The Cloud X ไทยประกันชีวิต
เป็นเวลา 31 ปี นับจาก ดร.ซินเธีย หม่อง เปิด ‘แม่ตาวคลินิก’ ขึ้นที่จังหวัดตาก
แม้ใช้ชื่อว่าคลินิก แต่ที่นี่เป็นเสมือนโรงพยาบาลขนาดเล็ก มีการแบ่งแผนกต่างๆ อย่างชัดเจน มีเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ครบครันในระดับหนึ่ง และที่สำคัญ คลินิกแห่งนี้มุ่งรักษาเฉพาะผู้ป่วยด้อยโอกาสในพื้นที่แนวชายแดนไทย-เมียนมา

The Cloud หยิบยกเรื่องราววิถีการใช้ชีวิต ความเข้าใจ และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาบอกเล่าอยู่เสมอ เพราะเราสนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรมรวมถึงอัตลักษณ์ และเชื่อว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีต้องเดินหน้าไปพร้อมกับการอนุรักษ์มรดกทรงคุณค่าที่ตกทอดกันมาของคนทุกกลุ่ม
ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มชาติพันธุ์ในแทบทุกประเทศ ไม่ว่าจะในไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน ต้องอยู่อย่างยากลำบากมานานหลายทศวรรษ เนื่องจากต้องต่อสู้กับข้อจำกัดต่างๆ ในการใช้ชีวิต ทั้งการเข้าถึงที่ดินทำกินของบรรพบุรุษ ไปจนถึงสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการสาธารณของรัฐ โดยเฉพาะบริการทางสาธารณสุข
การคลอดบุตร ท้องร่วง ไข้มาลาเรีย และหลายโรคที่คนเมืองแทบลืมชื่อไปแล้ว สามารถสร้างความเสียหายรุนแรง ความเป็นตายที่อยู่ใกล้กันแค่เอื้อมในความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการแพทย์ของชนชั้นแรงงาน กลุ่มคนชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อย

เราจะพาคุณเดินทางไป ‘แม่ตาวคลินิก’ ในการสนับสนุนของมูลนิธิสุวรรณนิมิต เพื่อพบสุภาพสตรีผู้อุทิศเวลามากกว่าครึ่งชีวิต นำความรู้ความชำนาญในการเยียวยารักษามาช่วยแก้ปัญหาสังคม และได้รับรางวัลยกย่องด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติมากมาย อย่างรางวัลแมกไซไซในสาขา Community Leadership
เธอสร้างสถานพยาบาลและวางโครงสร้างระบบสุขภาพแบบ Health System Strengthening ด้วยการฝึกอบรมชาวบ้านกว่า 2,000 คนให้เป็นเจ้าหน้าที่อนามัยท้องถิ่น เพื่อประจำการในหมู่บ้านที่ซ่อนตัวอยู่ตามพื้นที่ห่างไกลในผืนป่า
รวมถึงสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา มอบอนาคตมีสว่างไสวกว่า ด้วยการสร้างโรงเรียนที่โอบรับเด็กๆ ทุกชาติพันธุ์
และนี่คือเรื่องราวเล็กๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อมยิ่งใหญ่ ผ่านการมอบโอกาสและความหวังในการใช้ชีวิต ณ พื้นที่ของกลุ่มเปราะบางสุดชายขอบ
01
ความทุกข์ยากของคนชายขอบ
ดร.ซินเธีย เกิดในครอบครัวชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เมื่อ พ.ศ. 2502 ช่วงเดียวกับที่ความขัดแย้งระหว่างทหารรัฐบาลพม่าและกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ปะทุขึ้น เธอจึงเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับรับรู้การกดขี่ข่มเหงผู้ยากไร้และผู้ทุกข์ยากของเจ้าหน้าที่รัฐที่สร้างบาดแผลขมขื่น

ตอน ดร.ซินเธีย เรียนชั้นมัธยมปลาย ความวุ่นวายทางการเมืองและการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เริ่มก่อให้เกิดการหยุดชะงักของระบบการศึกษาในพม่า
จากนั้นไม่กี่ปีต่อมา รัฐบาลพม่าเริ่มเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย ทำให้การหยุดชะงักของปีการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ดร.ซินเธีย ที่จบชั้นมัธยมปลายในปีนี้ต้องรอเวลาเกือบปี กว่าจะได้เข้าวิทยาลัยประจำภูมิภาค ที่ซึ่งเธอต้องเรียนอีก 2 ปีจึงจะเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนแพทย์ได้
“ในช่วงที่เรียนแพทย์ ดิฉันและเพื่อนๆ เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวปีละสองครั้ง และทุกครั้งบนรถไฟและเรือที่เราโดยสาร มักมีคนหนุ่มสาวและวัยรุ่นที่ลาออกจากการเรียน ดิฉันมีเพื่อนที่ต้องลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่มัธยมและมหาวิทยาลัย เพราะพวกเขาต้องทำงานหนัก เพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว”
หลังจากจบการโรงเรียนแพทย์ ดร.ซินเธีย เดินทางไปฝึกงานที่โรงพยาบาลมะละแหม่ง เธอเริ่มตระหนักว่าผู้คนยากจนข้นแค้นมากเพียงใด และต้องเสียสละแค่ไหนกว่าจะได้รับบริการด้านสาธารณสุข คนมากมายถึงกับต้องขายบ้าน ทรัพย์สิน ที่ดิน แม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้รับการเยียวยารักษา


“แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขายังต้องซื้ออุปกรณ์บางอย่างของตัวเอง สบู่ ใบมีด แม้แต่ผ้าปิดแผล หากจำเป็นต้องผ่าตัด อุปกรณ์เก่าและพังบ่อยครั้ง บางอย่างเช่นเข็มฉีดยาก็ถูกนำมาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า”
ใน พ.ศ. 2530 เมื่อ ดร.ซินเธีย เริ่มทำงานที่คลินิกในหมู่บ้านที่ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ เธอยิ่งเห็นความลำบากยากเข็ญในการดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอดของคนกลุ่มนี้ พวกเขาถูกบังคับให้ทำงานทหารและเป็นลูกหาบ เด็กๆ ชาติพันธุ์มากมายไม่ได้เรียนหนังสือ วัณโรคแพร่ระบาดไปทั่ว แม้จะมีคลินิกเล็กๆ แต่บุคลากรการแพทย์ก็ไม่เพียงพอ รวมถึงไม่มียาหรือเวชภัณฑ์ที่จะรักษาประชาชนได้
02
แพทย์หญิงพลัดถิ่น
พ.ศ. 2531 ดร.ซินเธีย พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกร่วมกับชาวบ้าน นักเรียนมัธยม และนักศึกษามหาวิทยาลัยที่กลับมายังหมู่บ้าน ในขณะที่การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมาทวีความตึงเครียดมากขึ้น จนรัฐบาลทหารใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมชนในเหตุการณ์ 8888 Uprising ผู้คนมากมายกระจัดกระจายไปทุกทิศทาง

ดร.ซินเธีย และเพื่อนร่วมงานอีก 14 คน ตัดสินใจออกเดินทางด้วยการเดินเท้า เพื่อไปทำหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มภาคภูมิ เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ระหว่างทางพวกเขาผ่านหมู่บ้านห่างไกลที่ผู้คนไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเข้าถึงโรงพยาบาลมาก่อน แม้จะมีอุปกรณ์การแพทย์อยู่อย่างจำกัด แต่พวกเขาก็พยายามรักษาชาวบ้านในท้องถิ่น ที่ทุกข์ทรมานจากโรคและการบาดเจ็บเหล่านั้นอย่างเต็มที่
“ใช้เวลาหลายวันกว่าจะเดินเท้ามาถึงชายแดนไทย-เมียนมา ที่นั่นภายใต้ความสับสนวุ่นวาย ผู้หนีการต่อสู้ และผู้ได้รับผลกระทบนับพันคนรวมตัวกันอยู่ภายใต้ความป่วยไข้ โดยเฉพาะไข้มาลาเรีย โรคทางเดินหายใจ และท้วงร่วง รวมถึงบาดแผลจากกระสุนปืนและระเบิด”
ด้วยจิตวิญญาณความเป็นแพทย์ ดร.ซินเธีย จึงมีปณิธานที่จะสร้างสถานรักษาพยาบาลขึ้น เพื่อเยียวยารักษาผู้คนอย่างดีที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้ และนั่นคือที่มาของก่อตั้งแม่ตาวคลินิก

คำว่าสถานรักษาพยาบาลอาจฟังดูใหญ่โตเกินจริงไปสักหน่อย เพราะแม่ตาวคลินิกในยุคแรกเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2532 เป็นเพียงอาคารไม้ง่อนแง่นบนพื้นดินเปล่าๆ ในเขตชานเมืองแม่สอด อุปกรณ์และเงินสนับสนุนก็น้อยนิด มีเพียงเครื่องตรวจฟังเสียงหัวใจ กรรไกรตัดแผล 2 คู่ เครื่องวัดอุณหภูมิ ข้อมือความดันโลหิต ตำราการแพทย์ 1 ชุด และยาพื้นฐาน 2 – 3 ซอง ด้วยเครื่องมือที่จำกัดเหล่านี้ ความมุ่งมั่นในการดูแลทุกคนจึงถือกำเนิดขึ้น
ดร.ซินเธีย ในวัย 30 ประยุกต์การรักษาด้วยการฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์ล้ำค่าไม่กี่ชิ้นของเธอในหม้อหุงข้าว ขอยาและอาหารจากเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ชาวคาทอลิกที่ทำงานในพื้นที่
03
ภัยคุกคามของแม่และเด็ก
หลายปีผ่านไป ประเภทของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่แม่ตาวคลินิกก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ดร.ซินเธีย และผู้ร่วมก่อตั้งแม่ตาวคลินิกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตลอดหลายสิบปีของการทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาผู้ป่วย
จากจุดเริ่มต้นที่เยียวยาเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงทางการเมือง ผู้ป่วยหลั่งไหลกันเข้ามามากขึ้นๆ ทั้งคนยากไร้ คนชายขอบ กลุ่มคนชาติพันธุ์ และแรงงานอพยพ เมื่อหายดี อดีตผู้ป่วยก็พาภรรยาและครอบครัวมาเข้ารับการรักษา

เด็กทุกคนที่มาที่แม่ตาวคลินิกจะได้รับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคตามกำหนด โรคและภาวะที่เราพบมากในเด็ก คือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน ท้องร่วง และภาวะขาดสารอาหาร
ดร.ซินเธีย อธิบายว่า แต่ละปีพวกเขาได้ช่วยให้เด็กทารกคลอดอย่างปลอดภัยเป็นจำนวนกว่า 2,500 ราย ด้วยทรัพยากรและศักยภาพที่มีจำกัด ในบางเคสที่มีภาวะความเสี่ยงสูง เราจำเป็นต้องส่งต่อมารดาและทารกแรกคลอดไปยังโรงพยาบาลของรัฐ
“เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับโรงพยาบาลรัฐและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทย ในการเฝ้าระวังโรค ส่งเสริมสุขภาพ การส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงการผลักดันด้านนโยบายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ และการคุ้มครองเด็กเคลื่อนย้าย

“งานหลักงานหนึ่งของเรา คืองานอนามัยมารดาและเด็ก เราพบว่าผู้หญิงจำนวนมากคลอดลูกเองโดยไม่มีแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญมาทำคลอดให้ เราจึงเริ่มฝึกอบรมชาวบ้านให้เป็นเจ้าหน้าที่อนามัยท้องถิ่น ที่รู้วิธีการที่ถูกต้องในการทำคลอด และรู้งานด้านการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน
“เรามีการฝึกอบรมให้ความรู้ทางการแพทย์แก่เจ้าหน้าที่อนามัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อมาตรฐานของคลินิกและยกระดับทักษะของเจ้าหน้าที่ และเราจัดให้มีการฝึกอบรมเพิ่มเติมเฉพาะทางให้เจ้าหน้าที่อนามัยที่สำเร็จการอบรมแล้ว ในด้านผดุงครรภ์ การพยาบาล และการบริหารจัดการยา”
แม่ตาวคลินิกกลายเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมที่สำคัญของเจ้าหน้าที่อนามัยในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา นับจากจุดเริ่มต้นใน พ.ศ. 2538 มีชาวบ้านเกือบ 3,000 คนสำเร็จการอบรมจากแม่ตาวคลินิก และกลายเป็นเจ้าหน้าที่อนามัยท้องถิ่น เพื่อประจำการในหมู่บ้านที่ซ่อนตัวอยู่ตามพื้นที่ห่างไกลในผืนป่า
04
การเติบโตของโอกาสที่เท่าเทียม
ดร.ซินเธีย อธิบายต่อว่า นอกจากทำคลอดและให้วัคซีน พวกเขามีอีกหลายโปรเจกต์ที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ เช่น โปรเจกต์คุ้มครองเด็กและป้องกันความรุนแรงทางเพศ เนื่องจากเด็กๆ ชาติพันธุ์ด้อยโอกาส มักเผชิญกับปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบต่างๆ

นอกจากนี้ ในแม่ตาวคลินิกยังมีศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เด็กด้อยโอกาสที่เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 จัดตั้งอยู่ เพื่อให้การศึกษาแก่เด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งศูนย์การเรียนซีดีซีทำการสอนโดยใช้ภาษาไทย เมียนมา และอังกฤษ
“เราจัดหาหอพักให้แก่เด็กพลัดถิ่นที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งและเด็กที่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูเอง เราพยายามส่งเสริมหอพักเหล่านี้ให้มีความมั่นคงปลอดภัยสำหรับเด็กพลัดถิ่นไร้สัญชาติ ที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดและแสวงหาผลประโยชน์ โดยเด็กในหอพักจะได้รับการพัฒนาด้านจิตสังคมด้วย แม่ตาวคลินิกยึดมั่นและปฏิบัติตามนโยบายคุ้มครองเด็กอย่างเคร่งครัด”
05
แพทย์ผู้ผลักดันสิทธิมนุษยชน
ดร.ซินเธีย คาดว่าจะกลับไปเมียนมาภายในไม่กี่เดือนหลังจากเดินทางมาถึงชายแดน
“เราไม่คาดคิดว่าจะอยู่ที่นี่ยี่สิบปี” เธอเล่าระหว่างการสัมภาษณ์หนังสือครบรอบ 20 ปีแม่ตาวคลินิก เมื่อ 10 ปีก่อน เธอหวังว่ารัฐบาลจะกลับสู่การเจจราอย่างสันติกับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยและชนกลุ่มน้อย แต่ความขัดแย้งกลับทวีความรุนแรงขึ้น และฝ่ายเผด็จการทหารก็ยึดครองประเทศอย่างแน่นหนาขึ้น

ปัญหาด้านสาธารณสุขยังคงมีอยู่ทุกพื้นที่ แถมมีมากและซับซ้อนขึ้น พวกเธอจึงตัดสินใจก้มหน้าก้มตาทำงานในคลินิกหลังน้อย เพื่อรักษา เยียวยา มอบการศึกษา ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้เพื่อนมนุษย์ และรักษาชุมชนที่แตกแยก
เกือบ 3 ทศวรรษต่อมา แม่ตาวคลินิกเติบโตขึ้นเป็นศูนย์สุขภาพชุมชนครบวงจร และเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมด้านสุขภาพในระดับภูมิภาค ในพื้นที่ห่างไกลบางแห่งในแนวตะเข็บชายแดน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สำเร็จการอบรมจากแม่ตาวคลินิก ได้กลายเป็นแหล่งรักษาพยาบาลเพียงแหล่งเดียวของผู้คนในพื้นที่

เมื่อปีที่แล้ว แม่ตาวคลินิกทำคลอดทารกมากกว่า 2,000 คน และรักษาผู้ป่วยกว่า 100,000 รายในแต่ละปี เฉลี่ย 300 – 420 คนต่อวัน โปรเจกต์ Health System Strengthening ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพที่จำเป็นในพื้นที่ห่างไกล ทำงานร่วมกับองค์กรสุขภาพชาติพันธุ์ 8 แห่ง รวมถึงให้การฝึกอบรมด้านสุขภาพ เลี้ยงเด็กนักเรียน ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ และครอบครัวกว่า 2,000 คนทุกวัน
06
เน้นป้องกันแทนรักษาในภายหลัง
ความท้าทายในปัจจุบันของแม่ตาวคลินิกไม่ใช่สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 เสียทีเดียว เพราะชายแดนไทย-เมียนมา ยังคงปิดการเชื่อมต่อ สถานการณ์ที่แม่สอด จังหวัดตาก จึงเหมือนจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ แต่งบประมาณที่ใช้สำหรับกระบวนการสาธารณสุขในคลินิกต่างหากที่น่าเป็นห่วง

“เมื่อก่อนเราให้บริการฟรี แต่เนื่องจากเงินทุนสนับสนุนที่เราได้จากรัฐบาลประเทศต่างๆ ค่อยๆ ลดน้อยลง เราจึงจำเป็นต้องเริ่มการใช้ระบบร่วมจ่ายตามความสมัครใจของผู้ป่วยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เฉพาะบริการสาธารณสุขที่ไม่ใช่โรคเจ็บป่วยฉุกเฉิน อย่างการตัดแว่นสายตา”
บางเคสผู้ป่วยอาจสมทบค่ารักษาพยาบาลได้ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่หากไม่มีกำลังจ่ายเพียงพอ ก็อาจลดเงินสมทบลงมาเป็น 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ หรือสมทบเป็นค่ารักษาพยาบาลตามศักยภาพผู้ป่วย บางรายอาจมีกำลังสมทบ 50 บาท ก็ไม่ใช่ปัญหา

“แม้เงินค่ารักษาพยาบาลที่ได้จากระบบร่วมจ่ายตามสมัครใจจะไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายคลินิก แต่เราก็ไม่คิดที่จะเพิ่มสัดส่วนค่ารักษาพยาบาล เพราะไม่อยากให้พวกเขารู้สึกว่าที่นี่ไม่ต้อนรับหากไม่มีเงิน ไม่มีเงินจ่ายก็ไม่เป็นไร อย่างไรเราก็รักษาพยาบาลผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว”
ยุทธศาสตร์หนึ่งของแม่ตาวคลินิกที่จะดำเนินการต่ออย่างแข็งขัน คือการสร้างบุคลากรด้านสาธารณสุข ที่จะเป็นกำลังสำคัญในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งฝั่งประเทศไทยและเมียนมา
“ถ้าเคสผู้ป่วยโรคพื้นฐานที่จะข้ามมาทำการรักษาลดจำนวนลง การใช้จ่ายงบประมาณของแม่ตาวคลินิกก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันโรค ถ้ามีผู้ป่วยมาลาเรียสี่พันราย งบประมาณที่ใช้ย่อมต่างจากการรักษาผู้ป่วยมาลาเรียสี่ร้อยราย ดังนั้นต้องเน้นการป้องกันมากกว่ามารักษาภายหลัง” ดร. ซินเธีย กล่าวทิ้งท้าย
