เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจไทยเจ้าหนึ่งได้รับการแปะป้ายให้เป็นตัวอย่างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสารพัดคำศัพท์ ไม่ว่าจะเป็น 

CSR (Corporate Social Responsibility)

SE (Social Enterprise)

BCG (Bio-Circular-Green)

ESG (Environmental, Social, and Governance)

SDGs (Sustainable Development Goals)

Net Zero, Carbon Neutral และอื่น ๆ อีกมากมายที่คงจะมีคนประดิษฐ์คิดคำขึ้นมาให้ภาคธุรกิจช่วยโลกให้น่าอยู่ขึ้น แต่ไม่ว่าจะมีอีกสักกี่ตัวย่อ ผู้ประกอบการรายนี้ก็ไม่เคยวิ่งไล่ตามเทรนด์ ยังคงทำเรื่องเดิมตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่วันแรก 

วันที่ลาออกจากการเป็น ‘หมอ’ มาเป็น ‘นักธุรกิจ’ 

จิตวิญญาณหมอที่อยากช่วยชีวิตผู้คนยังคงเต็มเปี่ยมอยู่ในสายตาของ หมอใหญ่-นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ แต่ในวันนี้สังคมคุ้นเคยกับบทบาทของผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อพืชธรรมชาติย่อยสลายได้ 100% ภายใต้แบรนด์ ‘Gracz’ 

หมอใหญ่-นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน)
หมอใหญ่-นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน)

หลังจากสวัสดีเจ้าและอู้เมืองกันพอประมาณ ในฐานะที่เป็นลูกหลานคนเชียงรายเหมือนกัน เราก็เริ่มต้นอัปเดตชีวิต พูดกันแบบขำ ๆ ว่า เรามาคุยเรื่อง ESG กันดีไหมพี่หมอ กำลังอินเทรนด์เลย 

หมอใหญ่ยอมรับว่าเทรนด์ธุรกิจบนโลกนี้เปลี่ยนไปเร็วมากจริง ๆ 

“รู้ไหม สมัยที่เริ่มครั้งแรก ยังไม่มีคำว่า ESG หรือโลกร้อนอะไรทั้งนั้น เราเกิดจากความคิดที่ว่า ไม่อยากให้คนเป็นมะเร็ง ยังไม่ได้คิดเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำไป แค่อยากหาของมาทดแทนโฟมและพลาสติก จนมาเจอเยื่อพืชธรรมชาตินี่แหละ”

แม้แต่คำว่า PM 2.5 ก็ยังไม่มีใครรู้จักเลยด้วยซ้ำไป ใน พ.ศ. 2548 ที่หมอใหญ่เริ่มจดบริษัท รู้เพียงแต่ว่าการนำของเหลือทางการเกษตรมาใช้ต่อ ได้ช่วยสุขภาพเกษตรกรอีกทางหนึ่ง ทำให้ไม่ต้องเผาเป็นควันพิษ หลังจากนั้นให้หลัง 2 – 3 ปี อัล กอร์ นักการเมืองชาวอเมริกันถึงได้เริ่มพูดเรื่องโลกร้อน สังคมจึงเริ่มเข้าใจผลกระทบนี้ ซึ่งสินค้า Gracz ที่ย่อยสลายเป็นปุ๋ยลงดินใน 45 วัน เมื่อใช้เสร็จไม่ต้องรอวันเผาเหมือนขยะทั่วไป เท่ากับได้ 2 เด้งทั้งเริ่มต้นและตอนจบ ไม่ต้องเผา!

แล้วจึงค่อยมารู้จักศัพท์ใหม่อีกคำว่า วิธีคิดตั้งแต่ต้นจนจบที่ไม่เหลือขยะเลย เขาเรียกกันว่า Circular Economy 

พอธุรกิจเริ่มอยู่รอดได้หลังจากล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี จู่ ๆ หมอใหญ่ก็ถูกเชิญไปพูดเต็มไปหมดในฐานะตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคม ช่วงหลังมานี้ก็เริ่มมีคนขอให้ระบุคาร์บอนฟุตพรินต์ลงไปในผลิตภัณฑ์ด้วย เพื่อให้เข้าธีมลดคาร์บอน 

“จาก SDGs 17 ข้อ เราปาเข้าไป 11 ข้อแล้วนะ” หมอใหญ่หัวเราะ

“ทั้งหมดนี้เราไม่ได้ทำเรื่องใหม่เลยนะ เราใช้หลักคิดที่โคตรรรรรรร…ธรรมชาติ ไม่มีอะไรพิเศษเลย”

หมอใหญ่-นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน)

ไม่เอาชนะธรรมชาติ แต่อยากเอาชนะมะเร็ง

ย้อนกลับไปสมัยละอ่อน หมอใหญ่เรียนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รู้ว่าโฟมและพลาสติกมีสารก่อมะเร็งตอนนั่งเรียนในวิชาพิษวิทยา และมะเร็งคือโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นอันดับ 1 ทั้งในโลกและในประเทศไทย แต่พอออกจากห้องเรียนมา ในโรงอาหารคณะแพทยฯ กลับมีโฟมและพลาสติกเต็มไปหมด

นักศึกษาแพทย์ทุกคนรู้ ปัญหาไม่ใช่ไม่รู้ แต่ปัญหาคือ ถ้าไม่ให้ใส่โฟม แล้วจะเอาอะไรมาทดแทน

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ คือสมัยที่ได้ไปทำงานที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย หมอใหญ่เล่าว่า “ขณะนั้น สมเด็จย่า ยังอยู่ ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานกับพระองค์ท่านเยอะ ส่วนหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากพระองค์ท่านตอนที่ท่านทำดอยตุง คือวิธีการมองโลก พระองค์ท่านมองธรรมชาติเป็นแกนหลัก ให้ชีวิตอยู่สอดคล้องกับธรรมชาติ และชอบป้องกันมากกว่ารักษา”

หลังจากตัดสินใจเอาชนะโรคมะเร็งด้วยวิถีการป้องกันและใช้แบบแผนทางธุรกิจในการขยายผลการป้องกันให้กว้างและยั่งยืนมากขึ้นทดแทนการประกอบอาชีพแพทย์ที่เน้นในการรักษาเป็นส่วนใหญ่ หมอใหญ่ยึดมั่นมาตลอดว่าทุกอย่างต้องมาจากธรรมชาติและจะกลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยคติประจำองค์กรที่ว่า ชีวิตเดียว โลกใบเดียว (One Life, One Planet)

แนวทางการป้องกันให้สังคมไทยลดการใช้โฟมและพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง ทำให้หมอใหญ่ได้รับรางวัลแพทย์ต้นแบบในโอกาสครบรอบ 50 ปี แพทยสภา เมื่อ พ.ศ. 2561 ในฐานะแพทย์ที่ทำประโยชน์ให้สังคมในวงกว้าง (Do for the Most) ในขณะที่ยังมีคุณหมออีกจำนวนมากกำลังตั้งใจรักษาคนไข้ให้ดีที่สุด (Do for the Best) แต่ตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งน่าเป็นห่วงขึ้นทุกที ในแต่ละปี คนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน และเสียชีวิตกว่า 83,000 คน (ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ. 2567)

หมอใหญ่-นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน)

จาก 16 บาท สู่ 5 บาท เหลือ 2 บาท

ความมุ่งมั่นค้นหาวัสดุทดแทนโฟมและพลาสติก พาหมอใหญ่ไปเจอกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งในเยอรมนีที่มีการนำเยื่อสนมาทำเป็นภาชนะ จึงติดต่อเจ้าของงานวิจัยให้มาช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในไทย

ดร.วูฟกัง อยากให้เกิดการผลิตในเชิงพาณิชย์มาก จึงให้องค์ความรู้มาแบบไม่คิดเงินเลย แต่การผลิตกล่องข้าวจากเยื่อสนโดยใช้เครื่องจักรเยอรมันมีต้นทุนสูงถึง 16 บาท เขาบินมาถึงเมืองไทย พยายามช่วยหาเยื่อพืชท้องถิ่นมาทดแทน ทดลองกันในแล็บจนต้นทุนเหลือ 5 บาท”

การทดลองที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จบลงที่ชานอ้อย เพราะมีข้อดี 2 เรื่อง

เรื่องแรก ชานอ้อยมีเส้นใยขนาดกลาง ทำได้หลายแบบ ทำให้ผิวเนียนก็ได้ แข็งแรงก็ได้ ต่างจากกระดาษที่ใช้เส้นใยสั้น ให้คุณสมบัติผิวเนียนแต่ไม่แข็งแรง 

เรื่องที่ 2 โรงงานน้ำตาลจัดการขนส่ง รวบรวมให้เสร็จสรรพ พร้อมให้นำรถบรรทุกมาขนได้ฟรี ๆ (แต่เดี๋ยวนี้ไม่ฟรีแล้วนะ) โรงงานแห่งแรกของ Gracz จึงถือกำเนิดขึ้นข้างโรงงานน้ำตาล จังหวัดชัยนาท 

“จากต้นทุน 16 บาทเหลือ 5 บาท ทำให้เราตัดสินใจเปิดโรงงานใน พ.ศ. 2550 ซึ่ง 5 ปีแรกหลังเปิดโรงงาน สินค้า 95% ส่งออกหมดเลย เพราะแข่งกับราคาในประเทศไม่ได้ กล่องโฟมราคาไม่ถึงบาท คนก็ยังไม่ตระหนักเรื่องอันตรายของโฟมและพลาสติก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งกำลังการผลิตและประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ต้นทุนเราเหลือเพียง 2 บาท จึงเริ่มตีตลาดในประเทศได้”

แกะกล่องสำรวจธรรมชาติ

สิ่งที่หมอใหญ่ยังคงไม่หยุดค้นคว้า คือการมองหาเยื่อพืชธรรมชาติใหม่ ๆ นอกจากชานอ้อยที่มีเส้นใยขนาดกลาง ก็เริ่มหาเยื่อใยทั้งสั้นและยาวมาผสมกันให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น ขึ้นอยู่กับของเหลือทางการเกษตรแต่ละฤดูกาล ทุกวันนี้ส่วนผสม 50 – 60% ในกล่อง Gracz ยังเป็นชานอ้อย ผสมกับเยื่อใยสารพัดชนิด เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ใยสับปะรด ผักตบชวา ยึดโยงด้วยแป้งสูตรพิเศษคล้าย ๆ แป้งเปียกเป็นตัวเชื่อม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จดสิทธิบัตรระดับเอเชียไว้แล้ว

“เราไม่เคยปลูกอะไรเลย เยื่อทุกอย่างที่ใช้มาจากของเหลือทั้งนั้น กระทรวงเกษตรฯ บอกว่าบ้านเราเอาของเหลือใช้มาทำประโยชน์เพียงแค่ 40% ที่เหลือก็ทิ้งและเผา อ้อยนี่หนักเลย เผาใบอ้อยก่อนค่อยตัดต้นอ้อย พอนำอ้อยเข้าหีบเป็นน้ำตาลก็เหลือชานอ้อย ไม่มีที่ทิ้งก็เผาอีก”

แม้ส่วนผสมจะต่างไปบ้าง แต่คุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ยังต้องทำหน้าที่ได้ดีเท่าเดิม คือแข็งแรง ใส่ของเหลวได้ เข้าช่องฟรีซ ไมโครเวฟ หรือเตาอบได้ ความทนทานของเยื่อพืชได้ผ่านการพิสูจน์จากกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ความร้อนสูงถึง 250 องศาเซลเซียส ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีที่อาจตกค้างจะสลายหายไปหมดในขั้นตอนนี้ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการต้องอบยูวีอีกครั้งเพื่อให้สะอาดปลอดภัย พร้อมเป็นภาชนะสัมผัสอาหาร

ของเหลือทางการเกษตรหรือ Biomass ยังเป็นแหล่งพลังงานชั้นดีสำหรับหม้อไอน้ำ คอยให้ความร้อนเครื่องจักรโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า แน่นอนว่ามีการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้าในโรงงานด้วย

สร้างเยื่อใยและไมตรีที่ดีต่อกัน

สิ่งที่หมอใหญ่เล่าอย่างภาคภูมิใจในการพา Gracz เติบโตมาถึงทุกวันนี้ ไม่ได้พูดถึงว่าได้ไปประเทศไหนบ้าง แต่จังหวัดไหนในไทยต่างหากที่มีเรื่องเล่าน่าประทับใจซ่อนอยู่

หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดอุทัยธานี ห่างจากโรงงานกว่าร้อยกิโลเมตร เป็นพื้นที่เป้าหมายที่หมอใหญ่ตามหามาเนิ่นนาน พื้นที่ที่มีทั้งปริมาณวัตถุดิบมากพอและชุมชนเข้มแข็ง รวมกลุ่มทำ Pre-process หรือกระบวนการเตรียมวัตถุดิบเพื่อส่งต่อให้โรงงานได้ ด้วยความร่วมมือกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มชาวบ้านกว่า 20 ครอบครัว นำฟางข้าวในพื้นที่ 100 กว่าไร่หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จมารวมกันไว้ที่ผู้ใหญ่บ้าน ส่วน Gracz สนับสนุนเครื่องจักรและสอนกระบวนการ ตั้งแต่แช่ฟางข้าว ต้มเยื่อ ตากเยื่อ จนกระทั่งได้เยื่อฟางข้าว และแน่นอนว่าบริษัทรับซื้อทั้งหมด

“ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า พอเกี่ยวข้าวกันเสร็จ ลูกบ้านก็จะเอาเงินไปเที่ยวกินเหล้าหรือเล่นหวยกัน แต่พอมีงานนี้มาให้ทำก็ไม่มีเวลาไปเที่ยว แถมได้รายได้เพิ่มขึ้นตั้ง 22 เท่า ฟางข้าวกิโลกรัมละ 1 บาท เยื่อฟางข้าวกิโลกรัมละ 22 บาท เรากำลังจะเอาโมเดลนี้ไปทำต่อที่อยุธยาและราชบุรี”

โครงการนวัตกรรมการผลิตเยื่อฟางข้าวและชานอ้อยสำหรับใช้ประโยชน์ทางด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารย่อยสลายทางชีวภาพยังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรฯ และเพิ่งได้รับรางวัลเหรียญเงินจากเวทีระดับโลก The International Invention and Innovation Show 2023 ที่ประเทศโปแลนด์ หากโมเดลนี้ขยายไปได้ทั่วประเทศ ชาวนาจะมีรายได้เพิ่มโดยตรงแบบไม่ต้องผ่านโรงงานน้ำตาลหรือโรงสีข้าว

“ฟางข้าว 3 กิโลกรัมจะได้เยื่อฟางข้าว 1 กิโลกรัม ถ้าขนฟางข้าวทั้งกองไม่มีทางคุ้ม

“ตอนนี้หากได้เต็มคันรถบรรทุก ขนส่งข้ามจังหวัดก็ยังคุ้ม เราได้แหล่งวัตถุดิบที่มากขึ้น ไม่ต้องขึ้นกับโรงงานน้ำตาลที่หีบอ้อยเพียงแค่ 4 เดือนต่อปี ทุกวันนี้ของยังไม่ขาด แต่เริ่มเห็นโรงน้ำตาลเอาเศษพวกนี้ไปเผาเป็นไฟฟ้ามากขึ้น”

หมอใหญ่ไม่ได้อยากจะขยายโรงงานไปทุกจังหวัด และไม่มีความจำเป็นต้องทำแบบนั้น แต่หากทุกเรือกสวนไร่นาเรียนรู้กระบวนการทำเยื่อพืชได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมูลค่าเพิ่มครั้งมโหฬารให้กับเกษตรกร และต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพ โอกาสทองวัตถุดิบการเกษตรไทยได้เลย

กล่องตามสั่งที่ใส่ได้มากกว่าอาหาร 

“คุณเคลือบพลาสติกไหม” เป็นคำถามแรกที่ลูกค้าถามอยู่เสมอ ต่อด้วยข้อสงสัยว่า “ธรรมชาติ 100% หรือเปล่า” 

หากบอกว่าหมอใหญ่มีอีกหนึ่งบทบาทคือนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ก็คงไม่ผิด เพราะใช้เวลาอธิบายลงลึกถึงระดับโมเลกุล ทำความเข้าใจให้คู่ค้า ลูกค้า นักธุรกิจ นักวิชาการ หรือนักการเมืองไปมากโข จนตอนนี้มีลูกค้ากว่า 33 ประเทศ

ส่วนในไทยมีทั้งห้างร้าน เช่น The Mall Group และ Central Group ที่เปลี่ยนกล่องใส่เชอร์รีและกล่องอาหารทุกสาขาใน TOPS, โครงการ Chula Zero Waste ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามประกาศมาตรการลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และงานอีเวนต์ทั่วไทยเหนือจรดใต้ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวทิ้งจานไปพร้อมกับอาหารได้เลย

ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ Gracz ได้คู่ค้าเพิ่มอีก 1 ประเทศ คือไนจีเรีย มีนักธุรกิจบินข้ามโลกมาหาหมอใหญ่เกือบทุกสัปดาห์ เพราะรัฐบาลลากอสเพิ่งประกาศนโยบาย No Going Back ไม่กลับไปใช้โฟมและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอีกต่อไป ด้วยสถานการณ์ที่ขยะพลาสติกเกลื่อนกลาดไปทุกหัวระแหงทั้งบนบกในน้ำ ทำให้สุขภาพคนแย่จนระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว

“ปีนี้ตลาดต่างประเทศโตมาก ใน CLMV เราเป็นเบอร์ 1 จีนพยายามทำสินค้าแบบนี้ แต่โดนสหรัฐฯ แบน กระแสเลยมาที่เราเยอะมาก แต่เราก็อยากเลือกพาร์ตเนอร์ที่เข้าใจ เห็นคุณค่าและสื่อสารความตั้งใจของเราต่อไปได้ มีนักลงทุนต่างประเทศประเมินว่าธุรกิจแบบนี้ควรให้มูลค่า P/E ถึง 100 เท่า เราก็ฝันนะ ฝันอยากเป็นผู้นำระดับโลก”

ในโชว์รูมย่านนวมินทร์มีผลิตภัณฑ์ของ Gracz วางเรียงละลานตาเต็มไปหมด เกินกว่าที่เราเคยเห็นเพียงแค่ในซูเปอร์มาเก็ต และยังมีบรรจุภัณฑ์ทำส่งให้กับแบรนด์ดังระดับโลกโดยตรง เช่น Universal Studios, Starbucks, Lufthansa รวมทั้งกล่องที่ไม่ได้บรรจุอาหาร อย่างกล่องนาฬิกาที่ G-SHOCK นำมาแทนที่กล่องเหล็ก และกล่องแป้งของ MISTINE ที่สาว ๆ รักษ์โลกต้องชอบ 

หมอใหญ่ยังมีโอกาสได้เข้าโรงพยาบาลอยู่บ่อย ๆ แต่ไปในฐานะนักพัฒนาระบบ ช่วยให้โรงพยาบาลลดขั้นตอนการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการหมุนเวียนอุปกรณ์การแพทย์ที่ต้องเก็บ ล้าง ขนส่ง จำนวนมหาศาลต่อวัน เปลี่ยนมาเป็นวัสดุใช้แล้วทิ้ง ทำเป็นเซตพร้อมสำหรับแต่ละแผนก เช่น เซตทำแผล เซตที่ใช้ในห้องผ่าตัด เซตสวนปัสสาวะ เซ็ตล้างไต

ระบบเศรษฐกิจที่หมุนเวียนไม่ได้จริง

ในช่วงเวลาที่แบรนด์ทั้งโลกพยายามปรับตัวให้ Eco-friendly โดยเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ หวังให้มีการเก็บกลับไปหมุนเวียนใหม่ ข้อมูลล่าสุดที่หมอใหญ่เพิ่งไปประชุมกับสหประชาชาติพบว่า ตลอดเวลากว่า 20 ปีที่โลกรณรงค์และทุ่มงบประมาณมหาศาลเรื่องการรีไซเคิล แต่ทั้งโลกเก็บขยะกลับมารีไซเคิลได้เพียง 9% 

“แสดงว่าการรีไซเคิลมันเวิร์กแค่ในทางทฤษฎี แต่ระบบโลจิสติกส์ไม่เวิร์ก ความยุ่งยากในการคัดแยก ขนส่ง ล้างทำความสะอาด กว่าจะเอาไปรีไซเคิลได้ มันไม่ทันกับการบริโภคที่เกินจำเป็นตลอดเวลา ลองคิดดูนะ หากเราหยุดการใช้พลาสติกตั้งแต่วันนี้ โลกยังต้องใช้เวลาอีก 50 ปีในการจัดการพลาสติกที่ตกค้างอยู่” หมอใหญ่ชวนคิด

ต่อมาจึงมีการพูดถึง Circular Economy กันมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้ผู้บริโภคลดการใช้ (Reduce) และใช้ซ้ำ (Reuse) แต่ปรากฏว่าการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงว่าคนส่วนใหญ่ยังยึดติดความสะดวก ทำนองว่าใช้ไปก่อนแล้วค่อยหาวิธีมาจัดการ ในระหว่างที่เราต้องรอถุงพลาสติกบาง ๆ ใส ๆ ย่อยสลายในอีก 450 ปี มันจะมีวิธีอื่นไหมที่ทำให้โลกไม่ถูกพลาสติกท่วมซะก่อน

“สิ่งที่เราเห็นไปในแนวทางเดียวกับ UN และ COP28 คือเราต้องหาสิ่งใหม่มาทดแทน (Replace) ตั้งแต่ต้นทาง ปีนี้ Gracz จะไปพูดที่เจนีวา ก็จะใช้ธีมนี้ในการเล่า ของที่จะมาทดแทนได้เริ่มมีให้หยิบจับแล้วทั่วโลก” 

เปิดวิชา ย่อยสลายได้ 101

บทสนทนาพาดำดิ่งจนมาถึงเรื่อง Greenwashing เลยถือโอกาสให้หมอใหญ่อธิบายคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใกล้เคียงกันเหลือเกิน แปลเป็นไทยอาจได้ความหมายเดียวกันว่า ‘ย่อยสลายได้’ แต่แท้จริงแล้วมีความต่างกันถึง 3 ระดับ ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลย

Degradable – แตกสลาย แต่ไม่ย่อยสลาย มองด้วยตามนุษย์ไม่เห็น แต่ยังคงค้างเป็นไมโครหรือนาโนพลาสติก

Biodegradable – แตกสลายแล้วแบคทีเรียกินต่อได้ เป็นการย่อยสลายอีกรอบหนึ่ง แต่พืชนำไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ 

Compostable – ย่อยสลายตามธรรมชาติ กลายเป็นคาร์บอน น้ำ สารโมเลกุลเดี่ยวหรือโมเลกุลในระดับเล็กที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ในการดูดซับเป็นอาหาร ทำให้พืชเจริญเติบโตสร้างออกซิเจนให้โลกต่อไป 

แล้วไบโอพลาสติกย่อยได้ในระดับไหน เป็นคำถามชวนให้คิดถึงแก้วกาแฟที่ได้มาจากตามคาเฟ่

หมอใหญ่เฉลยว่า Bioplastic เริ่มต้นจากการนำแป้งจากพืชมาให้แบคทีเรียกิน เพื่อเปลี่ยนจากแป้งเป็นกรดแลกติก พอจับมารวมกันให้เป็น Polylactic Acid (PLA) ก็จะทำให้คล้ายกับเม็ดพลาสติกได้ ต่อมาก็มีกลุ่ม PHA เกิดขึ้น แต่การย่อยสลายกลับคืนไปสู่ธรรมชาติต้องผ่านขบวนการหมักและใช้อุณหภูมิ 65 – 80 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่มีบ่อขยะใดในโลกที่จะมีความร้อนสูงปานนั้น

พร้อมแอบบอกเบื้องหลังว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ ไบโอพลาสติกวางขายในท้องตลาดได้ โดยอ้างว่าย่อยสลายได้ในระดับอุตสาหกรรม มักใช้บนฉลากคำว่า ภายใต้สภาวะควบคุมหรือสภาวะที่เหมาะสม ซึ่งไม่มีอยู่จริงยกเว้นในห้องทดลอง ในประเทศที่ขนส่งคืนสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ ไบโอพลาสติกเหล่านี้ก็ไม่เคยย่อยสลายหายไปไหนเลย

“ออสเตรเลียประกาศว่าเดือนมกราคมปีหน้าจะต้องไม่มีไบโอพลาสติก และไม่เอากระดาษเคลือบพลาสติกอีกต่อไป ตอนนี้ธุรกิจต่าง ๆ จึงเริ่มหาแก้วที่ย่อยสลายได้ แก้วร้านกาแฟไม่จำเป็นต้องใสอีกต่อไป” 

อย่างไรก็ตาม บรรจุภัณฑ์อาหารยังต้องการกล่องโปร่งใสที่มองเห็นหน้าตาอาหารในเชิงการตลาด UN จึงยังอนุโลมให้ใช้พลาสติกได้สำหรับฝากล่องที่ไม่ต้องสัมผัสอาหาร แต่ขอให้เป็นพลาสติกแบบเดียวกันทั้งโลก คือ PET ใส ให้ง่ายต่อการรีไซเคิล 

และนั่นก็เป็นโจทย์ท้าทายที่หมอใหญ่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ คือการทำให้เยื่อพืชจากธรรมชาติกลายเป็นสีใส

กล่องใส่ทุเรียนที่เรียนรู้จากเปลือกทุเรียน

“ตอนนี้เรามีของใหม่อีกแล้วนะ” หมอใหญ่พูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นขณะเปิดหารูปให้ดู พร้อมเล่าไปพลางว่าโปรเจกต์ใหม่นี้ใช้เวลาทดลองประมาณ 6 เดือนร่วมกับผู้ส่งออกในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

แล้วรูปกล่องสีขาวนวลก็ปรากฏขึ้น แค่เห็นก็ได้กลิ่นทุเรียนลอยมา แต่แท้จริงแล้วกล่องหน้าตาน่ารักนี้ออกแบบมาเพื่อเก็บกลิ่นทุเรียนให้ขนส่งข้ามประเทศได้อย่างไม่บอบช้ำ

“เคยไหม สมัยเด็ก ๆ ที่คุณแม่คุณยายจะเอาน้ำใส่ในพูทุเรียน แล้วให้ล้างมือหรือบ้วนปากจากน้ำในนั้นเพื่อล้างกลิ่นออก เปลือกอ่อนของทุนเรียนนั่นแหละที่ทำให้ทุเรียนที่อยู่ในลูกแล้วไม่เหม็น แต่พอแกะเปลือกเท่านั้น รู้เรื่อง”

คุณสมบัติตามธรรมชาติของทุเรียนนี่เองเป็นไอเดียให้หมอใหญ่นำเยื่อขาว ๆ จากเปลือกมาทำเป็นกล่องบรรจุเนื้อทุเรียนโดยเฉพาะ ช่วยเก็บรักษาทุเรียนสดด้วยการนำมาใส่กล่องแล้วแช่เยือกแข็งทันที (Blast Freezer) ที่อุณหภูมิติดลบ 60 องศาเซสเซียส ทำให้เก็บได้นานถึง 1 ปีครึ่ง แม้แต่บรรจุภัณฑ์พลาสติกก็ทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะจะแตกทันทีเมื่อสัมผัสความเย็นเฉียบพลัน

จากปริมาณทุเรียนที่ไทยส่งออกไปกว่าล้านตันต่อปี จะมีที่สุกพอดีเมื่อไปถึงปลายทางเพียงแค่ 1 ใน 3 จึงเป็นปัญหาปวดหัวของผู้ส่งออก อีกทั้งการขนส่งทั้งลูกย่อมเปลืองค่าขนส่งมาก การแกะเปลือกก่อนช่วยให้เลือกคุณภาพของเนื้อทุเรียนได้โดยไม่ต้องไปลุ้นปลายทางแดนมังกรว่าจะสุกหรือดิบกันแน่

ยังมีอาหารและผลไม้อีกสารพัดชนิดที่เข้าออกห้องทดลองของหมอใหญ่ มีนักวิจัยเฝ้าดูอัตราการหายใจของพืชแต่ละชนิด เช่น กล่องส้มโอ ต้องขยายรูอากาศมากกว่าปกติเพื่อให้น้ำระเหยได้ ลดการเน่าเสีย รวมไปถึงขนมครกชื่อดังติดอันดับโลกของไทยก็ใช้กล่อง Gracz ในการแช่แข็งและส่งออกไปทั่วโลก

ลูกค้าในวันนี้คาดหวังให้นวัตกรรมแพ็กเกจจิงเป็นมากกว่าหีบห่อ แต่ยังป้องกันเชื้อราความชื้น คงคุณภาพดั้งเดิมไปจนถึงมือผู้บริโภคได้ 

เมื่อถามถึงเคล็ดลับในการคิดค้นนวัตกรรมออกมาได้อย่างไม่สิ้นสุด หมอใหญ่ก็ยังให้คำตอบเดิมเหมือนวันแรกที่คุยกัน“พอเราคิดทุกอย่างแบบธรรมชาติ ธรรมชาติจะสอนให้เราพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ”

5 ข้อที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Gracz

1.  คนคิดว่ากล่องชานอ้อยไม่แข็งแรง

ถึงแม้ว่ามาจากเยื่อพืชธรรมชาติ เราพัฒนามาหลายรุ่น จนแข็งแรง ไม่รั่ว ไม่ซึม ไม่บุบ มีรุ่น Heavy Duty ที่ออกแบบให้กล่องซ้อนกันได้หลายชั้น

2.  คนกลัวว่าเข้าไมโครเวฟหรือเตาอบแล้วจะไหม้

เข้าได้หมด ทั้งไมโครเวฟ เตาอบ หม้อทอดไร้น้ำมัน หรือใช้แทนกระทะทอดอาหารสำหรับแคมปิ้งก็ยังได้

3.  คนคิดว่าคือกระดาษ

Gracz เป็นเยื่อพืชธรรมชาติ ไม่ใช่กระดาษ (ที่ตัดต้นไม้มาทำ) กระดาษที่นำมาทำใส่อาหารจะอ่อนยวบ จึงต้องเคลือบพลาสติก

4.  คนยังคิดว่าข้าวติดกล่อง

เรามีรุ่นเดิมที่เป็นธรรมชาติแท้ ที่ข้าวติดกล่องเหมือนข้าวเหนียวติดมือ และมีรุ่นใหม่ที่ใช้หลักคิดแบบใบบัวที่น้ำกลิ้งไปกลิ้งมา หันขั้วที่ต้านการติดของข้าวออก ทำให้ข้าวไม่ติดแล้ว

5.  คนยังคิดว่ากล่องละ 5 บาท

ตอนนี้ผู้บริโภคหาซื้อได้ในราคา 2 บาท ขายส่งให้ห้างค้าส่งค้าปลีก ต่ำกว่า 2 บาทด้วยนะ

Writer

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

นักข่าวเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเชื่อว่า GDP คือคำตอบ แต่กลับชื่นชอบในแนวคิด Circular Economy ว่าจะสร้างอนาคตอันสดใสให้กับโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)