พ.ศ. 2566 เป็นปีที่ครบรอบ 85 ปีแห่งการสูญพันธุ์ของเนื้อสมันตัวสุดท้ายที่จากโลกนี้ไป 

สมันหรือเนื้อสมัน ได้ชื่อว่าเป็นกวางที่มีเขาสวยงามที่สุดในโลก และมีแห่งเดียวในโลกคือบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย

สมันได้ชื่อว่าเป็นกวางที่มีเขาสวยที่สุดในโลก มีลักษณะเด่นคือ ตัวผู้จะมีเขาแตกแขนงออกไปมากมายเหมือนกิ่งไม้ โค้งงอนสวยงาม ส่วนลำเขาด้านบนมักแตกแขนงออกเป็น 2 แขนงเรื่อย ๆ อีก 2 – 3 ขั้น การแตกแขนงของเขาแต่ละครั้ง แขนงใหม่ทั้งสองมักทำมุมแยกออกไปเท่ากับลำกิ่งเดิม ทำให้ดูคล้ายสุ่มหรือตะกร้า บางครั้งชาวบ้านจึงเรียกสมันว่า ‘กวางเขาสุ่ม’

 แทบไม่น่าเชื่อว่าเนื้อสมันที่เคยมีอยู่ชุกชุมมากในประเทศ ได้สูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 80 ปี และนอกจากเขาสมันที่ยังมีให้เห็นในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ทั้งโลกมีเพียงรูปถ่ายภาพสมันเพียงใบเดียว แต่ถ่ายได้ในสวนสัตว์กรุงเบอร์ลิน 

การสูญพันธุ์ของเนื้อสมันเริ่มขึ้นหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง เมื่อฝรั่งต่างชาติแห่กันเข้ามาประกอบธุรกิจในสยาม จนทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้น 

85 ปีที่โลกนี้ไม่มีเนื้อสมัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องแลกด้วยชีวิตเพื่อนร่วมโลก

สนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นสนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 โดย เซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจาก สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เข้ามาทำสนธิสัญญา ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ โดยการสร้างระบบการนำเข้าและส่งออกใหม่ 

สนธิสัญญาดังกล่าวอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าเสรีในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในอดีตการค้าของชาวตะวันตกได้รับการจัดเก็บภาษีอย่างหนัก สนธิสัญญาดังกล่าวยังอนุญาตให้จัดตั้งกงสุลอังกฤษในกรุงเทพมหานคร และรับประกันสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (อำนาจอธิปไตยทางศาล) หมายถึงคนต่างชาติหากทำผิด ก็ไปขึ้นศาลกงสุลของประเทศเขาแทนที่จะขึ้นศาลไทย ตลอดจนอนุญาตให้ชาวอังกฤษถือครองที่ดินในสยามได้

ในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นของการทำลายสิ่งแวดล้อม การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก เริ่มต้นในยุคล่าอาณานิคมของบรรดาชาติมหาอำนาจในศตวรรษที่ 18 ที่ส่งกองกำลังทางเรือไปยึดอาณานิคมทั่วโลก ตั้งแต่ทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา ไปถึงทวีปเอเชีย เพื่อยึดครองเอาทรัพยากรธรรมชาติไปเป็นของตัวเอง

สยามประเทศในเวลานั้น แม้จะไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ แต่หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง และตามมาด้วยสนธิสัญญาที่ทำกับชาติอื่น ๆ กระตุ้นให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัว ระบบตลาดจากที่เคยผลิตตามกำลังที่มีกลับขยายตัวเพื่อการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งกลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 เพื่อส่งไปขายตลาดโลก 

85 ปีที่โลกนี้ไม่มีเนื้อสมัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องแลกด้วยชีวิตเพื่อนร่วมโลก

การขุดคลองได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการบุกเบิกการขยายพื้นที่ หลังการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ การขุดคลองมักมีจุดประสงค์ด้านการคมนาคมเป็นหลัก หรือเป็นเส้นทางลำเลียงทัพ อาทิ การขุดคลองแสนแสบในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นเส้นทางส่งกองทัพไปทำสงครามกับญวนและเขมร

แต่หลังจากมีการเพิ่มการปลูกข้าวมากขึ้นเพื่อบริโภคและส่งออก พื้นที่รอบ ๆ กรุงเทพมหานครไม่เพียงพอ จึงขุดคลองจำนวนมากทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ คลองเปรมประชากร และที่สำคัญคือคลองรังสิต

ใน พ.ศ. 2431 รัฐบาลอนุมัติให้สัมปทานผูกขาดการขุดคลองแก่ บริษัท ขุดคลองแลคูนาสยาม จำกัด และขุดระบบคลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายบน คลองหกวาสายล่าง และคลองเชื่อมอื่น ๆ ไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีการจับจองที่ดิน 2 ข้างทางแถวจังหวัดนครนายกขึ้นไป ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ผืนใหญ่ เปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำนากว่า 800,000 ไร่ ประชากรขยายตัวเข้าไปตั้งบ้านเรือนอาศัยบุกรุกที่หากินของสัตว์ป่าจำนวนมาก เกิดการไล่ล่าสัตว์ป่าครั้งใหญ่

และเป็นจุดเริ่มต้นของการสูญพันธุ์กวางที่สวยที่สุดในโลกอย่าง ‘สมัน’

สมัน (Schomburgk’s Deer) เป็นกวางขนาดกลาง มีความสูงถึงหัวไหล่ประมาณ 1 เมตร ขนตามลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ท้องมีสีอ่อนกว่า ริมฝีปากล่างและด้านล่างของหางเป็นสีขาว น้ำหนักประมาณ 100 – 120 กิโลกรัม

ในอดีต สมันมีการกระจายพันธุ์เฉพาะในที่ราบลุ่มภาคกลางแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาของไทยแห่งเดียวในโลกเท่านั้น อาศัยอยู่ในทุ่งโล่งกว้างหรือพื้นที่ชุ่มน้ำ หลบหนีเข้าป่าทึบไม่ได้ เนื่องจากกิ่งก้านจะไปติดพันกับกิ่งไม้ จึงเป็นจุดอ่อนให้ถูกล่าได้อย่างง่ายดาย 

ความสวยงามของเขาสมันกลายเป็นจุดอ่อนในการอยู่รอดของสมันจนสูญพันธุ์ในที่สุด

85 ปีที่โลกนี้ไม่มีเนื้อสมัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องแลกด้วยชีวิตเพื่อนร่วมโลก

นพ.บุญส่ง เลขะกุล เคยเขียนเล่าไว้ในหนังสือ เที่ยวป่า ว่า

สัตว์จำพวกกวางที่มีเขาสวยงามที่สุดในโลกและมีในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว แต่ก่อนเคยอาศัยอยู่มากทางภาคกลาง บริเวณทุ่งหญ้าตลอดลำน้ำเจ้าพระยา แถบทุ่งรังสิต พระโขนง สำโรง บางปู บางบ่อ สมุทรปราการ และสมุทรสาคร แต่เมื่อพื้นที่ดังกล่าวเปิดเป็นไร่นา สมันซึ่งหนีเข้าไปอาศัยในป่าลึกไม่ได้ เนื่องจากเขาของมันที่แตกกิ่งก้านสาขามากจะถูกเถาวัลย์เกี่ยวพัน จึงทำให้กลายเป็นเป้าแห่งการล่า ซึ่ง พระยาชลมารคพิจารณ์ ได้เล่าถึงการล่าสมันในสมัยนั้นไว้ว่า 

เนื้อสมันมีชุมมากตามทุ่งรังสิต… ในฤดูน้ำท่วม เนื้อนี้จะหนีน้ำขึ้นไปอยู่ตามเกาะที่ดอน ชาวบ้านก็ชวนกันไปด้วยเรือม่วงแล้วไล่แทงเอาตามใจชอบอย่างง่ายดาย ในฤดูร้อนบางคนก็เอาเขาสมันมาตาก หรือตะไบข้างหลังออกทำให้น้ำหนักเบาขึ้น แล้วก็สวมบนศีรษะคลานเข้าไปได้จวนถึงตัวสมัน แล้วก็แทงเอาอย่างง่ายดาย เพราะมันไม่ใคร่หนี นึกว่าเป็นพวกเดียวกัน เนื้อสมันในสมัยนั้นมีชุมไปจนถึงตำบลบางปลากดและทุ่งดงละครในนครนายก ชาวบ้านทุ่งดงละคร ในหน้าน้ำท่วมมักชอบชวนกันขี่ควายไปล้อมแทงเนื้อสมันซึ่งหนีน้ำไปอาศัยตามเกาะที่ดอน…

พ.ศ. 2440 พระราชวรินทร์ เจ้าเมืองสระบุรี จับเนื้อสมันตัวผู้ได้ที่แก่งคอย มิสเตอร์เบธเก อธิบดีกรมรถไฟชาวเยอรมันจึงไปที่สวนสัตว์กรุงเบอร์ลิน หลังจากนั้นทางสวนสัตว์ส่งเจ้าหน้าที่มาหาเนื้อสมันตัวเมียเพื่อไปผสมพันธุ์ พอมาถึงเมืองไทยก็ถามหา Schomburgk’s Deer ซึ่งคนไทยไม่รู้ว่าคือเนื้อสมันในภาษาอังกฤษ นึกว่าเป็น เดียร์ หรือ กวางป่า จึงพาไปจับกวางป่าที่แถวป่าโคราช ก็ไม่พบ เพราะเนื้อสมันมีอยู่มากแถวทุ่งรังสิตและภาคกลาง

พ.ศ. 2471 ทางอังกฤษส่งคนมาจับเนื้อสมันอีก แต่ก็ไม่พบ เพราะคนไทยเข้าใจว่าจะมาจับกวางป่า

ในที่สุด สมันในธรรมชาติตัวสุดท้ายถูกนายตำรวจคนหนึ่งยิงตายเมื่อ พ.ศ. 2475 ในสมัยนั้นสมันได้หายไปแถบนครนายกแล้ว แต่ยังพอมีในทุ่งกว้างแถวสมุทรสาครและสมุทรสงครามอยู่บ้าง แต่ไม่มีใครสนใจจริงจัง ต่อมาเมื่อทุ่งกว้างเหล่านี้ถูกบุกรุกกลายเป็นที่นา นาเกลือ นากุ้งมากขึ้น สมันก็ถูกล่าหนักขึ้น

85 ปีที่โลกนี้ไม่มีเนื้อสมัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องแลกด้วยชีวิตเพื่อนร่วมโลก

 จนกระทั่งใน พ.ศ. 2481 พระยาวินิจวนันดร รับราชการในกรมป่าไม้ ทราบว่ามีสมภารเลี้ยงสมันตัวผู้ในวัดแถวมหาชัย ก็รีบให้คนไปซื้อเพื่อนำมาเลี้ยง แต่เคราะห์ร้ายที่ไปช้าเพียงวันเดียว มีคนมอญขี้เมาเดินเปะปะมาพบเนื้อสมันยืนขวางทาง จึงโดนตีตาย สมันตัวสุดท้ายในโลกจึงสูญพันธุ์ไปจากโลก

ไม่มีอะไรได้มาฟรี สมันเป็นตัวอย่างของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ซึ่งต้องแลกด้วยการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในโลก

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว