ในยุคที่เวลาไม่อาจอยู่เคียงข้างคุณ ผมหมายถึงยุคที่เราไม่มีเครื่องมือบอกเวลาอยู่ติดตัวตลอดเฉกเช่นทุกวันนี้ เพียงแค่พลิกข้อมือก็มี Smart Watch ที่ทำได้มากกว่าแจ้งเวลา หรือล้วงกระเป๋ากางเกงก็มี Smart Phone ที่บอกเวลาได้เป็นสิบ ๆ ประเทศทั่วโลก

ครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ระบบการนับเวลาของสยามยังกำหนดด้วยการเรียก ทุ่ม-โมง ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษาเรื่องทุ่มยาม ว่าด้วยทุ่ม-โมง กลางวันเรียกว่าโมง กลางคืนเรียกว่าทุ่ม แต่การนับเวลาแบบจารีตของสยามนี้ก็เป็นปัญหา เริ่มไม่เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตกที่เข้ามาติดต่อค้าขายหรือทำราชการด้วย เห็นว่าไม่ทันสมัยและไม่ละเอียดเที่ยงตรง จึงเห็นว่าการนับเวลาแบบตะวันตกเป็นเรื่องสำคัญ ถึงขนาดจัดตั้งกรมนาฬิกา ส่งช่างไปเรียนซ่อมนาฬิกา และสั่งซื้อนาฬิกามาจากต่างประเทศ นำไปสู่การสร้างสถาปัตยกรรมประเภท ‘หอนาฬิกา’ แห่งแรกในสยาม เพื่อรองรับระบบการนับเวลาแบบใหม่

สำรวจพระที่นั่งภูวดลทัศไนย หอนาฬิกาแห่งแรกของสยาม และหอนาฬิกาจากทั่วไทย เครื่องมือใช้บอกเวลาและความมีอารยะของประเทศ

อันที่จริง คติการสร้างหอสูงหรืออาคารสูงเพื่อใช้ป่าวประกาศเวลามีมานานแล้ว ดังเช่น หอกลอง หอระฆังในวัด เหตุที่ต้องสร้างสูง ๆ คงไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจากต้องการส่งเสียงกลอง เสียงระฆัง ให้ลอยตามลมไปได้ไกลที่สุด เป็นสัญญาณที่รับรู้กันของชาวบ้านละแวกนั้น

แม้มีความจำเป็นต้องใช้ระบบนับเวลาแบบสากล แต่ชนชั้นนำชาวสยามเองก็ไม่ได้เชื่อถือและยอมรับในความแม่นยำของ ‘นาฬิกาสากล’ ไปเสียทีเดียว ในลายพระหัตถ์เรื่อง นาฬิกา ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า 

แต่พระองค์ก็ทรงเชื่อว่า ไม่ว่าเครื่องวัดอะไรก็ตาม ย่อมไม่มีความเที่ยงตรงทั้งนั้น แม้กระทั่งนาฬิกากลเองก็ตาม ไม่เที่ยงตรงเช่นกัน แต่ก็ดีกว่าวัดเวลาด้วยวิธีอื่น เราจึงต้องใช้

สำรวจพระที่นั่งภูวดลทัศไนย หอนาฬิกาแห่งแรกของสยาม และหอนาฬิกาจากทั่วไทย เครื่องมือใช้บอกเวลาและความมีอารยะของประเทศ

หอนาฬิกาแห่งแรกของสยาม คือพระที่นั่งภูวดลทัศไนย มีจุดเริ่มต้นในรัชกาลที่ 4 เมื่อพระองค์ท่านต้องการสร้างหมู่พระที่นั่งอภิเนาว์นิเวศน์ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง เป็นรูปแบบอาคารอย่างตะวันตกสำหรับเก็บเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ

สถาปัตยกรรมของพระที่นั่งภูวดลทัศไนยเป็นหอสูง 5 ชั้นคล้ายหอกลองในอดีต แตกต่างก็เพียงอุปกรณ์ที่ใช้บอกเวลาเท่านั้น ในสมัยนั้นนับว่าเป็นอาคารสูง เป็นจุดหมายตาหรือแลนด์มาร์กของเมืองได้เลยทีเดียว จึงเป็นเสมือนตัวแทนแห่งความทันสมัย เป็นหน้าเป็นตาให้กับสังคมสยาม

และต่อมาอีกหลายสิบปี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้สัญลักษณ์แห่งความศิวิไลซ์นี้ผ่านทางสถาปัตยกรรมที่ก่อร่างสร้างเมืองใหม่ ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ เห็นได้จากราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2498 เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช นายน้อม อุปรมัย ตั้งคำถามถึงกระทรวงมหาดไทยเรื่องหอนาฬิกาประจำเมือง ด้วยเห็นว่าหอนาฬิกาประจำเมืองมีประโยชน์มาก นอกจากให้ความสง่าสวยงามแก่บ้านเมืองหนึ่ง ๆ แล้ว ยังเป็นกลไกอันสำคัญที่จะเตือนใจประชาชนทั่วไปให้ปฏิบัติการงาน ผูกพันอยู่กับเวลา อันเป็นการก่อประสิทธิภาพและความก้าวหน้าอันหนึ่งของชุมชน 

ซึ่งในขณะนั้นกระทรวงมหาดไทยได้ให้เทศบาลต่าง ๆ จัดสร้างหอนาฬิกาสาธารณะไปแล้ว 6 แห่ง คือเทศบาลตำบลเบตง เทศบาลเมืองแพร่ เทศบาลเมืองสมุทรปราการ เทศบาลตำบลอัมพวา เทศบาลเมืองพัทลุง และเทศบาลนครธนบุรี และมีส่วนที่กำลังก่อสร้างอยู่อีกหลายแห่ง เช่น ศรีราชา พระประแดง พนัสนิคม ราชบุรี หาดใหญ่ สระบุรี สิงห์บุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี นาสาร สุโขทัย ตาก และลำปาง เป็นต้น 

ใน Something Still Remains ครั้งนี้ จึงอยากชวนท่านลองค้นหาความสวยงามของหอนาฬิกาจังหวัดต่าง ๆ รวมไปถึงสถานที่ที่คุ้นเคย อาจจะมีเกร็ดประวัติศาสตร์เล็ก ๆ ที่ถูกหลงลืมซ่อนตัวอยู่กลางวงเวียนในตลาด ลองระลึกถึงอดีตครั้งที่เรายังไม่มีนาฬิกาข้าง ๆ ตัวแบบทุกวันนี้ หอนาฬิกาเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือบอกเวลาอยู่ข้าง ๆ คุณ

Writer & Photographer

Avatar

วีระพล สิงห์น้อย

ช่างภาพสถาปัตยกรรม และเจ้าของเพจภาพถ่ายอาคารเปี่ยมเสน่ห์ชื่อ FOTO_MOMO