เฮ็ดอะไร ก็ไม่สนุกเท่าเฮ็ดสิ่งที่ตัวเองชอบ – อริสโตเติล ไม่ได้กล่าว เรากล่าวเองหลังจากได้คุยกับสถาปนิกคนนี้นี่แหละ

หลังจากที่ได้สานฝันตัวเอง เนรมิตเรือนอีสานที่อยู่มาตั้งแต่เด็กให้สวยร่วมสมัย ผิดหูผิดตาคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน เพื่อนฝูงก็ยุให้ น๊อต-สุริยา เขาทอง ทำเพจเฟซบุ๊ก ‘ช่างเฮ็ดแบบ’ ขึ้นมาโชว์ผลงานตัวเองเพื่อรับออกแบบเรือนให้คนอื่นต่อไป

ตั้งแต่นั้นมา งานก็เข้าไม่เคยได้เว้นวรรค

‘เฮ็ด’ ภาษาอีสาน หมายถึง การลงมือทำ ซึ่งช่างเฮ็ดแบบไม่ได้มีแค่สถาปนิกหนุ่มอีสานอย่างน๊อตแค่คนเดียว แต่รวมไปถึงวิศวกร ผู้รับเหมา ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ ทุก ๆ คนที่มาร่วมด้วยช่วยกันเฮ็ด

แม้ชื่อจะดูบ่งบอกโลเคชันสุด ๆ เขาก็ไม่ได้ออกแบบกันแค่เรือนอีสานเท่านั้น จะภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก หรือภาคตะวันตก ใครอยากทำบ้านใหม่เขาก็ทำให้ได้ แค่ถ่ายทอดความต้องการส่วนตัวมา และขอระยะเวลาให้ทีมงานได้ศึกษาเรือนในท้องที่นั้น ศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้าน เรียนรู้วิชาจากลุง ๆ ช่างพื้นถิ่นเสียหน่อย แล้วอยากได้สวยแค่ไหนก็รอชมได้เลย

ไปฟัง น๊อต สุริยา เล่าถึงธุรกิจที่มาจากแพสชันกันใน The Entrepreneur คราวนี้

‘ช่างเฮ็ดแบบ’ สถาปนิกอีสานผู้ชอบคลุกวงในช่างพื้นถิ่น เฮ็ดเรือนเหนือจรดใต้ให้ร่วมสมัย

เฮ็ดสิ่งแปลกใหม่ในชีวิต

บางครั้งธุรกิจในอนาคตก็อยู่ใกล้รากเหง้าของตัวเองมากกว่าที่คิด

เด็กชายน๊อตลืมตาดูโลกในแถบชนบท ที่หมู่บ้านเกษตรกรแห่งหนึ่ง ณ จังหวัดยโสธร เช่นกันกับชาวบ้านคนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน ปู่และตาแท้ ๆ ของเขามีอาชีพทำไร่ทำนา หากมีทักษะพิเศษเป็นช่างไม้พื้นถิ่นที่เข้าป่าไปตัดต้นไม้เอง แบกมาเอง ใช้เลื่อยไม้สร้างบ้านเองได้

ไม่รู้ด้วย DNA คุณปู่คุณตาหรืออะไร เมื่อเข้าวัยรุ่น น๊อตก็เลือกเรียน ปวช. ด้านเทคนิคสถาปัตยกรรมที่วิทยาลัยเทคนิคยโสธร และต่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีในด้านเดิมอีก ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ของบางคนที่ไม่เคยรู้จักสาขาวิชานี้มาก่อน

‘ช่างเฮ็ดแบบ’ สถาปนิกอีสานผู้ชอบคลุกวงในช่างพื้นถิ่น เฮ็ดเรือนเหนือจรดใต้ให้ร่วมสมัย

“ตอนนั้นวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไม่ใช่วิชาหลักเลย มีไม่กี่หน่วยกิตเอง แต่เราสนใจวิชานี้มาก อาจารย์เขาพาไปดูหลายที่ ไปลาวบ้าง ไปดูเรือนภูไทบ้าง” 

เมื่อเรียนจบ น๊อตทำงานออกแบบสไตล์โมเดิร์นอยู่เป็นสิบปี โดยเก็บความสนใจในเรือนพื้นถิ่นไว้ในลิ้นชักมุมลึกสุดของหัวใจ มันเกือบจะไม่ได้ถูกหยิบมาปัดฝุ่นแล้วล่ะ ทว่าวิกฤตโควิด-19 ทำให้งานออฟฟิศน้อยลง โปรเจกต์ส่วนตัวจึงผุดขึ้น

“แม่อยากรื้อบ้านที่อยู่กันมาตั้งแต่เราเป็นเด็กทิ้ง เพราะไม่ได้ใช้งาน เราเลยเสียดาย มีความคิดว่าจะใช้ไม้ของหลังเดิมมาสร้างบ้านใหม่ให้คุ้มค่าที่สุด” ความสนุกเริ่มแล้ว

บ้านเดิมนั้นเหมือนเรือนของชาวบ้านทั่วไปที่สร้างตามแบบที่มีอยู่แล้ว มีรูปทรงและหลังคาจั่วที่เห็นกันคุ้นตา ไม่ได้มีการวางโซนนิ่งให้กับบ้านอย่างชัดเจน ไม่ได้กำหนดว่าตรงไหนจะต้องเป็นครัว เป็นห้องนั่งเล่น หรือส่วนห้องนอน พออยู่ไปแล้วเริ่มคับแคบก็ต่อเติมออกไปเรื่อย ๆ เมื่อมีโอกาสได้ทำบ้านใหม่ น๊อตจึงได้โอกาสออกแบบการใช้ชีวิตให้ลงตัวมากขึ้น

‘ช่างเฮ็ดแบบ’ สถาปนิกอีสานผู้ชอบคลุกวงในช่างพื้นถิ่น เฮ็ดเรือนเหนือจรดใต้ให้ร่วมสมัย
เรือนแรกของช่างเฮ็ดแบบ

“จะบอกว่าทำใหม่แล้วเป็นเรือนอีสานจ๋าไหม ก็ไม่ขนาดนั้น แต่เอากลิ่นอายความเป็นอีสานสอดแทรกเข้าไป” เขาพูดถึงความเป็นเรือนอีสาน เช่น การใช้ชีวิตใต้ถุนบ้าน การยื่นพื้นออกจากเสา หรือความเชื่อในการสร้างเรือน “ตอนที่ทำโครงสร้างขึ้นมาแรก ๆ คนเขาคิดว่าเป็นบ้านทั่วไป แต่พอเราได้ลงผนัง ใส่ประตู หน้าต่าง มันจะมีรายละเอียดของสมัยใหม่ที่เรือนในหมู่บ้านไม่มี เลยดูแปลกจากคนอื่น แต่ก็ยังกลมกลืนกับสภาพหมู่บ้านนั้น ๆ”

จากผนังเรือนที่ตีด้วยไม้ใหญ่ ๆ ก็ลองใช้ไม้เล็กลง จากผนังเรือนที่มีแต่โครงคร่าวด้านใน ส่วนข้างนอกเห็นเป็นฝาไม้ปกติ ก็ตีโครงเส้นตั้งตกแต่งด้านนอกเข้าไปด้วย จากหน้าต่างขนาดมาตรฐานที่ใครจะสร้างบ้านก็ไปซื้อจากร้านวัสดุก่อสร้างมาติด น๊อตกลับออกแบบให้ขนาดใหญ่กว่าปกติ และมีสัดส่วนที่ดูแปลกตา

แม้จะไม่เคยทำเรือนพื้นถิ่นให้ร่วมสมัยมาก่อน แต่รายละเอียดต่าง ๆ ที่เพิ่มเติมเข้าไปให้สถาปัตยกรรมดูพิเศษขึ้น ล้วนมาจากประสบการณ์การทำงานโมเดิร์นของน๊อต

ตอนแรกเริ่ม ทั้งช่าง พ่อแม่ เพื่อนบ้าน ไม่มีใครเชื่อน๊อตเลยว่าบ้านจะสวย กลับกันคือทุกคนรู้สึกว่าเขาเรื่องมากเสียด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายบ้านแปลก ๆ หลังนี้ก็ออกมาถูกใจทุกคนจนได้

‘ช่างเฮ็ดแบบ’ สถาปนิกอีสานผู้ชอบคลุกวงในช่างพื้นถิ่น เฮ็ดเรือนเหนือจรดใต้ให้ร่วมสมัย
เรือนแรกของช่างเฮ็ดแบบ

เฮ็ดเรือนทั่วไทย

“มึงลองทำเพจดูสิ”

พอมีบ้านสวย ๆ เพื่อนก็อยากให้โชว์ เผื่อว่าจะมีใครสนใจอยากทำบ้านจากไม้เก่าบ้าง ทีแรกน๊อตไม่ได้ใส่ใจคำพูดเพื่อนนัก เขาไม่คิดว่าจะมีใครติดต่อมาอย่างที่ว่า แต่ก็ลองทำเพจดูอย่างไม่มีอะไรจะเสีย

ปรากฏว่า มีคนมาจ้างจริง ๆ ด้วย!

เมื่อมีงานแรก ก็มีงานถัดมาไม่ขาดสาย จนน๊อตเริ่มตกตะกอน บอกกับหัวหน้างานที่ออฟฟิศว่า “ผมขอไปลองทำงานด้วยแนวทางของผมหน่อยพี่” แล้วเริ่มชีวิตใหม่

“บางคนเขาอยู่บ้านไม้ตั้งแต่เด็ก พอโตมาได้ไปอยู่บ้านปูน เขาก็คิดถึงบ้านไม้” สถาปนิกเริ่มเล่าถึงลูกค้า “พอมีไม้เก็บรวบรวมไว้ เขาก็ติดต่อมาให้เราออกแบบบ้านให้”

ลูกค้ารายแรกยังติดต่อมาให้ทำบ้านที่โคราช ในภาคอีสานเหมือนกัน แต่รายที่ 2 เริ่มมาไกลถึงราชบุรี รายที่ 3 ไปสุพรรณบุรี ซึ่งแต่ละครั้งน๊อตต้องสอบถามลูกค้าว่ามีวัสดุอยู่แล้วหรือต้องไปซื้อไม้เก่ามาสร้างใหม่

“ประทับใจทุกหลังที่ได้ทำเลย จากที่เราเป็นคนไม่รู้จักกัน อยู่ดี ๆ เขาก็ติดต่อให้เราไปทำบ้านไม้ที่เป็นความฝันของเขา”

นี่คงเป็นรางวัลจากอาชีพสถาปนิกของน๊อต

‘ช่างเฮ็ดแบบ’ สถาปนิกอีสานผู้ชอบคลุกวงในช่างพื้นถิ่น เฮ็ดเรือนเหนือจรดใต้ให้ร่วมสมัย

ถ้าเขาอยากได้แบบที่เห็นในเพจ คุณทำให้ได้เลยไหม – เราถาม

“ถ้าเขาอยากได้แบบหลังที่เชียงใหม่ แต่จะไปสร้างที่กาฬสินธุ์ มุกดาหาร เราก็ทำให้เขาไม่ได้นะ ต้องอธิบายให้เขาฟังว่าสไตล์และการใช้งานมันไม่เข้ากับพื้นที่ ถ้าผมออกแบบให้พี่ใหม่ มันจะถูกใจพี่มากกว่า และเข้ากับทิศทางลม แดด ของพื้นที่นั้นนะ”

สิ่งที่จะทำให้เรือนไทยประยุกต์แต่ละหลังต่างกันก็คือที่ตั้ง ความต้องการของเจ้าบ้าน และฝีมือการปรุงของน๊อตที่จะหยิบเอากลิ่นอายท้องถิ่นกับความสมัยใหม่มาสร้างสรรค์ร่วมกัน

แน่นอนว่าทีมช่างเฮ็ดแบบไม่ได้เชี่ยวชาญไปเสียทุกภูมิภาคในไทยหรอก แต่พวกเขาให้ความสำคัญกับขั้นตอนการหาข้อมูลมาก ๆ ตั้งแต่การศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชน การศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรม ไปจนถึงการศึกษารายละเอียดงานไม้จากช่างท้องถิ่น

“ต้องศึกษาดีเทลมาก ๆ บางอย่างเราไม่รู้เรื่องเลยนะ ไปได้ข้อมูลจากช่างท้องถิ่น เราชอบนั่งคุยกับช่างที่อายุเยอะ ๆ ไปสนิทกับเขา แล้วถามเขาว่า ลุงครับ น้าครับ พื้นถิ่นนี้มีอะไรเด็ด ๆ บ้าง” น๊อตเล่า เรือนทุกหลัง เขาทำงานกับช่างในท้องที่นั้น ๆ เกือบทั้งหมด เพื่อให้เรือนมี ‘ลายมือ’ ที่ถูกต้อง ไม่ออกมาเป็นสิ่งแปลกปลอมในชุมชน

‘ช่างเฮ็ดแบบ’ สถาปนิกอีสานผู้ชอบคลุกวงในช่างพื้นถิ่น เฮ็ดเรือนเหนือจรดใต้ให้ร่วมสมัย
‘ช่างเฮ็ดแบบ’ สถาปนิกอีสานผู้ชอบคลุกวงในช่างพื้นถิ่น เฮ็ดเรือนเหนือจรดใต้ให้ร่วมสมัย

เรือนที่เชียงใหม่ที่น๊อตพาชาว The Cloud ไปดูในวันนี้ก็เป็นฝีมือของช่างท้องถิ่น เจ้าของบ้านเป็นคนอีสานผู้อยากสร้างบ้านสวนที่เชียงใหม่ เอาไว้พักผ่อนวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดยาว ๆ รอบบ้านก็ปลูกพืชผักไว้กินเองบ้าง แจกจ่ายเพื่อนบ้านบ้าง

บ้านกลางทุ่งนาหลังนี้สร้างมาจากไม้ที่ซื้อจากบนดอย โดยช่างเฮ็ดแบบได้ออกแบบให้เป็นเรือนเชียงใหม่ตามที่ตั้ง มีผนังฝาไหล มีฮ้านน้ำแบบเรือนภาคเหนือ แต่ก็มีใต้ถุนแบบภาคอีสานตามรากเหง้าของเจ้าตัว

งานของช่างเฮ็ดแบบสนุกตรงที่มีสมาชิกไม่แน่นอน นอกจากตัวเขา น้องชายที่เป็นคนเขียนแบบ และวิศวกรแล้ว คนอื่น ๆ อย่างช่างพื้นถิ่น ผู้รับเหมา ล้วนเป็นผู้คนที่เจอระหว่างทาง หากได้มาใช้เวลาสร้างสถาปัตยกรรมที่เหมาะกับผู้อยู่ร่วมกัน

‘ช่างเฮ็ดแบบ’ สถาปนิกอีสานผู้ชอบคลุกวงในช่างพื้นถิ่น เฮ็ดเรือนเหนือจรดใต้ให้ร่วมสมัย
‘ช่างเฮ็ดแบบ’ สถาปนิกอีสานผู้ชอบคลุกวงในช่างพื้นถิ่น เฮ็ดเรือนเหนือจรดใต้ให้ร่วมสมัย

เฮ็ดธุรกิจกับเขาสักตั้ง

ช่างเฮ็ดแบบ เป็นธุรกิจเล็ก ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยทีมงานหลักเพียงหยิบมือ เพราะฉะนั้น จะเรื่องเงิน เรื่องลงผลงานในเพจ เรื่องรับงานลูกค้า ก็เป็นน๊อตนี่แหละที่ลงมือทำเองแทบทุกอย่าง

“สนุก” เขาตอบทันทีเมื่อเราถามว่าไม่เหนื่อยเหรอที่ต้องออกแบบไปด้วย รับผิดชอบงานอื่นไปด้วย 

“บางวันติดต่อมาจากพะเยา เราก็ โห! จะได้ไปพะเยาเลยเหรอ ยังไม่เคยไปเลย เราตื่นเต้นที่จะได้ไปเห็นพื้นถิ่นเขา แล้วก็คิดว่าคงจะดีถ้ามีงานที่เราออกแบบมาตั้งอยู่ตรงนี้”

แม้ว่าจะไม่ได้มีกลยุทธ์พิสดารในการโปรโมต แต่กล่องข้อความของช่างเฮ็ดแบบก็ไม่เคยว่าง หรือเรียกได้ว่ามีเต็มอยู่ตลอดเวลา

“ทำไมถึงติดต่อเพจเรามาล่ะ ทั้ง ๆ ที่งานก็เป็นเรือนพื้นถิ่นธรรมดาเหมือนคนอื่น” อยู่ ๆ ผู้ให้สัมภาษณ์ก็สัมภาษณ์เรากลับบ้าง

รู้สึกสะดุดตาจากชื่อก่อนเลย – เราตอบสั้น ๆ นั่นเป็นความประทับใจแรกจริง ๆ

“ว่าแล้วว่าต้องเป็นชื่อ” เขาหัวเราะดัง 

นอกจากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์แล้ว ชื่อที่จำง่ายทำให้แบรนด์ ‘ช่างเฮ็ดแบบ’ แข็งแรงเข้าไปอีก

‘ช่างเฮ็ดแบบ’ สถาปนิกอีสานผู้ชอบคลุกวงในช่างพื้นถิ่น เฮ็ดเรือนเหนือจรดใต้ให้ร่วมสมัย

ว่ากันตามตรง ตั้งแต่เปิดเพจมา น๊อตไม่ได้คิดจะแข่งกับใคร เขาทำงานเต็มที่ตามมาตรฐานที่ทำตลอด คุยกับลูกค้าแบบที่เป็นตัวเอง หากมีพี่ ๆ น้อง ๆ ในวงการอยากจะมาเดินเส้นทางเดียวกัน เขาก็ยินดี

“ทุกวันนี้ลูกค้ามาทางเพจล้วน ๆ ถ้าเราโพสต์ไปแล้วมันตรงใจคนที่มาเห็น เขาก็จะแชร์ไปเรื่อย ๆ เอง ยังไม่มีไอเดียว่าจะโปรโมตช่องทางไหนได้อีก”

อีกช่องทางที่น๊อตหวังว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติในอนาคต คือการแนะนำกันปากต่อปากไปสู่เพื่อน ๆ ของเจ้าบ้านที่น๊อตออกแบบ หรือการที่คนมาเที่ยวคาเฟ่ เที่ยวรีสอร์ตที่เขาสร้าง จะถูกใจงานแล้วติดต่อมา

แต่ไม่ว่าจะทางไหน เราก็ยินดีที่จะได้เห็นผลงานงาม ๆ ของเขาไปตั้งอยู่ทุกหนแห่ง บนเขา ริมห้วย เผื่อว่าผู้คนทั่วไปจะสนใจเรือนพื้นถิ่นที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมเฉพาะตัว และเหมาะกับสภาพอากาศแบบนี้ขึ้นมา เพราะนอกจากทีมช่างเฮ็ดแบบเองแล้ว ช่างท้องถิ่นทั่วประเทศก็มีรายได้ด้วย

‘ช่างเฮ็ดแบบ’ สถาปนิกอีสานผู้ชอบคลุกวงในช่างพื้นถิ่น เฮ็ดเรือนเหนือจรดใต้ให้ร่วมสมัย

เฮ็ดจนเชี่ยวชาญ ทำงานจนเข้ามือ

จนถึงวันนี้ น๊อตมาไกลมากจากวันที่กำลังจะก่อสร้างบ้านหลังแรก และไม่มีความรู้เกี่ยวกับงานไม้หรือเรือนพื้นถิ่นเลย

“ตาเขาหยิบไม้มาชิ้นหนึ่ง แล้วเราตอบไม่ได้ว่าไม้อะไร เขาก็บอกว่าส่งไปเรียนตั้งไกล กว่าจะจบก็ยาก ไม้แค่นี้ก็ยังไม่รู้เหรอ เราเลยรู้สึกว่าเราต้องสนใจให้มากกว่านี้นะ”

หลังจากเหตุการณ์นั้น เขาก็เริ่มศึกษาเรื่องไม้ชนิดต่าง ๆ อย่างจริงจัง ว่าไม้ชนิดไหนเหมาะนำมาทำส่วนไหนของบ้าน แล้วความเชี่ยวชาญก็เริ่มปรากฏ น๊อตเจอแพสชันในชีวิตที่หาเลี้ยงชีพได้จริง ส่วนประเทศไทยก็มีสถาปนิกยุคใหม่ที่เข้าใจงานไม้เพิ่มขึ้นมาอีกคน

“ในอนาคต ถ้ากลับไปอยู่ต่างจังหวัดก็คงจะไปสร้างบ้านไม้เป็นของตัวเองเหมือนกัน แต่ต้องอีกหลายปีนะ หาตังค์ก่อนครับผม” เขาหัวเราะ

ถ้าแนะนำสถาปนิกที่อยากออกจากระบบมาทำอะไรเป็นของตัวเองได้ 1 อย่าง คุณจะแนะนำว่ายังไงบ้าง

“หาตัวเองให้เจอ ศึกษา เรียนรู้ แล้วเฮ็ดให้เต็มที่” น๊อตปิดท้าย

Lessons Learned

  • ต้องรู้จักส่งเสริมสิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • การสร้างแบรนด์ให้คนจดจำได้เป็นสิ่งสำคัญ
  • ถ้าคุณหาตัวเองเจอ คุณจะทำให้มันกลายเป็นงานประจำของคุณได้อย่างมีความสุข
  • หากเปิดใจ จะพบว่ามีอีกหลายสิ่งอย่างที่เราไม่รู้ และเรียนรู้ได้ไม่มีที่สิ้นสุด

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ภูพิงค์ ตันเกษม

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย