12 กุมภาพันธ์ 2024
1 K

ความขัดแย้งระหว่างทายาทเป็นสิ่งปกติที่พบเห็นได้ในแทบทุกครอบครัวธุรกิจ ซึ่งในหลายกรณีนั้นเกิดจากการแก่งแย่งผลประโยชน์จากธุรกิจครอบครัว นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ก็มีส่วนทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น เช่น การเลี้ยงดูที่บ่มเพาะนิสัยการแข่งขันกันจนเกินพอดีระหว่างพี่น้อง

ถึงแม้ว่าครอบครัวธุรกิจหลายแห่งจะจัดการความขัดแย้งนี้ได้ดี แต่ในอีกหลายแห่งนั้นเกิดความขัดแย้งรุนแรงจนถึงขั้นต้องขายกิจการให้แก่คนนอกครอบครัวหรือปิดกิจการ ส่วนครอบครัวเองก็ล่มสลายลงไปด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างของครอบครัวที่ความขัดแย้งระหว่างทายาทรุนแรงจนทำให้สูญเสียธุรกิจในขณะที่ครอบครัวก็แตกสลาย คือตระกูล Gucci ผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องหนังระดับโลก

เรื่องราวความขัดแย้งของทายาทตระกูลนี้โด่งดังจนถูกนำไปสร้างภาพยนตร์เรื่อง House of Gucci ที่นำแสดงโดย Lady Gaga เลยทีเดียว

Guccio Gucci

Gucci เป็นชื่อแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของบริษัทผลิตเครื่องหนังหรูระดับโลก Guccio Gucci ที่ก่อตั้งโดย Guccio Gucci

Guccio เกิดในครอบครัวทำหมวกฟางที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อเติบโตขึ้นเขาได้ไปทำงานที่โรงแรม Savoy ในกรุงลอนดอน ทำให้เขาเรียนรู้ว่ากระเป๋าหนังเป็นมากกว่าอุปกรณ์เก็บข้าวของ แต่ยังเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมของผู้ใช้อีกด้วย

เมื่อ Guccio กลับไปยังเมืองฟลอเรนซ์ เขาแต่งงานกับ Aida Calvelli และรับลูกของ Aida ชื่อ Ugo มาเป็นลูกบุญธรรม ต่อมาทั้งคู่มีลูกด้วยกันอีก 5 คน ได้แก่ Grimalda เป็นลูกสาวคนโตและคนเดียว Enzo ลูกชายคนรองที่เสียชีวิตตั้งแต่เล็ก และลูกชายอีก 3 คนต่อมา คือ Aldo, Vasco และ Rodolfo ที่มีชีวิตรอดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ในปี 1921 Guccio เปิดร้าน Guccio Gucci แห่งแรกที่เมืองฟลอเรนซ์ ขายปลีกเครื่องหนังจากอิตาลีและอังกฤษ อีกทั้งผลิตและรับซ่อมเครื่องหนังเองอีกด้วย เมื่อลูก ๆ ทุกคนยกเว้น Ugo โตขึ้น ได้เข้ามาช่วยทำงานในธุรกิจครอบครัว

Guccio เลี้ยงลูกแบบเข้มงวดมาก เน้นการประหยัด เขายังให้ลูก ๆ แข่งขันกันเพื่อให้แต่ละคนพัฒนาตนเองให้มากยิ่งขึ้น

Aldo มีพรสวรรค์ด้านธุรกิจมากที่สุดในบรรดาพี่น้องทั้งหมด Vasco รับผิดชอบด้านการผลิต ส่วน Rodolfo ในตอนแรกไม่ยอมทำธุรกิจครอบครัวและไปเป็นดาราภาพยนตร์ แต่เขากลับมาออกแบบกระเป๋าหนังและดูแลร้านของครอบครัวที่เมืองมิลานหลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพนักแสดง

Guccio เสียชีวิตในปี 1953 Aldo สืบทอดเป็นผู้นำธุรกิจรุ่นที่ 2 ต่อจากพ่อโดยมีน้องชายอีก 2 คนช่วย

พินัยกรรมของ Guccio ได้ตัด Grimalda ออกจากกองมรดกธุรกิจครอบครัวเนื่องจากเป็นผู้หญิง ถึงแม้ว่า Grimalda และสามีจะช่วยกิจการมาตั้งแต่สมัยธุรกิจยังล้มลุกคลุกคลานก็ตามที เมื่อ Grimalda ทราบข้อความในพินัยกรรม เธอได้พยายามฟ้องศาลเพื่อขอความเป็นธรรม แต่ก็แพ้คดี

Aldo vs Rodolfo

ในปีที่ Guccio เสียชีวิตนั้น กิจการ Gucci เปิดสาขาที่นครนิวยอร์ก ซึ่งต่อมา Aldo ก็ได้ไปปักหลักบริหารธุรกิจจากสำนักงานของบริษัทที่นั่น จนประธานาธิบดี John F. Kennedy ถึงกับกล่าวยกย่อง Aldo ว่า เป็น ‘The First Italian Ambassador of Fashion’ หรือทูตแฟชั่นชาวอิตาเลียนคนแรก

Aldo แต่งงานครั้งแรกกับ Olwen Price มีลูกด้วยกัน 3 คน คือ Giorgio, Paolo และ Roberto และมีลูกสาวชื่อ Patricia กับ Bruna Palombo ภรรยาคนที่ 2 ส่วน Rodolfo แต่งงานกับ Alessandra Winkelhauser Ratti นักแสดงที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า Sandra Ravel ทั้งคู่มีลูกเพียงคนเดียวเป็นผู้ชายคือ Maurizio ซึ่งตั้งชื่อตาม Maurizio D’Ancora ที่เป็นชื่อการแสดงของ Rodolfo

ในปี 1974 Vasco เสียชีวิตโดยทิ้งมรดกหุ้น 1 ใน 3 ของบริษัท Guccio Gucci ให้แก่ Maria ภรรยาของเขา ซึ่ง Aldo กับ Rodolfo ได้ซื้อหุ้นส่วนนี้คืนมาจาก Maria เพื่อรักษาธุรกิจให้อยู่ภายในครอบครัว ทำให้ Aldo และ Rodolfo มีหุ้นคนละ 50 เปอร์เซ็นต์

ถึงแม้ว่า Aldo และ Rodolfo จะมีหุ้นเท่า ๆ กัน แต่ทั้งคู่ก็ไม่พอใจอีกฝ่ายหนึ่ง Aldo คิดว่าหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์ของ Rodolfo มากเกินไป เพราะ Rodolfo ไม่ได้ทำประโยชน์ให้ธุรกิจมากเท่าเขา ส่วน Rodolfo ก็สังเกตว่า Aldo ยักย้ายถ่ายเทรายได้ของ Guccio Gucci ไปไว้ใน Gucci Perfumes ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ Rodolfo มีหุ้นแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหุ้นที่เหลือเป็นของ Aldo กับลูกชาย 3 คน คนละ 20 เปอร์เซ็นต์ Rodolfo จึงเผชิญหน้ากับ Aldo ว่าการแบ่งหุ้นใน Gucci Perfumes นั้นไม่เป็นธรรม และขอแบ่งหุ้นเพิ่ม แต่ Aldo ไม่ยอม

Paolo vs Aldo

Aldo แบ่งหุ้นบริษัท Guccio Gucci ในส่วนของเขาให้ลูก ๆ คนละ 3.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเขาเก็บไว้เอง 40 เปอร์เซ็นต์ เขาเข้มงวดกับลูก ๆ และให้ Giorgio และ Roberto มาช่วยงานเขาที่นิวยอร์ก แต่ Giorgio ไม่ชอบ จึงย้ายกลับอิตาลีไปดูแลสาขาที่กรุงโรมแทน

ส่วน Paolo ปักหลักอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ เขาเป็นคนรักอิสระ มีอารมณ์ศิลปิน แต่งงานและหย่า 2 รอบ เขาทะเลาะกับ Rodolfo อาของเขาที่ดูแลธุรกิจ Gucci ในอิตาลี จน Rodolfo ให้เขาย้ายไปทำงานกับ Aldo พ่อของเขาที่นิวยอร์ก แต่ Paolo ก็ไปมีปัญหากับ Aldo อีก

Paolo ซึ่งไม่ลงรอยกับทั้งพ่อทั้งอาเลยตัดสินใจออกผลิตภัณฑ์แบรนด์ของตัวเองชื่อ ‘Paolo Gucci Collection’ ขึ้นมาในปี 1980 เมื่อผู้จำหน่ายวัตถุดิบของ Gucci ทราบเรื่องจึงแจ้งให้ Aldo และ Rodolfo ทราบ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งคู่ไม่พอใจที่ Paolo ไปทำธุรกิจแข่งกับ Gucci ทั้งที่ยังทำงานให้ Gucci อยู่ จึงไล่ Paolo ออกจากบริษัทครอบครัว และยังห้ามไม่ให้ร้านค้าที่ขายสินค้าแบรนด์ Gucci ขายสินค้าของ Paolo ด้วย

Paolo ตอบโต้ด้วยการยื่นฟ้องพ่อของเขาเองและสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ต่อศาล รวมถึงฟ้องบริษัท Guccio Gucci ด้วย ทำให้ครอบครัว Gucci เป็นข่าวฉาวโฉ่ไปทั่ว

ต่อมา Aldo พยายามสมานฉันท์กับลูก ๆ รวมถึง Paolo โดยเขาแบ่งหุ้นให้ลูกแต่ละคนมากขึ้นเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเขาเหลือหุ้นเป็นของตัวเองอยู่ 17 เปอร์เซ็นต์

Aldo ยังเสนอให้ Paolo เป็น Vice Chairman ของบริษัท Guccio Gucci และให้รับผิดชอบฝ่ายที่จะตั้งขึ้นใหม่ซึ่งรวมผลิตภัณฑ์ของ Paolo Gucci Collection ไว้ด้วย แต่ที่ประชุมกรรมการบริษัทตีตกแผนนี้ไปด้วยเหตุผลที่ว่าผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพไม่ดีของ Paolo จะทำให้แบรนด์ Gucci เสียไปด้วย

Paolo รู้สึกว่าตนโดนหลอก เขาทะเลาะกับ Aldo ถึงขั้นแตกหัก และสั่งสมความแค้นไว้รอโอกาสที่จะแก้แค้นพ่อของเขา

Maurizio vs Rodolfo

ในขณะที่ Aldo มีปัญหากับ Paolo ลูกชายคนรอง Rodolfo ก็มีปัญหากับ Maurizio ลูกชายคนเดียวของเขาเช่นกัน เพราะเมื่อ Alessandra แม่ของ Maurizio เสียชีวิต Rodolfo ได้ปกป้องและควบคุม Maurizio มากจนกระทั่ง Maurizio อึดอัด

เมื่อ Maurizio ต้องการแต่งงานกับ Patrizia Reggiani นั้น Rodolfo ก็ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่า Patrizia แต่งงานเพื่อเงินมากกว่าเพราะความรัก อย่างไรก็ตาม สุดท้าย Maurizio ก็แต่งงานกับ Patrizia อยู่ดี ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกจึงยิ่งห่างเหิน Maurizio เลิกติดต่อพ่อ จนในที่สุด Aldo ผู้เป็นลุงต้องเป็นกาวประสาน ขอให้ Maurizio กลับไปคืนดีกับ Rodolfo

Rodolfo เสียชีวิตในปี 1983 ทำให้ Maurizio ได้มรดกเป็นหุ้น Gucci 50 เปอร์เซ็นต์ในส่วนของ Rodolfo เขาวางแผนที่จะเป็นผู้นำอาณาจักรธุรกิจครอบครัวแทน Aldo เพราะคิดว่าบริษัทควรเปลี่ยนกลยุทธ์จากแนวทางที่ Aldo ทำอยู่

Maurizio vs Paolo vs Aldo

ในปีถัดมา Maurizio ร่วมมือกับ Paolo ปลด Aldo ออกจากตำแหน่ง Chairman ของบริษัทโดยให้ Paolo ที่มีหุ้น 11 เปอร์เซ็นต์ ร่วมออกเสียงกับเขาที่มีหุ้นอยู่ 50 เปอร์เซ็นต์ โดย Maurizio สัญญาว่าจะตอบแทน Paolo ด้วยหุ้นในบริษัท Gucci Licensing ที่จะตั้งขึ้นใหม่เพื่อจัดการใบอนุญาตของธุรกิจ Gucci ทั้งหมด

ในปี 1984 Aldo จึงถูกปลดออกจากบริษัทที่เขาร่วมสร้างมากับมือ โดย Maurizio ขึ้นเป็นผู้นำบริษัทแทน

Aldo พยายามแก้แค้น Maurizio โดยฟ้องศาลว่า Maurizio ปลอมลายเซ็น Rodolfo บนใบหุ้นเพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษีมรดก Maurizio จึงต้องหนีการจับกุมอย่างเร่งด่วนไปสวิตเซอร์แลนด์

แต่สุดท้าย Aldo ก็หมดสภาพเพราะโดนคดีหนีภาษีและคดียักยอกเงินจากบริษัทและครอบครัว ซึ่งคดีนี้ Paolo ลูกชายแท้ ๆ ของเขาเป็นคนจัดการให้เบาะแสกับรัฐบาลเพื่อแก้แค้นพ่อ ทำให้ในปี 1986 Aldo ถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปีกับ 1 วัน

ต่อมา Paolo เริ่มระแคะระคายว่า Maurizio จะหักหลังไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับตน เลยส่งเอกสารที่เป็นหลักฐานว่า Maurizio ก็ถ่ายโอนเงินเพื่อหนีภาษี ทำให้ Maurizio ถูกจับ ต้องเสียภาษีและค่าปรับจำนวนมาก

ปิดฉาก และ ปลิดชีพ

Maurizio ต้องการครอบครองธุรกิจครอบครัวทั้งหมด ในปี 1988 เขาจึงติดต่อบริษัท Investcorp ที่ซื้อหุ้น Gucci ของ Paolo ไปตั้งแต่ปี 1986 แล้ว ให้เข้ามาช่วยซื้อหุ้นจากสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ อีก ซึ่ง Giorgio และ Roberto ก็ได้ขายหุ้นในส่วนของตัวเองให้ Investcorp

สุดท้าย Aldo ที่มีหุ้น 17 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เหลือทั้งอำนาจและตำแหน่งในบริษัทแล้วต้องจำยอมขายหุ้นในส่วนของตนตามลูกชายไปในปี 1989 หลังจากนั้นเพียงปีเดียวเขาก็เสียชีวิตไปด้วยวัย 84 ปี Aldo ยกมรดกทั้งหมดให้ Patricia ลูกสาวคนสุดท้องและคนเดียวของเขาที่เกิดจากภรรยาคนที่ 2

ส่วน Paolo ก็ล้มเหลวจากการออกแบรนด์ตัวเอง เขาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ล้มละลาย และเสียชีวิตในปี 1995

เมื่อ Maurizio ได้อำนาจบริหารบริษัทมาในมือแล้วก็ได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจของ Gucci แต่ยอดขายและกำไรกลับแย่ลงจนขาดทุน เขาพยายามซื้อหุ้นจาก Investcorp แต่ไม่สำเร็จ สุดท้าย Investcorp กลับเป็นฝ่ายขอซื้อหุ้น Gucci อีก 50 เปอร์เซ็นต์ที่ Maurizio ถืออยู่แทน

ท้ายที่สุด ฐานะทางการเงินที่ย่ำแย่ทำให้ Maurizio จำใจขายหุ้น Gucci ทั้งหมดของเขาให้ Investcorp ไปในปี 1993

สำหรับชีวิตส่วนตัวของ Maurizio นั้น เมื่อเขามีอำนาจในธุรกิจมากขึ้น เขาก็ทำตัวห่างเหินจากภรรยาและลูก ๆ จนในที่สุดเขาย้ายออกจากบ้านและไม่กลับไปอีกเลย ทำให้ Patrizia ภรรยาของเขาเป็นโรคซึมเศร้า

Patrizia ไม่พอใจยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อ Maurizio ขายหุ้น Gucci ที่เธอคิดว่าควรตกเป็นของลูก ๆ ของเธอ และยังฟ้องหย่าเธอ ห้ามเธอใช้นามสกุล Gucci และห้ามเธออาศัยในบ้านของตระกูล Gucci อีกด้วย Patrizia จึงวางแผนแก้แค้น

เช้าวันที่ 27 มีนาคม ปี 1995 ระหว่างที่ Maurizio เดินทางไปทำงานที่สำนักงานในเมืองมิลาน มือปืนที่ Patrizia ว่าจ้างได้ลั่นกระสุนสังหาร Maurizio จบชีวิตทายาทผู้นำธุรกิจครอบครัว Gucci รุ่นสุดท้าย ส่วน Patrizia ถูกตัดสินข้อหาจ้างวานฆ่า ต้องโทษติดคุก 29 ปี

ผลประโยชน์จากธุรกิจอาจเป็นยาพิษที่ทำลายครอบครัว

Gucci เป็นตัวอย่างครอบครัวธุรกิจที่ทายาทต่างพยายามแก่งแย่งตักตวงผลประโยชน์จากธุรกิจมาเป็นของตนโดยไม่สนใจผลเสียที่เกิดขึ้นกับธุรกิจที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ จนในที่สุดสร้างความขัดแย้งที่ปิดฉากลงด้วยการสูญเสียธุรกิจให้แก่คนนอกและการล่มสลายของครอบครัว

อันที่จริงแล้ว การแข่งขันกันในหมู่ทายาทของธุรกิจครอบครัว หรือ ‘Sibling Rivalry’ นั้น เป็นกลไกที่ช่วยผลักดันให้สมาชิกครอบครัวแต่ละคนพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วธุรกิจครอบครัวก็ได้ประโยชน์ไปด้วย

แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น การแข่งขันก็อาจทำให้ความร่วมมือกันของสมาชิกครอบครัวลดลง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ขัดแข้งขัดขากัน ซึ่งส่งผลเสียต่อธุรกิจครอบครัวโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการแข่งขันของทายาทไม่ได้เป็นไปเพื่อพัฒนาความสามารถ แต่แข่งขันกันเพื่อแก่งแย่งผลประโยชน์จากธุรกิจหรือเพื่อยึดธุรกิจของครอบครัวมาเป็นของตน

สาเหตุของการแก่งแย่งนี้นอกจากจะเกิดจากมูลค่ามหาศาลของธุรกิจที่เย้ายวนใจสมาชิกครอบครัวแล้ว อุปนิสัยของทายาทที่ถูกบ่มเพาะให้แข่งขันกันจนเกินพอดีก็มีส่วนอย่างมากด้วยเช่นกัน

ดังนั้นวิธีป้องกันการแก่งแย่งผลประโยชน์จากธุรกิจครอบครัวระหว่างทายาทที่ดีที่สุด คือการแก้ที่ต้นเหตุ นั่นคือการปลูกฝังความรัก ความสามัคคี และความเชื่อใจกันในครอบครัว ตลอดช่วงชีวิตของทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย

ข้อมูลอ้างอิง
  • www.imdb.com/title/tt11214590
  • en.wikipedia.org/wiki/Guccio_Gucci
  • www.elle.com.au/fashion/fashion-news
  • en.wikipedia.org/wiki/Rodolfo_Gucci
  • www.luxity.co.za/the-history-and-evolution-of-gucci
  • www.wwd.com/fashion-news/fashion-scoops
  • www.townandcountrymag.com/leisure/arts-and-culture
  • www.people.com/crime
  • www.lofficielitalia.com/uomo
  • Grant Gordon, Nigel Nicholson, “The Gucci Family: A Tragic Italian Opera” in Family Wars: Stories and Insights from Famous Family Business Feuds, Kogan Page Limited, London, UK, 2008.
  • Tony Sekulich, “The Violent Family Feud That Nearly Destroyed the Gucci Empire”, Tharawat Magazine, 27 October 2018.
  • “Aldo Gucci”, Wikipedia, Accessed 6 January 2024.
  • “Guccio Gucci”, Wikipedia, Accessed 6 January 2024.
  • “Maurizio Gucci”, Wikipedia, Accessed 6 January 2024.
  • “Paolo Gucci”, Wikipedia, Accessed 6 January 2024.

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต