‘หนังสือภาพ’ เป็นพื้นที่แห่งจินตนาการที่เล่าเรื่องด้วยภาพและตัวอักษร เชื่อมโยงผู้อ่านไปสู่โลกอันกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด

เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก ๒๕๖๖ (Children’s Picture Book Festival 2023) จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยสำนักพิมพ์ Barefoot Banana และความร่วมมือจากนักเขียน นักวาด นักแปล นักวิชาการ นักเล่านิทาน ผู้ทำงานร่วมกับเด็ก ห้องสมุด และสำนักพิมพ์ที่ผนึกกำลังเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์หนังสือภาพสำหรับเด็กให้มีคุณภาพ รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้กับเด็ก ครอบครัว และบุคคลทั่วไปได้เห็นถึงความสำคัญของหนังสือภาพสำหรับเด็ก

ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสถึงโลกหนังสือภาพสำหรับเด็กทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังทั้งในรูปแบบนิทรรศการและกิจกรรม ระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ณ TCDC กรุงเทพฯ

ก่อนไปตะลุยเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กกันครั้งนี้ คอลัมน์นานาเพลินจิต ชวนผู้อ่านท่องโลกแห่งจินตนาการไปกับหนังสือภาพสำหรับเด็ก 13 เล่ม แนะนำโดย 13 คนในแวดวงที่มีตั้งแต่นักสร้างสรรค์หนังสือภาพสำหรับเด็กไปจนถึงผู้ที่ใช้หนังสือภาพต่อยอดจินตนาการกับเด็ก ๆ

ชื่อหนังสือ : นี่แหละเผด็จการ
ผู้เขียน : เอกิโป ปลันเตล
สำนักพิมพ์ : คณะก้าวหน้า

เปิด 13 เล่มโปรดโดยตัวจริงแห่งวงการหนังสือภาพ ก่อนตะลุยเทศกาลที่จัดขึ้นครั้งแรกในไทย
ภาพ : www.fathombookspace.co

นี่แหละเผด็จการ คือหนังสือภาพสำหรับเด็กที่แปลมาจากภาษาสเปน เล่าว่าเผด็จการคืออะไร พอมาเป็นหนังสือภาพที่สื่อสารกับเด็กจึงย่อยให้คอนเซปต์นามธรรมกลายเป็นสิ่งที่เด็กพอจะเข้าใจได้ แต่อาจต้องเป็นเด็ก ๆ ที่โตสักนิดหนึ่ง ราว 5 – 6 ขวบขึ้นไปถึงจะเริ่มเข้าใจ

“เวลาที่เราพูดว่าหนังสือภาพสำหรับเด็ก มันสำหรับเด็กอย่างเดียวจริงไหม หลายครั้งจะพบว่าหนังสือภาพที่ทำให้เด็กลึกซึ้งมากในแง่ปรัชญา เล่มนี้ก็มีลักษณะเดียวกัน พูดถึงนิยามของเผด็จการได้อย่างลึกซึ้งและเรียบง่ายมาก เราเลยมองว่าเด็กจะอ่านได้แบบหนึ่ง แต่ผู้ใหญ่ก็จะอ่านได้อีกแบบหนึ่ง นี่เป็นเหตุผลที่เลือกเล่มนี้มา

“นอกเหนือจากหน้าตาของเผด็จการที่เห็นในเล่มนี้ เรามองว่าพอเด็กโตขึ้น เขาจะได้เรียนรู้ศัพท์เฉพาะมากมายที่เจอในเล่ม และรู้ว่าการทำแบบนี้ในภาษาวิชาการเรียกว่าอะไร เช่น ถ้าไปบอกเขาเป็นภาษาผู้ใหญ่ว่า ‘ทุจริตเชิงโครงสร้าง’ เขาอาจไม่เข้าใจ แต่เล่มนี้ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น

“นี่ไม่ใช่หนังสือที่เหมาะกับเด็กเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่อ่านแล้วก็ได้สะท้อนความคิดหลายอย่าง”

สำหรับเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งนี้ จุ๊ยชวนทุกคนมาร่วมเจาะลึกกับกระบวนการแปลหนังสือภาพด้วย พบกันได้ที่กิจกรรม ‘Masterclass: แปลหนังสือภาพยากตรงไหน เอาปากกามาวง’ ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2566

จุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

นักแปลหนังสือเด็ก

ชื่อหนังสือ : เรื่องพิสดารของเด็กชายโนริยาสึ ตอนที่ 1 อากาศดี บางทีมีหมูตก
ผู้เขียน : ยาดามะ ชิโร
สำนักพิมพ์ : JBOOK

เปิด 13 เล่มโปรดโดยตัวจริงแห่งวงการหนังสือภาพ ก่อนตะลุยเทศกาลที่จัดขึ้นครั้งแรกในไทย

“เรื่องของเด็กผู้ชายที่ชอบเขียนไดอารีภาพ เพราะเด็กญี่ปุ่นมีการบ้านต้องเขียนไดอารีภาพตอนปิดเทอม ตอนแรกเขาเขียนเป็นการบ้านส่งให้ครูอ่าน แล้วครูบอกว่าเวลาเขียนให้คนอื่นอ่าน คนเราจะชอบเขียนให้ตัวเองดูดี ครูจึงให้เขาเขียนความจริง เขียนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงโดยไม่ต้องอายว่าใครจะอ่าน เขาจึงเริ่มเขียนความจริง

“จนกระทั่งวันหนึ่งเขาจับได้ว่าแม่มาแอบอ่านไดอารีของเขา เขาโกรธมากเพราะเข้าใจว่ามันเป็นความลับและไม่มีใครควรอ่าน เลยคิดว่าควรจะเขียนไดอารีของวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นและเหนือจริง ถ้าแม่มาแอบอ่านจะได้รู้สึกมหัศจรรย์ในสิ่งที่เขาเขียน เขาเขียนไปถึงว่าหมูจะตกลงมาจากฟ้า ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหนังสือนี้

“ความคิดของนักเขียนล้ำไปถึงจุดที่ไม่ต้องให้เห็นเฉพาะด้านที่โลกสวยเท่านั้น มันทั้งตลกและมีข้อคิดไปในตัว ตัวเอกเป็นเด็กที่ชอบจินตนาการไปเรื่อย จนเรื่องที่ตัวเองเพ้อฝันเกิดขึ้นจริง สุดท้ายเด็กคนนั้นก็ได้ข้อคิดที่ทำให้เขาต้องปรับปรุงตัว ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กที่ต้องมีวัยแบบนั้น”

รับชมผลงานวาดของวีในเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งนี้ได้ระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 12 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ชั้น 5 อาคาร TCDC กรุงเทพฯ

วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

นักวาดภาพประกอบ

ชื่อหนังสือ : The Snail and the Whale
ผู้เขียน : Julia Donaldson
ผู้วาด : Axel Scheffler
สำนักพิมพ์ : Puffin Books

เปิด 13 เล่มโปรดโดยตัวจริงแห่งวงการหนังสือภาพ ก่อนตะลุยเทศกาลที่จัดขึ้นครั้งแรกในไทย
ภาพ : www.amazon.com

“การเดินทางของหอยทากกับวาฬ หอยทากตัวเล็กฝันอยากสำรวจโลก อยากเห็นโลกที่กว้างใหญ่ แล้ววันหนึ่งความฝันนั้นก็เป็นจริง เพราะมีวาฬตัวใหญ่ชวนออกเดินทาง ทั้งสองออกเดินทางไปดูทะเลกว้างใหญ่ด้วยกัน เรื่องนี้แต่งเป็นกลอนคล้องจองสั้น ๆ อ่านง่าย สนุกไหลลื่น เป็นความประทับใจของเรา อ่านแล้วเหมือนได้ออกเดินทางไปด้วย”

“มันเป็นเรื่องของความฝันที่ดูเป็นไปไม่ได้ เจ้าหอยทากตัวเล็กนิดเดียว ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างการเดินทางท่องโลก แต่เขาไม่ได้ทำแค่ลำพัง เพราะเขามีเพื่อนเป็นวาฬตัวใหญ่มหึมา ส่วนเจ้าวาฬเอง เมื่อประสบปัญหาก็มีหอยทากตัวจิ๋วคอยช่วยเหลือ เด็กจะได้เรียนรู้ทั้งความฝัน การช่วยเหลือ และการพึ่งพากัน ไม่ว่าเราจะตัวเล็ก ตัวใหญ่ แข็งแรงหรืออ่อนแอ เรามีประโยชน์และช่วยเหลือกันได้” 

บอมบ์-กฤษณะ กาญจนาภา 

นักวาดภาพประกอบและนักเขียน

ชื่อหนังสือ : わにさんどきっはいしゃさんどきっ (คุณจระเข้ไปหาหมอฟัน)
ผู้เขียน : Taro Gomi
สำนักพิมพ์ : Chronicle Books

เปิด 13 เล่มโปรดโดยตัวจริงแห่งวงการหนังสือภาพ ก่อนตะลุยเทศกาลที่จัดขึ้นครั้งแรกในไทย
ภาพ : www.ehonnavi.net

“เรื่องนี้เป็นหนังสือภาพภาษาญี่ปุ่นเกี่ยวกับคุณหมอฟันกับจระเข้ เนื้อเรื่องนำเสนอบทสนทนาที่พูดเหมือนกันทั้งสองฝั่ง เช่น คุณจระเข้ตื่นเต้น คุณหมอตื่นเต้น เป็นการใช้คำซ้ำในบทของแต่ละฝั่ง ซึ่งมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน เช่น ขณะจระเข้นั่ง กำลังจะทำฟัน จระเข้ก็บอกว่า น่ากลัวนะ สื่อว่าเด็กทุกคนก็กลัวหมอฟัน พอคุณหมอฟันเห็นจระเข้ หมอฟันก็พูดเหมือนกันว่า น่ากลัวนะ

“ตอนจบน่ารักมากเลย ทั้งคู่ต่างขอบคุณกันและกัน จระเข้บอกว่า ขอโทษที่ทำให้ลำบากนะ แล้วพบกันใหม่ คุณหมอฟันก็บอกว่า ขอโทษที่ทำให้ลำบากนะ แล้วพบกันใหม่”

“เล่มนี้น่าจะเหมาะกับเด็ก 2 – 4 ขวบ แต่ก็อ่านได้หมด เพราะหนังสือเด็กอ่านได้ตั้งแต่เด็กยันโต เขาจะได้เรียนรู้เรื่องแปรงฟันอันดับแรก เรียนรู้ว่าการแปรงฟันเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราดูแลฟันไม่ให้ผุจะไม่ปวดฟันและไม่ต้องไปหาหมอฟัน มีเรื่องราวเสริมคือหมอฟันไม่ได้น่ากลัวหรอก ทำให้เด็กเห็นในมุมของหมอฟันเหมือนกันว่าหมอฟันก็อยากช่วยเรา”

สำหรับเทศกาลในครั้งนี้ บอมบ์และอ้อยจะมาเผยเส้นทางการเป็นนักสร้างสรรค์หนังสือภาพสำหรับเด็กกับกิจกรรม ‘Masterclass: การผจญภัยของนักสร้างหนังสือภาพกับแมวดำหนึ่งตัว’ ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2566 โดยพวกเขาจะถือหนังสือ 2 เล่มที่แนะนำไปให้ชมกันในงานด้วย

อ้อย-วชิราวรรณ ทับเสือ

นักวาดภาพประกอบและนักเขียน

ชื่อหนังสือ : Det er bare blod
ผู้เขียน : Louise T. Sjørbad and Jette Sandbæk
ผู้วาด : Louise Rosenkrands
สำนักพิมพ์ : Forlaget Albert

ผู้คร่ำหวอดในวงการแนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็กสำหรับนักอ่านและผู้สนใจ ก่อนตะลุยเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก ๒๕๖๖ ตลอดเดือนตุลาคม
ภาพ : svaneogbilgrav.dk

“Det er bare blod ภาษาเดนิช แปลว่า มันก็แค่เลือด หนังสือภาพจากเดนมาร์กที่เพิ่งตีพิมพ์ได้ไม่นาน มีลักษณะเป็นสารคดีที่พูดถึงการมีประจำเดือน ความแปลกใหม่คือหนังสือภาพเล่มนี้ให้เด็กเป็นคนให้คำแนะนำกับเด็กคนอื่น ๆ ในเรื่อง

“ปกติหนังสือเพศศึกษาส่วนใหญ่จะพูดในมุมของผู้ใหญ่มาที่เด็ก แต่เล่มนี้เป็นมุมมองจากเด็กถึงเด็กด้วยกันเอง มาเล่าประสบการณ์การมีประจำเดือนของตัวเอง

“เล่มนี้น่าสนใจ เพราะเวลาพูดถึงหนังสือภาพ เราจะนึกถึงแค่นิทานสำหรับเด็กน้อย แต่จริง ๆ หนังสือภาพที่เรียก Picture Book ตีความได้เยอะกว่านั้นมาก เป็นหนังสือที่มีทั้งตัวอักษรและภาพที่เล่าเรื่องคู่กันไปด้วย”

สำหรับเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งนี้ ตาลจะมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับหนังสือภาพสำหรับเด็กในต่างประเทศแบบเจาะลึกกับกิจกรรม ‘Children’s Picture Books Out There’ ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556 โดย Det er bare blod เล่มนี้ก็มีให้ชมในงานด้วย

ตาล-บุลวัชร เสรีชัยพร

อดีตบรรณาธิการหนังสือเด็ก

ชื่อหนังสือ : กระต่ายแต่งงาน
ผู้เขียนและผู้วาด : การ์ธ วิลเลียมส์
สำนักพิมพ์ : Amarin Kids

ผู้คร่ำหวอดในวงการแนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็กสำหรับนักอ่านและผู้สนใจ ก่อนตะลุยเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก ๒๕๖๖ ตลอดเดือนตุลาคม
ภาพ : amarinbooks.com

กระต่ายแต่งงาน เป็นการอธิบายเรื่องความรู้สึกอยากอยู่กับใครสักคนไปตลอดชีวิต และจะทำอย่างไรให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เรื่องของกระต่ายสีขาวและกระต่ายสีดำที่เป็นเพื่อนกัน กระโดดเล่นด้วยกันในทุ่งหญ้าทุกวัน เป็นนิทานที่โรแมนติกมาก เราว่ามันเป็นการเริ่มต้นบทสนทนาได้ดีสำหรับบ้านที่อยากเล่าเรื่องคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกฟังถึงความรู้สึกรักและการตัดสินใจมาอยู่ด้วยกัน”

“ความพิเศษของเล่มนี้คือภาพสวย โทนสีเรียบง่าย และพูดเรื่องที่ดูเป็นเรื่องยากให้ง่ายได้ เป็นเสน่ห์ของเรื่องนี้เลย ความรักเป็นเรื่องที่บางทีผู้ใหญ่พยายามอธิบายให้ซับซ้อน แต่เล่มนี้ตีความออกมาให้สั้นและง่าย อธิบายว่าการแต่งงานคือการที่เราเลือกแล้วว่าอยากอยู่กับคนคนนี้ไปชั่วชีวิต 

“สิ่งที่เด็ก ๆ จะได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนรอบตัว ทำให้เขาเข้าใจรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีอยู่ในโลก เป็นเพื่อนกันหรือคนรักก็ได้”

สำหรับเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งนี้ แตงโมจะชวนมาเวิร์กช็อปออกแบบตัวละครตามจินตนาการกับกิจกรรม ‘เสกตัวละครให้มีชีวิตในนิทาน’ ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566

แตงโม-ชมพูนุท เหลืองอังกูร 

นักเขียน นักแปล และนักวาดภาพประกอบหนังสือภาพสำหรับเด็ก 

ชื่อหนังสือ : แช่วับ…เกือบแล้วครับ
ผู้เขียนและผู้วาด : กนกมาศ มัทนารมยกิจ

เปิด 13 เล่มโปรดโดยตัวจริงแห่งวงการหนังสือภาพ ก่อนตะลุยเทศกาลที่จัดขึ้นครั้งแรกในไทย

“นี่คือหนังสือป๊อปอัปสำหรับเด็กที่สอดแทรกประเด็นเรื่องการเคารพซึ่งกันและกัน การให้เกียรติตัวเอง และเคารพสิ่งแวดล้อม ชื่อว่า แช่วับ…เกือบแล้วครับ ที่แนะนำหนังสือเล่มนี้เพราะเราตั้งใจทำในทุกกระบวนการ เรามีส่วนในทุกกระบวนการตั้งแต่เขียนเรื่อง ทำภาพประกอบ และส่วนที่เราถนัดที่สุดคือกลไกกระดาษ

“เราสอดแทรกประเด็นเรื่องความเคารพเข้าไปในเนื้อหาตั้งแต่ประเด็นเล็กไปถึงประเด็นใหญ่ ประเด็นเล็กน้อยที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ ยินดีด้วยนะ เป็นคำพูดง่าย ๆ ถ้าเราพยายามสอดแทรกเข้าไปในเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันบ่อย ๆ เด็กจะซึมซับสิ่งพวกนี้ หรือประเด็นที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อยคือการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ซึ่งเราต้องเคารพสิทธิของคนอื่น”

“ในเมืองไทยหาหนังสือเด็กที่เป็นป๊อปอัปทั้งเล่มค่อนข้างยาก เพราะผลิตยาก ต้องใช้ทั้งระยะเวลา ต้นทุนการผลิต และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

“เล่มนี้เราตั้งใจทำขึ้นมา เพราะเห็นว่าการเคารพซึ่งกันและกันหรือต่อสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่สำคัญ ถ้าเราไม่ส่งเสริม คนส่วนใหญ่จะขาดตรงนี้ไปและกลายเป็นปัญหาได้ เราอยากให้เด็กเป็นประชากรโลกที่ตระหนักรู้และมีคุณภาพในวันข้างหน้า”

เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งนี้ แป๋มจะนำต้นฉบับหนังสือ ‘แช่วับ…เกือบแล้วครับ’ มาจัดแสดงที่งานระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 12 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ชั้น 5 อาคาร TCDC กรุงเทพฯ

แป๋ม-กนกมาศ มัทนารมยกิจ

วิศวกรกระดาษ

ชื่อหนังสือ : บ้านต้นไม้กับคุณนกนักดนตรี
ผู้เขียน : บุชิกะ เอ็ตสึโกะ 
ผู้วาด : สุเอะซากิ ชิเงคิ
สำนักพิมพ์ : Amarin Kids

ผู้คร่ำหวอดในวงการแนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็กสำหรับนักอ่านและผู้สนใจ ก่อนตะลุยเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก ๒๕๖๖ ตลอดเดือนตุลาคม
ภาพ : amarinbooks.com

“เล่มนี้เกี่ยวกับบ้านต้นไม้ที่มีสัตว์ต่าง ๆ อาศัยในนั้น เมื่อมีนกนักดนตรี 10 ตัวบินมาจากที่ไกลแล้วเจอฝนตกหนัก สัตว์ในบ้านต้นไม้ก็ให้ความช่วยเหลือทั้งเรื่องอาหารและที่พัก นกนักดนตรีทั้ง 10 ตัวเลยตอบแทนด้วยการเล่นดนตรีให้ฟัง ด้วยความที่เราเป็นนักดนตรีและสอนดนตรีให้เด็กด้วย เวลาเอาไปเล่าให้เด็ก ๆ ฟังเราจะให้เด็กมีส่วนร่วมช่วยกันร้องเพลง เลียนเสียงเครื่องดนตรี พูดตามตัวละคร หรือทำเสียงประกอบนิทาน

“เราว่าเล่มนี้เหมาะกับเด็กทุกวัย แล้วแต่ว่าเอาไปใช้แบบไหน ส่วนเราใช้เล่าให้กับเด็กตั้งแต่เตรียมอนุบาลจนถึงอนุบาล สิ่งที่เด็ก ๆ จะได้รับจากเรื่องนี้คือการให้ นกนักดนตรีขอเข้าไปอยู่ในบ้าน แล้วสัตว์ทุกตัวช่วยดูแล มันคือการให้รูปแบบหนึ่ง คุณนกเลยให้กลับด้วยเสียงเพลง ซึ่งเป็นเรื่องที่อบอุ่นหัวใจ และได้รู้เรื่องดนตรี ให้เขาจดจำเสียงดนตรีและโทนเสียงในการร้องเพลง”

เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งนี้ มาร่วมร้องเล่นเต้นรำไปกับพริมและคณะละครปู๊นปู๊น กับกิจกรรม ‘Musical Theater Mini-Camp: Magic Madalin’ ซึ่งเป็นละครเพลงดัดแปลงจากนิทาน แม่มดน้อยมาดาลินกับเศษผ้ากระจิ๋วหลิว ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566

พริม-ญาณิศา กายสุต

คณะละครปู๊นปู๊น

ชื่อหนังสือ : The Mysterious Candy Shop 
ผู้เขียน : Tatsuya Miyanishi 
สำนักพิมพ์ : Kinnohoshisha / Tsai Fong Books 

ผู้คร่ำหวอดในวงการแนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็กสำหรับนักอ่านและผู้สนใจ ก่อนตะลุยเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก ๒๕๖๖ ตลอดเดือนตุลาคม
ภาพ : www.amazon.com

“แนะนำเล่มที่จะใช้เล่าในงานเทศกาลครั้งนี้ วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม กิจกรรมล้อมวงฟังนิทานละครหุ่นเรื่อง The Mysterious Candy Shop หรือ ร้านลูกอมวิเศษ เป็นเรื่องของเจ้าหมูที่เดินเข้าไปในป่าแล้วเจอกับร้านขายลูกอมวิเศษที่มีพลังวิเศษ เลยอยากให้เด็ก ๆ ได้ตามหาพลังวิเศษของตัวเองให้เจอ เด็ก ๆ จะได้ฟังนิทานและสนุกกับการคิดถึงพลังวิเศษที่แต่ละคนมี

“เรื่องนี้มีอารมณ์ขัน น่ารัก และตลก เล่าแล้วเด็ก ๆ ชอบ เพราะช่วยฝึกการคิดและจินตนาการ ได้คิดว่าถ้าเราเป็นเจ้าหมูจะทำอย่างไรดีเพื่อเอาตัวรอดจากอันตราย เล่าได้ง่าย ๆ และใช้สร้างความสัมพันธ์กับเด็กได้เพราะไม่ซับซ้อนมาก”

เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งนี้ ใบปอและ CREAM Bangkok ชวนมาเวิร์กช็อปผ่านกิจกรรม ‘สร้างโลกมหัศจรรย์ผ่านนิทานและการเล่นสนุก’ ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566 และล้อมวงฟังนิทานละครหุ่น เรื่อง ร้านลูกอมวิเศษ (The Mysterious Candy Shop) ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ใบปอ-อ้อมขวัญ เวชยชัย

คุณครูผู้ก่อตั้ง CREAM Bangkok 

ชื่อหนังสือ : หนังสือชุดช้างเบิ้มกับหมูน้อย 
ผู้เขียนและผู้วาด : โม วิลเลมส์
สำนักพิมพ์ : Barefoot Banana

ผู้คร่ำหวอดในวงการแนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็กสำหรับนักอ่านและผู้สนใจ ก่อนตะลุยเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก ๒๕๖๖ ตลอดเดือนตุลาคม
ภาพ : www.barefootbanana.co

หนังสือชุดช้างเบิ้มกับหมูน้อย เป็นซีรีส์ที่สนุกและตลกมาก ๆ เกี่ยวกับเพื่อนรักช้างกับหมู หนังสือเล่มนี้น้อยแต่มาก ผู้แต่งใช้ภาพเรียบง่าย ข้อความสั้น ๆ แต่สื่อสารกับผู้อ่านทุกวัย เรียกว่าอ่านแล้วขำกันได้ทั้งครอบครัว อีกทั้งยังเหมาะกับเด็ก ๆ ที่เริ่มอ่านหนังสือด้วยตัวเอง”

“หนังสือสำหรับเด็กเริ่มอ่านควรเป็นหนังสือที่สนุกจนทำให้เด็ก ๆ อยากหยิบหนังสือเล่มต่อไปขึ้นมาอ่าน จนรักการอ่านโดยไม่รู้ตัว”

อ่าน หนังสือชุดช้างเบิ้มกับหมูน้อย ได้ในนิทรรศการหนังสือภาพสำหรับเด็ก ตอน ท่องแดนหนังสือภาพ 

ครูแจนแจน

ผู้เขียนหนังสือภาพสำหรับเด็ก 

ชื่อหนังสือ : I Like Me!
ผู้เขียนและผู้วาด : Nancy Carlson
สำนักพิมพ์ : Puffin Books

ผู้คร่ำหวอดในวงการแนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็กสำหรับนักอ่านและผู้สนใจ ก่อนตะลุยเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก ๒๕๖๖ ตลอดเดือนตุลาคม
ภาพ : www.amazon.com

“เรื่องราวของเจ้าหมูที่มีเพื่อนสนิท แล้วการเดินเรื่องก็ค่อย ๆ เฉลยว่าเพื่อนสนิทของเขาคือตัวเขาเอง นี่เป็นหนังสือนิทานที่ชวนให้เด็กกลับมาทำความเข้าใจและนับถือตนเอง (Self-esteem) ไม่ใช่นิทานที่พยายามสอนให้เด็ก ๆ ต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามคุณค่าที่สังคมยึดถือ เล่มนี้จึงเหมาะกับผู้คนตั้งแต่ 3 – 99 ขวบ เรามองแบบนั้นจริง ๆ นะ เพราะเรารู้สึกว่าหลาย ๆ คนเติบโตมาโดยยังไม่มั่นใจในตัวเอง”

“จะเห็นว่าเจ้าหมูมีความสุขจากการทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เจ้าหมูไม่ต้องพยายามเปลี่ยนเป็นใคร เจ้าหมูแค่ตื่นเช้าขึ้นมาเป็นตัวเอง ให้กำลังใจตัวเอง และแน่นอนว่าเจ้าหมูก็มีวันที่เศร้าเหมือนกัน เด็ก ๆ ก็มีวันที่เศร้าเหมือนเจ้าหมู แต่สุดท้ายเจ้าหมูก็ให้กำลังใจตัวเองแล้วลุกขึ้นมามีความสุขใหม่

“เรามองว่าหนังสือภาพเป็นเพื่อนใจสำหรับเด็ก ๆ ที่ชวนให้ทำความเข้าใจโลกใบนี้ผ่านภาพในนิทาน บางเรื่องอาจเป็นประเด็นใหญ่ เช่น ศีลธรรม จริยธรรม แต่การที่เขาได้เห็นการสื่อสารเรื่องราวผ่านนิทานทำให้รับสารได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้เรายังเห็นความเป็นไปได้ของหนังสือภาพที่สื่อสารกับวัยต่าง ๆ ได้ แม้กระทั่งคนที่มีปัญหาบาดแผลทางจิตใจในชีวิต รวมไปถึงผู้สูงอายุที่กำลังเตรียมตัวกับการสูญเสียในช่วงปั้นปลาย”

สำหรับเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งนี้ ครูไนซ์จะเล่านิทานจากหนังสือภาพที่ไร้คำในกิจกรรม ‘Story Time โดย บ้านกางใจ’ ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ไนซ์-กะวิตา พุฒแดง 

ผู้ก่อตั้งพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็ก บ้านกางใจ

ชื่อหนังสือ : เม่นหลบฝน
ผู้เขียนและผู้วาด : ปรีดา ปัญญาจันทร์
สำนักพิมพ์ : Amarin Kids

ผู้คร่ำหวอดในวงการแนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็กสำหรับนักอ่านและผู้สนใจ ก่อนตะลุยเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก ๒๕๖๖ ตลอดเดือนตุลาคม
ภาพ : amarinbooks.com

เม่นหลบฝน เป็นนิทานภาพไม่มีตัวหนังสือ หรือเรียกว่า Wordless Book เรื่องราวในเล่มเล่าผ่านภาพวาดสีไม้ที่วาดและเขียนโดย อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์

“เรื่องราวหลักของนิทานนี้เกิดจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก กระต่ายจึงวิ่งเข้ามาหลบฝนใต้ต้นไม้ใหญ่ จากนั้นมีสัตว์ต่าง ๆ วิ่งเข้ามาหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ทีละตัวจนครบ 9 ตัว ตัวสุดท้ายคือเม่นซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง สัตว์แต่ละตัวต่างกลัวโดนหนามของเม่นแทง แต่ท้ายที่สุดเราจะเห็นถึงความเกื้อกูล พึ่งพาอาศัยกันของสัตว์ต่าง ๆ ที่พยายามหาวิธีหลบฝนภายใต้ต้นไม้ใหญ่ด้วยกัน

“ครูคะนิ้งชอบนิทานเล่มนี้เพราะไม่ต้องใช้คำพูดอธิบาย ใช้ภาพเป็นตัวเล่าเรื่องทุกอย่าง เวลาเอานิทานเรื่องนี้มาเล่าให้เด็ก ๆ ฟังจะเปิดภาพไปเรื่อย ๆ แล้วถามว่าเห็นแล้วรู้สึกยังไง เห็นอะไรในภาพ เราได้เห็นถึงความรู้สึกและความคิดของเด็ก ๆ เพราะภาพที่ไม่มีตัวหนังสือจะเปิดพื้นที่ให้เด็กจินตนาการ”

สำหรับเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งนี้ ครูคะนิ้งขอเชิญเด็ก ๆ และผู้ปกครองมาร่วมฟังนิทานตั้งโต๊ะที่ดัดแปลงจากนิทาน เม่นหลบฝน โดยมีดินปั้นเป็นภาพประกอบ และมีกิจกรรม ‘ปั้นดิน…ปั้นใจ ตอน เม่นหลบฝน’ ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2566

คะนิ้ง-วราภรณ์ ภักดีวงษ์

คุณครูที่เรียนจบเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก

ชื่อหนังสือ : กระดุ๊กกระดิ๊ก กระด๊อกกระแด๊ก
ผู้เขียน : เกริก ยุ้นพันธ์
ผู้วาด : ปรีดา ปัญญาจันทร์
สำนักพิมพ์ : Amarin Kids

ผู้คร่ำหวอดในวงการแนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็กสำหรับนักอ่านและผู้สนใจ ก่อนตะลุยเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก ๒๕๖๖ ตลอดเดือนตุลาคม
ภาพ : m.se-ed.com

กระดุ๊กกระดิ๊ก กระด๊อกกระแด๊ก เป็นเรื่องราวที่สนุกสนาน อ่านไปลุ้นไป เกี่ยวกับคุณยายคนหนึ่งที่ตื่นแต่เช้าแล้วอ้าปากหาวจนตั๊กแตนกระโดดเข้าไปในท้อง แต่ตั๊กแตนตัวนั้นไม่ตาย ทั้งยังดิ้นในท้องคุณยาย ทำให้คุณยายต้องไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านเพื่อหาวิธีกำจัดตั๊กแตน คุณยายจึงกลืนสัตว์ต่าง ๆ ลงไปในท้องหลายตัว สุดท้ายแล้วเรื่องราวจบลงแบบไหนต้องลองอ่านดู”

สำหรับเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งนี้ กิ๊บชวนทุกคนมาช่วยหาคำตอบว่าต้องทำอย่างไรถึงจะช่วยคุณยายได้ และเรื่องราวจะจบลงแบบไหน ต้องมาร่วมฟังเรื่องเล่าจากหนังสือ กระดุ๊กกระดิ๊ก กระด๊อกกระแด๊ก กับกิจกรรม ‘นิทรรศการหนังสือภาพและนิทานนานาชาติ โดย มูลนิธิเมล็ดฝัน’ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566

กิ๊บ-อลิสสา อุปศรี 

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเมล็ดฝัน

เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก ๒๕๖๖ (Children’s Picture Book Festival 2023) จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยสำนักพิมพ์ Barefoot Banana และความร่วมมือจากนักเขียน นักวาด นักแปล นักวิชาการ นักเล่านิทาน ผู้ทำงานร่วมกับเด็ก ห้องสมุด และสำนักพิมพ์ที่ผนึกกำลังเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์หนังสือภาพสำหรับเด็กให้มีคุณภาพ รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้กับเด็ก ครอบครัว และบุคคลทั่วไปได้เห็นถึงความสำคัญของหนังสือภาพสำหรับเด็ก

ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสถึงโลกหนังสือภาพสำหรับเด็กทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ในรูปแบบนิทรรศการและกิจกรรม ระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ณ TCDC กรุงเทพฯ

เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก ๒๕๖๖ (Children’s Picture Book Festival 2023) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ TCDC กรุงเทพฯ (แผนที่

ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ Facebook : Children’s Picture Book Festival

Writer

Avatar

ณัฐกานต์ บุตรคาม

เรียนรู้การเขียนจากไดอารี่เล่มเล็ก ความฝันวัยเด็กคือเป็นนักกีฬาแบดมินตัน ปัจจุบันเรียนวารสารศาสตร์