ดาวอาร์ราคิส (Arrakis) ในมหากาพย์ไซไฟ Dune อาจมองไปแล้วเจอแต่ทะเลทรายโล่ง ๆ สุดลูกหูลูกตา เดินไปเจอแต่เนินทรายสันทราย แทบไม่พบวี่แววสิ่งมีชีวิตใด ๆ น้ำหาไม่เจอ ต้นไม้ก็แทบไม่มี สิ่งเดียวที่รู้คือดาวดวงนี้ช่างแห้งแล้งและร้อนระอุจนมองไม่เห็นทางรอดไปถึงวันพรุ่งนี้ ซ้ำร้ายยังมีสิ่งมีชีวิตขนาดมหึมาและกลุ่มคนที่พร้อมสังหารคนนอกเพื่อนำคุณไปแปรรูปเป็นน้ำดื่ม

ต้อนรับการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของ Dune: Part Two หลังจาก Part One เป็นหนังบล็อกบัสเตอร์คำวิจารณ์ดีที่โกย 6 รางวัลออสการ์ และกระแสภาค 2 ร้อนแรงไม่แพ้อุณหภูมิดาวอาร์ราคิส เลยขอมอบบทความ ‘เจาะลึกดาวอาร์ราคิส’ ให้เป็นเสมือนหนังสือคู่มือท่องเที่ยว เพราะเจาะลึกดาวดวงนี้ = เจาะลึกไปที่หัวใจของจักรวาล Dune

อาร์ราคิสเป็นดาวสำคัญที่สุดในจักรวาล Dune จากการที่เป็นดาวศูนย์กลางของเนื้อเรื่องหนัง/นิยาย  และมีสถานะเป็นตัวละครเอกอีกตัวของเรื่องราวไม่ต่างไปจาก พอล อะเทรดีส หลังจากได้อ่านแล้วจะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ภายใต้ความโล่งแจ้งที่เต็มไปด้วยมหาสมุทรทะเลทรายนี้ ครั้งหนึ่งมันเคยแตกต่างอย่างสิ้นเชิง และภายในระยะสายตา ทรายไม่ได้มีเครื่องเทศที่มีมูลค่ามหาศาล ใต้ดินมีสิ่งมีชีวิตตั้งแต่เล็ก ๆ จนถึงขนาดมหึมา ที่ลับสายตาอาจมีคนเป็นร้อยเป็นพันอาศัยอยู่ พร้อมกับประวัติศาสตร์เบื้องหลังและวิถีวัฒนธรรมที่ (ไม่) คุ้นเคย

หนังสือ Dune ต้นฉบับของผู้แต่ง แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต (Frank Herbert) ฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์ Beat และภาพยนตร์ที่กำกับโดย เดอนี วีลเนิฟว์ (Denis Villeneuve) มีความคล้ายกันตรงที่หั่นออกเป็นเล่ม 1.1 และ 1.2 โดยเนื้อหาค่อนข้างแบ่งกันอย่างชัดเจน ส่วนเล่มนี้ที่แฟรงค์แต่งเอง มีภาคต่อชื่อ Dune: Messiah, Children of Dune, God Emperor of Dune, Heretics of Dune และ Chapterhouse: Dune รวมกัน 6 เล่มตามลำดับ

หนัง Dune: Part One เป็นการแนะนำตัวละคร ปูเนื้อเรื่อง ศัพท์แสง ใส่ความขัดแย้งและ Point of No Return กับพาคนดูสำรวจทำความรู้จักดาวอาร์ราคิสในระดับละเอียดยิบที่เห็นได้ชัดเลยว่าผ่านการค้นคว้าและคัดเลือกมาอย่างดี รวมถึงเผยให้เห็นถึงความอันตรายของดาวดวงนี้ พร้อมทั้งแนะนำให้รู้จักกับชนเผ่าดาวทะเลทรายที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในมหากาพย์ล้างแค้น ด้วยความประณีตและตั้งใจ ทั้งในด้านบท การกำกับ เสียง และการแคสต์นักแสดงระดับ A-List ส่วนสำหรับครึ่งหลังของหนังสือเล่มแรกหรือเนื้อหาในหนัง Dune: Part Two ต้องบอกว่าสนุกมากขึ้น ด้วยเนื้อเรื่องที่ไปไว เต็มไปด้วยแอคชัน เป็นการปิดจบบทสรุปเนื้อหาที่ปูมาตั้งแต่แรกซึ่งสัญญากับคนดูไว้อย่างทรงพลัง ทั้งยังพาเราไปรู้จักวิถีของชาวเฟรเมนแบบเต็ม ๆ ในหลากหลายแง่มุมที่สัมพันธ์กับการปรับตัวกับธรรมชาติและดาวดวงนี้ ประเคนสงคราม ความขัดแย้งระหว่างตระกูล และแตะเนื้อเรื่องฝั่งเหนือธรรมชาติมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นจากโครงเรื่องจะทำให้ Dune เป็นผลงานแอคชันไซไฟแนว ‘From hero to zero and from zero to hero again’ Dune ก็ไม่เชิงว่าเป็นเรื่องราวของฮีโร่ เพราะ แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต ตั้งใจแต่งเรื่องนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ฮีโร่แย่ได้แล้ว แต่ซูเปอร์ฮีโร่แย่กว่าแบบซูเปอร์ และไม่มีอะไรจะหายนะเท่ากับซูเปอร์ฮีโร่ที่ทำเรื่องผิดพลาดหรือชั่วร้าย และยังเคยพูดถึงประเด็นผู้นำไว้ว่า “เมสเซจหลักของเรื่องนี้ คือไอเดียเกี่ยวกับผู้นำที่ถูกมองว่าเลิศเลอเพอร์เฟกต์ เพราะในมุมมองของผมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มันบ่งชี้ว่าความผิดพลาดที่สร้างโดยผู้นำ (หรือในนามของผู้นำ) มักจะเลวร้ายกว่าเดิม ตามจำนวนของผู้ติดตามเขาคนนั้นโดยที่ไม่ได้ตั้งคำถาม” 

แต่ไม่ว่าจะธีมใดหรือทำการสำรวจด้านไหนเป็นพิเศษ หรือถึงแม้จะมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายเป็นเวลา 20,000 กว่าปีก่อนจะมาถึงไทม์ไลน์ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าสถานที่ส่วนใหญ่ที่ทั้งหนังและนิยายโฟกัสคือดาวอาร์ราคิส เป็นขุมพลังทะเลทราย (Desert Power) ของตัวเอกอย่าง พอล อะเทรดีส (Paul Atreides) ในการแก้แค้นและขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสงคราม (หรือมากกว่านั้น?) นี่จึงเป็นสาเหตุที่การเจาะลึกดาวดวงนี้จะช่วยสร้างความ Appreciate ในจักรวาล Dune และช่วยเสริมอรรถรสควบคู่กับการดูหนังทั้ง 2 พาร์ต 1 ภาค ที่เป็นเสมือนหนังเรื่องเดียวกันนี้มากขึ้น

พูดถึงคอนเซ็ปต์และองค์ประกอบดาวอาร์ราคิสกับสิ่งที่อยู่ในดวงดาว ทั้งหนอน สไปซ์ และชาวเฟรเมน ที่จะมีความสำคัญมากขึ้นในหนัง Dune: Part Two คงต้องย้อนกลับไปยังคำถามที่ว่า แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต ได้แรงบันดาลใจสิ่งเหล่านี้มาจากอะไรบ้าง เริ่มจากแรงบันดาลใจที่ให้กำเนิด Dune และดาวอาร์ราคิส

ด้วยความที่เคยเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์มาก่อน ครั้งหนึ่งแฟรงค์เคยถูกมอบหมายให้เขียนบทความเกี่ยวกับทะเลทรายในรัฐออริกอน (Oregon) ที่สันทรายเคลื่อนที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน กับความพยายามที่จะหยุดยั้งมันของหน่วยงานรัฐด้วยการปลูกหญ้า ก่อนจะลงเอยด้วยการที่บทความไม่ได้ตีพิมพ์ แต่การรีเสิร์ชครั้งนั้นทำให้แฟรงค์ได้อะไรมากเกินกว่านั้น เขาได้ไอเดียและข้อมูลมากมาย ต่อมาไอเดียนำไปสู่การรีเสิร์ชและลงมือเขียนที่ใช้เวลาถึง 6 ปี จนออกมาเป็นหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ทรงคุณค่าที่บุกเบิกการสำรวจระบบนิเวศในโลกสมมติ ผ่านการวางเงื่อนไขกับรายละเอียดของโลกใบนี้ (จริง ๆ ต้องใช้คำว่าจักรวาล) อย่างแน่นหนา จนจริงพอที่จะทำให้รู้สึกเชื่อได้ ทั้งยังทึ่งได้ที่นิยายเรื่องนี้แต่งเมื่อราว 60 ปีที่แล้ว

การสำรวจและค้นคว้าเกี่ยวกับทรายยังเป็นที่มาชื่อหนังสือ ‘Dune’ ที่แปลว่าสันทรายหรือเนินทราย และยังเป็นอีกชื่อเรียกของดาวอาร์ราคิสด้วย รวมถึงตัวดาวอาร์ราคิสเองก็มีไอเดียมาจากเนินทรายที่ทำแฟรงค์ลงสนามไปทำข่าวนี้เช่นกัน เพราะจากการค้นพบ ทำให้เขาเห็นว่าพลังแห่งธรรมชาติทั้งยิ่งใหญ่ อันตราย และมีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิตได้ขนาดไหน

ดาวอาร์ราคิสมีเมืองหลวงชื่ออาร์ราคีน (Arrakeen) และมีดวงจันทร์โคจรรอบ ๆ อยู่ 2 ดวง เป็นดาวที่ดูผ่านหน้าจอหรืออ่านผ่านอักษรก็สัมผัสได้ว่าร้อนระอุเกินจะอาศัยอยู่โดยปราศจากชุดเท่ ๆ ที่เห็นในหนัง (ในหนังบอกว่า ช่วงกลางวันมีอุณหภูมิสูงถึง 140 องศาฟาเรนไฮต์ หรือราว 60 องศาเซลเซียส เลยทีเดียว ถ้าต้องเดินทางหรือแค่อยู่เฉย ๆ กลางแดดโดยไม่มีชุด คือเท่ากับมีม Omae Wa Mou Shindeiru ทันที) แต่สาเหตุที่มนุษย์อยู่อาศัยได้ ไม่ใช่เพราะปริมาณก๊าซบนดาวที่มีสัดส่วนของไนโตรเจน 75.4% และอ็อกซิเจน 23% จากพืชหญ้าที่ยังคงหลงเหนืออยู่น้อยนิด แต่เพราะก๊าซอ็อกซิเจนโดยส่วนใหญ่ที่จะมาจากระบบเผาผลาญของหนอนยักษ์ เป็นเสมือนโรงงานผลิตอ็อกซิเจนและก๊าซโอโซนขนาดใหญ่ให้กับชั้นบรรยากาศ

สาเหตุที่อาร์ราคิสเป็นดาวสำคัญ นอกจากเป็นโลเคชันหลักแล้ว ยังเป็นดาวเพียงดวงเดียวที่มีเครื่องเทศสำคัญที่สุดในจักรวาล นั่นก็คือ สไปซ์ เมลานจ์ (Spice Melange) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ‘สไปซ์’ สารเสพติดที่เป็นสินทรัพย์มูลค่าสูงสุดใน Universe (ถึงขนาดมีคำพูดที่ว่า สไปซ์เต็มกระเป๋าบรีฟเคสสามารถซื้อดาวทั้งดวงได้) และคนจะมีฐานะรวยแค่ไหน วัดกันที่ปริมาณสไปซ์ที่ครอบครอง เพราะหมายถึงอำนาจ ดังคำกล่าวว่า “ผู้ใดควบคุมสไปซ์ ผู้นั้นควบคุมทุกสิ่ง” (ฟังดูยิ่งใหญ่ใช่มั้ย แต่ความจริงคือ แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต ได้แรงบันดาลใจมาจากสารในเห็ดขี้ควาย หรือเรียกให้ดูดีหน่อยว่า Magic Mushroom)

คุณประโยชน์ของสไปซ์ (ไม่นับที่ใช้แล้วจะเกิดอาการเสพติด หรือใช้เป็นสารเสพติดของคนชั้นสูง) คือทำให้สุขภาพแข็งแรงและทนทานต่อพิษอื่น ๆ และฤทธิ์ของมันเปิดโสตประสาทการรับรู้ได้ จึงใช้เพื่อบูสต์ความสามารถของมนุษย์ที่มีขีดความสามารถเหนือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น กิลด์ เนวิเกเตอร์ (Guild Navigator) มนุษย์ผู้ทำหน้าที่เป็นระบบนำร่องของยานอวกาศแทนคอมพิวเตอร์ที่ยกเลิกไปหลังสงครามบัตเลอเรียน จิฮาด (Butlerian Jihaad) ให้เห็นอนาคต แล้วบ่งบอกเส้นทางที่ปลอดภัยและหลบหลีกสิ่งกีดขวางในการเดินทางข้ามอวกาศได้ (เรียกได้ว่าสำคัญไม่น้อยไปกว่าเชื้อเพลิงที่ใช้เดินทาง) หรือจะเป็นกลุ่มแม่มดดำ เบเนเจสเซริต (Bene Geserit) ที่การเสพสไปซ์จะช่วยเพิ่มพูนขีดความสามารถต่าง ๆ            

ส่วนผลกระทบของผู้ที่เสพสไปซ์ปริมาณมากจะมีดวงตาสีฟ้า หรือที่คนพื้นถิ่นเรียกว่า ‘ดวงตาแห่งอิบาด (Eye of Ibad)’ ที่เรียนตามตรงว่า ไม่แน่ใจที่มาของไอเดียการออกแบบให้เป็นสีฟ้านี้ (รู้แต่ว่าเท่ดี) แต่นอกจากความเท่และเอกลักษณ์ของนิยาย/หนัง Dune คำว่าอิบาดโดด ๆ มีความหมายว่า ‘ผู้รับใช้’ หรือ ‘ผู้อุทิศตน’ ซึ่งอาจสื่อได้ถึงชาวเฟรเมนที่มีหน้าที่เป็นกองกำลังของผู้นำตามคำทำนายอย่าง พอล อะเทรดีส

ถึงจะเป็นดาวทะเลทรายที่ปะปนไปด้วยเครื่องเทศที่ฟังดูหลุดโลกนี้ จากการวิเคราะห์และข้อสันนิษฐานของนักดาวเคราะห์วิทยาคนแรกบนดาวอย่าง พาร์ดอต ไคนส์ (Pardot Kynes) พ่อของ ดร.เลียต ไคนส์ (Liet Kynes) ที่ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับหนอนและสภาพดาวอย่างจริงจังมาเป็นเวลานาน พบว่าเดิมทีดาวอาร์ราคิสไม่ได้มีสภาพเป็นแบบนี้ตั้งแต่แรก แต่ครั้งหนึ่งมันเคยมีแหล่งน้ำ ต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่มชุ่มขจีเต็มไปหมด แสงแดดอ่อน ๆ กำลังดี และฤดูที่หลากหลาย แต่ที่เป็นเช่นนี้ เพราะดาวนี้เต็มไปด้วยทรายที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ บนพื้นผิว สวนทางกับน้ำที่น้อยลง และเต็มไปด้วยทรายอย่างที่เห็นก็เพราะคำสั้นๆ ‘หนอนทราย’

ไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าหนอนทรายยักษ์ที่ชาวพื้นถิ่นเรียกว่า ‘ชาไอ-ฮูลูด (Shai-Hulud)’ หรือยกย่องว่าเป็น ‘พระเจ้า’ ‘ผู้สร้าง’ ไปจนถึงให้ความเคารพด้วยการเรียกว่า ‘ผู้เฒ่าทะเลทราย’ มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร หรือใครเป็นคนนำมา แต่พวกมันถูกนำมาจากดาวดวงอื่นและอาศัยอยู่ที่นี่ก่อนมนุษย์ ก่อนที่ ณ จุดหนึ่งการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วจะทำลายระบบนิเวศ จนเปลี่ยนสภาพดาวกลายเป็นทะเลทรายอย่างที่เห็น ซึ่งที่ดาวอาร์ราคิสเป็นดาวดวงเดียวในจักรวาลที่มีสไปซ์ เนื่องจากดาวมีหนอนยักษ์ที่ว่า ส่วนกระบวนการผลิตสไปซ์ของหนอนยักษ์และการที่หนอนยักษ์จะมีชีวิตอยู่ ทั้งหมดต้องเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เหมาะเจาะ และไม่มีดาวดวงไหนที่มีองค์ประกอบทั้งสภาพอากาศ ก๊าซ หรือแร่ธาตุ ที่จะเหมาะกับการเกิดสไปซ์เท่ากับดาวดวงนี้อีกแล้ว

หนอนทรายเป็นสิ่งมีชีวิตเกล็ดแข็งขนาดมหึมา ในช่วงที่พวกมันโตเต็มวัย จะมีขนาดตัวตั้งแต่ 100 – 400 เมตร แต่ก็มีหนอนที่โตเต็มที่ได้เพียงประมาณ 9 เมตรเหมือนกัน พวกมันกินแพลงตอนทรายเป็นอาหาร และไวต่อเสียงฝีเท้าหรือการเคลื่อนไหวบนพื้นทรายเป็นอย่างมาก ไม่ต้องพูดถึงเครื่องจักรเก็บเกี่ยวสไปซ์ที่ดังสั่นลั่นทุ่งจนเรียกพวกมันมาทุกครั้ง และหากหนีไม่ทันก็จะลงเอยด้วยการสูญเสีย ทั้งเครื่อง ทั้งสไปซ์ปริมาณมาก และมีโอกาสเสียชีวิตสูงเหมือนที่เห็นกันไปในหนังภาคแรก

โดยพื้นฐานแล้วหนอนทรายเป็นสิ่งมีชีวิตที่แพ้น้ำ ฉะนั้น ดาวที่เต็มไปด้วยน้ำจึงไม่เหมาะกับพวกมัน เมื่อน้ำเข้าไปในร่างกายของหนอนทราย (ไม่ว่าจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่) ต่อให้ปริมาณแค่นิดเดียวแต่น้ำจะไปเร่งกระบวนการเผาผลาญ ทำให้อวัยวะของหนอนล้มเหลว และเมื่อพวกมันตาย ก็จะคายสารพิษออกมา สารพิษนั้นเรียกว่า ‘น้ำแห่งชีวิต (Water of Life)’ หรือน้ำสีฟ้าใสมีฤทธิ์เป็นพิษ ชาวเฟรเมนนำมาให้ผู้เข้าทดสอบพิธีสืบทอดตำแหน่งแม่ใหญ่ดื่ม แล้วทำการเปลี่ยนองค์ประกอบภายในโมเลกุลจนดื่มได้ แต่ถ้าคนทั่วไปดื่มแล้วการันตีว่าลงไปคุยกับรากมะม่วงแห้ง ๆ 100% 

ต่อมาว่าด้วยวงจรชีวิตของหนอนทราย วงจรนี้ค่อนข้างมีความเป็นลูปที่ทรหดและจับต้นชนปลายไม่ได้ เพราะรู้ตัวอีกที กระบวนการนี้ก็ต้องพึ่งพากันและกันอย่างขาดไม่ได้แล้ว แต่ถ้าจะให้หาจุดเริ่มและอธิบายแบบง่าย ๆ ไม่งง ก็คงเริ่มจากสิ่งมีชีวิตหน่วยเล็กที่สุด และแยกอธิบายเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1. แพลงก์ตอนทรายคืออาหารที่ชาไอ-ฮูลูด รับประทาน (หนอนตัวเล็กที่โชคร้ายก็ด้วยเช่นกัน) กินสไปซ์เป็นอาหารอีกที

2. ถ้าหากพวกมันรอดจากการถูกสวาปาม จะได้มีโอกาสโตเป็นตัวอ่อนหนอน เรียกว่า ‘ปลาทราย (Sandtrout)’ นักว่ายทรายจอมขโมยน้ำตัวยง การกักเก็บน้ำจากข้างบนหรือจากที่หามาได้มาไว้ในโพรงใต้ดิน เพื่อให้พวกหนอนและพวกมันมีชีวิตอยู่ได้แบบไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่ตาย และเจ้าตัวนี้ยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ดาวอาร์ราคิสเป็นทะเลทรายแบบทุกวันนี้ด้วย

3. เมื่อน้ำที่กักเก็บผสมกับกากของเสียที่เกิดจากการย่อยของผู้สร้างตัวเล็ก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ‘ขี้’ ของหนอนทรายตัวเล็ก รวมกันแล้วจะกลายเป็นมวล เรียกว่า ‘มวลก่อนเกิดสไปซ์ (Pre-spice Mass)’ 

4. ณ จุดหนึ่งที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สั่งสมมากพอ จะเกิดเป็นฟองผุดบริเวณพื้นผิว ตามด้วยการปะทุครั้งใหญ่ (Spice Blow) อย่างรุนแรง ก่อให้เกิดเป็นสไปซ์ และมีปลาทรายตายไปหลายล้านตัวระหว่างกระบวนการนี้

5. พวกที่รอดจะจำศีลในรูปแบบของซีสต์ ก่อนกลายเป็น ‘ผู้สร้างตัวเล็ก (Little Maker)’ หรือหนอนขนาดประมาณ 3 เมตร หากพวกมันรอดจากการถูกหนอนตัวใหญ่กว่ากิน หรือหลบหลีกน้ำสำเร็จ เมื่อผ่านไปประมาณ 6 ปี พวกมันจะกลายเป็นหนอนยักษ์ที่เติบโตจนจำเวอร์ชันเดิมไม่ได้ 

จะเห็นได้ว่าทราย การมีอยู่ของหนอน และสไปซ์ ล้วนสัมพันธ์กับวัฏจักรชีวิตของหนอนทั้งสิ้น ที่อ่านดูเผิน ๆ แล้วดูเหมือนผู้ทำลายระบบนิเวศ (ซึ่งไม่ผิดนักที่จะมองเช่นนั้น) แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้สร้างสำคัญในระบบนิเวศใหม่ที่ขาดไม่ได้ด้วยเช่นด้วยกัน

ความสัมพันธ์นี้ทำให้ดาวอาร์ราคิสเป็นดาวอาร์ราคิส และยังแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จึงอาศัยอยู่ร่วมกันด้วยการโน้มตัวเข้าหาหรือปรับตัวอย่างน่าอัศจรรย์ ตรงจุดนี้เอง แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต ได้แรงบันดาลใจมาจากการปรับตัวของชนเผ่าแบล็กฟุต หรือชนอเมริกันพื้นเมืองในแถบทะเลทรายคาลาฮารีที่เอาไปใช้ชีวิตได้ตามปกติในพื้นที่แถบนั้น และยังไม่พอ พวกเขายังหาน้ำ มีวิธีกักเก็บน้ำ และวิธีใช้น้ำทุกหยดอย่างคุ้มค่า เมื่อบวกด้วยการรีเสิร์ชเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของชนเผ่าเบดูอิน (Bedouin) ชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายอาหรับ (เป็นที่มาของธรรมเนียมการดื่มกาแฟที่เห็นชาวเฟรเมนดื่มกันบ่อย ๆ เพราะกาแฟมีความหมายถึงอัธยาศัยไมตรีและความไว้เนื้อเชื่อใจ) กับ คนเผ่าซาน (San People) ในแถบแอฟริกาใต้เพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ก็คือที่มาของชาว ‘เฟรเมน (Fremen)’ ใน Dune ที่ขับเน้นประเด็น ‘ธรรมชาติส่งผลอย่างไรกับมนุษย์ และมนุษย์ส่งผลอย่างไรกับธรรมชาติ’ ได้เป็นอย่างดี

แค่ชนเผ่ายังไม่พอ ชาวเฟรเมนต้องมีเนื้อเรื่อง ประวัติศาสตร์ การต่อสู้กับบางอย่าง ธรรมเนียม รวมไปถึงผู้นำที่เป็นฮีโร่ (?) ของเรื่องราวนี้ ในส่วนนี้ แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังและหนังสือที่สร้างมาจากเรื่องจริงอย่าง Lawrence of Arabia (1962) และหนังสือเล่มดังอย่าง The Sabre Of Paradise (1960) 

เรื่องแรกมาจากความสนใจของ แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต ในเรื่องซูเปอร์ฮีโร่ ในฐานะศาสดาผู้กอบกู้ที่ชี้นำกองทัพผู้ติดตามไปสู่เส้นทางบางอย่าง เขามองเห็นสถิติที่บ่อยครั้งพื้นที่ในแถบทะเลทรายจะมีการถือกำเนิดผู้นำศรัทธาที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ตรงนี้นำมาเล่นกับประเด็นสิ่งแวดล้อมได้ Lawrence of Arabia ที่เนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับคนนอก (คนอังกฤษ) ที่กลายมาเป็นผู้นำกองทัพชาวอาหรับในการต่อสู้กับชาวเติร์กสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเป็นวัตถุดิบชิ้นดีที่จะนำมาดัดแปลงต่อยอด             

ส่วน The Sabre Of Paradise เกี่ยวกับความขัดแย้งช่วงต้น ๆ ถึงกลาง ๆ ศตวรรษที่ 19 ระหว่างกลุ่มชนอิสลามกับจักรวรรดิรัสเซียในพื้นที่แถบคอเคซัสหรือคอเคเชีย ภาษาที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้อย่างภาษาชาคอบซา (Chakobsa) เป็นแรงบันดาลใจให้กับภาษาที่ชาวเฟรเมนกับเบเนเจสเซริตใช้ในการสื่อสาร ส่วนตระกูลฮาร์คอนเนน (Harkonnen) ที่เป็นศัตรูกับตระกูลของพอล ก็เป็นไปได้เช่นกันว่าจะมีต้นแบบมาจากฝั่งรัสเซียที่เป็นเหมือนผู้ร้ายในสายตาของอิหม่ามชามิล

นอกจากนี้ ยังเคยมีการวิเคราะห์กันอย่างน่าสนใจว่า ความสัมพันธ์แบบศัตรูคู่อาฆาตระหว่างชาวเฟรเมนกับฮาร์คอนเนน ได้แรงบันดาลมาจากความขัดแย้งในอิรักที่บริษัทข้ามชาติจากยุโรปอเมริกาเข้าไปสร้างโรงกลั่นและขุดเจาะน้ำมันเป็นระยะเวลา 30 กว่าปีในพื้นที่โดยที่ชาวอิรักไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลย นำไปสู่การโค่นราชวงศ์ที่เห็นดีเห็นงามกับการผูกขาดนี้ การก่อตั้งบริษัทเพื่อรักษาเอกสิทธิ์ในน้ำมัน และลงเอยด้วยการก่อตั้ง OPEC เพื่อควบคุมการส่งออกและราคาน้ำมัน ฟังดูแล้วคลับคล้ายคลับคลาว่าน้ำมันจะ = สไปซ์ และชาวอิรักในเหตุการณ์นี้ = ชาวเฟรเมน

และนอกจากในด้านโครงเรื่อง อิทธิพลในระดับไมโครของ Dune ได้รับมาจากแถบตะวันออกกลางและศาสนาอิสลามเต็ม ๆ อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ชาวเฟรเมนพูดภาษาชาคอบซาเป็นหลัก ผสมกาลัค (Galach ภาษาสมมติ เป็นภาษาหลักที่ใช้ในจักรวาล Dune) ในยามจำเป็น และในด้านการแต่งกายก็ด้วยเช่นกัน ส่วนคำศัพท์สำคัญ ๆ ที่ใช้เรียกหรือนิยามที่เห็นหรือได้ยินตลอดทั้งเรื่อง เต็มไปด้วยศัพท์ภาษาอาหรับโดย (ส่วนใหญ่) ผสมกับภาษาอื่น ๆ อีกเกือบ 10 ภาษา เช่นที่ได้ยินบ่อย ๆ ได้แก่ ลีซาน อัล-ไกอีบ (Lisan al-Gaib ), มอดดีบ/มูอัดดีบ (Muad’Dib), ชาไอ-ฮูลูด (Shai-hulud), ไซตาน รวมไปถึงชื่อใหม่ของพอลอย่าง ‘อูซุล (Usul)’ และศัพท์อื่น ๆ ที่ปรากฏทั้งในเรื่องและภาคผนวกที่ฟังดูครั้งแรกก็รู้ได้โดยทันทีว่ามาจากอิทธิพลแถบใด             

ส่วนในฉบับหนัง ก็ได้มีการจ้างนักภาษาศาสตร์ชื่อ David Peterson คนเดียวกับที่สร้างภาษา Dothraki, ภาษา Valyrian และภาษาของเด็กแห่งพงไพร ในซีรีส์ Game of Thrones มาออกแบบภาษาให้กับแฟรนไชส์นี้เพื่อความสมจริงและน่าเชื่อถือในบทพูด

พูดถึงอิทธิพลกันไปแล้ว ต่อมาถึงเวลาพูดถึงวิถี ความเชื่อ และนวัตกรรมที่ชนเผ่าเฟรเมนคิดค้นขึ้นมา เพื่อมีชีวิตรอดในดาวทะเลทรายกันบ้าง

ชาวเฟรเมนกับความเชื่อเป็นสิ่งคู่กันมาตั้งแต่จุดกำเนิด ก่อนที่จะเดินทางมาถึงดาวอาร์ราคิส บรรพบุรุษของเผ่าเฟรเมนคือชนเผ่าเร่ร่อนที่นับถือศาสนา ‘เซนซุนนี (Zensunni)’ หรือศาสนาพุทธนิกายเซ็น + ศาสนาอิสลามนิกายซุนนี พวกเขาเดินทางอพยพหนีการตามล่าของจักรวรรดิจากดาวหนึ่งไปสู่อีกดาว เป็นจำนวนหลายดวง ก่อนจะมาลงเอยลงหลักปักฐานเป็นคนท้องถิ่นที่นี่ และกลายเป็นชาวเฟรเมนที่เชื่อนับถือหนอนยักษ์ในฐานะพระเจ้าที่จับต้องได้ เชื่อในวิธีแห่งธรรมชาติ รวมไปถึงศรัทในคำทำนาย และยังมีแม่ใหญ่ (Reverend Mother) เป็นของตัวเองที่ดาวดวงนี้ 

ทั่วทั้งดาวอาร์ราคิสมีประชากรชาวเฟรเมนอาศัยอยู่ราว 5 ล้านคน (มีความเป็นไปได้สูงว่าจำนวนจริงอยู่ที่ 10 ล้าน) โดยสถานที่อยู่อาศัยของชาวเฟรเมนจะถูกเรียกซีตช์ (Sietch) มักจะอยู่ตามภูเขาหรือโขดหินขนาดใหญ่ ซีตช์เหล่านี้มีอยู่ทั่วดาว หัวหน้าผู้ปกครองแต่ละซีตซ์เรียกว่า ไนอีบ (Naib) ที่จะได้รับตำแหน่งมาจากการท้าทายผู้นำคนเก่า ซึ่งการตัดสินคดีตั้งแต่ไม่ชอบหน้ากันจนถึงตัดสินเพื่อหาความยุติธรรม เป็นการต่อสู้ตัวต่อตัวด้วย ‘การท้าสู้ทาฮัดดี (Tahaddi Challenge)’ ที่ลงเอยด้วยการมีผู้ชนะหนึ่ง และผู้ตายอีกหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นผู้ที่ชนะจะต้องรับผิดชอบทั้งลูก ภรรยา (เสริมตรงนี้ด้วยว่า Polygamy หรือการมีคู่ครองหลายคนพบเห็นทั่วไปในหมู่ชาวเฟรเมน) และรับเอาข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงดื่มน้ำที่สกัดมาจากร่างกายของผู้ตายเพื่อเป็นการให้เกียรติ (ส่วนกฎ ‘อัมทัล (Amtal)’ ที่จามิส (Jamis) ท้าสู้พอลก็คล้าย ๆ กับทาฮัดดีประเภทหนึ่งที่ท้าเพื่อพิสูจน์ลิมิต)

เผ่าเฟรเมนให้ความสำคัญกับพวกพ้องคนใน และไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนนอกนัก สำหรับพวกเขาคนนอกจึงไม่ต่างไปจากน้ำเดินได้ โดยเฉพาะน้ำเดินได้ผสมพิษที่มาช่วงชิงสไปซ์อย่างพวกฮาร์คอนเนนที่สู้รบปรบมือกันมาเป็นเวลากว่า 80 ปี หรือเรียกได้ว่าเกือบชั่วอายุคนเลยทีเดียว ในขณะที่คนที่เป็นพันธมิตรหรือได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งเดียวกับเผ่าเฟรเมน จะถูกเรียกกันว่า ‘อิชวาน เบดไวน์ (Ichwan Bedwine)’ (อารมณ์ประมาณ Brotherhood หรือเรียกสั้น ๆ ฉบับวัยรุ่นอาร์ราคิสว่า ‘bro’) เป็นคำที่ตัวละคร สติลการ์ (Stilgar) ใช้เรียกพอล อะเทรดีส 

นอกจากนี้ ด้วยสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่โหดร้ายที่บีบบังคับให้ชาวเฟรเมนต้องดิ้นรนเอาตัวรอด พวกเขาจึงต่อสู้แบบกองโจรเก่ง (ทหารกองโจรจะเรียกว่า ‘เฟดาย์คิน (Fedaykin)’ และไม่เกรงกลัวแม้กระทั่งทหารซาดูคาร์ (Sadukar) ของจักรพรรดิที่ว่ากันว่าน่าเกรงขามและไร้ความปราณีที่สุดในจักรวาล โดยอาวุธของชาวเฟรเมนจะมีทั้งปืนพก หอก และหน้าไม้ แต่ที่เป็นเหมือนอาวุธคู่กายที่สำคัญและแมสที่สุด คือมีด ‘คริสไนฟ์ (Crysknife)’ ทำจากเขี้ยวของหนอนทรายที่ตายแล้ว โดยมีกฎสำคัญว่า ถ้าดึงออกจากฝักแล้ว จะเก็บเข้าฝักไม่ได้หากมีดไม่ได้ลิ้มรสเลือด และอาวุธนี้ห้ามให้คนนอกเห็นเป็นอันขาดไม่เช่นนั้นจะต้องตายสถานเดียว

และก่อนที่จะมีการประลองกันแต่ละครั้ง ในจักรวาล Dune จะมีคำพูดเท่ ๆ นิยมพูดกันในหมู่ชาวเฟรเมนว่า “ขอให้ดาบท่านบิ่นและแตกหัก (May thy knife chip and shatter)” คำพูดนี้เป็น Trash Talk ที่พูดเพื่อยั่วยุก่อนต่อสู้ แน่นอนว่าความหมายตรงตัวคือแช่งให้ศัตรูตายและพ่ายแพ้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจหมายถึงหวังให้ศัตรูเกิดข้อผิดพลาดและพ่ายแพ้เร็ว ๆ เพื่อทั้งคู่จะได้เสียน้ำในร่างกายน้อยที่สุดเช่นกัน ซึ่งเราจะได้ยินคำพูดนี้ในฉากที่จามิส (Jamis) สู้กับพอลในตอนจบของ Dune: Part One ก่อนที่พอลจะนำไปพูดก่อนต่อสู้ในแมตช์หยุดโลก เพื่อชี้ชะตาจักรวาลกับ เฟย์ด-รอธา ฮาร์คอนเนน (Feyd-Rautha Harkonnen) ในตอนจบ Dune: Part Two

ในขณะที่หนอนเป็นเทพเจ้าของชาวเฟรเมน พวกเขาก็ปรับตัว เรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากมัน พวกเขาเริ่มจากการเรียนรู้ที่จะเดินแบบ ‘แซนด์วอล์ค (Sandwalk)’ หรือการเดินในริทึ่มที่สอดคล้องไปกับทราย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เจอกับผู้สร้างในช่วงเวลาที่ไม่ต้องการ และในเวลาที่พวกเขาต้องการเดินทางด้วยความเร็วสูง หนอนยักษ์เหล่านี้ถูกใช้เป็นพาหนะความเร็วสูงที่อาจลำบากลำบนและเสี่ยงตายในการขึ้นขับขี่ไปบ้าง แต่รวดเร็ว และที่สำคัญคือขี่แล้วรู้สึก ‘เท่’ (อันนี้เติมเอง)

สำหรับชาวเฟรเมนแล้ว การขี่หนอนเป็นเหมือนพิธีเปลี่ยนผ่านไปสู่การเติบโตและการได้รับการยอมรับ เช่นเดียวกับที่ พอล อะเทรดีส จะต้องผ่านพิธีนี้ เหมือนที่เด็กอายุ 12 ของชาวเผ่าเฟรเมนทุกคนต้องทำ

วิธีการขี่หนอน ชาวเฟรเมนจะใช้ ‘หมุดทัมเปอร์ (Thumper)’ ปักลงที่ทรายกลองหรือทรายบริเวณที่แน่นพอที่เคาะแล้วจะได้ยินเสียงเหมือนกลอง จากนั้นเมื่อกระแทกเป็นจังหวะ ตุ้ม! ตุ้ม! ตุ้ม! อย่างสม่ำเสมอ ราชรถสุดหรูก็จมารับในอีกไม่ช้า โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมหนอน คือตะขอสองข้าง ที่นอกจากใช้ยึดแล้ว หากเปิดข้อต่อของมันให้ลมพัดทรายเข้าไปในรู (น่าจะเป็นรูที่ใช้หายใจ) ความระคายเคืองจะทำให้พวกมันเชิดหัว ไม่มุดลงในในทราย และมุ่งหน้าเร่งสปีดไปในทิศทางที่ผู้ขี่ต้องการ ส่วนถ้าระยะทางไกล ถ้าไม่ใช่เพราะผู้ขี่เมื่อย ก็อาจต้องมีการเปลี่ยนหนอนถึง 2 – 4 ตัว เพื่อให้หนอนตัวเดียวไม่เหนื่อยล้าเกินไปจนควบคุมไม่ได้ และผู้ขี่ร่วงตกลงมาตายอนาถ

และแน่นอน บนดาวที่น้ำเป็นสิ่งที่ล้ำค่าไม่ต่างไปจากสไปซ์นี้ และในวัฒนธรรมของชาวเฟรเมน การสละน้ำในร่างกายทางใดก็ตาม เช่น น้ำตาหรือน้ำลาย เป็นอะไรที่น่าซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง เพราะหมายถึงการสละน้ำในตัว และพวกเขาจะไม่ยอมเสียน้ำไปแม้แต่หยดเดียว ไม่ว่าจากศัตรู มิตร หรือคนรัก น้ำจะถูกรีดมาใช้ มาดื่ม มาเก็บ อย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะน้ำเป็นทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีความหมายเท่ากับชีวิต แต่ก็ใช่ว่าชนกลุ่มนี้จะใช้คุ้ม 100% ขนาดนำส่วนเนื้อที่รีดน้ำออกแล้วไปกินหรืออะไรทำนองนั้น ในกรณีที่มีคนตาย นอกจากน้ำที่เฉลี่ย 30 ลิตรต่อคนแล้ว ชาวเฟรเมนไม่ได้เอาเนื้อหนังมังสาของผู้ตายไปทำอย่างอื่น ตามหลักการ “เนื้อหนังเป็นของคนผู้นั้น น้ำในกายเป็นของเผ่า”

นวัตกรรมน่าทึ่งใน Dune ที่ชาวเฟรเมนใช้กักเก็บน้ำประกอบไปด้วย ‘สติลสูท (Stillsuit)’ หรือชุดอรรถประโยชน์ที่มีฟังก์ชันตั้งแต่กระเป๋าเก็บนู่น ช่องสำหรับเสียบนี่ แต่ฟังก์ชันสำคัญที่สุด คือทำหน้าที่ป้องกันความร้อน ทำให้ร่างกายเย็นลง และกักเก็บความชื้นในร่างกายจากของเสียทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำใด ๆ ก็ตาม ทั้งบริเวณภายในชุดและความชื้นผ่านการหายใจทางท่อจมูก (หากใส่หน้ากากปิดปากก็จะดักปริมาณความชื้นได้เยอะขึ้น) จากนั้นนำมารีไซเคิลเป็นน้ำดื่มที่จัดเก็บไว้ในถุงเล็ก ๆ นอกจากสติลสูทแล้ว ยังมี ‘สติลเต้นท์ (Stilltent)’ ที่ฟังก์ชันใกล้กันแต่ทำได้มากกว่า คือนำน้ำตาไปรีไซเคิลและเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้อาศัยอยู่ใต้ผืนทรายได้ กับแผงดักลม (Windtrap) เอาไว้ใช้ดักความชื้นในอากาศแล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นน้ำดื่ม

น้ำทั้งหมดที่เก็บมาได้ หากไม่ได้ใช้ดื่มส่วนตัว และมีความสะอาดมากพอ จะนำไปเก็บไว้ในบ่อเก็บน้ำรวมที่มีหลายพันแห่งกระจายทั่วดาว โดยมีไม่กี่คนที่รู้ตำแหน่ง แต่ละแห่งจะมีน้ำปริมาณมหาศาล เช่นบ่อเก็บน้ำในซีตช์ทาเบรอ (Tabr) หรือซีตช์ของพรรคพวกสติลการ์ มีปริมาณมากถึง 380 ล้านลิตรเลยทีเดียว

เป็นไปได้สูงว่าคนที่ออกแบบนวัตกรรมเหล่านี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘มูอัดดีบ (Muad’Dib)’ หรือหนูจิงโจ้ทะเลทรายตัวเล็กจิ๋วที่มีความสามารถในการเอาตัวรอดสูงจนเป็นที่เคารพของชาวเฟรเมน เนื่องจากหูโต ๆ ของมันเป็นอวัยวะดักความชื้นจากอากาศ มันจึงจัดเก็บน้ำไว้ดื่มกิมในยามต้องการได้ พอลเลยเอาชื่อเจ้าหนูสายพันธุ์นี้ไปตั้งเป็นชื่อตัวเอง กลายเป็น พอล-มูอัดดีบ เนื่องจากมีนิมิตว่า วันหนึ่งตัวเองจะใช้ชื่อนี้ และถ้าตั้งชื่อนี้แล้วคนเหล่านี้จะชอบ (ถือเป็นการทำแต้มสะสมในทางหนึ่ง)

มาถึงเรื่องสำคัญที่สุด นั่นก็คือเหตุใด พอล อะเทรดีส ถึงเป็นผู้นำที่ชาวเฟรเมนรอคอยให้มาเป็นศาสดาหรือเมสสิยาห์ (Messiah) ผู้พาพวกเขาไปสู่โลกใหม่ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเบเนเจสเซริต ความเชื่อของเผ่าเฟรเมน และชะตากรรมของดาวอาร์ราคิส

ธรรมชาติของชาวเฟรเมนมีความก้ำกึ่งระหว่างศรัทธาในวิทยาศาสตร์และคลั่งศาสนา ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะไปด้วยกันได้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว ทั้งหมดเริ่มมาจากความฝันที่วันหนึ่งดาวดวงนี้จะเปลี่ยนไป และโยงไปถึงการกักเก็บน้ำ ไม่แตะต้องน้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวเฟรเมน ซึ่งอาจไม่ได้มีการลงดีเทลในหนัง แต่ถูกกล่าวถึงอย่างละเอียดในหนังสือ 

แผนการ องค์ความรู้ และความฝัน (ที่อาจดูลม ๆ แล้ง ๆ แต่เป็นจริงได้) เริ่มมาจาก พาร์ด็อต ไคนส์​ ที่หลังจากได้คลุกคลีจนมีลูกกับชาวเฟรเมน ก็ทำการฝึกสอนวิธีปลูกต้นไม้ คัดเลือกพันธุ์ และปลูกฝังเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในการฟื้นฟูดาวให้กลับมามีเฉดสีเขียวฟ้าอีกครั้ง ความฝันนี้ต่อเนื่องจากชาวเฟรเมนพ่อแม่สู่ชาวเฟรเมนที่เป็นลูก ๆ และเช่นเดียวกัน ดร.เลียต แบกรับช่วงต่อความฝันจากพ่อของตัวเอง จึงดำเนินแผนการด้วยการติดสินบนสมาพันธ์ (Spacing Guild) ไม่ให้ส่งดาวเทียสมาสอดส่อง แล้วทำการเปลี่ยนดาวทีละนิด ๆ จนกว่ามันจะเขียวชอุ่ม เต็มไปด้วยแหล่งน้ำ (แต่ก็จะเหลือพื้นที่แถบทรายให้หนอนได้อาศัยและขยายพันธุ์เช่นกัน) แผนนี้กินเวลามากถึง 300 – 500 ปี และคนที่เริ่มมันรวมถึงลูกหลานของพวกเขาอีกหลายสิบชั่วโคตรอาจไม่ได้เห็น แต่เป็นการทำเพื่ออนาคตอันปราศจากอุปกรณ์ตระกูลสติลเหล่านั้นอีกต่อไป

แน่นอนว่าทุกอย่างไม่ง่าย เพราะยังมีจักรวรรดิ โชมคอมปานี และฮาร์คอนเนนที่คงไม่ยอมเสียประโยชน์จากการสไปซ์ที่ลดลง ในขณะเดียวกัน ฝั่งเบเนเจสเซริตหรือแก๊งแม่มดผู้บงการชักใย เขียนบทให้กับชะตากรรมจักรวาลและตระกูลต่าง ๆ มาตลอด ต้องการสร้างควิซาตฮาเดอราค (Kwisatz Haderach) หรือมนุษย์เบเนเจสเซริตเพศชาย ว่าที่จักรพรรดิผู้สมบูรณ์แบบ เป็น The One ที่เกิดจากการผสมพันธุกรรม 10,000 ปี ให้เกิดมามีพลังสูงสุด ทั้งมองเห็นอนาคต อยู่ทุกที่ทุกเวลาเหนือ Time & Space และเข้าถึงไฟล์ความทรงจำกับรับรู้ประสบการณ์ของชายและหญิงที่เคยมีชีวิตก่อนหน้า โดยที่พวกตัวเองคอยบงการอยู่ข้างหลังอีกที

ด้วยคอนเซ็ปต์นี้และแผนสร้างอิทธิพลที่พร่ำทำอย่างสม่ำเสมอ เหล่าแม่มดดำได้ส่งกลุ่มมิชชันนาเรียโพรเทคติวา (Missionaria Protectiva) ไปปลูกฝังความเชื่อ คำทำนาย เรื่องเหนือธรรมชาติ และให้ความหวังเกี่ยวกับการมาของควิซาดฮาเดอราค (สำหรับชาวเฟรเมนเป็นชื่ออื่น คือ ลีซาน อัล-ไกอีบ (Lisan al Gaib) หรือสุรเสียงจากนอกโลก กับ มาห์ดี (Mahdi) หรือผู้นำทางสู่สรวงสวรรค์) บนดาวต่าง ๆ เพื่อเป็นแผนสำรองกรณีพี่น้องตัวเองไปติดหรือเดินทางลี้ภัยไปอยู่บนดาวดวงไหน จะได้อ้างเรื่องนี้และชื่อกลุ่มเพื่อความปลอดภัย และหลอกใช้ประโยชน์จากผู้งมงายได้ ซึ่งดาวอาร์ราคิสเป็นหนึ่งในนั้น ที่ความเชื่อทำงานอย่างฝังลึกในแถบใต้และใช้ชีวิตลำบากมากกว่า ในขณะที่แถบเหนือจะปะปนกันไป บางคนศรัทธา บางคนไม่

และนั่นคือความสำคัญของ พอล อะเทรดีส เด็กชายผู้ถูกปูพรมไว้อย่างไม่ได้ตั้งใจให้เป็นทั้งสองสามอย่างนี้ตั้งแต่ก้าวเท้าลงมาที่ดาวทะเลทราย ทุกอย่างเอื้อให้เขาเป็นทั้งผู้กอบกู้และผู้ทำลาย เพียงแค่ตัดสินใจใช้ประโยชน์จากความเชื่ออันแรงกล้าเหล่านั้น เพียงแค่เอ่ยปากอย่างหนักแน่นไม่ว่าจะมีคำโป้ปดหรือจริงใจกี่เปอร์เซ็นต์ สงครามที่ฉาบหน้าไปด้วยคำว่า “เพื่อผู้อื่น” “เพื่อสันติ” “เพื่อดวงดาว” “เพื่อลูกหลาน” แต่แท้จริงแล้วมี “เพื่อความต้องการของตัวเอง” เป็นเหตุผลเจือปนอยู่ในนั้นด้วยก็จะเกิดขึ้น และไม่มีอะไรหยุดยั้งกองทัพเฟรเมนที่ยอมสู้ตายถวายชีวิตเพื่อคนๆ เดียวและสิ่งที่ตนศรัทธาได้

Dune: Part Two ฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์ (แนะนำให้ดูในโรง IMAX เพื่อประสบการณ์และอรรถรสสูงสุด) และในอีก 2 – 3 ปีจากนี้ เตรียมพบกับ Dune: Messiah ภาคต่อปิดไตรภาคหนัง Dune ของ เดอนี วิลเนิฟว์ ที่จะสะท้อนธีมที่ แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต ตั้งใจนำเสนอผ่านเรื่องราวนี้มาตลอด ที่สรุปได้ประโยคไม่สั้นไม่ยาวได้ว่า “อำนาจอันล้นพ้นไม่ได้เสื่อมทรามอย่างสมบูรณ์ด้วยตัวมันเอง แต่มันเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนที่สร้างความเสื่อมทรามได้ (Absolute power does not corrupt absolutely, absolute power attracts the corruptible.)”

ข้อมูลอ้างอิง
  • Dune, by Frank Herbert
  • vocal.media
  • www.opb.org
  • www.bartkasperolaw.com
  • www.cbc.ca

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ