ในหัวค่ำวันที่อากาศอบอ้าว ท้องฟ้าขมุกขมัวไร้ลม ผมมาเยี่ยมเยียนบ้านกุฎีจีนอีกครั้ง แม้หมู่บ้านคาทอลิกเก่าแก่นี้จะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีบรรยากาศที่น่ารื่นรมย์ แต่ไอร้อนจากลานซีเมนต์หน้าโบสถ์ที่หลงเหลือจากช่วงเย็นก็ยังคงระอุอวลจนตาลาย เสียงคลื่นและเสียงร้องคาราโอเกะจากเรือสำราญที่แล่นผ่านไปผ่านมา ฟังแล้วตรงกันข้ามกับบรรยากาศมืดหม่นของวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือเรียกแบบภาษาปากว่า ‘วันพระตาย’ เป็นอย่างยิ่ง วันนี้เป็นวันที่ระลึกถึงพระคริสต์สิ้นพระชนม์ในเวลาบ่าย 3 โมงของฤดูร้อน ช่วงที่อากาศร้อนทรมานมากที่สุดในรอบปี

ชมพิธีถอดพระ ประเพณีจำลองการเชิญพระศพของพระคริสต์ลงจากกางเขนที่โบสถ์ซางตาครู้สจัดขึ้นทุกปี ตั้งแต่กรุงเทพฯ ยังไม่ก่อตั้ง
ชาวบ้านกำลังเชิญรูปพระตายออกจากโบสถ์ เพื่อนำไปตรึงไว้บนไม้กางเขน ตั้งแต่เวลาบ่าย
ภาพ : พงศกร ระวิเพียรทรัพย์

เสียงเคาะเกราะไม้ดังกังวานไปทั่วหมู่บ้าน บอกเวลาว่าใกล้จะถึงกำหนดการประกอบพิธีแล้ว ในวันนี้ โบสถ์ทุกแห่งจะงดการตีระฆังและการใช้เครื่องดนตรีอย่างออร์แกน เป็นเครื่องหมายของการไว้ทุกข์เพื่อพระคริสต์ ทุกคนแต่งกายด้วยชุดสีขาวดำคล้ายงานศพ หน้าตาดูอ่อนล้าจากการถือศีลอดทั้งวัน ผนวกกับไอความร้อนที่แผดกล้า ค่อย ๆ ทยอยเดินออกจากบ้านของตนมายังโบสถ์ซางตาครู้ส หัวใจของหมู่บ้านคาทอลิกแห่งนี้

ประติมากรรมไม้กางเขน รูปปั้นนักบุญทุกรูปในบริเวณโบสถ์ ถูกคลุมด้วยผ้าสีดำทั้งหมดจนไม่เหลือแม้แต่รูปเดียว แม้แต่บนพระแท่นกลางโบสถ์ที่เคยคลุมด้วยผ้าลูกไม้สีขาว ก็เหลือเพียงแท่นเปล่า ๆ มีการเชิญพระธาตุไม้กางเขนที่เชื่อกันว่าเป็นชิ้นส่วนจากไม้ที่เคยตรึงพระคริสต์มาประดิษฐานข้างพระแท่น เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้นึกถึงพระทรมานของพระคริสต์เจ้าในวันนี้

ชมพิธีถอดพระ ประเพณีจำลองการเชิญพระศพของพระคริสต์ลงจากกางเขนที่โบสถ์ซางตาครู้สจัดขึ้นทุกปี ตั้งแต่กรุงเทพฯ ยังไม่ก่อตั้ง
การเตรียมพิธีเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่าย มีการเชิญรูปพระตายขึ้นตรึงบนไม้กางเขนที่ลานหน้าโบสถ์ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ภาพ : พงศกร ระวิเพียรทรัพย์

ประเพณีถอดพระของชุมชนโปรตุเกสแห่งกุฎีจีน

ในกรุงเทพฯ มีชุมชนคาทอลิกหลายแห่ง บางชุมชนก็มีความเก่าแก่สืบเนื่องไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พูดง่าย ๆ ว่าตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เมืองนี้ยังชื่อเมืองบางกอก 

บางชุมชนก็เป็นกลุ่มชาวโปรตุเกสที่อพยพตามพระเจ้าตากสินลงมาตั้งรกรากในเมืองหลวงใหม่ หลังจากกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายลงจากสงครามสยาม-อังวะ

ชุมชน ‘กุฎีจีน’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น ชาวโปรตุเกสและกลุ่มลูกหลานที่ติดตามมาเป็นทหารรักษาพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานที่ดินที่อยู่ไม่ไกลจากพระราชวังเดิมนัก เพื่อสร้างหมู่บ้านใหม่ของตนเองที่มีโบสถ์คาทอลิกเป็นศูนย์กลาง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงโปรดปรานทหารอาสากลุ่มนี้มาก เพราะมีชื่อเสียงทางด้านการรบด้วยอาวุธปืน และยังมีความจงรักภักดีต่อพระองค์อย่างสูง เมื่อบ้านเมืองเริ่มลงหลักปักฐาน พวกเขาก็รักษาความเชื่อและขนบธรรมเนียมบางอย่างที่สืบทอดจากโปรตุเกสเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นเป็นเวลากว่า 300 ปี ประเพณี ‘ถอดพระ’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ชมพิธีถอดพระ ประเพณีจำลองการเชิญพระศพของพระคริสต์ลงจากกางเขนที่โบสถ์ซางตาครู้สจัดขึ้นทุกปี ตั้งแต่กรุงเทพฯ ยังไม่ก่อตั้ง
ภายในโบสถ์มีการนำผ้าสีม่วงหรือสีดำมาคลุมไม้กางเขนและรูปพระต่าง ๆ ไว้ นำไม้กางเขนที่แกะสลักจากงานมาตั้งไว้บนพระแท่นบูชาที่เปลือยเปล่า ไม่มีผ้าคลุม
ภาพ : พงศกร ระวิเพียรทรัพย์

ทุกวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือวันศุกร์พระตาย ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติมักจะตกอยู่ในช่วงใกล้ ๆ กับสงกรานต์ ชาวคริสต์ในชุมชนโบสถ์ซางตาครู้สจะระลึกถึงความตายของพระคริสต์อย่างโศกเศร้า ด้วยการจัดพิธีถอดพระ หรือการแสดงเรื่องพระทรมานของพระเยซูคริสต์บนกางเขน มีการนำพระรูป ‘พระตาย’ หรือพระศพจำลองของพระเยซูคริสต์มาตรึงไว้บนกางเขนกลางลานโบสถ์ พร้อมกับเหล่านักแสดงสมัครเล่น ประกอบด้วย แม่พระ มารีย์ มักดาเลน นักบุญยอห์น และทหารชาวโรมัน ที่ขาดไม่ได้คือ โยเซฟ ชาวอาริมาเธีย และ นิโคเดมัส ศิษย์ลับ ๆ ของพระเยซู ซึ่ง 2 คนนี้มีบทบาทหลักในการ ‘เชิญพระศพ’ ของพระคริสต์ลงจากกางเขน

ย้อนเวลากลับไป ประเพณีการแสดง ‘พระมหาทรมาน’ นี้ นิยมในกลุ่มชาวยุโรปแถบไอบีเรียอย่างสเปนและโปรตุเกส ดังนั้นจึงพบเห็นประเพณีนี้ได้ทั่วไปในชุมชนคาทอลิกในเมืองท่าหลัก ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เคยเป็นสถานีการค้า อาณานิคม หรือชุมชนของชาวสเปนและโปรตุเกส

หลัก ๆ ที่รู้จักกันดีคือฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของสเปนมาก่อน มักจะมีการแสดงพระมหาทรมานอย่างเต็มรูปแบบ คืออาจมีการแสดงโดยใช้คนจริง ๆ รับบทแบกไม้กางเขนและถูกเฆี่ยน ก่อนจะถูกตรึงแขวนไว้บนไม้กางเขนจำลอง ขบวนแห่มักจะเดินไปตามถนนหรือชุมชนรอบ ๆ โบสถ์ คนที่รับบทเป็นพระเยซูหรือนักโทษที่ถูกประหารด้วยกันก็ยอมเจ็บตัวจริง ๆ ด้วยแรงศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า เรียกได้ว่าแสดงบทพระมหาทรมานอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนกระบวนความ

ชมพิธีถอดพระ ประเพณีจำลองการเชิญพระศพของพระคริสต์ลงจากกางเขนที่โบสถ์ซางตาครู้สจัดขึ้นทุกปี ตั้งแต่กรุงเทพฯ ยังไม่ก่อตั้ง
เนื้อหาหลักของพิธีถอดพระ คือการเชิญพระศพของพระเยซูเจ้าลงจากกางเขน ผู้แสดงจะทูลขออนุญาตจากพระรูปของพระนางมารีย์ พระมารดาเสียก่อน 
ภาพ : พงศกร ระวิเพียรทรัพย์

ส่วนในกรณีของเมืองขึ้นดั้งเดิมของชาติโปรตุเกสในเอเชีย มรดกทางวัฒนธรรมที่รักษาไว้ในรูปแบบของความเชื่อยังปรากฏในชุมชนคาทอลิกที่รักษาประเพณีโปรตุเกสไว้ เช่น ที่ศรีลังกาและเมืองกัว (Goa) ในอินเดีย ก็ยังมีประเพณีลักษณะเช่นนี้หลงเหลืออยู่บ้าง แต่รูปแบบและเนื้อหาจะแตกต่างกันไป ที่เมืองมะละกาในมาเลเซีย มาเก๊าในจีน และบางโบสถ์ในสิงคโปร์นั้น เน้นไปที่การแห่รูปพระตายไปรอบ ๆ ชุมชน หากแต่ไม่มีการตั้งกางเขนถอดพระ

ชมพิธีถอดพระแบบโปรตุเกสที่สืบทอดกว่า 300 ปีที่โบสถ์ซางตาครู้สในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
การเชิญพระศพลงจากกางเขน
ภาพ : ณัฐพล โชติสุวรรณกุล

ส่วนในไทยนั้น เนื้อหาของประเพณีนี้กลับแตกต่างออกไป เพราะบทบาทพระมหาทรมานของพระคริสต์ตั้งแต่ต้นนั้นถูกรำพึงผ่านการอธิษฐานภาวนาที่เรียกว่า ‘การเดินรูป’ ซึ่งบาทหลวงจะเป็นผู้นำสวด ไม่มีการแสดงรับบทการถูกทรมานจริง ๆ

เนื้อหาของการแสดงถอดพระกลับไปเน้นเรื่องของ ‘การเชิญพระศพ’ ลงจากกางเขน และมอบให้พระมารดามารีย์พิจารณา โดยผู้ที่แสดงเป็นโยเซฟและนิโคเดมัส เมื่อไปขออนุญาตจากข้าหลวงโรมันให้ปลดพระศพพระเยซูลงจากกางเขนแล้ว ก็ค่อย ๆ ถอดเครื่องทรมานอันประกอบด้วยมงกุฎหนามที่ใช้สวมพระเศียรเพื่อเยาะเย้ยพระเยซู และตะปู 3 ดอกที่ตอกพระหัตถ์และพระบาท มาถวายแด่พระรูปของแม่พระ ก่อนจะพรรณนาความทุกข์ทรมานต่าง ๆ ของพระคริสต์ให้พระนางฟังด้วยคำภาวนาคล้ายทำนองร่ายเป็นภาษาโบราณ

ชมพิธีถอดพระแบบโปรตุเกสที่สืบทอดกว่า 300 ปีที่โบสถ์ซางตาครู้สในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
ผู้แสดงถวายตะปูและมงกุฎหนามต่อหน้าพระรูปของพระนางมารีย์ พระมารดา เพื่อให้พระนางพิจารณา ส่วนนี้ของพิธีถือว่าเป็นรูปแบบเฉพาะที่แตกต่างไปจากการแสดงพระมหาทรมานในประเทศอื่น ๆ
 ภาพ : พงศกร ระวิเพียรทรัพย์
ชมพิธีถอดพระแบบโปรตุเกสที่สืบทอดกว่า 300 ปีที่โบสถ์ซางตาครู้สในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
การเชิญพระศพของพระเยซูลงจากกางเขนไปยัง ‘พระคูหาจำลอง’ ก่อนจะแห่ไปรอบ ๆ โบสถ์
 ภาพ : พงศกร ระวิเพียรทรัพย์

ในที่สุด หลังจากถวายตะปูและเครื่องทรมานต่าง ๆ ให้พระนางมารีย์แล้ว ผู้แสดงทั้งหมดก็จะเชิญพระศพหรือรูปพระตายลงมา นำมาประดิษฐานไว้ในพระคูหาจำลอง (ในอิสราเอลจะฝังศพไว้ในถ้ำที่ขุดไว้เรียกว่า คูหา) โดยสมมติให้บุษบกหลังหนึ่งเป็นพระคูหา ตกแต่งไว้ด้วยดอกมะลิกรองเป็นตาข่าย มีพวงมาลัยคลุมพระศพจำลองอย่างมิดชิด แล้วอัญเชิญแห่ไปรอบโบสถ์พร้อมสวดภาวนาไปด้วย พิธีจบด้วยการอวยพรด้วยกางเขน

ชมพิธีถอดพระแบบโปรตุเกสที่สืบทอดกว่า 300 ปีที่โบสถ์ซางตาครู้สในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
พระคูหาจำลองเป็นบุษบกแห่ที่ประดับประดาด้วยตาข่ายดอกไม้ที่กรองแบบไทย ๆ เช่น ดอกมะลิและพวงมาลัยกุหลาบมอญ ส่งกลิ่นหอม เสมือนการชโลมพระศพก่อนการฝัง
ภาพ : พงศกร ระวิเพียรทรัพย์
ชมพิธีถอดพระแบบโปรตุเกสที่สืบทอดกว่า 300 ปีที่โบสถ์ซางตาครู้สในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
การแห่พระศพไปรอบ ๆ วัด
ภาพ : พงศกร ระวิเพียรทรัพย์

ตามธรรมเนียมของวันพระตาย เมื่อพิธีกรรมทั้งหมดจบลงแล้ว ชาวบ้านจะแยกย้ายกันกลับบ้านของตนอย่างเงียบ ๆ ในระหว่างนี้จะมีกลุ่มชาวบ้านที่คอยผลัดเวรกันมาสวดภาวนาในโบสถ์ตลอด 3 วัน เพื่อระลึกถึงความตายของพระคริสต์ ก่อนที่จะเฉลิมฉลองการกลับคืนพระชนม์ชีพอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งในวันอาทิตย์อีสเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นวันที่สำคัญที่สุดในคริสต์ศาสนา

ชมพิธีถอดพระแบบโปรตุเกสที่สืบทอดกว่า 300 ปีที่โบสถ์ซางตาครู้สในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
เมื่อจบพิธี บาทหลวงอวยพรด้วยไม้กางเขนที่ด้านหน้าโบสถ์

ผู้ที่สนใจ มาร่วมพิธีได้ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ของทุก ๆ ปี ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามปฏิทินจันทรคติ ต้องคอยติดตามข่าวสารจากเพจของทางวัดซางตาครู้ส โดยแต่งกายในชุดสีขาวดำสุภาพ ประเพณีถอดพระเช่นนี้ในกรุงเทพฯ ยังคงหลงเหลือเพียง 3 โบสถ์ คือโบสถ์คอนเซ็ปชัญ โบสถ์ซางตาครู้ส และโบสถ์กาลหว่าร์

Writer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช