สถานที่จัดงานศพของผู้อาวุโสชาวไทยเชื้อสายจีนตลอดทั้งวันนี้ดูแตกต่างไปจากทุกราตรีที่ล่วงมา บริเวณอาสนะซึ่งมีไว้ให้พระสงฆ์นั่งสวดพระอภิธรรมศพในคืนก่อน ๆ ถูกบดบังด้วยฉากผ้าสีแดงผืนใหญ่ ปักลายสีทองพร่างพร้อยเป็นรูปมังกร หงส์ กิเลน และเครื่องมงคลเครื่องสูงตามคติความเชื่อของจีน ล้อมรอบด้วยภาพเขียนรูปพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ตลอดจนพญายมราชทั้ง 10 ขุมนรก ตั้งตระหง่านเป็นพื้นหลังให้กับโต๊ะหมู่บูชาบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันมีอุปกรณ์สวดมนต์วางอยู่พร้อมสรรพ ทั้งโอ่อ่า งดงาม ตระการตา เสมือนจำลองภาพสวรรค์ชั้นฟ้ามาอยู่ในเมืองมนุษย์ก็ปานกัน

แสงสว่างจากโคมแขวนและเชิงเทียนบนโต๊ะหมู่ ส่องให้เห็นความเคร่งขรึมบนดวงหน้าของ ซินแสคี้-ธวัช ไทยอุดมทรัพย์ ผู้ยืนสำรวมนิ่งอยู่เพียงลำพังในชุดคลุมยาวสีขาวโพลน มือข้างหนึ่งจับสิ่งของที่ถูกสมมติเป็นวิญญาณที่เพิ่งล่วงลับ ส่วนมืออีกข้างถือพัดขาวซึ่งมักจะยกขึ้นโบกเบา ๆ
ท่ามกลางบรรยากาศเข้มขลังของโลกหลังความตาย เสียงดนตรีจีนบรรเลงขับคลอเป็นระยะ พาความโศกเศร้าเข้าครองจิตใจของลูกหลานที่นั่งเรียงแถวตอนอยู่รอบสะพานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ชายสูงวัยในชุดสีสะอาดหลับตาพริ้ม ก่อนเปล่งเสียงร้องภาษาจีนใส่ไมโครโฟนเบื้องหน้า

“มิทราบว่าใครอยู่ที่สะพานนี้…ผู้ใดกันหนอที่เป็นนายสะพาน”
“นอกสะพานมีเสียงอึกทึก ใครกันผ่านมาที่นี่” เสียงดุดันคล้ายผีสางตะโกนตอบ “หากมีหนังสือเดินทางถูกต้องก็จะปล่อยทาง พระภิกษุที่มานั่นท่านมาจากไหน จงบอกชื่อแซ่มา!”
“เสียงข้างในที่ตอบนี้ใช่ท่านนายสะพานฤๅไม่”
“ใช่แล้ว ท่านเล่าเป็นใคร! จงบอกชื่อมา” เสียงดังกล่าวยังแสดงทีท่าข่มขวัญ
“อันผู้นำวิญญาณมานี้มีนามว่า ‘โมคคัลลานะ’ ลูกหลานนิมนต์อาตมาให้นำพาดวงวิญญาณบุพการีผู้ล่วงลับไปยังประจิมทิศ เพื่อนมัสการขอขมากรรมพระอมิตาภพุทธเจ้า บังเอิญผ่านมาสะพานท่านพอดี” ผู้นำพาดวงวิญญาณชี้แจง

นายสะพานฟังดังนั้นก็เงียบไปครู่หนึ่ง แล้วจึงสั่งให้พระโมคคัลลานะชี้แจงรายละเอียดของวิญญาณที่เพิ่งดับสูญให้ตรงกับบัญชีของตน
“ตรวจกับบัญชีแล้ว ตรงกันทุกตัวอักษร แต่ว่าจะข้ามสะพานไหน่ฮวยป๋อเกี๊ย พระคุณเจ้าทราบธรรมเนียมหัวสะพานท้ายสะพานหรือไม่”
“มีธรรมเนียมอันใด รบกวนท่านนายสะพานโปรดแจ้งด้วยเทอญ”
“ควรเผากระดาษเงินกระดาษทองซื้อทาง!” เสียงดุคำรามบอก
“ที่แท้เป็นแบบนี้ แค่นี้หาลำบากไม่”
ซินแสคี้ที่สมมติตนเองเป็นพระมหาโมคคัลลานเถระเผากระดาษเงินตามหน้าที่ เสร็จจากนั้นจึงนำทางลูก ๆ หลาน ๆ ผู้ตายก้าวข้ามสะพานทีละคน
เหรียญจากมือคนสวมชุดไว้ทุกข์หย่อนลงในกะละมังน้ำที่วางทั้งหัวและท้ายสะพาน เวียนไปทีละรอบ ความหม่นหมองฉายชัดบนใบหน้าพวกเขา บางคนถึงกับเสียน้ำตา

ภาพเหล่านี้เรียกความทรงจำเก่า ๆ ที่เคยหลุดลอยไปจากตัวผมให้กลับคืนมาอีกครั้ง นั่นคือภาพพิธีกงเต๊กครั้งแรกในชีวิตที่คนในครอบครัวร่วมกันทำอุทิศให้กับคุณตาของผม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้นำขบวนพวกเราข้ามสะพานกงเต๊กในคราวนั้นก็คือซินแสคี้ผู้นี้เอง
“ผมมีชื่อจีนว่า เหลี่ยงคี้ แซ่ตั๊ง ชื่อภาษาไทยคือ ธวัช ไทยอุดมทรัพย์ อายุตอนนี้ถ้านับจีนก็ 73 ปี นับไทยก็ 72 ทำพิธีกงเต๊กมาสักประมาณ 42 ปีแล้วครับ”
บุคคลที่ผมเรียกด้วยความเคารพว่า ‘ซิงแซ’ (คนไทยเรียกเพี้ยนเป็น ซินแส) ทบทวนความจำตนเอง

“เดิมผมเป็นคนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ครับ อยู่อำเภอสามร้อยยอด ทำสวนทำไร่ พวกสวนสับปะรด สวนอ้อย จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. 2524 สับปะรดมันราคาตกต่ำมาก ก็มี ‘ซือเฮีย’ หรือรุ่นพี่ผมแนะนำเข้ามา เขาทำงานพวกสวดมนต์อยู่ตามมูลนิธิ จังหวะที่ชวนนั้นเขาจะเลิกไปทำการค้าครับ เผอิญว่ารู้จักกัน เขาก็ชมว่าเสียงผมพอได้ พอดีกับช่วงที่สับปะรดมันถูก ผมก็เลยตัดสินใจมา ก็อยู่มาจนป่านนี้”
ชื่อ กงเต็ก (功德) ที่ภาษาไทยออกเสียงเป็น กงเต๊ก อาจแปลความหมายได้ว่า การทำบุญอุทิศส่วนกุศล ในที่นี้คืองานศพตามธรรมเนียมจีนโบราณ สมัยเดิมคนจีนจะตั้งศพไว้ที่บ้านและเชิญคณะผู้ทำพิธีมาสวด แต่เมื่อลูกหลานชาวจีนรุ่นหลังโอบรับวัฒนธรรมไทยมากขึ้น เริ่มนำโลงศพไปตั้งที่วัด รูปแบบงานศพจึงผสมผสานทั้งไทยและจีน คืนแรก ๆ มีการสวดพระอภิธรรมศพเหมือนอย่างคนไทยทั่วไป ส่วนกงเต๊กจะทำกันในวันสุดท้ายก็เคลื่อนศพไปฝังที่สุสานหรือฌาปนกิจ

ประเทศไทยมีกลุ่มคนที่ประกอบพิธีกงเต๊กได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ พระจีน พระญวน และฆราวาสที่ผ่านการฝึกฝนทำพิธีมาจนชำนิชำนาญ ในกลุ่มหลังสุดนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนจากศาลเจ้า โรงเจ สมาคม หรือมูลนิธิของชาวจีน
“ส่วนมากจะเป็นพวกโรงเจ ศาลเจ้า ต้องอาศัยสถานที่เหล่านี้เป็นชื่อ” ซินแสคี้กล่าว
“ตอนนี้คณะกงเต๊กในเมืองไทยน่าจะมีสัก 10 คณะ บวกลบนิดหน่อยนะผมว่า ก็มีหลายคณะ แต่ผมไม่เคยไปวิ่งรับงานข้างนอก ทำแต่คณะตัวเองที่เดียว คนอื่นเขาไปทั่วหมด เวลาคณะตัวเองไม่มีงาน คณะอื่นมี ก็ไปช่วยเขาทำครับ”

คณะกงเต็กซำเป้าเก็งเต๊งที่ตัวเขาสังกัดก็จัดอยู่ในข่ายนี้ ชื่อคณะมาจากโรงเจเง็กเช็งซำเป้าเก็งเต๊งแห่งอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นโรงเจเก่าแก่อายุกว่า 130 ปี ด้วยความคิดริเริ่มของประธานโรงเจที่ต้องการจัดตั้งคณะสวดกงเต๊กเมื่อหลายสิบปีก่อน ทำให้ชื่อ ‘ซำเป้า’ กลายเป็นที่รู้จักในฐานะคณะกงเต๊กที่โด่งดังชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ขนาดมีคำร่ำลือกันว่า “พ่อแม่กำลังจะเสียชีวิต ต้องโทรมาถามคิวงานซำเป้าก่อนว่ามาทำกงเต๊กให้ได้หรือเปล่า แล้วค่อยดึงสายออกซิเจน” และบางครอบครัวก็ยอมยืดวันสวดพระอภิธรรมแบบไทยเพิ่ม เพื่อให้คณะซำเป้าว่างมารับงานเลยทีเดียว
โดยจุดเด่นที่ทำให้ชื่อซำเป้าเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เป็นเพราะคณะนี้ปฏิบัติถูกต้องตามแบบแผน เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ผิดเพี้ยนไปจากขนบประเพณีที่บรรพบุรุษทำสืบทอดกันมา

ในการทำพิธีกงเต๊กครั้งหนึ่ง ๆ ใช้เวลานานนับครึ่งวัน ประกอบด้วยลำดับพิธีกรรมยิบย่อยสารพัด ทั้งสวดมนต์ ทำบุญอุทิศส่วนกุศล แสดงบทบาทสมมติจำลองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในโลกหน้าตามคติความเชื่อของคนจีน ทั้งหมดก็เพื่อชำระล้างดวงวิญญาณผู้ตายให้สะอาดไร้มลทินก่อนเดินทางไปเกิดใหม่ยังภพภูมิหน้า และเพื่อเป็นกุศโลบายสั่งสอนให้คนรุ่นหลังดำเนินตนอยู่ในครรลองคลองธรรม มีความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี อันเป็นข้อคุณธรรมสำคัญที่ฝังลึกในสายเลือดมังกรทุกคน

“คณะกงเต๊กก็มีหลายหน้าที่ เช่น สวดมนต์ ร้อง นักดนตรี มันจะแบ่งเป็นแผนก ๆ ไป ใครจะทำหน้าที่อะไรก็ฝึกอันนั้น ตอนที่ซือเฮียแนะนำผมมาคือเจาะจงเลยครับ ให้ผมมาทำพิธีที่ต้องร้อง”
พิธีที่ต้องร้องมีหลายพิธีด้วยกัน ที่จะพบได้ทุกงานคือ โอยตี๊โอยถะ (挨池挨塔) คือพิธีเวียนรอบวัตถุมงคล ถ้าผู้ตายเป็นชายจะเวียนรอบเจดีย์ทอง แต่ถ้าผู้ตายเป็นหญิงจะเวียนรอบสระบัว ซินแสผู้ทำพิธีจะพาลูกหลานเข้าแถวตอนเดินเวียนรอบเพื่อนมัสการวัตถุมงคลชิ้นนั้นที่ทำจากกระดาษ อีกพิธีหนึ่งคือ ก้วยฉิกจิวป๋อเกี๊ย (過七洲寶橋) หรือพิธีข้ามสะพานรัตนะเจ็ดมหาสมุทร ซึ่งเป็นภาพจำของคนทั่วไปว่าเป็นพิธีข้ามสะพานกงเต๊ก

พิธีโอยถะ (เวียนรอบเจดีย์ทอง) จะทำในกรณีที่ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย
ทั้งหมดนี้ล้วนผ่านมือซินแสคี้มานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่วันที่เขาเปลี่ยนสถานะตัวเองจากชาวสวนมาเป็นอาจารย์ผู้ทำพิธีกงเต๊กเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว
“แรก ๆ มาฝึกโอยตี๊โอยถะก่อน เพราะมันสั้นกว่า ข้ามสะพานจะยาว”
สมาชิกคณะกงเต็กซำเป้าในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 18 คน ทั้งหมดเป็นฆราวาส บางคนมีอาชีพอื่น แต่เมื่อทางคณะมีงานกงเต๊กที่ไหน สมาชิกทั้งหมดก็จะรวมตัวกันมาทำหน้าที่ของตัวเอง
“ปกติจะมากันครบทีมครับ นอกจากว่ามีธุระ ถ้าจำเป็น มาไม่ได้ ก็ขาดสักคนสองคนได้”

ในบรรดาสมาชิกคณะกงเต๊กด้วยกันเอง จะมีการเลือกสรรผลัดเปลี่ยนหัวหน้าคณะตามวาระเพื่อติดต่อรับงานที่มีเจ้าภาพติดต่อมา ครั้งหนึ่งซินแสคี้ก็เคยดำรงตำแหน่งนี้ ก่อนจะส่งต่อให้เพื่อนรุ่นน้องไป
“ที่จริงก็ไม่เชิงหัวหน้านะ ก็ช่วย ๆ กันครับ หัวหน้าก็สับเปลี่ยนกัน ผมก็เคยเป็นหัวหน้า ตอนนี้ คุณตู่-อดิศร เลิศสุทธิไกรศรี เป็นอยู่ มีหน้าที่รับงาน ส่งงานให้กับคนทำงาน แต่เดี๋ยวนี้มันสบายขึ้นแล้ว ใช้ไลน์ได้ เมื่อก่อนนี้ต้องโทรอย่างเดียว
“งานกงเต๊กเมื่อก่อนนี้มันจะแน่นอน แต่เดี๋ยวนี้ไม่แน่นอนแล้ว แต่ก่อนสวดศพมีแต่ 7 วัน 9 วัน แค่นั้น ส่วนมากจะแน่นอนเลย เดี๋ยวนี้ไม่ เอาแน่เอานอนไม่ได้แล้ว

“จังหวัดที่คณะซำเป้ารับงานก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน จะอยู่ทางกรุงเทพฯ ชานเมือง ต่างจังหวัดก็ไปเรื่อย อย่างลงใต้ก็เคยไปสุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง หลายปีก่อนเชียงใหม่ก็ไปบ่อย แต่ตอนหลังทางนั้นเขาก็มีคณะกงเต๊กของเขาเอง เราก็ไม่ค่อยอยากไปแล้ว เพราะมันไกล”
อดีตหัวหน้าคณะกล่าวว่างานกงเต๊กจะรู้ล่วงหน้าแค่ไม่กี่วัน เมื่อถึงวันงาน ต่างคนต่างแยกย้ายไปพบกันบริเวณสถานที่จัดงานซึ่งส่วนมากก็คือศาลาวัดที่ตั้งศพ ตัวเขามีหน้าที่ขับรถหกล้อ ขนอุปกรณ์ทำพิธีกงเต๊กมาจากโรงเจซำเป้าที่อัมพวาหรือสำนักงานของคณะที่กรุงเทพฯ มาไว้ที่จัดงานศพ และช่วยสมาชิกคนอื่น ๆ จัดเตรียมสถานที่ทำมณฑลพิธีอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย
“บางทีก็ช่วยยกของ ถ้ายังช่วยยกไหว ก็ช่วยกันเยอะ หนักไม่ไหวก็เบา ๆ ไป ไม่มีจัดหน้าที่เป๊ะ เพราะมันไม่ใช่บริษัท มีอะไรให้ช่วยก็ช่วยกันครับ”

หากงานไหนเป็นงานผู้หญิง ภาระของซินแสคี้ก็มักจะเพิ่มมาอีกอย่างหนึ่ง คือการทำพิธีโหลยฮ่วยพุ้ง (禮血盆) ซึ่งนิยมแปลไทยกันว่า ‘พิธีกินน้ำแดง’ บุตรธิดาของคุณแม่ผู้จากไปจะต้องมาล้อมวงถาดใส่ถ้วยน้ำแดงทั้งหมด 10 ถ้วย เป็นสัญลักษณ์แทนโลหิตมารดาที่หล่อเลี้ยงทารกในครรภ์มาจนคลอดรวม 10 เดือน ระหว่างที่ให้ลูก ๆ ผลัดกันดื่มกินน้ำแดงให้ครบหมดทุกถ้วย ผู้ประกอบพิธีจะต้องขับร้องบทโศลกสาธยายพระคุณแม่ตั้งแต่ตั้งท้องลูกจนแก่เฒ่า เพิ่มความเศร้าสร้อยแก่ลูกที่เพิ่งเสียแม่ไปจนหลายคนต้องหลั่งน้ำตาเมื่อได้ฟังบทโศลกเหล่านี้
แต่พิธีกรรมที่เป็นภาพจำติดตัวของซินแสคือพิธีข้ามสะพานซึ่งจำลองเส้นทางการนำดวงวิญญาณผู้ตายไปนมัสการพระอมิตาภพุทธเจ้า (อมิตาพุทธ) ในดินแดนสุขาวดีพุทธเกษตรซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของโลกมนุษย์ เป็นขั้นตอนเกือบสุดท้ายที่จะทำก่อนปิดมณฑลพิธีและเผากระดาษกงเต๊ก


เมื่อถึงพิธีสำคัญนี้ ซินแสคี้จะสวมบทเป็นพระโมคคัลลานะ หรือที่ชาวจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ‘หมกเลี้ยง (目連)’ เนื่องจากพระสูตรของนิกายมหายานแบบจีนจารึกว่ามารดาของพระโมคคัลลานะเคยก่อกรรมหนักจนต้องตกนรกหมกไหม้ เป็นเหตุให้ท่านต้องเดินทางลงไปโปรดมารดาในนรกภูมิ พุทธศาสนิกชนชาวจีนจึงเชื่อกันว่าพระอรหันต์องค์นี้ช่วยเหลือบิดามารดาของพวกเขาให้พ้นบาป และเดินทางไปจุติยังดินแดนสุขาวดีที่มนุษย์ทุกคนใฝ่ฝันได้อย่างแคล้วคลาดปลอดภัย
ในการออกเดินทางไปนมัสการองค์พระพุทธเจ้า ลูกหลานจะตามกันไปส่ง ระหว่างทางต้องข้ามสะพานโอฆสงสาร หรือ ฉิกจิวป๋อเกี๊ย (七洲寶橋) จำนวน 7 สะพาน ซึ่งกว่าจะข้ามสะพานแรกได้ พระโมคคัลลานะสมมติจำต้องเจรจาขอซื้อทางจากนายสะพานซึ่งพากย์เสียงโดยชาวคณะคนใดคนหนึ่งที่มีเสียงแหบพร่า ฟังดูขึงขัง น่ายำเกรง เหมือนตัวโกงในงิ้ว ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงพลังอำนาจในการชี้ขาดชะตากรรมของวิญญาณที่เพิ่งหลุดจากร่าง พระผู้นำทางต้องวิงวอนขอผ่านทาง โดยให้ผู้น้อยที่ตามมาส่งจ่ายเงินค่าผ่านด่าน
ครั้นส่งวิญญาณผู้ตายไหว้พระพุทธลุล่วง ผู้อุปมาตนเป็นพระอรหันต์ผู้นำทางจะอัญเชิญธูปจากกระถางพระอมิตาภพุทธเจ้ามาปักที่กระถางวิญญาณ อวยพรให้คนในตระกูลสืบทอดยาวนาน ก่อนเดินทางข้ามสะพานมงคล หรือ ฮกสิ่วเกี๊ย (福壽橋) อีก 2 ครั้ง

อุปกรณ์ที่ซินแสถือติดมือตลอดพิธีกรรมนี้คือโคมกระดาษสวมเสื้อของผู้ตาย เรียกว่า ‘ถ่งฮวง’ ลูกหลานจะนำเสื้อที่บิดาหรือมารดาผู้ล่วงลับมาใส่ และจะเผาไปพร้อมกับเครื่องกระดาษเมื่อจบพิธี
“จะให้ดี ถ่งฮวงต้องถือให้ตั้งตรงอย่างนี้ บางคนบางคณะถือพาดบ่า มันจะชี้ไปข้างหลัง ผมว่ามันดูไม่ค่อยงาม” คนแบกถ่งฮวงมานานหลายสิบปีสาธิตท่าให้ดู “บางร้านบางงานเขาทำถ่งฮวงจากกระดาษแข็ง เมื่อก่อนจะเจอเยอะ เวลาเจอแบบนี้ก็จะหนักหน่อย ต้องอดทน”

พระโมคคัลลานะจะสั่นกระดิ่งพร้อมกับเทศนาคำกลอนสั่งสอนบุตรหลานที่เรียกว่า ‘กวนอิมสอนกุศล (กวงอิมขึ้งเสียง)’ เนื้อหามุ่งหมายเตือนผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ยึดมั่นคุณธรรมความดี ดังคำร้องที่ว่า
奉敬父母正會好 เคารพพ่อแม่เป็นยอดดี
在生之時不孝敬 ตอนมีชีวิตอยู่หากไม่กตัญญู
死後欲敬也都無 หลังตายไปแล้วอยากกตัญญู ก็ไม่มีให้กตัญญูแล้ว
…
兄弟仔本是同胞來出世 พี่น้องคลานตามจากท้องแม่เดียวกันมาเกิด
兄恭弟敬家和順 พี่ฟังน้อง น้องเคารพพี่ ครอบครัวรักใคร่สามัคคี
外人唔敢來相欺 คนข้างนอกก็ไม่กล้ามารังแก”
ทุกงานซินแสคี้จะเดินนำขบวนหน้าสุด บุตรชายคนโตถือกระถางธูปแทนตัวบุพการีที่สิ้นชีวิต บุตรชายคนรองลงมา หลานชายคนโตที่เปรียบเสมือนบุตรชายคนเล็กของปู่ย่า ก่อนจะเป็นลูกสะใภ้ ลูกสาว ลูกเขย หลานชาย หลานสาว ตามด้วยรุ่นเหลนที่ห่างสถานะออกไปโดยลำดับ ตลอดทางคนทำพิธีจะต้องขับร้องบอกเล่าเหตุการณ์ที่ดวงวิญญาณได้พานพบไปด้วย เป็นบทร้อยกรองที่ฟังไพเราะ แต่ก็แฝงไปด้วยความสลดสังเวชใจ

เหรียญกระเด็นออกจากมือคนในขบวนมากเท่าใด หมายถึงปลายทางที่ใกล้เข้ามาเท่านั้น สีหน้าหลายคนแต้มด้วยรอยหมองเศร้า และแล้วช่วงเวลาอันบีบหัวใจมากที่สุดก็ดำเนินมาถึงในที่สุด เมื่อพระโมคคัลลานะสมมตินำพาดวงวิญญาณมาถึงสถานที่ซึ่งเรียกว่า ‘หม่อเฮียไท้’ หรือหอดูบ้านเดิม

ณ สถานที่ซึ่งตั้งอยู่ปลายสะพานสุดท้าย วิญญาณผู้ตายจะต้องขึ้นหอคอยไปยลบ้านหลังเก่าที่เคยอยู่ ดูลูกหลานที่ตามหลังมาส่งด้วยอาลัยรัก พลันน้ำตาก็ไหลพรากที่ต้องแยกจากกันชั่วนิรันดร์กาล
“引靈魂踏上望鄉台 พาวิญญาณขึ้นหอดูบ้านเดิม
觀見子女隨後來 มองเห็นลูกหลานเดินตามมา
望着家鄉哭哀哀 แลบ้านเดิมที่เคยอาศัย ก็ร้องไห้อาลัยอาวรณ์
誰知今夜只路來 ใครจะรู้คืนนี้ต้องมาเดินทางนี้
可怜真可怜 สงสาร สงสารตัวเองยิ่งนัก
閻君不肯行方便 พญายมราชไม่เปิดทางสะดวก
親生骨肉拆分散 เลือดเนื้อเชื้อไขของตัวต้องมาลาจากกัน
使人怎不泪悲傷 ใครเลยจะอดกลั้นน้ำตาได้
生死皆從只路來 ลงจากหอดูบ้านเกิด เกิดหรือตายก็ต่างเดินมาทางนี้
來是人人皆歡喜 ตอนมาใคร ๆ ต่างดีใจ
回是老少哭哀哀 ตอนกลับมา ทั้งแก่ทั้งเด็กต่างร้องไห้เสียใจ”

อันมีพบย่อมมีจาก แลมีเกิดย่อมมีตาย ทุกสรรพสิ่งล้วนแล้วแต่อนิจจัง…นี่คือสัจธรรมความจริง และเป็นสารัตถะสำคัญที่พิธีกรรมนี้ต้องการจะสื่อ
ถ้อยคำพิไรรำพันที่ซินแสคี้พร่ำร้องเป็นประจำทุกงาน ประกอบกับทำนองดนตรีชวนสลดใจ ลูกหลานคนไหนฟังเนื้อร้องจีนออก ก็มักจะปล่อยโฮออกมาเพราะความรักปนอาวรณ์ต่อญาติผู้ใหญ่ที่เพิ่งเสียไป มวลน้ำในดวงตาที่สะกดกลั้นมาได้ทั้งงานมักสูญเสียไปหมดช่วงนี้ ซึ่งตามบทพระโมคคัลลานะก็จะเทศนาธรรมเรื่องความเป็นอนิจจังของทุกสรรพสิ่ง เพื่อให้ทั้งดวงวิญญาณและลูกหลานได้ตัดอาลัยต่อกัน และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปด้วยพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์

“สมัยนี้คนร้องไห้น้อยลง เพราะหนึ่ง คนไม่เข้าใจภาษา สอง ความผูกพันในครอบครัวเหมือนจะน้อยกว่าแต่ก่อน ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้นะ ผมยังไม่ต้องร้องหรอก แค่ว่าขึ้นโหมโรง คนก็ร้องไห้กันแล้ว ยังไม่ได้พูดอะไรเลย เดี๋ยวนี้ก็เลยต้องมีแปลไทยด้วย เพราะส่วนมากจะฟังไม่ค่อยออกกันแล้ว” เหลี่ยงคี้ แซ่ตั๊ง สรุปความเปลี่ยนแปลงที่เขาเห็นตลอดประสบการณ์ทำกงเต๊กกว่าค่อนชีวิตของตัวเองในไม่กี่ประโยค
ความเข้าใจภาษาจีนที่ลดน้อยลงของชาวไทยเชื้อสายจีนรุ่นหลัง บวกกับความคิดที่ว่าการทำกงเต๊กซึ่งมากด้วยลำดับพิธีการวุ่นวายเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ หลายครอบครัวจึงสงวนพิธีกงเต๊กไว้จัดให้เฉพาะผู้อาวุโสมากลำดับต้น ๆ เท่านั้น บางครอบครัวก็หันไปจัดพิธีศพแบบไทยเพราะประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าพิธีจีนมาก จากที่คณะกงเต็กซำเป้าเก็งเต๊งเคยมีงานชุกชุมจนเจ้าภาพต้องแย่งคิวจอง ปัจจุบันก็ร่อยหรอลงไปจนมีวันว่างมากกว่าวันงาน
“เทียบกับเมื่อก่อนนี้ งานน้อยลงไปเยอะ เดือนหนึ่งไม่ถึง 10 งาน ช่วงแรก ๆ ที่ผมมาทำ ประมาณ พ.ศ. 2530 – 2540 กว่า ๆ นั่นวันหยุดหายากมาก แต่ตอนนี้งานน้อยลงมาก ก็เป็นเรื่องธรรมดา รุ่นเก่า ๆ เขาก็เสียกันไปเยอะแล้ว คนก็น้อยลงไป คนที่มาจากเมืองจีนมีน้อยลง เสียไปเยอะแล้ว พอเป็นรุ่นลูกก็จะไม่ค่อยทำ นอกจากอายุมากจริง ๆ ก็มีทำบ้าง”

ทว่าความเสื่อมของพิธีศพแบบจีนไม่ได้ทำให้ความตั้งใจในการทำงานของซินแสคี้ลดลงแต่อย่างใด
“ผมเริ่มงานนี้ช้า อายุ 30 แล้วเพิ่งเข้ามา ตอนผมมาทีแรก คนที่อายุมากกว่าผมมีเยอะแยะเลย แต่ตอนนี้สูงสุดแล้ว” มือหนึ่งด้านการพาข้ามสะพานกงเต๊กพูดด้วยรอยยิ้ม ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นจากคนที่ทำอาชีพเกี่ยวกับงานขาวดำเช่นเขาบ่อยนัก
“ถ้าเกิดยังไหว ผมก็จะทำไปเรื่อย ๆ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพครับ ถามว่างานนี้ให้อะไรกับตัวผม คือทำไปให้เจ้าภาพเขาเห็นค่าของความกตัญญูต่อพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมา อีกอย่างคือเป็นคนจีนครับ มันเป็นพิธีกรรมของบรรพบุรุษเรา เราทำให้เขาไป เราก็ได้ความภาคภูมิใจที่ได้ทำความดีให้กับเขาครับ”

แม้ความตายจะเป็นเรื่องอัปมงคลที่ไม่มีใครอยากนึกถึง แต่ก็เป็นสัจธรรมที่ไม่มีผู้ใดหลีกหนีพ้น เมื่อเกิดเหตุนั้นขึ้น ชื่อของคณะกงเต็กซำเป้าเก็งเต๊ง และบทบาทของซินแสคี้ก็จะหวนกลับมาในความคิดของผู้ที่ยังอยู่เสมอ
ในนามของลูกหลานผู้วายชนม์คนหนึ่งที่ซินแสเคยพาข้ามสะพานไปสู่แดนสุขาวดี ผมขอเป็นตัวแทนกล่าวขอบคุณซินแสคี้และคณะซำเป้าเก็งเต๊งทุกคนจากใจจริง ที่ช่วยให้พวกเราได้จากลาผองญาติที่เรารักอย่างซาบซึ้งตรึงใจ
ขอขอบพระคุณ
- คุณไพศาล หทัยบวรพงศ์ ผู้อนุเคราะห์บทร้องภาษาจีนและแปลไทย
- ดวงวิญญาณ คุณพ่อสุรชัย ภูมิสวัสดิ์ และครอบครัว ผู้เอื้อเฟื้อสถานที่และบรรยากาศในพิธี