เชื่อว่านมเมจิเคยผ่านการแช่อยู่ในตู้เย็นของหลายบ้าน และเรามักคุ้นเคยกับรสชาติเครื่องดื่มนมจากแบรนด์นี้ หรือโตกว่านั้นอีกนิดก็เป็นนมที่คนกินคุ้นรสจากการดื่มลาเต้ไม่ว่าร้อนหรือเย็น เพราะร้านกาแฟส่วนใหญ่เลือกใช้ประกอบเป็นเครื่องดื่มเมนูนม 

แต่นอกจาก บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด จะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมพาสเจอร์ไรซ์ ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต และโยเกิร์ตพร้อมดื่มตราเมจิที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ได้มาตรฐานระดับโลก และเราคุ้นรสที่สุดแบรนด์หนึ่งแล้วซีพี-เมจิยังมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจ

หนึ่งในนั้นคือโครงการ CP-Meiji for Barista ภายใต้การนำของ จุ๊บ-ชาลินี พูนลาภมงคล รองผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และความยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ประกอบด้วย CP-Meiji Barista Camp ค่ายที่คัดเลือกบาริสต้าในประเทศจากหลากหลายภูมิภาคมาเรียนรู้ร่วมกัน CP-Meiji Speed Latte Art Championship เวทีการแข่งขันเทลาเต้อาร์ตระดับประเทศ ไปจนถึงการสร้าง Avengers Team เพื่อพัฒนาศักยภาพของบาริสต้าไทยกลุ่มหนึ่งให้เป็นตัวแทนไปแข่งขันในระดับโลก โดยผลงานล่าสุดที่ภาคภูมิใจคือเมื่อ แซนด์-พชร ทับทิมชัย คว้าอันดับที่ 5 ของเวทีการแข่งขันระดับโลกอย่าง World Latte Art Championship 2023 โดยมีซีพี-เมจิเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้

ว่ากันตามตรงก็ชวนให้ข้องใจว่าทำไมแบรนด์เครื่องดื่มนมถึงต้องมาริเริ่มจัดการแข่งขันระดับประเทศที่ต้องลงแรงลงใจมากมาย จริงอยู่ว่าผลิตภัณฑ์นมคือสิ่งที่ต้องขาย แต่มีอีกสารพัดวิธีประชาสัมพันธ์ที่ไม่ต้องเหนื่อยเท่านี้ ทำเอาเราอยากรู้ที่มาที่ไป กระทั่งว่าแบรนด์เห็นโอกาสอะไรจากตรงนี้ และกว่าที่บาริสต้าคนหนึ่งจะคว้าอันดับโลกกลับมา เรื่องราวระหว่างทางเป็นอย่างไร ขอเริ่มต้นบทสนทนาเลยแล้วกัน

เบื้องหลังการสร้างนักแข่งลาเต้อาร์ตระดับโลกของ CP-Meiji บริษัทที่สร้างการเติบโตให้วงการกาแฟ
เบื้องหลังการสร้างนักแข่งลาเต้อาร์ตระดับโลกของ CP-Meiji บริษัทที่สร้างการเติบโตให้วงการกาแฟ


นมเป็นส่วนประกอบของกาแฟ
ผู้ผลิตนมก็เป็นส่วนหนึ่งของวงการกาแฟ

คงไม่มากเกินไปหากจะบอกว่า รองจากกาแฟก็นมนี่แหละที่เป็นวัตถุดิบโดดเด่นประจำร้านกาแฟแบบแยกจากกันไม่ได้ เลยไม่แปลกที่ชาลินีในฐานะผู้ดูแลโครงการ CP-Meiji for Barista ที่มีส่วนสนับสนุนวงการกาแฟจะมองว่าผลิตภัณฑ์นมเป็นส่วนหนึ่งของวงการกาแฟ และตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เธอและทีมพยายามผลักดันวงการกาแฟให้ไปได้ไกลอย่างที่ควรจะเป็น 

“เราถือว่าซีพี-เมจิเป็นส่วนหนึ่งของวงการกาแฟ บริษัทเองก็มองว่าเราควรเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งการเติบโตไปด้วยกันทำได้ในแง่มุมไหนบ้าง นอกจากในแง่ของการค้าที่เราเป็นคนขายผลิตภัณฑ์นม ทำผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีคุณภาพออกไป ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค หาซื้อง่าย แน่นอนว่าจุดนั้นเราต้องทำให้ดี 

“ทีนี้เรามองว่าการที่จะโตไปด้วยกันไม่ใช่แค่การทำสินค้ามาขายอย่างเดียว แต่ด้วยความที่เราดูความยั่งยืนของบริษัท เราเลยหยิบคอนเซปต์ ‘เพิ่มคุณค่าชีวิต’ มาเป็นแกนหลัก เพื่อค้นหาดูว่าเราจะสร้างความยั่งยืนด้วยการช่วยเพิ่มคุณค่าชีวิตให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจได้อย่างไรบ้าง เป็นการมองภาพใหญ่ว่าเราจะอยู่ได้และเติบโตไปด้วยกันได้ยาว ๆ 

“แน่นอนว่าคนที่เราต้องคำนึงถึงคือกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบ อย่างเกษตรกร คู่ค้า ผู้บริโภค ชุมชนรอบโรงงาน พนักงานของเรา อีกกลุ่มที่มีความสำคัญคือกลุ่มลูกค้าในธุรกิจกาแฟ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง วัฒนธรรมการกินกาแฟบ้านเราเติบโตพร้อมกับหลายประเทศทั่วโลก เราไม่ได้ดื่มกาแฟรสขม กินให้ตื่นตัวอย่างแต่ก่อนแล้ว นั่นทำให้คนที่อยู่ในธุรกิจกาแฟจำเป็นต้องเติบโตไปด้วย พูดง่าย ๆ คือเรามองว่าบาริสต้าต้องเก่งขึ้น เลยเป็นที่มาของการทำโครงการ CP-Meiji for Barista โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้เป็นการพัฒนาและยกระดับความรู้ความสามารถของบาริสต้าไทย”

CP-Meiji for Barista

กิจกรรมลำดับที่ 1 ของโครงการ CP-Meiji for Barista เกิดขึ้นในปี 2015 จากการระดมความคิดระหว่างซีพี-เมจิและสมาคมบาริสต้าไทย ก่อนปรากฏตัวครั้งแรกในชื่อ CP-Meiji Barista Camp แคมป์อบรมระยะสั้นที่ไม่มีค่าเข้าร่วม แต่มีผู้สอนเป็นถึงกรรมการและแชมป์ระดับโลก ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากซีพี-เมจิล้วน ๆ 

“เท่าที่เราเข้าใจ วงการกาแฟก่อนหน้านี้ยังไม่มีการถ่ายทอดความรู้เป็นกิจจะลักษณะ หมายความว่าคนในแวดวงกาแฟพัฒนาด้วยตัวเองและเรียนรู้กันเองภายในร้าน ฝึกซ้อมระหว่างเวลางาน ซึ่งค่อนข้างกระจัดกระจายตัว และไม่มีหลักสูตรหรือประกาศนียบัตร เราเลยเริ่มจากการทำแคมป์ขึ้นมา เชิญกูรูระดับโลกมาสอนให้ฟรี วางเป้าหมายไว้ว่า ‘Road to Latte Art Championship’ เพราะเชื่อว่าการที่จะทำให้ใครสักคนอยากพัฒนาตัวเองขึ้นมา จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายไว้ และสร้างแรงบันดาลใจระหว่างทางด้วย แคมป์นี้เลยไม่ใช่การสอนหลักสูตรเบสิกบาริสต้า ไม่ใช่ว่าใครก็มาได้ เราจำเป็นต้องมีเกณฑ์ในการคัดเลือก พิจารณาจากการตอบคำถามว่าทำไมอยากเข้าแคมป์นี้”

เบื้องหลังการสร้างนักแข่งลาเต้อาร์ตระดับโลกของ CP-Meiji บริษัทที่สร้างการเติบโตให้วงการกาแฟ

CP-Meiji Speed Latte Art Championship

2 ปีหลังจากตั้งแคมป์ กิจกรรมลำดับถัดมาเกิดขึ้นในปี 2017 คราวนี้เป็นเวทีการแข่งขันที่ชื่อว่า CP-Meiji Speed Latte Art Championship ด้วยความตั้งใจจะเป็นพื้นที่ให้บาริสต้าได้โชว์ฝีไม้ลายมือ และเป็นตัวกรองในการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันที่มีศักยภาพเหมาะสม เพราะเพียงแค่ผ่านเข้ารอบที่ 2 ของการแข่งขัน คุณก็จะได้โอกาสเข้าแคมป์นี้โดยอัตโนมัติ

“CP-Meiji Speed Latte Art Championship 2017 เกิดจากที่เราได้รับฟีดแบ็กจากบาริสต้าหลายคนว่าพวกเขาไม่มีเวทีแข่งเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งต้องบอกว่าข้อดีของการแข่งขันคือการกระตุ้นให้ฝึกซ้อม เวลาแข่งจะทำให้รู้ว่าตัวเองอยู่ในระดับไหน และต้องพัฒนาเรื่องใด รวมถึงการเจอคู่แข่งที่เก่งกว่าก็เป็นการผลักดันที่ดี เวทีแข่งเป็นโอกาสในการพัฒนาฝีมือ เราฟังแล้วก็รู้สึกว่าถ้าไม่มีใครทำ เราต้องทำ สิ่งแรกที่เราคิดคือแข่งเทลาเต้อาร์ต เพราะว่าเราขายนม และต่อให้คนที่ไม่ได้เข้าใจเรื่องกาแฟมากนักก็ให้ความสนใจกับการแข่งขันนี้ได้ไม่ยาก 

“เราอยากทำเวทีแข่งที่พัฒนาคนได้จริง ๆ คำว่า Speed ทำให้เข้าใจได้ในทันทีว่าเวทีนี้ต้องประลองทั้งทักษะและความรวดเร็ว โจทย์อีกอย่างของเวทีนี้ที่กลายเป็นซิกเนเจอร์ของเราในเวลาต่อมา คือการสุ่มวงล้อ หมายความว่าในวงล้อจะมีลาเต้อาร์ต 5 – 6 ลายของแชมป์โลกที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะรู้ก่อนและไปเตรียมตัวด้วยการฝึกเททุกลายในวงล้อ เพราะไม่รู้ว่าตอนแข่งจะสุ่มได้ลายอะไร 

“เราได้การตอบรับที่ดีตั้งแต่ครั้งแรก อาจเพราะเป็นเวทีที่เปิดรับคนเยอะมากแบบไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย ปีแรกสมัครเข้ามา 300 คน เราคัดเลือกมาแข่ง 128 คน ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะเราอยากให้ทุกคนมีโอกาสลงสนาม และเราเชิญ Certified World Judge มาเป็นกรรมการ เวทีแข่งของเรามีการบอกเล่าปากต่อปาก จนในปีหลัง ๆ มีบาริสต้าจากหลากหลายประเทศมาร่วมการแข่งขัน ซึ่งเราก็ไม่ได้ลิมิตหรือปิดโอกาสพวกเขา เลยมีผู้เข้าแข่งขันทั้งชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน จีน เวียดนาม ลาว แสดงให้เห็นว่าเวทีแข่งของเราเริ่มเป็นที่รู้จักในเอเชีย ซึ่งเรามองว่าเป็นความสำเร็จของเราในแง่ของการสร้างการรับรู้ และปีที่แล้วเรามีโอกาสขยับขยายเวทีการแข่งขันไปจัดที่ฮ่องกง ต่อไปในอนาคตก็อยากขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ มากขึ้น อยากให้เวทีเราเป็นที่รู้จักระดับโลก ไม่ใช่แค่ในระดับเอเชีย” ชาลินีย้อนเล่าถึงการจัดเวทีแข่งด้วยรอยยิ้ม

ตั้งแต่จัดการแข่งขันครั้งแรกจนถึงปีปัจจุบัน ไม่มีอะไรมาทำให้เวทีนี้หยุดชะงักลงได้เลย แม้กระทั่งการมาของโควิด-19 เพราะเวทีนี้ได้ปรับตัวเองไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ชั่วคราวในชื่อ CP-Meiji E-Speed Latte Art Championship ที่ให้ผู้เข้าแข่งขันทุกคนทำการ Live จากพื้นที่ของตัวเอง โดยกรรมการทั้งหมดอยู่ในห้องส่ง และเพื่อให้ได้มาตรฐานที่สุด CP-Meiji ส่งอุปกรณ์ที่ใช้บนเวที ทั้งซิมการ์ด ขาตั้งกล้อง นาฬิกาจับเวลา ไปให้ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด เป็นการทุ่มทุนและทุ่มเทที่สุดจนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่พึงพอใจของทุกคน

เท่านั้นยังไม่พอ เวทีนี้ได้เปลี่ยนชื่อการแข่งขันจาก CP-Meiji Speed Latte Art เป็น CP-Meiji Speed Coffee Art ในปี 2022 และเพิ่มการแข่งขัน Milk Beverage (การทำเครื่องดื่มกาแฟนม) เข้าไป เป็นการเพิ่มระดับความท้าทายให้ผู้เข้าแข่งขันต้องประลองฝีมือทั้งลวดลายและรสชาติ เพื่อต้องการช่วยพัฒนาและส่งเสริมพื้นฐานสำคัญให้บาริสต้าทำกาแฟออกมาสวยด้วยอร่อยด้วย อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นได้เลยว่าทีมผู้จัดงานกลุ่มนี้มุ่งมั่นสุดพลังกันจริง ๆ 

เบื้องหลังการสร้างนักแข่งลาเต้อาร์ตระดับโลกของ CP-Meiji บริษัทที่สร้างการเติบโตให้วงการกาแฟ

Avengers Team สร้างทีมคว้าแชมป์โลก

การสร้างทีมแข่ง เป็นกิจกรรมลำดับที่ 3 ในร่มใหญ่ของโครงการ โดยซีพี-เมจิเป็นผู้สนับสนุนให้ลงแข่งขันคล้ายการส่งนางงามเข้าประกวด ซึ่งนิยามที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า Avengers Team ที่จริงคือตำแหน่งแบรนด์แอมบาสเดอร์ พวกเขาไม่ได้มีหน้าที่แนะนำสินค้า แต่คือการไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตัวเองเพื่อลงแข่งขันในเวทีระดับโลกให้ได้

ทีมอเวนเจอร์สประกอบด้วย ตี๋-สิทธิพงษ์ ยงศิริ เจ้าของร้าน Rosetta Roastery (ฉะเชิงเทรา) แบงค์-ศราวุธ หมั่นงาน จากร้าน Sukhumvit Coffee (กรุงเทพฯ) เทมส์-พลาทูน เสียงเจริญ จากร้าน De NADI “casa&cafe” (ปราจีนบุรี) และ แซนด์-พชร ทับทิมชัย จากร้าน Lycka Cafe (กาญจนบุรี) โดยบาริสต้าทั้ง 4 คนในทีมต่างมีดีกรีแชมป์จากหลากหลายเวทีทั้งในประเทศและต่างประเทศ

วันนี้แซนด์เป็นตัวแทนของทีมอเวนเจอร์สมานั่งคุยกับเรา เขาบอกว่าตัวเองเริ่มทำธุรกิจร้านกาแฟโดยให้ความสนใจที่การเทลาเต้อาร์ตเป็นพิเศษ น่าจะเป็นเพราะความชอบศิลปะตั้งแต่วัยเด็ก บวกกับความรู้สึกว่าตัวเองเทลายได้เข้าไม้เข้ามือ ทำให้แซนด์ปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าหากฝึกทักษะด้านนี้ให้ดีก็น่าจะเป็นการเปิดโอกาสต่าง ๆ ให้กับตัวเองและธุรกิจที่เขารัก 

คิดได้แล้วไม่รอช้า หลังเปิดร้านกาแฟเพียง 6 เดือน แซนด์เริ่มลงแข่งขันระดับประเทศครั้งแรกบนเวที CP-Meiji Speed Latte Art Championship 2017 (ซึ่งเวลานั้นยังไม่เข้ารอบ) ถัดมาจากนั้นแซนด์ยังคงลงแข่งทุกปี และได้แชมป์ครั้งแรกคือ CP-Meiji Speed Latte Art Championship ปี 2019 และถัดมาอีก 2 สมัยติดกันในปี 2021 และ 2022 

“จริง ๆ แล้วเราไม่ชอบการแข่งขันเลย” ฟังแล้วไม่น่าแปลกใจ เพราะจากบทสัมภาษณ์ที่เคยผ่านตา แชมป์ส่วนใหญ่มักเล่าแบบนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าคงเป็นแรงขับเคลื่อนอะไรสักอย่างที่ทำให้ใครสักคนอยากลงสนาม ไม่ใช่แค่ความชอบหรือไม่ชอบแข่งขันเท่านั้น และเหตุผลข้อเดียวสำหรับแซนด์คือ “ถ้าผ่านเข้ารอบที่ 2 จะได้เข้า CP-Meiji Barista Camp และจะได้เจอแชมป์โลก 

“การเข้าแคมป์เป็นจุดเปลี่ยนเลยก็ว่าได้ เราได้เรียนรู้วิธีการของแชมป์แต่ละคน เทคนิคต่าง ๆ ที่เขาคิดค้นขึ้นมา จากที่เคยศึกษาทุกอย่างด้วยตัวเองมาตลอด ซึ่งใช้เวลาหลายปี พอได้แชมป์โลกมาเป็นโค้ชแค่ 2 วัน ทำให้เราพัฒนาแบบก้าวกระโดด ที่สำคัญ ไม่มีค่าใช้จ่ายตรงนั้นเลย” แซนด์เล่าไปยิ้มไป

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ นี้เป็นการลากต่อจุดไปสู่การขยับขึ้นไปแข่งบนเวทีที่เฟ้นหาตัวแทนระดับประเทศเพื่อไปแข่งระดับโลกอย่าง Thailand National Latte Art Championship ในปี 2019 แม้ครั้งนั้นชื่อของแซนด์จะอยู่ในอันดับรั้งท้าย แต่เขายังคงลงแข่งขันอย่างต่อเนื่อง อาศัยข้อผิดพลาดจากการแข่งขันแต่ละครั้งมาพัฒนาและลงแข่งในปีถัดไป เป็นแบบนี้มาเสมอ จนในปี 2023 ที่แซนด์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมอเวนเจอร์สกับซีพี-เมจิ เขาลงแข่งบนเวที Thailand National Latte Art Championship อีกครั้ง ต่างตรงที่ว่าครั้งนี้เขาได้แชมป์ระดับประเทศมาครอบครอง และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับโลก

เบื้องหลังการสร้างนักแข่งลาเต้อาร์ตระดับโลกของ CP-Meiji บริษัทที่สร้างการเติบโตให้วงการกาแฟ
เบื้องหลังการสร้างนักแข่งลาเต้อาร์ตระดับโลกของ CP-Meiji บริษัทที่สร้างการเติบโตให้วงการกาแฟ

Road to World Latte Art Championship
จากความภาคภูมิใจของลูกชาย 

การแข่งขัน World Latte Art Championship มีโจทย์ว่า ให้บาริสต้าแต่ละคนสร้างสรรค์ลวดลายของตัวเองได้ แซนด์เลยเลือกหยิบงานศิลปะที่ลูกชายของเขาไปวาดประกวดแล้วได้แชมป์ระดับชั้นมัธยมมาเป็นคอนเซปต์ไปนำเสนอบนเวทีโลก ผลลัพธ์คือการพาตัวเองไปคว้าอันดับที่ 5 บนเวที World Latte Art Championship 2023 โดยมี CP-Meiji เป็นผู้สนับสนุน

“เกิดจากตอนนั้นเราคิดลายไม่ออกสักที ทีนี้รูปวาดที่ลูกชายไปประกวดชนะตั้งอยู่ในห้องนอน เรานอนมองทุกวันจนเกิดไอเดียว่า หรือเราควรนำเสนอความภาคภูมิใจของลูกชาย พอได้หยิบจับเอาสิ่งใกล้ตัวมาครีเอตเป็นลายของตัวเอง เวลาเราเทหรือพรีเซนต์ออกไป มันจะบ่งบอกความเป็นตัวเราชัดเจน นั่นน่าจะเป็นข้อดี เพราะหลังฟังเรื่องราวของเรา เราเห็นกรรมการอมยิ้มทุกคนเลย

“การที่เราติดอันดับโลกได้ เพราะเราได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมอเวนเจอร์สของซีพี-เมจิและโครงการนี้มีส่วนร่วมในการช่วยวางแผนการซ้อมและวางแผนกลยุทธ์การแข่งขันทั้งหมดเลย เอาจริง ๆ เราโชคดีมากที่ได้เข้ามาร่วมทีมที่มีศักยภาพสูงขนาดนี้เลยยิ่งเป็นการพัฒนาฝีมือทุกคนขึ้นไปอีก แค่ก้าวเท้าเข้าทีมมาเจอคนเก่งอีก 3 คนก็เป็นการพัฒนาทักษะของเราแล้ว ในทีมจะคุยกันว่า ปีนี้ใครลงแข่ง ช่วยกันหาโค้ชมาฝึกซ้อม เป็นการแชร์ไอเดียและซ้อมกันเป็นทีม ช่วยกันดูว่าใครขาดเหลือตรงไหน ต้องพัฒนาจุดไหน คอยปิดช่องโหว่ของแต่ละคน ซึ่งถามว่าเราเรียนรู้เองได้ไหม เราว่าได้ แต่ใช้เวลานานเท่าไหร่ล่ะ การมีทีมเบื้องหลังแบบนี้เหมือนเป็นการร่นระยะเวลาให้เราพัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น” แซนด์กล่าวทิ้งท้าย

เบื้องหลังการสร้างนักแข่งลาเต้อาร์ตระดับโลกของ CP-Meiji บริษัทที่สร้างการเติบโตให้วงการกาแฟ
เบื้องหลังการสร้างนักแข่งลาเต้อาร์ตระดับโลกของ CP-Meiji บริษัทที่สร้างการเติบโตให้วงการกาแฟ

‘เพิ่มคุณค่าชีวิต’ 
แรงผลักดันให้บาริสต้าไทยไปสู่ระดับโลก

นอกจากแรงกระเพื่อมในวงการกาแฟที่ซีพี-เมจิก่อร่างไว้จะเห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เกิดเวทีแข่งระดับจังหวัด มหกรรมกาแฟตามภูมิภาค ถึงขั้นมีคนติดต่อมาขอคอนเซปต์หมุนวงล้อไปใช้ ซึ่งชาลินีบอกกับเราว่าเธอยินดีมาก ๆ และเรายังได้เห็นความก้าวหน้าในอาชีพที่จับต้องได้ 

“เมื่อคุณมีดีกรี มันสร้างความน่าเชื่อถือ ดึงดูดให้ผู้คนหันมาสนใจคุณได้ ไม่ใช่แค่ร้านของคุณมีลูกค้ามากขึ้น แต่บาริสต้าหลายคนได้งานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น งานสอน งาน Consult ให้คนที่อยากเปิดร้านกาแฟ ทุกคนเป็นที่รู้จักและได้โอกาสมากมายจากการลงแข่งขัน เราคิดว่านี่คือความก้าวหน้าในอาชีพของบาริสต้าที่เราตั้งใจผลักดัน 

“ในมุมของบริษัท ถ้าถามว่าเราได้อะไรจากตรงนี้ คำตอบเป็นไปตามความตั้งใจของเราที่ว่าได้เติบโตไปด้วยกัน ถ้าธุรกิจกาแฟในประเทศเติบโต เราก็เติบโตไปด้วย สำหรับเรามันส่งผลดีกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง การที่เราสนับสนุนบาริสต้าไทยไปแข่งในเวทีโลก แล้วเขาได้แชมป์กลับมาก็เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง ทำให้คนเห็นว่าเราทุ่มเทกันขนาดไหน

เราแฮปปี้มากเมื่อสิ่งที่ทำสอดคล้องกับแผนที่วางไว้ และดีใจที่เห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ตอนแรกคนยังไม่ค่อยเชื่อ มันค่อนข้างท้าทายและต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจว่าเรากำลังจะทำอะไร แต่เราเองในฐานะคนทำงานต้องเชื่อก่อนเลยว่าเรามาถูกทาง และทำต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนคนเริ่มเห็นคุณค่าตรงนี้ สุดท้ายทุกสิ่งที่ทำกลับมาตอบแกนหลักของเราได้ทั้งหมด นั่นก็คือการเพิ่มคุณค่าชีวิต”

Waste to Value

คำถามสุดท้าย เมื่อเราสงสัยว่าการจัดเวทีแข่งเทลาเต้อาร์ตที่มีผู้เข้าร่วมกว่าร้อยชีวิต ต้องใช้นมปริมาณมาก แถมเกิด Waste จากการซ้อมเทมหาศาล อยากรู้ว่านมเหล่านั้นเอาไปใช้ทำอะไรต่อได้อีก

“อันนี้เป็นสิ่งที่คุยกับทีมตั้งแต่เริ่มจัดการแข่งขันปีแรกเลย ซึ่งช่วงที่แต่ละร้านฝึกซ้อมอาจจะอยู่นอกเหนือการจัดการของเรา แต่เรื่องนี้ยังเป็นความท้าทายที่ต้องจัดการให้ได้ เราเลยเริ่มจากเวทีแข่งของเราก่อนเลย เราใช้คอนเซปต์ Waste to Value ปัจจุบันเราจึงไม่มี Waste จากเวทีแข่งแล้ว เพราะเอากาแฟนมที่บาริสต้า 128 คนใช้แข่งมาทำไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟและแจกในงาน จากปกติการแข่งขันแต่ละครั้งต้องเทนมทิ้ง ทั้งหมดใช้เวลาเป็นวัน พอเราจัดการ Waste ในงานแข่งได้ เราแฮปปี้มาก ๆ ลูกค้าหรือคนที่มาในงานก็แฮปปี้ และเราเริ่มมีโครงการที่ให้กลุ่มธุรกิจกาแฟรู้จักการแยกขยะให้ถูกต้อง ถูกวิธี เพราะลูกค้าร้านกาแฟจะใช้นมเมจิในปริมาณที่เยอะ เราเลยเข้าไปมีส่วนร่วม ช่วยให้พวกเขาลดขยะแก่โลกอย่างถูกวิธีให้มากขึ้นได้”

Writer

ใหม่ ศุภรุจกิจ

ใหม่ ศุภรุจกิจ

เคยเป็นกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ตอนนี้เป็นนักเขียน สัมภาษณ์ ที่อิสระและจ้างได้

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง