ทันทีที่ อาจารย์อุ๊-อุไรวรรณ ศิวะกุล ประกาศเปิดสอน ‘ห้องสด’ ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เคมี อ.อุ๊ ครั้งแรก!! ครั้งเดียว!! ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2566 ลูกศิษย์นับพันต่างแห่เข้ามาคอมเมนต์อย่างล้นหลาม 

…รอท่องตารางธาตุพร้อมกัน ให้ดังทั้งอิมแพ็คอยู่ครับ…

…อย่าหลุดนะลูกกกกกก (จากใจคนเรียนห้องสด สาขาสะพานควาย เมื่อ 23 ปีที่แล้วค่ะ)…

…บัตร VIP แถวหน้า 25,000 ได้สิทธิ์ Meet & Greet ถ่ายรูปก่อนแสดง รับตารางธาตุใส่กรอบพร้อมลายเซ็นใช่ไหมครับ

แม้ทั้งหมดจะเป็นเพียงข้อความล้อเล่นในวัน April Fools’ Day แต่ปรากฏการณ์นี้ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงความผูกพันที่อาจารย์คนหนึ่งมีต่อลูกศิษย์ได้เป็นอย่างดี

เพราะกว่า 30 ปีที่โรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ (เคมี อ.อุ๊) ถือกำเนิดขึ้น มีนักเรียนนับล้านชีวิตจากทั่วประเทศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่

อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต

หลายคนเคยเกลียดวิชาเคมีมาก่อน เรียนอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องสักที แต่เมื่อได้มาเจอกับอาจารย์อุ๊ ก็เปลี่ยนความคิด กลายเป็นยิ่งเรียนยิ่งสนุก จนได้คะแนนสอบดีขึ้น และเข้าคณะที่ตั้งใจได้ตามหวัง 

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงถือโอกาสดี ชักชวนติวเตอร์แถวหน้าผู้นี้มาร่วมพูดคุยถึงเส้นทางชีวิตการเป็นครูที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จนหยัดยืนเป็นอาจารย์กวดวิชาแถวหน้าของเมืองไทย และความสุขที่ไม่เคยจางหาย ต่อให้อายุจะเลยวัยเกษียณแล้วก็ตาม

เพราะเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของเธอก็คือการพาลูกศิษย์ไปยังฝั่งฝันให้สำเร็จนั่นเอง

อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต

“แม่จะพูดกับคนอื่นตลอดว่า อุ๊เป็นเด็กฉลาดตั้งแต่เด็ก แต่ไม่รู้ทำไมถึงไม่เรียนหนังสือ”

ย้อนกลับไปเมื่อ 60 กว่าปีก่อน เด็กผู้หญิงชื่อ อุ๊ เกิดและเติบโตขึ้นในครอบครัวชนชั้นกลางที่จังหวัดระนอง เธอเป็นลูกสาวคนกลางของพ่อชาวอินเดียที่เป็นนายช่างอยู่บริษัทเหมืองแร่ฝรั่ง ส่วนแม่เป็นแม่ค้าเชื้อสายจีนที่มีพื้นเพมาจากจังหวัดภูเก็ต

แม้ไม่ได้ร่ำเรียนสูง แต่ทั้งคู่ก็ช่วยกันเลี้ยงลูก 9 คนจนเติบใหญ่ หลายคนเรียนดีจนกลายเป็นนักเรียนแถวหน้าของจังหวัด จะมีก็เพียงแต่อุ๊เท่านั้นที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะเธอเป็นคนเดียวในบรรดาพี่น้องที่ไม่ยอมเรียนหนังสือ และไม่มีจุดมุ่งหมายใด ๆ ในชีวิต 

“แม่ครูก็ไม่ได้เรียนหนังสือ เลยไม่รู้จะสอนลูกยังไง สอนอย่างเดียวให้ขยัน ให้อ่านหนังสือ ให้ไปสอบ แต่ครูก็ไม่รู้จะอ่านอะไร จึงเล่นอย่างเดียว คือพอเลิกเรียน วางกระเป๋าปั๊บ ครูจะไปสนามเด็กเล่นเลย วิ่งจนกว่าเขาจะเลิกกันหมดถึงค่อยกลับบ้าน แล้วพอแม่ถามว่าจะสอบแล้วไม่ใช่เหรอ ทำไมไม่อ่านหนังสือ ครูก็ท่องบทอาขยานตามที่โรงเรียนเขาให้ท่องทุกเย็นหลังเลิกเรียน แต่ไม่เข้าใจหรอกว่าท่องไปทำไม รู้สึกว่าการเรียนน่าเบื่อมาก เลยไม่เรียน ไม่อ่านหนังสือ พอไปสอบก็ทำไม่ได้”

อีกหนึ่งสิ่งที่คอยฉุดรั้งให้เธอไม่อยากไปโรงเรียน ก็คืออาจารย์ที่ชอบดุ ชอบตี ใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ อย่างโง่เหมือนควาย เด็กไม่มีอนาคต

“บางครั้งครูนั่งสั่นเลยนะ ไม่มีความสุขเลย เพราะกลัวโดนดุ ตอนประถมมีอาจารย์สอนเลขซึ่งดุมาก ถ้าเราตอบไม่ได้ เขาจะฟาดด้วยสันหนังสือ พอโดนฟาด เราก็กลับมาบอกแม่ว่า หนูไม่เรียนแล้ว ครูคนนี้ตีหนูด้วยสันหนังสือ มันเจ็บ เพราะพ่อกับแม่ใจดีมาก แล้วทำไมเราต้องไปโดนตีที่โรงเรียนด้วย ครูไม่รู้ว่าทำไมคนข้างนอกเขาไม่ใจดีเหมือนพ่อแม่ คือตอนนั้นเราโทษแต่คนอื่น ทั้ง ๆ ที่บางครั้งเราเองมีส่วนผิดเหมือนกัน อย่างการบ้านก็ไม่เคยทำเลย”

เพราะขาดแรงจูงใจ บวกกับสมัยนั้นการเรียนสูง ๆ ยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นมากนัก พอจบชั้น ป.4 เพื่อนหลายคนจึงเลิกเรียน อาจารย์อุ๊เลยขอแม่ลาออกด้วยอีกคน แม่จึงถามกลับว่า ถ้าออกมาแล้วจะทำอะไร แม้จะยกเหตุผลสารพัด แต่สุดท้ายแม่ก็ยืนกรานคำเดียวว่า ต้องเรียนหนังสือ

ด้วยแม่ไม่อยากให้ลูกสาวต้องลำบากหลังขดหลังแข็งขายของแบบตัวเอง แต่ควรได้อยู่สบาย เป็นเจ้าคนนายคน รวมถึงแม่ยังอาจเห็นแววบางอย่างที่โดดเด่นของอาจารย์อุ๊ เพียงแต่ยังดึงออกมาไม่ได้เท่านั้นเอง

อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต
ภาพ อ.อุ๊ – พี่สาว – พี่ชาย

“เขารู้สึกว่าเราเป็นเด็กฉลาด คงดูจากการพูดคุย เพราะครูโตมาคู่กับพี่ชาย แล้วเวลาใครถามอะไร ครูจะเป็นคนตอบหมดทุกอย่าง เหมือนเด็กแก่แดด แม่คงว่าเด็กคนนี้มีความเฉลียวฉลาดอยู่ในตัว เพียงแต่ไม่ยอมเรียน และพอจบ ป.7 ครูก็ขอลาออกอีกเป็นครั้งที่ 2 แม่เลยบอกให้ไปสอบเข้าโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดก่อน เสร็จแล้วค่อยมาพูดกันอีกที”

แม้จะตั้งใจทำข้อสอบเต็มที่ แต่ผลการสอบก็เป็นไปตามคาด ด.ญ.อุไรวรรณ ทัฬหพงศ์พันธุ์ สอบไม่ติด โดยมีเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันอีก 10 คน 

เด็กสาวดีใจมากเพราะคิดว่าไม่ต้องเรียนต่อแล้ว แต่แม่ไม่ยอมแพ้ ตัดสินใจขอเข้าพบผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อขอให้รับลูกสาวเข้าเรียน พร้อมย้ำเหตุผลว่า “หากเด็กคนนี้ไม่ได้เรียนต่อ ก็จะกลายเป็นเด็กไม่มีอนาคต” แต่ทางโรงเรียนบอกว่ารับเพิ่มไม่ได้อีกแล้ว เพราะมีโต๊ะเรียนอยู่แค่นี้ แม่จึงยื่นข้อเสนอว่าจะทำโต๊ะเก้าอี้ไปให้ ผลจากความมุ่งมั่นทำให้ผู้อำนวยการยินยอม พร้อมกับบอกต่อในหมู่ผู้ปกครองของเด็กที่สอบไม่ผ่านว่า ให้ทำโต๊ะเรียนมามอบให้ สุดท้ายทุกคนจึงได้เรียนต่อตามที่หวัง

หากแต่โต๊ะเรียนนี้กลับเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่สื่อว่าเด็กพวกนี้คือคนไม่เก่ง เพราะโต๊ะส่วนใหญ่เป็นโต๊ะใหม่ทาเชลแล็กสีแดงสด เขียนชื่อเจ้าของโต๊ะไว้เสร็จสรรพ ต่างจากโต๊ะเรียนทั่วไปที่เก่า ๆ ดำ ๆ จึงตกเป็นเป้าหมายแรก ๆ ที่ครูจะดุเวลาเห็นเด็กไม่ตั้งใจเรียน และทำให้เด็กหญิงอุ๊ไม่อยากเรียนเข้าไปใหญ่ ยืนยันได้จากผลการเรียนที่รั้งท้ายอยู่ตลอด จนแม่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี จึงส่งตัวไปอยู่กับลูกสาวคนโต ซึ่งเคยเป็นนักเรียนอันดับ 1 ของจังหวัดระนอง ให้ช่วยดูแลแทน

“ครูไม่อยากไปเลย แต่แม่ก็บอกว่าให้ไปเถอะ อย่างน้อยพี่สาวก็สอนเราได้ ครูสงสารแม่ก็เลยยอมไป ซึ่งพี่สาวเขาเป็นคนเก่ง เขาจะโกรธเวลาเห็นครูไม่ยอมอ่านหนังสือ ตอนนั้นเขาบอกว่า อุ๊ จะสอบแล้ว เขาอ่านหนังสือกันหมดทุกบ้านเลย ถ้าเราไม่อ่านหนังสือแบบนี้ ไปไหนก็ไปเลย อย่ามานั่งให้เห็น ด้วยความที่กลัวพี่มากกว่าแม่ แต่เราไม่รู้จะไปไหน เที่ยวก็ไม่เป็น เลยมานั่งอยู่กับข้างบ้านแทน

“ข้างบ้านเป็นสองพี่น้อง เรียนห้อง ง. เหมือนเรา แต่เขาเก่งกว่า ไม่ได้เป็นเด็กโต๊ะแดง ตอนนั้นเขากำลังถาม-ตอบเรื่อง รามเกียรติ์ เราก็ไปนั่งฟังด้วย แต่เขาไม่ถามครูเลยนะ คงรู้ว่าตอบไม่ได้ แต่เราฟังแล้วรู้สึกสนุกดี พอถึงวันสอบ ปรากฏว่าข้อสอบเหมือนที่เขาคุยกันเลย สุดท้ายเราได้ท็อประดับ จำได้ว่าวันประกาศผล อาจารย์ปรบมือให้เลย เป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะนอกจากพ่อกับแม่แล้ว ครูไม่เคยได้รับคำชมจากใครเลย”

คนแรกที่อาจารย์อุ๊คิดถึงก็คือ แม่

เธอรอจนถึงวันที่แม่มาเยี่ยมเพื่อบอกว่า “หนูได้ที่ 1 ของวิชานี้” เมื่อแม่ได้ยินดังนั้นก็น้ำตาไหล และเข้าสวมกอดลูกสาวทันที พร้อมกับพูดว่า “เห็นไหมว่าหนูเก่ง ถ้าหนูเรียน ถ้าหนูพยายาม หนูจะเก่งกว่านี้นะลูก” แล้วก็ให้เงินรางวัล 10 บาท เพื่อไปกินขนม

เงิน 10 บาทจากแม่ที่ไม่เคยหมดหวังจากลูกสาวคนนี้ กลายเป็นจุดพลิกผันทำให้อาจารย์อุ๊หันกลับมาตั้งหน้าตั้งตาเรียนอย่างจริงจัง

“วันนั้นแม่บอกว่า เสาร์-อาทิตย์หน้าให้กลับบ้านได้ ซึ่งพอกลับไป ปรากฏว่าครูเดินในตลาดสด ทุกคนบอกว่า อุ๊เก่งมาก คือแม่ไปเล่าทั้งตำบลแล้ว จากนั้นครูก็เลยกลับมาอ่านหนังสือ แต่อ่านไม่เป็นหรอก ไม่รู้ต้องอ่านตรงไหน เลยอ่านทุกบรรทัด อ่านแล้วก็จำไปสอบ ครูบอกแม่ว่าต้องได้ที่ 1 แน่ ๆ แต่พอประกาศผล ครูได้ที่ 16 จาก 32 ตอนนั้นสงสารแม่มาก แต่แทนที่แม่จะเสียใจ กลับบอกว่า เก่งมากลูก หนูขึ้นมาได้ครึ่งหนึ่งแล้ว ถ้าหนูขยันอีกครึ่งหนึ่ง ต้องได้ที่ 1 แน่นอน คือแม่ครูเขามีจิตวิทยาสูงมาก”

ภายในระยะเวลาปีครึ่ง จากอันดับรั้งท้ายของโรงเรียน อาจารย์อุ๊ขยับขึ้นมาอยู่ห้อง ข. และกลายเป็นแถวหน้าของชั้นเรียน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือความทุ่มเทที่แม่มอบให้นั้นไม่สูญเปล่าอีกต่อไปแล้ว

อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต

ในสมัยก่อนชีวิตของเด็กต่างจังหวัดไม่ได้มีทางเลือกมากมายนัก อย่างอาจารย์อุ๊ หลังเรียนจบชั้น ม.ศ.3 จากโรงเรียนสตรีระนอง มีทางเลือก 2 ทาง คือย้ายไปเรียนต่อระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนประจำชาย หรือเรียนต่อสายอาชีพ โดยอาชีพยอดนิยมที่เด็กสาวหลายคนเลือกเรียน คือครูกับพยาบาล

ด้วยความอยากให้ลูกสาวมีงานมีการที่มั่นคง แม่จึงสนับสนุนให้เธอเลือกเรียนที่วิทยาลัยครูภูเก็ต เพราะทราบดีว่าอาจารย์อุ๊กลัวเลือด กลัวเข็ม ไม่มีทางเรียนพยาบาลได้แน่นอน

แม้ไม่เคยใฝ่ฝันอยากเป็นครูมาก่อน แต่พอได้สัมผัสกับวิชาต่าง ๆ ก็กลายเป็นความหลงรักไปโดยปริยาย ซึ่งวิชาที่เธอชอบที่สุดไม่ใช่วิชาทั่วไปอย่างคณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคม หรือวิทยาศาสตร์ แต่เป็นวิชาที่ว่าด้วยเทคนิคการสอน

อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต

“พอเรียนแล้วมันใช่เลย อย่างอาจารย์เล่าว่า เวลาลบกระดาน อย่าลบจากทางซ้ายไปขวานะ เพราะฝุ่นชอล์กจะฟุ้งกระจายโดนเด็กนักเรียน ให้ลบจากบนลงล่าง ฝุ่นชอล์กจะได้ไม่เข้าเด็ก หรือเวลาเขียนกระดานให้เอี้ยวตัวออกมา ไม่อย่างนั้นจะบังเด็ก แล้วเวลาสอนต้องสอนจากง่ายไปยาก หรือทำไมเวลาคุณพูดไปหลายรอบ แล้วดูเหมือนเด็กไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง เหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาหมด แต่ถ้าคุณลองเปลี่ยนมาสอนโดยการตั้งคำถามแทน เด็กจะเริ่มคิดหาคำตอบ ไม่ว่าเด็กจะคิดผิดหรือถูก เมื่อได้คำตอบจากกระบวนการสอนที่ให้เขาช่วยคิด เขาจะเข้าใจและจำได้ทันที 

“ที่สำคัญ คือถ้าเด็กตอบผิด อย่าไปว่าเด็ก เพราะเขาจะหมดกำลังใจ อย่างคำว่าผิด ไม่เคยหลุดจากปากครูเลย ครูจะบอกว่า ยังลูก พยายามอีกนิดนะ เกือบถูกแล้วลูก ทั้งหมดนี้ครูนั่งจดหมดเลยแล้วก็จำได้มาถึงทุกวันนี้”

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือวิชานี้เป็นเสมือนกระจกที่ช่วยสะท้อนตัวเองในอดีตว่า ทำไมถึงไม่อยากเรียน และเชื่อว่าการสอนที่ดีจะช่วยกระตุ้นให้พวกเขากลับมาสนุกกับการเรียนหนังสือได้

อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต
อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต

“ครูไม่อยากให้เด็กเป็นเหมือนอย่างที่ครูเคยเป็น ครูรู้ว่าถ้าถูกดุแล้วเขาจะกลัว จะมองแต่นาฬิกาว่าเมื่อไหร่เวลาจะหมด แล้วจะนั่งเรียนแบบทรมานมาก สิ่งนี้ต้องไม่เกิดกับเด็ก หรือเวลาที่ครูให้จับกลุ่มทำรายงาน เราก็กลัวเป็นตัวถ่วงของเพื่อน เขาจะรังเกียจเราหรือเปล่า มันเป็นปมด้อยนะ สิ่งเหล่านี้ครูคิดหมด เพราะเราเคยผ่านมาก่อน แต่เด็กที่เรียนเก่งมาตลอดอาจไม่เห็นมุมนี้ เขาไม่รู้ว่าเด็กบางคนกลัว ต้องการคำชม ตอนที่เราขาด ทำไมไม่มีใครให้ ไม่มีใครสักคนจะดึงเราขึ้นมา แต่ตอนเก่งมาชมทำไม ชมอยู่นั่นแหละ ครูเลยอยากดึงเด็กตรงนี้ขึ้นมาให้ได้ อยากให้กำลังใจพวกเขา”

หลังเรียนไป 2 ปีจนได้วุฒิประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา ก็ถึงคราวที่นักศึกษาแต่ละคนต้องเลือกวิชาเอก ในเวลานั้นอาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำว่าให้เลือกสิ่งที่ชอบ เพราะทำแล้วจะมีความสุข

ด้วยความที่เรียนดีทุกวิชา แต่มีวิชาหนึ่งที่อาจารย์อุ๊สนใจมากเป็นพิเศษ คือสังคมศึกษา โดยเฉพาะเรื่องภูมิศาสตร์ ซึ่งถือว่าเชี่ยวชาญเป็นอันดับ 1 

“ครูแทบไม่ต้องอ่านเลย จำได้ทุกอย่าง อย่างทุ่งหญ้าสะวันนา ครูรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในทุ่ง เต็มไปด้วยจินตนาการ เพราะสมัยเด็ก ๆ ครูอยู่ที่ตำบลหงาว เป็นตำบลที่สวยมาก เหมือนสวิตเซอร์แลนด์ ข้างหนึ่งเป็นน้ำตก อีกข้างเป็นภูเขาหญ้า แล้วครูจะไปวิ่งเล่น ปั่นจักรยาน ใช้ชีวิตแบบ Slow Life ส่วนประวัติศาสตร์ ถ้าเป็นเรื่องเล่า ครูก็ชอบเหมือนกัน เหมือนได้ฟังนิทาน”

ทว่าหลังเลือกเรียนสังคมได้ไม่กี่วัน อาจารย์ที่ปรึกษาก็ตามตัวและขอให้เปลี่ยนไปเลือกเรียนวิทยาศาสตร์แทน เพราะครูวิทยาศาสตร์เก่ง ๆ ค่อนข้างขาดแคลน ด้วยความที่ไม่อยากขัดผู้ใหญ่ อาจารย์อุ๊จึงรับปากไป

“เด็กเรียนสายวิทย์มีน้อยมาก 15 ห้องมีห้องวิทย์ห้องเดียว แล้วพวกเกรดสูง ๆ ถ้าใครอยู่ผิดที่ อาจารย์ก็จะลากมา ซึ่งครูก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกลากมา ตอนนั้นอาจารย์บอกว่าให้ไปลองนั่งเรียนสัก 1 เดือน ถ้าเรียนแล้วไม่ชอบค่อยกลับมาก็ได้ ครูก็โอเคนะ เรียนได้แหละ แต่ชอบสังคมมากกว่า และพอถึงเวลาที่เราจะกลับไป ปรากฏว่าต้องทำรายงานไม่รู้กี่อย่าง เพราะเราค้างไว้เดือนหนึ่งเต็ม ๆ ต้องทำตามหลังหมดเลย เลยตัดสินใจว่ามาทางนี้แล้วกัน ไม่อย่างนั้นตอนนี้ก็คงเป็นสังคมอาจารย์อุ๊ไปแล้ว”

อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต

หากแต่การเรียนเอกวิทยาศาสตร์กลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิดไว้ เพราะวิชาหนึ่งที่ตอนแรกอาจารย์อุ๊เรียนแล้วรู้สึกไม่ชอบเลยก็คือ เคมี

“เกรดแย่มาก ทุกคนจะชอบหรือไม่ชอบวิชาไหน ส่วนหนึ่งก็มาจากเกรด อย่างเด็กบางคนเกลียดเลขเพราะได้เกรดต่ำ ทั้งที่จริง ๆ แล้วปัจจัยอาจมาจากอาจารย์ออกข้อสอบยากเกินไป หรือสอนไม่รู้เรื่อง อย่างตอนแรกที่ครูเรียนเคมี อาจารย์ที่สอนเข้ามาแล้วบอกว่า คุณคงรู้แล้วนะว่าวิชาเคมีเป็นยังไง แล้วหน้าปกหนังสือเขียนว่าเคมีเบื้องต้น เมื่อเป็นเบื้องต้นมันต้องง่ายสิ แต่เขากลับบอกว่า ไม่เคยมีใครได้ A ของผม แล้วดูภูมิใจมาก และพออาจารย์สอน ครูรู้เลยว่าไม่ได้ A แน่ เพราะอาจารย์สอนไม่รู้เรื่อง การสอนไม่ค่อยเป็นระบบเลย แล้วสมัยนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต แถมหนังสือก็ต้องยืมห้องสมุด ถ้าคนอื่นยืมไปแล้วเราก็ต้องรอ ซึ่งในขณะที่รอ อาจารย์เขาสอนไปไกลแล้ว จำได้เลยว่าวันสอบ ครูท่องทุกอย่างที่อาจารย์สอนโดยไม่เข้าใจ เช่น ท่องการจัดเรียงอิเล็กตรอนของโซเดียม แต่ข้อสอบให้จัดเรียงอิเล็กตรอนของโพแทสเซียม ก็จบเลย

“พอสอบเสร็จ ครูทำไม่ได้เลย กลับมาที่หอพักมานั่งร้องไห้ กลัวจะได้ F แล้วก็สงสารแม่ ถ้าเราสอบตกจะบอกแม่ว่ายังไงดี เพราะเราทำให้แม่เสียใจมาเยอะแล้ว เพื่อนเองก็มาช่วยปลอบว่าทำไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งประกาศผลออกมา คะแนนเต็ม 100 ครูได้ 29 คะแนน ส่วนคนท็อปได้ 31 ก็ได้ C อยู่ 2 คน ส่วนที่เหลือได้ D กับ F มันทำให้เรารู้สึกว่า วิชานี้ทำไมถึงยากแบบนี้ ทำไมถึงเรียนไม่รู้เรื่องเลย ส่วนฟิสิกส์กับชีววิทยาได้ A จนกระทั่งเทอม 2 เปลี่ยนอาจารย์เป็น อาจารย์เจริญ บุญโยม ซึ่งคำถามแรกที่อาจารย์ถามคือ ใครไม่ชอบเคมีบ้าง ปรากฏว่ายกมือทั้งห้องเลย แล้วเขาก็เริ่มสอนใหม่หมด ซึ่งคราวนี้เรากลับรู้สึกว่า ทำไมง่ายจังเลย เพราะอาจารย์สอนแบบมีหลักการ เป็นระบบ หลังจากนั้นก็ได้ A เกือบทุกตัว”

แต่ถึงเกรดจะกลับมาดีแล้ว อาจารย์อุ๊ยอมรับว่าปมที่เคยได้ C ยังไม่จางหายไปไหน และคิดอยู่เสมอว่าตัวเองไม่ได้เก่งจริง แต่เป็นเพราะเจออาจารย์ดีต่างหาก และถ้าต้องกลับมาเจออาจารย์ที่สอนไม่เข้าใจอีก ก็คงทำไม่ได้เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ในช่วงสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา เธอจึงคิดจะเลือกเรียนต่อวิชาเอกฟิสิกส์ ซึ่งเป็นวิชาที่ได้คะแนนดีที่สุด

อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต

หากแต่โชคชะตาคงกำหนดไว้แล้วว่าผู้หญิงคนนี้ต้องเป็นครูเคมี เนื่องจากช่วงก่อนสมัครสอบมีเพื่อนมาขอยืมเลกเชอร์วิชาฟิสิกส์ไปอ่าน และพอถึงเวลาก็ยังไม่ยอมคืนสักที เบอร์โทรศัพท์ติดต่อก็ไม่มี เพราะสมัยนั้นระนองถือเป็นจังหวัดที่ห่างไกลมาก สุดท้ายอาจารย์อุ๊จึงเปลี่ยนมาสมัครสอบเคมีแทน เพราะอย่างน้อยก็มีตำราให้อ่านทบทวน ซึ่งในที่สุดเธอก็สอบเข้าวิชาเอกเคมีได้ตามที่เลือก

บรรยากาศในการเรียน เพื่อนฝูงและอาจารย์นั้นช่วยปลดล็อกความรู้สึกต่าง ๆ ในอดีต อาจารย์อุ๊เริ่มหลงรักและสนุกกับวิชาเคมีมากยิ่งขึ้น ยืนยันได้จากตอนฝึกงานที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง อาจารย์ที่เป็นพี่เลี้ยงยังเอ่ยปากชม

“นอกจากนั้นยังมีอาจารย์นิเทศก์ด้านการสอน ซึ่งไม่ใช่อาจารย์ภาควิชาเคมีแต่เป็นภาคการศึกษา มานิเทศก์การสอนเพื่อดูกระบวนการเรียนการสอน การควบคุมชั้นเรียน การใช้สื่อการสอน เพื่อแนะนำและช่วยเหลือให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งครูก็ไปสอนเรื่องธาตุและสารประกอบ พอครูสอนเสร็จ อาจารย์ที่มานิเทศก์การสอนบอกว่า เขาเข้าใจเคมีไปเลย หนูสอนได้ดีมาก แล้วอาจารย์ก็ไปเขียนในสมุดนิเทศก์ของเพื่อน ๆ ที่ไปฝึกสอนด้วยกันว่าให้ไปดูการสอนของอุไรวรรณ ทำให้ครูยิ่งแน่ใจว่าตัวเองมาถูกทางแล้ว”

อาจารย์อุ๊เรียนจบปริญญาตรีจากคณะศึกษาศาสตร์ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1 แถมยังได้รับคัดเลือกให้มาศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร โดยไม่ต้องสอบ ซึ่งที่นี่ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเด็กสาวจากระนองผู้นี้ไปตลอดกาล

แม้จะได้รับโอกาสให้มาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แต่อาจารย์อุ๊กลับไม่เคยคิดปักหลักในเมืองหลวงเลย เธอตั้งใจว่าเมื่อจบแล้วก็อยากกลับไปเป็นครูที่บ้านเกิด ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขท่ามกลางธรรมชาติ

ช่วงที่เรียนปริญญาโท อาจารย์อุ๊มีเพื่อนร่วมรุ่น 5 คน ซึ่งแต่ละคนล้วนมีดีกรีไม่ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์สำราญ พฤกษ์สุนทร หรือ อาจารย์วินัย วิทยาลัย ซึ่งต่างมีผลงานตำราเรียนมาแล้วหลายเล่ม ด้วยความที่อยากหาอาชีพเสริม แต่ไม่ถนัดเขียนหนังสือแบบพี่ ๆ อาจารย์อุ๊จึงนึกถึงการสอนพิเศษ 

พอดีระหว่างกลับหอพัก อาจารย์อุ๊ได้รับโบรชัวร์ของโรงเรียนกวดวิชาเตรียมทหาร PRE-CADET CENTER ซึ่งแจกอยู่หน้าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จึงชักชวนน้องสาวขึ้นรถประจำทางจากอโศกไปยังหัวลำโพง จนได้พบกับ อาจารย์ปฏิญญา คงขำ เจ้าของโรงเรียน

“พอไปถึงอาจารย์เขานึกว่าพาน้องมาสมัคร ครูบอกว่าไม่ใช่ ครูมาสมัครสอน เขาเลยถามว่าสอนอยู่ที่ไหน ครูบอกว่ายังไม่ได้สอน แต่เรียนปริญญาโทอยู่ เขาก็พูดว่า ครูที่มาสอนกวดวิชาต้องมีความรู้ความสามารถเหนือครูที่โรงเรียน ไม่เช่นนั้นเขาจะมาเรียนกับคุณทำไม แต่ครูก็ยังพยายามบอกเขาไปว่า หนูสอนเก่งนะคะ ได้เกรดฝึกสอน A ด้วย ตอนฝึกสอนอาจารย์ยังบอกให้เพื่อน ๆ ไปดูการสอนของหนูเลย เขาบอกครูว่า ผมก็ได้ A เหมือนกัน แต่ครูยังไม่ยอมแพ้ เลยพูดว่า หนูจบเกียรตินิยมอันดับ 1 ด้วยค่ะ คราวนี้เขาบอกว่า คนที่ได้เกียรตินิยมบางครั้งพูดกับเด็กไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าคุณได้อันดับ 1 แล้วสอนดีด้วยแบบนี้โอเค แต่ถ้าให้ผมเลือก ผมขอคนสอนดี ไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่ถ่ายทอดให้เด็กเก่งได้ นั่นคือเป้าหมายของเรา ได้ฟังแบบนี้ครูก็สิ้นหวังเลย 

“เขาคงเห็นใจเลยบอกว่า ตอนนั้นไม่ขาดครู แต่ขาดคนรับสมัครเด็ก ครูก็รีบบอกว่า รับทำค่ะ แต่หนูติดทำธีสิสอยู่ ถ้าหนูรับสมัครไปด้วย แล้วว่าง ๆ หนูทำธีสิสด้วยได้ไหม เขาก็บอกว่าได้สิ แต่ระหว่างนั้นครูก็เตรียมการสอนไปทุกวัน เผื่อวันหนึ่งที่เราจะได้โอกาสสอนบ้าง”

ไม่กี่วันความฝันของเธอก็กลายเป็นจริง เนื่องจากอาจารย์ที่สอนคณิตศาสตร์ในห้องเตรียมทหารขอลาหยุด อาจารย์ปฏิญญาจึงให้อาจารย์อุ๊มาสอนแทน

เธอใช้โอกาสนี้นำเนื้อหาพันธะเคมีที่เตรียมไว้มาสอน ซึ่งพอสอนเสร็จ ปรากฏว่าเด็ก ๆ ก็รีบไปบอกเจ้าของโรงเรียนว่าขอเปลี่ยนมาเรียนวิชาเคมีกับอาจารย์คนนี้แทน

“อาจารย์เขาคิดว่าเด็กผู้ชายก็คงชอบครูผู้หญิงสวย ๆ เพราะตอนนั้นครูอายุ 23 – 24 ส่วนนักเรียนก็ 17 – 18 อายุไล่ ๆ กัน พอดีที่นั่นมีกวดวิชาเข้าพยาบาลด้วย แกก็ลองให้ครูไปสอน ปรากฏว่าเด็กพยาบาลก็บอกว่าเอาครูคนนี้เหมือนกัน เขาก็เลยให้เซ็นสัญญา แล้วก็บอกว่า หากอนาคตหนูยังทำกวดวิชาอยู่ จะต้องเป็นมือ 1 ของประเทศแน่นอน เพราะเขาทำกวดวิชามา 15 ปี หาครูเคมีไม่ได้เลย เปลี่ยนมาแล้วไม่รู้กี่คน เด็กก็ไม่ชอบ แต่หนูเป็นแค่ฝึกสอน เด็กกลับบอกว่าจะเอาหนู แล้วหนูเป็นเด็กเรียนเก่ง มีความอดทนสูง ให้มาทำรับสมัครก็ยังทำ แสดงว่าเป็นคนมีความมุ่งมั่นสูงมาก ไม่เกี่ยงงาน บุคลิกหน้าตาก็ดี เสียอย่างเดียวเป็นผู้หญิง หากมีครอบครัวแล้วก็คงเลิก เราก็เถียงในใจว่า ทำไมเป็นผู้หญิงจะทำไม่ได้ แต่ก็รีบเซ็นสัญญาไป”

หลังเรียนจบปริญญาโทเมื่อ พ.ศ. 2525 อาจารย์อุ๊ก็มาบรรจุเป็นอาจารย์ประจำที่โรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ โดยตั้งใจว่าเมื่อน้องสาวเรียนจบก็จะทำเรื่องขอย้ายกลับปักษ์ใต้ แต่ผ่านไป 8 เดือนก็เกิดเหตุพลิกผัน เนื่องจากแม่ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนมาตลอดเสียชีวิตลงกะทันหัน และต่อมาเธอยังได้พบรักกับ อาจารย์เจี๊ยบ-อนุสรณ์ ศิวะกุล เพื่อนครูซึ่งสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนเดียวกัน จึงเปลี่ยนแผนมารับพ่อไปอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ โดยไม่ได้หวนกลับไปอยู่ที่ระนองอีกเลย

ระหว่างนั้น อาจารย์อุ๊ก็ยังคงสอนกวดวิชาควบคู่ไปด้วย แม้จะต้องทำงานหนักเพียงใดก็ไม่เคยหวั่นไหว ยังคงรับผิดชอบหน้าที่ทั้งสองอย่างเต็มที่ จนกระทั่งผ่านไป 4 ปีเต็ม หลังจากมีครอบครัวและมีลูกคนแรก อาจารย์อุ๊ตัดสินใจขอลาออกจากการสอนที่ PRE-CADET CENTER เพื่อให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น แต่คงเพราะเคยทำงานทุกวัน เมื่อลาออกมาเลยรู้สึกเหมือนว่างจนเกินไป อาจารย์เจี๊ยบซึ่งเก่งทางด้านบริหารจึงเสนอให้อาจารย์อุ๊รับสอนพิเศษที่บ้านแทน 

“ครูทำไม่เป็นเลย ไม่รู้จะเริ่มยังไง อาจารย์เจี๊ยบก็บอกว่า อุ๊ มันไม่ได้ยากเลย การสอนของตัวเองยังยากกว่าเยอะ เธอก็ติดประกาศหน้าบ้านว่ารับสอนคณิตศาสตร์กับเคมี สอนโดยอาจารย์เจี๊ยบและอาจารย์อุ๊ เดี๋ยวเด็กก็มาเอง ครูก็ลองดู ช่วงนั้นเพิ่งเลือกตั้งเสร็จ ครูก็ไปเอากระดาษที่เขาไม่ใช้แล้วมาให้น้องสาวเขียนด้านหลัง ไปติดที่ป้ายรถเมล์ ครูก็ไปนั่งเฝ้า ปรากฏว่าเทศกิจดึงออก สุดท้ายมีเด็กมาเรียนคนเดียวเป็นเด็กในหมู่บ้าน เขาเรียนที่บดินทรเดชาฯ แต่อยู่บ้านแถวรามอินทรา พอเรียนเสร็จเขาก็ไปชวนเพื่อนมา ถัดไปประมาณเดือนเดียว เด็กเต็มห้องเลย 30 คน แล้วตอนนั้นครูมีโต๊ะที่นั่งได้ 6 ที่นั่ง เป็นโต๊ะสำหรับกินข้าว สุดท้ายก็ต้องเอาออก ให้นั่งพื้นแทน ใครเหนื่อยก็นอนยาวเลย จนตอนหลังอาจารย์เจี๊ยบบอกว่า ไม่ไหวแล้วนะ จะให้เด็กนั่งกับพื้น หลังขดหลังแข็งแบบนี้ไม่ได้ ก็เลยต้องขยับขยาย”

พอดีช่วงนั้นอาจารย์เจี๊ยบมีเพื่อนเปิดโรงเรียนฝึกอาชีพอยู่ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ชั้น 5 ฝั่งสำนักงาน แล้วตอนเย็นกับวันเสาร์-อาทิตย์ไม่ได้ใช้ห้อง ทั้งคู่เลยขอไปเช่าห้องเล็ก ๆ ตรงนั้นเดือนละหมื่นกว่าบาท และเก็บค่าสอนเด็กนักเรียน 1,500 – 1,700 บาทต่อเทอม โดยคราวนี้จะสอนแต่วิชาเคมีอย่างเดียว ส่วนอาจารย์เจี๊ยบขอผันตัวไปทำงานด้านบริหารจัดการให้ภรรยาแทน

และเพื่อให้โรงเรียนกวดวิชานี้อยู่ได้จึงต้องเปิดสอนหลายรอบ จะได้มีเงินเพียงพอมาจ่ายค่าดำเนินการต่าง ๆ แต่ความท้าทาย คือที่ผ่านมาอาจารย์อุ๊มีชื่อเสียงแต่ในกลุ่มเด็กที่อยากเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ส่วนเด็กที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้นเป็นศูนย์

อาจารย์เจี๊ยบจึงแนะนำให้ทำใบปลิวแจกตามหน้าโรงเรียน โดยเปิดทดลองเรียนเคมี 7 วัน ให้เด็กจองและเลือกเวลาได้ และหากใครมาก็จะได้รับแจกข้อสอบเอนทรานซ์ย้อนหลัง 14 ปีด้วย ปรากฏว่ามีเด็กมาเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่ตั้งใจมารับข้อสอบเก่า ไม่ได้อยากเข้ามาเรียน เพราะอาจไม่เชื่อมั่นในครูผู้สอน

“รู้สึกเฟลเหมือนกันนะ แต่น้องสาวครูเขาเป็นคนพูดเพราะ เลยบอกว่าน้องลองไปนั่งเรียนก่อน ถ้าน้องเห็นว่าไม่ดีก็ออกมาได้ อาจารย์เขาไม่ว่าหรอก ซึ่งพอเด็กเข้าไปแล้วไม่ออกเลยสักคน เพราะครูเตรียมตัวแบบสุด ๆ ถ้าออกนี่คงเสียเซลฟ์เลย ตอนนั้นจำไม่ได้ว่าทดลองเรียนฟรีกี่รอบ แต่ครูบอกไปว่า ถ้าใครสนใจให้มาสมัครเรียน มีทั้งหมด 13 ห้อง ปรากฏว่าเต็มหมดทันที”

ผลจากการย้ายมาสอนที่เซนทรัล ลาดพร้าว ทำให้ชื่อเสียงของอาจารย์อุ๊โด่งดังมากในหมู่นักเรียนมัธยม แต่มุมกลับกัน ด้วยปริมาณเด็กที่เยอะเกินคาด ส่งผลให้บรรยากาศที่ชั้น 5 เต็มไปด้วยความวุ่นวาย 

หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี ออฟฟิศข้างเคียงก็เริ่มทนไม่ไหว เรียกร้องไปยังผู้บริหารของห้างให้ช่วยจัดการ ทางเซ็นทรัล ลาดพร้าว จึงยื่นข้อเสนอว่า หากต้องการเปิดสอนต่อ ให้ย้ายมาอยู่ชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นลานสเกตและลานจอดรถแทน แต่อาจารย์อุ๊เห็นว่าพื้นที่ตรงนั้นมีคราบเขม่าควันรถเยอะ จึงปฏิเสธไปและมาหาสถานที่ใหม่ที่อยู่ใกล้พื้นที่เก่าที่สุด จนมาเจอตึกแถวคูหาเดียวที่สะพานควาย จากนั้นก็ทำเรื่องกู้เงินธนาคารเพื่อซื้อตึกมาเปิดเป็นโรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ หรือ PURE CHEM CENTER ตั้งแต่ พ.ศ. 2532

ด้วยเหตุนี้ อาจารย์อุ๊กับอาจารย์เจี๊ยบจึงทำเรื่องขอย้ายจากโรงเรียนเดิมซึ่งอยู่ไกลถึงมีนบุรี โดยอาจารย์อุ๊ย้ายมาที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ขณะที่อาจารย์เจี๊ยบก็โยกมาอยู่ที่โรงเรียนศรีอยุธยาแทน ทว่าด้วยอายุราชการที่มากขึ้น ภาระงานต่าง ๆ ทั้งงานหลวงงานราษฎร์จึงเพิ่มพูนขึ้นตามไปด้วย และเป็นเหตุให้อาจารย์อุ๊ต้องลาออก แม้ตั้งใจว่าจะทำงานราชการจนเกษียณก็ตาม

อาจารย์เป็นคุณครูประจำชั้น ม.6/7

“แม่จะสอนตลอดว่าอย่าเอาเปรียบคนอื่น แต่ให้ยอมเสียเปรียบ ซึ่งเป็นการสอนที่แปลกมาก เพราะเขามองว่าถ้าเรายอมคนอื่นได้เราจะไม่ทุกข์ แล้วอีกอย่าง คือเวลาทำอะไรก็ต้องดีที่สุด อย่าให้ใครมาตำหนิได้ เพราะฉะนั้นทางโรงเรียนมอบงานอะไร ครูทำหมด ถ้าเขาบอกว่า พี่ขอ 3 วันนะ ครูจะทำเสร็จภายใน 2 วัน ขณะที่งานสอนก็ทิ้งไม่ได้ เพราะเด็กเขาก็ฝากชีวิตไว้กับครู ส่วนอาจารย์เจี๊ยบก็ทำสุดตัวเหมือนกัน จนครูได้เป็นหัวหน้างานสารนิเทศ ส่วนอาจารย์เจี๊ยบเป็นหัวหน้างานแผนงานตั้งแต่เด็ก ๆ เลยทั้งคู่ เมื่อครูย้ายมาอยู่ที่สามเสนฯ ก็คุยกันว่าอย่ารับงานหนักเกินไปนะ เพราะตั้งใจจะรับผิดชอบการสอนให้สุด ๆ ไปเลย แต่สุดท้ายพออาจารย์หัวหน้าหมวดให้งานอะไร เราก็เต็มที่เหมือนเดิม จน ผอ.เสรี ลาชโรจน์ ได้พูดชื่นชมครูในที่ประชุมผู้ปกครองเลยว่าเป็นครูที่มีคุณภาพสูง สอนเก่ง เด็ก ๆ รัก ซึ่งครูภูมิใจมาก

“แต่พองานมหาศาล การสอนก็บ้าบิ่น ครูเลยไม่ได้หยุดเลย 365 วัน เช้าไปโรงเรียน เย็นสอนสด เสาร์-อาทิตย์สอนเช้ายันเย็น แล้วยังต้องดูแลลูกอีก เหนื่อยสุด ๆ จนอาจารย์เจี๊ยบบอกว่าลาออกเถอะ ถ้าไม่ออกอายุสั้นแน่ ๆ เธอทำงานไม่เหมือนคนแล้ว ในที่สุดครูก็เลยยื่นเรื่องลาออก แต่ ผอ. บอกว่าขออีก 2 ปี ครูจึงอยู่จนครบตามสัญญา และตอนนั้นอาจารย์เจี๊ยบย้ายมาอยู่ที่สามเสนฯ พอดี ผอ. ก็ว่าอาจารย์เจี๊ยบมาแล้วจะออกได้ไง ครูเลยบอกว่า นี่ไงหนูเอาคนคุณภาพมาแทนให้แล้ว” อาจารย์อุ๊เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

พ.ศ. 2537 นอกจากเป็นปีที่อาจารย์อุ๊ลาออกจากราชการแล้ว ยังเป็นปีที่โรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ได้รับความนิยมถึงขีดสุด จากที่เคยกั้นพื้นที่สอนไว้ชั้นเดียว ก็ต้องขยายเพิ่มเป็น 2 – 3 ชั้น เริ่มซื้ออาคารฝั่งตรงข้าม แล้วก็ยิงสัญญาณสดเพื่อให้เด็กได้เรียนพร้อมกัน แต่ถึงจะขยายอย่างไรก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียนอยู่ดี จนเด็กหลายคนพลาดโอกาสในการเรียน

กระทั่งปีต่อมาก็เกิดปรากฏการณ์ที่เขย่าวงการการศึกษา เนื่องจากในวันรับสมัคร มีผู้ปกครองจำนวนมากไปจอดรถรอหน้าโรงเรียนตั้งแต่เที่ยงคืน ส่งผลให้ชาวบ้านและพนักงานในออฟฟิศละแวกนั้นเข้าออกไม่ได้ จนบางแห่งต้องประกาศหยุด ขณะที่ผู้ปกครองก็พากันแย่งสมัครเรียนจนถึงขั้นต้องโทรศัพท์เรียกตำรวจมาช่วยจัดการ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้อาจารย์อุ๊ต้องเปิดสาขาเพิ่มอีก 2 แห่งที่บางกะปิและวิสุทธิกษัตริย์ นับเป็นโรงเรียนกวดวิชาแรก ๆ ที่นำระบบวิดีโอเข้ามาใช้สอนอย่างจริงจัง

“เรื่องสาขาเป็นความคิดของผู้ปกครอง เพราะตอนนั้นผู้ปกครองพูดว่าอาจารย์อุ๊ไม่มีความรับผิดชอบ ในเมื่อลูกเขาได้เรียนเทอม 1 แต่เทอม 2 ไม่ได้เรียน เด็กจะรู้สึกยังไง แต่ครูรับได้แค่ 300 คน เมื่อมาเป็นพันก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน ผู้ปกครองเลยบอกว่าเอาแค่เทปมาก็ได้ เพราะปัจจุบันหลายคนเรียนจากห้องที่อาจารย์ถ่ายทอดมาจากฝั่งตรงข้าม ครูก็บอกว่าเขาจะเรียนกันเหรอ ทุกคนก็บอกว่าเรียน แต่ขอให้อาจารย์อุ๊เป็นคนสอน เลยมาเปิดที่บางกะปิก่อน เพราะเด็กบดินทรฯ เรียนกันเยอะ พอเปิดที่บางกะปิ เด็กสวนกุหลาบฯ ก็บอกจะให้ไปไกลถึงที่นั่นเลยเหรอ ครูเลยต้องมาเปิดที่วิสุทธิกษัตริย์ด้วย”

จากนั้นอาจารย์อุ๊ก็เริ่มขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนนทบุรี สยามสแควร์ และวงเวียนใหญ่ แต่ก็ยังมีเสียงเรียกร้องจากเด็กต่างจังหวัดที่อยากเรียนไม่ขาดสาย ทว่าด้วยความที่ไม่มั่นใจว่าจะควบคุมคุณภาพได้เหมือนสาขาในกรุงเทพฯ หรือไม่ อาจารย์อุ๊จึงทดลองเปิดสาขาแรกที่ชลบุรี เพราะอยู่ไม่ไกล และหากมีกรณีฉุกเฉินก็จัดการได้ทันที 

เมื่อทุกอย่างลงตัว อาจารย์อุ๊จึงเริ่มเปิดสาขาตามหัวเมืองใหญ่ ๆ อย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ ก่อนต่อยอดไปยังจังหวัดเชียงราย นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา พัทลุง ตรัง ชุมพร ภูเก็ต อุบลราชธานี บุรีรัมย์ อุดรธานี ร้อยเอ็ด สกลนคร ลำปาง ระยอง ฉะเชิงเทรา พิษณุโลก นครสวรรค์ ราชบุรี และสระบุรี รวมแล้วกว่า 30 สาขา

“เรื่องคุณภาพเป็นสิ่งที่ครูให้ความสำคัญที่สุด ไม่ใช่เปิดแล้วคุณภาพต่ำลง โดยครูจะให้เจ้าหน้าที่ทุกคนมาอบรม แล้วเทปที่เปิด ครูไม่ตัดต่อ เด็กห้องสดได้อย่างไร เด็กคนอื่นก็ต้องได้แบบนั้น เจ้าหน้าที่เองก็ต้องดูแลเต็มที่ อย่างเด็กเล่นมือถือ ตอนแรกเขาไม่รู้จะจัดการยังไง ครูเลยสั่งการไปเลยว่า ทุกคนที่จะเข้าเรียนต้องฝากมือถือ ถ้าไม่ฝากไม่ให้เข้า หรือถ้าเกิดใครนั่งคุยกัน เจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าไปดู ต่างจังหวัดก็เหมือนกัน ครูให้ไลน์กลุ่มเด็กเลยว่า พี่เจ้าหน้าที่แต่ละคนเป็นยังไง แล้วเด็กเขาช่างฟ้องอยู่แล้ว ถ้าเขาว่าคนนี้ไม่ดี ครูจะมาตามจี้และประชุมทันทีว่าจริงไหม มันเลยคุมคุณภาพได้” 

แต่จุดที่ถือเป็นก้าวกระโดด คือการเปิดสาขาพญาไทที่อาคารวรรณสรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2551 โดยอาจารย์อุ๊ตั้งใจให้ที่นี่เป็นอาคารแห่งการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะนอกจากรวบรวมสถาบันกวดวิชาหลายแห่งไว้ด้วยกัน ยังปราศจากแหล่งอบายมุข รวมทั้งนำระบบการเรียนส่วนตัวผ่านคอมพิวเตอร์มาใช้ โดยหากคนใดที่ขาดเรียนก็เช่าเทปเพื่อเรียนย้อนหลังได้

การเติบโตตลอดหลายสิบปีของ เคมี อ.อุ๊ ถ้ามองในแง่ธุรกิจก็ต้องถือว่ายอดเยี่ยม แต่สำหรับอาจารย์อุ๊แล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย เพราะเป้าหมายที่อยากเห็น คือการที่เด็กไทยได้ความรู้และพื้นฐานที่ดีกลับไป

ไม่เพียงแค่นั้น เธอยังต้องเผชิญแรงกดดันสารพัดที่ถาโถมเข้ามา ทั้งถูกด่าทอ ใช้คำผรุสวาทโจมตีรุนแรง อย่าง ‘อี SONY’ เพราะต้องการเสียดสีการสอนผ่านจอโทรทัศน์ หรือ ‘อีวุ้นกะทิ-อีวุ้นนครปฐม’ ซึ่งแปลงมาจากร้านวุ้นคุณอุ๊ ถูกร้องเรียนไปที่กระทรวงศึกษาธิการว่าใช้อาคารที่ไม่ปลอดภัย ทั้งที่อาคารผ่านการตรวจสอบและได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการแล้วทุกสาขา จนบางครั้งก็ท้อถอยไปเหมือนกัน แต่โชคดีที่มีคำเตือนสติจากผู้ใหญ่ที่นับถืออย่าง อาจารย์ชูจิตต์ พิทักษ์ผล อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ทำให้เธอก้าวผ่านสถานการณ์เหล่านี้มาได้

“ครูไปหาท่านตอนปีใหม่ทุกปี และมีอยู่ปีหนึ่งครูก็เล่าเรื่องนี้ให้ท่านฟังว่า ทำไมหนูต้องโดนอย่างนี้ด้วย คนไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ ซึ่งอาจารย์ก็บอกว่า ถ้าอุ๊ไม่ดัง ไม่มีเหตุการณ์แบบนี้หรอก แต่ถ้าเราดัง เราก็เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ต้องดูแลต้นไม้เล็ก ๆ เราต้องปกป้องเขา ต้องหยั่งรากให้ลึก เราถึงจะปกป้องทุกคนได้ อย่าโอนเอนตามลม ตอนหลังครูเลยปล่อยเขาไป ช่างมัน ถือว่าเขาไม่เข้าใจเรา เพราะถ้ารู้จักเราจริง เขาจะเป็นอีกแบบหนึ่ง และสำหรับครูแล้ว แค่ให้เด็กเข้าใจก็เพียงพอแล้ว”

สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้โรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ยังคงเติบโต เป็นแถวหน้าของสถาบันการศึกษาไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต
อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต

แม้ลูกศิษย์หลายล้านคนที่เข้ามาเรียนเคมีจะไม่เคยพบอาจารย์อุ๊ตัวจริงเลย แต่น่าแปลกที่พวกเขากลับรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับครูคนนี้เป็นอย่างยิ่ง

เพราะนอกจากความเมตตาที่สัมผัสได้จากท่าทางและน้ำเสียง เทคนิคการสอนที่ไม่เหมือนใครก็เป็นอีกเสน่ห์ที่อยู่คู่กับอาจารย์อุ๊มาตลอด 30 – 40 ปี

โดยที่นี่เน้นสอนเป็นขั้นบันไดจากง่ายไปหายาก ไม่ข้ามขั้นเด็ดขาด เพราะเคมีเป็นวิชาที่ยาก หากสอนข้ามขั้นนิดเดียว บางคนอาจเรียนไม่รู้เรื่องเลยก็ได้ และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกศิษย์หลายคนต่างพูดตรงกันว่า ถึงอาจารย์อุ๊จะสอนช้า แต่มั่นใจได้เลยว่าพื้นฐานที่ได้รับกลับไปนั้นแน่นปึ้ก 

“การสอนกวดวิชา ครูแบ่งเด็กเป็นห้องเก่งหรือห้องอ่อนไม่ได้ ครูจึงวางแผนว่าแบบเรียนของครูต้องเป็นตัวนำตรงนี้ ครูจะให้ทำโจทย์ที่ง่ายก่อน เด็กเก่งก็ทำไปเรื่อย ใครทำได้ก็ทำไป แต่ครูจะมีโจทย์ยากดักอยู่ ซึ่งพอคนเก่งติดข้อนี้ เขาก็จะพยายามแกะให้ออกก่อน แล้วเขาก็จะไปติดข้อถัดไปที่ยากกว่า มันก็จะทันกัน ขณะเดียวกันเราก็ต้องดึงเด็กอ่อนไปด้วย เพราะครูรู้ว่าที่เขาไม่เก่งเป็นเพราะเขาไม่มีพื้น ไม่ใช่เขาไม่ฉลาด แค่ยังเรียนไม่เป็น ถ้าครูปูพื้นให้ เดี๋ยวเขาก็ไปได้เองแล้ว

“แล้วเวลายกตัวอย่าง ครูจะพยายามยกอะไรที่ใกล้ตัวเขา เช่นถามว่า เสถียรหมายถึงพลังงานสูงหรือต่ำ คนหนึ่งบอกสูง อีกคนบอกต่ำ เราจะทำยังไงให้เขารู้ ครูก็จะสมมติเหตุการณ์ เช่น นักเรียนนั่งอยู่แล้วมีคนเสพยาบ้าเข้ามาคนหนึ่ง นั่งลุกลี้ลุกลน พอครูยกปากกาจะเขียน มันวิ่งออกไปบอกอาจารย์อุ๊จะเอามีดแทง แล้วก็หนีไปปีนเสาไฟฟ้า นั่นคือคนไม่เสถียร แบบนี้แสดงว่าพลังงานสูงหรือต่ำ จบเลย คือถ้าเขาเข้าใจแล้วมันง่ายกว่าจะมานั่งท่องว่า เสถียรคือพลังงานต่ำ ไม่เสถียรคือพลังงานสูง

“อย่างตารางธาตุก็เหมือนกัน บางคนเขาสอนให้ท่องตัวย่อว่า ลิ-นา-เค (Li-Na-K) แต่ครูว่าถึงจำได้เร็วแต่ใช้ได้ช้า พอบอกว่า โซเดียมคลอไรด์ ก็ต้องมาแปลงก่อนว่า โซเดียม คือ Na สู้ตรงไปตรงมาเลยดีกว่า เป็น ลิเทียม-โซเดียม-โพแทสเซียม แล้วก็ต้องมีจังหวะในการท่อง โดยต้องท่องเรียงลำดับธาตุก่อนหลังตามตารางธาตุ ต้องไม่พูดสลับธาตุกัน เพราะเด็กยังจำไม่ได้ เดี๋ยวเขาจะสับสนว่าตัวไหนมาก่อน แล้วพอเขาคล่องแล้วถึงเล่นสลับธาตุได้ คือเด็กอาจไม่รู้ว่านี่คือเทคนิค แต่มันแฝงทุกครั้งที่ครูสอน แม้แต่คำพูดว่า 2 ตัวนี้รวมกัน ถ้าครูใช้คำว่า ‘รวม’ บางครั้งเขาไม่เข้าใจ แต่พอใช้คำว่า ‘บวก’ เขาจะ อ๋อ ทันที ครูก็เลยใช้ว่าคำว่า ‘บวก’ มากกว่า ‘รวม’ ไม่น่าเชื่อว่าคำเดียวจะมีผลขนาดนี้ ครูก็จะจดสิ่งเหล่านี้เก็บสะสมเอาไว้”

สำหรับอาจารย์อุ๊แล้ว การสอนก็เปรียบเสมือนศิลปะการแสดงแขนงหนึ่งที่ต้องมีการเตรียมตัว เตรียมพร้อม อาศัยทักษะและศาสตร์ต่าง ๆ มากมาย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใคร ๆ ก็ทำได้ อย่างเรื่องหนึ่งที่อาจารย์อุ๊ไม่เคยละเลย คือการสังเกตสีหน้าและอากัปกิริยาของนักเรียนแต่ละคน โดยมีคำพูดหนึ่งที่มักติดปากตลอดเวลาคือ ‘อย่าหลับนะลูก เดี๋ยวหลุด’ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนตื่นตัวและตั้งใจเรียนอยู่เสมอ

“เหมือนเรามีแฟนแล้วแฟนงอน เราดูออกไหม ต่อให้เขาทำท่ายิ้ม แต่เขายิ้มแปลก ๆ การสอนก็เหมือนกัน ครูสังเกตแววตาว่าเขาดูไม่มีความสุข เขาไม่เข้าใจ ซึ่งครูจะจี้ด้วยคำถาม ครูจะไม่สอนซ้ำ เพราะถ้าสอนซ้ำ มันฝังว่า ไม่รู้เรื่องแล้ว สอนไปก็ไม่รู้เรื่องเหมือนเดิม แต่การถามจะทำให้เรารู้ว่า เขาไม่เข้าใจตรงไหน แล้วถึงจะอธิบายให้เขาเข้าใจ ส่วนเด็กที่ไม่ได้เรียนห้องสด ถึงเราจะมองตาเขาไม่ได้ แต่เราใช้ห้องสดเป็นตัวแทน แล้วอย่างที่บอกว่า เทปเราไม่ตัดต่อเลย ปัญหาต่าง ๆ ก็เลยถูกแก้ไปด้วยในตัว”

นอกจากนี้ การตอบคำถามหลังเลิกเรียนก็เป็นอีกสิ่งที่อาจารย์อุ๊ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน แม้บางครั้งจะกินเวลายาวนานหลายชั่วโมง แต่อาจารย์ก็จะยืนตอบจนนักเรียนคนสุดท้ายออกจากห้อง เพราะถือว่านักเรียนต้องมาก่อน ส่วนเรื่องอื่นนั้นยังรอได้

แถมบางครั้งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแค่เรื่องเคมีเท่านั้น แต่รวมไปถึงชีวิตส่วนตัว เช่น เรียนอย่างไรไม่ให้หนักเกินไป เส้นทางในอนาคตควรไปทางไหนต่อ ทั้งหมดนี้กลายเป็นความผูกพันระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ ยืนยันได้จากหลายคนที่เรียนจบไปแล้วยังคงแวะเวียนมาขอคำปรึกษา หรือแม้แต่คนที่ยังเรียนอยู่ก็รวมตัวกันจัดงานไหว้ครูให้ ทั้ง ๆ ที่อาจารย์อุ๊เป็นครูนอกระบบ

อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต

อาจารย์อุ๊เชื่อมั่นเสมอว่า หัวใจของการเป็นครูคือการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่นักเรียน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่สอนเสร็จ เธอก็จะกลับมาประเมินและทบทวนการสอนของตัวเองว่ายังมีจุดไหนที่พลาดและต้องพัฒนา เพื่อให้การสอนในครั้งต่อไปดียิ่งขึ้น หรือแม้แต่หนังสือเรียนก็ต้องปรับปรุงเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เนื้อหาทันสมัย และสอดคล้องกับการเรียนรู้ของทุกคนอย่างแท้จริง

“หน้าปกหนังสือเรียนของเราเหมือนเดิม แต่ข้างในมีการเปลี่ยนแปลงตลอด เพราะทุกครั้งที่สอน ครูจะเห็นจุดอ่อน ครูจะให้คะแนนตัวเองว่า ถ้าวันนี้เด็กตอบไม่ลื่น ก้มทำโจทย์นานมาก ครูจะรู้แล้วว่าหนังสือที่เขียนมีปัญหา ข้ามขั้นมากเกินไป เพราะฉะนั้น ปีถัดไปครูก็จะเอาโจทย์ข้อนั้นมาแตกเป็น 2 ข้อ เราทำให้เขารู้สึกว่ามันง่าย เปรียบเสมือนขึ้นบันไดทีละขั้น ไม่ต้องข้ามทีละ 2 – 3 ขั้น และต่อให้เราไม่พลาด แต่การให้ทำโจทย์เดิมตลอดมันน่าเบื่อสำหรับครูผู้สอน เหมือนเราร้องเพลงครั้งแรกแล้วชอบมาก แต่พอร้องหลาย ๆ ครั้ง เราจะร้องแบบไม่มีอารมณ์ร่วม เช่นเดียวกับการสอน การสอนซ้ำแบบเดิม ๆ เวลาพูดก็จะเหมือนท่อง ไม่มีความรู้สึกร่วม เหมือนไม่มีตัวตน

อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต

“อีกอย่างคือครูเป็นคนซีเรียสและอยากทำทุกอย่างให้ดีที่สุด มีอยู่ครั้งหนึ่ง ครูแก้หนังสือเรียนอยู่ แล้วเหลือเวลาอีกอาทิตย์หนึ่งต้องพิมพ์แล้ว น้องสาวครูก็โทรมาบอกว่า พี่อุ๊ จะสั่งหนังสือแล้วนะ เพราะเราพิมพ์ 20,000 เล่ม ถ้าช้าจะไม่ทัน ครูเลยบอกว่า รอก่อน เผื่อทัน เขาก็คงเข้าใจว่า ถ้าไม่ทันก็ให้พิมพ์ไปเลย ซึ่งสุดท้าย น้องสาวครูคิดว่าครูรับรู้แล้ว และครูก็ยังไม่ส่งต้นฉบับใหม่มาสักที เขาก็สั่งพิมพ์ไปเลย พอแก้เสร็จ ครูก็บอกว่าระดมเจ้าหน้าที่พิมพ์เรื่องนี้เรื่องเดียวเลย เขาก็บอกว่าสั่งพิมพ์ไปแล้ว ครูก็เลยบอกว่าไม่เป็นไร พิมพ์ใหม่ ส่วนเล่มที่พิมพ์ไปแล้วก็แจก 2 เล่มเลย พอเรื่องไปถึงอาจารย์เจี๊ยบ เขาก็บอกว่า อุ๊ เวลาประมูลหาโรงพิมพ์กว่าจะลดได้ 1 – 2 สลึงต่อเล่ม คุยกันนานมาก แล้วนี่จะทิ้งเงินเป็นแสนบาทเลยเหรอ ครูก็บอกว่าใช่ อาจารย์เจี๊ยบก็บอกว่า ตัวเองต้องมีเหตุผล ถ้ามีเหตุผลที่ดีเขาจะรับฟัง ครูเลยบอกว่าเนื้อหาที่ครูแทรก เล่มเดิมมันพิมพ์สลับข้อ เรื่องเลยไม่เรียงจากง่ายไปยาก อาจารย์เจี๊ยบก็เลยถามว่า แล้วเด็กเรียนไม่รู้เรื่องเหรอ เห็นเด็กยังสอบได้คะแนนสูง ๆ และเป็นที่ 1 ของประเทศอยู่เลย เขาก็ว่ามันแค่สลับข้อนิดเดียว จะเป็นอะไรหนักหนา สุดท้ายครูก็ให้เหตุผลว่า ถ้าคนสอนไม่มีความสุขในการสอน จะสอนดีได้อย่างไร ในเมื่อรู้ว่ามีสิ่งที่ดีกว่า แต่เราไม่ได้ให้เขา แค่นี้อาจารย์เจี๊ยบบอกว่า โอเค เข้าใจ งั้นพิมพ์ใหม่เลย

“คือสำหรับครูแล้ว ถ้าเป็นเรื่องการเรียนการสอนต้องมาอันดับ 1 อะไรที่ไม่ใช่ ครูพร้อมจะเปลี่ยนเลย เช่นเด็กมาบอกว่านั่งตำแหน่งนี้มองไม่เห็น ครูสั่งให้เอาทีวีมาเสริมทันที หรือตัวอาคารก็ต้องสะอาด ถ้าลองเดินแล้วเอามือไปปาดจะไม่มีฝุ่นเลยสักนิด เพราะเราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก อย่างเช่นชั้น 14 – 15 อาคารวรรณสรณ์อยู่มา 14 – 15 ปี ไม่เคยทำใหม่ ไม่เคยทาสี ไม่มีร่องรอย จนเด็กบอกว่า ถ้าใครเดินแล้วเอาดินสอมาขีดไว้นะ พรุ่งนี้รอยขีดนั้นหายทันที หรือห้องน้ำก็ต้องสะอาด ทุกอย่างครูจี้หมด ครูถือว่าเด็กได้ก็พอแล้ว เพราะไม่รู้ว่าชีวิตจะเอาอะไรมากไปกว่านี้ เนื่องจากเรามาจากเด็กที่ดูเหมือนไม่มีอนาคตมาก่อน แต่แม่ผลักดัน จนเราโตได้ขนาดนี้ มันมาไกลเกินฝันไปแล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำคือช่วยผลักดันให้เด็กไปถึงที่ฝัน เป็นคนดีของสังคม เฉกเช่นที่แม่เคยผลักดันครูมา”

วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่คุกคามชีวิตผู้คนทั่วโลกนานกว่า 2 ปีกลายเป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่ของโรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ เพราะเหตุการณ์นี้เกือบทำให้อาจารย์อุ๊เลิกสอนไปเลย

“ตอนนั้นปัญหาหนักมาก เพราะเราเรียนคอร์สเอนทรานซ์ไปแล้ว 9 ครั้ง ก็เกิดโควิดระบาด ทางการเลยสั่งปิดตอนเดือนมีนาคม ครูคิดว่าปิดแค่ 10 กว่าวัน เดี๋ยวเรามาเจอกันใหม่ เหมือนตอนไข้หวัดนกหรือโรคซาร์ส ไม่คิดว่าจะรุนแรง แต่กลายเป็นว่าพฤษภาคมก็แล้ว มิถุนายนก็แล้ว ยังทำอะไรไม่ได้ เด็กก็ไลน์มาขอให้ครูทำออนไลน์ ครูเองก็ไม่กล้าทำอะไร เพราะถ้าเปิดโดยที่เราไม่พร้อม เละตุ้มเป๊ะแน่ สุดท้ายโดนผู้ปกครองตำหนิมาก เพราะครูไม่คิดว่าจะยาวนานขนาดนี้ สงสารเด็กมาก แต่ตอนหลังได้มาเรียนตะลุยโจทย์กัน ครูก็ทบทวนให้เขาหมด 

“พอจบปีแรก เราก็คิดว่าจะหมดแล้ว กำลังจะเริ่มเปิดสอนคอร์สใหม่ ปรากฏว่าเดลตามา ครูเลยคิดว่าคงต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์จริง ๆ แทนแล้ว แต่เราต้องหาระบบที่ควบคุมเด็กได้ก่อน ไม่ใช่เด็กเรียนบ้างไม่เรียนบ้าง หรือเรียนไปเล่นมือถือไปด้วย การเรียนก็อาจไม่ได้ผล ถ้าทำแล้วเละ อย่าทำ เลิกไปเลยดีกว่า ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร ครูอาจคิดมากไปหรือเปล่าไม่รู้ เพราะเด็กที่ตั้งใจเรียนก็มีเยอะ แต่เราจะปล่อยคนที่ไม่ตั้งใจเรียนทิ้งไปเลย ครูทำใจไม่ได้”

ระหว่างกำลังจะคิดว่าจะจัดการอย่างไร อีฟ-อธิปพร ศิวะกุล ลูกสาวคนเล็ก จึงเสนอวิธีการว่า ต้องมีระบบที่ตรวจสอบได้ว่าเด็กเรียนอยู่หรือไม่ เรียนอะไรไปแล้วบ้าง เพราะอาจมีเด็กบางคนที่เปิดทิ้งไว้โดยไม่ได้เรียน หรือกดข้ามเพื่อให้จบเร็ว กระทั่งมาลงตัวที่ระบบ AURUM Online ซึ่งผู้เรียนจะต้องเปิดกล้องทุกครั้งขณะที่เรียน โดยมีครูพี่เลี้ยงคอยติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจตราว่าเด็กเรียนอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับเด็กที่มาเรียนที่โรงเรียน ซึ่งอาจารย์อุ๊จะให้เด็กทุกคนฝากมือถือไว้ก่อนเข้าเรียน และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเด็กในห้องเรียนตลอดเวลา

อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต

“ในการเรียนออนไลน์ เด็กบางคนเอาไอแพดไว้ที่พุงแล้วนอนเรียน เจ้าหน้าที่ก็จะไปบอกว่า นักเรียน อาจารย์อุ๊บอกให้นั่งเรียนดี ๆ ซึ่งพอบอกว่าอาจารย์อุ๊ก็ง่ายเลย อาจารย์อุ๊เหรอครับ ขอบคุณอาจารย์มาก หรือเด็กบางคนเรียนกระโดด เปิดนาทีนี้ แล้วข้ามไปอีกครึ่งชั่วโมง เราก็บอกว่าไม่ได้นะ มันเหมือนเขาไม่ได้เรียนเลย คือจะกรอเร็ว เราไม่ว่า แต่เรียนกระโดดแบบนี้ไม่ได้ ส่วนคนไหนที่ปิดกล้อง เราก็จะบล็อกทันที พอบล็อกปั๊บเขาจะโทรมาว่าเปิดให้หน่อย หนูจะไม่ทำแล้ว แต่เด็กเราพูดง่าย บางครั้งเขาเอาสติกเกอร์ไปแปะ แต่ไม่มีอะไรหรอก เขาคงแค่อยากเป็นส่วนตัว ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากไปละเมิดความเป็นส่วนตัวเขาเลย ขอแค่เรียนเต็มที่ได้ไหม เขาจะได้เรียนจบ มันเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องดูแลเด็กทุกคนเหมือนลูก”

การเปลี่ยนระบบครั้งนี้ แม้จะเต็มไปด้วยความยุ่งยาก เนื่องจากต้องเตรียมทรัพยากรต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะครูพี่เลี้ยง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็ก ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ก็ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะนอกจากจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กรุ่นใหม่แล้ว ยังช่วยให้อาจารย์อุ๊ได้สอนหนังสือตามที่ตั้งใจไว้ต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาจารย์อุ๊ไม่ได้สอนเพียงลำพัง เพราะได้ลูกสาวคนเก่งอย่าง อาจารย์อีฟ ซึ่งจบปริญญาตรีด้านเคมีและชีววิทยาจาก Duke University และปริญญาโทจาก Columbia University สหรัฐอเมริกา มาช่วยอีกแรง

อ.อุ๊ จากเด็กที่เคยขอแม่เลิกเรียน สู่ครูกวดวิชาเคมีแถวหน้าที่มีลูกศิษย์นับล้านชีวิต

“ครูไม่ได้บังคับ แต่เขาชอบ เขาอยากลองสอน เราก็โอเค เพราะครูกับอาจารย์เจี๊ยบจะพูดเหมือนกันว่า ถ้าหนูไม่ชอบ หนูอย่าทำ อย่าคิดว่าต้องทำเพราะเป็นลูกของแม่ ถ้าหนูไม่รักเด็ก และคิดจะทำเล่น ๆ ไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่ถ้าเลือกจะทำแล้วต้องจริงใจ และทำให้ดีที่สุด ส่วนในอนาคตเขาจะดัดแปลงเป็นอะไร พ่อแม่ก็ไม่ว่า เพราะเราเข้าใจดีว่า เด็กปัจจุบันทันสมัยกว่าเราเยอะ เรามันขาลงแล้ว บางครั้งพูดกับเด็กไปคนละภาษาแล้ว เขาน่าจะมีอะไรมากกว่าเราเยอะ”

โดยวิธีการสอนเป็นลักษณะสลับกัน เช่น อาจารย์อุ๊สอน 2 ชั่วโมง แล้วให้อาจารย์อีฟขึ้นมาสอนอีก 1 ชั่วโมง และระหว่างนั้นผู้เป็นแม่ก็จะคอยสังเกตว่าลูกสาวสอนเป็นอย่างไร มีจุดไหนที่แนะนำเพิ่มเติมได้บ้าง

ทว่าด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อย บวกกับเป็นเด็กเรียนเก่งมาตลอด ทำให้การสอนในระยะแรกไม่ลงตัวเท่าที่ควร บางช่วงอาจจะเร็วเกินไป ยืนแล้วบังกระดาน หรือบางทีก็โฟกัสกับเนื้อหาที่เข้มข้นมากเกินไปจนเด็กตามไม่ทัน ซึ่งอาจารย์อุ๊ก็จะคอยชี้แนะ นำประสบการณ์ในอดีตมาเล่าให้ฟัง เพื่อปรับปรุงการสอนให้ออกมาดีและเป็นประโยชน์กับนักเรียนมากที่สุด

กระทั่งภายหลังอาจารย์อีฟตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการสอนโดยตรงที่ Harvard University ทำให้ได้เทคนิคที่น่าสนใจกลับมาใช้เต็มไปหมด พร้อมกับต่อยอดหลักสูตรการสอนใหม่ ๆ อาทิ หลักสูตรอินเตอร์ สอนเคมีด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งมีเด็ก ๆ สนใจมาเรียนจำนวนไม่น้อย

“ตอนนั้นสอนไปก็ทะเลาะกันทุกวัน ครูก็จะบอกว่า แม่อาบน้ำร้อนมาก่อนนะ สอนมาตั้ง 30 – 40 ปี ทุกคนเชื่อถือแม่ แล้วหนูจะไม่เชื่อเหรอ เขาก็บอกว่าแม่ฟังคนรุ่นใหม่บ้างสิ สุดท้ายเลยกลายเป็นว่า เวลาสอนตอนนี้ ครูดูของเขา เขาก็ดูของครู ถ้าใครดีกว่า เราก็เปลี่ยนตามคนนั้นเลย

“หรืออย่างตอนนี้ น้องอีฟเขาเอาพวกเครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มาใช้ด้วย เพราะไม่ชอบสอนอะไรที่แห้ง ๆ เขาบอกว่าแม่มีเทคนิคการสอนที่ดีแล้ว แต่อะไรที่ทำให้เด็กได้ ทำไมเราถึงไม่ทำล่ะ ให้เขาเห็นภาพจริง ๆ ไปเลยดีกว่า แล้วเขาจะจำได้แม่นกว่า” 

ทว่าถึงจะมีผู้ช่วยคู่ใจมารับช่วงงานต่อ แต่อาจารย์อุ๊ก็ไม่เคยมีแผนจะหยุดสอนหรือวางมือแต่อย่างใด ยังคงมีตารางสอนเต็ม บางครั้งเคยสอนยาวตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืน

เพราะการสอนคือความสุขอันยิ่งใหญ่ของชีวิต และแม้คนอื่นอาจบอกว่าเด็กยุคใหม่รับมือยาก ด้วยเจเนอเรชันที่เปลี่ยนไป แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้หญิงคนนี้

“ครูไม่คิดว่าเด็กเปลี่ยนแปลง แต่คิดว่าเขาน่ารักขึ้นทุกปี เพราะเดิมทีเราเป็นพี่กับน้อง เป็นน้ากับหลาน เป็นแม่กับลูก แต่ปัจจุบันเรากลายเป็นป้าเป็นยายของเด็กไปแล้ว แล้วยายจะรักหลานมาก ครูเห็นเขาก็จะลูบหัวตลอด เด็กก็จะบอกว่าวันนี้ไม่สระผมแล้ว คือเขาก็จะอ้อน ชอบกอด กลายเป็นว่าครูไม่ได้ห่างจากเขาเลย ขณะที่เราเองก็พร้อมให้ความรักเขาเต็ม ๆ เขาทำอะไรผิดครูก็จะขำ แต่ไม่ได้ขำแบบดูถูกนะ ขำแบบน่ารัก เพราะฉะนั้นครูจึงไม่เคยเจอเด็กดื้อ หรือเด็กต่อต้าน ซึ่งอาจเป็นเพราะเขาเรียนแล้วเข้าใจ บวกกับการที่เราเข้าหาด้วยความเป็นมิตร

“ที่สำคัญ ครูเป็นคนแข็งแรงผิดปกติ จนเด็กไปเขียนว่าเป็นเอเลี่ยน เพราะเวลาอ่านหนังสือ ครูไม่ต้องใส่แว่นเลย อ่านได้เป๊ะหมดเลย ฉะนั้นถ้าจู่ ๆ ให้ครูหยุดสอนเลย ครูก็ไม่รู้จะทำอะไร แล้วน้องอีฟบอกว่า คนไฮเปอร์แบบแม่ ถ้าหยุดไปเลยจะป่วย จะเหงา จะเป็นโรคซึมเศร้า รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีค่า ตอนนี้ก็เลยคุยกันภายในครอบครัวว่า จากตอนแรกที่ครูสอน 80 แล้วน้องอีฟ 20 ก็จะค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ เป็น 70 แล้วก็ 60 ให้ครูรู้สึกว่าตัวเองยังมีค่าอยู่ แล้วพอถึงจุด ๆ หนึ่ง ครูก็จะปล่อยให้น้องอีฟสอนไป แล้วครูมานั่งตอบคำถาม ทำเนื้อหาแทน แต่เมื่อตอนนี้ยังสอนได้ ก็จะขอสอนต่อไป เพราะครูยังมีความสุขกับการสอนมาก”

และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของอาจารย์กวดวิชาคนหนึ่งที่ไม่เคยหยุดสอนเลยเกือบทั้งชีวิต กับความตั้งใจอันยิ่งใหญ่ที่พร้อมทุ่มเทสรรพกำลังของตัวเองเพื่อลูกศิษย์ทุกคน ให้ก้าวไปถึงสิ่งที่ฝันได้อย่างแท้จริง

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล