เรามองภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้หลายวิธี 

หนึ่งในนั้นคือการดูว่ามีศูนย์การค้าไทยไปตั้งสาขาในจังหวัดไหนบ้าง

ธุรกิจรีเทลไทยเก่งมากเรื่องการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ก่อนธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่จะไปตั้ง ต้องศึกษาตลาดล่วงหน้า วิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่สำคัญคือต้องสร้างรายได้ให้จังหวัดนั้นโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ยอดขายที่ทะยานอย่างฉาบฉวยเกินไป 

เซ็นทรัลพัฒนา คือผู้นำในธุรกิจศูนย์การค้าไทย ซึ่งปีนี้ได้เปิดตัวโครงการใหม่ในนครสวรรค์ จังหวัดที่เป็นเหมือนประตูเชื่อมต่อระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ 

ความน่าสนใจของเซ็นทรัล นครสวรรค์ มีหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือหลักการออกแบบ ซึ่งเซ็นทรัลยุคหลังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก คนที่ดูแลคือ โบ-จุฑาธรรม จิราธิวัฒน์ ทายาทรุ่นสาม เจ้าของตำแหน่ง Head of Business Development บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ผู้ดูแลงานออกแบบทั้งหมดของศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลพัฒนา 

บ่อยครั้งความสำเร็จในภาคธุรกิจยุคหลังไม่ใช่เรื่องตัวเลข แต่เป็นการผสมผสานศาสตร์ที่แตกต่างให้ดำเนินไปในทิศทางเดียว โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบที่ส่งผลต่อประสบการณ์ หรือ Experience ของผู้บริโภค

นี่คือสิ่งที่เซ็นทรัล นครสวรรค์ กำลังแสดงให้เราเห็น

โอกาสแห่งภาคเหนือ

เซ็นทรัล นครสวรรค์ มีจุดเด่นที่สำคัญ 4 ข้อ

หนึ่ง เป็นตัวเชื่อมเซ็นทรัลสาขาต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น กรุงเทพฯ อยุธยา นครสวรรค์ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง 

สอง เป็นประตูสู่ภาคเหนือ สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในภาคนี้ 

สาม สร้างธุรกิจการขนส่งหรือ Logistics ใช้ที่นี่เป็นแหล่งกระจายสินค้าได้ 

สี่ นครสวรรค์มีคนไทยเชื้อสายจีนมากเป็นอันดับ 3 ของไทยรองจากกรุงเทพฯ และภูเก็ต เทศกาลตรุษจีนของที่นี่จัดยาวถึง 12 วัน 

นอกจากนี้ยังจะมีโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่มาลงในอนาคตด้วย เช่น รถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อภาคเหนือและภูมิภาคอื่น ๆ อีกทั้งคนนครสวรรค์ยังมีกำลังซื้อสูง 

จุดเด่นทั้งหมดนี้ส่งผลตั้งแต่เริ่มวางแผนก่อสร้างและการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในโครงการ ในฐานะ Head of Business Development จุฑาธรรมมองเห็นศักยภาพของนครสวรรค์ และสร้างเซ็นทรัล นครสวรรค์ ให้เป็นโครงการมิกซ์ยูสแห่งอนาคตอย่างเต็มรูปแบบบนพื้นที่ 42 ไร่ ประกอบด้วยศูนย์การค้าฯ คอนเวนชันฮอลล์ โรงแรม คอนโดมิเนียม โรงพยาบาลสินแพทย์ Multi-generational Space พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางเมือง และพื้นที่ภายในศูนย์การค้า ในรูปแบบของตลาด ชื่อว่า ‘ตลาดสุขสวรรค์’ ด้านหน้าศูนย์การค้า เธอตั้งใจให้ตลาดนี้เป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าท้องถิ่นที่ออกแบบให้มีความทันสมัยแต่มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีนที่แน่นแฟ้น

“เราไม่อยากให้คนมาเซ็นทรัลเพื่อมาช้อปปิ้งอย่างเดียว แต่ต้องการสร้างให้เซ็นทรัลเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิต ทำให้เขาตื่นเต้น มีความสุข รวมทั้งได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างมี Quality Time ที่ดี”

หลักการออกแบบศูนย์การค้ายุคใหม่

ยุคหลังเซ็นทรัลมีความเป็นพื้นที่สาธารณะมาใช้กับการออกแบบมากขึ้น

จากการออกแบบหลายสาขาที่ผ่านมา ทำให้เซ็นทรัลพัฒนามีประสบการณ์ที่นำมาใช้กับการออกแบบเซ็นทรัล นครสวรรค์ ได้

จุฑาธรรมบอกว่า ก่อนเซ็นทรัลจะทำอะไร มักให้ความสำคัญกับบริบทท้องถิ่นหรือ Local Context การออกแบบจึงได้นำจุดเด่นของเมืองและความเป็นอยู่ของผู้คนมาดีไซน์ สะท้อนผ่าน Interior และ Exterior Design ให้เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยและโดดเด่น เช่น ออกแบบเลย์เอาต์โดยพยายามให้พื้นที่ส่วนหลัก เชื่อมต่อกันหรือมี Synergy ที่ราบรื่น สะดวก มีพื้นที่ใช้สอยอเนกประสงค์ที่เชื่อมโยงการใช้ชีวิตของคนหลายเจเนอเรชัน ซึ่งเป็น Public Space เชื่อมแกนหลักกับอาคาร

โดยแรงบันดาลใจในการดีไซน์ศูนย์การค้ามาจาก Chinese Village เล็ก ๆ พยายามลดทอนความใหญ่ของอาคาร ให้มีความรู้สึกเหมือนเป็น Village ลดทอนสเกลให้เป็น Human Scale 

รวมทั้งเส้นสายจากธรรมชาติ โดยใช้เส้นโค้งและเส้นพลิ้วไหวแทนคลื่นน้ำ มารวมกับเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมจีน โดยนำเส้นเรื่องหลักของหลังคาโค้งแบบจีน และวีถีชีวิต วัฒนธรรมของผู้คนในชุมชนมารวมกัน จุฑาธรรมจึงใช้จุดนี้มาเป็นแกนหลักในการออกแบบ โดยเส้นสายของหลังคาถูกนำมาใช้กับ Interior Design อื่น ๆ ด้วย เช่น ฝ้าเพดาน ราวกันตก ป้าย พื้น Ceiling ซึ่งเป็นดีเทลเล็ก ๆ ที่มีความหมาย

การนำองค์ประกอบจีนมาใช้กับศูนย์การค้าก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เราได้นำลักษณะของจีนมาเป็น Reference ในการออกแบบ ให้คนรู้สึกถึงกลิ่นอายของ Modern Chinese ซึ่งทำให้มีความร่วมสมัย อยู่ได้นาน ให้ความสำคัญกับ Detail เล็ก ๆ เช่นใช้วัสดุสีเข้ม สีอิฐที่ไม่ฉูดฉาด การใช้สีเขียวของต้นไม้ หรือสีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากจังหวัด นครสวรรค์มีบริเวณปากน้ำโพ จุดที่แม่น้ำ 2 สายคือปิงและน่านมาบรรจบกัน แม่น้ำปิงสีค่อนข้างเขียว แม่น้ำน่านสีแดง โครงการจึงใช้สีเขียวและแดงมาออกแบบแต่ต้น

“พูดยากมากเลย” เธอหัวเราะ “เราได้นำ Local Context ของจีนทุกชาติพันธุ์มาเป็นจุดเด่นของการดีไซน์เซ็นทรัล นครสวรรค์ ให้ Authentic ที่สุด ขณะเดียวกันก็มีความร่วมสมัย เพราะเราอยากให้เซ็นทรัล นครสวรรค์ เป็นแลนด์มาร์กสำหรับจัดอีเวนต์ใหญ่ต่าง ๆ ของเมือง ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าหลาย ๆ ประเภท หลายสไตล์”

เซ็นทรัลเน้นเรื่องความยั่งยืน ไม่เว้นแม้แต่รายละเอียดเล็ก ๆ เช่น ถนนด้านหน้าโครงการ เราได้เก็บต้นไม้เดิมไว้ทั้งหมด และปลูกเพิ่มอีก โดยจุฑาธรรมเลือกใช้ต้นไม้ที่หลากหลายครบทุกฤดูกาล เพื่อให้ออกดอกได้ทุกช่วงฤดู มาเซ็นทรัลในฤดูร้อนกับฤดูหนาวบรรยากาศจึงไม่เหมือนกันจากการสร้างสรรค์โดยธรรมชาติ

เหนือคลาสสิก

โจทย์หนึ่งของการออกแบบเซ็นทรัล นครสวรรค์ คือต้องคลาสสิก อยู่ได้นาน

“การออกแบบศูนย์การค้ายุคนี้ต่างจากยุคก่อนตรงที่เน้นเรื่อง Experience มากขึ้นเยอะ” จุฑาธรรมเล่า 

ในสมัยก่อนพื้นที่ด้านในจะเรียบ ๆ ขาว ๆ เน้นฟังก์ชันเป็นหลัก แต่ตอนนี้ประเทศเรามีศูนย์การค้าค่อนข้างเยอะ เซ็นทรัลต้องทำให้แตกต่าง แต่ละที่เลยมีธีมที่ต่างกัน มีภาพจำที่ไม่เหมือนกัน 

เราดีไซน์ให้พื้นที่มีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น ไม่ได้แยกขาดจากกันเหมือนแต่ก่อน มี Food Destination ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย เพิ่ม Public Space  พื้นที่สำหรับให้คนทุกเพศทุกวัย คนที่มาศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนาจะมาใช้ Quality Time ร่วมกันได้มากกว่าการมาศูนย์การค้าเพียงแค่จับจ่ายใช้สอย

ข้อหนึ่งที่เซ็นทรัลคำนึงถึงเวลาไปสร้างศูนย์การค้าในหลายจังหวัด เราต้องลงไปทำความรู้จักกับชุมชนและวิถีชีวิตของคน 

จุฑาธรรมยกตัวอย่างการออกแบบเซ็นทรัล อยุธยา นักออกแบบกรุงเทพฯ ชอบการนำอิฐสีแดงมาใช้ เพราะเป็นองค์ประกอบหนึ่งในจังหวัด และเรานำมาทำให้ดูโมเดิร์นมากขึ้น และเป็นที่ชื่นชอบของคนอยุธยา 

กลับมาที่นครสวรรค์ หัวใจของการออกแบบให้สำเร็จ คือออกแบบให้มีสุนทรียะ สวย และนำเสนอออกมาได้งดงาม ลงตัว มีความเป็นเมืองในจังหวัดนั้นมาใช้ 

งานนี้ใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างรวม 5 ปี เรื่องที่จุฑาธรรมภูมิใจที่สุดในเซ็นทรัล นครสวรรค์ คือการทำให้ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของเมือง ทีมงานพยายามพัฒนาเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นในทุกโครงการ ต่อยอดการค้าขายของเมือง 

การออกแบบสำคัญในทุกยุคสมัย กับการทำเซ็นทรัลสาขาล่าสุดก็เช่นเดียวกัน การออกแบบต้องทำให้คนรู้สึกสนุก มีปฏิสัมพันธ์ อยู่ได้นาน มาได้ทุกวัน ทุกโอกาส

สุดท้าย สิ่งที่เซ็นทรัลเน้นไม่ใช่การสร้างอาคารที่มีสวยงามอย่างเดียว แต่คิดเพื่อให้คนเข้ามาที่นี่และมีความสุขที่สุด 

“เซ็นทรัลพัฒนาในฐานะ Place Maker ผู้พัฒนาพื้นที่แห่งอนาคต เราได้มองเห็นศักยภาพของนครสวรรค์และการเติบโตของจังหวัดในทุก ๆ ด้าน เราจึงสร้างเซ็นทรัล นครสวรรค์ ให้เป็นโครงการมิกซ์ยูสแห่งอนาคตอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็น Magnet สำคัญที่ดึงดูด Prosperity ของจังหวัดนครสวรรค์ในทุกมิติ” 

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์