นอกจากการเต้นจีบมือและเซิ้งนิ้วไปมาที่แถวหน้าของขบวนงานบวชแล้ว ความทรงจำล่าสุดที่ผู้เขียนมีต่อวิชานาฏศิลป์ไทยก็คือ การสอบภาคปฏิบัติรำวงมาตรฐานในเพลงที่ 10
พอโตขึ้น ก็ไม่คิดว่ากุลสตรีไทยอย่างเราต้องลงมือจีบใครก่อน อายุขัยของความจีบจึงจบลงไปตั้งแต่วันสอบภาคปฏิบัตินั่น ช่างเป็นชีวิตที่มีความอ่อนช้อยสั้นเหลือเกินค่ะคุณ
ในวันที่เห็นสาวๆ ในชุดโจงกระเบนหลากสีสันกับท่าทีที่แปลกตา ไม่มีการเอียงตัวหันองศา ไม่มีระยะห่างระหว่างปลายนิ้วก้อยกับหางคิ้ว ชื่อของ Thai Fit ก็เข้ามาอยู่ในความทรงจำ
ท่ามกลางเสียงดนตรีเพลงไทยในทำนองอิเล็กทรอนิก เรากำลังสนทนากับ ครูดิว-ขจิตธรรม พาทยกุล ผู้ก่อตั้ง Thai Fit สตูดิโอออกกำลังกายแนวใหม่ที่สร้างสรรค์จากท่วงท่าของรำไทยแห่งนี้
ตลกดี เพียงแค่ดนตรีขึ้นห้องที่สาม เราก็ย่ำเท้าและก้าวชิดไม่ผิดจากครูที่หน้าห้อง
ตั้งวง
จุดเริ่มต้นจากครูดิว ทายาทรุ่นที่สามของโรงเรียนดนตรีและนาฏศิลป์พาทยกุล รับรู้ถึงปัญหาของระยะห่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับศิลปวัฒนธรรมที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อเธอเรียนจบปริญญาโทวิชาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากมหาวิทยาลัยคิงส์ตัน ที่ซึ่งจุดประกายความสนใจให้ต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ ช่วงเดียวกับที่กระแสเรื่องการดูแลสุขภาพกำลังเป็นที่นิยม
“โจทย์หลักในการที่เราทำ Thai Fit คือเราอยากให้ศิลปะเข้ามาใกล้กับคนมากขึ้น โดยที่ไม่ได้มีระยะห่างซึ่งกัน ไม่ได้อยู่บนหิ้ง ไม่ได้น่ากลัวหรือจับต้องไม่ได้ ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นศิลปินเท่านั้นถึงจะทำได้ ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเป็นคนที่อนุรักษ์นิยม” ครูดิวเล่าถึงความตั้งใจแรกเริ่มที่ไม่เคยเปลี่ยนไปจากเมื่อ 2 – 3 ปีก่อน ที่เธอและเพื่อนๆ พยายามสื่อสารเรื่องรำไทยกับสุขภาพ จนวันนี้ทุกอย่างลงตัวในชื่อแบรนด์ Thai Fit Studio ที่ผ่านกระบวนการทำงานและความตั้งใจในทุกรายละเอียดซึ่งสะท้อนคุณค่าเกินกว่าที่ใครจะปฏิเสธ
แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า การหยิบรำไทยมาใส่ทำนองอิเล็กทรอนิกนั้นสร้างความสั่นสะเทือนให้วงการนาฏศิลป์อย่างไรบ้าง ครูดิวจึงรีบตอบในทันทีว่า “ดิวค่อนข้างโชคดีมากที่อยู่วงการนี้มาตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่ในวงการที่เห็นเราตลอดเขาจะรู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นศาสตร์ที่ใหม่และเราไม่ได้มาเพื่อลบล้างศาสตร์เก่าที่ยังคงสวยงามและทรงคุณค่า จะว่าไปผู้เชี่ยวชาญในวงการก็ให้กำลังใจและให้ความเห็นที่ดีมาโดยตลอด อยู่ที่เรานั้นฝึกฝนมากพอจนสามารถสร้างสรรค์อะไรอย่างอื่นได้บ้างหรือเปล่า ดิวว่าเราไม่ควรดูถูกความคิดเห็นของผู้ใหญ่ เพราะที่เขาทัก เขาท้วง มันก็มีเหตุผลของเขา อะไรที่มันสร้างสรรค์ มันก็คือสร้างสรรค์ อะไรที่มันไม่สร้างสรรค์ มันก็คือไม่สร้างสรรค์”
ศิลปะการให้ท่า
เมื่อตัดสินใจจะใช้นาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์วิธีการดูแลสุขภาพ ครูดิวจึงพาท่าทางรำและระบำตั้งแต่หัวจรดเท้าไปปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องสรีรวิทยา จนได้ข้อมูลเรื่องประโยชน์และโทษของท่วงท่าต่างๆ เช่น การตั้งวงให้ประโยชน์ที่กล้ามเนื้อท้องแขนส่วนหน้า ท่าจีบมือให้ประโยชน์ที่กล้ามเนื้อท้องแขนส่วนหลัง
“พอตั้งวง คุณหมอจะบอกให้ลองยืดแขนออกไปให้ได้มากกว่านี้อีกเรื่อยๆ ซึ่งท่ารำไทยจริงๆ มันจะมีข้อจำกัดเรื่องความอ่อนช้อย และคำแนะนำเรื่องระยะเวลาการทำที่เหมาะสม นี่จึงเป็นการต่อยอดท่ารำและเพิ่มขีดความสามารถด้วยสรีรศาสตร์ เกิดเป็นท่ารำเฉพาะของ Thai Fit” ครูดิวเล่าพร้อมทำท่าจีบมือที่คุณหมอแนะนำให้จีบนิ้วมือทุกนิ้วช่วยป้องกันนิ้วล็อก
จากนั้นทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อจัดสรรเวลาสำหรับคลาสออกกำลังกายที่เหมาะสม ได้แก่ Warm up (10 นาที) เป็นช่วงแนะนำท่าทางที่จะใช้ทั้งหมดในคลาส ก่อนจะทำให้หนักขึ้นใน Training (30 – 40 นาที) เป็นการทำซ้ำๆ คล้ายกำลังทำคาดิโอ กระโดดไปมา แล้วจึง Cool down (10 นาที) สำหรับการยืดเส้น
ใครที่คิดว่าท่ารำไทย จีบมือซ้าย ตั้งวงมือขวา ของ ThaiFit จะง่ายๆ สบายๆ ไม่ปวดร้าวร่างกาย คุณกำลังสบประมาทคาร์ดิโอ้สัญชาติไทยเข้าให้แล้ว โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย คุณจะสัมผัสได้ถึงพลังงานลึกลับคล้ายความปวดเมื่อยเล็กๆ จากการใช้กล้ามเนื้อที่ไม่ค่อยได้ใช้
ชอบก็จีบ
ที่ Thai Fit แบ่งห้องเรียนออกเป็น 3 รูปแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนเลือกตามความชอบ ประกอบด้วย Thai Myth คลาสที่ท่ารำได้แรงบันดาลใจมาจากระบำมาตรฐานหรือระบำในโบราณคดี เช่น สุโขทัย ทวารวดี เป็นต้น อ่อนช้อยสวยงาม Thai Folk คลาสที่ท่ารำสนุกๆ ประยุกต์มาจากนาฏศิลป์พื้นบ้านของภูมิภาคต่างๆ และ Thai Martial Arts คลาสที่ท่ารำมาจากศิลปะป้องกันตัว กระบี่กระบอง และการรำโขน มีความทะมัดทะแมง
แม้ท่วงท่าของทั้งสามรูปแบบจะต่างกันแต่ให้ผลลัพธ์ที่เหมือนกัน เป็นประโยชน์ต่อร่างกายทั้งกล้ามเนื้อและระบบประสาทซึ่งทำงานสัมพันธ์กันอยู่แล้วตามการย่างก้าวและเอียงตัว นอกจากนี้สติและสมาธิจากการติดตามท่วงท่าให้ทันจะช่วยป้องกันการเกิดโรคที่เกี่ยวกับความจำได้ ที่สำคัญที่สุดคือโอกาสในการบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กต่างๆ เช่น ที่ข้อมือ นิ้วมือ นิ้วเท้า และข้อต่อเล็กๆ ตรงบริเวณนั้นที่ไม่มีในการออกกำลังกายประเภทไหน
เพลงที่ดังอยู่ตลอด 60 นาที ทำให้เราหายสงสัยเรื่องความแข็งแกร่งในความอ่อนช้อยและความอ่อนช้อยในความแข็งแกร่ง เหมือนที่ใครบอกไว้ว่าแค่ขยับก็เท่ากับออกกำลังกาย ครูดิวบอกว่าเป้าหมายของ Thai Fit ไม่เน้นท่วงท่าที่สวยงาม แต่มันคือการสำรวจตัวเอง เช่น เมื่อรู้ว่าไหล่ไม่เท่ากัน สะโพกไม่เท่ากัน คุณครูก็จะให้การบ้านไป ถ้าสะโพกไม่เท่ากันมันมีท่าเซิ้งนะ เช่น ท่าขยำข้าวเหนียว ก็สามารถช่วยได้ เพราะถ้าใครติดปัญหาส่วนไหนก็ทำส่วนนั้นเป็นพิเศษ
รำแล้วดีโทษปี่โทษกลอง
นอกจากเพลงพื้นบ้านแล้ว ทุกเพลงที่ใช้ประกอบการออกกำลังกายเป็นผลงานสร้างสรรค์ใหม่ทั้งหมดของครูดิวและอัศจรรย์ คอลเลคทีฟ (Assajan Collective) ซึ่งเป็นทีมเดียวกับที่ช่วยเรื่องทำงานสื่อสารให้กับสตูดิโอ Thai Fit โดยเหตุผลที่ต้องทำเพลงขึ้นเองใหม่เพราะเพลงทั่วไปที่มีอยู่ในตลาดใช้ไม่ได้
ครูดิวเล่าว่า ธีมในแต่ละคลาสจะเป็นโจทย์กำหนดลักษณะเพลงซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นดนตรีไทยที่ใส่ Electronic เข้าไป เหมือนเป็น ambient แต่ว่าสำหรับ Thai Fit เธอจะทำให้มันมี beat มากขึ้น
“เรื่องที่เราให้ความสำคัญที่สุดของเพลงคือ จังหวะและอารมณ์ของเพลงจะต้องส่งเสริมให้เหมาะสมกับช่วง Warm Up Training และ Cool Down เช่น Training จะมีจังหวะเพลงที่ 120 BPM สอดคล้องกับอัตราการเต้นของหัวใจ” ครูดิวเล่าพร้อมกับชวนให้ฟังเสียงซอด้วงที่เธอบรรเลงในเพลงระบำนกยูง ประกอบเมโลดี้บางส่วนที่มีกลิ่นอายระบำโบราณสมัยสุโขทัย เพื่อใช้เป็นเพลงประกอบห้องเรียน Thai Myth
สำหรับห้องเรียน Thai Folk นอกจากเพลงชาวเลในจังหวะสนุกๆ ประกอบการเต้นที่ใช้สะโพกเยอะๆ แล้ว ครูดิวและทีมยังเปลี่ยนผ้าโจงกระเบนเป็นผ้ามัดย้อมสำหรับการรำประกอบเพลงภาคใต้นี้เท่านั้นด้วย ส่วน Thai Martial Arts แม้จะเป็นเพลงปี่พาทย์ แต่ก็ไม่ได้ทำออกมาจนน่ากลัวและเอื้อมไม่ถึง
ครูผู้สอนของ Thai Fit ต้องมีความพิเศษแตกต่างจากครูสอนนาฏศิลป์ทั่วไปอย่างไร เราถาม
“เพราะไม่เหมือนรำไทยเลย ที่จะต้องทำท่าเดียวกันต่อเนื่องไปทั้งเพลง แต่ Thai Fit คือการต้องทำซ้ำๆ และองศาของท่าทางก็ไม่ใช่แบบรำไทยที่เคยร่ำเรียนเลย แรกๆ ครูก็จะรู้สึกขัดตัวขัดใจเหมือนกัน” ครูดิวเสริมหลักการเลือกครูของ Thai Fit ที่รำไทยเป็นอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องรำเป็นอย่างดีและสอนได้ ที่สำคัญต้องเป็นคนเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ
เครื่องฟิต สตาร์ทติดง่าย
ความท้าทายของ Thai Fit ไม่ได้มีแค่เรื่องทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อการต่อยอดสิ่งใหม่ แต่เป็นเรื่องความใหม่ของตลาดธุรกิจนี้ ซึ่งไม่มีข้อมูลทางการตลาดอ้างอิง ลูกค้า ความต้องการ ราคา และอื่นๆ ทำให้ครูดิวและทีมงานต้องทำการบ้านไม่น้อย ครูดิวเล่าว่า เธอโชคดีที่ตัดสินใจส่งแผนธุรกิจเข้าประกวดโครงการสุดยอดแนวคิดพลิกธุรกิจไทยของธนาคารออมสิน จึงทำให้ค่อยๆ พัฒนาธุรกิจและต่อยอดมาถึงปัจุบัน
“คนไทยมีทุนทางวัฒนธรรมที่มหาศาลมาก ไม่ใช่แค่เฉพาะศิลปะ ร่ายรำ ดนตรี อาหารการกิน เรารู้สึกว่า Thai Fit อาจจะเป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่สามารถใช้ทุนทางวัฒนธรรมของเราในการยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้ เราใช้มือเปล่า เท้าเปล่า ยังไม่ต้องหันไปพึ่งพาวัฒนธรรมอื่น ไม่ใช่ว่าวัฒนธรรมอื่นไม่ดี แต่เรามองจากของใกล้ตัวก่อน”
ซึ่งในอนาคตเราจะได้เห็น Thai Fit ทำงานร่วมกับหน่วยงานในอีกหลากหลายวงการที่มีความเชื่อในเรื่องการอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กับการทำงานสร้างสรรค์ อย่างที่ Thai Fit กำลังได้รับความสนใจและการตอบรับที่ดีจากแบรนด์และบริษัทต่างๆ รวมถึงสถานทูตประเทศต่างๆ ที่มอบโอกาสเผยแพร่สิ่งที่ Thai Fit ตั้งใจ
The Entrepreneur ตอนนี้ ขอลากันไปแบบสบายๆ ด้วยท่าออกกำลังกายที่ ครูเฟี้ยว-มาดาพร น้อยนิตย์ และครูปีโป้-ปรียานุช ประมูลกิจ นำมาฝากให้คุณเตรียมตัวบอกลาออฟฟิศซินโดรมก่อนใคร
ท่าแรกมีชื่อว่า ท่าโอบต้นไม้ เริ่มจากตั้งวง ในท่าเผยอกเปิดไหล่ จากนั้นยืดให้สะบักมาชิดกัน โดยปกติแล้วท่ารำของไทยจะไม่แอ่นขนาดนี้ จากนั้นร่ายมือจีบเข้าตัวให้หลังตึงพอประมาณเหมือนกำลังโอบต้นไม้ใหญ่ ทำติดต่อกัน 5 ครั้งใน 1 เซ็ต ทำ 5 – 8 เซ็ต
ท่าที่สองง่ายมาก เหมาะสำหรับคนไม่มีพื้นที่ เรียกว่า ท่าจีบสลับนิ้ว เริ่มจากยืดแขนให้ตึง หักข้อมือเข้าหาตัวแล้วจีบมือไล่นิ้วชี้ กลาง นาง และก้อย
ยังๆ ยังไม่พอ เรามีคลิปสั้นๆ มาฝากกันด้วย
แต่อย่าไปฝึกอยู่บ้านคนเดียวเลย เดี๋ยวคนที่บ้านตกใจ
ThaiFit Studio | FB: Thai Fit
Rules
- ทำงานด้วยทัศนคติที่ว่า ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ และพร้อมเข้าใจความต่างของมนุษย์ทุกคนที่เราทำงานด้วย
- ทำงานตอนที่ท้องอิ่ม
- ทำงานกับคนที่เรารัก (ข้อนี้เพิ่งค้นพบ ตอนที่เริ่มทำงานกับแฟน คงเป็นเพราะดิวเป็นคนประเภทให้ความสำคัญกับความรัก พอเราทำงานกับคนที่เรารัก มันเลยทำให้รู้สึกว่าอยากให้ถึงเวลาทำงานทุกวันเลยค่ะ)