ครั้งหนึ่ง เคยมีคำกล่าวว่า ที่ไหนที่มีคนไทยอาศัยอยู่ ที่นั่นต้องมี ‘คู่สร้างคู่สม’ วางขาย

ไม่ว่าจะเป็นร้านตัดผมหน้าปากซอย แผงนิตยสารในห้างหรู ชุมชนคนไทยในต่างแดน ไปจนถึงบ้านคนไทยในแถบป่าแอมะซอนอีกซีกโลก

ยืนยันได้จากเรื่องราวข้อเขียน จดหมายบอกเล่าที่ถูกส่งเข้ามาจากสารพัดมุมโลก หลายคนบอกว่านิตยสารฉบับนี้เปรียบเหมือนเพื่อนที่ทำให้พวกเขาคลายความคิดถึงบ้าน

หากตัดสินแค่ชื่อ หลายคนอาจนึกว่าเป็นหนังสือที่วนเวียนอยู่กับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ แต่ถ้าได้ลองเปิดอ่านแล้วจะพบว่า ข้างในอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวสาระความรู้ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์และมุมมองใหม่ ๆ ขณะเดียวกันก็เสพง่าย อ่านได้เพลิดเพลินทุกตัวอักษร คนอ่านจึงติดกันงอมแงม มีแฟนประจำทุกช่วงวัย

เพราะฉะนั้น อย่าแปลกใจว่าเหตุใด คู่สร้างคู่สม จึงครองอันดับ 1 บนแผงมาต่อเนื่องเกือบ 40 ปี ถึงขั้นเคยมียอดขายสูงถึงเดือนละ 1,000,000 ฉบับเลยทีเดียว

แม้นิตยสารจะปิดตัวไปนานกว่า 5 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘ขอสละแชมป์ ในขณะที่เรายังเป็นแชมป์ในวันนี้เสียดีกว่า’ แต่ความคิดถึงของผู้อ่านก็ไม่เคยจางหายไปไหน

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงถือโอกาสดีขอนัดพบกับ ดำรง พุฒตาล ผู้ก่อตั้ง คู่สร้างคู่สม เพื่อย้อนเส้นทางของนิตยสารสามัญประจำบ้านฉบับนี้

ดำรง พุฒตาล เล่าตำนาน ‘คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารยอดขายสูงสุดของไทยและการกลับมาแบบวิทยุ

คงไม่ผิดหากจะบอกว่า คู่สร้างคู่สม ถือกำเนิดจากความหลงใหลในการอ่านหนังสือของ ดำรง พุฒตาล

ดำรงเกิดและเติบโตที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เขาอ่านหนังสือออกตั้งแต่ยังไม่เข้าเรียนชั้นประถม เพราะคุณย่าเป็นคนเก่ง สอนให้หลานอ่านเรื่อง สังข์ทอง ตั้งแต่เยาว์วัย ที่สำคัญยังมีพี่ชายคนโตซึ่งเป็นหนอนหนังสือไม่แพ้กัน กลับจากการฝึกทหารอากาศเมื่อไหร่ ก็มักจะหอบหิ้วหนังสือและนิตยสารต่าง ๆ มาด้วยเสมอ

พอโตขึ้นเมื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูพระนครศรีอยุธยา ดำรงขอสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ประจำห้องสมุด คอยปัดกวาด ซ่อมแซมหนังสือ เรียงหนังสือตามหมวด การได้ใกล้ชิดคลุกคลีกับหนังสือ ยิ่งทำให้เด็กหนุ่มกระหายที่จะเรียนรู้มากยิ่งขึ้น เพราะหนังสือเหล่านี้ช่วยทำให้เขารู้ว่า โลกใบนี้ช่างกว้างใหญ่เพียงใด

“ผมอ่านหนังสือมากกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน อย่างการเมืองในต่างประเทศ เราจะรู้หมด เช่นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเป็นใคร มาจากไหน หรือสมัยก่อนจะมีหนังสือชื่อ สิ่งมหัศจรรย์ของโลก เวลานั้นมีแค่ 7 อย่างเท่านั้นแหละ เช่น พีระมิด กำแพงเมืองจีน ทัชมาฮาล ผมก็อ่าน อ่านด้วยความชอบ และแน่นอนว่าต้องอยากไป แต่นึกในใจว่า ชาตินี้ด้วยสภาพอย่างเราคงไปไม่ได้หรอก”

ดำรง พุฒตาล เล่าตำนาน ‘คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารยอดขายสูงสุดของไทยและการกลับมาแบบวิทยุ

ความฝันหนึ่งที่อยู่ในใจเรื่อยมาคือ อยากทำหนังสือหรือนิตยสารของตัวเอง

หากแต่จุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายสื่อมวลชนของดำรงกลับไม่ใช่หนังสือ แต่เป็นรายการโทรทัศน์ 

โดยหลังเรียนจบจากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และเข้าทำงานเป็นโฟร์แมนของแผนกครัวที่การบินไทย ดำรงทราบข่าวจากเพื่อนว่า ช่อง 7 ขาว-ดำ (ปัจจุบันคือ ททบ.5 เอชดี) ต้องการโฆษกคนใหม่ เขาจึงตัดสินใจเข้าไปพบกับ พ.อ.การุณ เก่งระดมยิง แม้ไม่ได้รับเลือก แต่ผู้การการุณเห็นความตั้งใจของเด็กหนุ่ม จึงให้มาฝึกงานเป็นผู้ช่วยทำรายการ 20 คำถาม ป๊อปท็อป และ บันไดดารา

ผู้การการุณถือเป็นครูคนสำคัญของดำรง ตั้งแต่เรื่องการพูดหน้ากล้อง เพราะท่านเป็นคนเข้มงวดมาก หากพูด ร เรือ หรือ ล ลิง ผิดจะถูกปรับคำละ 5 บาท ที่สำคัญยังต่อต้านการสูบบุหรี่และของมึนเมาทุกชนิด จึงปฏิเสธรับโฆษณาจากสินค้าประเภทนี้ ซึ่งภายหลังดำรงได้ยึดถือหลักการนี้เช่นกัน ทำให้หนังสือ คู่สร้างคู่สม ไม่เคยมีโฆษณาเหล่านี้เลย ตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับสุดท้าย

ดำรง พุฒตาล เล่าตำนาน ‘คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารยอดขายสูงสุดของไทยและการกลับมาแบบวิทยุ

ดำรงทำงานอยู่ที่ช่อง 7 ขาว-ดำ ได้ 2 ปีจึงได้รับทาบทามให้มาช่วยงานที่ช่อง 7 สี ซึ่งเปิดตัวสถานีได้ประมาณปีหนึ่ง ทำหน้าที่สารพัดอย่าง ตั้งแต่ตามนายไปหาสปอนเซอร์ แบกหนังไปฉายให้สปอนเซอร์ดู กำกับเวที เป็นโฆษก ดูแลควบคุมแปลบทหนัง ทำได้นาน 7 ปีเต็ม จึงขอลาออก เพื่อมาเริ่มต้นผลิตรายการของตัวเอง

คู่สร้างคู่สม ออกอากาศครั้งแรก ทาง ททบ.5 เมื่อวันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2519 ถือเป็นรายการหนึ่งที่พลิกโฉมวงการโทรทัศน์ของเมืองไทยเลยก็ว่าได้

“ถ้าพูดถึงรายการโทรทัศน์ คนสมัยนี้อาจจะนึกถึงรายการ เจาะใจ แต่ถ้าเป็นสมัยก่อนรายการที่ดังที่สุดของผมคือ คู่สร้างคู่สม คือผมถนัดรายการประเภทสัมภาษณ์ แล้วเรามองว่าเรื่องผัวเมียเป็นเรื่องที่สนุกสนาน ผมเลยคิดว่า ถ้าเราเอาเรื่องความเป็นอยู่ของครอบครัว สามีภรรยาไทย ๆ วิถีชีวิตแบบ The Way of Life ของไทยมานำเสนอในรายการ คงจะเป็นที่น่าสนใจ”

ดำรง พุฒตาล เล่าตำนาน ‘คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารยอดขายสูงสุดของไทยและการกลับมาแบบวิทยุ

ขณะที่ชื่อรายการนั้นมาจากความชื่นชอบวลีไทย ๆ ของตัวดำรงเอง โดย ‘คู่สร้าง’ คือคู่ที่พระเจ้าสร้างมาให้เป็นคู่กัน ส่วน ‘คู่สม’ มาจากความเหมาะสม ซึ่งอาจจะเหมาะสมทางด้านรูปร่าง หน้าตา ความคิด หรือนิสัยก็ตาม ซึ่งพอมาผสมกันจึงถือเป็นมงคลนาม หมายถึง คู่ที่มีความสมบูรณ์แบบทุกอย่าง กระทั่งกลายเป็นคู่สร้างคู่สมกัน

ส่วนรูปแบบรายการไม่ได้ซับซ้อนอะไร โดยจะนำคู่สามี-ภรรยา 3 – 5 คู่ มานั่งสนทนาร่วมกัน จากนั้นก็นำตัวสามีไปเก็บตัวนอกห้องส่ง แล้วดำรงก็จะตั้งคำถามเรื่องในครอบครัวกับภรรยา พอตอบเสร็จจึงเรียกตัวสามีเข้ามาถามด้วยคำถามเดียวกัน ตอบถูกได้คะแนน จากนั้นก็จะสลับให้ฝ่ายภรรยาไปเก็บตัว แล้วสามีเป็นคนตอบคำถามบ้าง คู่ไหนได้คะแนนมากที่สุด จะได้รับของรางวัลไป

“สมัยก่อน ใครอยากมาออกรายการ ให้เขียนจดหมายมาเล่า เล่าตอนที่เริ่มรักกัน มีปัญหาอุปสรรคอะไร แล้วตอนที่เป็นผัวเมียเป็นอย่างไร ซึ่งบอกตามตรง ผมเป็นคนจับประเด็นเก่ง บางทีแค่ 2 บรรทัด เราจับประเด็นเอามาทำเป็นเรื่องเป็นราวได้ ซึ่งมันก็จะมีเรื่องตลก ๆ แบบคนบ้านนอกจีบกัน ผู้หญิงเดินมาฝ่ายชายไปยกเท้าขวางทาง ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ดูไม่เป็นสุภาพบุรุษเลย หรือไปได้เสียกันโดยไม่แต่งงาน เขาก็เขียนเล่ามา ซึ่งพอเราเชิญมาออกทีวี ก็มาขอให้แก้ข่าวบอกว่าไม่จริง แต่งงานกันแล้วถึงค่อยได้เสียกัน คือเนื้อรายการมันสนุกมาก มีอารมณ์ขันมากมายก่ายกอง”

อีกเสน่ห์ที่สำคัญของรายการคือ ถึงจะเป็นคำถามง่าย ๆ แต่บางครั้งต่างฝ่ายต่างตอบไม่ตรงกัน เช่น ครั้งหนึ่งดำรงเคยถามสามีภรรยาคู่หนึ่งว่ามีลูกกี่คน ปรากฏว่าสามีตอบ 7 คน ส่วนภรรยาตอบ 3 คน เนื่องจากฝ่ายสามีมีภรรยา 2 คน คนดูเลยฮือฮา รูปแบบนี้เองที่ส่งผลให้รายการได้รับความนิยมอย่างสูง แม้ช่วงแรกจะออกอากาศเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น

ดำรง พุฒตาล เล่าตำนาน ‘คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารยอดขายสูงสุดของไทยและการกลับมาแบบวิทยุ

“มันสนุกตรงตอบผิดนี่แหละ ผู้ชมจะรู้สึกว่า คุณเป็นผัวเมียกันได้อย่างไร เช่น เราถามว่าเมื่อคืนภรรยาคุณแต่งชุดนอนสีอะไร เขาตอบผิด เราก็มีลูกเล่นว่า เอ๊ะ! ตกลงคุณไปนอนที่ไหนมา อีกคู่ที่ผมจำได้เป็นคนขอนแก่น ผัวหนุ่มเมียแก่ แล้วเขาเลี้ยงหมาด้วย ผมถามเขาว่า เวลาหุงข้าว หุงวันละกี่กระป๋อง เมียตอบว่า 2 กระป๋อง พอเราเอาสามีมาถามคำถามเดียวกัน สามีบอก 1 กระป๋อง อ้าวนี่ตอบผิดนะ ไม่ตรงกับที่ภรรยาตอบ ปรากฏว่า เมียหันขวับมาเลยบอกว่า กระป๋องเดียวทั้งคนทั้งหมาจะไปกินได้ยังไงพอ”

ผลพวงจากความนิยมของรายการ ส่งผลให้จดหมายจากทางบ้านส่งเข้ามาอย่างล้มหลาม ซึ่งบางเรื่องน่าสนใจ และยังสะท้อนวิถีชีวิตของคนไทยแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีปัญหาร้อยแปดพันเก้าแตกต่างกันไป 

ด้วยความเสียดายและอยากหาทางระบายวัตถุดิบเหล่านี้ไปสู่วงกว้าง เมื่อ พ.ศ. 2522 ดำรงจึงตัดสินใจเปิดรายการวิทยุ คู่สร้างคู่สม ออกอากาศทุกวันจันทร์-เสาร์ วันละครึ่งชั่วโมง

แต่แทนที่จดหมายจะเหลือน้อยลง กลับหลั่งไหลเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เนื่องจากรายการวิทยุนี้กระจายสัญญาณถึง 15 สถานี มีผู้ฟังทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องที่ส่งเข้ามานั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องรัก เรื่องชัง สมหวัง ผิดหวัง รวมถึงเรื่องที่อ่านแล้วไม่เหมาะที่จะเผยแพร่ทั้งทางวิทยุหรือโทรทัศน์

สุดท้ายดำรงจึงตัดสินใจทำหนังสือ โดยเลือกใช้ชื่อที่ทุกคนรู้จักมาเป็นหัว และนั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของนิตยสารที่สร้างปรากฏการณ์ในเมืองไทยเกือบ 4 ทศวรรษ

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ความฝันในวัยเยาว์ที่อยากทำหนังสือของดำรงได้กลายเป็นจริงเสียที

ดำรง พุฒตาล เล่าตำนาน ‘คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารยอดขายสูงสุดของไทยและการกลับมาแบบวิทยุ

“หนังสือ คู่สร้างคู่สม คือตัว ดำรง พุฒตาล เราชอบแบบนี้ เราก็อยากให้คนได้รับรู้สิ่งที่เราชอบ”

แม้แรงผลักดันให้ดำรงเริ่มทำนิตยสารจะมาจากคลังข้อมูลของทางบ้านที่ส่งเข้ามามหาศาล แต่เมื่อคิดจะลงมือทำอะไรสักอย่าง โฆษกคนดังก็ไม่อยากทำอะไรที่ฉาบฉวย เขาใช้เวลานานเป็นปี คิดคอลัมน์ วางโครงร่างหนังสือ กำหนดกลุ่มเป้าหมาย 

“กลุ่มเป้าหมายของเราคือผู้หญิง เพราะผู้หญิงอ่านหนังสือ ซื้อหนังสือ ที่สำคัญผู้หญิงเป็นคนจับจ่ายใช้สอย ซื้อของเข้าบ้าน ซื้อน้ำมัน ซื้อน้ำปลา ซื้ออะไรต่าง ๆ ถ้าหากผู้หญิงอ่านเยอะ สินค้าเหล่านี้แหละที่จะมาโฆษณากับเรา เพราะเขารู้ว่าผู้หญิงอ่าน”

ดำรง พุฒตาล เล่าตำนาน ‘คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารยอดขายสูงสุดของไทยและการกลับมาแบบวิทยุ

เช่นเดียวกับคอลัมน์ซึ่งยังเน้นหนักไปที่เรื่องความรักและครอบครัว อาทิ คอลัมน์หนุ่มจีบสาว-สาวจีบหนุ่ม ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้อ่านเขียนเรื่องเบา ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ในการจีบกัน คอลัมน์คู่สร้างคู่สมตัวอย่าง สัมภาษณ์คู่สามีภรรยาที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักในสังคม และอีกคอลัมน์ที่ดำรงภูมิใจเป็นพิเศษคือ ผัวเมียละเหี่ยใจ ซึ่งเล่าชีวิตคู่สามีภรรยาที่บางครั้งมีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แล้วจึงหาวิธีปรับความเข้าใจเพื่อจะได้อยู่ด้วยกันต่อไป ผสมผสานกับคอลัมน์อื่น เช่น คอลัมน์คู่สมกับราศี คอลัมน์ท่องเที่ยว คอลัมน์แนะนำการทำอาหาร ซึ่งดำรงอาศัยข้อมูลจากรายการแม่บ้านที่รักที่เขาเป็นเจ้าของรายการ รวมถึงคอลัมน์ดำรงตอบจดหมาย ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้อ่านเขียนมาแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่

ดำรง พุฒตาล เล่าตำนาน ‘คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารยอดขายสูงสุดของไทยและการกลับมาแบบวิทยุ

หากแต่มีเนื้อหา 2 ประเภทที่ดำรงวางนโยบายว่าจะไม่นำมาใส่ในหนังสือ คือ คอลัมน์แฟชั่น ด้วยคิดว่าเป็นของหรูหราและฟุ่มเฟือย กับคอลัมน์นิยาย เพราะส่วนตัวเขาเป็นคนไม่อ่านนิยาย บวกกับนิตยสารทุกฉบับในเวลานั้นต่างมีนิยายให้อ่านอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องลงไปแข่งด้วย

ถึงอย่างนั้น ดำรงกลับไม่ค่อยห่วงเรื่องเนื้อหามากนัก ด้วยมั่นใจว่า สิ่งที่นำเสนอนั้นแตกต่างจากนิตยสารฉบับอื่น ที่สำคัญกระแสของรายการที่โด่งดัง น่าจะประคองนิตยสารน้องใหม่ให้เดินไปได้ด้วยดี เรื่องที่หนักใจมากกว่า คือการตลาด เพราะนิตยสารเป็นธุรกิจไม่กี่อย่างที่ของเหลือคืนได้ หากไม่วางแผนให้ดี ก็อาจขาดทุน เพราะฉะนั้น ดำรงและทีมงานจึงต้องตระเวนออกตรวจตลาดตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อจะได้นำกลับมาปรับใช้กับหนังสือของตัวเอง

“ผมใช้เวลาที่มีคนจากต่างจังหวัดเชิญไปปรากฏตัวบ้าง ไปบรรยายพิเศษบ้าง ผมจึงไปหาร้านหนังสือถามข้อมูลการจัดจำหน่าย ปรากฏว่า เมื่อผมไปถึงร้านของเอเยนต์บางคน เขาแสดงการต้อนรับอย่างที่ผมคาดไม่ถึง เช่น ก่อนที่จะให้ข้อมูล เขาเชิญผมไปทานข้าวหลังร้าน และหลังจากนั้นไม่ว่า ผมจะถามอะไร ถามว่าหนังสือพิมพ์ฉบับไหน มียอดขายเท่าไหร่ เขาก็จะให้คำตอบกับผมอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ถือเป็นเกียรติที่ผมได้รับ” ดำรงเคยกล่าวไว้เมื่อ 40 ปีก่อน

เมื่อทุกอย่างพร้อม คู่สร้างคู่สม ฉบับแรกจึงได้ฤกษ์ดีวางแผงในวันขึ้นปีใหม่ของ พ.ศ. 2523

ปกแรกได้นางเอกสาวคนดัง ทาริกา ธิดาทิตย์ สวมชุดนักมวย ขึ้นปกในธีมภรรยาที่ต่อยสามีจนตาเขียว โดยฝ่ายชายนั้นดำรงได้เพื่อนจากโรงเรียนฝึกหัดครูพระนครศรีอยุธยามาเข้าฉาก ด้วยเขาตั้งใจให้ปกแต่ละเล่มของนิตยสารสะท้อนอารมณ์ขันของชีวิตครอบครัว 

หลังวางขายเพียงฉบับเดียว คู่สร้างคู่สม ก็ดังเปรี้ยงปร้าง ยืนยันได้จากยอดพิมพ์ครั้งแรก 30,000 ฉบับนั้นขายเกลี้ยงภายใน 3 – 4 วัน ต้องสั่งพิมพ์เพิ่มเป็นรอบที่ 2 อีก 35,000 ฉบับ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่ดี สุดท้ายดำรงจึงตัดสินใจสั่งพิมพ์ครั้งที่ 3 อีก 35,000 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 100,000 ฉบับ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในแวดวงนิตยสารเมืองไทย

ดำรง พุฒตาล เล่าตำนาน ‘คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารยอดขายสูงสุดของไทยและการกลับมาแบบวิทยุ

“เราดังระเบิดตั้งแต่เล่มแรกเลย เพราะมีเรื่องเด็ดของผู้การการุณเลิกกับภรรยาท่าน คือตอนแรกผมยังไม่รู้ว่าท่านจะเลิกกัน คิดแค่ถ้าทำหนังสือเล่มแรกก็จะนำเรื่องของท่านมาลง ทีนี้บังเอิญก่อนหน้าหนังสือจะออก ท่านเลิกกันเสียก่อน เลยเป็นคู่รักคู่ร้างไป กลายเป็นจุดที่คนฮือฮามาก แล้ว คุณยิ่งยง สะเด็ดยาด แห่งหน้าบันเทิงไทยรัฐ เขาเอาหนังสือผมไปเขียน โอ้โห! วันแรกที่เขาเขียน ปรากฏว่าหมดเกลี้ยงเลย โรงพิมพ์ก็งง ฝ่ายจัดจำหน่ายก็งง เราพิมพ์ซ้ำอยู่ 3 ครั้ง ผมชอบคุยว่าตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทยมา ไม่เคยมีหนังสือฉบับไหนพิมพ์ยอดสูงสุดขนาดนี้มาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องจริง”

แต่แน่นอนไม่ใช่ทุกคนจะมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์บางฉบับซึ่งเขียนวิจารณ์ว่า ความดังของ คู่สร้างคู่สม นั้นเป็นเพียงแค่ ‘ไฟไหม้ฟาง’ หากหมดกระแสคนคงเลิกซื้อ แต่ดำรงพิสูจน์ให้เห็นว่า ไฟนี้ยังคงไหม้ต่อเนื่องเป็นสิบ ๆ ปี

เหตุผลเป็นเพราะบรรณาธิการผู้นี้ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพเป็นอันดับ 1 ตั้งแต่การคัดสรรต้นฉบับ สรรหานักเขียน รวมถึงช่วยวางโครงเรื่องให้น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านมากที่สุด

อย่างเช่นหลังจากวางแผงไปสักระยะ ดำรงอยากขยายผู้อ่านไปยังกลุ่มผู้ชายมากขึ้น เขาจึงอยากให้หนังสือมีเรื่องราวเกี่ยวกับป่าดงพงไพร จึงโทรศัพท์ถามเพื่อนว่า มีใครพอเขียนเรื่องเหล่านี้ได้บ้าง เพื่อนแนะนำชื่อของ ชาตรี อนุเธียร ครูที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ดำรงจึงไม่รอช้าขับรถไปขอร้องชาตรีให้มาช่วยเขียนให้ ตามตื๊ออยู่พักใหญ่ กระทั่งเจ้าของหนังสือโรงเรียนกลางป่าจึงยินยอม และได้เรื่องเที่ยวป่าเมืองกาญจน์มาเผยแพร่ในนิตยสาร

อีกเรื่องหนึ่งที่ คู่สร้างคู่สม บุกเบิกคือ การท่องเที่ยวต่างประเทศ เนื่องจากดำรงสนใจเรื่องเมืองนอกเมืองนามายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอียิปต์ ซึ่งเขาศึกษาจนกลายเป็นเซียน หรือการเที่ยวป่าแอฟริกา เขาก็เป็นคนแรก ๆ ที่พาคนไทยไปรู้จักกับประเทศเคนยาหรือนามีเบีย

ดำรง พุฒตาล เล่าตำนาน ‘คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารยอดขายสูงสุดของไทยและการกลับมาแบบวิทยุ

ต่อมาดำรงยังตั้งบริษัทนำเที่ยวชื่อ ออสก้าทัวร์ แอนด์ ทราเวิล โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาข้อมูลจากต่างแดนมานำเสนอให้ผู้อ่านทุกคน รวมทั้งฝึกไกด์นำเที่ยวให้เขียนหนังสือบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเองอีกต่างหาก

“ประเทศแรกในทวีปแอฟริกาที่ผมไปคือ เคนยา เพราะสมัยก่อนดูหนังทาร์ซานเยอะ ชอบชีวิตในป่า เราก็ได้ไปเที่ยว ไปนอนในป่า แล้วเริ่มสงสัยชีวิตของสัตว์ เช่น สิงโต เวลาฤดูผสมพันธุ์ วันหนึ่งมัน Make Love ได้ถึง 80 ครั้ง เราจึงไปหาหนังสือมาอ่าน มีหลักฐานในหนังสือ แล้วเราจึงเอาเรื่องเหล่านี้มาคุยในรถ คุยกับนักเขียนว่า ประเด็นนี้น่าสนใจ จากนั้นเราก็ต่อยอด สิงโตอายุเฉลี่ยเท่าไร่ นิสัยตัวผู้เป็นอย่างไร ตัวเมียเป็นอย่างไร พอนักเขียนเขียนเสร็จ ก็เอาให้ผมอ่านก่อน

ดำรง พุฒตาล เล่าตำนาน ‘คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารยอดขายสูงสุดของไทยและการกลับมาแบบวิทยุ

“เรื่องฟาโรห์ มัมมี่ก็เหมือนกัน ผมศึกษาจนพรรคพวกเรียกว่าอียิปต์วิทยา เพราะฉะนั้น เราจึงไปอียิปต์บ่อยครั้ง แล้วเวลาเดินทาง เราจะเอานักเขียนกับนักแปลไป อย่างคนแปลเก่ง เราก็ซื้อหนังสือให้เขาอ่าน นี่เรื่องพีระมิด นี่เรื่องฟาโรห์นะ จากนั้นเขาก็แปลแล้วเอาข้อมูลมาให้นักเขียน ซึ่งนักเขียนจะมีอารมณ์ ใส่บรรยากาศลงไป แต่ข้อเท็จจริงเราได้มาจากหนังสือ ไม่ใช่จินตนาการขึ้นมาเอง 

“บางทีเราก็ไปฟังที่เขาเล่า อย่างคนหนึ่งที่ดังที่สุดชื่อ Dr.Zahi Hawass หากไปดู National Geographic สมัยก่อน เขาจะเป็นคนร่างใหญ่ ๆ ใส่หมวกปีกแบบอเมริกัน ผมชอบเขามาก เวลามีผู้นำประเทศหรือบุคคลสำคัญไปเยือนอียิปต์ เขาจะเป็นคนอธิบาย ทางสถานทูตไทยไปติดต่อเขาเกี่ยวกับเรื่องอะไรสักอย่าง ผมจึงขอทูตว่า อยากขอสัมภาษณ์เขา ซึ่งปกติเขาจะค่อนข้างมีอีโก้มาก และพอถึงวันสัมภาษณ์ ผมก็เตรียมหนังสือไปเล่มหนึ่งชื่อ Curse of the Pharaohs หรือ คำสาปฟาโรห์ ไปด้วย ปรากฏว่าเขาตื่นเต้นมากเลยที่คนไทยแบบเราอ่านหนังสือเขา เลยให้ความร่วมมือเต็มที่ คือเวลาผมไปเมืองนอก ผมจะอยู่แต่ร้านหนังสือ ดูแต่หนังสือ อย่างเวลาอยู่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เราจะรู้แหล่งว่าตรงนี้หนังสือถูก หนังสือมีคุณภาพ ซื้อทีหนึ่งเป็นหมื่น ๆ บาทเลย”

อีกดินแดนหนึ่งที่ คู่สร้างคู่สม เป็นผู้เปิดตลาดคือ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ความจริงแล้ว ดำรงไม่ได้ตั้งใจจะไปนครดูไบเลย แต่เผอิญเจ้าหน้าที่ของสายการบินเอมิเรตส์ที่คุ้นเคยกันมานานมาชักชวนอยู่หลายครั้ง จนสุดท้ายดำรงยอมใจอ่อนเดินทางไปเยือนดูไบ แล้วนำข้อมูลกลับมาเสนอใน คู่สร้างคู่สม จนกลายเป็นกระแสโด่งดังเรื่อยมาถึงปัจจุบัน 

ดำรง พุฒตาล เล่าตำนาน ‘คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารยอดขายสูงสุดของไทยและการกลับมาแบบวิทยุ

“คนที่เชิญผม เขาเคยอยู่สายการบินฟินแอร์ ผมไปช่วยจนเขาเชิญเราไปฟินแลนด์ทุกปี พอเขาย้ายมาสายการบินเอมิเรตส์ก็เชิญผมอีก ตอนนั้นเป็นช่วงหลังสงครามคูเวตพอดี ผมบอกว่าไม่ไปหรอก ที่นี่มีอะไรเหรอ ประเทศแบบนี้มีแต่อูฐกับทะเลทรายเท่านั้น พอหลัง ๆ เขาเชิญหนักเข้า ผมเลยบอกว่าขอผู้ติดตามไปอีก 2 คน ผมจะได้สบายไม่ต้องเขียนเอง

“พอเราไปถึง ด้วยความที่เราชอบวิเคราะห์ เลยเห็นความแตกต่าง สมัยนั้นคนไทยยังไงก็ต้องไปฮ่องกง จะไปเมืองนอกครั้งแรกต้องไปฮ่องกง แต่บางครั้งมีปัญหาจ่ายเงินซื้อของไปแล้ว แต่กลับได้ของอีกอย่าง แต่ดูไบตรงกันข้าม เขาเป็นดินแดนมุสลิมที่ซื่อสัตย์ คุณลืมกล้องไว้ที่ร้าน ตอนเย็นไปเอาก็ยังอยู่ แล้วของก็ราคาถูก ตอนนั้นยังไม่มีภาษี แม้กระทั่งเครื่องสำอางที่ทำในฝรั่งเศส แอร์สายการบินแอร์ฟรานซ์ยังมาซื้อที่แอร์พอร์ตดูไบเลย เราจับประเด็นนี้มาโปรโมต จากนั้นคนก็เฮละโลสาระพาไป”

นอกจากเรื่องท่องเที่ยว คู่สร้างคู่สม ยังได้ผู้เชี่ยวชาญฝีมือดีมาช่วยเขียนอีกมากมาย อย่างเช่น พล.อ.นพ.วทัญญู ปรัชญานนท์ ซึ่งได้อ่านจดหมายที่มีคนเขียนเข้ามาถามดำรงว่า หากคืนหนึ่งมีเพศสัมพันธ์บ่อย ๆ จะทำให้มีลูกเยอะใช่ไหม สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีคนไทยอีกไม่น้อยที่ขาดความรู้เรื่องเพศศึกษา จึงขอมาช่วยดูแลเนื้อหาเรื่องสุขภาพและเพศศึกษา โดยเนื้อหาจะไม่ใช่การนำเสนอเรื่องเพศแบบโจ๋งครึ่ม แต่เป็นการแนะนำให้ความรู้แก่พ่อแม่ รวมถึงเด็กและเยาวชน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดูแลตัวเองต่อไป

เช่นเดียวกับคอลัมน์พาคู่กินข้าว ซึ่งเขียนโดย ‘ฝาชีทอง’ หรือ สันติ อิ่มใจจิตต์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของดำรงตั้งแต่อยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ได้รับความน่าเชื่อถือสูงมาก เนื่องจากเจ้าของหนังสือมีกติกาชัดเจนว่า ห้ามรับเงินเด็ดขาด ให้เขียนตามจริงเท่านั้น เพราะฉะนั้นคนที่ตามรอยไปชิม จึงรับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน

หากแต่คอลัมน์ที่ครองใจผู้ชมมากที่สุด ต้องยกให้ คู่สมกับราศี คอลัมน์ดูดวง ซึ่งเขียนโดย ‘อุตตราษาฒ’ หรือ รศ.ดร.อัมพร สุขเกษม

“อุตตราษาฒเป็นเพื่อนสนิทเรียนด้วยกันมาที่บ้านสมเด็จ ผมไปชวนมา เพราะเขาไม่ได้นั่งเทียนดู เขาเรียนมากับพระที่อีสาน แล้วเขาเขียนดี ใช้ถ้อยคำดี ชาวบ้านอ่านแล้วโดนใจ ถือเป็นคอลัมน์เดียวที่ผมไม่ต้องตรวจ เพราะไว้ใจเขาเรื่องภาษา และมั่นใจว่าเขาจะไม่เขียนอะไรที่เอาประโยชน์ใส่ตัว อีกอย่างคือผมเป็นคนไม่เชื่อเรื่องดวงเลย” 

ดำรง พุฒตาล เล่าตำนาน ‘คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารยอดขายสูงสุดของไทยและการกลับมาแบบวิทยุ

ด้วยความหลากหลาย เสมือนการจับโลกทั้งใบมาย่ออยู่ในนิตยสารความหนาเพียงไม่กี่ร้อยหน้า บวกกับความพิถีพิถันของดำรงที่ทุ่มเทให้ผู้อ่านอย่างเต็มที่ ชนิดที่แทบไม่มีคอลัมน์ใดที่ไม่ผ่านตาเขาเลย ทำให้ผู้อ่านได้รับสารประโยชน์ และความสนุกสนาน ในราคาที่ย่อมเยามาก

“ผมมีส่วนร่วมทั้งหมด ถึงขั้นคนสนิทที่ไปอียิปต์ด้วยกันมาเขียนเล่าว่า คุณดำรงอะไรก็หนังสือ คู่สร้างคู่สม เหมือนแต่งงานกับ คู่สร้างคู่สม เมียผมอ่านแล้วร้องไห้เลย เพราะเป็นแบบนั้นจริง ๆ คือใจเรามุ่งแต่หนังสืออยู่อย่างเดียว เจออะไรก็นึกว่า จะทำเป็นคอลัมน์อะไรได้บ้าง”

ไม่เพียงความโดดเด่นเรื่องเนื้อหาเท่านั้น การสร้างภาพจำให้ผู้อ่านถือเป็นสิ่งที่ดำรงให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะภาพปก ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นเรื่องอารมณ์ขันในครอบครัว แต่พอนานวันเข้าก็เริ่มหานักแสดงมาขึ้นปกยากขึ้น ดำรงจึงเปลี่ยนทฤษฎีใหม่มาเป็นให้พระเอกนางเอกเอาหัวชนกันแล้วยิ้มให้กล้อง เพราะเขาเชื่อว่า การยิ้มให้กล้องคือการยิ้มให้ผู้อ่านนั่นเอง

โดยกระบวนการถ่ายภาพนั้นไม่ซับซ้อนเลย เพราะช่างภาพอย่าง เอสโส่ย-เสรี ตั้งพรเจริญสุข เป็นช่างภาพประจำกองถ่ายอยู่แล้ว เวลามีละครเปิดกล้องใหม่ เขาจะติดต่อมายังดำรงว่าสนใจไหม จากนั้นดำรงก็จะหันไปปรึกษากับกองบรรณาธิการ เนื่องจากเขาเป็นคนไม่ดูละคร ถ้าทุกคนเห็นควรจึงให้ถ่ายมา โดยปกแต่ละปกจะถูกตีพิมพ์หลังจากละครฉายไปแล้วสัก 1 – 2 สัปดาห์

“เราได้ดาราละครที่ดัง ๆ ตลอด เพราะดาราก็ชอบ ถึงไม่ได้สตางค์ก็ตาม เจ้าของละครก็ชอบ แถมการถ่ายก็ไม่ยุ่งยาก พอเขาอัดเทปละครเสร็จตอนเย็นก็นัดมาถ่ายกัน แถวกองถ่ายนั่นแหละ โดยเราเน้นให้หน้าทั้งสองคนเอาหัวติดกัน เพื่อจะได้เต็มปก แล้วเราก็เขียนเชียร์ละครเขานิดหน่อย ซึ่งเล่มที่ขายดีสุดคือ ปกที่ คุณธงไชย แมคอินไตย์ ถ่ายกับ คุณกวาง กมลชนก เพราะละครเรื่อง คู่กรรม กำลังออกอากาศพอดี”

แม้ใครหลายคนจะมองว่า ปกของนิตยสารนั้นเชยหรือล้าสมัย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือเอกลักษณ์ที่พอทุกคนเห็นบนแผงแล้วก็พร้อมจะหยิบโดยทันที และทั้งหมดคือส่วนผสมสำคัญทำให้นิตยสารฉบับนี้เป็นที่รอคอยและอยู่ในใจของผู้อ่านมาอย่างยาวนาน

ดำรง พุฒตาล เล่าเรื่องนิตยสาร ‘คู่สร้างคู่สม’ แชมป์ตลอดกาลของนิตยสารไทย และกลับมาของ ‘คู่สร้างคู่สม on Radio’

คงไม่ผิด หากจะบอกว่า คู่สร้างคู่สม คือนิตยสารที่ร้านเสริมสวยทั่วฟ้าเมืองไทยต้องมีติดร้านเสมอ

เจ้าของร้านบางรายเคยเล่าให้ดำรงฟังว่า เวลาลูกค้าหลายคนมาถึงร้าน คำถามแรกที่มักได้ยินเป็นประจำคือ “คู่สร้างคู่สม เล่มใหม่มาหรือยัง” หากยังไม่มี ขอกลับบ้านก่อน แล้ววันหลังค่อยมาสระผมใหม่

เพราะนอกจากเนื้อหาที่ดำรงคัดสรรมาให้ผู้อ่านได้เสพแล้ว อีกเสน่ห์ที่มัดใจผู้คนมาตั้งแต่ต้น คือ การเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นคอลัมน์ดำรงตอบจดหมาย หรือเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริง ซึ่งหากใครได้ลงเรื่องลงรูปตัวเองในหนังสือก็จะกลายเป็นกระแสฮือฮาในเครือญาติ เพื่อนฝูง หรือชุมชนเลยทีเดียว

โดยแต่ละเดือนจะมีจดหมายส่งเข้ามาที่กองบรรณาธิการเป็นกระสอบ ๆ ซึ่งหากเป็นข้อความที่เขียนมาลงคอลัมน์ดำรงตอบจดหมาย ดำรงมักเลือกตอบฉบับที่เขียนมากวน ๆ หน่อย หรือฉบับที่เขียนมาตำหนิติเตียน เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกว่ามีสีสันมากยิ่งขึ้น เช่น ก. รู้จักกับ ข. แล้วมี ค. มาจีบ อยากถามว่าจะเลือกอย่างไรดี ซึ่งดำรงก็ตอบกลับด้วยลีลาสุดกวนไม่แพ้กันว่า “คุณเขียนมาแค่ฉบับเดียวไม่กี่บรรทัด แล้วจะให้ผมเลือกได้อย่างไร” เพียงแค่นี้ก็เรียกรอยยิ้มจากผู้อ่านได้แล้ว

ดำรง พุฒตาล เล่าเรื่องนิตยสาร ‘คู่สร้างคู่สม’ แชมป์ตลอดกาลของนิตยสารไทย และกลับมาของ ‘คู่สร้างคู่สม on Radio’

บางทีจดหมายนั้นมาไกลจากต่างประเทศ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตในต่างแดน เช่นชายหนุ่มที่ไปทำงานไปรษณีย์อยู่ที่เกาะกรีนแลนด์ หรือคุณหมออาสาที่ไปใช้ชีวิตในแม่น้ำแถว ๆ เวเนซูเอลา ซึ่งกลายเป็นกำไรของผู้อ่านที่ได้รับทราบเรื่องราว ในแง่มุมที่น้อยคนนักจะเคยได้สัมผัส

 “จดหมายที่เขาส่งมาเราต้องอ่าน เพราะในนั้นคือสมบัติอันล้ำค่าเลย เขียนมายึก ๆ ยือ ๆ แต่ว่าให้ความคิด ให้แนวคิดอะไรกับเรา เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่านักเขียนมาจากไหน จากทั่วโลกครับ คือคนไทยที่อยู่ทั่วโลก สมัยนั้นเขาคิดถึงบ้าน แต่ไม่มีอะไรอ่าน จะมีก็แต่ คู่สร้างคู่สม อ่าน ครั้งหนึ่งเราเคยเชิญชวนผู้อ่านให้ส่งรูปเข้ามา ปรากฏว่าส่งมาเต็มเลย คนไทยที่ไปทำงานอยู่แถวลุ่มน้ำแอมะซอนก็ยังมี บางทีเขาเขียนเล่า เราจึงได้หลาย ๆ เรื่องต่างประเทศที่เราไม่รู้ บางคนเขียนมาอ่านไม่ค่อยจะออก เราก็เอามาแก้ไข เพิ่มเติม ปรับปรุงให้ แล้วเราให้ค่าเรื่องเขาด้วยนะ เราส่งค่าเรื่องให้แม่เขา อย่างรายหนึ่งคุณแม่อยู่ขอนแก่น แล้วเขาเขียนมาขอบคุณบอกว่า แม่เอาไปทำบุญหมดเลย”

ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า คู่สร้างคู่สม เดินทางไปทั่วโลกได้อย่างไร 

ดำรงชี้แจงว่า ตอนแรกไม่ทราบสาเหตุเหมือนกัน เพราะปล่อยให้หน้าที่การจัดจำหน่ายเป็นของโรงพิมพ์กรุงเทพ ซึ่งตีพิมพ์มาตั้งแต่ฉบับแรก จนกระทั่งภายหลังเมื่อดำรงได้รับเชิญเป็นประธานเปิดร้านแห่งหนึ่ง แล้วมีคนไทยที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากชิคาโก สหรัฐอเมริกา มาพูดคุยด้วย

“เขาบอกว่า คุณดำรงไม่ต้องห่วงหรอก เช้านี้เมืองไทยมีอ่าน เดี๋ยวเย็น ๆ บ่าย ๆ ที่ชิคาโกก็มีอ่านแล้ว ผมสงสัยว่าทำไมถึงไปเร็วจัง เขาก็บอกว่า มันไปกับผักครับ เพราะผักต้องส่งไปกับเครื่องบิน ไปถึงให้เร็ว ไม่เช่นนั้นมันจะบูดจะเน่า คู่สร้างคู่สม ก็เหมือนกัน”

ความกว้างขวางของนิตยสารฉบับนี้เอง ทำให้นิตยสารฉบับนี้กลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะของสื่อมวลชนที่เชื่อมโยงคนไทยทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน

อย่างบ่อยครั้งที่ทูตไทยในต่างประเทศต้องการส่งข่าวสารไปยังผู้คนภายในประเทศ ก็มักใช้ คู่สร้างคู่สม เป็นสื่อกลาง อาทิ กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำญี่ปุ่น ยังเคยมาขอเขียนคอลัมน์ เนื่องจากคนไทยนิยมไปญี่ปุ่น แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ จนสร้างปัญหาและถูกดำเนินคดี ซึ่งดำรงยินดีเปิดพื้นที่ให้เต็มที่ หากแต่ทูตกษิตเขียนไปได้เพียงตอนเดียวก็ต้องโยกย้ายไปประจำที่สหรัฐอเมริกาจึงไม่ได้เขียนต่อ

ดำรง พุฒตาล เล่าเรื่องนิตยสาร ‘คู่สร้างคู่สม’ แชมป์ตลอดกาลของนิตยสารไทย และกลับมาของ ‘คู่สร้างคู่สม on Radio’

ความคุ้นเคยนี้ยังทำให้ดำรงได้ข้อมูลใหม่ ๆ ที่น่าสนใจมานำเสนอในวงกว้าง หนึ่งในนั้นคือ เรื่องราวของ ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรไทยที่เดินทางไปแอฟริกาเพื่อผลิตยาให้ผู้ด้อยโอกาส โดย คู่สร้างคู่สม เป็นสื่อมวลชนรายแรกที่นำเสนอ ครั้งนั้นดำรงได้ตั้งสมญาให้เธอเป็น ‘เภสัชกรยิปซี’ ซึ่งยังเป็นสมญาที่ติดตัวอาจารย์กฤษณามาจนถึงทุกวันนี้

“ผมสนิทกับทูตแทบทุกคน นอนทำเนียบทูตมาแล้วหลายแห่ง แล้วทูตก็พาเที่ยวให้ความรู้ต่าง ๆ กับเรา เราจึงมีข้อมูลที่ละเอียด ๆ ที่คนอื่นไม่รู้ อย่าง ดร.กฤษณา ผมรู้จักท่านเพราะเอกอัครทูตไทยประจำอียิปต์ในขณะนั้น คือ คุณจริย์วัฒน์ สันตะบุตร บอกว่ามาสัมภาษณ์คนนี้สิ แล้วท่านก็เล่าประวัติให้ฟังว่า อาจารย์ท่านนี้ไปทุลักทุเลอยู่แถวแอฟริกา โดนจี้โดนปล้นจนไม่เหลือตังค์แล้ว ผมฟังแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจดี เลยติดต่อขอสัมภาษณ์ท่าน พอ คู่สร้างคู่สม ลง รุ่งขึ้นทีวีรุมขอสัมภาษณ์กันเต็มไปหมด”

ทั้งหมดนี้เองทำให้ คู่สร้างคู่สม กลายเป็นนิตยสารที่มียอดพิมพ์สูงสุดของเมืองไทย มีอยู่ช่วงหนึ่งเคยพิมพ์มากถึง 400,000 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้ 40,000 กว่าเล่มถูกกระจายขายในประเทศ และต่อให้ภายหลังจะมีการร่นระยะเวลาวางแผนให้ถี่ขึ้น จากรายเดือน เป็นรายปักษ์ รายทศ และรายสัปดาห์ ก่อนที่จะกลับมาเป็นราย 10 วันอีกครั้ง ก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมลดลงเลยแม้แต่น้อย

ว่ากันว่า ทุกครั้งที่ดำรงเดินทางไปเยี่ยมเยียนแผงหนังสือที่ไหนก็จะมีคนเข้ารุมล้อมขอถ่ายรูป เอเยนต์หนังสือต่างเรียกร้องขอจำนวนหนังสือเพิ่ม เนื่องจากที่ได้รับจัดสรรมานั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า แม้แต่เวลาที่เขาเดินทางไปต่างประเทศ ก็มีแฟนหนังสือมารอรับเต็มไปหมด บางคนเดินเข้ามากอด ร้องห่มร้องไห้ด้วยความคิดถึงบ้าน บางคนเอาของมาฝาก ทั้งไวน์ ช็อกโกแลต ขนม จนสุดท้ายดำรงต้องประกาศผ่านนิตยสารว่า “เจอกันก็ดีแล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมาฝาก”

การยืนหนึ่งในฐานะแชมป์มาต่อเนื่องเกือบ 40 ปี ส่งผลให้เจ้าของสินค้าทั้งรายเล็กรายใหญ่ต่างหลั่งไหลขอเข้ามาลงโฆษณา ถึงขั้นที่ว่าไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายขายโฆษณาเลย และทำให้ยืนระยะเป็นนิตยสารที่คนทุกระดับจับต้องได้เรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้เสียงตอบรับที่ดีเรื่องยอดขาย แต่สิ่งที่ท้าทายทีมงานมาตลอด คือภาพลักษณ์ของนิตยสาร ซึ่งมักถูกจัดเป็นหนังสือเกรดรอง เป็นนิตยสารระดับชาวบ้าน ผู้อ่านที่มีฐานะบางคนต้องแอบอ่าน วัยรุ่นไม่ยอมซื้อ เพราะชื่อหนังสือดูเชย ถือแล้วไม่เท่ เช่นเดียวกับหลายคนที่ไม่เคยอ่านกลับตีความเอาเองว่า คู่สร้างคู่สม มีแต่เนื้อหาเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ แม้จะน่าน้อยใจ แต่ดำรงก็เลือกจะมองข้ามไป

“ผมเผชิญมาเยอะ จนไม่ได้รู้สึกโกรธขึ้งเขาเลย แต่รู้สึกสงสารมากกว่า อย่างเช่น ครูเขียนมาเล่าว่า เขาตัดบทความที่มีประโยชน์ไปติดบอร์ดของโรงเรียน และพอผู้อำนวยการรู้ว่าจาก คู่สร้างคู่สม ก็ให้ดึงออกทันที ผมก็บอกว่า โอ้ คนอย่างนี้ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้ยังไง คือไปตัดสินหนังสือจากปก ฝรั่งเขามีอยู่คำหนึ่งว่า ไม่ให้ไปตัดสินคุณภาพของหนังสือจากปก”

สำหรับดำรงแล้วเขาเชื่อเสมอว่า คุณค่าที่แท้จริงของหนังสือก็คือ สาระความรู้และความบันเทิง ตลอดจนช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้อ่าน ซึ่ง คู่สร้างคู่สม ก็ได้พิสูจน์ด้วยการทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่เรื่อยมา ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย

ดำรง พุฒตาล เล่าเรื่องนิตยสาร ‘คู่สร้างคู่สม’ แชมป์ตลอดกาลของนิตยสารไทย และกลับมาของ ‘คู่สร้างคู่สม on Radio’

นานมาแล้วดำรงเคยให้สัมภาษณ์ว่า “คู่สร้างคู่สม คืองานสุดท้ายที่ผมคงทำไปจนตลอดชีวิตนี้”

เพราะแม้ที่ผ่านมาจะมีภารกิจมากมาย ทั้งงานพิธีกร งานการเมือง หรืองานด้านสังคม แต่เขาพยายามจัดเวลาที่เหลือเพื่อทุ่มเทให้นิตยสารอันเป็นที่รัก

ดำรง พุฒตาล เล่าเรื่องนิตยสาร ‘คู่สร้างคู่สม’ แชมป์ตลอดกาลของนิตยสารไทย และกลับมาของ ‘คู่สร้างคู่สม on Radio’

หากแต่สิ่งที่ไม่คาดคิดคือ ยุคสมัยของสื่อสิ่งพิมพ์ถูกท้าทายด้วยการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย 

ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่าง ๆ หรือแม้แต่คอลัมน์ยอดนิยม อย่าง คู่สมกับราศี ยังถูกคัดลอกไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์ เช่นเดียวกับนิตยสารทั้งเก่าและใหม่ต่างพากันล้มหายตายจากทีละฉบับ แน่นอนว่าแม้จะยังขายดีเป็นอันดับ 1 แต่ก็ไม่มีทางหลีกหนีผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวได้

“เราพยายามหาของใหม่อยู่ตลอด แต่เราก็ใหม่ไม่ทันโลก เราเริ่มเห็นสัญญาณบางอย่าง เช่น หนังสือชักเหลือคืนมากขึ้น จดหมายจากผู้อ่านน้อยลง ที่สำคัญคือโฆษณาน้อยลง เราจึงเริ่มวิเคราะห์ว่า ทุกวันนี้คนเขาอ่านจากมือถือกันหมดแล้ว มันรวดเร็วทันใจกว่า ลองคิดดู คนอยู่ต่างประเทศเขียนถามปัญหามา 2 เดือน เรายังไม่ได้ตอบเลย อีกอย่างคือองคาพยพต่าง ๆ มันเริ่มกลายพันธุ์ อย่างแผงหนังสือทั่วประเทศจากเดิมมี 70,000 – 80,000 แผง ตอนนี้เริ่มหายไป เปลี่ยนไปขายลอตเตอรี่ ขายส้มตำแทน” 

ดำรง พุฒตาล เล่าเรื่องนิตยสาร ‘คู่สร้างคู่สม’ แชมป์ตลอดกาลของนิตยสารไทย และกลับมาของ ‘คู่สร้างคู่สม on Radio’

ในที่สุดวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ดำรงจึงประกาศต่อสาธารณชนว่า คู่สร้างคู่สม ปีที่ 38 ฉบับที่ 1005 ทศ 3 ประจำวันที่ 20 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 จะเป็นฉบับสุดท้ายของนิตยสารฉบับนี้

แม้จะมีผู้ประเมินว่า คู่สร้างคู่สม สามารถหยัดยืนบนแผงไม่ต่ำกว่า 3 – 4 ปีได้สบาย ๆ แต่บรรณาธิการตัวจริงได้ตกผลึกแล้วว่า ยอมสละแชมป์ในขณะที่ยังเป็นแชมป์คือทางออกที่ดีที่สุด

หากแต่สำหรับแฟนหนังสือที่ติดตามเหนียวแน่นยังรู้สึกเสียดาย เพราะ คู่สร้างคู่สม เปรียบเสมือนเพื่อนที่ผูกพันกันมายาวนาน

“ตอนนี้ยังมีคนเรียกร้อง คนพูดถึง ล่าสุดผมไปกินข้าวเจออาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนวชิราวุธ เขาบอกว่าไม่เคยเจอตัวเลย เสียใจมากที่หนังสือเลิก หรือบางคนน่าเห็นใจมาก เพราะในชีวิตแทบไม่มีเพื่อนเลย จึงใช้เวลาอ่านหนังสือ เข้าห้องสมุด คนนี้ผมเจอตอนออกไปวิ่งที่สวนสมเด็จฯ หน้าบ้านผมที่พระนครศรีอยุธยา เขามาร้องห่มร้องไห้ว่าทำไมจะเลิกถึงไม่บอก แม้แต่ระดับผู้หลักผู้ใหญ่ คนสมัยใหม่ ซึ่งตอนนั้นไม่กล้าเอ่ยปากชม แต่พอมาถึงตอนนี้เจอใครก็ชมทั้งนั้น”

ชีวิตหลังเลิกทำนิตยสาร ดำรงรู้สึกโล่งมากขึ้น เพราะตลอดเกือบ 40 ปี เขาทำงานหามรุ่งหามค่ำมาตลอด แต่บางครั้งที่เจอวัตถุดิบใหม่ ๆ ก็อดนึกถึงนิตยสารที่ปลุกปั้นขึ้นมาไม่ได้ เพราะอยากนำเรื่องราวเหล่านี้ไปเผยแพร่สู่ในวงกว้าง

กระทั่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ดำรงตอบรับคำเชิญจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ให้นำ คู่สร้างคู่สม กลับมาอีกครั้ง ในรูปแบบรายการวิทยุทาง FM 100.5 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 21.00 – 22.00 น.

โดยนอกจากดำรงแล้ว ยังมีทีมงานบางส่วนร่วมด้วย โดยเนื้อหานั้นมีตั้งแต่การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งดำรงย่อยมาให้ทุกคนเข้าใจง่าย เรื่องราวที่น่าสนใจที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ รวมถึงนำบทความดี ๆ ที่เคยนำเสนอผ่านหน้านิตยสารมาเล่าอีกครั้งหนึ่ง

ถึงจะไม่มีนิตยสารในรูปเล่มแบบกระดาษอีกแล้ว แต่อย่างน้อย คู่สร้างคู่สม on Radio ก็ยังเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่ช่วยยืนยันว่าชื่อนี้ไม่จางหายไปไหน โดยยังมีแฟนหนังสือจากทั่วโลกคอยติดตามอยู่เป็นประจำ นับว่าเป็นช่องทางที่ช่วยแก้คิดถึงได้ไม่น้อย

สำหรับชายที่ชื่อ ดำรง พุฒตาล แล้ว คู่สร้างคู่สม คือองค์ประกอบสำคัญของชีวิต เขาได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ได้พบกับผู้คนที่หลากหลาย ได้สัมผัสกับน้ำใจที่ทุกคนมอบให้ นับเป็นความภาคภูมิใจที่จะคงอยู่ในใจไม่เปลี่ยนแปลง และแน่นอน สำหรับวงการนิตยสารเมืองไทย สิ่งที่เกิดขึ้นกับ คู่สร้างคู่สม ถือเป็นปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งอาจจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้อีกแล้วตลอดไป

ดำรง พุฒตาล เล่าเรื่องนิตยสาร ‘คู่สร้างคู่สม’ แชมป์ตลอดกาลของนิตยสารไทย และกลับมาของ ‘คู่สร้างคู่สม on Radio’

ขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติมจาก ทีมงานนิตยสาร คู่สร้างคู่สม

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง
  • บทสัมภาษณ์คุณดำรง พุฒตาล วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2566
  • นิตยสาร วงการ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 เดือนเมษายน พ.ศ. 2525
  • นิตยสาร ดิฉัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 128 วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2525
  • นิตยสาร GM ปีที่ 2 ฉบับที่ 14 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2530
  • นิตยสาร Trendy Man ปีที่ 13 ฉบับที่ 26 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2537
  • นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 992 วันที่ 3 – 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554
  • นิตยสาร คู่สร้างคู่สม ปีที่ 38 ฉบับที่ 1005 ทศ 3 ประจำวันที่ 20 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560
  • นิตยสาร สารคดี ปีที่ 34 ฉบับที่ 397 ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561
  • รายการ เจาะใจ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
  • วิทยานิพนธ์ การนำเสนอลักษณะชีวิตจริงในงานสื่อมวลชน : ศึกษาเฉพาะกรณี “คู่สร้างคู่สม” โดย อุษา สุกใส คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สารนิพนธ์ เนื้อหาและการดำเนินงานของนิตยสารคู่สร้างคู่สม โดย ถนอมทรัพย์ โสมทิพยนุกุล คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ