แค่อยากจะรู้ว่าตรงที่เธอยืนนั้น มีฝนตกไหม สบายดีไหม 

เธอกลัวฟ้าร้องหรือเปล่า 

ถ้าหากตรงนั้นไม่มีใคร ฉันพร้อม ฉันพร้อมจะไป ในคืนที่ฝนโปรยลงมา

นักร้องจากวงดังไม่ได้บอก แต่ถ้าเปิดแอปฯ พยากรณ์อากาศ ‘ฟ้าฝน’ หรือดูเพจ พยากรณ์อากาศประเทศไทย ที่มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน ของ ป๊อป-ชินวัชร์ สุรัสวดี นักวิทยาศาสตร์ไทยผู้คร่ำหวอดในวงการพยากรณ์อากาศมากว่า 20 ปี คุณจะรู้ว่าวันนี้ฝนตกและตกหนักแค่ไหน โดยไม่ต้องนั่งเดาเอาเอง

เพราะแทบทุกครั้งที่เพจประกาศ ฟ้าฝนก็มักจะ ‘มาตามนัด’ เสมอ

เราเดินทางไปยังเขตประเวศ เพื่อพูดคุยกับชายผู้ก่อตั้งธุรกิจจากความหลงใหลในวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการใช้วิศวกรรมไฟฟ้าเพื่อคำนวณฟ้าฝนที่ยิ่งแม่นยำ ยิ่งช่วยชีวิตคนได้เยอะ ไม่ว่าจะการวางแผน เตือนให้ชาวไทยพกร่ม เริ่มเอฟเสื้อกันหนาว ช่วยให้ชาวไร่ชาวสวนไม่ต้องเปียกปอนก่อนฟ้าสาง ที่สำคัญ หากรู้ว่าฝนจะตกตรงไหน ตกในปริมาณเท่าไหร่ เราก็อาจรู้ล่วงหน้าถึงพื้นที่ที่มีโอกาสน้ำท่วมได้

“ปกติเราจะเยียวยาก็ต่อเมื่อน้ำท่วมให้เห็นแล้ว แต่ผมว่าไม่ใช่ เราต้องรู้ล่วงหน้าถึงจะดี พื้นที่ต้องละเอียดและชัดเจน ไม่ใช่แค่ว่ามีโอกาสฝนตกหนักในแถบภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน กี่จังหวัดล่ะทีนี้ ก็เหมือนให้ระวังกันครึ่งประเทศ”

อีกฝ่ายพูดติดตลก แต่ไม่ได้โม้เกินจริง เพราะเขาคำนวณได้ละเอียดถึงพื้นที่หลัก ‘แปลง’ ว่าฝนจะมาเยือนหรือเปล่า

หมอดูอากาศที่ดี คือผู้ที่ทำนายออกมาแล้วผลลัพธ์นั้นนำไปใช้ต่อได้

วันนี้เรามาหาคำตอบที่ทางบ้านฝากถาม ทำไมต่างประเทศถึงพยากรณ์ได้แม่นกว่าเรา ทำไมเขาจึงมีผู้ติดตามกว่าล้านคน และเขาแม่นกว่าพยากรณ์อากาศภาครัฐอย่างไร

เจ้าของคำตอบคือชายผู้คว้า ‘เหรียญทองที่สูงกว่าทอง’ จากการผลิตนวัตกรรมระบุตำแหน่งและเวลาที่ฝนจะตก ในงาน 43th International Exhibition of Inventions Geneva เป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยผู้เคยได้รับคำถามจากนักวิชาการต่างชาติให้ทำนายว่าฟ้าจะเปิดหรือไม่

เรื่องเล่าและเส้นทางอากาศอันแปรปรวน แต่เขากางร่มเดินอย่างถูกต้องหน้าตาเป็นแบบนี้

พยากรณ์อากาศประเทศไทย เพจคำนวณฟ้าฝนแม่นจนได้เหรียญทองเจนีวาและบอกว่าโลกคือหม้อสุกี้

วิศวะ-พยากรณ์

เพจพยากรณ์อากาศประเทศไทยได้รับความนิยมสูงมาก เราเห็นลูกเพจหลายคนบอกว่าคุณทำนายแม่นกว่ากรมอุตุนิยมวิทยาอีก

ถ้าบอกว่าแม่นตลอดก็เหนือธรรมชาติ มันเป็นไปไม่ได้ครับ (หัวเราะ) แต่คะแนนของเพจ 4.9 เต็ม 5 รีวิวร้อยทั้งร้อยบอกว่าละเอียด แม่นยำ คนใช้งานจริงได้ ยกตัวอย่างโพสต์เหล่านี้ (เปิดสไลด์ให้ดู) มีคนเข้าถึง 2 – 4 ล้านคน ซึ่งเป็นออร์แกนิกทั้งหมด ผมให้เป็นเรื่องที่ผู้ใช้งานจริงตัดสินเองดีกว่า

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยตั้งคำถามว่า ที่ประเทศอื่นเขาพยากรณ์อากาศได้ตรงจนเหมือนตาเห็น ทำไมบ้านเราถึงไม่ตรงแบบนั้นบ้าง ยากง่ายต่างกันยังไง

บ้านเขา การใช้ดาวเทียมดูหิมะที่ตกลงบนพื้นผิวโลกถือเป็นความยาก เพราะแยกไม่ออกว่าอันไหนตกถึงพื้นแล้ว อันไหนยังอยู่ในอากาศ แต่บ้านเราความท้าทายคือการอยู่ในเขตร้อน บริเวณเส้นศูนย์สูตร ซึ่งความร้อนคือพลังงานจลน์ มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงฉับพลันรวดเร็ว ฝนเกิดได้ภายใน 1 ชั่วโมง บ้านเราเลยพยากรณ์ยากกว่า

ผมเปรียบโลกใบนี้เป็นหม้อสุกี้ก็ได้ ต่างประเทศคือสุกี้ที่ยังไม่เปิดไฟ ผักบุ้ง ไข่ เนื้อสัตว์ค่อย ๆ เคลื่อนที่แบบที่เดาได้ว่าจะไปไหน แต่บ้านเราคือสุกี้ที่หม้อเดือดปุด ๆ ถ้าผมให้คุณทายว่าฟองอากาศฟองถัดไปจะผุดขึ้นตรงไหน เมื่อไหร่ คุณทำได้ไหม

ไม่ได้ค่ะ แล้วก็คงไม่ทำด้วย (หัวเราะ)

นั่นแหละ การพยากรณ์อากาศเหมือนการทายว่า ฟองอากาศที่ผุดขึ้นมาจะไปผุดตรงไหนต่อ เวลาอะไร นี่แหละความยากของประเทศไทย

ถ้าอย่างนั้นเทียบกับในประเทศไทยเอง อะไรทำให้การคำนวณของคุณแม่นกว่าองค์กรอื่น ๆ

ผมอยู่ในวงการนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 มีข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ไม่ใช่แค่ข้อมูลจากถังวัดปริมาณน้ำฝน งานของผมมีการพิสูจน์คุณภาพมาแล้วหลายขั้นตอน เราลองแล้วลองอีกจนงานวิจัยได้ตีพิมพ์ระดับโลก ได้รางวัลสูงสุดจากหน่วยงานระดับนานาชาติ ได้เหรียญทองที่ยิ่งกว่าทอง

ตอนแรก ผมและอาจารย์ Prof.David Staelin ทำวิจัยและพัฒนาอัลกอริทึม เพื่อประมาณค่าว่าหิมะตกลงมาถึงพื้นโลกกี่มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่ผมเห็นว่านักวิจัยสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น หรือจีน เขาก็พยากรณ์อากาศบ้านเขา แต่พยากรณ์ประเทศไทยหรืออาเซียนยังไม่มี ผมเลยมาทำการพยากรณ์สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเลือกพารามิเตอร์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับบ้านเรามากที่สุด และใช้ข้อมูลที่สังเกตจากดาวเทียมเข้ามาช่วยอีก

ย้อนกลับไปที่คุณบอกว่าคุณได้เหรียญทองที่ยิ่งกว่าทอง เหรียญนี้คงเป็นเครื่องการันตีว่าคุณพยากรณ์อากาศได้แม่นยำจริงจนคนทั่วโลกยอมรับ

เป็นรางวัล ‘Gold Medal with the Congratulations of the Jury’ ระดับที่สูงกว่าเหรียญทอง ผมได้รับจากงาน The 43rd International Exhibition of Inventions Geneva การประกวดที่เก่าแก่ที่สุดในโลกงานหนึ่ง ซึ่งต้องบอกว่า Invention ไม่เหมือน Innovation เพราะต้องเป็นของที่คิดขึ้นมาใหม่

ผมเป็นคนแรกที่พยากรณ์ตำแหน่งและเวลาที่ฝนจะตกได้สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรปผ่านแอปพลิเคชัน ‘WMapp’ ซึ่งมาก่อนในเชิงวิชาการ ตอนนี้ทำบริษัทเป็นแอปฯ ชื่อ ‘ฟ้าฝน’

การทำงานกับชาวต่างชาติคงทำให้คุณเจออะไรหลายอย่าง การที่คุณแม่นจนได้รางวัลขนาดนี้ มีใครมาลองหยั่งเชิงให้คุณพยากรณ์บ้างไหม

มีครับ ตอนประกวดที่เจนีวา ผู้บริหารสภาวิจัยแห่งชาติพาผมไปขึ้นเขา เขาถามว่าฟ้าจะเปิดไหม ผมก็ดูแอปฯ แล้วพยากรณ์ว่าตอนที่เราไปถึงฟ้าจะเปิด ระหว่างนั่งรถไปตอนเช้า ท้องฟ้าขมุกขมัวเลยนะ แต่ขึ้นไปแล้วฟ้าเปิดจริง ๆ

เจ๋งมาก แล้วคุณอยู่ในวงการนี้มาตลอด 20 ปี ชอบด้านนี้มาตั้งแต่เด็กเลยไหม

ไม่เลย สมัยนั้นผมแค่ฟังข่าวผ่าน ๆ ทางวิทยุหรือทีวี ไม่ได้โฟกัสอะไรมากมาย

แล้วอะไรทำให้คุณมองเห็นความสำคัญจนเข้ามาทำเรื่องนี้เต็มตัว

พอเราโตขึ้น ต้องการใช้งานจริงถึงมาเริ่มดูว่าพยากรณ์ตรงหรือไม่ตรง แต่ผมก็เจอปัญหา คือสื่อมักจะบอกว่า ‘วันพรุ่งนี้ภาคเหนือฝนตกเป็นแห่ง ๆ 30% ของพื้นที่’ คุณรู้เหรอว่า 30% คือแห่งไหน

การบอกว่า พรุ่งนี้ แปลว่า 24 ชั่วโมงเลยเหรอ ผมเริ่มมองว่าคนที่มาดูพยากรณ์อากาศคือเขาต้องการนำไปใช้ประโยชน์ เกษตรกรเอาไปวางแผนเพาะปลูก เพราะเขาคือคนที่ใช้น้ำเป็นหลัก แล้วพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน 80% ต้องอาศัยน้ำธรรมชาติ แบบนี้เขาคงวางแผนไม่ได้

มองไปหนักกว่านั้น มันควรเตือนภัยธรรมชาติได้ด้วย ผมเลยตั้งใจนำสิ่งที่เรียนมามาใช้กับการพยากรณ์ให้เกิดประโยชน์ คนต้องใช้ได้จริง นี่คือความมุ่งมั่นของผม

แต่คุณเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า หลายคนคงไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกันยังไง

ผมชอบทฤษฎีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเลยไปเรียน Electrical Engineering ที่ MIT และตอนนั้นมหาวิทยาลัยได้ทุนทำวิจัยจาก NASA และ NOAA ซึ่งคล้ายกรมอุตุนิยมวิทยาบ้านเรา ผมกับอาจารย์เลยร่วมกันทำ

ความเกี่ยวข้องคือโลกเราปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาตลอด คลื่นไปชนกับอนุภาคต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศ ออกไปจนถึงดาวเทียม เราก็รับสัญญาณจากดาวเทียมมาประมวลผล ผมแค่เอาทฤษฎีเหล่านี้มาจับเรื่องอากาศเพื่อทำการพยากรณ์

พยากรณ์อากาศประเทศไทย เพจคำนวณฟ้าฝนแม่นจนได้เหรียญทองเจนีวาและบอกว่าโลกคือหม้อสุกี้
พยากรณ์อากาศประเทศไทย เพจคำนวณฟ้าฝนแม่นจนได้เหรียญทองเจนีวาและบอกว่าโลกคือหม้อสุกี้

ดร.ชินวัชร์ ฟันธง

พูดถึงบ้านเรา สภาพอากาศสุกี้เดือดที่คนไทยควรระวังคืออะไร

พวกพายุหมุนเขตร้อนที่ต้องลุ้นว่าจะมาหรือไม่มา ถ้ามาเยอะน้ำก็ท่วม ท่วมเป็นบริเวณกว้างเหมือน พ.ศ. 2554 เป็นมหาอุทกภัย ดังนั้นการรู้ล่วงหน้าจึงสำคัญมาก

ผมไม่เคยได้ยินใครเตือนว่าน้ำจะท่วมตรงไหน อำเภอไหน เวลาไหนอย่างแม่นยำ การบริหารจัดการเกิดขึ้นเมื่อภัยมาแล้วค่อยล่องเรือไปแจกถุงยังชีพ เป็นช่องว่างใหญ่ที่เตือนไม่ได้ เพราะระบบที่หน่วยงานรัฐใช้อยู่ให้ข้อมูลตรงนี้ไม่ได้ เราหยุดพายุไม่ได้ครับ แต่ถ้ารู้ก่อน เราอพยพคนได้ คนเตรียมตัวได้

(เปิดข้อมูลให้ดู)

ปัญหาหลักคือเราเจอภัยแล้งและน้ำท่วมที่เกิดซ้ำซาก นี่คือข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เฉลี่ย 30 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 – 2561 ภัยแล้ง 57 จังหวัด น้ำท่วม 63 จังหวัด ใช้งบประมาณแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ พ.ศ. 2563 ถึงประมาณ 2 – 3 แสนล้านบาท

ห้ะ!

ครับ ประมาณนั้น พ.ศ. 2554 คนเสียชีวิต 815 คน เสียหายประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท พื้นที่การเกษตรเสียหายหนักเสมอ ผมเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญเลยแยกบริษัทออกไปเป็น บริษัท ซีพีเอส อะกริ จำกัด เราได้รับการส่งเสริมสนับสนุนโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในเรื่องนี้ด้วย

ซึ่งการแยกบริษัทจะช่วยให้จัดการเรื่องการเกษตรได้ดียิ่งขึ้น

เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรที่ดีขึ้นโดยเฉพาะ สภาพอากาศมีผลตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ถ้าเราจะจัดการน้ำก็ต้องรู้ว่าฝนมาเท่าไหร่ จะมาอีกเมื่อไหร่

ตอนนี้รัฐบาลเราใช้ระบบอะไรอยู่ ทำไมถึงยังป้องกันภัยเหล่านี้ไม่ได้

หน่วยงานส่วนใหญ่ใช้จากมาตรวัดฝนเป็นหลัก คือสถานีพวกนี้ (ชี้ไปที่แผนที่) จุดสีน้ำเงินเป็นสถานีวัดฝน เอาถังไปตั้งแล้วรอฝนตกลงมาให้เจ้าหน้าที่ไปอ่านค่าทุก 3 ชั่วโมง 6 ชั่วโมง สูงขึ้นกี่มิลลิเมตร

คุยกับ ชินวัชร์ สุรัสวดี นักวิทยาศาสตร์ผู้พยากรณ์อากาศโดยเปรียบโลกเป็นหม้อสุกี้ คำนวณฟ้าฝนเพื่อให้คนไทยวางแผนชีวิต

Manual เลยเหรอคะ

มีทั้งระบบ Manual และอัตโนมัติ แต่ระบบอัตโนมัติมีจุดอ่อน คือไม่ได้ไป Maintain บางทีใบไม้ไปปิดเซ็นเซอร์ ปริมาณน้ำเลยเป็นศูนย์ หรือไฟไม่ไปก็ไม่มีข้อมูลส่งมา ปัญหาแบบนี้เยอะมาก สถานีที่มีคุณภาพทั่วไทยมีประมาณ 119 สถานี ซึ่งเราจะเห็นได้ว่านครราชสีมามี 3 จุด

น้อยมากนะคะถ้าเทียบกับขนาดจังหวัด เอาจริง ๆ ก็ดูน้อยมากทั่วประเทศ

ใช่ไหม บางทีขับรถข้ามไปไม่กี่เมตรฝนก็หายแล้ว ถอยหลังไปหน่อยน้ำท่วม แปลว่าเราขาดข้อมูลที่ละเอียดและแม่นยำในทุกจุดของประเทศ

จะพูดถึงน้ำท่วม หนึ่ง เราต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับฝน สอง คือการพยากรณ์ต้องรู้ไปข้างหน้า แต่สถานีวัดทำให้เรารู้แค่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่พอ การบอกว่าทุกภาคเผชิญฝนตกหนัก 70% ก็เรียกว่าระวังกันทั้งประเทศแหละครับ

แล้วคุณทำนายพายุได้แม่นขนาดไหน

ถ้าเป็นพายุหมุนเขตร้อน เราพยากรณ์โอกาสและบริเวณที่จะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า 7 วัน เส้นทางเป็นอย่างไร ล่าสุดมี Cyclone Mocha แถวทะเลอันดามัน เราก็บอกให้คนจับตาโอกาสเกิดพายุหมุนเขตร้อนในทะเลอันดามัน แล้วก็มาจริง ๆ 

ผมบอกว่าพายุจะเข้าพม่า บังกลาเทศ ก็เข้า เพราะฉะนั้น ถ้าเราเอาข้อมูลไปใช้อย่างจริงจังก็บรรเทาได้ ดีกว่าบอกว่าเป็นแห่ง ๆ ไม่รู้แห่งไหน มันยังไปไม่ถึงจุดที่คนเอาไปเตรียมตัวได้

ทางรัฐบาลมีกรมฝนหลวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดต่อมา แล้วกรมอุตุฯ มีเข้ามาศึกษาข้อมูลหรือจับมือกันทำอะไรหรือยัง

ยังครับ ก็น่าจะเป็นคำถามที่คนอื่น ๆ ถามเหมือนกัน

ตอนนี้คุณถือว่าเป็นคนที่พยากรณ์อากาศได้ละเอียดที่สุดในไทยแล้วถูกไหม

ในไทย ผมบอกได้ทุกจุดเลยว่าตรงไหนตกเท่าไหร่ แล้วไม่ใช่แค่ประเทศไทยนะครับ ผมบอกได้ทั้งโลก เพราะมาจากดาวเทียมนับ 10 ดวง ดูได้ทุกวัน ข้อมูลอย่างแบบนี้ถึงตอบว่าจะไปบริหารจัดการน้ำได้อย่างไร เพราะรู้ทุกพิกัด 

แล้วอาจจะมีคำถามตามมาว่า ใช้ดาวเทียมแล้วระบุได้ถึงจุดที่ถังวัดปริมาณฝนวางเลยไหม คำตอบคือ ได้ ดาวเทียมเราบอกได้ว่าฝนที่ตกลงในถังของคุณมีเท่าไหร่ 

เรื่องสำคัญคือข้อมูลเหล่านี้ใช้ได้จริง อย่างตอนที่เด็กติดถ้ำหลวง เราก็พยากรณ์ว่าช่วงไหนที่จะปลอดฝน เป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าช่วงไหนปลอดภัยที่จะเข้าไปช่วย เพราะมีเรื่องของน้ำขึ้นภายในถ้ำ

พอกันทีฝนตกเป็น ‘แห่ง ๆ’

คุณบอกว่ายิ่งข้อมูลเยอะยิ่งดี ถ้าเราไม่ใช้ถังวัดปริมาณ คุณมีอุปกรณ์อะไรรองรับ

เราพัฒนาตัว ‘Weather Station’ ที่ติดตั้งได้ง่ายขึ้นมา ไม่ต้องมีสถานีใหญ่โต ยูนิตเดียววัดได้ 17 ตัวแปร ฝน อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็ว ทิศทางลม แสง PM คาร์บอนไดออกไซด์ ตอบโจทย์ทุกเรื่อง ไม่ต้องใช้ Wi-Fi ซิมออนบอร์ด แล้วก็มีแบตเตอรี่แบบโซลาร์เซลล์เรียบร้อย แปลว่าไม่ต้องมีไฟ ยกไปไหนก็ได้

ความพิเศษอีกอย่างคือใช้งานได้ใน 150 ประเทศทั่วโลก ดูเป็นตัวเลข ตาราง หรือกราฟย้อนหลังก็ได้

คุยกับ ชินวัชร์ สุรัสวดี นักวิทยาศาสตร์ผู้พยากรณ์อากาศโดยเปรียบโลกเป็นหม้อสุกี้ คำนวณฟ้าฝนเพื่อให้คนไทยวางแผนชีวิต
คุยกับ ชินวัชร์ สุรัสวดี นักวิทยาศาสตร์ผู้พยากรณ์อากาศโดยเปรียบโลกเป็นหม้อสุกี้ คำนวณฟ้าฝนเพื่อให้คนไทยวางแผนชีวิต
Weather Station

แบบนี้จะมีข้อจำกัดเรื่องใบไม้มาปิดไหม

เราต้องการให้ Weather Station เป็นเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อ Decentralization หรือกระจายออกไปให้แต่ละคนรับผิดชอบของตัวเอง แปลว่าคนที่ซื้อไปติดบ้านหรือติดไร่นาของเขา เขาจะดูแลกันเอง ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่

ถ้าอยากให้ประชาชนซื้อไปใช้จริงคงราคาไม่แรงมาก

ประมาณ 35,000 บาท รัศมีอยู่ที่ 1 กิโลเมตร ติดถี่แค่ไหนขึ้นอยู่กับพื้นที่และตัวแปร ถ้าประชาชนมีส่วนร่วมมาก แปลว่าเราจะได้ Big Data สภาพอากาศของทั่วประเทศ เราทำราคาให้เกษตรกรลงทุนได้ คนทั่วไปอาจไม่เข้าใจ แต่สำหรับเขา เรื่องสภาพอากาศเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ไม่สิ จริง ๆ ก็สำคัญกับทุกคน

แต่เรามีดาวเทียมอยู่แล้ว ทำไมสิ่งนี้ถึงดีกว่าการใช้ดาวเทียม

ยังมีบางอย่างที่ดาวเทียมบอกไม่ได้ เช่น PM ดาวเทียมอาจติดเมฆ เพราะมองจากข้างบน แต่เราวัด PM ได้ตั้งแต่ 2.5 ลงไป เลยละเอียดกว่า

อีกหนึ่งทางเลือกให้คนเตรียมตัวรับมือได้ทันคือ เพจพยากรณ์อากาศประเทศไทย และแอปพลิเคชันฟ้าฝน คุณอยากให้คนไปตามที่ไหนมากกว่ากัน

เราโฟกัสทั้งสอง ในเพจ ผมโพสต์วันละ 2 – 3 โพสต์ แต่ถ้าดูแอปฯ ฟ้าฝน ประชาชนไม่ต้องรอเราโพสต์ เขาดูด้วยตัวเองเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วแต่คนชอบ

คุยกับ ชินวัชร์ สุรัสวดี นักวิทยาศาสตร์ผู้พยากรณ์อากาศโดยเปรียบโลกเป็นหม้อสุกี้ คำนวณฟ้าฝนเพื่อให้คนไทยวางแผนชีวิต

คิดว่าอะไรทำให้คนติดตามคุณในเพจถึงหลักล้านบ้าง

ดูง่าย เพราะเราใช้สี ไม่ต้องอธิบายมาก ดูแล้วเอาไปใช้ได้จริง คุณเชื่อไหม ตอนเราเริ่มทำเมื่อ พ.ศ. 2560 มีคนดูไม่ออกว่าเป็นยังไง แต่พอผ่านไป เขาดูกันเก่งหมดเลย แถมยังวิเคราะห์ออกมาได้ด้วย

พวกคุณต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอมอนิเตอร์ตลอดเวลาเลยไหม

ไม่เลย ถ้าพูดถึงการทำงานสำหรับสายไอทีแบบเรา การตอกบัตร การเข้าออฟฟิศ ไม่ได้จำเป็นเลย ส่วนใหญ่เขาทำงานกลางคืนกัน เพราะหัวแล่นตอนนั้น ประชุมก็มีออนไลน์ การเจอกันดูไม่ได้มีประโยชน์อะไรขนาดนั้น เป้าของเราคือความสำเร็จของงานมากกว่า

ขอเปลี่ยนคำถามใหม่ คุณใช้เวลากี่นาทีในการทำโพสต์ 1 โพสต์

ไม่เกิน 5 นาที ผลพยากรณ์ก็อัตโนมัติ เห็นอยู่แล้ว เรามีคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่เก็บอยู่อีกที่ ใช้สำหรับการประมวลผลพยากรณ์อากาศ พอโหลดรูปเสร็จก็เขียนแคปชัน เรามีแอดมิน แต่ผมต้องเป็นคนโพสต์เองเท่านั้น เพราะเพจของเราคนตามเยอะมาก จะพลาดไม่ได้ ผมต้องสกรีนก่อนเพื่อให้ทุกอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

แล้ววลี ‘มาตามนัด’ มีที่มาจากอะไร

ผมคิดว่าถ้าเขียนวิชาการจ๋ามันก็คงไม่โดนใจ เลยหาจุดเรียกความสนใจ มีบ้างที่ไม่มาตามนัด แต่เหตุการณ์หลัก ๆ ส่วนใหญ่ต้องถูกต้องและชัดเจน เราแสดงแผนที่ชัดว่าฝนตกตรงไหนในแต่ละชั่วโมง ถ้าร้อนคือร้อนตรงไหน เย็นคือเย็นตรงไหน วันไหน เวลาใด รูปทำให้คนเข้าใจโดยไม่ต้องพูดอะไรด้วยซ้ำ ไม่ต้องออกเตือนภัยหลายฉบับ

5 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้นั่งเทียนเขียน ทุกอย่างมีหลักฐานแล้วเราก็เปิดหน้า เปิดไพ่ ถ้าผมพยากรณ์ผิด คนก็รู้ 

อาจารย์ชินวัชร์​ ฟันธงสินะคะ

ผมไม่ได้ฟันธงอะไร (หัวเราะ) เป็นแค่นักพยากรณ์ที่อาศัยหลักวิทยาศาสตร์ แต่ตรงไม่ตรง คุณก็ลองอ่านคำทำนายเอง

พยากรณ์อากาศประเทศไทย เพจคำนวณฟ้าฝนแม่นจนได้เหรียญทองเจนีวาและบอกว่าโลกคือหม้อสุกี้

Writers

พิชามญชุ์ พูนสวัสดิ์พงศ์

พิชามญชุ์ พูนสวัสดิ์พงศ์

กำลังตามหาสิ่งที่ชอบ คิดถึงการขับรถเล่นที่ต่างจังหวัด และเชื่อว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอนแต่เราเลือกกินของอร่อยได้

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographers

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ