน่นอน

ประสบการณ์ใกล้ชิด ‘ฉลามหัวค้อน’ ช่วงเวลาแสนพิเศษของเหล่าช่างภาพใต้น้ำ
ฉลามหัวค้อนใหญ่ว่ายเข้ามาที่กล่องเก็บซากปลาซึ่งใช้กลิ่นคาวเป็นตัวล่อฉลาม

บัดดี้ดำน้ำของเราส่งสัญญาณกลับมาด้วยการยกมือตั้งขึ้นระหว่างหน้าผาก… นั่นคือสัญญาณมือของฉลาม แล้วต่อด้วยการย้ายมือไปทำกำปั้นกลมวางข้างขมับ… หัวค้อน!

เราไม่เคยได้ยินว่ามีใครเคยเจอฉลามหัวค้อนตอนดำน้ำในทะเลไทย นักดำน้ำส่วนใหญ่ต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อจะได้พบพวกมัน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น กาลาปากอส ทะเลบันดาของอินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งมัลดีฟ ไม่เคยมีเมืองไทยอยู่ในลิสต์จุดหมายเหล่านั้น

อาจจะเป็นได้ว่ามันสัมผัสได้ถึงการสั่นสะเทือนของพวกเราที่โดดลงน้ำ และด้วยนิสัยของฉลามซึ่งเป็นสัตว์ขี้สงสัย จึงแวะเข้ามาดูและจากไปด้วยความรวดเร็วเพราะเสียงโวยวายของพวกเรา

นักดำน้ำที่มองเห็นตัวฉลามชัดเจนสรุปกันหลังจากนั้นว่าน่าจะเป็น ฉลามหัวค้อนเรียบ (Smooth Hammerhead Shark) เพราะสีตัวที่ออกไปทางครีมเหลืองและว่ายอยู่ตัวเดียวบริเวณน้ำตื้น

เราได้แต่นั่งฟังคนบนเรือถกเกียงกันว่าเป็นหัวค้อนชนิดไหน เรามองไม่ทันเห็นรายละเอียดใด ๆ บนตัวมันเลย และที่แย่ไปกว่านั้นคือเราไม่รู้ว่าต้องมองตรงไหนถึงจะแยกจุดต่างของแต่ละชนิดได้

ฉลามหัวค้อนตัวนั้นไม่ได้กลับมาอีกเลยตลอดทั้งไดฟ์ มันน่าจะฉลาดเกินกว่าที่จะวนกลับมาให้เสียเวลาและคงไม่ได้ใส่ใจอะไรกับนักดำน้ำอย่างเรา ซึ่งตรงกันข้ามกับพวกเราที่จะจดจำการพบเจอครั้งนี้ไว้อย่างดี

ประสบการณ์ใกล้ชิด ‘ฉลามหัวค้อน’ ช่วงเวลาแสนพิเศษของเหล่าช่างภาพใต้น้ำ
ส่วนค้อนที่ดูเกะกะใช้ประโยชน์ในการเปลี่ยนระดับได้อย่างรวดเร็วแบบเดียวกับปีกของเครื่องบิน

ทรายใต้ทะเลของบาฮามาสมีสีขาวสะอาดตา เมื่อสะท้อนกับแสงแดดที่ทะลุลงมาจากด้านบน ยิ่งทำให้ใต้น้ำสว่างไสว พวกเรานั่งเรียงกันเป็นแถวเพื่อดูฉลามเสือว่ายเข้ามาที่กล่องใส่เศษปลาทีละตัว ฉลามเสือได้ชื่อนี้เพราะลายทางข้างลำตัวของมันที่ละม้ายลายเสือโคร่งเจ้าแห่งป่าดิบ

ในระหว่างที่เรากำลังดูฉลามเสือว่ายอย่างอ้อยอิ่งเพลิน ๆ ก็มีโครงร่างของฉลามใหญ่ครีบหลังสูงเป็นกระโดงโผล่เข้ามาในพื้นที่ด้วย ฉลามหัวค้อนใหญ่ (Great Hammerhead Shark) ตัวสีดำสนิทว่ายเข้ามาอย่างปราดเปรียว ผิดกับฉลามเสือที่ดูอุ้ยอ้ายอย่างเห็นได้ชัด

นี่นับเป็นการเห็นฉลามหัวค้อนชัดเจนที่สุดเท่าที่เราเคยพบกันมา 

ถึงแม้จะมีหัวเป็นค้อนเหมือนกับฉลามหัวค้อนตัวอื่น ๆ ที่เราเคยเห็นมา แต่ขนาดของมันแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

ประสบการณ์ใกล้ชิด ‘ฉลามหัวค้อน’ ช่วงเวลาแสนพิเศษของเหล่าช่างภาพใต้น้ำ
เมื่อเทียบขนาดกับฉลามเสือแล้ว ฉลามหัวค้อนใหญ่ยังเป็นรองทางส่วนความหนา

ส่วนค้อนของหัวที่ดูเกะกะนั้น นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามีไว้ใช้เปลี่ยนระดับความลึกได้อย่างรวดเร็ว คล้ายกับปีกเครื่องบิน ตำแหน่งของดวงตาที่อยู่ปลายค้อนทั้งสองด้าน พวกมันจึงมองเห็นภาพมุมกว้างกว่าฉลามทั่วไป แต่ที่น่าทึ่งคืออวัยวะรับรู้ถึงเหยื่อที่ซ่อนอยู่บริเวณหัวค้อนด้านหน้านั้น พวกมันเป็นฉลามที่มีวิวัฒนาการสูงที่สุดในบรรดาฉลามทั้งหมด

เมื่อเรามีเวลาได้นั่งดูอย่างใกล้ชิด ที่เคยคิดว่ารูปร่างของมันตลกและแปลกประหลาด กลับดูสวยงามและน่าเกรงขาม วิธีการว่ายน้ำปราดเปรียวจนน่ากลัวเมื่อมองในมุมของเหยื่อ 

ส่วนปากของมันเผยออยู่ตลอดเวลา เหมือนจะงับปิดได้ไม่สนิท ฟันแหลมเรียงตัวยื่นออกมาให้เห็นจากในปากนั้นเด่นชัด ดวงตากลมโตดึงดูดให้เราจ้องมองจนลืมทุกอย่างได้สนิท

รอบแล้ว รอบเล่า เรานั่งมองฉลามหัวค้อนใหญ่ตัวเดิมว่ายวนเข้ามาที่กล่องเศษปลา กลิ่นน้ำมันและคาวเลือดปลาเป็นตัวล่อให้เข้ามาที่นี่ เมื่อยังมีกลิ่นอยู่ มันก็ยังวนหาด้วยความสงสัยว่าอาหารอยู่ที่ไหนกันแน่

ฉลามหัวค้อนใหญ่มักอยู่ตัวเดียว พเนจรท่องไปในมหาสมุทรแบบโดดเดี่ยว ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่สูสีกับฉลามเสือที่เราเห็นอยู่ แต่ความหนาของตัวก็ยังสู้ไม่ได้ จึงเป็นฝ่ายที่หลีกทางให้ฉลามเสือเข้าพื้นที่ก่อนเสมอ 

มันตีวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ในการวนมาแต่ละรอบ ทิ้งช่วงห่างแต่ละรอบนานขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด มันก็หายไปไม่กลับมา ทิ้งไว้แต่ภาพที่ชัดเจนในความทรงจำของเรา

ประสบการณ์ใกล้ชิด ‘ฉลามหัวค้อน’ ช่วงเวลาแสนพิเศษของเหล่าช่างภาพใต้น้ำ
ดวงตากลมโตของฉลามหัวค้อนที่สะกดให้เรามองจนแทบลืมทุกอย่างรอบตัว

เกาะมิโกะโมโตะเป็นเกาะเล็ก ๆ กลางทะเล ซึ่งมีแค่ประภาคารเล็ก ๆ อยู่บนเกาะ การเดินทางไปที่นี่ต้องนั่งเรือไปประมาณ 30 นาทีจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ 

ช่วงหน้าร้อน กระแสน้ำคุโรชิโอะ (Kuroshio) จะไหลผ่านเข้ามาใกล้เกาะมิโกะโมโตะ และพาเหล่าฉลามหัวค้อนให้เข้ามาใกล้เกาะด้วยเช่นกัน

10 กว่าปีที่ผ่านมาเกาะยังคงสภาพเหมือนเดิม ตึกที่ตั้งของร้านดำน้ำก็ยังคงเหมือนเดิม แต่ผนังภายในกั้นห้องเพื่อประโยชน์ใช้สอยใหม่ ตรงจุดเดิมที่เคยเป็นโต๊ะเตี้ยแบบญี่ปุ่นให้นั่งเขียนบันทึกหลังจบไดฟ์ กลายเป็นชั้นวางรองเท้าและ Wetsuit ดำน้ำ หลายอย่างคงอยู่เหมือนเดิม หลายอย่างเปลี่ยนไป

ภาพถ่ายฝูงฉลามหัวค้อนที่ร้านดำน้ำโพสต์บนโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอทำให้เราคาดหวังว่าจะได้เจอกับพวกมันอย่างใกล้ชิด ได้มองดูฝูงฉลามอย่างเต็มตา

ครั้งนี้ใต้น้ำไม่เย็นเหมือนเดิม เรียกว่าค่อนข้างจะอุ่นเสียด้วยซ้ำ แต่กระแสน้ำนั้นรุนแรงกว่าที่เราเคยจำได้มาก เราเตะขาตามกลุ่มไปเหมือนเดิม ว่ายสวนน้ำไปตามทางที่ไดฟ์ลีดเดอร์พาไป ตาก็มองออกไปในด้านนอกซึ่งเป็นสีฟ้าหม่นตลอดเวลา

การว่ายตามคนอื่นแบบไม่รู้แผนล่วงหน้าตลอดเวลาสำหรับเราแล้วเหนื่อยล้ามาก เราไม่รู้ว่าจะต้องผ่อนเมื่อไรหรือเร่งตอนไหน เหมือนต้องวิ่งแข่งโดยไม่รู้ว่าเส้นชัยอยู่ที่ไหน

หลังจากว่ายไปได้สัก 15 นาทีก็เหมือนจะเห็นเส้นชัยของพวกเราปรากฏออกมาเบี้องหน้า ฉลามหัวค้อนฝูงใหญ่อยู่ห่างออกไปไม่ไกล แต่กระแสน้ำไหลต้านมาจากทิศทางที่มันอยู่ เราเร่งขาเตะฟินให้พุ่งไปข้างหน้าเร็วขึ้น แต่ก็ไม่ทันเวลา เส้นชัยหนีเราห่างออกไปในสีฟ้าด้านนอก

ประสบการณ์ใกล้ชิด ‘ฉลามหัวค้อน’ ช่วงเวลาแสนพิเศษของเหล่าช่างภาพใต้น้ำ
ประสบการณ์ใกล้ชิด ‘ฉลามหัวค้อน’ ช่วงเวลาแสนพิเศษของเหล่าช่างภาพใต้น้ำ
ฉลามหัวค้อนหยักแห่งญี่ปุ่น ว่ายเกาะแนวกระแสน้ำคุโรชิโอะ ซึ่งจะเข้ามาใกล้เกาะมิโกะโมโตะในช่วงหน้าร้อนของทุกปี

ทุกคนเริ่มออกตัวใหม่ ตามหาเส้นชัยที่ไม่รู้จุดหมายอีกครั้ง รอบนี้เราเข้าใกล้เส้นชัยได้มากกว่าเดิม มากจนเรียกว่าใกล้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะได้ภาพที่คมชัด ฉลามหัวค้อนนับร้อยตัวว่ายน้ำไปในทิศทางเดียวกัน เราจ้องมองพร้อมกับเสียงหอบหายใจของตัวเองที่ดังลั่น พร้อม ๆ ฝูงฉลามที่ค่อย ๆ ว่ายห่างออกไป 

ความเหนื่อยล้าและเร่งรีบที่จะเข้าใกล้ฉลามหัวค้อนทำให้เราแทบไม่ได้สังเกตพวกมันอย่างชัดเจน นอกจากจำนวนที่เยอะจนน่าทึ่งแล้ว เรามองไม่เห็นอะไรอีกเลย มองไม่เห็นดวงตากลมโต ไม่ได้เห็นความปราดเปรียว สง่างามของพวกมันเลย

เราได้เจอกำแพงฉลามหัวค้อนที่ตามหา แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ

เราได้เจอ แต่เรามองไม่เห็น

บ่อยครั้งในชีวิตที่เราได้เจอกับสิ่งที่ตามหา แต่อาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ และเรามักไม่รู้ว่าอยากได้อะไรกันแน่ จนเราได้สัมผัสมันด้วยตัวเอง

ในระหว่างเก็บกระเป๋ากลับบ้าน เราก็ได้แต่คิดว่า อยากให้การพบเจอกันในครั้งหน้า เราจะได้มีเวลาและทำความรู้จักกับพวกมันมากกว่าแค่ได้ผ่านมาเจอกัน

Writer

Avatar

ชุตินันท์ โมรา

ช่างภาพ/วิดีโอใต้น้ำมือรางวัลระดับเอเชีย ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกใต้น้ำทั้งในและนอกประเทศมากว่า 17 ปี ทำหนังสือดำน้ำระดับนานาชาติหลายเล่ม เป็นทีมวิดีโอใต้น้ำและคนเบื้องหลังสารคดีและโฆษณาหลายตัว นอกจากนี้ยังเป็นแอดมินเพจ digitalay

Photographers

Avatar

ชุตินันท์ โมรา

ช่างภาพ/วิดีโอใต้น้ำมือรางวัลระดับเอเชีย ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกใต้น้ำทั้งในและนอกประเทศมากว่า 17 ปี ทำหนังสือดำน้ำระดับนานาชาติหลายเล่ม เป็นทีมวิดีโอใต้น้ำและคนเบื้องหลังสารคดีและโฆษณาหลายตัว นอกจากนี้ยังเป็นแอดมินเพจ digitalay

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม

Avatar

พลพิชญ์ คมสัน

เริ่มต้นชีวิตจากการเป็นสถาปนิกแต่ชอบหนีงานไปเข้าป่าลงทะเล ผสมกับความอินโทรเวิร์ตเล็กๆ เลยเปลี่ยนสายอาชีพมาเป็นช่างภาพใต้น้ำและคนทำสารคดี เคยทำนิตยสารดำน้ำระดับอินเตอร์ ผลิตงานสารคดีใต้น้ำ และงานโฆษณาหลายชิ้น ปัจจุบันเป็นแอดมินเพจ Digitalay